25 มกราคม 2560

การกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีเทศบาลปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำ แต่ไปรุกล้ำที่งอกริมตลิ่งของเอกชน

          คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
  
          คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 มีอาณาเขตที่ดินด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำปิง ต่อมาที่ดินดังกล่าวมีที่งอกริมตลิ่งเกิดขึ้น โดยปู่ของผู้ฟ้องคดีได้แจ้งการครอบครองที่งอกนั้นไว้ตาม ส.ค.1 และผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินในที่งอกริมตลิ่งดังกล่าว
          ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดี (เทศบาล) ได้จัดทำโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกโดยการก่อสร้างเขื่อนกันดิน ทางเดินเท้า ปลูกหญ้าและต้นไม้ ซึ่งมีส่วนที่จะต้องดำเนินการในที่ดินของเอกชนหลายคนรวมถึงที่ดินผู้ฟ้องคดีด้วย โดยที่ผู้ฟ้องคดียังไม่ได้ให้ความยินยอมแต่ผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวไม่ใช่ที่ดินของผู้ฟ้องคดี แต่เป็นที่สาธารณประโยชน์เพราะอาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีสิ้นสุดตรงหลักหมุด จึงได้ดำเนินการต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยมีการตอกเสาเข็มทำให้บ้านของผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย

          ผู้ฟ้องคดีจึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1308 บัญญัติว่า ที่ดินแปลงใดเกิดที่งอกริมตลิ่งที่งอกย่อมเป็นทรัพย์สินของที่ดินแปลงนั้น ซึ่งตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้และคำพิพากษาศาลฎีกาได้ให้ความหมายของ “ที่งอกริมตลิ่ง” หมายถึง ที่ดินที่งอกไปจากตลิ่งตามธรรมชาติซึ่เกิดจากการที่สายน้ำพัดพาที่ดินจากที่อื่นมาทับถมกันริมตลิ่งจนเกิดที่งอกขึ้น มิใช่งอกจากที่อื่นเข้ามาหาตลิ่งและที่งอกริมตลิ่งน้าท่วมไม่ถึงส่วน “ที่ชายตลิ่ง” หมายถึง ที่ชายตลิ่งที่เวลาน้ำขึ้นตามปกติจะท่วมถึง

          มีปัญหาว่าที่ดินพิพาทที่หน่วยงานทางปกครองทำการปรับภูมิทัศน์เป็น “ที่งอกริมตลิ่ง”หรือ “ที่ชายตลิ่ง” เพราะหากเป็นที่งอกริมตลิ่งที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว และการที่หน่วยงานทางปกครองปรับภูมิทัศน์รุกล้ำที่ดินย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า โดยสภาพเดิมของพื้นที่ก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะเข้าไปปลูกสร้างตามโครงการ มีพื้นดินระดับเดียวกับที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 มีต้นไม้ใ้หญ่และวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาแน่น ประกอบกับ ส.ค. 1 ที่ทางราชการออกให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2498 ระบุว่าทิศตะวันตกจดฝั่งแม่น้ำปิงและไม่มีพยานให้การในทางอื่นจึงเชื่อว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติงอกไปจากตลิ่ง มิใช่เกิดจากแม่น้ำปิงตื้นเขิน หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ที่ดินดังกล่าวจึงมีสภาพเป็นที่งอกริมตลิ่ง เมื่อที่งอกริมตลิ่งนั้น เกิดจากที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 131 ของผู้ฟ้องคดี ดังนั้น ที่งอกริมตลิ่งดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี และเมื่อไม่ปรากฏว่าหลักหมุดได้ทำขึ้นเมื่อใด แต่จากรายงานการรังวัดที่ดินครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2518 สันนิษฐานได้ว่า หลักหมุดน่าจะถูกจัดทำขึ้นในวันดังกล่าว ซึ่งนับจนถึงวันที่ถ่ายภาพเป็นเวลา 26 ปีอันเป็นระยะเวลายาวนานเพียงพอที่ที่งอกริมตลิ่งจะเกิดขึ้นต่อเนื่องออกไปจากหลักหมุด อาณาเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงไม่ได้สิ้นสุดตรงหลักหมุดดังกล่าว ที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นที่งอกริมตลิ่งที่มีอาณาเขตจดแม่น้ำปิง การที่โครงการใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดีในส่วนที่น้ำท่วมไม่ถึง จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ของเอกชน ไม่ใช่ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะมีอำนาจในการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ การสาธารณูปโภค หรือสาธารณูปการ การดูแลรักษาที่สาธารณะ หรือการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (มาตรา 56 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542) นอกจากนี้ยังขัดต่อเงื่อนไขข้อ 7 ของใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำ ลำ แม่น้ำ ลงวันที่ 26 กันยายน 2543 เพราะเป็นการปลูกสร้างโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน
          การที่ผู้ถูกฟ้องคดีดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกในบริเวณที่พิพาท จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วนและเมื่อการดำเนินโครงการปรับปรุงสภาพแวดล้อม ริมฝั่งแม่น้ำปิงด้านตะวันออกเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในส่วนที่ใช้พื้นที่หน้าที่ดินของผู้ฟ้องคดี จึงต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำในพื้นที่ดังกล่าวออกไป
          สำหรับค่าเสียหายจากการไม่ได้ใ้ช้ประโยชน์ในที่ดิน ซึ่งผู้ฟ้องคดีไม่ได้ใ้ช้ประโยชน์จากที่ดิน และค่าเสียหายอันเป็นความเสี่ยงจากน้ำท่วม เป็นความเสียหายที่ยังไม่เกิดขึ้น ถือว่าไม่ได้รับความเสียหาย พิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ได้กระทำบนที่งอกริมตลิ่งของผู้ฟ้องคดีและชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงิน 30,000 บาท

          (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 535/2554)



29 ธันวาคม 2559

วิธีจัดการและปันทรัพย์มรดก


          เมื่อเจ้ามรดกตายมรดกนั้นตกทอดแก่ทายาททันที แต่อย่างไรก็ตามกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินในกองมรดกยังไม่ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทโดยเด็ดขาดจนกว่าจะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทกันเสร็จสิ้น เพราะถ้าตราบใดที่ยังมีความเป็นมรดกอยู่ทายาทก็อาจเสียสิทธิได้ ซึ่งการจัดการแบ่งทรัพย์มรดกถ้ามีเหตุขัดข้อง ก็จำเป็นต้องมีผู้จัดการมรดก

          ประเภทของผู้จัดการมรดก

          มาตรา 1711 "ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล"

          1. ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม ตามมาตรา 1712 กำหนดวิธีการตั้งไว้ 2 วิธี ประการแรกโดยผู้ทำพินัยกรรม ประการที่สองโดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ตั้ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2340/2519  ข้อความในพินัยกรรมมีว่า ขอมอบพินัยกรรมให้แก่ ม. และขอตั้งให้ ม. เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมฯ เป็นการชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าตั้ง ม. เป็นผู้จัดการมรดก โดยไม่จำกัดว่าเป็นทรัพย์มรดกสิ่งใดบ้าง
          ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลได้ กรณีผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมไม่สามารถจัดการมรดกให้เป็นไปตามพินัยกรรมได้เนื่องจากเหตุขัดข้อง เช่น เจ้าพนักงานที่ดินไม่โอนที่ดิน ซึ่งศาลมีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมให้เป็นผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลได้ ตามมาตรา 1713 วรรคสอง "การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งตาม ข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่ข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร "


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1481/2518  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่ชี้แนวทางให้ศาลปฏิบัติในการแต่งตั้งผู้จัดการมรดก หาใช่เป็นบทบังคับให้ศาลจำต้องตั้งผู้จัดการมรดกตามที่ระบุในพินัยกรรมไม่ แม้ผู้ร้องจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายโดยอ้างว่ามีพินัยกรรมระบุไว้ก็ตาม แต่เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องคัดค้าน และขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาว่าผู้ใดในระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก
          ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อศาลได้ดำเนินการพิจารณาอย่างคดีมีข้อพิพาท เป็นการเปิดโอกาสให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้านก่อนได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังได้มีการสืบพยานไปบ้าง แต่ยังไม่หมดปาก และแต่ละฝ่ายต่างอ้างสำนวนคดีอื่นที่คู่ความในคดีนั้นได้ประนีประนอมยอมความกันในเรื่องทรัพย์มรดกผู้ตาย พร้อมพยานหลักฐานในสำนวนนั้นเป็นพยานเมื่อได้มีการเปิดโอกาสให้คู่ความคัดค้านก่อนได้แล้วการที่ศาลพิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกก็เป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว

          2. ผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาล มี 2 ประเภท คือ (1) ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจทั่วไป และ (2) ผู้จัดการมรดกที่มีอำนาจเฉพาะ โดยบุคคลที่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนั้นก็จะต้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558  พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้น แม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2052/2558  แม้ผู้ร้องไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย แต่ขณะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น อำนาจปกครอง ณ. อยู่กับผู้ร้องแต่เพียงผู้เดียว ผู้ร้องจึงเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1569 ซึ่งการยื่นคำร้องขอดังกล่าวผู้ร้องมิได้ยื่นในฐานะส่วนตัวแต่ยื่นในฐานะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของ ณ. ในคำร้องขอนั้นนอกจากมีข้ออ้างว่ามีการยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายแล้วยังมีข้ออ้างว่าผู้ร้องได้รับคำบอกเล่าว่าแท้จริงผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ ณ. ไว้ด้วย ดังนั้นการยื่นคำร้องขอของผู้ร้องจึงเป็นไปตามหน้าที่ของผู้ใช้อำนาจปกครองเพื่อระวังรักษาประโยชน์ของ ณ. ให้ได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายตามสิทธิที่แท้จริง ผู้ร้องในฐานะผู้ใช้อำนาจปกครองของ ณ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ที่มีสิทธิจะร้องต่อศาลขอให้ถอนผู้จัดการมรดกหรือขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

          เจ้าหนี้กองมรดกที่ไม่มีทายาทก็ถือว่ามีส่วนได้เสียร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1695/2531 (ประชุมใหญ่)  กองมรดกซึ่งไม่มีทายาทนั้น แม้มรดกจะตกทอดแก่แผ่นดินแผ่นดิน ก็มิใช่ทายาท เจ้าหนี้ไม่อาจบังคับชำระหนี้จนกว่าจะได้ตั้งผู้จัดการมรดกขึ้น และหากไม่มีผู้จัดการมรดกอยู่ตราบใด เจ้าหนี้ก็ไม่มีทางได้รับชำระหนี้ได้เลย การที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้จากกองมรดกขึ้นอยู่กับการที่กองมรดกมีผู้จัดการมรดก ในกรณีเช่นนี้ จึงต้องถือว่าเจ้าหนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713

          ผู้ที่มีอำนาจร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนั้นจะขอตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดกก็ได้ แต่ผู้จัดการมรดกต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ทั้งนี้ ตามมาตรา 1718 "บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้
          (1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
          (2) บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
          (3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย"

          หลักทั่วไปในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้จัดการมรดก
          1. ผู้จัดการมรดกไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จจากกองมรดก เว้นแต่พินัยกรรมหรือทายาทโดยจำนวนข้างมากจะได้กำหนดไว้ (มาตรา 1721)
          2. ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตหรือได้รับอนุญาตจากศาลตามมาตรา 1722 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10738/2551  ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องและจำเลยเนื่องจากจำเลยอ้างว่า บ. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แล้วจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยและนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ต่อโจทก์ต่อมาศาลพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์และให้ยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดซึ่งโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเพื่อบังคับคดีแล้ว แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องในคดีที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ศาลไต่สวนและมีคำสั่งถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกเนื่องจากพินัยกรรมที่จำเลยอ้างเป็นโมฆะ และตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแทน คดีถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงต้องถือว่าขณะจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะส่วนตัวทั้งที่ตนไม่มีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมที่อ้าง เป็นการทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของ บ. อันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โดยถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลย กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังเป็นของกองมรดกของ บ. อยู่ตามเดิม สัญญาจำนองที่จำเลยในฐานะส่วนตัวทำกับโจทก์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิใด ๆ แก่โจทก์ที่จะบังคับเอาแก่ที่ดินพิพาท เพราะผู้จำนองไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองโดยสุจริตก็ตาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3408/2525  การที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของสามีโจทก์ร่วมกับโจทก์ เอาทรัพย์สินกองมรดกมาทำสัญญาแบ่งให้ตนเอง ประโยชน์ส่วนได้เสียของจำเลยย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก แม้จะเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวก็ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 สัญญาแบ่งทรัพย์นั้นจึงตกเป็นโมฆะ
          3. ผู้จัดการมรดกต้องจัดการด้วยตนเอง เว้นแต่จะทำการโดยตัวแทนได้ตามอำนาจที่ให้ไว้ชัดแจ้งหรือโดยปริยายในพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาลหรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ตามมาตรา 1723
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2516 - 2517/2521  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723 จะเห็นว่าไม่ได้ห้ามผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนเสียเลยทีเดียว หากเป็นการตั้งตัวแทนกระทำการเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกย่อมจักกระทำได้ ดังนี้ แม้ผู้จัดการมรดกทั้งสองได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ฉ. ซึ่งเป็นทนายความจัดการแทน. ฉ. ได้แต่เพียงมีหนังสือถึงทายาทให้ส่งทรัพย์มรดกเฉพาะผู้ร้องให้ส่งมอบโฉนดและให้แจ้งทรัพย์มรดกเท่านั้น ซึ่งก็ได้ทำไปเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกนอกนั้นผู้จัดการมรดกทั้งสองได้จัดการมรดกด้วยตนเอง จึงฟังไม่ได้ว่าผู้จัดการมรดกทั้งสองมิได้กระทำการตามหน้าที่
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2953/2523  ป. บ. และ ส. กับจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ได้จัดแบ่งที่ดินมรดกและตกลงให้มีการทำถนนเพื่อให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินด้านในๆ มีทางออกสู่ถนนได้กับตกลงกำหนดแนวทางที่จะทำถนนไว้แล้ว ป. บ. และ ส.เป็นโจทก์ โดยป.และบ.มอบอำนาจให้ส. ฟ้อง อ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ยอมสละที่ดินให้ทำถนนอันเป็นการฟ้องให้สละที่ดินทำถนนเพื่อทายาทอื่นใช้ร่วมกันตามข้อตกลงแบ่งมรดกตามที่ ป. บ. และ ส. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเห็นพ้องต้องกัน ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการมรดกร่วมกันนั่นเอง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ผู้จัดการมรดกตั้งตัวแทนให้จัดการมรดกรายนี้โดยไม่มีอำนาจอันจะเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1723
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1217/2543  ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมีอำนาจและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก และเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมรดกจะต้องจัดการโดยตนเอง จะให้ผู้ใดทำแทนไม่ได้ เว้นแต่กรณีเข้าข้อยกเว้นให้ผู้จัดการมรดกมอบให้ตัวแทนทำการได้ตามอำนาจที่ให้ไว้โดยชัดแจ้ง หรือโดยปริยายในพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล หรือในพฤติการณ์เพื่อประโยชน์แก่กองมรดก ผู้จัดการมรดกที่ศาลมีคำสั่งตั้งมิใช่ตัวแทนของทายาท อำนาจหน้าที่และความรับผิดของผู้จัดการมรดกต่อทายาทเกิดขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย จึงมีฐานะเป็นผู้แทนตามกฎหมายของทายาทที่จะต้องจัดการมรดกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกและทายาท ทายาทหามีอำนาจที่จะสั่งการให้ผู้จัดการมรดกกระทำการใดได้ เพียงแต่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาท โดยกฎหมายอนุโลมให้นำบทบัญญัติบางมาตราของลักษณะตัวแทนมาใช้ และทายาทย่อมอยู่ในฐานะเป็นผู้ควบคุมการจัดการมรดกของผู้จัดการมรดกให้อยู่ในขอบอำนาจที่พินัยกรรมและกฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งมีอำนาจที่จะขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดกที่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ ส่วนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1729, 1731, 1726, 1732 และ 1727 วรรคสอง เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลเป็นผู้ดูแลให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้การจัดการมรดกเป็นไปโดยเรียบร้อย ดังนั้น วิธีการจัดการมรดกซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่จะกระทำเองทายาทและศาลไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ผู้จัดการมรดกปฏิบัติตามมติที่ประชุมทายาทได้
           4. ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมกับบุคลภายนอกโดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อันบุคคลภายนอกได้ให้หรือได้ให้คำมั่นว่าจะให้เป็นลาภส่วนตัวไม่ได้ เว้นแต่ทายาทจะได้ยินยอมด้วย ตามมาตรา 1724 วรรคสอง
          5. การทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกหลายคนต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด ตามมาตรา 1726  ซึ่งหากเป็นกรณีผู้จัดการมรดกโดยคำสั่งศาลให้จัดการร่วมกันแล้วมีคนใดเสียชีวิตไป ที่เหลือก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องมาขออำนาจศาล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6857/2553  แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715 วรรคสองบัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียวผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพับ แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้" ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมารตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้วจึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย โดยโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

          ความรับผิดของผู้จัดการมรดก หากผู้จัดการมรดกไม่ปฏิบัติตามหน้าที่หรือประมาทเลินเล่อ ก็จะต้องรับผิดต่อทายาทหรือบุคคลภายนอก ทั้งนี้ตามมาตรา 1720

          ถ้าปรากฏว่าผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาท หรือละเลยไม่จัดการมรดกตามหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่กองมรดกและทายาท ผู้จัดการมรดกนั้นต้องรับผิดต่อทายาท แต่ทายาทจะต้องฟ้องให้รับผิดภายในกำหนด 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง ตามมาตรา 1733 วรรคสอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4606/2540  อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เป็นอายุความทั่วไปที่ทายาทเรียกเอาทรัพย์มรดก ส่วนมาตรา 1733 วรรคสอง เป็นอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องใช้อายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่อายุความตามมาตรา 1754 ซึ่งอายุความเริ่มนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5720/2541  แม้คำฟ้องโจทก์ในช่องจำเลยจะมิได้ระบุว่า จำเลยมีฐานะเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม แต่ในคำฟ้องก็ได้บรรยายโดยรายละเอียดว่า เมื่อจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว จำเลยกระทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกโดยมิได้จัดการโอนมรดกให้แก่โจทก์ทั้งสองตามพินัยกรรม แต่กลับโอนเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียวในชั้นสืบพยานโจทก์ทั้งสองก็นำสืบว่า ฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี นับแต่จัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 1733 วรรคสอง หาใช่คดีมรดกซึ่งมีอายุความ 1 ปีไม่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2536 ยังไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยโอนที่ดินมรดกมาเป็นของจำเลยแต่ผู้เดียว แม้จะถือว่าวันดังกล่าวจัดการมรดกเสร็จสิ้นก็ตาม คดีก็ยังไม่ขาดอายุความ
          ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 2252 เดิมมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ป.เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ขอยกให้จำเลย 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ส่วนที่เหลือยกให้โจทก์ทั้งสองคนละเท่าๆ กัน หมายความว่ายกให้โจทก์คนละ 2 ไร่ 2 งาน เมื่อคำนวณเป็นสัดส่วนแล้วจำเลยจะได้ที่ดิน 59 ส่วน โจทก์จะได้ที่ดินคนละ 25 ส่วน แต่ก่อน ป.ตาย ป.ได้โอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่ ม.กึ่งหนึ่งกรณีต้องด้วย ป.พ.พ.มาตรา 1696 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมเกี่ยวกับที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งที่ยกให้ ม.เป็นอันเพิกถอนไป คงเหลือที่ดินจำนวนกึ่งหนึ่งตกเป็นทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยตามเจตนารมณ์ของผู้ทำพินัยกรรมโดยการแบ่งตามสัดส่วนคือจำเลยได้ 59 ส่วน โจทก์ทั้งสองได้คนละ 25 ส่วน ของที่เหลือ หรือได้รับที่ดินน้อยลงคนละกึ่งหนึ่งของจำนวนที่ระบุในพินัยกรรมคิดแล้วจำเลยได้ที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา โจทก์ได้ที่ดินคนละ 1 ไร่ 1 งานมิใช่แบ่งให้จำเลยได้ที่ดินครบ 5 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ก่อน เมื่อมีที่ดินเหลือจึงตกเป็นของโจทก์ทั้งสองไม่




10 ธันวาคม 2559

สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและคำพิพากษาตามยอม จะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกที่ลงชื่อเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด

          การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลนั้น เป็นกระบวนการที่มีขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างคู่ความ และมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความ ซึ่งในบางครั้งอาจมีบุคคลภายนอกเข้ามายอมเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วยและศาลก็จะพิพากษาตามยอมไปได้โดยไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย 
          ป.พ.พ.มาตรา 850 "อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน"
          ป.วิ.พ.มาตรา 138 วรรคหนึ่ง "ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอม ความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนี ประนอมยอมความเหล่านี้ไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น"
          กรณีที่จะมีปัญหาคือบุคคลภายนอกซึ่งเข้ามาเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลด้วยนั้น หากผิดสัญญายอมแล้วโจทก์จะขอบังคับคดีได้เลยหรือไม่ เรื่องนี้ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้ว่า คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำในศาลมีผลผูกพันตามสัญญานั้น แต่คู่สัญญาที่ไม่ใช่คู่ความในคดีจะผูกพันเฉพาะสัญญาประนอมยอมความเท่านั้น ไม่ผูกพันในคำพิพากษาตามยอมนั้นด้วย เพราะคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความด้วย ดังนั้น หากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญา ก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับบุคลภายนอกเป็นคดีใหม่ต่างหาก โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้น โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมนั้นแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2559   ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง นาง ก. และนางสาว น. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมีนาง ก. และนางสาว น. เข้าร่วมตกลงด้วย
          การที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง นาง ก. และนางสาว น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อนาง ก. ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่นาง ก. โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่นาง ก. เป็นคดีต่างหาก แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11 ระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับนาง ก. ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง



05 ธันวาคม 2559

ลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย

          ความผิดฐานฉ้อโกงกับลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย มีความสอดคล้องคล้ายคลึงกันมากเพราะมีการหลอกลวงเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ของผู้อื่นไปเช่นกัน
          หลักสำคัญ คือ การลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้ซึ่ง "การครอบครอง" ทรัพย์ของผู้เสียหาย  ส่วนการฉ้อโกง เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้ซึ่ง "กรรมสิทธิ์" ทรัพย์ของผู้เสียหาย 
          มาตรา  334  "ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"
          มาตรา 335 "ผู้ใด ลักทรัพย์
                (1) ในเวลากลางคืน
                (2) ในที่หรือบริเวณ ที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือ ในที่ หรือ บริเวณ ที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัย แก่ รถไฟ หรือ ยานพาหนะอื่น ที่ประชาชนโดยสาร หรือ ภัยพิบัติอื่น ทำนองเดียวกัน หรือ อาศัยโอกาส ที่มีเหตุ เช่นว่านั้น หรือ อาศัยโอกาส ที่ประชาชน กำลังตื่นกลัว ภยันตรายใดๆ
                (3) โดยทำอันตราย สิ่งกีดกั้น สำหรับคุ้มครอง บุคคล หรือ ทรัพย์ หรือ โดยผ่าน สิ่งเช่นว่านั้น เข้าไป ด้วยประการใดๆ
                (4) โดยเข้า ทางช่องทาง ซึ่ง ได้ทำขึ้น โดยไม่ได้จำนง ให้เป็นทางคนเข้า หรือ เข้าทางช่องทาง ซึ่ง ผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
                (5) โดยแปลงตัว หรือ ปลอมตัว เป็นผู้อื่น มอมหน้า หรือ ทำด้วยประการอื่น เพื่อไม่ให้ เห็นหรือจำ หน้าได้
                (6) โดยลวงว่า เป็นเจ้าพนักงาน
                (7) โดยมี อาวุธ หรือ โดยร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตั้งแต่ สองคน ขึ้นไป
                (8) ใน เคหสถาน สถานที่ราชการ หรือ สถานที่ ที่จัดไว้ เพื่อบริการสาธารณ ที่ตนได้เข้าไป โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ซ่อนตัว อยู่ในสถานที่นั้นๆ
                (9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือ เรือสาธารณ สาธารณสถาน สำหรับขนถ่ายสินค้า หรือ ในยวดยานสาธารณ
                (10) ที่ใช้ หรือ มีไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์
                (11) ที่เป็นของ นายจ้าง หรือ ที่อยู่ใน ความครอบครอง ของนายจ้าง
                (12) ที่เป็นของ ผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็น ผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือ เครื่องมือ อันมีไว้ สำหรับประกอบกสิกรรม หรือ ได้มาจากการกสิกรรม นั้น
            ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
            ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
            ถ้าความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักร ที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
            ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจ หรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้"



          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ เป็นการหลวงเพื่อให้ผู้ขายขายรถให้แก่จำเลยกับพวก จำเลยได้รับรถคันดังกล่าวไป โดยจะต้องมาทำสัญญาเช่าซื้อกันภายหลัง แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยในขณะที่มีการหลอกลวง จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายมิใช่ฉ้อโกง เมื่อเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จึงมีผลให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถยอมความได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาโดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 เคยนำลูกค้ามาซื้อรถยนต์มือสองที่บริษัทผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามไปที่บริษัทผู้เสียหาย จำเลยที่ 3 แจ้งต่อนาย ท. พนักงานของผู้เสียหายว่าต้องการซื้อรถยนต์ยี่ห้อโต้โยต้าชนิด 4 ประตู ยกสูงหรือฟรีแลนด์เนอร์ ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายมีรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฌจ 3215 กรุงเทพมหานคร ตรงตามที่จำเลยที่ 3 ต้องการซื้อ จำเลยที่ 3 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซื้อด้วยวิธีการผ่อนชำระ โดยจำเลยที่ 3 จะค้ำประกันให้และจำเลยที่ 3 นำสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม แสดงต่อนาย ท.และพนักงานขายคนอื่น ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 แจ้งว่าทำงานดูแลรีสอร์ตของพี่สาว โดยจำเลยที่ 2 พูดสนับสนุนจำเลยที่ 1 และบอกด้วยว่าจำเลยที่ 3 มีสวนยางพารา เพื่อให้นาย ท.และพนักงานขายเชื่อถือ ในการขายรถยนต์ด้วยวิธีผ่อนชำระจะต้องทำสัญญาเช่าซื้อกับสถาบันการเงินก่อนหรืออย่างช้าในวันรับรถ แต่เนื่องจากช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ สถาบันการเงินผู้ให้เช่าซื้อไม่สะดวกที่จะมารับเอกสารหรือทำสัญญาเช่าซื้อ ประกอบกับนาย ท.เชื่อใจจำเลยทั้งสามเพราะจำเลยที่ 3 เคยติดต่อบริษัทผู้เสียหายหลายครั้ง จึงตกลงขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฌจ 3215 กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 ในราคา 725,000 บาท ตกลงเงินดาวน์ 75,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระในวันดังกล่าว 40,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในภายหลังโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและนัดหมายให้จำเลยทั้งสามมาทำสัญญาเช่าซื้อวันที่ 19 เมษายน 2555 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามรับรถยนต์คันดังกล่าวจากผู้เสียหายไป เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสามไม่ไปตามนัด ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์และความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันลักรถยนต์ของผู้เสียหายมาตั้งแต่แรกโดยวิธีการวางแผนทำสัญญาจะซื้อจะขายและแสดงสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ซึ่งเป็นเพียงกลอุบายแย่งเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากความครอบครองของผู้เสียหายโดยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำนั้น เห็นว่า การที่นาย ท. พนักงานขายของผู้เสียหายยอมขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฌจ 3215 กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยทั้งสามนั้น เป็นเพราะจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ปลอม และเชื่อใจจำเลยที่ 3 ที่เคยติดต่อซื้อรถยนต์จากผู้เสียหายหลายครั้ง หากจำเลยทั้งสามไม่ร่วมกันแสดงสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ปลอม นาย ท.คงไม่ตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามด้วยวิธีผ่อนชำระ การที่นาย ท. ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหายเพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

29 พฤศจิกายน 2559

ความสำคัญผิดที่เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้แสดงเจตนา ผู้นั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้

          มาตรา  158 "ความสำคัญผิดตามมาตรา 156 หรือมาตรา 157 ซึ่งเกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา บุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้"

          กรณีที่ความสำคัญผิดเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนาแล้ว ไม่ว่าความสำคัญผิดนั้นจะเป็นความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมที่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 156 หรือความสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญที่ทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะตามมาตรา 157 ก็ตาม กฎหมายได้ห้ามมิให้ผู้แสดงเจตนาที่สำคัญผิดนั้น จะยกเอาความสำคัญผิดมาเป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้เลย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4906/2558  โจทก์ไม่สนใจที่จะตรวจสอบที่ดินที่จะซื้อจะขายว่า มีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการหรือไม่ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลย ประกอบกับจำเลยก็ได้ให้คำเตือนให้โจทก์ต้องตรวจสอบแล้ว แต่โจทก์กลับไม่นำพา จึงเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ โจทก์จะถือเอาความสำคัญผิดในคุณสมบัติของที่ดินที่จะซื้อจะขายนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 158 สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวยังคงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย ไม่ตกเป็นโมฆียะ        



          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7058/2543  ผู้ซื้อทรัพย์มีความประสงค์จะประมูลซื้อทรัพย์จำนองจริง และเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนองรายนี้ได้ในราคาสูงสุด แต่มีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์จำนองหลายรายการทำให้ผู้ซื้อทรัพย์สับสนโดยนำราคาที่จะต้องเข้าประมูลในคดีอื่นมาประมูลซื้อในคดีนี้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ซื้อทรัพย์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในราคาอันเป็นคุณสมบัติของทรัพย์ แต่ความสำคัญผิดของผู้ซื้อทรัพย์เกิดขึ้นโดยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการแสดงเจตนาเข้าประมูลซื้อทรัพย์โดยไม่ตรวจสอบราคาให้ถูกต้อง ผู้ซื้อทรัพย์จะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตนไม่ได้ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 158 จึงไม่มีเหตุที่จะยกเลิกการขายทอดตลาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3360-3410/2543   แม้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินแปลงพิพาทของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะระบุว่า ที่ดินพิพาทมีอาณาเขตทิศเหนือยาวประมาณ 14.5 วา จดที่ดินนายอากรกิจซึ่งน่าจะหมายถึงผู้ร้อง และก่อนที่จะมีการขายทอดตลาดผู้แทนโจทก์จะได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้ร้องไปชี้ที่ดินพิพาทก็ตาม แต่การขายที่ดินพิพาทเป็นการขายทอดตลาดโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีซึ่งแตกต่างจากการซื้อขายที่ดินตามปกติทั่ว ๆ ไป เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทโดยระบุรายละเอียดหมายเลขน.ส.3 ก. เลขที่ดิน และที่ตั้งของที่ดินพิพาทไว้อย่างชัดแจ้ง อีกทั้งเป็นการประกาศอย่างเปิดเผยต่อประชาชนทั่ว ๆ ไป ผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ประสงค์จะเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทย่อมมีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินพิพาทก่อนที่จะเข้าประมูลสู้ราคาได้การที่ผู้ร้องอ้างว่า สำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทอยู่ติดกับที่ดินของผู้ร้องนั้น ก็ได้ความว่าผู้ร้องเพียงแต่อาศัยข้อมูลที่ตั้งของที่ดินพิพาทจากการนำชี้ของผู้แทนโจทก์โดยมิได้ทำการตรวจสอบความถูกต้องที่ตั้งของที่ดินพิพาทก่อนที่จะเข้าประมูลสู้ราคา ทั้ง ๆ ที่สามารถจะกระทำได้ จึงเป็นความบกพร่องของผู้ร้องเองและถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ผู้ร้องจึงไม่อาจอ้างความสำคัญผิดในที่ตั้งของที่ดินแปลงพิพาทมาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 158 และเมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินแปลงพิพาทโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งป.วิ.พ.และระเบียบของกระทรวงยุติธรรมว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 จึงไม่มีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินแปลงพิพาท
       
          ความสำคัญผิดต้องเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของบุคคลผู้แสดงเจตนา ถ้าเกิดจากความประมาทเลินเล่อธรรมดาที่ไม่ร้ายแรง ก็ไม่ห้ามบุคคลนั้นจะถือเอาความสำคัญผิดนั้นมาใช้เป็นประโยชน์แก่ตน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4997/2549  ในวันนัดจดทะเบียนขายฝากที่ดิน โจทก์ให้จำเลยที่ 1 พาโจทก์ไปดูที่ดินที่จะขายฝาก จำเลยที่ 1 กลับชี้ให้โจทก์ดูที่ดินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดถนนลาดยางแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 2 เคยพาบุคคลอื่นไปดู ซึ่งมิใช่ที่ดินของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 2 หลอกลวงโจทก์ให้รับซื้อฝากที่ดินต่อโจทก์ ทั้งนี้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงนายหน้าของจำเลยที่ 1 หรือเป็นผู้ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แล้วนำไปขายต่อให้แก่โจทก์ และไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์หวังผลกำไรจากการรับซื้อฝากที่ดินหรือไม่ เพราะมิใช่สาระสำคัญที่จะทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป การที่โจทก์หลงเชื่อและรับฝากที่ดินไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเข้าใจว่าเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนนลาดยางตามที่จำเลยที่ 1 นำชี้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นกรณีที่โจทก์แสดงเจตนารับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันเป็นสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 มีผลเท่ากับการขายฝากที่ดินมิได้เกิดมีขึ้น และไม่ก่อสิทธิใด ๆ แก่จำเลยที่ 1 ที่จะยึดถือเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย