10 ธ.ค. 2559

สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลและคำพิพากษาตามยอม จะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกที่ลงชื่อเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวหรือไม่ เพียงใด

          การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลนั้น เป็นกระบวนการที่มีขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างคู่ความ และมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของคู่ความ ซึ่งในบางครั้งอาจมีบุคคลภายนอกเข้ามายอมเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความนั้นด้วยและศาลก็จะพิพากษาตามยอมไปได้โดยไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย 
          ป.พ.พ.มาตรา 850 "อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือ จะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน"
          ป.วิ.พ.มาตรา 138 วรรคหนึ่ง "ในคดีที่คู่ความตกลงกันหรือประนีประนอมยอม ความกันในประเด็นแห่งคดีโดยมิได้มีการถอนคำฟ้องนั้น และข้อตกลง หรือการประนีประนอมยอมความกันนั้นไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ให้ศาลจดรายงานพิสดารแสดงข้อความแห่งข้อตกลงหรือการประนี ประนอมยอมความเหล่านี้ไว้ แล้วพิพากษาไปตามนั้น"
          กรณีที่จะมีปัญหาคือบุคคลภายนอกซึ่งเข้ามาเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความในศาลด้วยนั้น หากผิดสัญญายอมแล้วโจทก์จะขอบังคับคดีได้เลยหรือไม่ เรื่องนี้ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้ว่า คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำในศาลมีผลผูกพันตามสัญญานั้น แต่คู่สัญญาที่ไม่ใช่คู่ความในคดีจะผูกพันเฉพาะสัญญาประนอมยอมความเท่านั้น ไม่ผูกพันในคำพิพากษาตามยอมนั้นด้วย เพราะคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความด้วย ดังนั้น หากบุคคลภายนอกซึ่งเป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญา ก็ต้องไปว่ากล่าวเอากับบุคลภายนอกเป็นคดีใหม่ต่างหาก โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะขอบังคับคดีแก่บุคคลภายนอกนั้น โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมนั้นแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2559   ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นกรณีที่โจทก์ จำเลยมุ่งระงับข้อพิพาทระหว่างกันและมิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างคดีธรรมดาที่จะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ จำเลยแล้วพิพากษาชี้ขาดประเด็นข้อพิพาท ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามคำขอท้ายฟ้องได้ ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงไม่อยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 142 ซึ่งห้ามมิให้พิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้วคู่ความในคดีรวมทั้ง นาง ก. และนางสาว น. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันและศาลพิพากษาตามยอมจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้จะมีนาง ก. และนางสาว น. เข้าร่วมตกลงด้วย
          การที่โจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสอง นาง ก. และนางสาว น. ทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงชอบด้วยกฎหมาย ผูกพันคู่สัญญาทุกฝ่ายในสัญญาประนีประนอมยอมความ ส่วนคำพิพากษาตามยอมซึ่งพิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดตามสัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันเฉพาะคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่ผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งมิได้เป็นคู่ความเว้นแต่ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 142 (1), 245 และ 274 และในข้อยกเว้นตามมาตรา 145 วรรคสอง (1) (2) เมื่อนาง ก. ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิขอบังคับคดีแก่นาง ก. โดยอาศัยสัญญาประนีประนอมและคำพิพากษาตามยอมคดีนี้ แต่เป็นกรณีที่โจทก์ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่นาง ก. เป็นคดีต่างหาก แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 11 ระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดข้อตกลงในสัญญายอมข้อใดข้อหนึ่งให้บังคับคดีไปตามสัญญายอมนี้ได้ทันที โดยให้ถือเอาคำพิพากษาตามยอมของศาลเป็นการแสดงเจตนา พร้อมให้ชำระเงิน 2,000,000 บาท แก่คู่ความอีกฝ่ายด้วย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าคู่สัญญาคนใดในสัญญาประนีประนอมยอมความผิดสัญญาข้อใดก็ให้บังคับคดีเอาแก่คู่สัญญานั้นตามสัญญาแต่ละข้อเท่านั้น เพราะในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมิได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทั้งสองกับนาง ก. ต้องรับผิดร่วมกันในการชำระหนี้แก่จำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีเอาแก่โจทก์ทั้งสอง