16 กันยายน 2557

จดทะเบียนให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิเก็บกินในที่ดินของตน แม้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินจะนำที่ดินออกให้ผู้อื่นเช่า เจ้าของที่ดินก็ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่


          เมื่อจดทะเบียนให้ผู้อื่นเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต ผู้ทรงสิทธิเก็บกินย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นได้แต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมไม่มีสิทธิ์เข้ามาจัดการทรัพย์สินนั้น

          

          คำพิพากษาฎีกาที่  15033/2555 โจทก์จดทะเบียนให้นาย ส.และนาง บ. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต นาย ส.และนาง บ. ย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นได้แต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านี้ด้วยไม่  การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาท จึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง  
          
          หลักกฎหมาย

          ป.พ.พ. มาตรา 1417  อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในบังคับสิทธิเก็บกินอันเป็นเหตุให้ผู้ทรงสิทธินั้นมีสิทธิครอบครอง ใช้ และถือเอาซึ่งประโยชน์แห่งทรัพย์สินนั้น  
          ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สิน 
          ผู้ทรงสิทธิเก็บกินในป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหิน มีสิทธิทำการแสวงประโยชน์จากป่าไม้ เหมืองแร่ หรือที่ขุดหินนั้น
 

การเอาแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้คันอื่นมาติดรถอีกคันหนึ่ง ไม่ผิดฐานปลอมเอกสารหรือใช้เเอกสารปลอม



มาตรา 264 วรรคแรก  ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก มีองค์ประกอบดังนี้
1. ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด  หรือ
   เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง  หรือ
   ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
2. โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (พฤติการณ์ประกอบการกระทำ)
3. กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง  (เจตนาพิเศษ)
4. เจตนา 

แต่ เอาแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้คันอื่นมาติด ไม่ผิดฐานปลอมเอกสารหรือใช้เเอกสารปลอม
ตัวอย่าง การที่จำเลยนำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข น.0311พังงา ซึ่งเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่ทางราชการออกให้แก่รถยนต์ของ ส. นำไปใช้ติดกับรถยนต์จำเลยซึ่งเป็นรถยนต์อีกคันหนึ่ง แม้จะโดยมีเจตนาแสดงให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่ารถยนต์ของจำเลยเป็นรถยนต์ที่มี หมายเลขทะเบียน น.0311 พังงา ก็ตามเมื่อแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ดังกล่าวเป็นแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้ จริงซึ่งทางราชการออกให้แก่รถยนต์คันอื่น จำเลยย่อมไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารราชการปลอม (คำพิพากษาฎีกาที่ 1141/2523)  
สาเหตุที่ไม่ผิดปลอมเอกสารก็เพราะว่า แผ่นป้ายทะเบียนดังกล่าวเป็นของจริง ไม่ใช่ของปลอม แม้เอามาใช้กับรถคันอื่นๆ ก็ไม่ผิดปลอมเอกสาร

กรณีผิด ปลอมเอกสาร หรือใช้เอกสารปลอม
ตัวอย่าง  จำเลยที่ 1 ได้นำแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมปิดทับแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่แท้จริงที่ด้านหน้าและด้านท้ายของรถเพื่อใช้รถยนต์เดินทางไปที่เมืองพัทยา ป้องกันมิให้ผู้ที่พบเห็นทราบหมายเลขทะเบียนรถที่แท้จริงหากเกิดอุบัติเหตุ ในระหว่างการเดินทาง จึงเป็นการใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ปลอมอย่างเป็นเอกสารราชการที่แท้จริง เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นรถยนต์ตามแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์ที่มีการทำปลอมขึ้น และที่เกิดเหตุซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจพบการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เป็นสถานที่เปิดเผยในทางเดินรถสาธารณะ แม้จำเลยที่ 1 ยังมิได้ใช้รถยนต์เดินทางเคลื่อนที่จากจุดเกิดเหตุที่มีการลงมือกระทำความผิด ก็เป็นความผิดสำเร็จฐานใช้เอกสารราชการปลอม จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 (คำพิพากษาฎีกาที่ 15446/2555)
กรณีนี้ผิด เพราะนำป้ายทะเบียนปลอมมาปิดทับป้ายจริง 

14 กันยายน 2557

ข้อตกลงท้ายสัญญาจำนองว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ถ้าในกรณีที่หนี้ขาดอายุความ จะบังคับทรัพย์สินอื่นได้หรือไม่

          สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบนั้น กรณีที่หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้ว ถ้าผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้หรือไม่ 
          เรื่องนี้ได้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้ตัดสินเอาไว้ครับ ดังนี้
          ธนาคารเป็นโจทก์ ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2539 นางเหลืองทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 490,000 บาท เพื่อไถ่ถอนห้องชุดตกลงยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตรา ดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น โดยโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้นางเหลืองทราบล่วงหน้า ทั้งนี้นางเหลืองจะชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 7,550 บาท ภายในทุกวันที่ทำสัญญากู้เงิน เริ่มชำระตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไป โดยชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่มีต่อโจทก์นางเหลืองได้นำห้องชุดเลขที่ 181/151 จดทะเบียนจำนองไว้แก่โจทก์ในวงเงิน 490,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี โดยมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ นางเหลืองยอมรับผิดชำระเงินส่วนที่ขาดจนครบถ้วน นอกจากนี้นางเหลืองยังสัญญาจะทำประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์และนางเหลืองเป็นผู้ออกเงินค่าเบี้ยประกันภัยตลอดไปจนกว่าจะชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์จนครบถ้วน นับแต่นางเหลืองได้กู้เงินไปจากโจทก์ได้ประพฤติผิดสัญญาต่อโจทก์ค้างชำระหนี้ติดต่อกันหลายงวดโดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2540 จำนวน 23,000 บาท ต่อมานางเหลืองได้ถึงแก่ความตายบรรดาทรัพย์สินตลอดจนสิทธิและหน้าที่ในทรัพย์สินจึงตกแก่ นายแดง จำเลย ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม ก่อนฟ้องคดีธนาคารโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้นายแดงในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลือง ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแต่นายแดงเพิกเฉย นับถึงฟ้องมีหนี้ที่นายแดง จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์เป็นต้นเงิน 455,591.43 บาท ดอกเบี้ย 772,311.68 บาท ค่าเบี้ยประกันภัย 5,541,17 บาท รวมเป็นเงิน 1,233,444.28 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,233,444.28 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 455,591.43 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 700.89 บาท ทุกวันที่ 1 เมษายน ของทุกสามปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2552 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากได้เงินมาไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่น ในกองมรดกของนางเหลืองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบถ้วน
          นายแดงต่อสู้ว่าหนี้ขาดอายุความแล้ว
          เรื่องนี้มีการต่อสู้ขึ้นมาถึงชั้นฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลืองให้รับผิดในมูลหนี้เงินกู้ และบังคับจำนอง โจทก์ฟ้องคดีหลังจากที่นางเหลืองถึงแก่ความตายเกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ในมูลหนี้เงินกู้จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสี่ แต่โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำนองได้ คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของนางเหลือง หรือไม่ เห็นว่า เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้จนสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 เมื่อปรากฏว่านางเหลืองลูกหนี้ถึงแก่ความตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของนางเหลืองชำระหนี้จาก ทรัพย์สินในกองมรดกของนางเหลืองได้ แม้หนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับเอาจากทรัพย์สินที่จำนองได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม และมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของนางเหลืองได้ด้วยไม่ แม้สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันเอกสารหมาย จ.10 และ จ.11 จะมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของ ลูกหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ก็ตาม เพราะเมื่อหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้ประธานขาดอายุความแล้ว ทรัพย์สินอื่นในกองมรดกของนางเหลืองย่อมไม่ตกอยู่ในความรับผิดทางแพ่งอีก ต่อไป"
          สรุป คือ เมื่อหนี้ที่จำนองขาดอายุความแล้ว แม้มีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองระบุให้เจ้าหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มีสิทธิยึดทรัพย์สินอื่นของลูกหนี้มาชำระหนี้ได้ในกรณีที่ทรัพย์สินที่จำนองไม่พอชำระหนี้ ก็ตาม ลูกหนี้ก็ไม่ต้องรับผิดตามข้อตกลงนั้น เจ้าหนี้คงบังคับชำระหนี้ได้เฉพาะจากทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกันที่จำนองไว้เท่านั้น (เทียบเคียง คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3705/2551)

12 กันยายน 2557

สั่งจ่ายเช็คไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ ไม่ผิดอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

          เดิม พ. จำเลย เป็นพนักงานขายรถยนต์ของห้างสยาม เมื่อปี 2546 โจทก์และ พ. จำเลยเข้าหุ้นกันประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์มือสอง โดยโจทก์ลงทุนด้วยเงินสด พ. จำเลยลงทุนด้วยแรงงานทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อซื้อขายรถยนต์กับลูกค้าและตกลงแบ่งกำไรให้จำเลยร้อยละ 40 จนถึงกลางปี 2547 ก็เลิกการเป็นหุ้นส่วนกัน แต่ พ.จำเลยยังคงประกอบกิจการต่อและกู้ยืมเงินจากโจทก์ไปลงทุนหลายครั้ง เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ พ.จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์รวม 5 ครั้ง ซึ่งในการกู้ยืมเงินแต่ละครั้งจำเลยได้ออกเช็คธนาคารมอบให้ไว้แก่โจทก์ รวมแล้วมี 6 ฉบับ ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 30 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท และฉบับที่ 3 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2548 จำนวนเงิน 340,000 บาท ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 20 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,200,000 บาท ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 24 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 325,000 บาท และฉบับที่ 6 ลงวันที่ 24 เมษายน 2548 จำนวนเงิน 1,015,000 บาท ครั้นเช็คทั้งหกฉบับถึงกำหนด ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทุกฉบับ โจทก์ก็นำคดีมาฟ้องศาล เรื่องนี้ศาลก็ยกฟ้องอีกเช่นกัน ครับ
          เหตุผลก็คือ ตามหนังสือสัญญาเงินกู้และหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน แม้มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงและจะชำระหนี้ด้วยเช็คพิพาท แต่ในการค้นหาเจตนาที่แท้จริงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงอื่น ๆ ประกอบเข้าด้วย โดยเฉพาะพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหลายในขณะที่มีการออกเช็ค หาใช่ต้องถือตามข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรโดยฝ่ายเดียว ซึ่งในข้อนี้เดิมได้ความว่า จำเลยเป็นเพียงพนักงานขายรถยนต์ แต่เหตุที่จำเลยมาร่วมกับโจทก์ประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์มือสองได้ก็เพราะมีโจทก์เป็นคนออกเงินทุนให้ และที่จำเลยสามารถลงทุนได้ด้วยแรงงานเพียงอย่างเดียว แสดงว่า โจทก์เองทราบเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้นว่า จำเลยไม่มีหนทางใดที่จะหาเงินมาลงทุนด้วยได้เลย เพราะไม่เช่นนั้นโจทก์คงไม่ยอมให้จำเลยเอาเปรียบที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการสูญเสียเงินลงทุนหากกิจการประสบภาวะขาดทุน
          ดังนี้ การที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืมเงินจำนวนมากและหลายครั้งในระยะเวลาต่อเนื่องใกล้เคียงกัน โดยที่จำเลยยังมิได้ชำระหนี้เดิมให้เสร็จสิ้นหรือแม้บางส่วน เชื่อว่าโจทก์ทราบดีว่าจำเลยจะยังคงไม่สามารถที่จะหาเงินมาชำระหนี้ซึ่งมี จำนวนมากให้แก่โจทก์ในระยะเวลาอันใกล้ได้เลย ถึงแม้เป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปโดยสมัครใจของจำเลยเอง มิได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญของโจทก์และจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้เงินกู้ยืมโจทก์และออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์จริง ก็เป็นการยอมรับการเป็นหนี้ในทางแพ่งเท่านั้น หาใช่เป็นการยอมรับว่าจำเลยออกเช็คเพื่อการชำระหนี้เงินกู้ยืมด้วยไม่

          ดังนี้ เมื่อจำเลยไปกู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์ก็จะให้จำเลยออกเช็คมอบให้โจทก์ไว้เป็นประกัน และที่เช็คฉบับที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีการแก้ไขข้อความวันที่และจำนวนเงิน เป็นการนำเช็คที่จำเลยออกให้แก่โจทก์ไว้เดิมมาแก้ไขด้วยเหตุที่จำเลยกู้ยืมเงินเพิ่มเติม ซึ่งโจทก์เพียงยึดถือเช็คดังกล่าวไว้เป็นประกันหนี้เงินกู้ยืม ยังเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกับการออกเช็คฉบับที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ทั้งการที่โจทก์มิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในทันทีที่เช็คแต่ละฉบับถึงกำหนดใช้เงิน แต่นำเช็คหลายฉบับไปเรียกเก็บในคราวเดียวกัน ยังเป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นเพราะโจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าถึงอย่างไรเช็คก็ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ตามกำหนดนั่นเอง จึงเชื่อว่าขณะที่จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์แล้วออกเช็คพิพาทให้ไว้แก่โจทก์ล่วงหน้า โจทก์ทราบดีแล้วว่าจำเลยไม่มีทางที่จะชำระเงินตามเช็คได้ แต่ที่โจทก์ยอมรับเช็คไว้ก็เพื่อเป็นประกันหนี้และอาจนำมาฟ้องร้องบีบบังคับจำเลยเป็นคดีอาญาได้อีกทางหนึ่งเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เป็นการออกเช็คเพื่อประกันหนี้ ไม่ใช่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริง จึงไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 ครับ

เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2144/2556
 

17 พฤษภาคม 2557

ฟ้องซ้ำ ป.วิ.อ.มาตรา 39(4)

           หลักกฎหมายเรื่อง ฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(4) มีแนวคิดมาจากการคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดีว่า "ไม่ควรถูกดำเนินคดีซ้ำสองครั้ง จากการกระทำเดียว"    
     
หลักเกณฑ์ *** คือ เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ

1. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  หมายถึง  คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ไม่ใช่คำพิพากษาถึงที่สุดเหมือนฟ้องซ้ำในคดีแพ่ง (ป.วิ.พ.มาตรา 148)  ดังนั้น คดีอาญาที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ถือว่าคดีนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว  แม้คดีนั้นยังไม่ถึงที่สุดเพราะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือฎีกาก็ตาม  (ฎ.3488/29, 3116/25)  คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดนี้อาจเป็นคำพิพากษาของศาลทหารก็ได้  (ฎ. 937/87, 764/05)

2. จำเลยในคดีก่อนและคดีหลัง ต้องเป็นคนเดียวกัน
ในความผิดอาญาเรื่องเดียวกัน แม้โจทก์จะไม่ใช่คนเดียวกัน  เช่น ผู้เสียหายและอัยการต่างฟ้องจำเลยต่อศาล หากศาลชั้นต้นพิพากษาคดีหนึ่งคดีใดแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องอีกคดีหนึ่งย่อมระงับไป แม้จะฟ้องคดีไว้ก่อนก็ตาม  (ฎ. 1037/01, 1438/27)  หรือจำเลยหลายคนถูกพนักงานอัยการฟ้องจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไป จำเลยคนใดคนหนึ่งในคดีนั้นจะไปฟ้องจำเลยด้วยกันในเรื่องเดียวกันเป็นคดีใหม่ไม่ได้เช่นกัน (ฎ. 738/93, 999/12)

3. คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้อง
จำเลยต้องถูกดำเนินคดีในคดีก่อนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการสมยอมกัน โดยคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีก่อนอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา  39 (4) นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง    ดังนี้หากคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องคดีกันอย่างสมยอม เพื่อหวัง ผลมิให้มีการฟ้องร้องแก่จำเลยได้อีก ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงยังไม่ระงับ  (ฏ. 6446/47, 9334/38)
** คำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง จะต้องเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงความผิดของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่   หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องเป็นการวินิจฉัยถึงเนื้อหาของความผิดด้วย  จึงจะถือว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว  เช่น ศาลชั้นต้นยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจะเลยกระทำผิดตามฟ้อง   หรือ ศาลยกฟ้องโดยถือว่าโจทก์ไม่มีพยานมาสืบมีผลเท่ากับโจทก์พิสูจน์ความผิดของจำเลยไม่ได้  ดังนี้ฟ้องใหม่ไม่ได้ (ฎ. 1382/92)
แม้จะเป็นการพิพากษายกฟ้องในชั้นตรวจฟ้อง หากมีการวินิจฉัยในเนื้อหาแห่งการกระทำของจำเลยแล้วว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด  ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้องแล้ว  ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 2757/44)
ศาลยกฟ้องเพราะขาดองค์ประกอบความผิด เท่ากับฟังว่าการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องไม่เป็นความผิด แม้จะเป็นคำวินิจฉัยในชั้นตรวจคำฟ้อง  ก็ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาด ในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว(ฎ. 6770/46)
ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะเพราะฟ้องมิได้กล่าวถึง เวลา สถานที่ ซึ่งจำเลยกระทำผิด  เท่ากับฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าจำเลยกระทำผิดในเวลาใด สถานที่ใด  เป็นการวินิจฉัยความผิดของจำเลยแล้ว  ฟ้องใหม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 687/02 ป. , 776/90 ป.)    การที่ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องไม่ระบุเวลากระทำผิด ถือว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว แต่ถ้าศาลพิพากษายกฟ้องเพราะฟ้องบรรยาย เวลาที่เกิดการกระทำ ผิดในอนาคต ซึ่งเป็นฟ้องเคลือบคลุม  ถือว่าศาลยังมิได้วินิจฉัยความผิดที่ได้ฟ้อง  ฟ้องใหม่ได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา  39(4) (ฎ. 1590/24)
ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุม  เช่น  การบรรยายเวลากระทำความผิดในอนาคต หรือการบรรยายฟ้องขัดกัน ถือว่ายังไม่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  จึงฟ้องใหม่ได้  (ฎ. 2331/14)
กรณีโจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัดตามมาตรา  166  ศาลจะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา  132, 174 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา  15   ย่อมไม่ถูกต้อง  ควรพิพากษายกฟ้อง  แต่อย่างไรก็ตามถ้าศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี ดังนี้ ฟ้องใหม่ได้  ไม่เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 162-3/16)
ศาลยกฟ้องเพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล(ฎ. 3981/35)  หรือศาลยกฟ้องเนื่องจากโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง (ฎ. 2294/17) ไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำผิดของจำเลย  ถือว่ายังไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง   จึงฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะคำฟ้องไม่ได้ลงชื่อโจทก์ หรือผู้เรียง  ดังนี้ย่อมไม่ได้วินิจฉัยความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ได้ ไม่เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 3096/24, 5834/30)
ข้อสังเกต 
1)  แม้การที่ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ถือว่ายังมิได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง ฟ้องใหม่ไม่เป็นฟ้องซ้ำก็ตาม  แต่ระหว่างที่คดีเดิมยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์ฟ้องใหม่ ย่อมเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา  173 ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา  15  (ฎ. 1012/27)  
2)  ฟ้องซ้อน ตาม ป.วิ.พ.มาตรา  173(1)  โจทก์ต้องเป็นคนเดียวกัน แต่หากคดีก่อนผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้อง คดีหลังพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้อง   กรณีดังกล่าวถือว่าโจทก์เป็นคนละคนกัน  ไม่เป็นฟ้องซ้อนตามมาตรา 173(1)  ดังนั้นถ้าผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องทั้งสองคดี  ถือว่าโจทก์เป็นคนเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้อน

4. ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง     
ในความผิดซึ่งได้ฟ้อง  หมายถึง การกระทำที่ก่อให้เกิดความผิดนั้นๆ  ไม่ได้หมายถึงฐานความผิด  ดังนั้น การกระทำความผิดในคราวเดียวกัน หรือการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท  เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีแล้ว  โจทก์จะฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ แม้จะขอให้ลงโทษคนละฐานความผิดก็ตาม (ฎ. 4656/12)
การกระทำกรรมเดียวกันมีผู้เสียหายหลายคน  เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งได้ฟ้องคดีจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับ ผู้เสียหายคนอื่นก็จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้ เช่น  รับของโจรไว้หลายรายการในคราวเดียวกัน แม้จะเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายต่างรายกัน  ก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว  โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานรับของโจรทรัพย์รายการอื่นอีกไม่ได้ (ฎ. 7296/44ล 4747/33,)  หรือหมิ่นประมาทบุคคลหลายคนในคราวเดียวกัน เมื่อผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องคดีจนมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา  39(4)  ผู้เสียหายคนอื่นจะมาฟ้องจำเลยอีกไม่ได้ (ฎ. 1853/30)   แต่ถ้าผู้เสียหายคนหนึ่งฟ้องจำเลยและได้ถอนฟ้องแล้ว   ผู้เสียหายคนอื่นก็ยังฟ้องคดีได้อีก (ฎ. 5934/33)
  ข้อสังเกต  ดังนั้น จึงได้หลักว่าการกระทำที่เป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์ฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาในความผิดบทใดบทหนึ่งไปแล้ว ถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว โจทก์จะนำการกระทำเดียวกันมาฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ แม้จะฟ้องคนละฐานความผิดกันก็ตาม   ดังนั้นจึงต้องศึกษาว่ากรณีใดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทหรือเป็นความผิดหลายกรรม  เช่น
    -  จำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายหลายคนในคราวเดียวกัน  เช่นทรัพย์อยู่ในฟ้องเดียวกัน จึงลักเอาไปพร้อมกัน เป็นกรรมเดียวกัน (ฎ. 6705/46, 1104/04) แต่การลักทรัพย์ของผู้เสียหายทีละคนแม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดกัน เป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 1281/46) 
    -  การที่จำเลยใช้ไม้ตีทำร้ายผู้เสียหายหลายคนติดต่อกัน ถือว่าเป็นต่างกรรม  (ฎ. 1520/06)  แต่การทำร้ายโดยไม่แยกแยะว่าใครเป็นใคร  เป็นเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียว (ฎ. 2879/46)  เช่นวางระเบิดครั้งเดียว มีคนเจ็บหลายคน 
    - กระทำชำเราหญิงในแต่ละครั้งใหม่  เนื่องจากต้องปกปิดมิให้ผู้อื่นรู้  ไม่ต่อเนื่องกัน แยกต่างหากจากกันได้ เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 4232/47)
     - บุกรุกที่ดินของผู้เสียหายหลายคน (โดยเขตที่ดินอยู่ติดกัน)  เป็นการกระทำผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 2725/35)
     -   คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกายต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาล ผู้เสียหายถึงความตาย  ดังนี้ โจทก์จะฟ้องจำเลยฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ ตามมาตรา  39(4)  เพราะทั้งสองคดีเกิดจากการกระทำอันเดียวกันของจำเลย (ฎ. 3116/25, 1124/96 ป.)
   -  จำเลยบุกรุกอสังหาริมทรัพย์เพื่อเข้าไปกระทำความผิดอาญาข้อหาอื่น เช่นบุกรุกเพื่อเข้าไปลักทรัพย์    เป็นความผิดกรรมเดียวกัน  เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยบางข้อหาจนศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้น  โจทก์จะนำข้อหาอื่นมาฟ้องอีกไม่ได้ (ฎ. 1193/29, 1949/47)
   -  ความผิดฐานมีอาวุธปืนกระบอกเดียวกันไว้ในความครอบครองฯ ครั้งก่อนและครั้งหลังต่อเนื่องกัน เป็นกรรมเดียว เมื่อศาลพิพากษาลงโทษการกระทำครั้งหลังไปแล้ว โจทก์ก็ไม่มีสิทธินำการกระทำครั้งแรกมาฟ้องอีก (ฎ. 2083/39)   เพราะตราบใดที่ยังคงครอบครองอาวุธปืนกระบอกเดียวกัน และเครื่องกระสุนปืนรายเดียวกัน ก็เป็นกรรมเดียวกัน  แต่ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านฯ  ตาม ป.อ. มาตรา  371   ในแต่ละครั้งเป็นความผิดต่างกรรมกัน 
    - จำเลยลักเอาเช็คหรือรับของโจรแล้วนำไปปลอม เพื่อเบิกถอนเงินจากธนาคารเป็นเจตนาเดียวกัน  เพื่อให้ได้เงินไปจากธนาคาร  จึงถือว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท   เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยฐานลักทรัพย์ รับของโจร และฐาน เอาเอกสารของผู้อื่นไป  และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดลงโทษจำเลยไปแล้ว โจทก์มาฟ้องจำเลยอีกในข้อหาปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามมาตรา  39(4)
    -  จำเลยปลอมและใช้เอกสารปลอมก็เพื่อใช้ยักยอกเงินของโจทก์ร่วม เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท  เมื่อโจทก์ฟ้องข้อหายักยอกจนศาลพิพากษาไปแล้ว จะมาฟ้องจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอมอีกไม่ได้ เพราะสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยระงับไปแล้ว   (ฎ. 3238/36)
- ทำความผิดข้อหาปลอมเอกสาร แล้วผู้ทำนำเอกสารนั้นไปใช้   กฎหมายให้ลงโทษข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอมนั้นอย่างเดียว  ดังนั้น เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องข้อหาปลอมเอกสาร ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ก็ต้องถือว่าความผิดในข้อหาใช้หรืออ้างเอกสารปลอม คดีถึงที่สุดเสร็จเด็ดขาดไปแล้วด้วย ฟ้องใหม่ในข้อหานี้อีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ  (ฎ. 11326/09 ป.)
- ในความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง เมื่อมีการฟ้องเฉพาะการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจนศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว  จะฟ้องการกระทำอื่นที่รวมอยู่ด้วยอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ (ฎ. 424/20)
- เบิกความเท็จหลายตอนในคราวเดียวกันเป็นความผิดหลายกรรม (ฎ. 908/96)
- ความผิดฐานลักปืนของผู้เสียหายกับความผิดฐานมีอาวุธปืนดังกล่าวไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดต่างกรรมกัน (ฎ. 888/07 ป.)  
- ในความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ถ้าความผิดบทหนึ่งเสร็จไปเพราะศาลชั้นต้น จำหน่ายคดี  เนื่องจากผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์   ถือไม่ได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ฟ้อง  จึงไม่ทำให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องในความผิดอื่นที่เป็นกรรมเดียวกันนั้น ระงับไปด้วย (ฎ. 7320/43)