08 เมษายน 2559

สิทธิเหนือพื้นดิน ซึ่งไม่มีกำหนดเวลา เจ้าของที่ดินจะบอกเลิกเสียเมื่อใดก็ได้


          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1410  "เจ้าของที่ดินอาจก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่บุคคลอื่นโดยให้บุคคลนั้นมีสิทธิเป็นเจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งเพาะปลูก บนดินหรือใต้ดินนั้น"
          มาตรา 1413  "ถ้าสิทธิเหนือพื้นดินนั้นไม่มีกำหนดเวลาไซร้ ท่านว่าคู่กรณีฝ่ายใดจะบอกเลิกเสียในเวลาใดก็ได้ แต่ต้องบอกล่วงหน้าแก่อีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร ถ้ามีค่าเช่าซึ่งจำต้องให้แก่กันไซร้ ท่านว่าต้องบอกล่วงหน้าปีหนึ่ง หรือให้ค่าเช่าปีหนึ่ง"
          มาตรา 1298 " ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น"

          เจ้าของที่ดินยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินของตนบางส่วนทำแปลงเพาะชำต้นกล้าโดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่มีกำหนดระยะเวลา หากเจ้าของที่ดินต้องการที่ดินคืนวันใดจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร ดังนี้ เป็นการยอมให้โจทก์เข้าใช้สิทธิในที่ดินของเจ้าของที่ดินเป็นการชั่วคราวในลักษณะสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง เมื่อเป็นกรณีสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีกำหนดเวลาและเจ้าของที่ดินไม่ต้องการให้โจทก์เข้าใช้ที่ดินดังกล่าวต่อไป เจ้าของที่ดินย่อมบอกกล่าวให้โจทก์ออกไปจากที่ดินนั้นได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่เป็นการผิดสัญญาหรือละเมิดต่อโจทก์

          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1170/2543  - จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยบางส่วนทำแปลงเพาะชำต้นกล้ากระท้อนโดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่มีกำหนดระยะเวลา หากจำเลยต้องการที่ดินคืนวันใดจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร ดังนี้ เป็นการยอมให้โจทก์เข้าใช้สิทธิในที่ดินของจำเลยเป็นการชั่วคราวในลักษณะสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง โจทก์จะอ้างว่าในการเข้าใช้ที่ดินเพื่อเพาะชำต้นกล้ากระท้อนย่อมเป็นที่รู้กันดีว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อประโยชน์ของโจทก์ฝ่ายเดียวมิได้ เมื่อเป็นกรณีสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีกำหนดเวลาและจำเลยไม่ต้องการให้โจทก์เข้าใช้ที่ดินดังกล่าวต่อไป จำเลยย่อมบอกกล่าวให้โจทก์ออกไปจากที่ดินนั้นได้ ไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่เป็นการผิดสัญญาหรือละเมิดต่อโจทก์
          แม้จำเลยจะบอกกล่าวให้โจทก์ออกจากที่ดินของจำเลยภายใน 2 วันแต่โจทก์ก็ไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายในกำหนดดังกล่าว ตรงข้ามโจทก์กลับห้ามคนงานมิให้เข้าไป และโจทก์ได้ขนของออกไปจากที่ดินของจำเลยหลังจากจำเลยบอกกล่าวถึง 1 เดือนเศษ นับว่าจำเลยได้ให้เวลาแก่โจทก์พอสมควรแล้วเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งโจทก์ แม้จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
           
          คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 3928 จำเลยยินยอมให้โจทก์เข้าไปทำแปลงเพาะชำต้นกล้ากระท้อนเพื่อจำหน่ายในที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 2 งาน 50 ตารางวา โดยไม่มีค่าตอบแทนและไม่มีกำหนดเวลา มีข้อตกลงว่า หากจำเลยต้องการที่ดินคืน จะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร เพื่อให้โจทก์มีเวลาเพียงพอในการขนย้ายทรัพย์สินโจทก์จ้างคนงานถากวัชพืชและปรับพื้นที่ให้ราบเรียบพร้อมทั้งขนเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ อันจำเป็นต้องใช้ในแปลงเพาะชำและทำรั้วกั้นตาข่ายรอบบริเวณแปลงเพาะชำ โจทก์ทำแปลงเพาะชำเพาะต้นกล้ากระท้อน 7,000 ถุง ต่อมาจำเลยห้ามโจทก์และบริวารไม่ให้เข้าไปในที่ดินโดยไม่กำหนดเวลาพอสมควรแก่โจทก์ในการขนย้ายทรัพย์สิน โจทก์และบริวารไม่อาจเข้าไปในแปลงเพาะชำได้ตามปกติเป็นเหตุให้ต้นกล้ากระท้อนจำนวน 7,000 ถุง ของโจทก์ตายเสียหายหมด การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 735,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องโจทก์
           
