มาตรา 7 "ลูกหนี้ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอาจถูกศาลพิพากษาให้ล้มละลายได้ ถ้าลูกหนี้นั้นมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น"
มาตรา 9 "เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายได้ก็ต่อเมื่อ
(1) ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(2) ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท และ
(3) หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม"
หลักเกณฑ์การฟ้องคดีล้มละลายโดยเจ้าหนี้สามัญ
1. ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หมายถึง ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือมีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ ซึ่งการมีหนี้สินล้นพ้นตัวต้องเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่แล้วในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้อง ถ้าในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายนั้น ลูกหนี้ยังไม่เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แม้เจ้าหนี้จะพิสูจน์ได้ว่าภายหลังจากยื่นฟ้องแล้วลูกหนี้ตกเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ศาลก็ไม่อาจสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 9 (1) ในทางตรงข้ามหากในขณะที่เจ้าหนี้ยื่นฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลายนั้น ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แม้ต่อมาภายหลังลูกหนี้สามารถนำสืบได้ว่ามีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมด ก็มิได้หมายความว่าลูกหนี้ไม่ใช่บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่การที่ลูกหนี้สามารถนำสืบได้ว่ามีทรัพย์สินที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดเป็นเหตุหนึ่งตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 14 ที่บัญญัติให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5429/2543 แม้จำเลยจะเพิ่งได้รับโอนที่ดินมาภายหลังที่โจทก์ฟ้องคดีล้มละลายแล้วย่อมเป็นทรัพย์สินที่โจทก์สามารถบังคับชำระหนี้ได้ หามีกฎหมายกำหนดว่าต้องเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนฟ้องคดีล้มละลายไม่ จำเลยจึงไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวไม่ควรให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
ในการดำเนินคดีล้มละลายโจทก์ต้องนำสืบให้ศาลเชื่อว่าลูกหนี้เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว อย่างไรด็ดี พระราชบัญญัติล้มละลายฯได้บัญญัติข้อสันนิษฐานบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัวไว้ในมาตรา 8 กล่าวคือ ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้เป็นบุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว เช่น
(1) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งเจ้าหนี้ทั้งหลายของตน ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
การโอนทรัพย์สินหรือสิทธิจัดการทรัพย์สินของตนให้แก่บุคคลอื่นตามหลักเกณฑ์ข้อนี้ ต้องโอนเพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลาย แต่ถ้าเป็นการโอนซื้อขายกันตามธรรมดา หรือการโอนให้โดยเสน่หา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้ทั้งหลายก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อนี้
(2) ถ้าลูกหนี้โอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปโดยการแสดงเจตนาลวง หรือโดยการฉ้อฉล ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
เจตนาลวงตามหลักเกณฑ์ข้อนี้ หมายถึง การโอนที่ลูกหนี้กับผู้รับโอนมิได้มีเจตนาโอนกันจริงๆ ส่วนการฉ้อฉล หมายถึง การโอนหรือส่งมอบทรัพย์สินของตนไปให้บุคคลอื่นทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
(3) ถ้าลูกหนี้โอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นเหนือทรัพย์สินนั้น ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้ว จะต้องถือว่าเป็นการให้เปรียบ ไม่ว่าได้กระทำการนั้นในหรือนอกราชอาณาจักร
การโอนทรัพย์สินของตนหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์สินตามหลักเกณฑ์ข้อนี้ หมายถึง การโอนทรัพย์สินหรือก่อให้เกิดทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่ง ซึ่งถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะทำให้เจ้าหนี้คนนั้นได้เปรียบเจ้าหนี้คนอื่น
(4) ถ้าลูกหนี้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
ก. ออกไปเสียนอกราชอาณาจักร หรือได้ออกไปก่อนแล้วและคงอยู่นอกราชอาณาจักร
ข. ไปเสียจากเคหะสถานที่เคยอยู่ หรือซ่อนตัวอยู่ในเคหะสถาน หรือหลบไป โดยวิธีอื่น หรือปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ
ค. ยักย้ายทรัพย์ไปให้พ้นอำนาจศาล
ง. ยอมตนให้ต้องคำพิพากษาซึ่งบังคับให้ชำระเงินซึ่งตนไม่ควรต้องชำระประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
การกระทำตามข้อ ก. ข้อ ข. ข้อ ค. และข้อ ง. ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2504 จำเลยเป็นหนี้โจทก์ แล้วจำเลยย้ายที่อยู่หลายคราวเป็นการถาวร เมื่อจำเลยย้ายไปโดยไม่แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบ เวลาโจทก์ฟ้องก็ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้ไม่ได้ ต้องประกาศหนังสือพิมพ์ ก็ต้องถือว่าได้ไปเสียจากเคหสถาที่เคยอยู่เพื่อประวิงการชำระหนี้หรือมิให้เจ้าหนี้ได้รับขำระหนี้ ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(4) ข.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 159/2519 จำเลยออกเช็คชำระแก่โจทก์หลายฉบับ แล้วต้องหาคดีอาญาว่าออกเช็คไม่มีเงินจ่าย จำเลยหลบหนีหมายจับ เป็นการหลบหนีไม่ให้โจทก์ได้รับใช้หนี้อยู่ด้วยในตัวสันนิษฐานว่าหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6504/2544 จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดฐานกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินคืนแก่ประชาชน รวมเป็นเงิน 13,620,000 บาท ซึ่งเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์สินให้ยึดและอายัดเพียงประมาณ 100,000 บาท เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าจำนวนหนี้ที่ต้องรับผิดอยู่เป็นจำนวนมาก พนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 มาดำเนินคดี แต่จำเลยที่ 2หลบหนี และในระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นยังติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ไม่ได้ พฤติการณ์แสดงว่า จำเลยที่ 2 ได้ไปเสียจากเคหสถานที่เคยอยู่หรือหลบหนีไป กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(4) ข. ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัว และมีหน้าที่ต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐาน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำสืบพยานหลักฐานใด จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2มีหนี้สินล้นพ้นตัว
(5) ถ้าลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี หรือไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7001/2537 พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8(5) ได้แบ่งข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็น 2 กรณี คือ ลูกหนี้ถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี และลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ เพียงกรณีใดกรณีหนึ่งก็เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว การที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้ต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามนำพยานหลักฐานเข้ามาสืบว่าจำเลยทั้งสามมีทรัพย์สินดังกล่าวเพียงพอแก่การชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2867/2544 หนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลของโจทก์เป็นเอกสารมหาชนซึ่งเจ้าพนักงานจัดทำขึ้น และต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายังต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร โจทก์จึงไม่จำต้องนำพยานบุคคลมาเบิกความรับรองเอกสารดังกล่าวอีก ส่วนหนังสือมอบอำนาจฟ้องคดีคำพิพากษาตามยอมคดีหมายเลขแดงที่ 15475/2537 ของศาลแพ่ง บัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินในการบังคับคดีทรัพย์สินจำเลยของกรมบังคับคดี รายละเอียดการคำนวณยอดหนี้ของจำเลย และคำขอตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน แม้โจทก์จะไม่ได้นำพยานที่จัดทำเอกสารดังกล่าวมาสืบแต่ก็ได้ทำเป็นสำเนาเอกสารท้ายฟ้องและอ้างไว้ในบัญชีระบุพยานเมื่อโจทก์นำสืบจำเลยก็ไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของเอกสารว่าไม่มีต้นฉบับ จึงเป็นพยานหลักฐานที่ศาลรับพิจารณาได้ว่ามีข้อเท็จจริงอยู่อย่างไรโดยไม่ต้องมีพยานที่จัดทำเอกสารมาเบิกความรับรองหรือชี้แจงประกอบ
โจทก์ได้ตรวจสอบการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครและเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าวซึ่งเป็นท้องที่ที่จำเลยมีภูมิลำเนาแล้วไม่พบชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินถือได้ว่าโจทก์สืบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้อีก กรณีต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 8 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5391/2548 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2536 โดยให้ชำระเงินจำนวน 1,951,461.86 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 16 ต่อปี และชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ สิทธิของโจทก์จะบังคับคดีกับจำเลยได้จะต้องล่วงเลยระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ทำสัญญาประนีประนอมยอมความก่อน ดังนั้น สิทธิของโจทก์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 เมื่อโจทก์คดีนี้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2547 สิทธิในการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมจึงไม่สิ้นระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีล้มละลายได้
การที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ตามหมายบังคับคดีและได้ขายทอดตลาดทรัพย์แล้ว แต่ยังมีหนี้ที่ค้างชำระโจทก์อยู่อีก กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้สินล้นพ้นตัวตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (5) โดยโจทก์มิต้องอ้างข้อสันนิษฐานตามมาตรา 8 (9) ดังที่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใดอีก ทั้งในการขอให้ล้มละลายโจทก์จะอ้างข้อสันนิษฐานใดอนุมาตราใดมาตราหนึ่งของมาตรา 8 ก็ได้ และในการฟ้องให้ล้มละลายก็ไม่จำเป็นต้องมีการทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9)
(6) ถ้าลูกหนี้แถลงต่อศาลในคดีใดๆ ว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
(7) ถ้าลูกหนี้แจ้งให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดของตนทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2510 จำเลยปิดสถานที่ประกอบธุรกิจ เมื่อเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ที่ค้างชำระ จำเลยบอกแก่เจ้าหนี้ว่าไม่มีเงินชำระ เป็นข้อสันนิษฐานได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 8
(8) ถ้าลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3470/2542 การที่โจทก์ได้มีหนังสือส่งทางไปรษณีย์ตอบรับทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้โจทก์แล้วสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันและจำเลยทั้งสี่ได้รับหนังสือแล้ว ไม่ชำระหนี้โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่มีทรัพย์สินอื่นอันจะพึงยึดมาชำระหนี้โจทก์ได้ กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานแล้วว่าจำเลยทั้งสี่มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(5)(9) นอกจากนี้ยังได้ความอีกว่า ว่าจำเลยเสนอขอทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อโจทก์และต่อบริษัทธนาคาร อ. ที่ฟ้องเรียกหนี้ประมาณ 800,000,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 เองก็ยอมรับว่าไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ให้แก่สถาบันการเงินได้ ดังนี้ เป็นกรณีลูกหนี้เสนอคำขอประนอมหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามมาตรา 8(8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เมื่อจำเลยทั้งสี่มิได้นำสืบให้เห็นว่ามีทรัพย์สินพอสามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลาย ศาลจึงต้องสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาด
(9) ถ้าลูกหนี้ได้รับหนังสือทวงถามจากเจ้าหนี้ให้ชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และลูกหนี้ไม่ชำระหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1945/2535 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หาใช่บทบังคับให้โจทก์ต้องบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ก่อนฟ้องไม่เมื่อโจทก์นำสืบได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามที่โจทก์ฟ้อง แม้การทวงถามจะไม่ชอบด้วยมาตรา 8 (9) โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องคดีล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2541 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว 2 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่จำเลยที่ 2นำสืบว่า มีรถยนต์บรรทุกหลายคันคงมีแต่จำเลยที่ 2คนเดียวเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานอื่นสนับสนุนข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ให้เห็นว่าเป็นความจริง ส่วนจำเลยที่ 2นำสืบว่าจำเลยที่ 2 ประกอบการขนส่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2ได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนหนี้ของจำเลยที่ 1 ดังวินิจฉัยมาข้างต้นหาใช่ไม่มีหน้าที่ต้องรับชำระหนี้แก่โจทก์ดังที่จำเลยที่ 2ฎีกาไม่ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มีหนี้ล้นพ้นตัว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7062/2547 แม้หนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจช่วง และสัญญาโอนสินทรัพย์ เป็นสำเนาเอกสาร แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาซึ่งบันทึกเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีในช่วงเวลาที่โจทก์นำสืบอ้างสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน จำเลยที่ 2 ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านการนำสืบสำเนาเอกสารว่าไม่ถูกต้อง ศาลไม่ควรรับเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 คงมีแต่เพียงคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาเอกสารใช่หรือไม่เท่านั้น ถือว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าสำเนาเอกสารนั้นถูกต้องแล้ว จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (1) ส่วนหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องเป็นต้นฉบับเอกสาร การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นการโอนหนี้ด้อยคุณภาพตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ฯ มาตรา 9 ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ หรือบอกกล่าวการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 โจทก์จึงเข้าสวมสิทธิของธนาคาร ท เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งสองได้ หนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ตามคำพิพากษามีจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษานั้น การฟ้องคดีของโจทก์ฟ้องโดยอาศัยข้อสันนิษฐานอื่นไม่ใช่ข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 8 (9) เรื่องการทวงถาม จึงไม่ต้องทวงถามก่อนฟ้อง โจทก์มีอำนาจฟ้อง
2. ลูกหนี้มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น
หลักเกณฑ์ข้อนี้หมายถึง ลูกหนี้ต้องมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรในขณะยื่นฟ้องหรือภายใน 1 ปีก่อนฟ้อง หรือลูกหนี้ประกอบธุรกิจอยู่ในราชอาณาจักรไม่ว่าโดยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะยื่นฟ้องหรือภายใน 1 ปีก่อนฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 181/2521 การแจ้งทะเบียนสำมะโนครัวย้ายที่อยู่ยังไม่เป็นการย้ายภูมิลำเนาจนกว่าจะได้ย้ายถิ่นที่อยู่เปลี่ยนภูมิลำเนาจริงก่อนครบ 1 ปี หลังจากย้ายภูมิลำเนา เจ้าหนี้ยังฟ้องคดีล้มละลายต่อศาลตามภูมิลำเนาเดิมของลูกหนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2544 การฟ้องให้ล้มละลายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 7 โดยลูกหนี้ต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ล้มละลายหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น แม้ตามอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ข้อ 5 อนุ 4 ที่โจทกอ้างจะถือได้ว่าจำเลยมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่คำว่า "สถานประกอบการถาวร" ตามอนุสัญญาดังกล่าว ข้อ 5 อนุ 1 และ 2 หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และหมายความรวมถึง (ก) สถานจัดการ (ข) สาขาสำนักงาน (ง) โรงงาน (จ) โรงช่าง...และตามอนุ 4 (ค) หมายถึง บุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งซื้อซึ่งกระทำในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะของการดำเนินการในการประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย ตาม พ.ร.ฏ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพราะใบอนุญาตสิ้นอายุไปแล้ว จึงไม่มีการประกอบธุรกิจ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ส่วนการประกอบธุรกิจในประเทศนั้น เมื่อใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสิ้นอายุแล้ว จำเลยไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปอีกได้ ทั้งจำเลยปิดการประกอบธุรกิจไปแล้ว และโจทก์เพิ่งฟ้องคดีหลังจากจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินเกือบ 10 ปี จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรในขณะที่มีการขอให้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
3. ลูกหนี้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท หรือลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าสองล้านบาท
กรณีเจ้าหนี้หลายคนรวมกันฟ้อง แม้เจ้าหนี้แต่ละรายจะมีหนี้ไม่ถึงหนึ่งล้านบาทหรือไม่ถึงสองล้านบาทสำหรับกรณีลูกหนี้เป็นนิติบุคคล แต่ถ้าเจ้าหนี้ทุกคนรวมกันแล้วมีหนี้ครบตามหลักเกณฑ์ คือ หนึ่งล้านบาทกรณีลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดา หรือสองล้านบาทกรณีลูกหนี้เป็นนิติบุคคล เจ้าหนี้เหล่านั้นก็นำหนี้มาฟ้องให้ลูกหนี้ล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 835/2545 โจทก์เคยนำหนี้ภาษีการค้ามาฟ้องให้จำเลยล้มละลาย ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าแม้จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย จึงพิพากษายกฟ้องแต่ต่อมาโจทก์นำหนี้ภาษีการค้าดังกล่าวรวมกับหนี้เงินเพิ่มภาษีการค้าและหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระหนี้ทั้งสามจำนวนนั้น แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงนำหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวมาฟ้องจำเลยให้ล้มละลายอีก ดังนั้น การที่โจทก์นำหนี้ภาษีการค้าจำนวนเดิมรวมกับหนี้ภาษีจำนวนใหม่มาฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายนี้จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153 ส่วนหนี้เงินเพิ่มภาษีการค้าและหนี้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นหนี้จำนวนใหม่ เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนเพียง 40,000 บาทเศษไม่เข้าองค์ประกอบที่จะฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯมาตรา 9(2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 333/2550 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (2) เจ้าหนี้จะฟ้องบุคคลธรรมดาให้ล้มละลายได้บุคคลนั้นจะต้องมีความผูกพันเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์อยู่ การที่โจทก์ทั้ง 150 คน เป็นสมาชิกมีเงินฝากออมทรัพย์ฝากไว้กับกองทุนเงินสวัสดิการออมทรัพย์ของกองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 เงินที่ฝากตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับฝาก ผู้รับฝากคงมีหน้าที่คืนเงินให้ครบจำนวนนั้นเท่านั้น เงินจำนวน 8,443,700 บาท ที่ฝากไว้และจำเลยยักยอกไปมิใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้ง 150 คน จำเลยจึงมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตามมาตรา 420 จำเลยไม่มีความผูกพันเป็นหนี้โจทก์ โจทก์ทั้ง 150 คน จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1876/2551 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้ยืมไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ จำนวน 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย โดยมีโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกอีก 6 คน เป็นผู้ค้ำประกันในวงเงินต่างกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 682 วรรคสอง เมื่อโจทก์ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ไปจำนวน 4,880,000 บาท ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 และเข้ารับช่วงสิทธิของธนาคารเจ้าหนี้ไล่เบี้ยผู้ค้ำประกันอื่นได้ตามสัดส่วนที่ผู้ค้ำประกันแต่ละคนเข้าผูกพันชำระหนี้ตามมาตรา 693 ประกอบมาตรา 229 (3), 296 การที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาในคดีแพ่งให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินจำนวน 3,020,952.37 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย โดยมิได้ระบุสัดส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ด้วย และโจทก์ได้นำยอดหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีล้มละลายนั้น ต่อมาศาลแพ่งได้มีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงของคำพิพากษาดังกล่าวแล้วโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันไว้ แม้คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษาในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแพ่งดังกล่าวจำเลยที่ 3 เพิ่งยกขึ้นอ้างส่งในชั้นอุทธรณ์ แต่การพิจารณาคดีล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนและตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 กำหนดให้ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ศาลฎีกาจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ และเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ตามสัดส่วนที่ทำสัญญาค้ำประกันไว้ในวงเงินเพียง 500,000 บาท และมียอดหนี้คำนวณถึงวันฟ้องคดีนี้ไม่ถึง 1,000,000 บาท ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 (2)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8469/2552 พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มิได้มีบทบัญญัติยกเว้นหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 9 และมาตรา 10 ทั้ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ มาตรา 58 วรรคสี่ ก็บัญญัติให้ศาลและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย กรณีจึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยเงื่อนไขในการฟ้องคดีล้มละลายมาใช้บังคับด้วย มาตรา 58 วรรคสี่ จึงเป็นบทบัญญัติในส่วนวิธีพิจารณาที่ใช้แทนการฟ้องคดีล้มละลายทั่วไปและเป็นบทบัญญัติที่ให้ดุลพินิจแก่ศาลที่จะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นเงื่อนไขของการฟ้องคดีล้มละลายครบถ้วนแล้วเท่านั้น เมื่อตามคำร้องปรากฏว่าลูกหนี้เป็นหนี้ บสท. อันมีจำนวนไม่ถึง 1,000,000 บาท ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 9 (2) ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้
4. หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม
หนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน หมายถึง หนี้ที่มีจำนวนที่ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้สามารถคิดคำนวณได้แน่นอน ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้ที่เกิดจากนิติกรรมสัญญา เช่น หนี้สัญญาเงินกู้ หนี้ตามสัญญาซื้อขาย เป็นต้น ส่วนหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนนั้น คือ หนี้ค่าเสียหายจากมูลละเมิด หรือหนี้ค่าเสียหายที่เกิดจากการผิดสัญญา เป็นต้น
หนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว สามารถนำมาฟ้องลูกหนี้ในคดีล้มละลายได้ ส่วนลูกหนี้จะสมควรล้มละลายหรือไม่นั้นศาลต้องพิจารณาตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 177/2531 หนี้ตามคำพิพากษาซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ถือได้ว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน อันโจทก์อาจนำมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายได้ แต่หนี้ดังกล่าวอาจถูกกลับหรือแก้โดยศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาก็ได้ ข้อเท็จจริงยังไม่อาจฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จึงยังไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 14
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3210/2532 แม้หนี้ตามฟ้องจะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของคำพิพากษาซึ่งยังไม่ถึงที่สุด แต่คู่ความก็ต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาจนกว่าคำพิพากษานั้นจะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย หนี้ตามคำพิพากษานั้นจึงถือได้ว่าเป็นหนี้ซึ่งอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนและเมื่อต่อมาศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ได้เข้าไปในคดี กรณีจึงไม่มีเหตุที่ยังไม่สมควรให้จำเลยล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 471/2548 จำเลยเป็นหนี้ตามสัญญากู้เงิน สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญารับรองวงเงินโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงิน กับหนี้อาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนที่เจ้าหนี้จะฟ้องเป็นคดีล้มละลายได้โดยเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง หรือให้ศาลในคดีแพ่งมีคำพิพากษาก่อน เพราะ พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3) บัญญัติแต่เพียงว่า หนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน มิได้บัญญัติว่า หนี้นั้นศาลจะต้องมีคำพิพากษากำหนดจำนวนให้แน่นอนเสียก่อน
หนี้ภาษีอากรซึ่งเจ้าพนักงานประเมินแล้วแต่มิได้แจ้งการประเมินให้ลูกหนี้ทราบโดยชอบ ถือเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน เพราะยังไม่เสร็จสิ้นขั้นตอนการประเมิน และอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2531 หนี้ภาษีอากรซึ่งโจทก์ประเมินแต่มิได้แจ้งการประเมินให้จำเลยทราบโดยชอบ ทำให้จำเลยไม่อาจใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นั้นเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตามมาตรา 9(3) ของ พ.ร.บ. ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เพราะอาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือเพิกถอนโดยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิจะนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยล้มละลาย
แต่ถ้าหนี้ภาษีอากรนั้นเจ้าพนักงานประเมินและแจ้งให้ลูกหนี้ทราบโดยชอบแล้ว ลูกหนี้ไม่อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ถือว่าเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน หรือถ้าลูกหนี้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้วินิจฉัยแล้ว ถือว่าหนี้ภาษีอากรนั้นอาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนแล้ว สามารถนำมาฟ้องลูกหนี้ในดคีล้มละลายได้
สำหรับหนี้ค่าปรับนั้นแม้ศาลอาจลดค่าปรับได้หากสูงเกินส่วน แต่ถือว่าเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ได้ตกลงกำหนดจำนวนค่าปรับไว้แน่นอนแล้วจึงถือเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2653/2526 หนี้ที่โจทก์ฟ้องเป็นค่าปรับซึ่งสามารถคำนวณได้จากปริมาณน้ำมันที่จำเลยไม่สามารถส่งมอบให้โจทก์ได้ครบจำนวนที่สั่งซื้อ ซึ่งคำนวณแล้วเป็นจำนวนเงินตามที่โจทก์ฟ้อง จึงเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย และโจทก์ไม่จำเป็นต้องสืบพยานให้เห็นว่าโจทก์เสียหายเพียงใดหรือไม่
หนี้ให้ส่งมอบทรัพย์สินคืน ถ้าส่งมอบไม่ได้ให้ใช้ราคา ถือว่าเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 754/2533 มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ล้มละลายเป็นมูลหนี้ส่งมอบเครื่องยนต์เรือคืนเพราะผิดสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเลิกกัน โจทก์ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในเครื่องยนต์เรือและมีสิทธิติดตามเอาคืน หากคืนไม่ได้จึงจะใช้ราคา เมื่อปรากฏว่าจำเลยยังครอบครองและใช้ประโยชน์เครื่องยนต์เรือดังกล่าวอยู่ และอยู่ในสภาพที่สามารถบังคับให้จำเลยคืนเครื่องยนต์เรือได้ แม้โจทก์จะนำสืบว่าได้ติดตามเพื่อยึดเครื่องยนต์เรือคืน แต่จำเลยมีเรือหลายลำไม่ทราบว่าอยู่ในเรือลำใด จึงไม่สามารถยึดคืนได้ ก็หาใช่ว่าการคืนเครื่องยนต์เรือไม่สามารถกระทำได้จนต้องบังคับให้ใช้ราคาแทนอย่างเดียวไม่ โจทก์ย่อมฟ้องร้องโดยอาศัยอำนาจศาลบังคับให้จำเลยคืนเครื่องยนต์เรือได้ และหากบังคับได้เช่นนี้หนี้ค่าเครื่องยนต์เรือก็ไม่ใช่หนี้ที่จะบังคับเอาแก่จำเลยได้อีก ทั้งฟ้องโจทก์ไม่มีหนี้จำนวนอื่นคงมีแต่เครื่องยนต์เรือเท่านั้น เมื่อหนี้ส่งมอบเครื่องยนต์เรือคืนยังอยู่ในสภาพที่อาจบังคับกันได้ จึงไม่แน่นอนว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบเครื่องยนต์เรือจะมีหรือไม่ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 9 (3) โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4258/2549 หนี้ตามคำพิพากษากำหนดให้จำเลยทั้งสามร่วมกันส่งคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน เป็นกรณีคำพิพากษากำหนดขั้นตอนการบังคับคดีไว้ ซึ่งโจทก์ต้องบังคับคดีไปตามลำดับ โจทก์มีพยานมาเบิกความเพียงว่า ติดตามรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ไม่พบ โดยมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทั้งสามไม่สามารถคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์ได้ ซึ่งในข้อนี้กลับได้ความจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตอบคำถามค้านว่าจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อทั้งจำเลยทั้งสามให้การต่อสู้มาโดยตลอดว่าสามารถนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาส่งมอบคืนได้ กรณีน่าเชื่อว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อยังมีอยู่ และโจทก์ยังสามารถบังคับให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อได้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าหนี้ที่จะบังคับให้ใช้ราคาแทนการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจะมีหรือไม่ จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 9 (3)
หนี้ที่มีการนำดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดรวมอยู่ด้วย ถือเป็นหนี้ที่ยังไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5013/2547 แม้สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยมีลักษณะเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัด ซึ่งมีการหักทอนบัญชีระหว่างโจทก์และจำเลยกันปีละหนึ่งครั้ง หากจำเลยตกเป็นลูกหนี้โจทก์เท่าใดจำเลยจะต้องชำระหนี้ให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคาร ก. สาขามุกดาหารจะพึงเรียกเก็บจากลูกค้าผู้กู้ยืมเงินจากธนาคารดังกล่าว และหากจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จะคิดดอกเบี้ยในยอดหนี้ที่ค้างชำระแล้วทบเป็นยอดหนี้ที่ค้างชำระที่จะต้องนำไปหักทอนบัญชีในฤดูหีบอ้อยในปีต่อไประหว่างการเดินสะพัดทางบัญชี โจทก์มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปีหลายครั้ง โดยโจทก์มิได้เป็นสถาบันการเงินย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้มากกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ เมื่อการเดินสะพัดทางบัญชีของโจทก์มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ในกรณีที่จำเลยค้างชำระหนี้และมีการนำดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะทบเข้ากับเงินต้นที่จะหักทอนบัญชีกันในปีต่อไป มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องให้จำเลยล้มละลายจึงมีดอกเบี้ยทบต้นที่เป็นโมฆะระคนปนกันอยู่ ซึ่งโจทก์มิได้คำนวณเงินต้นและดอกเบี้ยที่อ้างว่าชอบด้วยกฎหมายมาให้ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งๆ ที่โจทก์สามารถคำนวณได้ เมื่อมูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องมีมูลหนี้ผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าหนี้ของโจทก์อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน