การฟ้องคดีมรดกต้องฟ้องภายในอายุความมรดก ซึ่งอายุความมรดกมีกำหนดหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1754 หากฟ้องคดีมรดกเมื่อขาดอายุความแล้ว หากอีกฝ่ายที่ถูกฟ้องต่อสู้เรื่องอายุความก็อาจจะมีผลให้แพ้คดีได้
แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่จะยกอายุความมรดกขึ้นอ้างได้นั้น กฎหมายอนุญาตให้กับบุคคล 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ 1.ทายาท 2.ผู้ที่ชอบจะใช้สิทธิของทายาท และ 3.ผู้จัดการมรดก ส่วนบุคคลอื่นไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีได้
แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนาง ศ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นาง ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการครอบครองไว้แทนนาง ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนาง ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนาง ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนาง ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
สรุป ตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไป ย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง