5 ธ.ค. 2559

ลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย

          ความผิดฐานฉ้อโกงกับลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย มีความสอดคล้องคล้ายคลึงกันมากเพราะมีการหลอกลวงเป็นเหตุให้ได้ทรัพย์ของผู้อื่นไปเช่นกัน
          หลักสำคัญ คือ การลักทรัพย์โดยใช้กลอุบาย เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้ซึ่ง "การครอบครอง" ทรัพย์ของผู้เสียหาย  ส่วนการฉ้อโกง เป็นการหลอกลวงเพื่อให้ได้ซึ่ง "กรรมสิทธิ์" ทรัพย์ของผู้เสียหาย 
          มาตรา  334  "ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท"
          มาตรา 335 "ผู้ใด ลักทรัพย์
                (1) ในเวลากลางคืน
                (2) ในที่หรือบริเวณ ที่มีเหตุเพลิงไหม้ การระเบิด อุทกภัย หรือ ในที่ หรือ บริเวณ ที่มีอุบัติเหตุ เหตุทุกขภัย แก่ รถไฟ หรือ ยานพาหนะอื่น ที่ประชาชนโดยสาร หรือ ภัยพิบัติอื่น ทำนองเดียวกัน หรือ อาศัยโอกาส ที่มีเหตุ เช่นว่านั้น หรือ อาศัยโอกาส ที่ประชาชน กำลังตื่นกลัว ภยันตรายใดๆ
                (3) โดยทำอันตราย สิ่งกีดกั้น สำหรับคุ้มครอง บุคคล หรือ ทรัพย์ หรือ โดยผ่าน สิ่งเช่นว่านั้น เข้าไป ด้วยประการใดๆ
                (4) โดยเข้า ทางช่องทาง ซึ่ง ได้ทำขึ้น โดยไม่ได้จำนง ให้เป็นทางคนเข้า หรือ เข้าทางช่องทาง ซึ่ง ผู้เป็นใจเปิดไว้ให้
                (5) โดยแปลงตัว หรือ ปลอมตัว เป็นผู้อื่น มอมหน้า หรือ ทำด้วยประการอื่น เพื่อไม่ให้ เห็นหรือจำ หน้าได้
                (6) โดยลวงว่า เป็นเจ้าพนักงาน
                (7) โดยมี อาวุธ หรือ โดยร่วมกระทำความผิด ด้วยกันตั้งแต่ สองคน ขึ้นไป
                (8) ใน เคหสถาน สถานที่ราชการ หรือ สถานที่ ที่จัดไว้ เพื่อบริการสาธารณ ที่ตนได้เข้าไป โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ ซ่อนตัว อยู่ในสถานที่นั้นๆ
                (9) ในสถานที่บูชาสาธารณ สถานีรถไฟ ท่าอากาศยาน ที่จอดรถ หรือ เรือสาธารณ สาธารณสถาน สำหรับขนถ่ายสินค้า หรือ ในยวดยานสาธารณ
                (10) ที่ใช้ หรือ มีไว้ เพื่อสาธารณประโยชน์
                (11) ที่เป็นของ นายจ้าง หรือ ที่อยู่ใน ความครอบครอง ของนายจ้าง
                (12) ที่เป็นของ ผู้มีอาชีพกสิกรรม บรรดาที่เป็น ผลิตภัณฑ์ พืชพันธุ์ สัตว์ หรือ เครื่องมือ อันมีไว้ สำหรับประกอบกสิกรรม หรือ ได้มาจากการกสิกรรม นั้น
            ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท
            ถ้าความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราดังกล่าวตั้งแต่สองอนุมาตราขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นสี่พันบาท
            ถ้าความผิดตามวรรคแรก เป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกล หรือเครื่องจักร ที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสองหมื่นบาท
            ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวในมาตรานี้ เป็นการกระทำโดยความจำใจ หรือความยากจนเหลือทนทาน และทรัพย์นั้นมีราคาเล็กน้อย ศาลจะลงโทษผู้กระทำความผิดดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ก็ได้"



          ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาเรื่องนี้ เป็นการหลวงเพื่อให้ผู้ขายขายรถให้แก่จำเลยกับพวก จำเลยได้รับรถคันดังกล่าวไป โดยจะต้องมาทำสัญญาเช่าซื้อกันภายหลัง แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายยังมิได้โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยในขณะที่มีการหลอกลวง จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยใช้กลอุบายมิใช่ฉ้อโกง เมื่อเป็นความผิดฐานลักทรัพย์จึงมีผลให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่ไม่สามารถยอมความได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16161 - 16162/2557 ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกาโดยคู่ความไม่โต้แย้งว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 เคยนำลูกค้ามาซื้อรถยนต์มือสองที่บริษัทผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายให้ค่าตอบแทนแก่จำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามไปที่บริษัทผู้เสียหาย จำเลยที่ 3 แจ้งต่อนาย ท. พนักงานของผู้เสียหายว่าต้องการซื้อรถยนต์ยี่ห้อโต้โยต้าชนิด 4 ประตู ยกสูงหรือฟรีแลนด์เนอร์ ซึ่งขณะนั้นผู้เสียหายมีรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฌจ 3215 กรุงเทพมหานคร ตรงตามที่จำเลยที่ 3 ต้องการซื้อ จำเลยที่ 3 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะเป็นผู้ซื้อด้วยวิธีการผ่อนชำระ โดยจำเลยที่ 3 จะค้ำประกันให้และจำเลยที่ 3 นำสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม แสดงต่อนาย ท.และพนักงานขายคนอื่น ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 แจ้งว่าทำงานดูแลรีสอร์ตของพี่สาว โดยจำเลยที่ 2 พูดสนับสนุนจำเลยที่ 1 และบอกด้วยว่าจำเลยที่ 3 มีสวนยางพารา เพื่อให้นาย ท.และพนักงานขายเชื่อถือ ในการขายรถยนต์ด้วยวิธีผ่อนชำระจะต้องทำสัญญาเช่าซื้อกับสถาบันการเงินก่อนหรืออย่างช้าในวันรับรถ แต่เนื่องจากช่วงเกิดเหตุเป็นช่วงใกล้เทศกาลสงกรานต์ สถาบันการเงินผู้ให้เช่าซื้อไม่สะดวกที่จะมารับเอกสารหรือทำสัญญาเช่าซื้อ ประกอบกับนาย ท.เชื่อใจจำเลยทั้งสามเพราะจำเลยที่ 3 เคยติดต่อบริษัทผู้เสียหายหลายครั้ง จึงตกลงขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฌจ 3215 กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 ในราคา 725,000 บาท ตกลงเงินดาวน์ 75,000 บาท จำเลยที่ 1 ชำระในวันดังกล่าว 40,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระในภายหลังโดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้เสียหาย ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและนัดหมายให้จำเลยทั้งสามมาทำสัญญาเช่าซื้อวันที่ 19 เมษายน 2555 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสามรับรถยนต์คันดังกล่าวจากผู้เสียหายไป เมื่อถึงกำหนดจำเลยทั้งสามไม่ไปตามนัด ความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการและร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์และความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์กับความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันลักรถยนต์ของผู้เสียหายมาตั้งแต่แรกโดยวิธีการวางแผนทำสัญญาจะซื้อจะขายและแสดงสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ซึ่งเป็นเพียงกลอุบายแย่งเอารถยนต์คันดังกล่าวไปจากความครอบครองของผู้เสียหายโดยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำนั้น เห็นว่า การที่นาย ท. พนักงานขายของผู้เสียหายยอมขายรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฌจ 3215 กรุงเทพมหานคร ให้แก่จำเลยทั้งสามนั้น เป็นเพราะจำเลยทั้งสามร่วมกันแสดงสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ปลอม และเชื่อใจจำเลยที่ 3 ที่เคยติดต่อซื้อรถยนต์จากผู้เสียหายหลายครั้ง หากจำเลยทั้งสามไม่ร่วมกันแสดงสำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ปลอม นาย ท.คงไม่ตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามด้วยวิธีผ่อนชำระ การที่นาย ท. ส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสามจึงมิได้เกิดจากการที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้เสียหาย แต่เกิดจากเชื่อว่าจำเลยทั้งสามสามารถชำระราคารถยนต์ได้ การที่จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้สำเนาหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 -01 ข) ปลอม เพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายตกลงขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสาม จึงเป็นเพียงวิธีการที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรณีมีเจตนาทุจริตที่จะเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่ต้นแล้ว จึงมิใช่เป็นความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัย แต่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) วรรคแรก ซึ่งการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันนำเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมไปแสดงต่อพนักงานขายของผู้เสียหายเพื่อให้พนักงานขายของผู้เสียหายขายรถยนต์ให้แก่จำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามเอารถยนต์ของผู้เสียหายไปนั้น เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งหมายเพื่อให้ได้รถยนต์ของผู้เสียหายเท่านั้น แม้การกระทำแต่ละอย่างจะเป็นความผิดก็เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท