25 มี.ค. 2559

ถ้าเป็นคดีความผิดที่ยอมความได้ ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายก่อน

          ป.วิ.อ.

         มาตรา 120  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน" 

          มาตรา 121  "พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
          แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ"

‎          ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของผู้เสียหาย‬ ไม่ได้ร้องทุกข์ว่าจำเลยทั้งสองยักยอกรถยนต์ พนักงานสอบสวนจึง‎ไม่มีอำนาจสอบสวนผู้เสียหายเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหาย‬ ‪เพราะไม่ได้ร้องทุกข์ไว้‬ ดังนั้น การสอบสวนเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ เท่ากับไม่มีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว และมีผลให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ดังกล่าว

          มีตัวอย่างดังนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 14785/2557   วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120