ผลของการปลดจากล้มละลาย

          มาตรา 77  "คำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่
          (1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากร หรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล
          (2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้"

          คำสั่งปลดจากล้มละลายนอกจากจะทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการล้มละลาย และกลับมามีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเองแล้ว ลูกหนี้ยังหลุดพ้นจากหนี้สินทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ด้วย ซึ่งหมายถึงหนี้เงินที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และไม่ต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 ซึ่งรวมทั้งหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ไว้แล้วและหนี้ที่เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ด้วย
          สำหรับหนี้ที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วและเจ้าหนี้ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วนในวันที่ศาลสั่งปลดจากล้มละลายนั้น ลูกหนี้คงหลุดพ้นเฉพาะในกรณีที่ไม่มีทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งมีอยู่แล้วก่อนเวลาที่ศาลสั่งปลดจากล้มละลายอันเป็นทรัพย์สินที่แบ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้ตามมาตรา 109 เท่านั้น แต่ถ้ายังมีทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งอาจแบ่งชำระหนี้ได้ตามมาตรา 109 ไม่ว่าทรัพย์สินนั้นเจ้าพนักงานพิทักทรัพย์ได้รวบรวมมาไว้ในกองทรัพย์สินของลูกหนี้แล้วหรือไม่ รวมทั้งกรณีที่ศาลสั่งปลดจากล้มละลายโดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินที่จะพึงได้มาต่อไปตามมาตรา 71 วรรคสอง เจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้วก็ยังคงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินดังกล่าว ลูกหนี้ยังไม่หลุดพ้น



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14319/2553   จำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2547 มาตรา 13 หลังจากได้รับการปลดจากการล้มละลาย จำเลยได้ยื่นคำขอประนอมหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โดยขอชำระหนี้เต็มจำนวนต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. โจทก์ในคดีล้มละลาย โจทก์ในคดีล้มละลายตกลงตามข้อเสนอ ผู้ร้องจึงได้ชำระหนี้แทนจำเลย การที่จำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมายนั้น ย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและมีอำนาจในการจัดกิจการและทรัพย์สินของตนเองต่อไป ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังคงมีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายเพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายต่อไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่จำเลยยื่นคำขอประนอมหนี้โดยขอชำระหนี้เต็มจำนวนให้แก่โจทก์ในคดีล้มละลาย และได้มีการชำระให้แก่เจ้าหนี้ในคดีล้มละลายพร้อมค่าฤชาธรรมเนียมจนครบถ้วนแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีเหตุต้องจัดการทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลายของจำเลยอีกต่อไป การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการยึดทรัพย์ในคดีแพ่งนั้นชอบแล้ว ส่วนการยกเลิกการล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 นั้นจะเกิดขึ้นก็โดยเหตุศาลมีคำสั่ง ในคดีนี้เมื่อจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายอันทำให้จำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายไปแล้ว จึงไม่มีเหตุที่ศาลจำต้องสั่งยกเลิกการล้มละลายอีก แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอันเป็นหนี้ที่พึงจะขอรับชำระหนี้ได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด โจทก์ยื่นคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าวในคดีล้มละลายเกินกำหนดระยะเวลา และศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลล่างไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์ ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับการปลดจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมายย่อมทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ เว้นแต่หนี้ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) เมื่อหนี้ของโจทก์มิใช่หนี้ตามมาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ของโจทก์อีกต่อไปและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4797/2553   ก่อนถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้จำเลยที่ 2 ถูกศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย ทั้งได้รับการปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 81/1 ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้ หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมที่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาก่อนวันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหนี้ที่โจทก์ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีดังกล่าว ทั้งเป็นหนี้ที่ไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 (1) และ (2) โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจนำหนี้ดังกล่าวมาฟ้องจำเลยที่ 2 ให้ล้มละลาย
          แต่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันตามความในมาตรา 110 วรรคสาม หนี้ที่ลูกหนี้มีอยู่แก่โจทก์ในคดีนี้จึงไม่ใช่หนี้อันพึงขอรับชำระหนี้ได้ตามนัยแห่งมาตรา 77 ดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2537/2552   คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ไม่มีผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันตามความในมาตรา 110 วรรคสาม โจทก์ในคดีนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือทรัพย์สินซึ่งจำนองของจำเลยที่ 4 จึงย่อมมีสิทธิที่จะเลือกยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายที่จำเลยที่ 4 ถูกศาลแพ่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดหรือไม่ก็ได้ สุดแท้แต่โจทก์จะเห็นสมควรว่าวิธีการใดจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่ตนมากกว่ากัน เมื่อโจทก์ไม่ขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 4 ถูกฟ้องล้มละลายแล้วเช่นนี้ หนี้ที่จำเลยที่ 4 มีอยู่แก่โจทก์ในคดีนี้จึงไม่ใช่หนี้อันพึงขอรับชำระหนี้ได้ตามนัยแห่งมาตรา 77 ดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยที่ 4 ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้ว จึงไม่ทำให้จำเลยที่ 4 หลุดพ้นจากหนี้จำนองที่มีอยู่แก่โจทก์ในคดีนี้แต่อย่างใด

          หลักที่ว่า บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระหนี้ได้นั้น มีข้อยกเว้นอยู่ 2 กรณี
          (1) หนี้เกี่ยวกับภาษีอากรหรือจังกอบของรัฐบาลหรือเทศบาล
          (2) หนี้ซึ่งได้เกิดขึ้นโดยความทุจริตฉ้อโกงของบุคคลล้มละลาย หรือหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องเนื่องจากความทุจริตฉ้อโกงซึ่งบุคคลล้มละลายมีส่วนเกี่ยวข้องสมรู้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 634/2554   คำสั่งปลดจากล้มละลายมีผลทำให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายและมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของตนเองได้ ทั้งทำให้หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้ โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันพึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณีที่ไม่หลุดพ้น รวมทั้งหนี้เกี่ยวกับภาษีอากรตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 77 ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้บัญญัติว่าต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้แล้วหรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 ไม่ เมื่อหนี้คดีนี้เป็นหนี้เกี่ยวกับภาษีอากร แม้โจทก์จะมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีที่จำเลยที่ 2 เคยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ตาม แต่ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกปลดจากล้มละลาย จำเลยที่ 2 ก็ยังไม่หลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดล้มละลายตามห้างจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ฯ มาตรา 89 ในคดีนี้ได้ ทั้งถือไม่ได้ว่ามีการขอให้พิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซ้ำอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 15 แต่อย่างใด

          คำสั่งปลดจากล้มละลายไม่ทำให้บุคคลที่ร่วมรับผิดกับบุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิด
          มาตรา 78  "การที่ศาลได้มีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นไม่ทำให้บุคคลซึ่งเป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลาย หรือรับผิดร่วมกับบุคคลล้มละลาย หรือค้ำประกัน หรืออยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย"

          การปลดจากล้มละลายเป็นเรื่องเฉพาะตัวของบุคคลล้มละลายเท่านั้น ไม่ทำให้บุคคลผู้เป็นหุ้นส่วนกับบุคคลล้มละลายหรือร่วมรับผิดกับบุคคลล้มละลาย หรือผู้ค้ำประกัน หรือยู่ในลักษณะอย่างผู้ค้ำประกันของบุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย เช่น กรณีผู้อาวัลตั๋วเงิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2507    ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้เบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ในวงเงินไม่เกิน 110,000 บาท ลูกหนี้ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปเป็นเงิน 125,329.84 บาท ต่อมาลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้รายอื่นฟ้องล้มละลาย ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและมีคำสั่งเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ของลูกหนี้ ปรากฎว่าธนาคารเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายเรื่องนั้น ต่อมาผู้ค้ำประกันถูกเจ้าหนี้อีกรายหนึ่งฟ้องล้มละลาย ธนาคารเจ้าหนี้จึงยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องหลังนี้ ดังนี้ การที่ธนาคารเจ้าหนี้มิได้ยืนคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องก่อน หาทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไปไม่ ธนาคารเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีเรื่องหลังได้

          หน้าที่ของบุคคลล้มละลายภายหลังถูกปลดจากล้มละลาย
          มาตรา 79 "บุคคลล้มละลายซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้น ยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ
          ถ้าบุคคลล้มละลายละเลยไม่ช่วย ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลายก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น"
    
          ถึงแม้ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่จำหน่ายและแบ่งปันทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายแก่เจ้าหนี้ที่ศาลสั่งให้ได้รับชำระหนี้แล้วต่อไปเท่าที่ทรัพย์สินของบุคคลล้มละลายมีอยู่ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ บุคคลล้มละลายจึงมีหน้าที่ต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจำหน่ายแบ่งปันทรัพย์สินของตนที่ตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้แก่เจ้าหนี้ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการ
          ถ้าบุคคลล้มละลายละเลยไม่ช่วย ศาลมีอำนาจเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้นได้ ซึ่งทำให้ลูกหนี้กลับไปเป็นบุคคลล้มละลายตามเดิม แต่คำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลายก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1681/2552   คำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลายมีผลเพียงให้จำเลยหลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลาย มีอำนาจในการจัดการทรัพย์สินหรือกิจการของตนซึ่งได้มานับแต่วันที่ได้รับการปลดจากล้มละลายแล้วเท่านั้น ส่วนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ยังคงมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย ทั้งจำเลยซึ่งได้ถูกปลดจากล้มละลายนั้นยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามต้องการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 79  เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจำเลยมีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้าน ทั้งผู้คัดค้านได้รวบรวมต้นฉบับโฉนดที่ดินพิพาทอันเป็นเอกสารสำคัญสำหรับที่ดินพิพาทไว้แล้วก่อนศาลมีคำสั่งปลดจำเลยจากล้มละลาย ดังนั้น เงินค่าเช่าซึ่งเป็นดอกผลของที่ดินพิพาทดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 148 ย่อมตกเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ด้วยผู้คัดค้านจึงมีอำนาจในการจัดการและรวบรวมเงินค่าเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเพื่อแบ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายต่อไป

          การเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลาย
          มาตรา 80  "ในคำสั่งปลดจากล้มละลายโดยให้บุคคลล้มละลายใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินสำหรับเลี้ยงชีพบุคคลล้มละลายและครอบครัวในปีหนึ่งๆ ที่ให้หักเอาจากทรัพย์สินซึ่งได้มาภายหลังมีคำสั่งนั้น และกำหนดให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และกำหนดวันให้ยื่นบัญชีแสดงการรับทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างปีทุกๆ ปีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
          บุคคลล้มละลายซึ่งถูกปลดจากล้มละลายโดยให้ใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น มีหน้าที่ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มา ตามแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลต้องการ
          ถ้าบุคคลล้มละลายนั้นไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในสองวรรคแรก เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลจะเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ได้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น"
         
          ในกรณีที่ศาลสั่งปลดจากล้มละลายโดยให้บุคคลล้มละลายใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ศาลมีอำนาจกำหนดจำนวนเงินสำหรับเลี้ยงชีพบุคคลล้มละลายและครอบครัวในปีหนึ่งๆ ที่ให้หักเอาจากทรัพย์สินซึ่งได้มาภายหลังมีคำสั่งปลดจากล้มละลายนั้น และกำหนดให้ส่งเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย และกำหนดวันให้ยื่นบัญชีแสดงการรับทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างปีทุกๆ ปีต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
          นอกจากนี้ บุคคลล้มละลายซึ่งถูกปลดจากล้มละลายโดยให้ใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น ยังมีหน้าที่ไปให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลสอบสวนหรือไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มา ตามแต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือศาลต้องการ
          ซึ่งถ้าบุคคลล้มละลายนั้นไม่ปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในวรรคแรกและวรรคสอง เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอ ศาลจะเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายก็ได้ แต่คำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายนี้ไม่กระทบถึงการใดที่ได้กระทำไปภายหลังการปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนนั้น

          การโฆษณาคำสั่งเพิกถอนการปลดจากล้มละลาย
          มาตรา 81 "เมื่อศาลได้เพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายแล้ว ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ทั้งให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นภายหลังที่ศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลาย ก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งให้เพิกถอนนั้นด้วย"

          เมื่อศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายตามมาตรา 79 หรือมาตรา 80 แล้ว มีผลให้ลูกหนี้กลับเป็นบุคคลล้มละลาย โดยที่ศาลไม่ต้องพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายอีก จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ต้องโฆษณาคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ โดยต้องกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายนำหนี้ที่ลูกหนี้กระทำขึ้นภายหลังศาลมีคำสั่งปลดจากล้มละลายจนถึงเวลาก่อนที่ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลายดังกล่าวมายื่นขอรับชำระหนี้ไว้ในคำโฆษณาด้วย ซึ่งเจ้าหนี้รายใหม่ดังกล่าวนี้ก็ย่อมมีสิทธินำหนี้ที่ลูกหนี้ก่อขึ้นใหม่มาขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งเพิกถอนคำสั่งปลดจากล้มละลาย โดยการนำมาตรา 91 มาใช้บังคับโดยอนุโลม