การปลดจากล้มละลาย

          มาตรา 67/1  "เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจได้รับการปลดจากล้มละลายเมื่อศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายตามมาตรา 71 หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 81/1"

          การปลดจากล้มละลายเป็นกระบวนการที่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการล้มละลาย และทำให้คดีล้มละลายสิ้นสุดลง ลุกหนี้กลับมามีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนได้เหมือนเดิม ซึ่งบุคคลอาจได้รับการปลดจากล้มละลายได้ 2 กรณี คือ
          (1) เมื่อศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายตามมาตรา 71 หรือ
          (2) ปลดจากล้มละลายโดยอัตโนมัติเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 81/1

          การขอปลดจากล้มละลาย
          มาตรา 68  "เมื่อศาลได้พิพากษาให้ล้มละลายแล้ว บุคคลล้มละลายอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาล เพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ แต่ต้องนำเงินมาวางไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์จะเห็นสมควรไม่เกินห้าพันบาทเพื่อเป็นประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย
          การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้บุคคลล้มละลาย และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบสี่วัน และโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ"



          หลักเกณฑ์การขอให้ศาลสั่งปลดจากล้มละลาย
          (1) ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว คือ ศาลมีคำพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว หากลูกหนี้เพียงแต่ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์จะขอให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายไม่ได้
          (2) บุคคลล้มละลายเป็นผู้ขอโดยยื่นคำขอเป็นคำร้อง เฉพาะบุคคลล้มละลายเท่านั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่นไม่มีสิทธิขอ
          (3) ในการยื่นคำขอต้องวางเงินประกันค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายไว้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามจำนวนที่เจ้าพนักงานพิทักทรัพย์เห็นสมควรแต่ไม่เกิน 5,000 บาท
          ซึ่งเมื่อศาลได้รับคำขอของบุคคลล้มละลายแล้ว ศาลต้องกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอโดยต้องมีเวลาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีเวลาแจ้งให้บุคคลล้มละลายและเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้าก่อนวันนั่งพิจารณาไม่น้อยกว่า 14 วันและให้โฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ
          บุคคลล้มละลายต้องไปศาลในวันนั่งพิจารณา หากบุคคลล้มละลายไม่ไปศาลในวันดังกล่าวโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลอาจสั่งจำหน่ายคำขอของบุคคลล้มละลายเสียได้ ส่วนเจ้าหนี้จะไปหรือไม่ไปก็ได้

          การรายงานเกี่ยวกับกิจการ ทรัพย์สิน และความประพฤตของบุคคลล้มละลาย
          มาตรา  69 "ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินและ ความประพฤติของบุคคลล้มละลายในเวลาก่อนหรือระหว่างที่ล้มละลายต่อศาล และส่งสำเนารายงานนั้นให้บุคคลล้มละลายทราบไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนวันนั่ง พิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย"

          ในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่รายงานเกี่ยวกับกิจการทรัพย์สินและ ความประพฤติของบุคคลล้มละลายในเวลาก่อนหรือระหว่างที่ล้มละลายต่อศาล หมายถึง เวลาก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์และหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์ จนถึงเวลายื่นคำขอปลดจากล้มละลาย และต้องนำส่งสำเนารายงานนั้นให้บุคคลล้มละลายทราบล่วงหน้าก่อนวันนั่งพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายไม่น้อยกว่า 7 วัน ซึ่งถ้ารายงานนั้นเป็นผลร้ายแก่บุคคลล้มละลายก็มีสิทธิโต้แย้งคัดค้านได้

          การพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย
          มาตรา 70 "ในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลายนั้นศาลอาจฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ได้ยื่นตามมาตรา ๖๙ และรายงานการไต่สวนโดยเปิดเผยของศาลนั้นเอง และศาลอาจให้บุคคลล้มละลายสาบานตัวให้การหรือพิจารณาพยานหลักฐานตามที่เห็นสมควรก็ได้"

          ในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย ให้ศาลฟังคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 69 และรายงานการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยของศาล ซึ่งศาลจะสั่งให้บุคคลล้มละลายสาบานตัวให้การในชั้นศาลนั่งพิจารณา หรือถ้ากรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือเจ้าหนี้คัดค้านคำขอปลดจากล้มละลาย หรือกรณีบุคคลล้มละลายคัดค้านรายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 69 ศาลอาจสั่งให้ทั้งสองฝ่ายสืบพยานเพื่อพิจารณาหาข้อยุติข้อโต้แย้งคัดค้านนั้นก็ได้

          อำนาจในการสั่งคำขอปลดจากล้มละลาย
          มาตรา  71 "ให้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า
          (1) ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบและ
          (2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
          คำสั่งปลดจากล้มละลายตามวรรคหนึ่ง ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1"

          เมื่อศาลได้พิจารณาคำชี้แจงของเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ เจ้าหนี้หรือผู้แทนเจ้าหนี้ รายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ รายงานการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผย รวมทั้งคำให้การของบุคคลล้มละลายและพยานหลักฐานอื่นๆ แล้ว ถ้าศาลเห็นว่า
          (1) ได้แบ่งทรัพย์สินชำระให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้แล้วไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบและ
          (2) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายทุจริต คือ บุคคลล้มละลายนั้นไม่เป็นบุคคลล้มละลายที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 163 ถึง 170 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย หรือไม่เป็นบุคคลล้มละลายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานยักยอกหรือฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำความผิดอันมีลักษณะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
          ในการที่ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้น ศาลอาจสั่งปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไขหรือโดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ แต่ต้องไม่เกินระยะเวลาที่บุคคลนั้นได้รับการปลดจากล้มละลายตามมาตรา 81/1 กล่าวคือ ในกรณีที่บุคคลล้มละลายเป็นบุคคลธรรมดา ศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่บุคคลล้มละลายนั้นจะพึงได้มาต่อไปภายหลังจากวันที่สั่งปลดจากล้มละลายแล้วเกินระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายตามมาตรา 81/1 วรรคหนึ่ง หรือเกิน 5 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายตามมาตรา 81/1 (1) ไม่ได้ แต่กรณีที่บุคคลล้มละลายเป็นนิติบุคคล ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่นิติบุคคลนั้นจะพึงได้มาในเวลาต่อไปก็ได้ ตามที่เห็นสมควร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1570/2556   การฟ้องคดีล้มละลายเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั่วไป เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (3) บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่มีอำนาจประนีประนอมยอมความ หรือฟ้องร้อง หรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ คดีนี้ แม้โจทก์จะหลุดพ้นจากการล้มละลายโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 71 แต่ที่ดินและอาคารพิพาทเป็นทรัพย์สินที่โจทก์มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายและเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 ทั้งอยู่ในระหว่างการขายทอดตลาดตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงยังคงมีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น และนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและอาคารพิพาทนั้นเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับทรัพย์สินของโจทก์ ซึ่งเป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ก็ไม่มีฟ้องของโจทก์และตัวโจทก์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะฟ้องแย้ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5608/2543   แม้หนี้ของเจ้าหนี้ทั้งหลายที่มีต่อจำเลยจะเป็นหนี้การค้าของบริษัท อ. จำกัด ที่จำเลยเข้าเป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยมีฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าว ย่อมเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการบริหารงาน จำเลยย่อมต้องทราบดีถึงศักยภาพในการประกอบธุรกิจของบริษัท การที่บริษัทประกอบการค้าขายขาดทุนจนไม่สามารถชำระหนี้จำนวนมากแก่เจ้าหนี้ได้ ย่อมเป็นเพราะความผิดพลาดหรือประมาทขาดความรอบคอบของจำเลยเอง หลังจากศาลพิพากษาให้จำเลยล้มละลายแล้วประมาณ 9 ปี จำเลยจึงไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการสอบสวนเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินของจำเลยและให้การในชั้นไต่สวนเปิดเผยต่อศาล อันเป็นระยะเวลาก่อนจำเลยยื่นคำร้องขอปลดจากล้มละลายเพียงเล็กน้อยส่อให้เห็นว่าเป็นการกระทำเพื่อหวังประโยชน์ของตนในการขอปลดจากล้มละลายโดยแท้ยิ่งกว่าประโยชน์ในการรวบรวมจัดการทรัพย์สิน นับได้ว่ามีเหตุที่ไม่สมควรปลดจำเลยจากล้มละลาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2542   คำสั่งคำขอปลดจากล้มละลายอาจแยกได้เป็น 2 กรณีคือ กรณีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ พระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 71 วรรคสอง ที่ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งปลดจาก ล้มละลาย ถ้าได้ความว่าเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต นอกจากจะมี เหตุผลพิเศษและลูกหนี้ได้ล้มละลายแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และตามมาตรา 72 ที่กำหนดว่าถ้าพิจารณาข้อเท็จจริงได้ความ อย่างหนึ่งอย่างใดดังกล่าวไว้ในมาตรา 73 แล้ว ให้ศาลมีคำสั่ง อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างตาม (1) ถึง (4) ถ้าไม่ใช่กรณี ดังกล่าวแล้วก็เป็นกรณีทั่วไปซึ่งศาลมีอำนาจมีคำสั่ง อย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 71 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงต้องด้วยข้อกำหนดตามมาตรา 73(1) จึงเป็น กรณีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษให้ศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่างตามมาตรา 72(1) ถึง (4) ศาลจะมีคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยไม่มีเงื่อนไขไม่ได้ ต้องมีคำสั่งปลดจากล้มละลายตามวิธีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 72(4) เท่านั้น   กรณีพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 73(1) ระบุว่า สินทรัพย์ของบุคคลล้มละลายที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้มีเหลือ ไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันนั้นหมายความว่า ในขณะที่บุคคลล้มละลายร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งปลดจาก ล้มละลายบุคคลล้มละลายมีทรัพย์สินที่อาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ ไม่ถึงห้าสิบในร้อยของหนี้ที่ไม่มีประกันการที่เจ้าพนักงาน พิทักษ์ทรัพย์ไม่สามารถรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้หลังจาก ศาลมีคำสั่งปิดคดี ย่อมอยู่ในความหมายของมาตรา 73(1) ดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เต็มจำนวนหนี้ซึ่งยังไม่ได้ชำระให้เสร็จ ภายในกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่งตามมาตรา 72(4) จึงชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 621/2510   เมื่อลูกหนี้ได้ใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้เกินกว่าร้อยละ 50 แล้ว และทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ไม่มีที่จะรวบรวมมาใช้หนี้ต่อไปจนกระทั่งปิดคดีล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่คัดค้านในการที่ลูกหนี้ขอปลดจากการล้มละลาย แม้ลูกหนี้จะยังมีหนี้อีกมากก็ไม่ใช่เหตุที่ศาลจะไม่สั่งปลดจากการล้มละลายได้