สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับตามมาตรา 39

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

          มาตรา 39 "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้
          (1) โดยความตายของผู้กระทำผิด
          (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย
          (3) เมื่อคดีเลิกกันตามมาตรา 37
          (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง
          (5) เมื่อมีกฎหมายออกใช้ภายหลังการกระทำผิดยกเลิกความผิดเช่นนั้น
          (6) เมื่อคดีขาดอายุความ
          (7) เมื่อมีกฎหมายยกเว้นโทษ"

          เมื่อมีกรณีหนึ่งกรณีใดตามที่ระบุไว้ในมาตรา 39 นี้เกิดขึ้นไม่ว่าในระยะใด ในชั้นใด อำนาจในการดำเนินการของเจ้าพนักงานหรือศาลเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นอันระงับสิ้นไป เช่น คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นศาล มีปรากฏกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา 39 เกิดขึ้น ศาลย่อมหมดอำนาจที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ศาลต้องสั่งจำหน่ายคดี

          สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปใน 7 กรณีด้วยกัน กล่าวคือ

          (1) โดยความตายของผู้กระทำผิด ตามมาตรา 39 (1)
          ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 38 บัญญัติว่า "โทษเป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด" กล่าวคือ ความผิดอาญาเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้กระทำความผิดโดยแท้ ไม่ตกทอดไปยังทายาท ดังนั้น หากผู้กระทำความผิดตายไม่ว่าในชั้นใดระหว่างดำเนินคดี ย่อมทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาระงับไป และแม้ผู้กระทำความผิดอยู่ระหว่างได้รับโทษตามคำพิพากษา โทษตามคำพิพากษาย่อมป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 38
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2456/2530   ผู้กระทำความผิดใช้อาวุธปืนยิงเจ้าพนักงานตำรวจแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจยิงตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องผู้กระทำความผิดย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 และโทษก็เป็นอันระงับไปด้วยความตายของผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 38 ดังนั้น อาวุธปืนซึ่งเป็นปืนที่มีทะเบียนของผู้อื่นที่ผู้ตายใช้ยิงเจ้าพนักงานตำรวจจึงไม่อาจริบได้ตามบทกฎหมาย
          อย่างไรก็ตาม สิทธิฟ้องคดีระงับไปโดยความตายของผู้กระทำผิดเฉพาะคดีอาญาเท่านั้น หากการกระทำผิดมีมูลทางแพ่งด้วย สิทธิฟ้องคดีทางแพ่งของผู้เสียหายหาได้ระงับไปด้วยไม่
          สำหรับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาและมีคำขอในส่วนแพ่งแทนผู้เสียหาย หากสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับศาลต้องสั่งจำหน่ายคดีทั้งหมดรวมทั้งคำขอในส่วนแพ่งย่อมตกไปด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3271/2531   ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานรับของโจรและมีคำขอให้จำเลยคืนทรัพย์สินหรือใช้ ราคาแทนผู้เสียหายด้วย แม้ผู้เสียหายจะเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการก็ตามเมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมย่อมระงับไป และคำขอให้คืนทรัพย์สินหรือใช้ราคาย่อมตกไปด้วย จึงต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
          แต่ถ้าผู้เสียหายฟ้องคดีเอง คำขอในส่วนแพ่งต้องมีการรับมรดกความตามประมวกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1238/2493  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกทรัพย์และให้ใช้ราคาทรัพย์ด้วยนั้น เมื่อจำเลยตายในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ๆ ย่อมสั่งให้คดีส่วนอาญาของโจทก์เป็นอันระงับไป ส่วนคดีส่วนแพ่งให้เลื่อนไปตามมาตรา 42 แห่ง ป.วิ.แพ่ง

          (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้องหรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตามมาตรา 39 (2)
          การถอนคำร้องทุกข์ สำหรับคดีความผิดต่อส่วนตัว(ความผิดอันยอมความได้)นั้นผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เมื่อใดก็ได้ ทั้งนี้ ต้องก่อนคดีถึงที่สุด โดยถ้าอยู่ชั้นสอบสวนก็ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน หากอยู่ชั้นศาลก็ถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลหรือต่อพนักงานสอบสวนก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7640/2551   ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัว เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องถอนคำร้องทุกข์ภายในกำหนดระยะเวลาฎีกา โดยที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ย่อมเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาสั่ง แต่เมื่อสำนวนคดีมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องดังกล่าวได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นสั่ง
          ความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางานฯ มาตรา 91 ตรี ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ความผิดข้อหานี้จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้อง ส่วนความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 เป็นคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวและยังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8577/2551   ตามคำร้องของโจทก์ร่วม ระบุว่า โจทก์ร่วมได้รับการชดใช้ค่าเสียหายจากจำเลยแล้วเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท โจทก์ร่วมในฐานะผู้เสียหายในคดีนี้จึงไม่ติดใจเอาความใดๆ กับจำเลยอีก และประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์หรือขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษแก่จำเลย และท้ายคำร้องดังกล่าวจำเลยก็ได้ลงลายมือชื่อด้วย พอแปลความได้ว่าโจทก์ร่วมมีความประสงค์จะขอถอนคำร้องทุกข์แล้วหรือหากศาลไม่อนุญาตให้โจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์ ก็ขอให้ศาลลงโทษจำเลยในสถานเบาเท่านั้น เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 362, 365 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362 อันเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลสูงเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องถือว่าคดีนี้เป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมจะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ก่อนศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจสั่งได้ แต่เมื่อคดีนี้ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจสั่งได้เช่นกัน เมื่อโจทก์ร่วมถอนคำร้องทุกข์สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาโจทก์ร่วมยื่นคำแถลงว่ายังไม่ได้รับชดใช้เงินอีก 15,000 บาท ก็เป็นการขัดแย้งกับคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์จึงไม่อาจทำให้คำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ที่มีผลแล้วสิ้นผลไปได้
          หากเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ถ้าผู้เสียหายตายลง สิทธิถอนคำร้องทุกข์ตกแก่ทายาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2549   การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 126 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ สิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน กรณีผู้ร้องทุกข์ตายสิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท เมื่อได้ความตามคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ว่า บรรดาทายาททุกคนของผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป และขอถอนคำร้องทุกข์ ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้เสียหายซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย จึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้แม้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)
          คำสั่งคำร้องของศาลฎีกาที่ 751/2541   สิทธิขอถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 341 เป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน เมื่อผู้ร้องทุกข์ตายย่อมตกทอดแก่ทายาทผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนาง ป. ผู้ตาย เมื่อนาง ป. ผู้ร้องทุกข์ตายสิทธิในการถอนคำร้องทุกข์จึงตกแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาท ผู้ร้องมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เพราะได้รับชดใช้เงินที่ฉ้อโกงไปจากจำเลยแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2)
          การถอนฟ้อง สำหรับคดีความผิดต่อส่วนตัว โจทก์ถอนฟ้องเวลาก็ได้ แต่ต้องก่อนคดีถึงที่สุด ตามมาตรา 35 วรรคสอง ซึ่งการถอนฟ้องที่จะทำให้สิทธิการนำคดีอาญามาฟ้องระงับไปต้องเป็นการถอนฟ้องโดยเด็ดขาด คือ ถอนฟ้องเพราะไม่ติดใจจะดำเนินคดีกับจำเลยอีกต่อไป แต่ถ้าถอนฟ้องเพื่อไปเป็นโจทก์ร่วมกับอัยการในภายหน้า ถือว่าไม่ใช่การถอนฟ้องเด็ดขาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1245/2515   การถอนฟ้องของผู้เสียหายในคดีความผิดต่อส่วนตัวที่จะเป็นการตัดสิทธิพนักงานอัยการที่ยื่นฟ้องคดีใหม่นั้น ต้องเป็นการถอนฟ้องเด็ดขาด
          ผู้เสียหายถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัว เพื่อไปเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในสำนวนคดีเรื่องเดียวกัน หาใช่เป็นการถอนฟ้องเด็ดขาดตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 ไม่ จึงไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีใหม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2539  ผู้ร้องฟ้องและถอนฟ้องจำเลยไปโดยไม่ปรากฏข้อความในคำร้องขอถอนฟ้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ แล้วต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ในคดีนี้อีก แม้ว่าผู้ร้องอาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องกล่าวหรือมีข้อแม้ในคำร้องขอถอนฟ้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก็ตามแต่พฤติการณ์ที่ผู้ร้องเพิ่งจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หลังจากที่ได้ถอนฟ้องคดีเดิมไปแล้วเป็นระยะเวลานานกว่า 10 เดือน เห็นได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะถอนฟ้องจำเลยเด็ดขาดแล้วตั้งแต่ต้นตามความหมายใน ป.วิ.อ. มาตรา 36 การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการเท่ากับนำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่จึงต้องห้าม
          การยอมความ คือ การที่ผู้เสียหายและผู้กระทำความผิดตกลงยินยอมระงับข้อพิพาทระหว่างกัน ทั้งนี้ คดีความผิดอันยอมความได้นั้นจะยอมความในเวลาใดก่อนคดีถึงที่สุดก็ได้ (มาตรา 35 วรรคสอง) ซึ่งการยอมความในทางอาญานั้นกฎหมายไม่ได้บังคับให้ทำเป็นหนังสือเหมือนในทางแพ่ง ดังนั้น จึงอาจทำด้วยวาจาต่อหน้าศาล หรืออาจอนุมานเอาจากพฤติการณ์ต่างๆในคดีว่ามีการยอมความกันแล้วก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2523  ธนาคารปฏิเสธการใช้เงินเพราะไม่มีเงินในบัญชีพอจ่ายตามเช็คที่จำเลยออกใช้ราคาของที่ซื้อจากโจทก์  ต่อมาจำเลยส่งของขายแก่โจทก์ โจทก์รับของหักใช้หนี้ตามเช็คของจำเลยนั้น  ตามพฤติการณ์เห็นความมุ่งหมายว่าโจทก์จำเลยตกลงระงับข้อพิพาทไม่ดำเนินคดีอาญาสิทธิฟ้องคดีอาญาระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา 39(2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2550  ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อปรากฏว่า โจทก์ร่วมกับจำเลยได้ตกลงเกี่ยวกับค่าเสียหายที่กระบือของโจทก์ร่วมทำให้สวนแตงโมของจำเลยเสียหายและค่าเสียหายราคากระบือที่จำเลยยิงตายโดยทำบันทึกไว้เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2544 คู่กรณีตกลงกันแล้วต่างฝ่ายต่างไม่ติดใจเรียกร้องฟ้องกันทั้งทางแพ่งและอาญา โดยจำเลยได้ช่วยเหลือค่าเสียหายของกระบือที่ถูกยิงตายให้โจทก์ร่วมเป็นเงิน 7,000 บาท จะนำเงินมาจ่ายให้หมดในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 แล้วลงชื่อโจทก์ร่วมและจำเลย เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายมีผลให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แม้ต่อมาจำเลยจะไม่ชำระค่าเสียหายตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ร่วมก็ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาทำให้เสียทรัพย์หลังจากมีการยอมความกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วอีกได้

          (3) คดีอาญาเลิกกันตามมาตรา 37 ตามมาตรา 39 (3)
          คดีอาญาเลิกกันตาามาตรา 37 เป็นการดำเนินการเพื่อยุติคดีในชั้นสอบสวน
          มาตรา 37 "คดีอาญาเลิกกันได้ ดังต่อไปนี้
          (1) ในคดีมีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา
          (2) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีอื่นที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งมีโทษปรับอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบแล้ว
          (3) ในคดีความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ซึ่งเกิดในกรุงเทพมหานครเมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่นายตำรวจประจำท้องที่ตั้งแต่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป หรือนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรผู้ทำการในตำแหน่งนั้นๆ ได้เปรียบเทียบแล้ว
          (4) ในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามคำเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว"
          นอกจากนี้ในมาตรา 38 ยังกำหนดว่า
          ความผิดตามอนุมาตรา (2) (3) และ (4) แห่งมาตราก่อน ถ้าเจ้าพนักงานดั่งกล่าวในมาตรานั้นเห็นว่าผู้ต้องหาไม่ควรได้รับโทษถึงจำคุกให้มีอำนาจเปรียบเทียบดั่งนี้
          (1) ให้กำหนดค่าปรับซึ่งผู้ต้องหาจะพึงชำระ ถ้าผู้ต้องหาและผู้เสียหายยินยอมตามนั้น เมื่อผู้ต้องหาได้ชำระเงินค่าปรับตามจำนวนที่เจ้าหน้าที่กำหนดให้ภายในเวลาอันสมควรแต่ไม่เกินสิบห้าวันแล้ว คดีนั้นเป็นอันเสร็จเด็ดขาด
          ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้ว ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในเวลากำหนดในวรรคก่อน ให้ดำเนินคดีต่อไป
          (2) ในคดีมีค่าทดแทน ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหายินยอมให้เปรียบเทียบ ให้เจ้าหน้าที่กะจำนวนตามที่เห็นควรหรือตามที่คู่ความตกลงกัน
          ดังนั้น เมื่อพิจารณามาตรา 37 ประกอบมาตรา 38 แล้ว จะเห็นได้ว่า มาตรา 37 กำหนดหลักการคดีอาญาเลิกกันใน 2 กรณี กล่าวคือ
          ก.  เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนศาลพิจารณา สำหรับคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว ตามมาตรา 37 (1)
          ข. เมื่อผู้ต้องหาชำระค่าปรับตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ตามมาตรา 37 (2) (3) และ (4)
          การเปรียบเทียบของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่จะทำให้คดีอาญาระงับนั้นจะต้องเป็นการเปรียบเทียบที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย หากการเปรียบเทียบไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เจ้าพนักงานไม่มีอำนาจเปรียบเทียบ หรือเจ้าพนักงานเปรียบเทียบเกินอำนาจหน้าที่ หรือเป็นคดีที่ไม่สามารถเปรียบเทียบได้แล้ว เหล่านี้ไม่ทำให้คดีอาญาเลิกกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2849/2540   จำเลยขับรถในขณะเมาสุราและโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียวอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สิน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษ พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522มาตรา 43(4), 157 ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเพื่อให้ความผิดทั้งหมดเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37ได้ แม้พนักงานสอบสวนจะเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วก็ไม่ชอบ คดีไม่เลิกกันศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43(2), 160 วรรคสาม ตามฟ้องได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 354/2541  โจทก์แจ้งความกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ไม่ถึงกับเป็นเหตุอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวน ทำการเปรียบเทียบปรับ โจทก์และจำเลยทั้งสองต่างยินยอม คดีย่อมเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37(2) สิทธินำคดีอาญาในความผิดลหุโทษของโจทก์มาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3) แต่ปรากฏว่าหลังจากนั้นในวันเดียวกันโจทก์เกิดอาการมึนศีรษะ และอาเจียนจึงกลับไปให้แพทย์ตรวจใหม่ พบว่าสมองได้รับการ กระทบกระเทือนและมีเลือดคั่งต้องรักษานานประมาณ 30 วัน โดยโจทก์อ้างว่าเป็นผลเกิดจากถูกจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้แท่งเหล็กกลวงตี หากเป็นจริงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง คดีก็ไม่อาจเลิกกันได้เพราะกรณีมิใช่ความผิดลหุโทษเสียแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ระงับไป

          (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง ตามมาตรา 39 (4)
          กรณีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องนั้น มีหลักเกณฑ์ดังนี้
          1) จำเลยในคดีก่อนและคดีหลังต้องเป็นบุคคลเดียวกัน
          2) ข้อกล่าวหาในคดีก่อนและในคดีหลังมาจากเหตุอันเดียวกัน
          3) ศาลในคดีหนึ่งคดีใดมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว
          4) คดีก่อนต้องมีการฟ้องร้องและดำเนินคดีแก่จำเลยโดยแท้จริง (ไม่ใช่ดำเนินคดีโดยสมยอมกัน)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2501  บุตรผู้ตายเป็นผู้เสียหายฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนโดยเจตนาไว้ก่อนแล้วอัยการฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนโดยประมาทในมูลกรณีเดียวกัน ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยไปตามฟ้องอัยการ คดีถึงที่สุดแล้ว สิทธิของผู้เสียหายที่ได้ฟ้องไว้แล้วย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 39(4)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4871/2551  จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จโดยมีเจตนาเพียงอย่างเดียวเพื่อให้ศาลเชื่อถึงที่มาของที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นเหตุที่มูลนิธิสีมาสงเคราะห์ควรจะได้กรรมสิทธิ์ แม้การเบิกความของจำเลยทั้งสองจะทำให้ทั้งโจทก์และสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์ได้รับความเสียหาย แต่ก็เป็นการกระทำเพียงกรรมเดียวซึ่งควรที่จะต้องถูกดำเนินคดีหรือถูกลงโทษเพียงครั้งเดียว เมื่อสมาคมกำเนิดมิตรเจริญสงเคราะห์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับคำเบิกความดังกล่าวว่าเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจนคดีถึงที่สุดไปแล้ว ย่อมถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 262/2550   เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยพร้อมด้วยทรัพย์ของกลางในคดีก่อนกับคดีนี้ในคราวเดียวกัน แต่ที่แยกฟ้องเพราะทรัพย์ของกลางทั้งสองคดีมีผู้เสียหายสองคน การที่จำเลยมิได้รับทรัพย์ของกลางในคดีนี้กับในคดีก่อนไว้คนละคราวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานรับของโจรกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยในความผิดฐานรับของโจรแล้ว สิทธิที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยสำหรับความผิดฐานรับของโจรในคดีนี้จึงระงับไปตามป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2525   โจทก์เคยฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลที่ถูกจำเลยทำร้าย โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาซึ่งเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวกันในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์อีกไม่ได้ เพราะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 3792/2524)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6446/2547    หลักการของ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริงหากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความจากสำเนาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3239/2543 ของศาลชั้นต้นและในคดีนี้ว่า เหตคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้หลบหนีการจับกุมพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2543 ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในข้อหาฆ่าผู้อื่นต่อศาลชั้นต้นด้วยตัวเองโดยมิได้ประสานงานให้พนักงานอัยการโจทก์ทราบ ในการดำเนินคดี ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียง 2 ปาก คือตัวผู้เสียหายเองซึ่งมิได้รู้เห็นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและ ศ. ผู้ซึ่งอ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์คดีนี้โดยเห็นคนร้ายเป็นชายทางด้านหลังและด้านข้างใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและยืนยันด้วยว่ามิใช่จำเลยนี้ในที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 พ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว โดยผู้เสียหายก็มิได้ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษและให้การปฏิเสธ นอกจากนี้จำเลยยังยื่นคำร้องต่อโจทก์เพื่อขอความเป็นธรรมว่า ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในข้อหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนามาแล้ว ชั้นที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า หลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างแท้จริง หากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3239/2543 ของศาลชั้นต้น ซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นกรรมเดียวกันกับคดีนี้มีพฤติการณ์บ่งชี้ว่าผู้เสียหายโจทก์ในคดีนั้นจะดำเนินคดีโดยสมยอมโดยไม่สุจริต เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีผู้พบเห็นจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนได้มีการระบุชื่อจำเลยเป็นผู้ทำให้ตายไว้ในรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง หลังเกิดเหตุผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและได้มีการออกหมายจับจำเลยไว้แต่จำเลยหลบหนีการจับกุม คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานตำรวจ ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3239/2543 ของศาลชั้นต้น และยังปรากฏด้วยว่าในการดำเนินคดีดังกล่าวทนายโจทก์เพียงแต่นำผู้เสียหายซึ่งไม่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุและ ศ. ผู้ซึ่งอ้างว่าเห็นเหตุการณ์แต่กลับเบิกความเป็นปฏิปักษ์ต่อคดีเข้าเบิกความต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องอันเป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีนั้นเพราะเห็นว่าคดีไม่มีมูล และโจทก์คดีนั้นก็ไม่ยื่นอุทธรณ์เช่นนี้ ย่อมส่อแสดงว่าคดีก่อนผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยในลักษณะสมยอมกัน เป็นการดำเนินคดีโดยไม่สุจริตเพื่อหวังผลเพียงต้องการตัดสิทธิพนักงานอัยการโจทก์คดีนี้มิให้มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยซ้ำสองได้อีกเท่านั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าคดีก่อนได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้หาได้ระงับไปไม่ ดังนั้น พนักงานอัยการโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้