          คดีได้ขึ้นสู่ศาลฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3928 เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2537 จำเลยยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยบางส่วนทำแปลงเพาะชำต้นกล้ากระท้อนโดยไม่มีค่าตอบแทน และไม่มีกำหนดระยะเวลาโจทก์เริ่มเข้าใช้ที่ดินวันที่ 22 สิงหาคม 2537 โดยปรับที่ดิน ระหว่างนั้นคนงานของโจทก์ขุดพบเหรียญเงินโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 จำนวน 61 เหรียญ ในที่ดินของจำเลยโจทก์ได้คืนเหรียญเงินดังกล่าวแก่จำเลยแล้ว 18 เหรียญ
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นการผิดสัญญากับโจทก์หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาในประการแรกว่าการเข้าไปเพาะชำต้นกล้ากระท้อนต้องถากพื้นดิน กั้นรั้ว และแปลงเพาะชำต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปี ต้นกล้าจึงจะโต ซึ่งจำเลยย่อมรู้ดีอยู่แล้วเท่ากับจำเลยตกลงยอมให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน การที่จำเลยให้โจทก์ออกไปจากที่ดินก่อนเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตนั้น เห็นว่าการที่จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับเพาะชำต้นกล้ากระท้อนเป็นการยอมให้โจทก์เข้าใช้สิทธิในที่ดินของจำเลยเป็นการชั่วคราวในลักษณะสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอย่างหนึ่ง ซึ่งตามฟ้องโจทก์ก็ระบุว่าจำเลยยอมให้โจทก์เข้าใช้ที่ดินโดยไม่มีกำหนดเวลาไว้ หากจำเลยต้องการที่ดินคืนวันใดจะแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร ดังนี้ โจทก์จะอ้างว่าในการเข้าใช้ที่ดินเพื่อเพาะชำต้นกล้ากระท้อนย่อมเป็นที่รู้กันดีว่าต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ของตนฝ่ายเดียวนั้นมิได้ เมื่อเป็นกรณีสิทธิเหนือพื้นดินไม่มีกำหนดเวลาและจำเลยไม่ต้องการให้โจทก์เข้าใช้ที่ดินดังกล่าวต่อไป จำเลยย่อมบอกกล่าวให้โจทก์ออกไปจากที่ดินนั้นได้จำเลยจึงมิได้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่ผิดสัญญาหรือละเมิดต่อโจทก์
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อไปว่า การที่จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ออกไปจากที่ดินโดยให้เวลาเพียง 2 วัน เป็นการบอกกล่าวโดยไม่ให้เวลาตามสมควรทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะบอกกล่าวให้โจทก์ออกจากที่ดินของจำเลยภายใน 2 วัน โดยบอกกล่าวเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2537แต่โจทก์ก็ไม่ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายในกำหนดดังกล่าว ตรงข้ามกลับห้ามคนงานมิให้เข้าไป และปรากฏว่าโจทก์ได้ขนของออกไปจากที่ดินของจำเลยในวันที่ 14 ตุลาคม 2537 หลังจากจำเลยบอกกล่าวถึง 1 เดือนเศษ นับว่าจำเลยได้ให้เวลาแก่โจทก์พอสมควรแล้ว ซึ่งโดยปกติเมื่อจำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ขนของออกไปแล้วโจทก์ไม่ยอมขนออกไปย่อมเป็นการละเมิดต่อจำเลย จำเลยมีสิทธิไปแจ้งความให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีแก่โจทก์ได้ แม้จำเลยจะแจ้งความระบุถึงเรื่องการที่โจทก์ไม่คืนเหรียญเงินโบราณสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่คนงานของโจทก์ขุดดินในที่ดินของจำเลย แล้วทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจนถึงขั้นไม่ยอมอนุญาตให้โจทก์ใช้สิทธิในที่ดินของจำเลยต่อไปนั่นเอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยใช้สิทธิโดยไม่สุจริตกลั่นแกล้งโจทก์อย่างใด แม้จะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
       

04 เมษายน 2559

แสดงเจตนาทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินเพราะถูกคู่กรณีอีกฝ่ายใช้กลฉ้อฉลว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีของบุตรผู้ขายแล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. 159 โจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น

          ป.พ.พ.
          มาตรา 159 "การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลเป็นโมฆียะ
          การถูกกลฉ้อฉลที่จะเป็นโมฆียะตามวรรคหนึ่ง จะต้องถึงขนาดซึ่งถ้ามิได้มีกลฉ้อฉลดังกล่าว การอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น
          ถ้าคู่กรณีฝ่ายหนึ่งแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉลโดยบุคคลภายนอก การแสดงเจตนานั้นจะเป็นโมฆียะต่อเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้หรือควรจะได้รู้ถึงกลฉ้อฉลนั้น"
          มาตรา 175  "โมฆียะกรรมนั้น บุคคลต่อไปนี้จะบอกล้างเสียก็ได้
          (1) ...............................
          (2) ...............................
          (3) บุคคลผู้แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิด หรือถูกกลฉ้อฉล หรือถูกข่มขู่
          (4)................................."
          มาตรา 176  "โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน
          ถ้าบุคคลใดได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าการใดเป็นโมฆียะ เมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าบุคคลนั้นได้รู้ว่าการนั้นเป็นโมฆะ นับแต่วันที่ได้รู้หรือควรจะได้รู้ว่าเป็นโมฆียะ
          ห้ามมิให้ใช้สิทธิเรียกร้องอันเกิดแต่การกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามวรรคหนึ่ง เมื่อพ้นหนึ่งปีนับแต่วันบอกล้างโมฆียะกรรม"

          ผู้ขายจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ เพราะหลงเชื่อตามที่ผู้ซื้อหลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรผู้ขายแล้ว เป็นเรื่องที่ผู้ขายแสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกผู้ซื้อใช้กลฉ้อฉล หากผู้ขายทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ซื้อก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. 159 ผู้ขายมีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น สัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะ หาใช่ผู้ขายแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมซึ่งจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
       
          ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7394/2550 - ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ให้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31421 ตำบลท่าไข่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2539 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินโดยทำให้โจทก์หลงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 โอนเงิน 36,500,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์ เพื่อชำระเป็นค่าที่ดินแก่โจทก์เรียบร้อยแล้วแต่ความจริงไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี เป็นเงิน 6,500,000 บาท กำหนดสินไถ่ไว้เป็นเงิน 7,350,000 บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินสำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตหรือไม่เห็นว่า เมื่อโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 กระทำการโดยไม่สุจริตภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ที่ต้องเป็นฝ่ายนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต... และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า... พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 มีน้ำหนักดีว่าพยานหลักฐานของโจทก์เหตุอื่นๆ ที่โจทก์อ้างมาในฎีกาเป็นเพียงความคิดเห็นของโจทก์เองไม่ทำให้ผลของการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริต
           ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เพราะหลงเชื่อตามที่จำเลยที่ 1 หลอกลวงว่าได้โอนเงินค่าที่ดินเข้าบัญชีเงินฝากของบุตรโจทก์แล้ว เป็นเรื่องที่โจทก์แสดงเจตนาทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉล หากโจทก์ทราบความจริงว่ายังไม่มีการโอนเงินเข้าบัญชี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ก็คงจะมิได้กระทำขึ้น สัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงตกเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. 159 โจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียได้ตามมาตรา 175 (3) เท่านั้น สัญญาจึงไม่ตกเป็นโมฆะ หาใช่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรมหรือตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรม หรือทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม อันจะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมซึ่งจะมีผลให้นิติกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156
          ปัญหาสุดท้ายที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ฝ่ายเดียวโดยจำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “โมฆียะกรรมเมื่อบอกลางแล้วให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน” คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ให้ขายที่ดินแก่จำเลยที่ 1 แล้วจำเลยทั้งสองคบคิดกันฉ้อฉลโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองและให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินคืนโจทก์ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วโดยการฟ้องจำเลยที่ 1 แต่ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ซึ่งรับซื้อฝากโดยสุจริต และพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 แม้โจทก์จะอุทธรณ์ฝ่ายเดียวก็ตาม แต่การที่โจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ต้องโอนที่ดินคืนโจทก์ อันเป็นการกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่อาจโอนที่ดินคืนโจทก์เพราะจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 เสียเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่ถูกต้อง เพราะมีผลกระทบให้การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 ได้รับโอนต่อเนื่องมาทางทะเบียนต้องขาดสาย ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 โดยพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย แม้จำเลยทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
          หลังจากโจทก์ฟ้องคดีแรกแล้ว โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 คดีหลังโดยมีสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับคดีแรก ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาก็เป็นอย่างเดียวกัน เพียงแต่มีคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพิ่มเติมจากคดีแรกเท่านั้น คำขอบังคับในคดีหลังโจทก์อาจขอได้ในคดีแรกอยู่แล้ว จึงเป็นการฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีหลังขณะคดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณา ฟ้องโจทก์ในคดีหลังจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

สัญญาเช่าและคำมั่นจะให้ต่อสัญญาเช่า โดยผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ากู้เงินเพื่อซื้อที่ดินแล้วนำที่ดินมาจดจำนองไว้แก่ผู้เช่า เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา แต่ไม่ได้มีข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่ผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

          ป.พ.พ.
          มาตรา 169  "การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
          การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ" 
          มาตรา 360  "บทบัญญัติแห่งมาตรา 169 วรรคสอง นั้น ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าหากว่าขัดกับเจตนาอันผู้เสนอได้แสดง หรือหากว่าก่อนจะสนองรับนั้น คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งได้รู้อยู่แล้วว่าผู้เสนอตายหรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ"
          มาตรา 454 "การที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะซื้อหรือขายนั้น จะมีผลเป็นการซื้อขายต่อเมื่ออีกฝ่ายหนึ่งได้บอกกล่าวความจำนงว่าจะทำการซื้อขายนั้นให้สำเร็จตลอดไป และคำบอกกล่าวเช่นนั้นได้ไปถึงบุคคลผู้ให้คำมั่นแล้ว
          ถ้าในคำมั่นมิได้กำหนดเวลาไว้เพื่อการบอกกล่าวเช่นนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้ให้คำมั่นจะกำหนดเวลาพอสมควร และบอกกล่าวไปยังคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งให้ตอบมาเป็นแน่นอนภายในเวลากำหนดนั้นก็ได้ ว่าจะทำการซื้อขายให้สำเร็จตลอดไปหรือไม่ ถ้าและไม่ตอบเป็นแน่นอนภายในกำหนดเวลานั้นไซร้ คำมั่นซึ่งได้ให้ไว้ก่อนนั้นก็เป็นอันไร้ผล"

          สัญญาเช่าและคำมั่นจะให้ต่อสัญญาเช่า โดยผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่ากู้เงินเพื่อซื้อที่ดินแล้วนำที่ดินมาจดจำนองไว้แก่ผู้เช่า เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี  แต่ไม่ได้มีข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่ผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา

          ดังที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4392/2547  -  ต. ให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 30 ปี และจะให้จำเลยที่ 1 เช่าต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ยอมให้ ต. กู้ยืมเงิน 300,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินพิพาท การกู้ยืมเงิน ต. จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ยังไม่เรียกให้ ต. ชำระดอกเบี้ยนับแต่กู้ยืมเงินแต่ให้ชำระเมื่อครบกำหนดการเช่า 30 ปี ถ้ามีการต่ออายุสัญญาเช่าเป็นงวดที่สองอีก 30 ปี จำเลยที่ 1 จะไม่เรียกร้องดอกเบี้ยดังกล่าว ดังนี้ การได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่าง ต. กับจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา
          ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเป็นแต่เพียงคำมั่นของ ต. ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้น ยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมจะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพัน ต. เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อน ต. ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่า ต. ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของ ต. ย่อมไม่มีผลบังคับ และไม่เป็นมรดกของ ต. จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปีไม่ได้
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ผู้เช่า และจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้อยู่โดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 1 ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าตามสัญญาเช่าปีละ 6,000 บาท ซึ่งถือได้ว่ามีค่าเช่าในขณะยื่นคำฟ้องชั้นอุทธรณ์และฎีกาไม่เกินเดือนละ 4,000 บา และ 10,000 บาท ตามลำดับ แม้โจทก์จะกล่าวมาในฟ้องด้วยว่าหากโจทก์จะให้ผู้อื่นเช่าในปัจจุบันจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3,000,000 บาท และโจทก์ใช้เป็นเกณฑ์คำนวณในการเรียกร้องค่าเสียหายเดือนละ 3,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบที่ดินพิพาทในสภาพเรียบร้อยคืนโจทก์ โดยโจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายนี้มาอย่างเอกเทศในข้อหาอื่น หากแต่เรียกร้องมาเป็นส่วนหนึ่งของการฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้อาศัยออกจากที่ดินพิพาทเท่านั้น คู่ความจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง และมาตรา 248 วรรคสอง
          ประเด็นตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อแรกมีว่า สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างนาย ต. กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนการเช่าให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมิใช่การเรียกร้องเอาทรัพย์สินจากโจทก์ จึงเป็นคดีที่ขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกาในข้อเท็จจริงตามบทกฎหมายเบื้องต้น สำหรับข้ออ้างการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทของนาย ต.เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ให้กู้ยืมเงิน กับการเช่าที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ข้างต้นเป็นสัญญาที่มีสภาพบังคับโดยสมบูรณ์ในตัวของแต่ละสัญญา สัญญาทั้งสองประเภทแม้จะผูกโยงสิทธิประโยชน์ต่อกัน แต่โดยผลแห่งสัญญาแล้ว แต่ละฝ่ายได้ป้องกันสิทธิอันจะก่อผลได้เสียภายหน้าของแต่ละสัญญาแล้ว ถ้าหากมี หาใช่ข้อตกลงที่เพิ่มภาระแก่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เช่าให้ต้องปฏิบัติยิ่งกว่าหน้าที่ของผู้เช่าตามปกติธรรมดาไม่ สัญญาเช่าที่ดินพิพาทระหว่างนาย ต. กับจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ประเด็นตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อสองมีว่า จำเลยที่ 1 จะฟ้องแย้งขอให้พิพากษาบังคับโจทก์ปฏิบัติตามข้อความในหนังสือสัญญาเช่าที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3.2 ได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามสัญญาที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ในข้อ 3.2 มีข้อตกลงว่านาย ต.ผู้ให้เช่าจะให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าเช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก 30 ปี หลังจากสัญญาเช่าสิ้นสุดลงถ้าจำเลยที่ 1 ต้องการ โดยจำเลยที่ 1 ต้องมีหนังสือแจ้งแก่นาย ต.ผู้ให้เช่าก่อนสิ้นอายุการเช่าที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า และเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2539 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้รับมรดกและผู้จัดการมรดกของนาย ต.ผู้ให้เช่าได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.9 แจ้งแก่จำเลยที่ 1 ทราบว่านาย ต.ผู้ให้เช่าได้ถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2539 และจำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งแล้วตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.10 ต่อมาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นเวลาก่อนครบกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่า จำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย ล.3 (ตรงกับเอกสารหมาย จ.11) แจ้งความประสงค์ในการที่จะเช่าที่ดินพาทต่อไปอีก 30 ปี แก่โจทก์และโจทก์ได้รับแจ้งแล้ว โจทก์ปฏิเสธที่จะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปอีก เห็นว่า ข้อความตามข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 3.2 ดังกล่าวข้างต้นนั้นเป็นแต่เพียงคำมั่นของนาย ต.ว่าจะให้จำเลยที่ 1 เช่าที่ดินพิพาทต่อไปเท่านั้นยังไม่ก่อให้เกิดสัญญา แม้สัญญาเช่าเดิมตามเอกสารหมาย จ.4 จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ แต่คำมั่นนี้ก็ยังไม่มีผลผูกพันนาย ต.เพราะยังไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ได้สนองรับก่อนนาย ต.ถึงแก่ความตาย ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วว่านาย ต.ถึงแก่ความตายก่อนสัญญาเช่าจะครบกำหนด 30 ปี กรณีก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ซึ่งบัญญัติว่ามิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ เหตุนี้คำมั่นของนาย ต.ย่อมไม่มีผลบังคับและไม่เป็นมรดกของนาย ต. จึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นทายาทผู้รับมรดกที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 1 เช่าให้ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ดังจำเลยทั้งสามฎีกา จำเลยที่ 1 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์จดทะเบียนต่ออายุการเช่าที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 อีก 30 ปี ไม่ได้ ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาอ้างว่าการที่จะให้ผู้เช่าสนองรับคำมั่นของผู้ให้เช่าก่อนผู้ให้เช่าถึงแก่ความตายย่อมไม่อาจกระทำได้ เพราะการถึงแก่ความตายของผู้ให้เช่าก่อนสิ้นกำหนดเวลาเช่าตามสัญญาเช่าเดิมเป็นเรื่องสุดวิสัยที่ทางผู้เช่าจะทราบได้นั้น เห็นว่า ถ้าข้อเท็จจริงไม่ปรากฏหรือฟังไม่ได้ว่าผู้เช่าได้รู้หรือทราบก่อนจะสนองรับว่าผู้ให้เช่าถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว กรณีก็ไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับ คำมั่นของผู้ให้เช่าจึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันทายาทผู้รับมรดกหรือผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตาม แต่สำหรับคดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่าจำเลยที่ 1 ได้รู้อยู่แล้วหรือทราบก่อนจะสนองรับว่านาย ต.ผู้ให้เช่าถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว กรณีก็ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 360 ดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสามในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

