การดำเนินคดีล้มละลาย

          มูลเหตุแห่งการฟ้องคดีล้มละลาย
          ปรากฏตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 3 ประการด้วยกัน คือ
          1.ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
          2.ลูกหนี้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือ
          3.ลูกหนี้ประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตัวเองหรือโดยตัวแทน ในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น

          หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลาย

          1. เจ้าหนี้ทั่วไปจะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 คือ
               (1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
               (2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
               (3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
          2.เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 คือ ภายใต้บังคับมาตรา 9  เจ้าหนี้มีประกันจะฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
               (1) มิได้เป็นผู้ต้องห้ามมิให้บังคับการชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้เกินกว่าตัวทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน และ
               (2) กล่าวในฟ้องว่า ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้ว เงินยังขาดอยู่สำหรับลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท




          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2507/2558   การกระทำของจำเลยจะเป็นการกระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและกระทำละเมิดต่อโจทก์ แต่ไม่ปรากฏว่าตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้กำหนดค่าเสียหายกรณีจำเลยกระทำการเช่นนี้ไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน และการกระทำละเมิดของจำเลยต่อโจทก์ โจทก์ก็มิได้ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด แม้โจทก์จะดำเนินการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาซื้อขายจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ส. และหุ้นส่วนผู้จัดการ ลูกค้าของโจทก์ที่ซื้อสินค้าไปเกินวงเงินสินเชื่อตามที่จำเลยได้อนุมัติและศาลมีคำพิพากษาตามยอมให้บุคคลดังกล่าวชำระเงินแก่โจทก์แล้วก็ตาม แต่จำเลยก็มิได้ถูกฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าวด้วย จะนำจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาเป็นฐานคำนวณให้จำเลยรับผิดหาได้ไม่ เพราะกรณียังไม่แน่นอนว่าโจทก์จะบังคับคดีแก่ลูกค้าของโจทก์ภายใน 10 ปี ได้เงินชำระหนี้เพียงใดหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต หนี้ตามฟ้องจึงเป็นหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือตัวแทนและมูลละเมิด อันเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5478/2553  ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมกำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้รวม 36,130,856.01 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ตกลงร่วมรับผิดในหนี้ 27,265,664.86 บาท โจทก์ตกลงลดยอดหนี้ให้จำเลยทั้งสามเหลือจำนวน 19,152,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีในยอดหนี้เต็มจำนวนและยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที โดยไม่มีข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามได้อีก และไม่อาจนำหนี้ที่เหลือมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  791/2553   จำเลยที่ 1 เป็นหนี้บรรษัท ง. โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน และจำเลยที่ 1 กับที่ 3 ได้จำนองที่ดินในวงเงิน 4,000,000 บาท เพื่อประกันหนี้ โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่า ถ้าหากบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ขาดจนครบถ้วน เช่นนี้ความรับผิดของโจทก์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่มีต่อบรรษัท ง. นั้นอยู่ในฐานะลูกหนี้ร่วมที่จะต้องชำระหนี้ตามฐานะของตน และวงเงินที่มีการกำหนดความรับผิดไว้ โดยจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้จำนองซึ่งกำหนดวงเงินจำกัดความรับผิดไว้ การที่โจทก์ได้ชำระหนี้ตามภาระค้ำประกันให้แก่บรรษัท ง. ไปนั้น โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบรรษัท ง. ที่จะมาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นโดยเต็มจำนวน แต่ในส่วนความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินประกันหนี้ในวงเงิน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย และบรรษัท ง. ได้ฟ้องบังคับจำนองจนกระทั่งศาลมีคำพิพากษาให้บังคับจำนองแล้ว และหนี้ที่จำเลยที่ 1 มีต่อบรรษัท ง. นั้น มีจำนวนมากกว่าวงเงินที่จำนองอยู่ เช่นนี้ เมื่อจำเลยที่ 3 ได้จำกัดความรับผิดของตนต่อบรรษัท ง. ไว้ และมีภาระต้องรับผิดต่อบรรษัท ง. ตามวงเงินที่จำนอง แต่โจทก์มิได้แสดงให้เห็นว่าการชำระหนี้เงินของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดต่อบรรษัท ง. หรือรับผิดน้อยกว่าวงเงินที่แต่ละคนเข้าผูกพันแล้ว โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในความรับผิดระหว่างลูกหนี้ร่วมกันอันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบรรษัท ง. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ชั้นต้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 230 วรรคสอง หาได้ไม่ โจทก์จะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 3 ได้หรือไม่ยังไม่อาจกำหนดได้แน่นอน โจทก์จึงยังไม่อาจนำหนี้ในส่วนนี้มาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายได้
          
          การพิจารณาคดีล้มละลาย
          ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10  (มาตรา 14)

          กระบวนพิจารณาคดีล้มละลาย ในชั้นศาล
          1.รับฟ้อง กำหนดวันนัดพิจารณา หมายเรียก
          2.สืบพยาน
          3.สั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษายกฟ้อง
          4.แจ้งคำสั่งไปยัง จ.พ.ท. เพื่อให้ จ.พ.ท. ดำเนินการ....
               (1) ประกาศโฆษณา
               (2) แจ้งคำสั่ง
               (3) ให้โจทก์วางเงินประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
               (4) แจ้งกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สินยึด
               (5) หมายเรียกลูกหนี้มาสอบสวน
               (6) ให้ลูกหนี้ยื่นคำชี้แจงและบัญชีกิจการทรัพย์สิน
               (7) รับคำขอชำระหนี้-นัดตรวจคำขอ
               (8) ประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรก
               (9) รายงานศาล แยกเป็นสองกรณีคือ ในกรณีการประนอมหนี้ไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็รายงานขอให้ศาลพิพากษาล้มละลาย และนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย  ส่วนกรณีที่การประนอมหนี้ได้รับความเห็นชอบ ก็รายงานขอให้ศาลไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยและพิจารณาคำขอประนอมหนี้
          5. กรณีศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ก็จะแจ้งไปที่ จ.พ.ท. เพื่อให้ดำเนินการ
               (1) ประกาศโฆษณาคำพิพากษาล้มละลาย
               (2) ดำเนินการขายทรัพย์ที่ยึดไว้
          6. ศาลนัดไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วแจ้ง จ.พ.ท. เพื่อให้ดำเนินการ
               (1) ประกาศโฆษณาวันนัดไต่สวน
               (2) แจ้งเจ้าหนี้, ลูกหนี้
               (3) แต่งทนาย
          7. ศาลไต่สวนแล้วส่งสำเนาให้ จ.พ.ท.
          8. นัดพิจารณาคำขอประนอมหนี้แล้วแจ้ง จ.พ.ท. เพื่อให้
               (1) แจ้งเจ้าหนี้, ลูกหนี้
               (2) ทำรายงานเสนอศาลตามมาตรา 50
          9. พิจารณาสั่งคำขอประนอมหนี้ แล้วแจ้ง จ.พ.ท. เพื่อให้
               (1) ประกาศโฆษณาคำสั่งศาล
               (2) รวบรวมเงิน
               (3) ขอยกเลิกการประนอมหนี้ ถ้าลูกหนี้ผิดนัด
               (4) ติดตามรวบรวมทรัพย์สิน
               (5) สอบสวนคำร้องขัดทรัพย์
               (6) เพิกถอนการโอน
               (7) ทวงหนี้
               (8) สอบสวนคำขอรับชำระหนี้ แล้วรายงานความเห็นเสนอศาล
               (9) แบ่งทรัพย์สินแก่เจ้าหนี้
               (10) ขอขยายระยะเวลาการแบ่งทรัพย์สิน
               (11) ขอปิดคดี
               (12) ลูกหนี้พ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อศาลมีคำสั่งปลดจากการล้มละลาย หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับการปลดจากการล้มละลายโดยอัตโนมัติทันทีที่พ้นกำหนดระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย ตามมาตรา 81/1

          ผลของคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์

          เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่ว่าชั่วคราวหรือเด็ดขาดแล้ว จะมีผลดังต่อไปนี้
          1. โอนความครอบครองทรัพย์สินของลูกหนี้ไปอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
          2. อำนาจจัดการในเรื่องกิจการทรัพย์สินของลูกหนี้ตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว
          3. ลูกหนี้มีหน้าที่ดังนี้
                (1) เมื่อทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ดวงตรา สมุดบัญชี และเอกสารอันเกี่ยวกับทรัพย์สินและกิจการของตน ซึ่งอยู่ในความครอบครองให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทั้งสิ้น (มาตรา 23)
               (2) ต้องไปในการประชุมเจ้าหนี้ทุกครั้ง หรือไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนตามหมายเรียกและตอบคำถามของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรรมการเจ้าหนี้ หรือเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินหรือหุ้นส่วนของตน ....(มาตรา 64) (ข้อนี้ยกเว้นสำหรับกรณีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราว)
               (3) ต้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดจำนวนเงินเพื่อใช้จ่ายเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวตามสมควรแก่ฐานานุรูป......(มาตรา 67(1))
               (4) ทุกครั้งที่มีสิทธิได้รับทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งจะต้องรายงานให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทราบ.......(มาตรา 67(2))
          4. ลูกหนี้ถูกจำกัดสิทธิบางประการ เช่น
               (1) ไม่มีอำนาจกระทำการใดๆอันเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน เว้นแต่ได้กระทำตามคำสั่งหรือความเห็นชอบของศาล จ.พ.ท. ผู้จัดการทรัพย์ หรือที่ประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายล้มละลาย...(มาตรา 24)
               (2) ไม่มีอำนาจดำเนินคดีแพ่งที่เกี่ยวแก่ทรัพย์สิน โดย จ.พ.ท. จะเป็นผู้ดำเนินการแทน (มาตรา 25)
               (3) ลูกหนี้ออกไปนอกราชอาณาจักรไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาลหรือ จ.พ.ท. ...(มาตรา 67(3))
               (4) ลูกหนี้ไม่มีสิทธิรับสินเชื่อจากผู้อื่นมีจำนวนตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไปโดยมิได้แจ้งให้ผู้นั้นทราบว่าตนถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือล้มละลาย (มาตรา 165(1))
          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5604/2557  หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเข้าว่าคดี ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 จำเลยไม่มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ได้อีก ซึ่งจำเลยแถลงให้ศาลชั้นต้นทราบถึงข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่มีอำนาจดังกล่าวแล้ว แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแทนจำเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 นับแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด รวมถึงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 และมาตรา 25 แม้ปัญหาเรื่องกระบวนพิจารณาในศาลอุทธรณ์ภาค 7 และการยื่นฎีกาของจำเลยชอบหรือไม่จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1570/2556  การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีนี้ แม้โจทก์จะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 แต่ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาดตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง

          การประนอมหนี้

          การประนอมหนี้แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย
          1. การประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย คือ เมื่อถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว ถ้าลูกหนี้ประสงค์จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย กฎหมายให้ลูกหนี้ทำคำขอเป็นหนังสือยื่นต่อ จ.พ.ท.ภายใน 7 วัน นับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 ซึ่งถ้ายื่นไม่ทันภายในกำหนดนี้ ก็อาจขอให้ จ.พ.ท.กำหนดเวลาให้ใหม่ได้ ซึ่งถ้าที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้หรือ จ.พ.ท.มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าเห็นชอบด้วยหรือไม่ (มาตรา 49) ซึ่งถ้าศาลเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้น จะมีผลผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ ซึ่ง พ.ร.บ.นี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้ (มาตรา 56)
          2. การประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย  คือ เมื่อศาลพิพากษาล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ก็ยังมีสิทธิขอประนอมหนี้ได้อีกทันที แต่ถ้าก่อนหน้านี้เคยขอประนอมหนี้ไม่เป็นผลมาแล้ว ห้ามขอประนอมหนี้ภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่วันที่การประนอมหนี้ครั้งสุดท้ายไม่เป็นผล  ซึ่งถ้าศาลเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้หลังล้มละลาย ศาลมีอำนาจสั่งให้ยกเลิกการล้มละลาย (มาตรา 63)
          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  805/2552  หนี้เงินต้นตามจำนวนในเช็คมีมูลหนี้มาจากเจ้าหนี้ซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้ชำระหนี้ดังกล่าวแทนลูกหนี้ไปแล้วก่อนวันที่ลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีล้มละลายเรื่องก่อนของศาลจังหวัดนนทบุรี และเจ้าหนี้มิได้นำหนี้ดังกล่าวไปขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จนกระทั่งศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ ซึ่งการประนอมหนี้ดังกล่าวผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ แต่ก็มีผลผูกพันหนี้เดิมของเจ้าหนี้ที่ได้ชำระหนี้แทนลูกหนี้นั้นและมีผลให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวเท่านั้น แต่ภายหลังลูกหนี้หลุดพ้นจากภาวะล้มละลายแล้ว ลูกหนี้ได้ทำหนังสือพิพาทให้แก่เจ้าหนี้โดยตกลงยอมชำระหนี้เงินต้นจำนวนในเช็ค 22,750,000 บาท ที่ลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่จริงและลูกหนี้ยังมิได้ชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้หนังสือพิพาทดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำขึ้นด้วยความสมัครใจมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์กับเจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินคืนแก่เจ้าหนี้และมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย มิใช่เป็นเอกสารรับสภาพหนี้ตามเช็คธนาคาร ท. ที่ลูกหนี้สั่งจ่ายมอบให้แก่เจ้าหนี้ในระหว่างที่ลูกหนี้ยังอยู่ในภาวะล้มละลายอันเป็นการกระทำเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 24 ซึ่งตกเป็นโมฆะไม่ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามหนังสือพิพาทเป็นเงินต้น 22,750,000 บาท
          ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่ลูกหนี้จะชำระให้แก่เจ้าหนี้อัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับจากวันที่ 24 เมษายน 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นข้อตกลงให้ดอกเบี้ยย้อนหลังแก่เจ้าหนี้ไปถึงวันที่ลูกหนี้สั่งจ่ายเช็คมอบให้แก่เจ้าหนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2532 ซึ่งอยู่ในระหว่างที่ลูกหนี้อยู่ในภาวะล้มละลาย ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการถือเอาเช็คที่ลูกหนี้สั่งจ่ายมอบให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งเป็นโมฆะมาเป็นมูลเรียกดอกเบี้ยจากลูกหนี้ ข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยส่วนนี้ จึงตกเป็นโมฆะเช่นกันและตามพฤติการณ์แห่งกรณี คู่กรณีมีเจตนาจะให้ส่วนเงินต้นที่ลูกหนี้จะใช้คืนให้แก่เจ้าหนี้จำนวน 22,750,000 บาท ที่สมบูรณ์แยกออกจากข้อตกลงในเรื่องดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้น 22,750,000 บาท นับจากวันที่ 15 สิงหาคม 2542 อันเป็นวันครบกำหนดตามหนังสือพิพาทจนถึงวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1097/2539  เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายและมีคำสั่งให้ยกเลิกการล้มละลายกับให้ลูกหนี้มีอำนาจเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 63 ลูกหนี้ย่อมหลุดพ้นจากภาวะล้มละลายและมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินได้ต่อไป และการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบแล้วย่อมผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 63 ประกอบมาตรา 56 ดังนั้น ลูกหนี้จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายเท่านั้นและถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะรายงานต่อศาลให้มีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ล้มละลาย ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 63 ประกอบมาตรา 60 เจ้าหนี้จะยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อเพิ่มเติมเงื่อนไขการประนอมหนี้ โดยให้ลูกหนี้นำเงินที่มีสิทธิจะได้จากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งมาชำระหนี้ให้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้หาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการนอกเหนือไปจากอำนาจหน้าที่ และเป็นการเข้าไปจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้โดยตรงในขณะที่ลูกหนี้หลุดพ้นจากการล้มละลายแล้ว ไม่ว่าภายหลังจากนั้นจะเกิดมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างไร และแม้จะมีผลทำให้เจ้าหนี้สามารถได้รับชำระหนี้ได้เร็วกว่าที่ลูกหนี้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ ก็ไม่อาจร้องขอให้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเพิ่มเติมเงื่อนไขข้อตกลงประนอมหนี้นอกเหนือไปจากที่ลูกหนี้ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้นั้นได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจเรียกประชุมเจ้าหนี้

          การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

          ในคดีล้มละลาย เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ก็แต่โดยการปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฏหมายล้มละลายเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้ แต่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาก็ตาม คือ การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย ซึ่งเจ้าหนี้ผู้ยื่นคำขอรับชำระหนี้มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาแสดงต่อ จ.พ.ท.เพื่อพิสูจน์ว่าหนี้นั้นมีอยู่จริง และลูกหนี้ต้องรับผิด เจ้าหนี้จึงจะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ โดยจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อ จ.พ.ท.ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร จ.พ.ท.จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน (มาตรา 27 และ 91)
          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  924/2558  ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำสั่งถึงที่สุดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 99 วรรคหนึ่ง โจทก์จัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลแทนจำเลยเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2552 มูลหนี้ค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยจึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันดังกล่าว ก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 และเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน โจทก์จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายภายในกำหนด 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 ส่วนที่โจทก์มีมติเห็นชอบให้กำหนดจำนวนค่าเสียหายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 เป็นเรื่องการรวบรวมค่าเสียหายให้ถูกต้องครบถ้วน มิใช่มูลหนี้ค่าเสียหายเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อโจทก์มีมติ เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นช่องทางหลีกเลี่ยงและขยายเวลาขอรับชำระหนี้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 91
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9592/2556  เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายภายหลังจากที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ตามคำขอให้บังคับคดีของโจทก์ในคดีนี้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 1 จำนองไว้แก่ผู้ร้องก่อนโจทก์ผู้นำยึดแล้ว การที่โจทก์เจ้าหนี้สามัญผู้นำยึดมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายมีผลเพียงทำให้โจทก์หมดสิทธิได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ในคดีล้มละลายเท่านั้น มิได้ทำให้การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ที่ดำเนินการมาโดยชอบสิ้นผลไป และการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีประกันมิได้ใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย แต่เลือกใช้สิทธิที่จะบังคับแก่หลักประกัน ซึ่งตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 110 วรรคสาม คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ไม่กระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีอำนาจบังคับคดีแก่หลักประกันของผู้ร้องต่อไปในคดีนี้ได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 จากล้มละลาย ก็มิได้ทำให้อำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะดำเนินการบังคับคดีหมดไปไม่ ส่วนเมื่อได้มีการบังคับคดีแก่ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นหลักประกันแล้วจะมีเงินเหลือเป็นประโยชน์แก่กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีล้มละลาย เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ก่อนปลดจากการล้มละลาย ก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนเข้ามาในคดีล้มละลายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 112 กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการบังคับคดี

          การแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย

          ทรัพย์สินที่จะนำมาแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ได้แก่ ทรัพย์สินตามมาตรา 109 คือ
          1. ทรัพย์สินที่ลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่น (เวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย คือ วันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์) ยกเว้นทรัพย์ดังต่อไปนี้ ซึ่งจะนำมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ไม่ได้ คือ
               ก. เครื่องใช้สอยส่วนตัวอันจำเป็นแก่การดำรงชีพ ซึ่งลูกหนี้รวมถึงคู่สมรสและบุตรผู้เยาว์ของลูกหนี้จำเป็นต้องใช้ตามสมควรแก่ฐานานุรูป ได้แก่ เครื่องนุ่งห่มหลับนอน เครื่องครัว เป็นต้น
               ข. สัตว์ พืชพันธ์ุ เครื่องมือ และสิ่งของสำหรับใช้ในการประกอบอาชีพของลูกหนี้ราคารวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท
          2. ทรัพย์สินซึ่งลูกหนี้ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย จนถึงเวลาปลดจากการล้มละลาย หมายถึงทรัพย์สินที่ได้มาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ จนกว่าคดีล้มละลายสิ้นสุด
          3. สิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครอง หรืออำนาจสั่งการ หรือสั่งจำหน่ายของลูกหนี้ในทางการค้า หรือธุรกิจของลูกหนี้ ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง โดยพฤติการณ์ที่ทำให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย
          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8104/2554  แม้ข้อเท็จจริงจะฟังว่าลูกหนี้ที่ 2 กู้ยืมเงินจากผู้ร้องเพื่อนำไปชำระค่าขึ้นศาลตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 711/2548 ของศาลจังหวัดสีคิ้ว ก็ตาม แต่เมื่อศาลจังหวัดสีคิ้วรับเงินไว้ เงินดังกล่าวย่อมมิใช่เงินของลูกหนี้ที่ 2 แล้ว ต่อมาลูกหนี้ที่ 2 ขอถอนฟ้องและศาลมีคำสั่งให้คืนค่าขึ้นศาลแก่ลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 190,000 บาท จึงถือได้ว่าเงินที่ศาลสั่งคืนนี้เป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้ที่ 2 ได้มาภายหลังเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 109 (2) จึงเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ผู้คัดค้านจึงสามารถนำเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 ได้

          การปลดจากล้มละลาย

          การปลดจากล้มละลาย หมายถึง การถอนการล้มละลายที่มีอยู่ออกไปจากตัวลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลาย อันเป็นผลให้ลูกหนี้ไม่ต้องเป็นบุคคลล้มละลายอีกต่อไป การปลดจากล้มละลายจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุดลง
          การปลดจากล้มละลาย มี 2 กรณี คือ
          1. การปลดจากล้มละลายตามคำสั่งศาล ตามมาตรา 71
          2. การปลดจากล้มละลายทันทีเมื่อพ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่ศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย ตามมาตรา 81/1

          ผลของการปลดจากล้มละลาย

          คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ เว้นแต่
          (1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร ค่าธรรมเนียมต่างๆ ไม่ว่าค้างชำระรัฐบาลหรือเทศบาล
          (2) หนี้ที่เกิดจากความทุจริตฉ้อโกงของลูกหนี้หรือหนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้อง เนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลอื่น ซึ่งลูกหนี้มีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้ด้วย (ตามมาตรา 77)
          อย่างไรก็ดี การที่ศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลาย หรือรับผิดร่วมกับบุคคลล้มละลาย หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย (ตามมาตรา 78)
          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4797/2553  ก่อนถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งได้รับการปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาก่อนวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าว ทั้งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  254/2507  ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ในวงเงินไม่เกิน 110,000 บาท ลูกหนี้ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นเงิน 125,329.84 บาท ต่อมาลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ ปรากฎว่าธนาคารเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเรื่องนั้น ต่อมาผู้ค้ำประกันถูกเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งฟ้องล้มละลาย ธนาคารเจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องหลังนี้ ดังนี้ การที่ธนาคารเจ้าหนี้มิได้ยืนคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องก่อน หาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปไม่ ธนาคารเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องหลังได้