การพิจารณาคดีล้มละลาย

          มาตรา  14 "ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของเจ้าหนี้นั้น ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าศาลพิจารณาได้ความจริง ให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริง หรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง"

          ในการพิจารณาคดีล้มละลายต้องดำเนินคดีตามมาตรา 14 ดังนี้
          1. เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ว่า ลูกหนี้เป็นคนมีหนี้สินล้นพ้นตัว เป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์คนเดียวหรือหลายคนเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดา หรือไม่น้อยกว่า 2,000,000 บาท ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นนิติบุคคล และเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน หากเป็นกรณีเจ้าหนี้มีประกันก็ต้องนำสืบให้ได้ความตามมาตรา 10 ด้วย
          2. จากนั้นลูกหนี้มีสิทธินำพยานเข้าสืบตามข้อต่อสู้ เช่น ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ลูกหนี้อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย
          3. เมื่อศาลพิจารณาคดีเสร็จแล้ว ศาลต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดหรือพิพากษายกฟ้อง แล้วแต่กรณี คือ
          ก. หากมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ต้องได้ความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10
          ข. หากพิพากษายกฟ้องมี 3 กรณี
          (1) ไม่ได้ความจริงตามมาตรา 9 หรือมาตรา 10 หรือ
          (2) ลูกหนี้นำสืบว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือ
          (3) มีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2522  จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำการโฆษณาสินค้าและภาพยนตร์ซึ่งเป็นการจ้างทำของ หนี้รายนี้จึงมีอายุความให้ฟ้องร้องได้ภายในกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 (1) (เดิม) เมื่อนับจากวันที่หนี้รายนี้เกิดขึ้นถึงวันที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเนื่องจากค้างชำระสินจ้างดังกล่าวเป็นเวลาเกินสองปีแล้ว หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องจึงขาดอายุความ
          คดีล้มละลายจำเลยไม่จำต้องให้การสู้คดีเช่นคดีแพ่งสามัญจึงไม่มีประเด็นอย่างใดเกิดขึ้น การพิจารณาคดีล้มละลายผิดแผกแตกต่างกับการพิจารณาคดีแพ่งสามัญเพราะพระราชบัญญัติล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจึงต้องพิจารณาเอาความจริงตามมาตรา 14  แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ. 2483 ว่าคดีมีเหตุที่ควรหรือไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายหรือไม่ ฉะนั้น แม้จำเลยจะมิได้ยกข้อต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าหนี้ตามฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ  จึงเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 94 (1) ถือได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 14 ดังกล่าว ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 588/2535  โจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายจนศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว แต่โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้เมื่อเกินกำหนดเวลา โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะเรียกร้องจากจำเลยในคดีล้มละลายได้และปรากฏว่าคดีดังกล่าวมีเจ้าหนี้รายเดียวยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา แต่ก็ถอนคำขอรับชำระหนี้ไป ศาลจึงสั่งยกเลิกการล้มละลาย การที่โจทก์นำมูลหนี้รายเดียวกันมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายเป็นคดีนี้อีก จึงถือได้ว่าเป็นเหตุที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ศาลต้องยกฟ้องตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 14 ตอนท้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 482/2536   แม้มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเดิมจะมาจากการใช้สิทธิเรียกร้องในการติดตามเอาทรัพย์คืนจากจำเลยก็ตาม แต่เมื่อศาลอาญาพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แล้ว การบังคับคดีก็จะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.ว่าด้วยการบังคับคดี โจทก์จึงอ้างสิทธิเรียกร้องในการติดตามเอาทรัพย์คืน ซึ่งไม่มีอายุความมาใช้หาได้ไม่แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องดำเนินการบังคับคดีภายในกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271   การที่โจทก์ขอศาลออกหมายบังคับคดีภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาโดยมิได้มีการดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนจนถึงขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ พ้นกำหนดสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา จึงหมดสิทธิบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษา จึงต้องพิจารณาเอาความจริงตาม พ.ร.บ. ล้มละลายฯ มาตรา 9 หรือมาตรา 10 ดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีอาญาโจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ล้มละลายในมูลหนี้เดียวกันอีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 463/2537   จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 อันเป็นเวลาภายหลัง 2 ปีนับแต่จำเลยที่ 2ออกจากการเป็นหุ้นส่วนของห้างหุ้นส่วนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้น โจทก์ไม่มีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลายได้   หนังสือเตือนให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินภาษีที่ค้าง ไม่ได้ระบุแจ้งผลการประเมินตามรายการอากรสำแดง หรือมีรายการแยกแยะเป็นรายละเอียดภาษีอากรที่จะชำระเอาไว้แต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าเป็นการแจ้งการประเมินภาษีอากรตาม ประมวลรัษฎากรแต่เป็นหนังสือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามปกติดังเช่นหนี้ทั่วไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1319/2537   เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับชำระหนี้จากจำเลยโดยสิ้นเชิง ที่จำเลยขอประนอมหนี้ โดยขอลดหย่อนจำนวนหนี้ที่ต้องชำระแก่โจทก์นั้น ย่อมเป็นสิทธิโดยชอบของโจทก์ที่จะพิจารณา การที่โจทก์ไม่รับพิจารณาหาอาจให้ถือว่าเป็นการบีบคั้น กลั่นแกล้งจำเลย โดยไม่เป็นธรรมและถือเป็นเหตุไม่ควรให้จำเลยล้มละลายไม่ ส่วนที่อ้างว่าจำเลยอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด เพราะจำเลยมีสิทธิในการรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนหนี้สินสิทธิที่จำเลยอ้างจะเกิดเป็นผลต่อเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายเสียก่อนโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงพินัยกรรม จึงเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไขบังคับก่อน ยังไม่เป็นผลที่จะถือว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยมีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ได้แน่นอน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2538   การที่จำเลยทั้งสองกับ น. ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งห้าในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษา โจทก์ทั้งห้าย่อมมีสิทธิเลือกบังคับชำระหนี้ทั้งหมดเอาจากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งหรือทั้งสามคนร่วมกันก็ได้ หากบังคับชำระหนี้ได้ไม่ครบหรือไม่ได้เลยและอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะฟ้องให้ลูกหนี้คนใดล้มละลายได้โจทก์ทั้งห้าก็มีสิทธิฟ้องให้ล้มละลายได้ด้วย การที่โจทก์ทั้งห้าเลือกฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลายหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตไม่
          เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวแต่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์จึงฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยทั้งสองมีหนี้สินล้นพ้นตัวและวินิจฉัยเฉพาะปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่ามีเหตุไม่ควรพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลายหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่ามิได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
          จำเลยที่ 2 อ้างว่ามีรายได้เดือนละ 200,000 - 300,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าเคยชำระหนี้ให้โจทก์ทั้งห้าเลย ข้ออ้างจึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 มีรายได้ที่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด จึงไม่มีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 2 ล้มละลาย
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6176/2540   ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ให้แก่โจทก์วันที่ 14 มิถุนายน 2528 โจทก์ชอบที่จะร้องขอบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองภายในสิบปีนับแต่วันที่มีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 271 แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้ขอหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 19 ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2529 และวันที่ 27 เมษายน 2532 ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำทรัพย์ที่ยึดออกขายทอดตลาดก็ตาม ก็เป็นขั้นตอนของการดำเนินการบังคับคดี เมื่อหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้โจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีเสียภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดี แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจนำหนี้ที่พ้นกำหนดเวลาบังคับคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยทั้งสองให้ล้มละลายได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5035/2541   โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ถึงที่สุดแล้วมาเป็น มูลฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย มิใช่เรื่องการบังคับตาม คำพิพากษาหรือคำสั่ง ตามที่บัญญัติไว้ในภาค 4 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะเวลาการบังคับคดีตามมาตรา 271 มาบังคับแก่กรณีนี้ได้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกให้ล้มละลายโดย อาศัยมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องอันตั้งหลักฐานขึ้นโดยคำพิพากษาที่ถึงที่สุดมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายภายในกำหนดอายุความ 10 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด โจทก์จึงมีสิทธินำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยกับพวกล้มละลายได้ และย่อมมีผลเท่ากับเป็น การฟ้องคดีเพื่อให้ชำระหนี้อย่างหนึ่งตามวิธีการที่พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้โดยเฉพาะอันทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14 (2) กรณีมิใช่เรื่องการบังคับคดี จึงต้องเริ่มนับอายุความโดยเริ่มนับแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงคือ ถัดจากวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 500,000 บาท และจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นบุคคลธรรมดาเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 50,000บาท และจำเลยทั้งสามไม่มีทรัพย์สินอื่นใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ ซึ่งต้องด้วยข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 8(5) ว่าเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงชอบที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด ตามมาตรา 14
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 266/2545   การบังคับคดีเป็นสิทธิตามกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีตามขั้นตอนให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ดังนั้น โจทก์จะดำเนินการบังคับคดีเมื่อใด ภายในกำหนด 10 ปี จึงเป็นสิทธิที่โจทก์สามารถทำได้โดยชอบ จำเลยเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีหน้าที่นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยไม่ชำระ จึงต้องรับผิดในหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากจำนวนดอกเบี้ยที่ศาลกำหนดไว้ในคำพิพากษาแก่โจทก์ หาใช่เป็นผลจากการที่โจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดีแต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับดีในทันทีจึงมิใช่เหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2552   จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยไม่สืบพยานกรณีจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับโอนที่ดิน 1 แปลง เพียงพอชำระหนี้ได้นั้น คดีนี้จำเลยขอเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาหลายครั้งเพื่อเจรจาประนอมหนี้กับโจทก์ จนกระทั่งปรากฏว่าเช็คที่ญาติของจำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ จึงมีการโอนที่ดินให้แก่จำเลยก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา 3 วัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าเป็นการโอนที่ดินให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานให้ศาลพิพากษายกฟ้องในคดีล้มละลาย ซึ่งมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ค้างชำระตามคำพิพากษาคดีแพ่งอีกต่อไปเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4098/2548   จำเลยที่ 1 กับเพื่อนได้ร่วมกันกู้ยืมเงินโจทก์เพื่อใช้เป็นทุนในการเปิดคลินิกทันตแพทย์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีแพ่ง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้คดีเพราะเห็นว่าเป็นหนี้โจทก์จริง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ติดต่อชำระหนี้แก่โจทก์อีกหลายครั้งแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และเมื่อถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลาย จำเลยที่ 1 ก็ได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของโจทก์อีกเพื่อขอผ่อนชำระหนี้ ปัจจุบันจำเลยที่ 1 ได้ทำงานประจำที่คลินิกทันตกรรม มีรายได้ประมาณไม่ต่ำกว่าเดือนละ 60,000 บาท กรณีเห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์มาเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพโดยสุจริต แม้ไม่ประสบความสำเร็จก็ยังพยายามติดต่อขวนขวายชำระหนี้แก่โจทก์เรื่อยมา การกระทำดังกล่าวย่อมแสดงถึงความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในภาระหนี้ที่มีต่อโจทก์ เมื่อพิจารณาถึงฐานะของจำเลยที่ 1 ซึ่งประกอบอาชีพทันตแพทย์และมีรายได้ในการประกอบอาชีพที่แน่นอน ประกอบกับความพยายามโดยสุจริตในการที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้บุคคลอื่นอีก จำเลยที่ 1 ยังอยู่ในวิสัยที่จะใช้ความรู้ความสามารถของตนหาเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ กรณีจึงถือเป็นเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย
          กรณีที่ศาลต้องพิพากษายกฟ้องเพราะลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด ถ้าเป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้ได้มาหลังโจทก์ฟ้องต้องเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้เองและขณะที่ลูกหนี้ได้ทรัพย์สินนั้นมาเจ้าหนี้ยังสามารถบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินนั้นได้ แต่ถ้าลูกหนี้ได้ทรัพย์นั้นมาเมื่อล่วงเลยระยะเวลา 10 ปีที่เจ้าหนี้จะบังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 ก็ไม่ถือเป็นเหตุที่ศาลจะยกฟ้องตามมาตรา 14 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3915/2552  จำเลยถูกยึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดี กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (5) ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จำเลยมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยไม่สืบพยานกรณีจึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ส่วนที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า จำเลยได้รับโอนที่ดิน 1 แปลง เพียงพอชำระหนี้ได้นั้น คดีนี้จำเลยขอเลื่อนการนัดฟังคำพิพากษาหลายครั้งเพื่อเจรจาประนอมหนี้กับโจทก์ จนกระทั่งปรากฏว่าเช็คที่ญาติของจำเลยออกให้เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ จึงมีการโอนที่ดินให้แก่จำเลยก่อนวันนัดฟังคำพิพากษา 3 วัน พฤติการณ์แห่งคดีเห็นได้ว่าเป็นการโอนที่ดินให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานให้ศาลพิพากษายกฟ้องในคดีล้มละลาย ซึ่งมีผลให้จำเลยไม่ต้องรับผิดในหนี้ส่วนที่ค้างชำระตามคำพิพากษาคดีแพ่งอีกต่อไปเนื่องจากพ้นกำหนดระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว และกรณีไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย
          กรณีที่ศาลจะยกฟ้องเพราะมีเหตุอื่นที่ไม่สมควรให้ลูกหนี้ล้มละลายจะต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4464/2552  เหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 เป็นข้อที่ศาลชอบที่จะหยิบยกในชั้นพิจารณาเอาความจริงตามคำฟ้องโจทก์ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ดังนี้ แม้ภายหลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว โจทก์จะได้รับชำระหนี้ครบจำนวนตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ก็ไม่อาจถือเป็นเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย        
          นอกจากศาลจะพิพากษายกฟ้องตามมาตรา 14 แล้วศาลยังมีอำนาจพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ได้ด้วย โดยผลของมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7137/2545   โจทก์ฟ้อง ว. และจำเลยที่ 2 กับพวกให้ล้มละลายในคดีก่อน โดยอาศัยมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่ ว. และจำเลยที่ 2 สามารถแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่าตนมีทรัพย์สินเพียงพอชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ศาลจึงพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด โจทก์กลับนำมูลหนี้เดิมมาฟ้อง ว. และจำเลยที่ 2 กับพวกเป็นคดีแพ่งให้ชำระหนี้อีก ซึ่งศาลพิพากษาให้ ว. และจำเลยที่ 2 กับพวกชำระหนี้แก่โจทก์ หลังจากนั้นโจทก์นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งดังกล่าวมาฟ้องเป็นคดีนี้ จะเห็นได้ว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์นำมาฟ้องให้จัดการทรัพย์มรดกของ ว. และจำเลยที่ 2 ล้มละลายในคดีนี้ เป็นหนี้ที่สืบเนื่องมาจากมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินที่โจทก์นำไปฟ้องให้ ว. และจำเลยที่ 2 ล้มละลายในคดีแรกมาแล้ว อันเป็นประเด็นอย่างเดียวกันว่า ว. และจำเลยที่ 2 มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 153
          ลูกหนี้ได้รับปลดจากล้มละลายแล้วมีผลให้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ เมือหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องเกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ โจทก์จึงต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องลูกหนี้ให้ล้มละลาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4797/2553   พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนมีผลในทางตัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หรือพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 ถ้าได้ความจริงจึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือจำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ศาลต้องพิพากษายกฟ้องดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 แม้ในชั้นพิจารณาของศาลล้มละลายกลางไม่มีผู้ใดยกปัญหาอำนาจฟ้องของโจทก์ขึ้นมาต่อสู้ จำเลยที่ 2 ก็มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
          ก่อนถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งได้รับการปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาก่อนวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าว ทั้งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลาย
          กรณีศาลพิจารณาแล้วไม่ได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4082/2552   จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์ในขณะที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดแล้ว สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22, 24 และตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ต่อมาศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวก็ไม่มีผลผูกพันศาลในคดีล้มละลายเนื่องจากฎหมายล้มละลายเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์เด็ดขาดหรือพิพากษาให้บุคคลใดล้มละลายย่อมกระทบถึงความสามารถ สถานะและทรัพย์สินของบุคคลนั้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ในการพิจารณาคดีล้มละลายตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลจึงต้องพิจารณาให้ได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 หรือมาตรา 10 จึงจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดได้ เมื่อโจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษามาฟ้องโดยหนี้ดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากสัญญากู้ยืมเงินที่ตกเป็นโมฆะจึงเป็นนิติกรรมที่ไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์ตามมาตรา 9 (2) โจทก์ไม่มีสิทธินำมูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้

          การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษา
          กรณีศาลต้องพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดกฎหมายให้ทำเป็นคำสั่ง แต่กรณีศาลยกฟ้องกฎหมายให้ทำเป็นคำพิพากษา ทั้งนี้ ทั้งสองกรณีถือว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดคดีนั้นแล้ว คู่ความมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษานั้นได้ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำสั่งหรือคำพิพากษานั้น โดยอุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายฯ มาตรา 24 (1), (4)