03 เมษายน 2559

การสอบสวนโดยเจ้าพนักงานที่ไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดที่ฟ้อง เป็นการสอบสวนที่มิชอบ อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
          มาตรา 120  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน"
          มาตรา 134   "เมื่อผู้ต้องหาถูกเรียก หรือส่งตัวมา หรือเข้าหาพนักงานสอบสวนเอง หรือปรากฏว่าผู้ใดซึ่งมาอยู่ต่อหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้ต้องหา ให้ถามชื่อตัว ชื่อรอง ชื่อสกุล สัญชาติ บิดามารดา อายุ อาชีพ ที่อยู่ ที่เกิด และแจ้งให้ทราบถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำที่กล่าวหาว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิด แล้วจึงแจ้งข้อหาให้ทราบ
          ............................. "

          คดีอาญานั้นต้องสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนเท่านั้น  หากเป็นการสอบสวนที่ทำขึ้นโดยคณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่อื่นที่ไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดนั้น การสอบสวนนั้นก็เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลเท่ากับความผิดนั้นยังไม่มีการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวนมาก่อน จึงห้ามมิให้อัยการฟ้องคดี และหากมีการฟ้องคดีไป ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง 

          ดังมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3130/2556  -  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม รายงานการสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็มิได้ชี้มูลความผิดฐานนี้ การที่อนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนในความผิดฐานนี้มาด้วย จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ และแม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะพบการกระทำความผิดฐานนี้ ก็มิใช่การสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งข้อหานี้ให้จำเลยทราบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
          จำเลยเป็นพนักงานสอบสวนแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก
         + ---------------------+
          คดีนี้พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200, 264, 265, 268
          จำเลยให้การปฏิเสธ
          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน
          โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า นาง ส. ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ - 4091 ตาก ชนกับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน บ - 8214 กำแพงเพชร และ 5ท - 4810 เชียงใหม่ มีผู้ถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่ตำบลนครชุม อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยจำเลยเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดีนาง ส.ผู้ต้องหาในข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถของผู้อื่นเสียหายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและรับอันตรายสาหัส ตามสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 ต่อมาจำเลยย้ายไปรับราชการที่สถานีตำรวจภูธรปางมะค่า ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 294/2542 มีคำสั่งเรียกสำนวนการสอบสวนไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร พันตำรวจเอก ศ. ตรวจสอบแล้วไม่พบหลักฐานการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร จึงติดต่อแจ้งให้จำเลยนำสำนวนการสอบสวนไปมอบให้ จำเลยนำสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 ไปมอบให้พันตำรวจเอก ศ.พบว่า มีการแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนหลายแห่งด้วยการใช้น้ำยาลบข้อความเดิมออกแล้วพิมพ์กับเขียนข้อความใหม่แทน โดยแก้ไขหนังสือส่งสำนวนจากข้อความเดิม “ส่งสำนวนที่เห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาฝากขัง” เป็น “ส่งสำนวนที่เห็นควรสั่งไม่ฟ้องและได้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปแล้ว” แก้ไขรายงานการสอบสวนจากข้อความ “ให้การสอดคล้องต้องกันและจากการสอบสวนผู้ต้องหาแล้วรับว่าได้ขับรถคันเกิดเหตุมาจริงแต่ไม่ได้เฉี่ยวชนรถของผู้ใด โดยพนักงานสอบสวนได้ตรวจสอบสภาพที่เกิดเหตุและพิเคราะห์ร่องรอยของรถที่ถูกเฉี่ยวชนแล้วไม่ได้เป็นไปตามคำให้การของผู้ต้องหา แต่เป็นไปตามคำให้การของพยานที่มากับรถยนต์กระบะสองคันที่ถูกรถของผู้ต้องหา” เป็น “ให้การสอดคล้องต้องกันว่ามีรถจักรยานยนต์คันหนึ่งขับมาตัดหน้ารถของผู้ต้องหาในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาต้องหักหลบรถจึงเสียหลักวิ่งมาชนเกาะกลางถนนแล้วข้ามมาชนกับรถผู้อื่น จึงเป็นเหตุสุดวิสัยที่ผู้ต้องหาจะหลีกเลี่ยงได้ในขณะนั้น สาเหตุที่ผู้ต้องหาขับรถมาชนรถของผู้อื่นนี้จึงเป็นเหตุสุดวิสัย อันเป็นอุบัติเหตุซึ่งไม่อาจคาดคิดได้” แก้ไขจากข้อความ “สั่งฟ้อง” เป็น “สั่งไม่ฟ้อง” แก้ไขบันทึกการควบคุมตัวผู้ต้องหาจากข้อความ “ได้ไปขอฝากขังผู้ต้องหาเป็นครั้งที่ 7 นับแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2541 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2541” เป็น “ได้ขอปล่อยตัวผู้ต้องหาต่อศาล เนื่องจากมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา” และแก้ไขคำร้องขอปล่อยตัวผู้ต้องหาจากตัวเลข “19” เป็นเลข “8” พันตำรวจเอก ศ.รายงานไปยังผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชร ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานและทำรายงานความเห็นต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรว่า การกระทำของจำเลยมีมูล 1. กระทำผิดวินัยร้ายแรง โดยเป็นพนักงานสอบสวนรับผิดชอบสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 แล้วไม่ส่งสำนวนดังกล่าวให้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรพิจารณาตามระเบียบและกฎหมาย แต่ได้นำเอาสำนวนการสอบสวนไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขสำระสำคัญซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง 2. กระทำผิดกฎหมายอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 3. กระทำผิดกฎหมายอาญาฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 จึงเห็นควรตั้งคณะกรรมการพิจารณาภาคทัณฑ์ทางวินัยร้ายแรงตามข้อ 1 และเห็นควรดำเนินคดีอาญา ตามข้อ 2 และ 3 ตามรายงานผลการสืบสวนข้อเท็จจริง พันตำรวจเอก ศ.เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท พ. พนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน คณะอนุกรรมการไต่สวนรายงานการไต่สวนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติว่า การกระทำของจำเลยมีมูลเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและมีมูลเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าพนักงานสอบสวน กระทำการหรือไม่กระทำการใด ๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 กับส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีแก่จำเลย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97
          มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้คัดค้านพันตำรวจเอก ข.และพันตำรวจโท พ.อนุกรรมการไต่สวนว่า เป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องในทางคดีและมีอคติโกรธเคืองกันในเรื่องส่วนตัว พันตำรวจโท พ.ถอนตัวไป แต่พันตำรวจเอก ข.ไม่ขอถอนตัวยังคงปฏิบัติหน้าที่ร่วมถามปากคำพยานรวม 7 ปาก กับร่วมลงชื่อในรายงานการไต่สวน จึงไม่อาจฟังว่าพันตำรวจเอก ข.ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อรายงานการไต่สวนมีพันตำรวจเอก ข.ร่วมลงชื่อด้วย อันถือได้ว่าเป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เท่ากับเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องแล้วพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลเดียวกัน ที่โจทก์ฎีกาว่ารายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นสำนวนการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 (เดิม) เป็นเรื่องการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หาได้มีอำนาจที่จะตรวจสอบเจ้าหน้าที่ของรัฐในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268 ด้วยไม่ ทั้งตามรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติก็ได้ไต่สวนและมีมติว่าการกระทำของจำเลยมีมูลเป็นความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นพนักงานสอบสวนกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษ หรือให้รับโทษน้อยลงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 มิได้ชี้มูลความผิดจำเลยฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมด้วย เพราะเหตุที่มิใช่เป็นความผิดที่อยู่ในอำนาจหน้าที่การตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาตินั่นเอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและยกฟ้องจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมด้วยเหตุผลดังกล่าวด้วยจึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่พันตำรวจเอก ศ.เข้าร้องทุกข์ต่อพันตำรวจโท พ.ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พันตำรวจโท พ.มิได้แจ้งข้อหาความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมให้จำเลยทราบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 กับมิได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม แม้การสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดกำแพงเพชรแต่งตั้งจะได้พบการกระทำของจำเลยซึ่งเป็นการปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ก็มิใช่เป็นการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนที่มีอำนาจสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 ถือได้ว่าคดีนี้มิได้มีการสอบสวนจำเลยในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมมาก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม ศาลฎีกาจึงเห็นพ้องด้วยในผล ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคแรก จำเลยนำสืบว่าจำเลยได้คัดค้านพันตำรวจเอก ข.และพันตำรวจโท พ.อนุกรรมการไต่สวนว่า เป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องในทางคดีและมีอคติโกรธเคืองกันในเรื่องส่วนตัว ตามหนังสือเรื่อง ขอคัดค้านผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการไต่สวน ซึ่งพันตำรวจโท พ.ได้ถอนตัวไป ส่วนพันตำรวจเอก ข.ยังคงปฏิบัติหน้าที่ร่วมถามปากคำพยานรวม 7 ปาก การทำหน้าที่ร่วมถามปากคำของพันตำรวจเอก ข. ขัดกับมาตรา 46 วรรคสองและวรรคสาม ทำให้การสอบสวนไม่ชอบนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 46 วรรคท้าย บัญญัติว่า “การยื่นคำคัดค้าน การพิจารณาคำคัดค้าน และการแต่งตั้งบุคคลเป็นอนุกรรมการไต่สวนแทนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด” ซึ่งตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.2543 ข้อ 9 ระบุว่า “คำคัดค้านผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานกรรมการภายในเจ็ดวันนับแต่วันรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน หรือวันทราบเหตุแห่งการคัดค้านโดยแสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในคำคัดค้านด้วยว่าจะทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างใด” ซึ่งตามหนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านตามเอกสารนั้น ระบุเพียงว่ามีอคติโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวและเป็นผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องในทางคดี อันเป็นเหตุตามมาตรา 46 (1) (3) เท่านั้น แต่ไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุแห่งการคัดค้านไว้ในคำคัดค้านด้วยว่าจะทำให้การไต่สวนข้อเท็จจริงไม่ได้ความจริงและความยุติธรรมอย่างใด นอกจากนี้พยานโจทก์ปากนาย ซ.เบิกความตอบโจทก์ถามติงว่า “หนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านตามเอกสาร ไม่มีการลงเลขรับเอกสารไว้ตามระเบียบงานสารบรรณ และพยานเพิ่งเคยเห็นเอกสาร เมื่อมีการแจ้งให้จำเลยคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน จำเลยไม่ได้คัดค้าน พยานเข้าใจว่าจำเลยคงติดต่อกับประธานอนุกรรมการทางโทรศัพท์” ซึ่งเมื่อพิจารณาหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบเรื่องการแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวน ระบุให้จำเลยลงลายมือชื่อและวันที่รับทราบคำสั่ง แล้วส่งคืนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 15 วัน โดยบันทึกรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน จำเลยลงชื่อรับทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2544 ตรงกับวันที่ส่งในใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษ ที่จำเลยส่งคืนสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีการลงเลขรับเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2544 แต่หนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน ไม่ปรากฏว่ามีการลงเลขรับเอกสารไว้ หากเอกสารทั้งสองฉบับได้ส่งทางไปรษณีย์ไปพร้อมกันจริง ก็น่าจะมีการลงเลขรับเอกสารในวันเดียวกัน แต่หนังสือที่จำเลยอ้างว่าคัดค้านอนุกรรมการไต่สวน ไม่มีการลงเลขรับเอกสาร จึงน่าเชื่อว่าใบรับฝากไปรษณีย์ด่วนพิเศษ เป็นหลักฐานการส่งบันทึกรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน ไม่ใช่หลักฐานการส่งหนังสือคัดค้าน ดังที่จำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งสำนวนรายงานการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่จำเลยขอหมายเรียกมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องการคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนตามที่จำเลยกล่าวอ้าง จึงไม่น่าเชื่อว่าจำเลยได้ยื่นคำคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนเป็นหนังสือในวันที่ 15 มกราคม 2544 จริง เมื่อการคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนของจำเลยไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายจึงไม่มีผลกระทบถึงการปฏิบัติหน้าที่ของพันตำรวจเอก ข.และไม่มีผลทำให้รายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงและมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นสำนวนการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 97 เสียไปหรือเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่จำเลยนำสืบว่า พันตำรวจเอก ข.เคยขอให้จำเลยช่วยเหลือและจำเลยไม่สามารถช่วยเหลือได้จึงทำให้พันตำรวจเอก ข.ไม่พอใจ ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังว่า พันตำรวจเอก ข.มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จึงเป็นไปโดยชอบ ถือได้ว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคแรก มีการสอบสวนโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดดังกล่าว สำหรับปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนกระทำการหรือไม่กระทำการในตำแหน่งอย่างใดๆ โดยมิชอบเพื่อช่วยเหลือบุคคลหนึ่งบุคคลใดมิให้ต้องโทษหรือให้รับโทษน้อยลงหรือไม่นั้น ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัย แต่ศาลชั้นต้นได้สืบพยานคู่ความจนเสร็จสิ้นแล้วเพื่อมิให้ล่าช้า ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยชี้ขาดไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่ ซึ่งโจทก์มีพันตำรวจโท พ. รองผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชรและพันตำรวจเอก น. ผู้กำกับการตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยและร่วมลงชื่อในสำนวนการสอบสวนคดีจราจรที่ 18/2541 เพื่อส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นพยาน โดยพันตำรวจโท พ.เบิกความว่า พยานมีความเห็นสั่งฟ้องนาง ส. ผู้ต้องหาแล้วเสนอความเห็นต่อไปยังผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น การแก้ไขข้อความกระทำหลังจากพยานมีความเห็นและลงชื่อในเอกสารแล้ว ส่วนพันตำรวจเอก น.แม้เบิกความว่า ขณะที่ลงชื่อพยานจำไม่ได้ว่ามีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง แต่พยานเชื่อว่าเป็นการแก้ไขภายหลัง เพราะไม่มีการลงชื่อกำกับการแก้ไขไว้และหากเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดจำนวนมากก็จะให้พิมพ์ขึ้นมาใหม่ โดยไม่มีเหตุผลและข้อสงสัยใดที่พยานทั้งสองจะต้องเบิกความบิดเบือนความจริง ทั้งหากมีการแก้ไขข้อความจำนวนมากซึ่งสกปรกเลอะเทอะอย่างเห็นได้ชัด ไม่เชื่อว่าพยานทั้งสองจะยอมลงชื่อและทำความเห็นในสำนวนการสอบสวน ซึ่งต้องเสนอไปให้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรพิจารณาโดยไม่สั่งให้จำเลยไปทำมาใหม่ เช่นนี้ฟังได้ว่าจำเลยแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนหลังจากที่จำเลยเสนอสำนวนการสอบสวนที่มีความเห็นสั่งฟ้องนาง ส.ผู้ต้องหาให้พันตำรวจโท พ.และพันตำรวจเอก น. ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อในสำนวนการสอบสวนเพื่อส่งสำนวนและความเห็นไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชร หาใช่เป็นการแก้ไขก่อนจำเลยเสนอสำนวนต่อบุคคลทั้งสองดังจำเลยอ้างไม่ ที่จำเลยอ้างอีกว่าการแก้ไขข้อความต่างๆ เป็นการแก้ไขให้ถูกต้องตามความจริง ก็ยากแก่การรับฟัง เพราะหากจำเลยสอบสวนแล้วมีความเห็นว่านาง ส.ผู้ต้องหาไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาเนื่องจากมีรถจักรยานยนต์ตัดหน้าในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาต้องหักหลบรถจึงเสียหลักวิ่งเข้าชนเกาะกลางถนนแล้วข้ามไปชนกับรถยนต์คันอื่น อันเป็นเหตุสุดวิสัยเป็นอุบัติเหตุซึ่งไม่อาจคาดคิดได้ จำเลยย่อมสามารถที่จะพิมพ์ข้อความและมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องได้อยู่แล้ว ไม่มีเหตุผลใดเลยที่จำเลยจะต้องทำสำนวนการสอบสวนโดยเชื่อว่าผู้ต้องหามีความผิดและมีความเห็นสั่งฟ้องก่อนแล้วจึงแก้ไขข้อความในภายหลัง ยิ่งไปกว่านั้นจำเลยมิได้ส่งสำนวนพร้อมด้วยความเห็นไปให้พนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรตามขั้นตอน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 142 และหลังจากที่ได้รับคำสั่งย้ายไปรับราชการที่อื่นจำเลยยังนำสำนวนการสอบสวนติดตัวไปด้วย ทั้งๆที่เป็นเอกสารที่ต้องอยู่ในระบบราชการของสถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร มิใช่ทรัพย์สินส่วนตัวหรือเป็นเอกสารที่ต้องติดตัวจำเลยไปด้วย ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยลืมส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการจังหวัดกำแพงเพชรเป็นการกล่าวอ้างง่ายๆ จึงยากแก่การรับฟัง และที่อ้างอีกว่า จำเลยไม่ทราบว่าสำนวนได้ติดตัวจำเลยไปด้วยขณะที่ย้ายไปรับราชการที่อื่น ก็เป็นข้ออ้างที่ขาดเหตุผลไม่น่ารับฟังเช่นกัน ไม่เชื่อว่าจำเลยจะกระทำไปโดยไม่รู้สำนึกในสิ่งที่ได้กระทำไป การที่จำเลยเก็บสำนวนไว้ที่ตัวจึงเชื่อว่าเพื่อปกปิดซ่อนเร้นเรื่องที่จำเลยแก้ไขสำนวนการสอบสวนโดยมิชอบนั่นเอง พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยล้วนเป็นพิรุธผิดวิสัยของพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติราชการตามอำนาจหน้าที่โดยสุจริตอย่างตรงไปตรงมา อันมีเหตุซึ่งเชื่อได้ว่าจำเลยแก้ไขข้อความในสำนวนการสอบสวนจากเดิมที่มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาเป็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาหลังจากเสนอสำนวนการสอบสวนให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นลงชื่อแล้วเพื่อช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องโทษ จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 และ 200 วรรคแรก

02 เมษายน 2559

การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ เว้นแต่ในการถอนฟ้องนั้นได้แถลงต่อศาลไว้ในคดีนั้นด้วยว่าจะไม่ฟ้องจำเลยอีก ซึ่งถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176

          การถอนฟ้องคดีแพ่ง
          ‪‎การถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น‬ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆอันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิม แต่ว่าคำฟ้องที่ได้ถอนแล้ว ก็อาจยื่นใหม่ได้ภายในอายุความ (ป.วิ.พ.มาตรา 176)
          ‪‎แต่ถ้าในการถอนฟ้องนั้นได้แถลงต่อศาลไว้ในคดีนั้นด้วยว่าจะไม่ฟ้องจำเลยอีก‬  อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ได้กระทำต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เกี่ยวกับการยื่นฟ้องใหม่อันเป็นการผูกมัดโจทก์ กรณีนี้โจทก์ก็ไม่สามารถนำฟ้องคดีเรื่องนี้มาฟ้องจำเลยอีกต่อไป ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้
          ‪คำพิพากษาศาล‎ฎีกาที่‬ 292/2552 - แม้ได้ความว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับที่พิพาทในคดีนี้และมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้แล้วก็ตาม แต่ในการถอนฟ้องนั้นได้ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยอ้างเพียงว่าได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นแล้ว และแถลงว่าอยู่ระหว่างจดทะเบียนโอนสิทธิโดยโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้ หากโอนไปแล้วโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 อีก โดยโจทก์มิได้ร้องหรือแถลงไว้ในคดีดังกล่าวว่าจะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 อีก อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ได้กระทำต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เกี่ยวกับการยื่นฟ้องใหม่อันเป็นการผูกมัดโจทก์ แม้ในคดีนี้โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า “ในการถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์อ้างว่าได้ขายที่ดินไปแล้ว จะไม่นำคดีมาฟ้องอีก ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง” คำเบิกความของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่ใช่กระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว ส่วนที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำสั่งในการถอนฟ้องของโจทก์ว่า “ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องเพื่อทำฟ้องที่สมบูรณ์มายื่นต่อศาลใหม่อีก ทั้งโจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างเหตุว่าได้ขายที่ดินให้ผู้อื่น จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องโดยหวนกลับมาฟ้องจำเลยใหม่อีก” ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลชั้นต้นเอง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า ถ. ผู้ซื้อที่ดินของโจทก์ชำระราคาแก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จึงยังมิได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แก่กันให้บริบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง