07 พฤษภาคม 2560

การใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งและฟ้องเรียกค่าเสียหาย ใช้กำหนดระยะเวลายื่นฟ้องคดีที่ต่างกัน

          การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง อันเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั้น มาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้กำหนดให้ยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ส่วนการฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายหรือขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่ง ซึ่งเป็นคดีปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) กฎหมายฉบับเดียวกัน ในมาตรา 51 ได้กำหนดให้ยื่นฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่หากเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งมิได้ระบุวิธีการยื่นคำฟ้องและระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องให้ผู้รับคำสั่งทราบ ผลทางกฎหมายจะทำให้ระยะเวลาสำหรับยื่นคำฟ้องซึ่งมีกำหนดน้อยกว่าหนึ่งปีขยายไปเป็นหนึ่งปี ทั้งนี้ตามมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
          ดังนั้น การฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่ง ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ซึ่งก็คือวันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง หรือวันที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ในกรณีที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ก่อนฟ้องคดี  แต่หากผู้มีหน้าที่ไม่ดำเนินการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้เดือดร้อนเสียหายจะต้องนำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการพิจารณาเรื่องอุทธรณ์หรือร้องทุกข์ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าว การนำคดีมาฟ้องต่อศาลเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ย่อมส่งผลให้ศาลไม่อาจรับคำฟ้องและไม่อาจสั่งให้เพิกถอนได้ถึงแม้คำสั่งที่พิพาทจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม โดยคำสั่งดังกล่าวจะยังมีผลต่อไปตราบเท่าที่ไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น ทั้งนี้ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  ทำให้มีปัญหาต่อไปว่า หากพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีเพื่อขอเพิกถอนคำสั่ง แต่ยังไม่พ้นระยะเวลาการฟ้องคดีเรียกค่าเสียหาย จะฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิจารณาเฉพาะกรณีละเมิดอันเกิดจากคำสั่งได้หรือไม่?
          มีกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ ข้อเท็จจริงมีว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นนายแพทย์ ได้เข้าร่วมโครงการโรงพยาบาลตำบลความฝัน ซึ่งแพทย์ที่ปฏิบัติงานตามโครงการดังกล่าวจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน ต่อมาได้มีการจัดประกวดโครงการนวัตกรรมหลักประกันสุขภาพทั่วหน้าดีเด่น ผลการตัดสินได้แจ้งว่านวัตกรรมด้านบริการของโรงพยาบาลตำบลชวนชื่นที่ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่อยู่ได้รับรางวัลชนะเลิศ แต่เมื่อถึงกำหนดวันไปรับรางวัลกลับเป็นสาธารณสุขอำเภอที่ได้รับรางวัลดังกล่าวแทน เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยแก่ประชาชนและบุคลากรของโรงพยาบาลตำบลชวนชื่น จึงได้มีการมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีไปสอบถามเหตุผลจากผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจำอำเภอ จนเกิดความขัดแย้งกันขึ้น ต่อมาผู้อำนวยการฯ ได้มีคำสั่งยกเลิกเงินค่าตอบแทนต่างๆ ของผู้ฟ้องคดี แล้วสั่งให้ผู้ฟ้องคดีกลับมาปฏิบัติงานในโรงพยาบาลประจำอำเภอ โดยไม่ให้โอกาสผู้ฟ้องคดีชี้แจงหรือแสดงพยานหลักฐานใดๆ ผู้ฟ้องคดีจึงได้ร้องทุกข์ต่อสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อขอความเป็นธรรม แต่ก็ไม่มีการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นฟ้องผู้อำนวยการโรงพยาบาลและพวกต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ยกเลิกเงินค่าตอบแทนดังกล่าว รวมทั้งขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินค่าตอบแทนพิเศษแก่ผู้ฟ้องคดี รวมเป็นการฟ้อง 2 ข้อหาพร้อมกัน
          ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า หากฟ้องเพิกถอนคำสั่งไม่ได้เพราะเหตุพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว ก็จะไม่สามารถฟ้องกรณีละเมิดอันเกิดจากคำสั่งดังกล่าวได้ด้วย แม้ข้อหาที่สองจะยังอยู่ในระยะเวลาการฟ้องคดีก็ตาม
          แต่ศาลปกครองสูงสุดมีความเห็นต่างจากศาลปกครองชั้นต้น โดยศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า แม้ว่าคำสั่งดังกล่าวจะยังมีผลบังคับต่อไปเนื่องจากผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องเพิกถอนเมื่อพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย กล่าวคือ ไม่ได้นำคดีมาฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่พ้นกำหนดระยะเวลาการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของผู้มีหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คำสั่งนั้นจะกลายเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และศาลไม่อาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้ หากแต่ศาลยังคงมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวได้ เพียงแต่ไม่อาจเพิกถอนได้
          ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งมาพร้อมกับฟ้องเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้เงินค่าตอบแทนพิเศษด้วย ซึ่งในข้อหาที่หนึ่ง ศาลไม่อาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้เพราะพ้นระยะเวลาการฟ้องคดีแล้ว แต่ศาลยังสามารถที่จะรับคำฟ้องในข้อหาที่สอง คือ การฟ้องขอให้ชดใช้เงินค่าตอบแทนพิเศษซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีได้ และศาลย่อมมีอำนาจที่จะตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้เพราะการจะพิจารณากำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าตอบแทนในประเด็นละเมิดอันเกิดจากคำสั่งได้ จำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าคำสั่งที่พิพาทเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดจึงกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับข้อหาที่สองไว้พิจารณาตามรูปคดีต่อไป (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 849/2549)
          จึงสรุปได้ว่า การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีละเมิดอันเกิดจากคำสั่งที่ไม่ชอบนั้น หากพ้นระยะเวลาการฟ้องเพิกถอนคำสั่งแล้ว ผู้เดือดร้อนเสียหายยังสามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองในข้อหาละเมิดได้ แต่จะต้องอยู่ในระยะเวลาการฟ้องคดีละเมิดคือภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีซึ่งถือเอาวันเดียวกันกับวันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องเพิกถอนคำสั่ง (แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี) ทั้งนี้ การฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีละเมิดนี้ผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในอัตราตามที่กฎหมายกำหนดไว้ด้วย ซึ่งค่าธรรมเนียมนี้ผู้ฟ้องคดีจะได้รับคืนตามส่วนที่ชนะคดี


04 พฤษภาคม 2560

ผู้จำนองจะต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองนั้น บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของไม่มีสิทธิจำนอง

          การจำนองทรัพย์สินนั้น นอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้ว บุคคลอื่นจะจำนองหาได้ไม่ (มาตรา 705) แม้ผู้รับจำนองจะรับจำนองไว้โดยสุจริต แต่ถ้าปรากฏว่าผู้จำนองไม่ใช่เจ้าของ สัญญาจำนองย่อมไม่เกิดขึ้น เพราะเหตุว่าแม้ผู้รับจำนองจะสุจริตก็ตาม แต่ในเรื่องจำนองกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ว่าถ้ารับจำนองโดยสุจริตแล้วจะได้รับความคุ้มครอง ดังนั้น เจ้าของที่แท้จริงจึงสามารถฟ้องเพิกถอนการจดจำนองที่ทำขึ้นโดยฝ่าฝืนมาตรา 705 เสียได้

          กรณีปลอมหนังสือมอบอำนาจไปจำนองโดยที่เจ้าของไม่ได้ประมาทเลินเล่อ นิติกรรมจำนองนั้นไม่มีผลผูกพันเจ้าของ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2555   โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดจำนองที่ดินพิพาทและลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจที่เป็นเอกสารและโฉนดที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ถูกลักไปไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท จึงเป็นการกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองดังกล่าวไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่อย่างใดแม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามก็ไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างยันแก่โจทก์ได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5927/2548  จำเลยที่ 1 ลักลอบปลอมหนังสือมอบอำนาจและนำโฉนดที่ดินของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีส่วนรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 และโจทก์มิได้ประมาทเลินเล่อ แม้จำเลยที่ 2 จะรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก็ตาม แต่ก็เป็นการรับจำนองอันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 กระทำโดยมิชอบ นิติกรรมจำนองดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ เพราะการจำนองทรัพย์สินนั้นนอกจากผู้เป็นเจ้าของในขณะนั้นแล้วท่านว่าใครอื่นจะจำนองหาได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 705

          ซื้อที่ดินมือเปล่าโดยเจ้าของเดิมส่งสอบการครอบครองที่ดินให้แล้ว ที่ดินย่อมตกเป็นของผู้ซื้อ เจ้าของเดิมไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นอีกต่อไปและไม่มีสิทธินำที่ดินไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แล้วนำไปจดจำนอง การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันผู้ซื้อซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3861/2552   ผู้ร้องซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมือเปล่าจากนาย ค. นาง บ. ผู้เป็นเจ้าของ เมื่อนาย ค. นาง บ. สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนแล้วการครอบครองที่ดินพิพาทของนาย ค. นาง บ. จึงสิ้นสุดลง ผู้ร้องย่อมได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367, 1377 และ 1378 ที่ดินพิพาทจึงเป็นของผู้ร้อง
          เมื่อนาย ค. นาง บ.ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทแล้ว ดังนี้ ทายาทของนาย ค. กับนาง บ. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นของตน และไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลย แม้จำเลยจะมีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในฐานะผู้รับโอน ก็ไม่ทำให้จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยหามีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจำนองแก่โจทก์ไม่ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 การจำนองจึงไม่มีผล โดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั้น ต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในส่วนที่ดินพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จะอ้างสิทธิที่เกิดจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ส่วนที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีเช่นนี้ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8160/2551   จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือ แต่ไม่ได้นำไปจดทะเบียนโอนสิทธิกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 4 ทวิ แต่จำเลยที่ 1 ได้แสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทและโอนการครอบครองโดยส่งมอบที่ดินพิพาทแก่โจทก์และโจทก์เข้าครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายแล้วดังนั้น การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 จึงสิ้นสุดลง และโจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา เมื่อจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาทอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดที่ดินเป็นของตนและไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 เพราะผู้ที่จะจำนองทรัพย์สินได้ต้องเป็นเจ้าของในขณะนั้น การจำนองจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับจำนองสุจริตหรือไม่ เพราะสิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่ห้ามมิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง นั้นต้องเป็นการได้สิทธิในที่ดินที่ได้จดทะเบียนแล้ว และสิทธิที่ได้นั้นต้องเกิดจากเอกสารสิทธิของที่ดินที่ออกโดยชอบ เมื่อการออกโฉนดที่ดินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 จะอ้างสิทธิที่เกิดจากโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบดังกล่าวหาได้ไม่ กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ส่วนคำขอของโจทก์ที่ว่าให้จำเลยที่ 1 จดเปลี่ยนแปลงแก้ไขชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนจากจำเลยที่ 1 มาเป็นชื่อโจทก์นั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น โจทก์จะขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบหาได้ไม่ เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะไปดำเนินการออกโฉนดที่ดินเองตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป. ที่ดิน

          ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในภายหลังนั้นไม่ใช่เจ้าของที่ดิน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินไปจดจำนอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5746/2544    คำพิพากษาของศาลที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก. ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายให้แก่ ว. ต้องถือเสมือนว่าไม่มีการขายทอดตลาด และไม่มีการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนสิทธิครอบครองให้แก่ ว. ทั้ง ว. ไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะมิใช่กรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองที่ดินดังกล่าวในระหว่างการพิจารณาคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด จึงไม่อาจอ้างว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกซึ่งรับจำนองและจดทะเบียนโดยสุจริตและไม่อาจอ้างว่าคำพิพากษาที่ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดไม่ผูกพันผู้ร้องได้ เมื่อ ว. ไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดิน จึงไม่ใช่เจ้าของที่ดินและไม่อาจนำมาจดทะเบียนจำนองแก่ผู้ร้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 705 ทั้งการจดทะเบียนจำนองเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 702 แต่การเพิกถอนการขายทอดตลาดเป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตา 296 วรรคสอง (เดิม)เป็นคนละกรณีไม่เกี่ยวข้องกัน ผู้ร้องจึงไม่ได้รับความคุ้มครอง จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะปฏิเสธไม่ส่งมอบต้นฉบับ น.ส.3 ก ตามคำสั่งศาลชั้นต้น

          กรณีนิติกรรมการโอนทรัพย์มรดกตกเป็นโมฆะ  ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดก สัญญาจำนองที่ผู้รับโอนในฐานะส่วนตัวทำกับผู้รับจำนองก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่ผู้รับจำนองที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551   ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550   ถ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ว. ซึ่งเป็นบุตรของ ถ. จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคสอง ว. ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของ ถ. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ มาตรา 1713 แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้ง ว. เป็นผู้จัดการมรดกของ ถ. แล้ว ว. ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ การที่ ว. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ถ. และเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดแก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรม ให้ ว. มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ถ. อันเป็นการต้องห้ามโดยแจ้งชัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1575 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างจึงยังคงเป็นมรดกของ ถ. ซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องตามเดิมหาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. ไม่ เมื่อ ว. ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแล้วก็ไม่มีสิทธินำไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จาก ว. ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11978/2547  จำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิรับมรดกของ ค. เนื่องจาก ค. ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์กับพวก แต่ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ต่อศาล จนกระทั่งศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก และเมื่อได้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยที่ 1 ไปแจ้งความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนว่าโฉนดที่ดินพิพาทสูญหาย แล้วนำหลักฐานการแจ้งความไปขอใบแทนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ทั้งที่ขณะนั้นโฉนดที่ดินตัวจริงอยู่กับโจทก์ จากนั้นจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธ์ที่ดินเป็นชื่อของตนโดยใช้ใบแทนโฉนดที่ดินเป็นหลักฐาน การได้มาซึ่งที่ดินของจำเลยที่ 1 เป็นการได้มาโดยทุจริตอาศัยคำสั่งศาลที่สั่งโดยหลงผิด และการแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานในระหว่างที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. ย่อมเป็นตัวแทนบรรดาทายาทในการจัดการมรดก จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทของ ค. ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของ ค. มาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัวโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมและเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก จึงไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยสุจริตตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรมให้จำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ ค. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1712 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150 ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นของกองมรดกของ ค. อยู่ตามเดิม หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัวไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเสียแล้ว ก็ไม่มีสิทธิจะเอาที่ดินพิพาทไปจำนองแก่ผู้ใดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะจำนองได้ ย่อมไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตามการจำนองจึงไม่ผูกพันโจทก์

          เมื่อการจำนองที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้ว เจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นเสียได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1917/2551  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่เจ้าของนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นการต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 จะรับจำนองที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองที่ดินพิพาทไม่มีผลตามกฎหมายเสียแล้วโจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมจำนองนั้นเสียได้การที่โจทก์ทั้งสองขอให้ศาลพิพากษาห้ามจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้อง จึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่าโจทก์ทั้งสองขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองเพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไปไม่ได้ การพิจารณาให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงเป็นการปรับกฎหมายให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่เข้าใจได้จากรายละเอียดของคำฟ้อง หาเป็นการพิพากษาเกินกว่าคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

          จดจำนองเฉพาะส่วน ย่อมมีผลผูกพันเฉพาะส่วนเท่านั้น ไม่ได้มีผลผูกพันที่ดินทั้งแปลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2283/2540   จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลย โจทก์ชอบที่จะบังคับจำนองได้เฉพาะส่วนของจำเลยเท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้บังคับจำนองที่ดินทั้งหมดเป็นการไม่ชอบ และปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แม้จำเลยไม่ได้ยกขึ้นอ้างในฎีกา แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง


02 พฤษภาคม 2560

การส่งหมายมิชอบ ต้องถือว่ากระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นไม่ชอบด้วย

          การส่งหมายนั้นจะต้องเป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ซึ่งต้องส่งให้คู่ความหรือบุคคลที่ระบุชื่อไว้ในหมายนั้น โดยต้องส่งไปที่ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของบุคคลนั้น หากส่งไปที่อื่นหรือกรณีที่ผู้รับแทนเป็นบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ย่อมมีผลให้การส่งหมายนั้นไม่ชอบ ผลก็คือกระบวนพิจารณาภายหลังจากนั้นต้องเสียไป ซึ่งศาลสามารถมีคำสั่งให้เพิกถอนเสียได้
          ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของเจ้ามรดกไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6904/2558  การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของ ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของ ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21(2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่ง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องขอแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาท ตามคำแถลงลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 และให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาหลังจากนั้นเป็นต้นไป ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นส่งคำคู่ความใหม่ แล้วไต่สวนและมีคำสั่งต่อไปนั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องขอของผู้ร้องแล้วตรวจพบว่า นาย ช. ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทถึงแก่ความตาย และมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอจัดการมรดกนาย ช. เจ้ามรดกอยู่ในศาลชั้นต้นเดียวกัน ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม ย่อมถือได้ว่า ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ประกาศหนังสือพิมพ์แทนการส่งสำเนาคำร้องแก่ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน ผู้มีส่วนได้เสียหรือทายาทตามคำแถลงลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 ย่อมทำให้ผู้คัดค้านซึ่งอ้างว่าเป็นทายาทที่มีสิทธิตามพินัยกรรมของนาย ช. ไม่ทราบถึงการร้องขอของผู้ร้อง และเสียสิทธิในการที่จะคัดค้านคำร้องขอของผู้ร้อง หากได้ความดังกล่าวย่อมแสดงว่า การส่งสำเนาคำร้องของผู้ร้องให้แก่ทายาทของนาย ช. กระทำโดยมิชอบ ทำให้ฝ่ายผู้คัดค้านไม่มีโอกาสที่จะคัดค้านคำร้องของผู้ร้องก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 21 (2) จึงเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้เป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ย่อมมีอำนาจสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสีย หรือสั่งแก้ไข หรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น


