คำขอประนอมหนี้ต้องแสดงข้อความแห่งการประนอมหนี้ หรือวิธีจัดกิจการหรือทรัพย์สินและรายละเอียดแห่งหลักประกัน หรือผู้ค้ำประกัน ถ้ามี และอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ลำดับการชำระหนี้ตามพระราชบัญญัตินี้
(2) จำนวนเงินที่ขอประนอมหนี้
(3) แนวทางและวิธีการในการปฏิบัติตามคำขอประนอมหนี้
(4) กำหนดเวลาชำระหนี้
(5) การจัดการกับทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ถ้ามี
(6) ผู้ค้ำประกัน ถ้ามี
ถ้าคำขอประนอมหนี้มีรายการไม่ครบถ้วนชัดเจนตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ลูกหนี้แก้ไขให้ครบถ้วนชัดเจน
ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่"
การประนอมหนี้ คือ การที่ลูกหนี้ขอทำความตกลงกับเจ้าหนี้ในเรื่องหนี้สินโดยการขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือชำระโดยวิธีอื่น การประนอมหนี้มี 2 กรณีคือ การประนอมหนี้ก่อนล้มละลายกับการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลาย หากลูกหนี้ทำการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายสำเร็จ ลูกหนี้ก็ไม่ตกเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ถ้าประนอมหนี้ไม่สำเร็จ ศาลก็พิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายตามมาตรา 61 ซึ่งเมื่อลูกหนี้ล้มละลายแล้วก็ยังสามารถมาขอประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายได้อีก และหากประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายสำเร็จ ศาลก็มีอำนาจสั่งยกเลิกการล้มละลายนั้นได้ตามมาตรา 63
หลักเกณฑ์และวิธีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย
การขอประนอมหนี้อาจทำได้ 2 วิธีคือ การขอชำระหนี้แต่เพียงบางส่วนหรือการชำระหนี้โดยวิธีอื่นสำหรับกำหนดเวลาและวิธียื่นคำขอประนอมหนี้นั้น ลูกหนี้ต้องทำคำขอประนอมหนี้เป็นหนังสือยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำชี้แจงเกี่ยวกับกิจการและทรัพย์สินตามมาตรา 30 หรือภายในเวลาตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กำหนดให้
เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้รับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว มาตรา 45 วรรคสาม ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติพิเศษว่าจะยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้นหรือไม่ คือ การเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งแรกนั่นเอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1851/2511 จำเลยขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้เสนอต่อที่ประชุมเจ้าหนี้ขอให้ลงมติ ไม่มีเจ้าหนี้รายใดคัดค้านการออกเสียง ที่ประชุมเจ้าหนี้ลงมติยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลย ต่อมาศาลได้ไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วมีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นแม้ต่อมาโจทก์จะคัดค้านคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้อื่นที่ลงมติไปแล้ว แต่ศาลก็ยังไม่ได้ชี้ขาดถึงที่สุดว่าจะให้เจ้าหนี้ที่ถูกโจทก์คัดค้านรับชำระหนี้ได้หรือไม่ ดังนี้ จะถือว่าการประนอมหนี้เป็นกรณีที่ต้องห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบหาได้ไม่ เพราะเมื่อศาลวินิจฉัยชี้ขาดคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ที่โจทก์คัดค้านถึงที่สุดแล้วประการใด ก็เป็นเรื่องที่อาจดำเนินการไปตามผลของคำพิพากษานั้นอีกส่วนหนึ่ง
กรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายภายในกำหนดตามมาตรา 45 แล้ว แต่ที่ประชุมเจ้าหนี้ไม่ยอมรับคำขอประนอมหนี้นั้น ลูกหนี้จะยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายอีกไม่ได้
การพิจารณาคำขอประนอมหนี้
มาตรา 49 "เมื่อเจ้าหนี้ได้ลงมติพิเศษยอมรับคำขอประนอมหนี้ของลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขอต่อศาลให้สั่งว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่การกำหนดวันนั่งพิจารณาคำขอนี้ ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเวลาส่งแจ้งความให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน"
มาตรา 50 "ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นรายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้ กิจการทรัพย์สินและความประพฤติของลูกหนี้ต่อศาล ไม่น้อยกว่าสามวัน ก่อนวันที่ศาลนั่งพิจารณา"
มาตรา 51 "ห้ามมิให้ศาลพิจารณาคำขอประนอมหนี้จนกว่าจะได้ไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้ว เว้นแต่กรณีที่ลูกหนี้ร่วมขอประนอมหนี้นั้น แม้ศาลจะยังมิได้ไต่สวนลูกหนี้ทั้งหมดโดยเปิดเผย เพราะเหตุว่าลูกหนี้บางคนไม่สามารถจะมาศาลโดยเจ็บป่วยหรืออยู่นอกราชอาณาจักรก็ตาม ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าไม่จำเป็นจะต้องไต่สวนลูกหนี้นั้นๆ ศาลมีอำนาจพิจารณาคำขอประนอมหนี้ได้ แต่ต้องได้มีการไต่สวนลูกหนี้โดยเปิดเผยแล้วอย่างน้อยคนหนึ่ง"
มาตรา 52 "ในการที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้หรือไม่นั้น ให้ศาลพิจารณารายงานของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และข้อคัดค้านของเจ้าหนี้ ถ้ามี
เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วมีอำนาจคัดค้านต่อศาลได้ ถึงแม้จะได้เคยออกเสียงลงมติยอมรับไว้ในที่ประชุมเจ้าหนี้ก็ตาม"
เมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายแล้วมีผลให้
(1) ลูกหนี้ไม่ต้องถูกพิพากษาให้ล้มละลาย
(2) คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันยกเลิกเพิกถอนไปในตัว ลูกหนี้กลับมามีอำนาจจัดการทรัพย์สินและกิจการของตนได้เท่าที่ไม่ขัดกับเงื่อนไขที่ให้ไว้ในคำขอประนอมหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2533 การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายย่อมทำให้จำเลยที่ 2 กลับมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตนรวมทั้งสามารถต่อสู้คดีได้เอง โจทก์ฟ้องคดีภายหลังศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้จึงมีอำนาจฟ้อง แม้ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 25 เมื่อไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอเข้าว่าคดีหรือมีคำขอให้จำหน่ายคดี ศาลย่อมมีอำนาจให้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ต่อไป เมื่อจำเลยที่ 2 ตกเป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยที่ 2 ย่อมขาดจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1154 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 1ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนอีกต่อไป เมื่ออำนาจจัดการทรัพย์สินจำเลยที่ 1 ของจำเลยที่ 2 หมดไปแล้ว จึงมิอาจเปลี่ยนมือไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 486/2536 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจทำการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองเพื่อเป็นการบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบแล้วได้ แม้ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายและให้จำเลยมีอำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของตน เพราะเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังต้องมีอำนาจหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามข้อตกลงในการประนอมหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 823/2547 ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของจำเลยซึ่งขอประนอมหนี้โดยยอมชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา 130 (1) – (7) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลายฯ เต็มจำนวนและในทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ จำเลยยอมชำระบรรดาหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วซึ่งทำให้จำเลยต้องผูกพันตามข้อตกลงในการประนอมหนี้และคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเป็นอันยกเลิกไปในตัว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาฎีกาของจำเลยอีกต่อไป ชอบที่จะจำหน่ายคดีจากสารบบความ
การประนอมหนี้มีผลผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้
มาตรา 46 "การยอมรับคำขอประนอมหนี้โดยมติพิเศษของที่ประชุมเจ้าหนี้ยังไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหลาย จนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแล้ว"มาตรา 56 "การประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยแล้ว ผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระได้ แต่ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดในเรื่องหนี้ซึ่งตามพระราชบัญญัตินี้ลูกหนี้ไม่อาจหลุดพ้นโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายได้ เว้นแต่เจ้าหนี้คนนั้นได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1097/2539 เมื่อการประนอมหนี้ซึ่งที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับและศาลเห็นชอบด้วยผูกมัดเจ้าหนี้ทั้งหมดในเรื่องหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ได้ และลูกหนี้มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้นั้นแล้ว ไม่ว่าภายหลังจากนั้นจะเกิดมีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างไร แม้จะมีผลทำให้เจ้าหนี้สามารถได้รับชำระหนี้ได้เร็วกว่าที่ลูกหนี้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่อาจนัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อเพิ่มเติมเงื่อนไขข้อตกลงประนอมหนี้นอกเหนือไปจากที่ลูกหนี้ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้นั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6349/2537 ก่อนจำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีก่อน จำเลยที่ 1ได้เบิกเงินเกินบัญชีตามสัญญาจากโจทก์แล้ว อันทำให้เกิดมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จึงเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 เด็ดขาด อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ แม้หนี้ตามสัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 3 จะยังไม่ถึงกำหนดชำระในขณะที่จำเลยที่ 3 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เพราะจำเลยที่ 1ยังไม่ผิดนัด โจทก์ก็ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมูลหนี้สัญญาค้ำประกันในคดีล้มละลายคดีก่อนภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91, 94 เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายดังกล่าวจนได้มีการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ก็ต้องถูกผูกมัดโดยการประนอมหนี้ด้วยตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 56 โจทก์จะนำหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวมาฟ้องให้จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดและล้มละลายอีกไม่ได้ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153
แต่การประนอมหนี้ซึ่งศาลเห็นชอบแล้ว ไม่ผูกมัดเจ้าหนี้ภาษีอากรที่มิได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้นั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4955/2536 เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทนตามพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 58 โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินได้ต่อไป เมื่อการให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินตามที่โจทก์ถูกเรียกตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษี การอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งจึงอยู่ในอำนาจของโจทก์ที่จะจัดการได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
แม้โจทก์จะได้รับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้ว แต่จำเลยมิได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้นั้น จึงไม่อาจผูกมัดเจ้าพนักงานประเมินในการเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ เพราะโจทก์ไม่อาจหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56, 77
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 บัญญัติเพียงว่าคำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันพึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณี ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้บัญญัติว่าจะต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระแล้ว หรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 แม้จำเลยมิได้ยื่นขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดตาม มาตรา 91 เจ้าพนักงาน-ประเมินก็มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์
การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งต้องร่วมรับผิดกับลูกหนี้หลุดพ้นจากความรับผิด
มาตรา 59 "การประนอมหนี้ไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับลูกหนี้หรือรับผิดร่วมกับลูกหนี้ หรือค้ำประกันหรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย"การประนอมหนี้ที่ศาลเห็นชอบแล้วนี้ เฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ เป็นเรื่องเฉพาะตัวลูกหนี้ ส่วนบุคคลที่เป็นหุ้นส่วนหรือร่วมรับผิดกับลูกหนี้ไม่ได้รับประโยชน์ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2507 ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ในวงเงินไม่เกิน 110,000 บาท ลูกหนี้ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นเงิน 125,329.84 บาท ต่อมาลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ ปรากฎว่าธนาคารเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเรื่องนั้น ต่อมาผู้ค้ำประกันถูกเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งฟ้องล้มละลาย ธนาคารเจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องหลังนี้ ดังนี้ การที่ธนาคารเจ้าหนี้มิได้ยืนคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องก่อน หาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปไม่ ธนาคารเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องหลังได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2649/2541 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย ที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ตกลงเห็นชอบยอมรับคำขอประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 ย่อมไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 58 กรณีต้องถือว่าคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้นเป็นอันยกเลิกไปในตัว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมกลับเป็นผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนขึ้นตามเดิมและมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินของตนได้ต่อไป
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ไม่มีความสามารถชำระหนี้โจทก์ได้ทั้งหมดแม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายและศาลเห็นชอบด้วยก็ตามแต่การประนอมหนี้ดังกล่าวไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 หลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วยทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 59
การยกเลิกการประนอมหนี้
มาตรา 60 "ถ้าลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ก็ดี หรือปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควรก็ดี หรือการที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยนั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริตก็ดี เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานหรือเจ้าหนี้คนใดมีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปแล้วตามข้อประนอมหนี้นั้น
เมื่อศาลได้พิพากษาดังกล่าวในวรรคก่อนแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ในคำโฆษณาให้ระบุชื่อ ตำบลที่อยู่ อาชีพของลูกหนี้ และวันที่ศาลได้มีคำพิพากษา ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้ กระทำขึ้นในระหว่างวันที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ถึงวันที่ ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย"
กรณีที่ปรากฏเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นดังต่อไปนี้ ศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายได้ คือ
(1) ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ได้ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ หรือ
(2) ปรากฏแก่ศาลโดยมีพยานหลักฐานว่า การประนอมหนี้นั้นไม่อาจดำเนินไปได้โดยปราศจากอยุติธรรมหรือจะเป็นการเนิ่นช้าเกินสมควร หรือ
(3) การที่ศาลได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับการประนอมหนี้นั้นเป็นเพราะถูกหลอกลวงทุจริต
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6847/2538 คำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายของลูกหนี้ที่ 2 ซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้วนั้น มีความว่า ข้อ 1. ลูกหนี้ที่ 2 ยอมชำระค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา130 (1)-(7) แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 โดยเต็มจำนวนและในทันทีเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ข้อ 2 นอกจากหนี้ที่กล่าวในข้อ 1 ลูกหนี้ที่ 2 ยอมชำระบรรดาหนี้ที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้แล้วเป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้มีกำหนดดังนี้ คือ งวดแรกชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ภายในวันที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ ส่วนที่เหลือจะชำระภายใน 1 ปี โดยแบ่งออกเป็น 3 งวด งวดละเท่า ๆ กัน โดยมีกำหนด 4 เดือน ต่อ 1 งวด ข้อ 3.หนี้ตามข้อ 1. และ 2. นั้น ลูกหนี้ที่ 2 จะชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อปรากฏว่ามีเจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 2 จำนวน 10 รายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้วจำนวน 9 ราย แม้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 คดียังไม่ถึงที่สุดก็เป็นเพียงทำให้ไม่สามารถคำนวณค่าธรรมเนียมตามมาตรา 130 (4) กับจำนวนเงินที่ต้องวางชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ข้อ 1. และข้อ 2. เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 นี้เท่านั้น แต่สำหรับค่าใช้จ่ายและหนี้สินตามมาตรา 130 (1)-(7) และจำนวนที่ต้องชำระร้อยละห้าสิบของจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ทั้งเก้ารายซึ่งศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้และคดีถึงที่สุดแล้ว มิใช่ไม่อาจคำนวณได้ และหากต้องรอให้คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ทุกรายถึงที่สุดก่อนย่อมไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหนี้ในรายที่คดีถึงที่สุดซึ่งจะทำให้ได้รับชำระหนี้ล่าช้าออกไป ทั้งยังเป็นการฝ่าฝืนต่อข้อตกลงในการประนอมหนี้ซึ่งกำหนดเวลาการชำระหนี้ไว้โดยชัดแจ้งลูกหนี้ที่ 2 จะนำเหตุที่คำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 3 ยังไม่ถึงที่สุดมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้เสียทั้งหมดเลยหาได้ไม่เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมและเงินที่ต้องชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำขอประนอมหนี้ไปวางชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ที่ 2 ก็ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการวางเงินโดยอ้างว่ากำลังรวบรวมเงินอยู่ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้โอกาสให้เลื่อนการวางเงินออกไปตามที่ลูกหนี้ที่ 2 ขอแต่เมื่อครบกำหนดแล้วลูกหนี้ที่ 2 กลับเพิกเฉยเสีย ย่อมเป็นข้อแสดงว่าลูกหนี้ที่ 2ไม่สามารถปฏิบัติตามข้อตกลงในการประนอมหนี้ ถือได้ว่าลูกหนี้ที่ 2 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้ลูกหนี้ที่ 2 ล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 60 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 138/2536 จำเลยรับว่าจำเลยได้ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายไว้เพราะไม่มีเงินมาชำระจนต้องบอกขายที่ดินของจำเลย แต่ก็ยังขายไม่ได้ จึงเป็นกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ในการประนอมหนี้ ศาลจึงมีอำนาจยกเลิกการประนอมหนี้และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 60
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2535 ลูกหนี้ผิดสัญญาตามคำขอประนอมหนี้ก่อนล้มละลายที่ศาลเห็นชอบด้วยแล้ว เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานศาล และศาลมีคำสั่งยกเลิกการประนอมหนี้ แต่ให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเพื่อให้โอกาสแก่ลูกหนี้ แม้ในระหว่างเวลาดังกล่าวเจ้าหนี้บางรายจะได้ถอนคำขอรับชำระหนี้เหลือเจ้าหนี้เพียง 5 ราย ลูกหนี้ก็ยังคงต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่เหลือแก่เจ้าหนี้ตามหนี้เดิมอีก 5 รายที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหนี้ โดยลูกหนี้จะขอถือปฏิบัติตามสัญญาประนอมหนี้ซึ่งศาลมีคำสั่งยกเลิกต่อไปอีกไม่ได้ เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ศาลต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 212/2527 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกเลิกการประนอมหนี้ภายหลังล้มละลายหาทำให้ลูกหนี้กลับเป็นบุคคลล้มละลายในทันทีตามคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่ ศาลชั้นต้นจะต้องพิพากษาให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายใหม่อีกดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เสียก่อน กรณีจึงจะถือว่าลูกหนี้ตกเป็นบุคคลล้มละลายตามคำพิพากษาอันจะให้สิทธิและอำนาจแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำทรัพย์สินของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดตามมาตรา 19 หรือมาตรา 123 ได้