25 มีนาคม 2560

ความผิดฐานเจ้าพนักงานในการยุติธรรมกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ตามมาตรา 200

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 200  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
          ถ้าการกระทำหรือไม่กระทำนั้น เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 200

          (1) เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา แต่ไม่รวมถึงผู้พิพากษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3509/2549  จำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ส. และ ป. ที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทโจทก์ ทั้งที่หนังสือพิมพ์ ด. ซึ่งบริษัท ส. เป็นเจ้าของและ ป. เป็นบรรณาธิการ ลงข้อความในหนังสือพิมพ์เป็นความเท็จ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล แต่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ จึงเกินล้ำออกนอกของเขตของความชอบด้วยกฎหมายและในฐานะที่จำเลยเป็นข้าราชการอัยการชั้นสูง จำเลยย่อมทราบดีถึงเกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดของพนักงานอัยการ การใช้ดุลพินิจผิดกฎหมายในกรณีนี้ จำเลยเห็นได้อยู่ในตัวแล้วว่าเป็นการมิชอบและมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหาย อีกทั้งเพื่อจะช่วยบริษัท ส. และ ป. มิให้ต้องโทษจากการกระทำความผิดของตนอีกด้วย จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง

          (2) กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2531  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาได้รับแจ้งความจาก ช. ว่ามีคนร้ายลักเรือและเครื่องยนต์ของผู้เสียหายไป แต่ไม่ยอมลงรับแจ้งความในประจำวันเป็นหลักฐานและเมื่อจับคนร้ายที่ลักทรัพย์ดังกล่าวแล้ว จำเลยกลับปล่อยตัวคนร้ายไปเสีย ถือได้ว่าจำเลยได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และยังเป็นการกระทำการในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการมิชอบเพื่อจะช่วยคนร้ายมิให้ต้องโทษตามมาตรา 200 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 157ซึ่งเป็นบทหนัก

          (3) เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง
          แต่ถ้าเป็นการแกล้งเพื่อให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น หรือต้องถูกบังคับตามวิธีการเพื่อความปลอดภัย ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักขึ้นตามมาตรา 200 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 929/2537  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 139 บัญญัติว่าให้พนักงานสอบสวนบันทึกการสอบสวนตามหลักทั่วไปในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยการสอบสวนและให้เอาบันทึกเอกสารอื่นซึ่งได้มา อีกทั้งบันทึกและเอกสารทั้งหลายซึ่งเจ้าพนักงานอื่นผู้สอบสวนคดีเดียวกันนั้นส่งมารวมเข้าสำนวนไว้ดังนั้น จำเลยที่ 1 ในฐานะพนักงานสอบสวนจึงต้องนำบันทึกคำให้การซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาฉบับเดิมที่จำเลยที่ 1 เป็นคนร่วมสอบสวนและบันทึกรวมเข้าสำนวนไว้ จำเลยที่ 1จะอ้างว่าได้ทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหาใหม่แล้วของเดิมไม่สำคัญ หรือผู้ให้ถ้อยคำไม่ประสงค์จะใช้ของเดิมจึงไม่นำเข้ารวมสำนวนไว้ ย่อมไม่อาจกระทำได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวน เอาไปเสียซึ่งคำให้การฉบับเดิมของผู้ต้องหาและผู้กล่าวหา ซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ปกครองดูแลรักษา โดยเจตนาเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหามิให้ต้องโทษถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในตำแหน่งพนักงานสอบสวนโดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือผู้ต้องหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคแรก และทำให้ผู้กล่าวหาและกรมตำรวจเสียหายอันเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดกรรมเดียว

          (4) เจตนาธรรมดา (องค์ประกอบภายใน) ถ้าหากไม่มีเจตนาก็ไม่ผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2707/2530  การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปล่อยตัวนาย ข. ที่เข้าไปคว้าเงินของผู้เสียหายภายในร้าน โดยไม่ส่งตัวไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีเพราะจำเลยเห็นว่า นาย ข. เป็นสายลับตำรวจเข้าไปยึดเงินดังกล่าวเพื่อเป็นหลักฐานในการเล่นการพนันนั้น เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าใจและใช้ดุลพินิจว่านาย ข. ไม่ได้กระทำผิดฐานชิงทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเจตนาจะช่วยเหลือนาย ข. มิให้ต้องรับโทษ ยังไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200.

          การกระทำเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องได้รับโทษหรือได้รับโทษน้อยลง หมายความถึงบุคคลอื่น แต่ถ้าหากตัวเองเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย และกระทำเพื่อช่วยให้ตนเองพ้นผิด ย่อมไม่มีความผิดตามมาตรา 200
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 717/2511  ก่อนเกิดเหตุ จำเลยมีปากเสียงกับนาย ส. กับพวกในร้านอาหาร เมื่อออกจากร้าน ผู้ตายออกจากป้อมยามตำรวจตรงมาที่นาย ส. กับพวกขณะห่างจากจำเลยประมาณ 2 วา ผู้ตายทำของตกก้มลงเก็บ ขณะนั้นจำเลยซึ่งมีอาการเมาสุราด้วยน่าจะสำคัญผิดว่าผู้ตายจะทำร้ายตน จึงชักปืนยิงผู้ตายอันเป็นการเข้าใจเหตุการณ์เองโดยไม่มีเหตุสมควร และแม้จะถือว่าการสำคัญผิดเกิดขึ้นด้วยความประมาท การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 68, 69
          แต่ในข้อหาขัดขวางนายสุทินกับพวกแจ้งความและไม่รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ฟังว่าผิด แต่มิใช่กระทำเพื่อจะช่วยผู้อื่นมิให้ต้องรับผิดจึงไม่ผิดตามมาตรา 200  เนื่องจากความผิดตามมาตรา 200 ฐานเป็นเจ้าพนักงานกระทำหรือละเว้นกระทำในตำแหน่งอันมิชอบ จะต้องมีความมุ่งหมายเพื่อช่วยบุคคลอื่น จึงจะเป็นความผิดตามมาตรานี้หากเพื่อช่วยเหลือตัวผู้กระทำผิดเอง และเกิดเสียหายแก่ผู้อื่น ย่อมเป็นความผิดตาม มาตรา 157
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522  กรณีจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น
          การที่จะมีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจนั้น เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอัยการตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมตำรวจภายหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          จำเลยเป็นพนักงานอัยการตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการ แม้จะพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว แต่รู้อยู่แล้วว่าอธิบดีกรมอัยการคนก่อนได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง จ. กับพวก ตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจ ระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้มอบงานให้ ก. รองอธิบดีกรมอัยการซึ่งจะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแทนจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก แล้วลอบแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน เพื่อจะช่วย จ. กับพวกมิให้ต้องโทษ จนอธิบดีกรมตำรวจได้แจ้งคำสั่งของจำเลยดังกล่าวให้ผู้ร้องทุกข์และผู้ต้องหาทราบทุกคนแล้วเช่นนี้จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 165, 200
          เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3130/2556  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
          จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก


24 มีนาคม 2560

ความผิดฐานเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต ตามมาตรา 151 (ใช้ประโยชน์จากของหลวง)

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 151  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท"

          ความผิดของมาตรา 151

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1478/2525  การแบ่งส่วนราชการภายในกรมนั้นต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเมื่อไม่เคยมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการของกรมการปกครองให้โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนราชการของกรมการปกครอง คงมีแต่คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนมอบอาคารโรงพิมพ์และอุปกรณ์ทั้งสิ้นแก่กรมการปกครอง โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงหาเป็นส่วนราชการของกรมการปกครองไม่
          ส่วนที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณฯ บัญญัติความหมายของส่วนราชการให้รวมถึงสำนักงานหรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐด้วยนั้น ก็เพื่อประโยชน์ในการที่สำนักงบประมาณจะจัดทำและควบคุมงบประมาณแผ่นดินของส่วนราชการ แต่โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เคยเสนอประมาณการรายรับรายจ่ายต่อสำนักงบประมาณ ทั้งไม่เคยมีการตั้งงบประมาณแผ่นดินไว้ดำเนินกิจการของโรงพิมพ์โรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นจึงไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองตามความหมายของพระราชบัญญัติดังกล่าว
          เมื่อความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้องให้ลงโทษจำเลยนั้นในเบื้องต้นผู้กระทำความผิดจะต้องเป็นเจ้าพนักงานเสียก่อนและเมื่อได้ความว่าโรงพิมพ์ส่วนท้องถิ่นไม่เป็นส่วนราชการของกรมการปกครองแล้ว จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการดำเนินงานของโรงพิมพ์โดยตำแหน่งตามคำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงไม่เป็นเจ้าพนักงาน ไม่อาจกระทำผิดตามมาตรา 151 ตามฟ้องโจทก์ได้

          (2) มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ
          มีหน้าที่ซื้อ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดซื้อ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 565/2558  จำเลยทราบดีว่านาง ล. ตกลงขายที่ดินแก่นาย พ. บุตรเขยจำเลยในราคาเพียง 220,000 บาท แต่มีการปลอมแปลงลายมือชื่อนาง ล. ในใบเสนอราคาขายที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 594,800 บาท แล้วนำไปยื่นต่อองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ พร้อมกับใบเสนอราคาของเจ้าของที่ดินอีกสองแปลงซึ่งเสนอราคาสูงกว่า และเมื่อคณะกรรมการจัดซื้อเห็นสมควรซื้อที่ดินของนาง ล. ที่เสนอราคาต่ำสุด จำเลยในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ก็ได้อนุมัติให้จัดซื้อที่ดินดังกล่าวในราคาภายหลังการต่อรองแล้ว 594,000 บาท สูงกว่าราคาที่นาง ล. ต้องการขาย 374,000 บาท และเมื่อหักเงินที่จำเลยต้องนำไปชำระเป็นค่าภาษี 5,940 บาท คงมีส่วนต่างที่เป็นประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย 368,060 บาท การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุตรเขยของจำเลย อันถือได้ว่าเป็นการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ เป็นเหตุให้องค์การบริหารส่วนตำบลตูมใต้ ได้รับความเสียหายต้องซื้อที่ดินในราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น จำเลยจึงมีความผิดฐานเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทรัพย์ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2565  ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพ ม. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำเลยที่ 1 ดำเนินการอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุตามโครงการติดตั้งระบบเครือข่ายและระบบไฟฟ้าสำหรับห้องเรียนคอมพิวเตอร์ แผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ จำนวน 6 ห้อง และให้ อ. ครูหัวหน้าแผนกคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เป็นผู้จัดทำบันทึกขออนุญาตดำเนินการจัดซื้อวัสดุตามโครงการดังกล่าวโดยใช้งบประมาณบำรุงการศึกษา 269,950 บาท โดยแบ่งซื้อวัสดุออกเป็น 3 ครั้ง ให้อยู่ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่สามารถอนุมัติได้ อันเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ที่แก้ไขแล้ว ที่กำหนดให้ต้องดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีการสอบราคา แต่องค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 นั้น ผู้กระทำความผิดต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย สั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการของวิทยาลัยการอาชีพ ม. เท่านั้น ส่วนการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ อยู่ในความรับผิดชอบของงานพัสดุ และการที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้จัดซื้อจัดจ้างก็เป็นการเสนอขึ้นมาตามลำดับชั้นและเป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้บังคับบัญชา ทำให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการจัดซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 และจำเลยที่ 3 ย่อมไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดฐานนี้
          มีหน้าที่ทำ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ผลิตทรัพย์ให้แก่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐ โดยอาจใช้แรงงานโดยตรงหรือควบคุมดูแลก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4167/2564  แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการทรัพย์ของโครงการติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้าน แต่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ข้อ 5 ให้คำนิยาม เจ้าหน้าที่พัสดุ หมายความว่า พนักงานส่วนตำบลหรือข้าราชการอื่นที่ปฏิบัติงานในองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประธานกรรมการบริหารแต่งตั้งหรือมอบหมายให้มีหน้าที่หรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัสดุตามระเบียบนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้มีหน้าที่ทำหรือจัดการเงินที่สภาองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมออนุมัติแล้ว การที่จำเลยที่ 1 เสนอรายงานขอจ้างเหมาติดตั้งสัญลักษณ์จราจรภายในหมู่บ้านตามโครงการดังกล่าวโดยวิธีตกลงราคาพร้อมรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จึงเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำและจัดการทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานทำหรือจัดการทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) และเมื่อการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม) อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 (เดิม) ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก 
          ส่วนจำเลยที่ 2 คงได้ความแต่ว่า จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอ มีหน้าที่รับผิดชอบบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ มีอำนาจสั่งอนุญาตและอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล ตลอดจนเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบล กับมีอำนาจในการอนุมัติสั่งซื้อสั่งจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหมอให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2538 ซึ่งจำเลยที่ 2 มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้อนุมัติเห็นชอบตามที่จำเลยที่ 1 เสนอมาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่โดยตรงในการซื้อทรัพย์ใด ๆ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 151 (เดิม)
          มีหน้าที่จัดการ หมายถึง มีทรัพย์ของทางราชการอยู่แล้ว มีหน้าที่จัดการทรัพย์เหล่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4828/2533  จำเลยรับราชการเป็นนายช่างโยธา 5 ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยจราจรสงเคราะห์ประจำเขตการทางสงขลา กรมทางหลวง ในการปฏิบัติหน้าที่จำเลยมีอำนาจสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายน้ำมันและอนุญาตให้ใช้รถยนต์ในเขตการทางสงขลาด้วย การที่จำเลยได้สั่งให้ใช้รถของราชการและสั่งอนุญาตให้เบิกจ่ายน้ำมันของราชการสำหรับรถดังกล่าวขนเสาซีเมนต์ป้ายจราจรจากแขวงการทางสงขลาไปยังจุดติดตั้งในกิจการส่วนตัว จึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่กรมทางหลวง ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151
          มีหน้าที่รักษาทรัพย์ หมายถึง เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ควบคุมของให้ผู้อื่นมาเบิกไปใช้

          (3) ใช้อำนาจในตำแหน่ง อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น
          ต้องเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตในลักษณะของการแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์ของทางราชการที่ตนเองเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์นั้น แต่หากเป็นการเบียดบังทรัพย์นั้นไปก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ แต่จะผิดตามมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1682/2516  การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ก็ต่อเมื่อ ผู้กระทำผิดมีหน้าที่ ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ แล้วใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายจากตัวทรัพย์นั้น โดยมิได้เอาตัวทรัพย์ไป ไม่ใช่เพียงแต่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์นั้นเท่านั้น จำเลยได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินงานควบคุมจัดการกิจการประปาของเทศบาล ได้ติดตั้งการใช้น้ำประปาให้ ส. กับพวก แล้วไม่ลงทะเบียนผู้ใช้น้ำประปา เรียกเก็บค่าใช้น้ำประปาทุกเดือน และออกหลักฐานจำนวนก๊อกน้ำประปาของผู้ติดตั้งน้อยกว่าความจริง แล้วเก็บเงินมากกว่าจำนวนค่าธรรมเนียมที่เทศบาลกำหนด และโจทก์บรรยายฟ้องเจาะจงว่าจำเลยเบียดบังยักยอกเอาเงินรายได้ 3,955 บาท จากกิจการประปาของเทศบาลที่จำเลยรับไว้จาก ส. กับพวก ไว้เป็นประโยชน์ส่วตัว โดยทุจริต ดังนี้ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เท่านั้น จำเลยไม่มีความผิดตามมาตรา 151 ด้วย

          แต่ถ้าไม่ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1239/2502  ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ จำเลยใช้จ้างวานคนไปตัดฟันชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ไม่ได้กล่าวว่าจำเลยเอาอำนาจในตำแหน่งหน้าที่ราชการไปใช้จ้างวานคนให้กระทำผิดเช่นนั้นด้วยเลย เช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ใช้จ้างวานให้คนไปกระทำผิดเป็นส่วนตัว ย่อมจำลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในทางทุจริตตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 132 หรือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ไม่ได้

          (4) โดยทุจริต  ต้องมีเจตนาพิเศษ คือ มีเจตนาทุจริตด้วย

          (5) เจตนาธรรมดา 




ความผิดฐานเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมเรียกรับสินบน ตามมาตรา 201

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 201  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือประหารชีวิต"

          องค์ประกอบความผิดของมาตรา 201

          (1) เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งตุลาการ พนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี หรือพนักงานสอบสวน
          เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะผิดตามมาตรานี้่ได้ มีเฉพาะพนักงานสอบสวน ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจในตำแหน่งอื่นๆหากมีการเรียกรับสินบนก็จะเป็นความผิดตามมาตรา 149

          (2) เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ
          การเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นนั้น จะต้องเป็นการกระทำที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้เรียกได้โดยชอบ

          (3)  เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่
          เช่น พนักงานอัยการมีหน้าที่สั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือตุลาการมีหน้าที่พิพากษาคดี แม้ตามเนื้อหาคดีนั้นจะต้องสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง หรือต้องพิพากษายกฟ้องอยู่แล้ว แต่หากไปเรียกรับทรัพย์สินนั้นก็ยังคงเป็ความผิด คือ แม้จะทำไปตามอำนาจหน้าที่ก็ตาม แต่ก็ไม่มีสิทธิไปเรียกรับเงินรับทองหรือประโยชน์อื่นใดจากเขา หรือเรียกว่าไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะกินตามน้ำ

          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 931/2532  จำเลยบอกให้ ล. ลงลายมือชื่อแทน ท. ได้ ล. จึงปลอมลายมือชื่อ ท. ลงในคำร้องขอประกัน แล้วจำเลยร่วมกับ ล.ขอประกันตัว อ.ผู้ต้องหาในคดีอาญาโดยใช้โฉนดที่ดินของท.เป็นหลักทรัพย์ เสนอต่อพันตำรวจตรี ช.จนพันตำรวจตรีช.อนุญาตให้ประกันตัว อ. ได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมกระทงหนึ่ง และฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งและการที่จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกัน อ. ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าล. ปลอมลายมือชื่อ ท. ผู้ขอประกัน จำเลยก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกัน อ. ทั้งจำเลยยังรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการให้ อ. ได้รับประกันตัวไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 201 ด้วย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า '...ฟังได้ว่า จำเลยได้ร่วมกับนาย ห. ขอประกันตัวนาย อ. โดยใช้โฉนดที่ดินของนาง ท.เป็นหลักทรัพย์ และปรากฏตามคำพันตำรวจตรี ช. สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเลิงนกทาด้วยว่า จำเลยได้บันทึกในคำร้องขอประกันว่าสมควรให้ประกัน ผู้ต้องหาไม่หลบหนี ส่วนลายมือชื่อของนาง ท. เจ้าของโฉนดที่ดินซึ่งลงไว้ในคำร้องขอประกันตัวนาย อ. นั้น พันตำรวจตรี ก. ผู้เชี่ยวชาญของศาลสาขาการตรวจพิสูจน์เอกสารและการปลอมแปลงซึ่งทำการพิสูจน์ลายมือชื่อนาง ท. ในเอกสารหมาย จ.4 ยืนยันว่า เมื่อเปรียบเทียบกับลายมือชื่อนาย ห. ที่เขียนเป็นลายมือชื่อนาง ท. ในเอกสารตัวอย่างแล้วปรากฏว่าเป็นลายมือของคนคนเดียวกัน แสดงว่าผู้ที่ปลอมลายมือชื่อของนาง ท. ในคำร้องขอประกันคือนาย ห. นั้นเอง ดังนี้ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำเอกสารปลอมดังโจทก์ฟ้อง และเมื่อจำเลยได้ร่วมกันทำเอกสารปลอมตามเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ยังได้นำไปเสนอต่อพันตำรวจตรี ช. เพื่อให้พันตำรวจตรี ช. สั่งอนุญาตให้ประกันตัวนาย อ. จนพันตำรวจตรี ช. อนุญาตให้ประกันตัวได้ตามที่จำเลยเสนอความเห็น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารปลอมอีกกระทงหนึ่งด้วย
          และการที่จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อพันตำรวจตรี ช. ผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ประกันตัวนาย อ. ทั้งๆ ที่รู้ว่านาง ท. ผู้ขอประกันตัวนาย อ. มิได้ลงลายมือชื่อด้วยตนเอง หากแต่นาย ห. เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อก็ยังเสนอความเห็นว่าควรให้ประกันตัวนาย อ.ผู้ต้องหาไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ทั้งนี้ได้ความจากคำนาย ป. พยานโจทก์ว่า จำเลยเคยใช้ให้ไปตามนาย อ.ที่กรุงเทพมหานครและได้พบนาย อ. แต่นาย อ.ไม่ยอมเข้ามอบตัวอ้างว่าได้ให้เงินแก่จำเลยเป็นสินน้ำใจไปแล้ว 25,000 บาท คำนาย ป.นี้เมื่อนำมาพิเคราะห์ประกอบคำพันตำรวจโท ว. ซึ่งขณะเกิดเหตุรับราชการในตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยโสธร และเป็นผู้รับมอบตัวนาย อ. จากเจ้าหน้าที่ป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้โทษที่เบิกความว่า ได้สอบปากคำนาย อ. ไว้ นาย อ. ให้การว่าได้ให้เงินแก่จำเลยเป็นค่าตอบแทนสินน้ำใจเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท แต่นาย อ. ขอให้ลงบันทึกไว้ในคำให้การเป็นเงินประมาณ 20,000 บาท หรือ 25,000 บาท จำไม่ได้แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อกระทำการให้นาย อ. ผู้ต้องหาในคดีอาญาได้รับการประกันตัวไป อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 201 ด้วย...'



20 กุมภาพันธ์ 2560

กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และ กิจการค้าร่วม (Consortium)

          กรณีการรับจ้างทำงานโครงการใหญ่ๆ ผู้ประกอบการบางรายอาจไม่สามารถรับงานได้โดยลำพัง เพราะเงินทุนไม่เพียงพอหรือขาดแคลนเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรับงานนั้นๆ ดังนั้น ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องร่วมกันกับผู้อื่นในการรับงาน เพื่อยกระดับความสามารถในการดำเนินงานและเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ และการรวมตัวจะทำให้เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีประสิทธิภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งได้
          การร่วมกันทางธุรกิจมีหลายลักษณะซึ่งอาจมีการนำเงินและเทคโนโลยีมาร่วมกันลงทุน โดยการกำหนดสัดส่วนหุ้นและการจัดสรรผลประโยชน์ระหว่างกัน มีรูปแบบเหมือนการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ หรือบางลักษณะจะมีการร่วมกันรับงานเพียงอย่างเดียว โดยมีการแบ่งแยกสิทธิและหน้าที่รวมทั้งกำไรและขาดทุนอย่างชัดเจน การร่วมกันในทางการค้านั้นที่นิยมกันในปัจจุบัน คือ กิจการร่วมค้า (Joint Venture) และกิจการค้าร่วม (Consortium)


          1. กิจการร่วมค้า (Joint Venture) คือ การร่วมประกอบธุรกิจของบุคคลหรือกิจการตั้งแต่สองคนขึ้นไป โดยมีการร่วมลงทุนไม่ว่าจะเป็นเงินทุน ทรัพย์สิน แรงงาน เทคโนโลยี ที่ดิน บุคลากร หรืออื่นๆ ภายใต้ข้อตกลงหรือสัญญาร่วมค้าเพื่อประกอบกิจการร่วมกัน และจะมีการกำหนดวัตถุประสงค์รวมถึงเป้าหมายการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน ถ้าโครงการนั้นทำเสร็จสิ้นลงก็จะถือว่าการร่วมค้านั้นยุติลงด้วย ในกรณีเกิดความเสียหายทางการค้าก็จะรับผิดชอบร่วมกันในนามกิจการร่วมค้า และเมื่อมีผลกำไรก็จะจัดสรรตามสัดส่วนของการลงทุน ทั้งนี้ จะต้องมีผู้ร่วมค้าฝ่ายหนึ่งเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัทกับบริษัท หรือบริษัทกับกับบุคคลธรรมดา การร่วมกันดังกล่าวจะไม่เป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่จะมีเพียงสถานะเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่จดทะเบียนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรในนามกิจการร่วมค้ากับสรรพากรพื้นที่ ในการขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกิจการร่วมค้า ทั้งสองฝ่ายจะต้องนำสัญญากิจการร่วมค้ามาเป็นหลักฐาน ถ้าฝ่ายใดเป็นบุคคลธรรมดาให้ใช้เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ประโยชน์ของการร่วมกันทางการค้าในลักษณะกิจการร่วมค้า เพื่อจะช่วยคู่ค้าแต่ละฝ่ายลดและกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งยังช่วยประหยัดภาษีจากส่วนกำไรเพราะกฎหมายกำหนดว่าเมื่อได้รับส่วนแบ่งกำไร ไม่ต้องนำมารวมกับรายได้ของบริษัทเดิม
          กิจการร่วมค้า (Joint Venture) กรมสรรพากรได้วางบรรทัดฐานเพิ่มเติมไว้สำหรับการพิจารณาว่า “กิจการร่วมค้า” จะต้องมีคุณสมบัติเข้าลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้
          (1)   มีการร่วมทุนกัน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน แรงงาน หรือเทคโนโลยี หรือร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนอันพึงจะได้ตามสัญญาที่ร่วมกันทำกับบุคคลภายนอก หรือ
          (2)    ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอก โดยระบุในสัญญาว่าเป็น “กิจการร่วมค้า” หรือ
          (3)   ได้ร่วมกันทำสัญญากับบุคคลภายนอกโดยสัญญานั้นกำหนดให้ต้องรับผิดชอบร่วมกันในงานที่ทำไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน และต้องรับค่าตอบแทนตามสัญญาร่วมกัน โดยสัญญานั้นไม่ได้แบ่งมอบงานและค่าตอบแทนระหว่างกันไว้อย่างชัดเจน
          กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ตามความหมายในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร คือ
          (1)   กิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไร ระหว่างบริษัทกับบริษัท บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล  ระหว่างบริษัทและ/หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่น
          (2)   กิจการร่วมค้ามีหน้าที่ต้องจัดทำบัญชีและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
          (3)   กิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ ในความหมายตามประมวลรัษฎากร เปรียบเสมือนมีฐานะเป็น “นิติบุคคล”
          (4)   กิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ ในความหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 มีสถานะเปรียบเสมือน ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล

          2.  กิจการค้าร่วม (Consortium) คือ การประกอบธุรกิจที่มีลักษณะของการร่วมกันขององค์กรธุรกิจตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป เพื่อดำเนินกิจการหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ คือ เข้าร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามแผนธุรกิจ แต่ละฝ่ายจะใช้ความสามารถและความชำนาญในการทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้สำเร็จตามโครงการ และมีการแบ่งแยกการทำงานไว้อย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่างออกใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินเฉพาะของบริษัทตน
          สัญญากิจการค้าร่วมเป็นเพียงการลงนามร่วมกันในการทำสัญญากับเจ้าของโครงการเท่านั้น เพราะแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตนไม่มีการร่วมทุนหรือแบ่งปันผลกำไรหรือขาดทุนระหว่างกัน เมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะยุติลงเหมือนกับกิจการร่วมค้า
          ประโยชน์ของกิจการค้าร่วม คือ ผู้ประกอบการจะสามารถคำนวณหรือประเมินความสามารถของตนในการรับงานในแต่ละส่วนได้ และจะรับผิดชอบเฉพาะส่วนงานของตนเองเท่านั้น ตัวอย่างของกิจการค้าร่วม เช่น ร่วมกันทำสัญญากับหน่วยงานรัฐในการขายและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์โดยใช้ชื่อ “กิจการร่วมค้า AB” หรือ “คอนเซอร์เดียม AB”  ซึ่งบริษัท A รับผิดชอบในการขายอุปกรณ์ ส่วนบริษัท B รับผิดชอบในการติดตั้งระบบ เมื่อปรากฏว่าเกิดความเสียหายจากการพัฒนาระบบจนไม่สามารถใช้งานได้อันมิใช่เกิดจากอุปกรณ์ ดังนั้น บริษัท B จึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
          Consortium จะมีลักษณะแตกต่างจาก Joint Venture กล่าวคือ สมาชิกชอง Consortium นั้นจะมีการแบ่งแยกงานและเงินที่สมาชิกแต่ละคนจะได้รับจากเจ้าของโครงการ จะมีการร่วมกันก็เพียงแต่มาลงนามในสัญญาฉบับเดียวกันที่ทำกับเจ้าของโครงการเท่านั้นเอง โดย Consortium นั้น ไม่ได้เป็นหน่วยภาษีแยกต่างหากจากผู้เป็นสมาชิกของ Consortium
          Consortium นั้น สมาชิกแต่ละคนจะได้รับเงินในส่วนของงานที่ตนทำ จะกำไรหรือขาดทุนก็เป็นเรื่องของตน ไม่มีการไปรวมกับกำไรหรือขาดทุนของสมาชิก Consortium รายอื่น และสมาชิก Consortium แต่ละรายก็จะเสียภาษีโดยยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีของตนแยกแต่ละรายได้

          ความแตกต่างของการร่วมกันในทางการค้าของทั้งสองลักษณะนั้น หากผู้ประกอบการจำเป็นต้องร่วมการค้ากับผู้อื่น คงจะต้องดูศักยภาพ ความชำนาญและความสามารถของกิจการตนเองเป็นหลักแนวทางการปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็น “กิจการร่วมค้า” (JOINT VENTURE) ที่เข้าเสนอราคากับส่วนราชการตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2475  ลงวันที่  16 มีนาคม 2543 ดังนี้
          1.  กรณีที่ “กิจการร่วมค้า” ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ โดยหลักการกิจการร่วมค้าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา ส่วนคุณสมบัติด้านผลงานก่อสร้างกิจการร่วมค้าดังกล่าว สามารถนาผลงานก่อสร้างของผู้ที่เข้าร่วมค้ามาใช้แสดงเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าที่เข้าประกวดราคาได้
          2.  กรณีที่ “กิจการร่วมค้า” ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ โดยหลักการนิติบุคคลแต่ละนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกราย จะต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา เว้นแต่ในกรณีที่กิจการร่วมค้าได้มีข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดให้ผู้ร่วมค้า รายใดรายหนึ่งเป็น “ผู้รับผิดชอบหลัก” ในการเข้าเสนอราคากับทางราชการ และแสดงหลักฐานดังกล่าวมาพร้อมซองประกวดราคา กิจการร่วมค้านั้น สามารถใช้ผลงานก่อสร้างของผู้ร่วมค้าหลักรายเดียวเป็นผลงานก่อสร้างของกิจการร่วมค้าที่ยื่นเสนอราคาได้

          กรณีกิจการร่วมค้าเข้าร่วมในการเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ

          เมื่อหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นใดประสงค์จะจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) หน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นจะต้องดำเนินการประกาศคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกให้เสนอราคาซึ่งเป็นเกณฑ์ความต้องการขั้นต่ำ เช่น ประสบการณ์และผลงานที่ผ่านมา สมรรถภาพในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ เครื่องมือและโรงงาน ฐานะการเงิน และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ที่จะมีสิทธิเข้าเสนอราคาไว้ในประกาศเชิญชวนหรือประกาศประกวดราคาหรือเอกสารประกวดราคาให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้มีสิทธิเสนอราคาได้ทราบและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานต้องการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้เสนอราคาเป็นกิจการร่วมค้า (joint venture) ที่มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ นิติบุคคลแต่ละรายที่เข้าร่วมค้าต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาด้วย เว้นแต่ในกรณีที่กิจการร่วมค้ามีข้อตกลงระหว่างกันให้ผู้ร่วมค้ารายใดเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอราคากับทางราชการสามารถใช้ผลงานของผู้ร่วมค้าหลักรายนั้น เป็นผลงานของกิจการร่วมค้าที่ยื่นเสนอราคาได้ ทั้งนี้ ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 3054 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และหนังสือสานักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2457 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2543
          การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งหนึ่งออกประกาศประมูลการจ้างก่อสร้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) โดยไม่ได้ประกาศหลักเกณฑ์กรณีผู้เสนอราคาเป็นกิจการร่วมค้าตามหนังสือสองฉบับข้างต้น เนื่องจากเห็นว่าหนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวมีสภาพเป็นกฎ ผู้เสนอราคาทุกรายจึงต้องทราบ และเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่ส่วนราชการต้องถือปฏิบัติและสามารถบังคับกับเอกชนได้โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในประกาศประกวดราคา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นจะนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาตัดสิทธิผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้ามิให้เข้าเสนอราคาได้หรือไม่
          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 530/2554 วินิจฉัยไว้โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า กรณีกลุ่มบริษัทร่วมค้า ศ. โดยบริษัท ด. จำกัด (ผู้ฟ้องคดี) ได้ยื่นเอกสารประมูลจ้างตามประกาศประมูลจ้างเหมาก่อสร้างสานักงานแห่งใหม่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ของผู้ถูกฟ้องคดี (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) แต่คณะกรรมการดาเนินการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามหนังสือสานักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2457 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2543 ประกอบหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 3054 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2543 โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ และไม่ได้แสดงคุณสมบัติด้านผลงานของนิติบุคคลที่เข้าร่วมค้าทุกราย ซึ่งแต่ละรายต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคา ทั้งในบันทึกข้อตกลงระหว่างผู้เข้าร่วมค้าก็มิได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมค้ารายใดรายหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการเข้าเสนอราคา ผู้ถูกฟ้องคดีจึงพิจารณาให้ผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าเสนอราคา ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์คาสั่งดังกล่าวและฟ้องคดีต่อศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ตัดสินให้ผู้ฟ้องคดีขาดคุณสมบัติในการเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคา
          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเสนอราคาแต่เพียงว่าผู้เสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคลมีอาชีพรับจ้างงานที่ประมูลจ้างโดยมีผลงานประเภทเดียวกับงานที่ประมูลจ้าง หากผู้เสนอราคาเป็นผู้ร่วมค้าให้ยื่นสำเนาสัญญาร่วมค้า และหากเป็นนิติบุคคลให้ยื่นสำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลปีปัจจุบัน โดยมิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0313.4/ว 3054 ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2543 และหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ นร (กวพ) 1305/ว 2457 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2543 ไว้ในประกาศเชิญชวนหรือประกาศประกวดราคาหรือเอกสารประกวดราคาให้ผู้เข้าเสนอราคาทราบเป็นการล่วงหน้าว่าเป็นสาระสำคัญที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะใช้ในการพิจารณาคัดเลือกผู้มีสิทธิเสนอราคาด้วย เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 ข้อ 23 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง (3) และ (4) ข้อ 24 วรรคสอง (2) (3) และ (5) และข้อ 37 วรรคสาม (2) ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ตามหนังสือทั้งสองฉบับมาบังคับใช้กับผู้ฟ้องคดีได้โดยตรง
          เมื่อหนังสือกระทรวงมหาดไทยและหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมีรูปแบบและเนื้อหาให้หน่วยงานของรัฐทราบและถือปฏิบัติตามแนวทางในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคา ที่เป็นกิจการร่วมค้าให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกันโดยมิได้มีเนื้อความในทางบังคับบุคคลภายนอกให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ปรากฏว่าหนังสือทั้งสองฉบับข้างต้นได้ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 และผู้ฟ้องคดีมิได้รู้ถึงหลักเกณฑ์ตามหนังสือทั้งสองฉบับนั้นมาก่อน ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้บังคับในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ฟ้องคดีได้ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน หนังสือทั้งสองฉบับจึงมีความมุ่งหมายเพียงให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าเท่านั้น มิได้มีความมุ่งหมายที่จะให้มีผลบังคับไปถึงบุคคลภายนอกเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด จึงเป็นเพียงแนวทางปฏิบัติภายในฝ่ายปกครอง ไม่มีลักษณะเป็นกฎตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้นำหลักเกณฑ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เสนอราคาที่เป็นกิจการร่วมค้าตามที่กำหนดในหนังสือทั้งสองฉบับข้างต้นมาใช้ในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีแล้วมีคาสั่งว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ผ่านการคัดเลือกเป็นผู้มีสิทธิเสนอราคาประมูลจ้างก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย



25 มกราคม 2560

การกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครอง กรณีที่เกิดอุบัติเหตุเพราะไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนสิ่งกีดขวางบนถนน | ละเมิด | คดีปกครอง

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทําละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

          ข้อเท็จจริงคดีนี้ ในเวลาประมาณ 20.00 น. นาย ค. ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไปตามถนนเลียบคลองที่อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล แต่เมื่อถึงบริเวณที่เกิดเหตุซึ่งไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างและถนนมีสภาพชํารุดบางส่วน ปรากฏว่ามีถังน้ํามันขนาดความจุ 200 ลิตร ตั้งกีดขวางผิวจราจรโดยไม่มีสัญญาณแสงไฟส่องเตือน รถจักรยานยนต์ที่นาย ค. ขับขี่มาจึงเสียหลักล้มลง เป็นเหตุให้ศีรษะของนาย ค. กระแทกพื้นอย่างแรงและเสียชีวิตในเวลาต่อมา

          ภรรยาและบุตรของนาย ค. จึงฟ้องเทศบาลต่อศาลปกครองว่า การที่นาย ค. ถึงแก่ความตายเป็นผลจากผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ไม่ดูแลถนนสาธารณะให้มีสภาพดีและไม่ติดตั้งสัญญาณไฟเตือนให้ผู้ใช้ทางได้รู้ถึงอุปสรรคที่กีดขวางผิวจราจร และมีคําขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคําสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของนาย ค.

          ผู้ถูกฟ้องคดีโต้แย้งว่า ได้มีการนําถังน้ำมันขนาดความจุ 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดประมาณ 5 เมตร และ 30 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์และแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ถนนทราบแล้ว อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีไฟฟ้าชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่และมีป้ายแจ้งเตือนติดตั้งไว้ด้วย เพียงแต่ไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินเท่านั้น

          ประเด็น คือ เทศบาลละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติหรือไม่ ? และกรณีเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ?

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีมีหน้าที่ต้องจัดให้มีและบํารุงรักษาทางบกตามมาตรา 53 (1) ประกอบกับมาตรา 50 (2) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในการสัญจรได้โดยสะดวกและปลอดภัย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีให้เจ้าหน้าที่นําถังน้ํามันขนาด 200 ลิตร ทาสีสะท้อนแสงขาวแดงจํานวน 2 ใบ ไปวางไว้บริเวณห่างจากจุดที่ถนนชํารุดดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่พอสมควรแก่เหตุและการที่ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ติดตั้งสัญญาณไฟฉุกเฉินในเวลากลางคืนเพื่อแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทางได้ทราบเป็นสัญลักษณ์อีกชั้นหนึ่ง โดยอ้างว่ามีไฟฟ้าส่องสว่างชนิดหลอดแสงจันทร์ติดตั้งอยู่แล้ว ย่อมเป็นการดําเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังไม่เพียงพอกับสถานการณ์ จึงถือได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีกระทําละเมิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดให้ต้องปฏิบัติ

          (คําพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 740/2555)