          การส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาล ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6223/2558  การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เสียให้ถูกต้องเป็นการดำเนินการแทนศาลอุทธรณ์ภาค 4 เฉพาะการแจ้งให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นปฏิบัติและแจ้งผลการดำเนินการว่าผู้ร้องทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยชอบแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงมีคำสั่งว่าผู้ร้องทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีจากสารบบความศาลอุทธรณ์ภาค 4 แม้ผลคดีเรื่องนี้จะเสร็จสิ้นไปจากศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ตาม แต่ผู้ร้องก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้จัดส่งไปยังภูมิลำเนาของผู้ร้อง ภายใน 8 วันนับแต่วันที่ผู้ร้องทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำร้องของผู้ร้อง กระบวนพิจารณาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมเป็นการไม่ชอบเป็นเหตุให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 หลงผิดมีคำสั่งจำหน่ายคดีของผู้ร้องออกจากสารบบความ ทางแก้ คือ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบได้ หาใช่เรื่องที่ผู้ร้องจะต้องแก้ไขโดยใช้สิทธิฎีกาเพียงทางเดียว แม้การที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนแล้วมีคำสั่งเสียเองโดยลำพังให้เพิกถอนคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่า เป็นการก้าวล่วงอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 4 ซึ่งเป็นศาลสูงกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าก่อนไต่สวนคำร้องศาลชั้นต้นได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องแก่โจทก์และจำเลยทราบโดยชอบแล้ว โจทก์และจำเลยมิได้คัดค้านทั้งปรากฏว่าผู้ร้องได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ถูกต้องครบถ้วนแล้วตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงเห็นสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จะรับคดีไว้พิจารณาพิพากษาในประเด็นที่ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเรื่องเพิกถอนการขายทอดตลาด
          ผู้ร้องระบุยืนยันที่อยู่ในคำร้องขอตั้งแต่แรกแล้วว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความยอมรับว่าผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 เมื่อผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5845/2558   คำร้องขอของผู้ร้องระบุแต่แรกว่า ผู้ร้องอยู่บ้านเลขที่ 46/10 ถนนสุขุมวิท 105 ซอยลาซาล 14 (วงค์สวัสดิ์ 1) แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทหลายคนส่งจดหมายไปที่บ้านดังกล่าว ทั้งคดียักยอกทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก ผู้ร้องยืนยันที่อยู่บ้านเลขที่ 46/10 ประกอบกับผู้คัดค้านเบิกความตอบทนายผู้ร้องถามค้านรับว่า ผู้คัดค้านทราบว่าผู้ร้องอยู่ที่บ้านดังกล่าว พฤติการณ์ดังกล่าว แสดงว่าผู้ร้องเลือกเอาบ้านเลขที่ 46/10 เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการดำเนินคดีของผู้ร้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 42 ดังนั้น การที่พนักงานเดินหมายปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านเพื่อแจ้งกำหนดวันนัดไต่สวนตามทะเบียนราษฎร์ที่มีชื่อผู้ร้อง โดยผู้คัดค้านไม่ได้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องของผู้คัดค้านไปยังภูมิลำเนาเฉพาะการของผู้ร้อง การปิดหมายนัดและสำเนาคำร้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2), 77 และมาตรา 79 ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบนัดไต่สวนแล้ว เมื่อกรณีมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความ และทำให้กระบวนพิจารณาหลังจากนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และเมื่อวินิจฉัยให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอของผู้คัดค้านแล้ว กรณีต้องย้อนไปดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ
          เมื่อผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง การที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์ หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2143/2559   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษเหนือที่ดินพิพาทว่าตนไม่ใช่บริวารศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับคำร้องและนัดไต่สวนและเจ้าหน้าที่ศาลได้นัดไต่สวน โดยผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งเลื่อนวันนัดไต่สวนคำร้องเสียใหม่จากเดิมที่นัดไว้ และผู้ร้องไม่ได้อยู่ในศาลในเวลาที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งและได้ลงลายมือชื่อรับรู้ไว้ก็ต้องหมายแจ้งคำสั่งผู้ร้องทราบใหม่อีกครั้ง และการแจ้งคำสั่งของศาลให้ผู้ร้องทราบนั้นต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสาร ที่เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งวันนัดไต่สวนคำร้องให้แก่ผู้ร้องทราบทางโทรศัพท์นั้น หาใช่เป็นวิธีการส่งคำคู่ความและเอกสารให้แก่คู่ความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งไม่ จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทราบวันนัดไต่สวนคำร้องโดยชอบ
          คำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แต่ผู้ร้องใช้วิธีประกาศหนังสือพิมพ์ ดังนี้ จะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8895/2552   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ยึดทรัพย์ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แม้คำร้องของผู้ร้องจะเป็นการร้องตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งมาตรา 28 ได้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์และให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้ที่อาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาให้จำเลยแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งไม่ปรากฏว่าเลขาธิการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด ส่วนที่ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกที่อาจมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ริบได้ทราบ เพื่อจะได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด มิได้หมายถึงผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความในคดีและต้องขังอยู่ไม่อาจทราบประกาศแต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่
          ก่อนฟ้องคดีโจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 1274/27 ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ดังนั้นเมื่อส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่สำนักทำการงานของจำเลยไม่ได้ โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 1274/27 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย จะใช้วิธีประกาศหนังสือพิมพ์ไม่ได้ การที่ศาลอนุญาตจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4276/2532   ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88, 90 การยื่นบัญชีระบุพยานและการส่งสำเนาเอกสารนั้นใช้บังคับเฉพาะการสืบพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างข้อเถียงในประเด็นแห่งคดีที่พิพาทไม่ใช้บังคับในการไต่สวนคำร้องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทในคดี   ก่อนฟ้องคดีโจทก์รู้ว่าจำเลยอยู่บ้านเลขที่ 1274/27 ดังนั้นเมื่อส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่บ้านเลขที่ 1274/115 อันเป็นสำนักทำการงานของจำเลยไม่ได้โจทก์ก็ชอบที่จะขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลย ณ บ้านเลขที่ 1274/27 อันเป็นภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องโดยประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าจำเลยทราบคำฟ้องและวันนัดสืบพยาน กรณีมีเหตุที่จะให้พิจารณาใหม่
          การส่งคำคู่ความหรือเอกสารโดยทางไปรษณีย์ตอบรับ หากผู้รับมีอายุยังไม่เกิน 20 ปี การส่งคำคู่ความหรือเอกสารนั้นย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3885/2536   การส่งประกาศขายทอดตลาดโดยทางไปรษณีย์ตอบรับหากผู้รับประกาศขายทอดตลาดมีอายุ 17-18 ปี การส่งเอกสาร ดังกล่าวก็ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ,76
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 โดยทางไปรษณีย์ตอบรับและมีผู้รับไว้แล้ว แต่ได้ความจากพยานจำเลยที่ 2 ว่าผู้รับประกาศขายทอดตลาดมีอายุ 17 -18 ปี ฉะนั้น การส่งเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ, 76 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบวันขายทอดตลาด และในการขายทอดตลาดเจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องแจ้งวันขายทอดตลาดให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีทราบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 306 การขายทอดตลาดที่ดินพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่ชอบ
          พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 839 ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5606/2530   เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งความและเตือนให้ผู้ร้องชำระหนี้โดยส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ ปรากฏว่าหุ้นส่วนผู้จัดการของผู้ร้องมิได้รับหนังสือดังกล่าวด้วยตนเอง แต่มีบุตรของหุ้นส่วนผู้จัดการผู้ร้องซึ่งมีอายุไม่เกินยี่สิบปีเป็นผู้รับแทนทั้งสองครั้ง การส่งเอกสารดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 73 ทวิ, 76 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 119
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3182/2536    ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76 บุคคลที่รับคำคู่ความหรือเอกสารไว้แทนจะต้องอายุเกินยี่สิบปีแต่คดีนี้เด็กหญิง ก. หลานสาวผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับหนังสือยืนยันหนี้ไว้แทนผู้ร้องมีอายุเพียง 14 ปี เท่านั้น การส่งหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านจึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องได้รับหนังสือยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2533 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำแจ้งความยืนยันหนี้ของผู้คัดค้านในวันที่ 3 มกราคม 2534 จึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ร้องยื่นเกินกำหนดเวลาสิบสี่วันนับแต่วันได้รับแจ้งความยืนยันหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 119 วรรคสอง การส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ตามไปรษณีย์นิเทศ พ.ศ.2524 ข้อ 353 เป็นเรื่องการส่งจดหมายทั่วไปมิใช่การส่งคำคู่ความหรือเอกสารตาม ป.วิ.พ. มาตรา 73 ทวิ และมาตรา 76
          ถ้าย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่นก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายและคำพิพากษาคดีหลักถึงที่สุดไปก่อนแล้ว ก็ไม่ต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักให้ศาลทราบอีกต่อไป ดังนี้ การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองที่ส่งไปยังภูมิลำเนาเดิมจึงเป็นการไม่ชอบ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 74(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4655/2553    จำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาไปที่อื่นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2539 ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าคดีหลักของคดีนี้ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งมีการอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2538 กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการแจ้งย้ายภูมิลำเนาในคดีหลักให้ศาลทราบอีกต่อไป และไม่อาจถือได้ว่าภูมิลำเนาในคดีหลักยังเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการในการดำเนินคดีนี้ของจำเลยที่ 1 เพราะภูมิลำเนาของบุคคลย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่พร้อมด้วยเจตนาชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41
          ผู้ร้องทราบว่าจำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนาใหม่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันก่อนที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องในคดีนี้ การส่งหมายนัดไต่สวนคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้จำเลยที่ 1 เสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นของผู้ร้องซึ่งศาลฎีกามีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วนหรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นด่วนมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 1โดยไม่ทำการไต่สวนคำร้องให้ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดเสียก่อนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาชอบที่จะยกคำสั่งดังกล่าวของศาลล่างทั้งสองเสียได้ตามมาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 โดยให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1
          ย้ายภูมิลำเนาใหม่พร้อมแนบเอกสารแสดงภูมิลำเนาใหม่มาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาแล้ว ดังนี้ การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2065/2553   โจทก์ได้ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสำนักงานใหญ่จากบ้านเลขที่ 703 เป็นบ้านเลขที่ 9/81 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2550 และนายทะเบียนได้รับจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2550 นอกจากนี้ตามคำแถลงขอรับเงินค่าขึ้นศาลคืนฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2551 และหนังสือมอบอำนาจแนบท้ายคำแถลงรวมทั้งหนังสือรับรองของโจทก์ที่โจทก์แนบมาท้ายคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาก็ได้ระบุภูมิลำเนาแห่งใหม่ของโจทก์ไว้ กรณีจึงเชื่อได้ว่า โจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ ณ ที่ทำการใหม่แล้ว ตั้งแต่ก่อนวันที่เจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดและสำเนาฎีกาไปส่ง ดังนั้น การส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ตามภูมิลำเนาเดิมโดยวิธีปิดหมายจึงเป็นการไม่ชอบ ถือไม่ได้ว่าโจทก์รับหมายนัดและสำเนาฎีกาแล้ว เมื่อศาลฎีกาสั่งให้ศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาให้แก่โจทก์ใหม่ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่ามีเหตุสมควรขยายระยะเวลายื่นคำแก้ฎีกาให้โจทก์หรือไม่
          เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่อื่น ไม่ตรงตามคำสั่งศาล การส่งหมายจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6852/2551  โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์จำเลย โจทก์ได้แถลงยืนยันภูมิลำเนาของจำเลยว่า ปัจจุบันจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย และขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องให้แก่จำเลย ณ บ้านหลังดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้มีคำสั่งให้ปิดหมายไว้ ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว ซึ่งสามารถส่งหมายนัดให้แก่จำเลยได้ หลังจากนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น ต้องถือว่าจำเลยยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1213/39 ซอยลาดพร้าว 94 (ปัญจมิตร) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กทม. ตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรที่แนบท้ายคำแถลงขอให้ปิดหมาย  เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ณ ภูมิลำเนาดังกล่าว หากไม่มีผู้รับโดยชอบก็ขอให้ปิดหมายไว้ ณ บ้านหลังดังกล่าวด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมายดังที่ได้ประทับข้อความไว้ในหมายนัด แต่เจ้าพนักงานเดินหมายได้นำหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไปส่งให้แก่จำเลยที่บ้านเลขที่ 65/71-72 ถนนแฮปปี้แลนด์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม. ไม่ตรงตามคำสั่งศาล จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นตั้งแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยและหลังจากนั้นต่อมาถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบไม่มีผลให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปในเหตุที่โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 แล้วสั่งให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยใหม่ให้ถูกต้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณา ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แล้วสั่งให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้อง การที่ศาลอุทธรณ์ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรมีคำสั่งให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์แล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
          ผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย การส่งหมายไปยังภูมิลำเนาเดิมจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ.มาตรา 74(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 133/2549   ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า การส่งหมายนัดและสำเนาคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของโจทก์ไม่ชอบ เนื่องจากผู้ร้องย้ายภูมิลำเนาไปก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปิดหมาย ตามแถลงของโจทก์นับว่ามีเหตุที่จะต้องทำการไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดเสียก่อนว่า ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ ณ บ้านที่มีการส่งหมายหรือไม่เพราะหากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้อง การส่งหมายก็จะไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) ย่อมเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบและทำให้ผู้ร้องเสียหายเพราะไม่มีโอกาสได้คัดค้านคำร้อง ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 27 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยไม่ทำการไต่สวนจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบ ศาลฎีกาพิพากษายกคำสั่งดังกล่าวตามาตรา 243 (1) และมาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี
          แม้ส่งคำคู่ความไม่ชอบ แต่เมื่อได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบแล้ว เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2547   จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยอ้างว่าพนักงานเดินหมายไม่ได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาที่ถูกต้องของจำเลยที่ 2 ตามที่โจทก์ระบุมาในคำฟ้อง อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 74 (2) ซึ่งถือได้ว่าเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรมในเรื่องการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นๆ และมาตรา 27 นั้นให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ศาลเห็นสมควรได้ คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.วิ.พ. มาตรา 208 (ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องคดีนี้) แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้กล่าวโดยละเอียดชัดแจ้งซึ่งข้อคัดค้านคำตัดสินชี้ขาดของศาลก็ไม่ทำให้เป็นคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้แต่งทนายความเข้ามาในคดีและทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงขอคัดหรือถ่ายเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนคดีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2542 แสดงว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างในเรื่องผิดระเบียบเช่นว่านี้อย่างช้าในวันดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยที่ 2 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)



30 เมษายน 2560

อายุความสิทธิเรียกร้อง

          การใช้สิทธิเรียกร้องเรื่องใดๆนั้น จะมีระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าหากสิทธิเรียกร้องนั้นๆ มิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นย่อมเป็นอันขาดอายุความ ซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558   คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
          เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557  ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ

          การเริ่มนับอายุความสิทธิเรียกร้อง

          อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559   คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13443/2558   โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งใหม่ตามฟ้องได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 56 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น อายุความในการฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้งของจำเลยและให้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9996/2558   การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินประกันอันเนื่องจากสัมปทานสิ้นสุด มิใช่เป็นการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสัมปทาน ซึ่งกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกเงินประกันดังกล่าวคืนเกินสิบปีนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2558   เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคารถที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดหรือค่าขาดราคาได้นับแต่วันเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่นับแต่วันที่ประมูลขายทอดตลาดรถที่เช่าซื้อ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขาดราคาจึงขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557   ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13103/2557   เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมของโจทก์สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จต้องขออนุมัติขยายเวลาสอบสวนจากผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ และให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นซึ่งต้องระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด จำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้อำนวยการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน และจำเลยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยย่อมเห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ข้ออ้างของโจทก์ที่ให้จำเลยรับผิดมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ

          สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้เป็นต้นไป แต่ถ้าลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าระยะเวลาหนึ่งจะได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่เวลาที่ได้ทวงถามนั้น ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลานั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555  สัญญาจ้างทำไม้ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมป่าไม้ได้กำหนดจำนวนเงินเบี้ยปรับการทำผิดของผู้รับจ้างและได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างนำเงินเบี้ยปรับไปชำระ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินเบี้ยปรับไปชำระแทนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์ได้รับแจ้งให้นำเงินค่าปรับไปชำระเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โจทก์จึงอาจทวงถามให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระได้ในวันนั้น และจำเลยต้องนำเงินค่าปรับไปชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากจำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระภายในกำหนด จึงจะถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญานับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยต้องชำระซึ่งถือเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 เมื่อนับแต่วันเริ่มนับอายุความคือวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 193/30
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552  สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้มิได้มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้ต้องทวงถามลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้เสียก่อนแต่ประการใด จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์อันจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเสียก่อน และเมื่อระยะเวลาที่ได้ทวงถามนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วจึงได้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างจากจำเลยทั้งสามได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยทั้งสามรับมอบการงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการตกลงว่าจ้างกันด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 มิใช่ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ให้เวลาจำเลยทั้งสามชำระหนี้หลังจากที่จำเลยทั้งสามรับทราบการกำหนดราคาหรือประเมินค่าจ้างจากโจทก์ เพราะหากกรณีเป็นดังที่โจทก์ต่อสู้แล้วก็เท่ากับโจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปหรืออีกนัยหนึ่งคืออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องได้ด้วยตนเองตามอำเภอใจนั่นเอง และตราบใดที่โจทก์ยังไม่ประสงค์ที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม โจทก์ก็ยังไม่ต้องส่งหนังสือทวงถามหรือไม่ต้องส่งหนังสือแจ้งการกำหนดราคาค่าจ้างไปให้ฝ่ายผู้ว่าจ้างทราบ การกระทำเช่นนี้ย่อมขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีตามที่โจทก์อ้างก็เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติที่ทางราชการอนุโลมหรือผ่อนผันให้ใช้กับงานจ้างของหน่วยงานราชการ ไม่มีผลไปยกเว้นหรือยกเลิกหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ต้องใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอภาคแต่ประการใด ข้อโต้แย้งของโจทก์นี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2549   โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระค่าบริการในการที่โจทก์ร่างสัญญาให้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี  
          โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ย่อมถือได้ว่าเวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 วันดังกล่าวมิใช่เวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/13 และเมื่อจำเลยยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลา 30 วัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เกินกว่า 2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ



          อายุความสะดุดหยุดลง

          อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
          (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้
          (3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
          (4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
          (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี
          เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2559  พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น อายุความที่จะใช้บังคับต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา เมื่อโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องเพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ทราบเหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 และโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยประการอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง และเมื่อเหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คดีนี้คู่ความนำสืบรับกันว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนตามคำขอของผู้ร้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงยังไม่สิ้นสุด อายุความไม่เริ่มนับใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในขณะที่อายุความของโจทก์สะดุดหยุดลง คดีจึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1529/2559   เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 9,000,000 บาท และจำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐถึงกำหนดชำระวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 130,350,000 บาท ถึงกำหนดชำระวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ให้แก่เจ้าหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1313/2544 ของศาลล้มละลายกลาง แม้เจ้าหนี้จะยังไม่ได้ฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และไม่ได้ขออนุญาตศาลล้มละลายกลางในการฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งมาก่อน แต่มูลแห่งหนี้ดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เจ้าหนี้ก็อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งการขอรับชำระหนี้ดังกล่าวถือเป็นการทวงถามให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดโดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1313/2544 ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อนับถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการคดีนี้ คือวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 จึงยังไม่พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 คำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2559   หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท อ. ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัท อ. ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัท อ. ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558   เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558  ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ” มาตรา 193/14 บัญญัติว่า “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง...” และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ” วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น” โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2558   เมื่อโจทก์ที่ 2 พบบ้านชำรุดบกพร่องในเดือนมกราคม 2552 จำเลยเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่ต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 แจ้งให้จำเลยหยุดทำการแก้ไขชำรุดบกพร่องโดยโจทก์ที่ 2 จะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่เวลานั้นคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2554 เกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2558   แม้สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคสอง การที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้น ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 ปรากฏว่าคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 โดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 22 กันยายน 2547 อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ณ เวลาดังกล่าว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ 4 ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันไว้ จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยได้ หาใช่ว่ามีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้นไป 5 ปี ไม่ อย่างไรก็ตามความรับผิดของลูกหนี้ที่ 4 ในเรื่องต้นเงินและดอกเบี้ยย่อมจำกัดเพียงไม่เกินความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีแพ่งเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16836/2557   สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายแก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (3) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป

          หนี้ใดซึ่งตามมูลแห่งหนี้นั้น เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เป็นคราว ๆ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ในเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนอายุความครบบริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าอายุความสะดุดหยุดลง (มาตรา 193/16)
          ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 193/14 (2) คือกรณีเจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ หากต่อมาคดีนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง หรือทิ้งฟ้อง ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ส่วนในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด (มาตรา 193/17)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13078/2558   เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดินและทาวน์เฮ้าส์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่โจทก์ทราบเหตุการณ์ทำนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ว่า ฟ้องโจทก์มิใช่การฟ้องเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮ้าส์ แต่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกสินสมรสคืนจากจำเลยที่ 2 และการที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนถอนเงินในบัญชีซึ่งเป็นสินสมรสและมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินแก่โจทก์ เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น จะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินหาได้ไม่ โจทก์ต้องไปว่ากล่าวต่างหาก โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 1,512,400 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องต่อเนื่องจากคำพิพากษาในคดีเดิม แม้คำพิพากษาคดีดังกล่าวจะไม่มีถ้อยคำว่า “โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่” อายุความคดีนี้ก็ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ที่ฟ้องใหม่ได้ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด หาใช่ต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11161/2558   ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด” มิได้หมายความถึงกรณีที่ศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น แต่หากยังหมายถึงกรณีที่ศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ด้วย ซึ่งฟ้องแย้งถือเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) การที่ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 525/2553 มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีผลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสาม คือ เป็นการไม่รับหรือยกฟ้องแย้งโดยจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว โดยเหตุนี้ศาลชั้นต้นหาจำต้องระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องอีกไม่ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว ดังนั้น หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2678/2558   เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งศาลเป็นที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ต้องเป็นคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา และไม่รวมถึงการฟ้องบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้อันเป็นการฟ้องผิดตัวด้วย เพราะมีผลเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย

          ในขณะที่อายุความจะครบกำหนดนั้น ถ้ามีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางมิให้เจ้าหนี้กระทำการตามมาตรา 193/14 ให้อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุสุดวิสัยนั้นได้สิ้นสุดลง (มาตรา 193/19)
          



          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต

          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว (มาตรา 193/20)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556   จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์ที่จะฟ้องผู้แทนโดยชอบธรรม

          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของคนไร้ความสามารถหรือของคนเสมือนไร้ความสามารถ ที่จะฟ้องร้องผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของตนนั้น ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว (มาตรา 193/21)

          อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา

          อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา ถ้าจะครบกำหนดก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง (มาตรา 193/22)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542  แม้ ร.มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่างร.กับโจทก์ที่ ร.มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476 วรรคสอง ได้ก็ตาม แต่ ร.ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยได้ การที่ ร.ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของ ร. ก่อน

          อายุความสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับผู้ตาย

          อายุความสิทธิเรียกร้องอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ตาย ถ้าจะครบกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันตาย อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันตาย (มาตรา 193/23)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2545  เมื่อ ร. ลูกหนี้ถึงแก่ความตายในวันที่ 2 กันยายน 2532 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของ ร. จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ร. ทั้งนี้ มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสามและวรรคท้าย กรณีมิใช่อายุความมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันถึงแก่ความตายของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/23 ทั้งนี้เพราะการที่จะอยู่ภายใต้บังคับอายุความในมาตราดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่ ร. ถึงแก่ความตายจะครบกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตายเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6036/2541   จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ว. แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมา ว.ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ว.ได้ฟ้องให้จำเลยให้รับผิดตามเช็คพิพาท เมื่อปรากฏว่า ว.ผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตายภายหลังเช็คพิพาทถึงกำหนด และอายุความสิทธิเรียกร้องตามเช็คจะครบกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันตายอันเป็นโทษแก่ ว.ผู้ตาย จึงต้องขยายอายุความออกไปเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ ว.ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/23

          เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน (มาตรา 193/24)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558   ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2546   การให้บริการบัตรเครดิตของธนาคารโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลยแทนจำเลยไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2 ปี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาใช้บัตรเครดิตเมื่อเดือนตุลาคม 2540 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์เป็นเงิน 500 บาท ภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยเรียกเงินดังกล่าวคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยสละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24
 
          เมื่อสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความให้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นขาดอายุความด้วย แม้ว่าอายุความของสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นจะยังไม่ครบกำหนดก็ตาม (มาตรา 193/26)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2558   แม้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีกิจการคือการส่งหรือออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ แต่การที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการโดยมีค่าตอบแทนเป็นรายได้จากการเรียกเอาสินจ้างที่เรียกว่าค่าเช่าเวลา และเป็นปกติธุระที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้ผู้จัดรายการมากมายหลายรายเช่าเวลา เพื่อออกอากาศรายการที่ผู้จัดรายการแต่ละรายการนำเทปบันทึกรายการที่ตนรับผิดชอบในการผลิตมาส่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ออกอากาศให้ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกเอาสินจ้างเป็นรายได้ ทั้งเมื่อพิจารณาระเบียบของโจทก์ว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 แล้ว ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ไม่สามารถหารายได้จากการดำเนินการหรือประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ หรือไม่สามารถให้เอกชนผู้จัดรายการเช่าเวลาที่ออกอากาศ แต่กลับมีข้อที่แสดงให้เห็นว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. สามารถหารายได้ด้วยการเรียกเอาสินจ้างค่าเช่าเวลาจากการให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงว่าการกำหนดหรือปรับอัตราค่าเช่าเวลาจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ถือได้ว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการส่งหรือออกอากาศรายการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) บัญญัติให้สิทธิเรียกเอาสินจ้างที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกว่าค่าเช่าเวลา มีกำหนด 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าเช่าเวลาและค่าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26

          ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ (มาตรา 193/27)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2558   แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป การจำนองห้องชุดพิพาทยังคงมีอยู่ ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับคดีเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินที่ศาลชั้นต้นกำหนด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19411/2555   การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ต่อโจทก์โดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือนับแต่โจทก์ทราบว่าเอกสารสูญหายและให้จำเลยนำเอกสารชุดใหม่มาให้อันเป็นช่วงระหว่างปี 2525 และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2545 ล่วงเลย 10 ปี แล้วก็ตาม แต่จากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนและจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา เช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 241

          การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้นไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม  กรณีข้างต้นให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้ (มาตรา 193/28)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2553  จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ ยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินอันเนื่องจากจำเลยใช้บัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือเบิกเงินสดล่วงหน้า โดยจำเลยยอมชำระคืนให้โจทก์ในภายหลัง อันเป็นการประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ แก่สมาชิก เมื่อโจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้แล้วโจทก์จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี เมื่อโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 พร้อมทั้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้นับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 หลังครบกำหนดอายุความแล้วคดีจึงขาดอายุความ และการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องกระทำก่อนที่จะขาดอายุความ เมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ภายหลังจากขาดอายุความแล้ว จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุคาวามสะดุดหยุดลง การชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้วเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10881/2546   หนังสือที่จำเลยทำให้แก่โจทก์เพื่อรับรองว่าจำเลยยังมีหนี้ค่าจ้างก่อสร้างค้างชำระแก่โจทก์อยู่ตามเอกสารหมาย จ. 1 ทำขึ้นภายหลังจากมูลหนี้ค่าจ้างก่อสร้างขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพความรับผิดที่จำเลยรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ อันก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ซึ่งบัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิด จำเลยทำเอกสารหมาย จ. 1 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ (มาตรา 193/29)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2550   โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีนำที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสไปโอนให้บุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1480 วรรคสอง ได้กำหนดระยะเวลาให้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ จึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 193/29
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2548   นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นการสบคบกันฉ้อฉลเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้อง โจทก์ยังฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ ส. เจ้ามรดกได้ทำไว้กับโจทก์ด้วย จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ฟ้องร้องคดีนี้หลังจากได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ 
          แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3914/2548   แม้คดีของโจทก์ขาดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตามมาตรา 193/29 ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งโจทก์รับฟ้องขอให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ตามมาตรา 882 วรรคแรก กำหนดอายุความไว้ 2 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ภายในกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 4 จึงยังไม่ขาดอายุความ
 
          แต่กำหนดระยะเวลาที่ไม่ใช่อายุความ ไม่ต้องห้ามศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11274/2553  โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิใช่บิดาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แต่ที่จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเพราะสำคัญผิด หากเป็นจริงตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1554 ที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเพราะเหตุว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนนั้นมิใช่บิดา แต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดระยะเวลาให้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้การจดทะเบียน และห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องอันเป็นอายุความที่ศาลจะยกมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตร และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ได้ตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน



25 เมษายน 2560

ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง

          ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องเป็นความรับผิดของผู้ขายที่มีต่อผู้ซื้อโดยผลของกฎหมาย
          มาตรา 472  "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
          ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่"

          การที่จะถือว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472 มีอยู่ 3 กรณี คือ
          (1) เสื่อมราคา
          (2) เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ
          (3) เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา

          กรณีทรัพย์สินที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องเล็กน้อย ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472

          หากส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายผิดไปจากที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น ส่งมอบทรัพย์สินไม่ตรงชนิดตามที่ระบุในสัญญา กรณีนี้เป็นเรื่องไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาหรือผิดสัญญา แต่ไม่ใช่เรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653/2539  โจทก์ส่งกระดาษให้แก่จำเลยมีน้ำหนักไม่ถูกต้องตามขนาดที่ตกลงกันไว้เป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายผิดจากชนิดที่ตกลงกันตามสัญญา ถือได้ว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา ไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 472 ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป

          ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิด จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนหรืออย่างช้าในขณะทำสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2514  ความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งขาย อันผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472  นั้น จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังผู้ขายหาต้องรับผิดไม่
          เครื่องปรับอากาศที่โจทก์ติดตั้งที่ภัตตาคารของจำเลยให้ความเย็นเรียบร้อยดีนับแต่เวลาติดตั้งตลอดมาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน แสดงให้เห็นว่าเครื่องปรับอากาศดังกล่าวมิได้มีความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาซื้อขาย หรือในเวลาส่งมอบเลย ฉะนั้นที่เครื่องปรับอากาศให้ความเย็นไม่พอในเวลาต่อมา จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังจากที่จำเลยได้รับมอบและใช้ประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน โจทก์หาต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนี้ไม่ และด้วยเหตุนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระตามมาตรา 488 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          ผลของการส่งมอบทรัพย์สินที่ชำรุดบกพร่อง
          (1) ผู้ซื้อมีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ตามมาตรา 488
          (2) ผู้ซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ขายคืนเงินราคาทรัพย์สินที่ผู้ซื้อได้ชำระไป และหากมีความเสียหายก็อาจเรียกค่าเสียหายได้อีกด้วย

          กรณีที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง 
   
          ก. ข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมาย 
          มาตรา 473  "ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
          (1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
          (2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
          (3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555  การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472
          แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

          ข. ข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญา
          มาตรา 483  "คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้"

          อายุความในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง
          มาตรา 474  "ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง"