15 กรกฎาคม 2559

เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายหรือรับอันตรายสาหัส

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 294  "ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"
          มาตรา 299  "ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ เช่น

          การชุลมุนต่อสู้กันจะต้องไม่สามารถรู้หรือไม่สามารถแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2642/2542  จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 มีเจตนาร่วมวิวาททำร้ายผู้ตายกับพวกมาแต่แรกอีกทั้งได้ลงมือทำร้ายผู้ตายกับพวกโดยร่วมกัน ชกต่อยและใช้ไม้ตี ถึงแม้ผู้ตายจะถึงแก่ความตายเพราะถูกแทง โดยไม่รู้ว่าจำเลยคนไหนเป็นคนแทง จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 8 ก็มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย การที่จำเลยกับพวกฝ่ายหนึ่งและผู้ตายกับพวกอีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้ทำร้ายกัน แม้แต่ละฝ่ายมีหลายคนแต่เมื่อสามารถรู้และแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันได้ หาใช่เป็นความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กันเป็นเหตุให้มีบุคคลถึงแก่ความตายไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1189/2537  แม้จำเลยจะมีพวกน้อยกว่า แต่จำเลยกับพวกมีทั้งอาวุธปืนและอาวุธมีด น่าจะเป็นเหตุให้จำเลยกับพวกไม่ได้เกรงกลัวโจทก์ร่วมกับผู้เสียหาย การทะเลาะวิวาทระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงเป็นการสมัครใจวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน อันเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจอ้างเรื่องป้องกันตัวมาเป็นข้อต่อสู้ได้ แม้ว่าในระหว่างการวิวาทกันนั้นจำเลยอาจเพลี่ยงพล้ำไปบ้างก็ตาม และกรณีที่โจทก์ร่วมกับผู้เสียหายฝ่ายหนึ่ง และจำเลยกับพวกอีกฝ่ายหนึ่งได้เกิดวิวาททำร้ายกัน และจำเลยใช้อาวุธปืนพกที่ติดตัวไปยิงโจทก์ร่วมกับพวกและใช้อาวุธมีดปลายแหลมแทงโจทก์ร่วมและผู้เสียหายเช่นนี้เป็นคนละกรณีกับเรื่องชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปเพราะกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจทราบได้ว่าผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายโจทก์ร่วมและการที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงยิงโจทก์ร่วมกับพวก กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมและพลาดไปถูกผู้อื่นถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4804/2530  กรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลถึงตาย ตาม ป.อ. มาตรา 294 หมายถึงกรณีที่ไม่ทราบว่าผู้ใดหรือผู้ใดร่วมกับใครได้ทำร้ายผู้ตายถึงตาย มิใช่กรณีที่ฝ่ายหนึ่งกลุ้มรุมกันทำร้ายผู้ตายถึงตาย ซึ่งฝ่ายนั้นต้องรับผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนา.

          การเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจนมีผู้เสียชีวิต จะต้องไม่อาจทราบได้ว่าใครหรือฝ่ายไหนเป็นคนทำร้ายให้เสียชีวิต 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3713/2531  ผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายในขณะเกิดชุลมุนต่อสู้หรือสมัครใจวิวาทกันระหว่างฝ่ายผู้ตายและฝ่ายจำเลยซึ่งได้เข้าร่วมในการชุลมุนตั้งแต่สามคนขึ้นไป โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เข้าร่วมในการชุลมุนคนใดใช้มีดแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย เช่นนี้ จะถือว่าผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294 เท่านั้น
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้ตายซึ่งอยู่ในที่ชุลมุนด้วยถูกแทงทำร้ายถึงแก่ความตาย คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาวินิจฉัยเฉพาะที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้ตายด้วยเท่านั้น โจทก์มี ว. พ. และ ส. ซึ่งรู้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุมาเป็นพยานเบิกความถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในคดีนี้ว่าจำเลยใช้มีดปลายแหลมแทงทำร้ายผู้ตาย แต่พยานโจทก์ทั้งสามนี้กลับเบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์เดียวกันนี้ไว้ในคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1800/2528 ของศาลชั้นต้นว่า คนร้ายถือมีดมีหลายคน ที่สำคัญไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนแทงทำร้ายผู้ตายแต่อย่างใด โดยเฉพาะ ว.เบิกความว่า ค.เป็นคนใช้มีดแทงทำร้ายผู้ตาย ส่วน พ.กับ ส.เบิกความในคดีก่อนในส่วนที่เกี่ยวกับคนร้ายรายนี้ว่า มี ข.(ชื่อเหมือนกันกับชื่อจำเลยในคดีนี้) ยืนอยู่ในกลุ่มของ ค. ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 คนในขณะเกิดเหตุด้วย สำหรับคดีนี้ ว.เบิกความว่า จำเลยใช้มีดแทงที่ท้องของผู้ตาย พ.เบิกความว่า จำเลยแทงทำร้ายผู้ตาย 2 ครั้งคือที่ท้องและหลัง ส่วน ส. เบิกความตอนแรกว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยถือเหล็กขูดซาฟท์ แต่เบิกความตอนแทงทำร้ายผู้ตายว่าจำเลยใช้มีดแทงอย่างไรก็ดี ตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตายท้ายฟ้องปรากฏว่าผู้ตายถูกแทงมีบาดแผล 2 แผล คือที่บริเวณหลังด้านซ้ายกับที่บริเวณหลังด้านขวา หาใช่ถูกแทงที่ท้องดังพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความไม่ เมื่อคำเบิกความของพยานโจทก์ขัดต่อลักษณะสภาพบาดแผลของผู้ตาย ประกอบกับได้ความว่าพยานโจทก์ก็ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยจนต้องวิ่งหนีเอาตัวรอด และไม่ทราบว่าถูกผู้ร่วมในการชุลมุนคนไหนแทงทำร้ายรวมทั้งพยานโจทก์ได้เบิกความให้ข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีคนแทงทำร้ายผู้ตายซึ่งเป็นสาระสำคัญ 2 ครั้ง แตกต่างกันไม่อยู่กับร่องรอยเช่นนี้ ทำให้น่าเชื่อว่าพยานโจทก์คงเห็นไม่ถนัดหรือไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าผู้ร่วมในการชุลมุนคนไหนใช้มีดแทงทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าผู้ตายถึงแก่ความตายสืบเนื่องจากการที่จำเลยกับพวกของจำเลยเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้และแม้พวกของจำเลยจะได้ร่วมทำร้ายร่างกายผู้ตายด้วย ก็ต้องถือว่าจำเลยกับพวกของจำเลยร่วมกันฆ่าผู้ตายนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ตายถูกทำร้ายร่างกายในขณะเกิดชุลมุนต่อสู้หรือสมัครใจวิวาทกันระหว่างฝ่ายผู้ตายและฝ่ายจำเลยซึ่งได้เข้าร่วมในการชุลมุนตั้งแต่สามคนขึ้นไปโดยไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้เข้าร่วมในการชุลมุนคนไหนใช้มีดแทงทำร้ายร่างกายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายเช่นนี้ จะถือว่าผู้ที่สมัครใจเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ทั้งหมดมีเจตนาร่วมกันฆ่าผู้ตายไม่ได้ ด้วยเหตุดังได้วินิจฉัยมา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น"

          ใช้สิ่งของขว้างปากับกลุ่มคนที่ทะเลาะวิวาทกัน เป็นการเข้าร่วมในการชุลมุนวิวาทด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2241/2522  ใช้สิ่งของขว้างปากับกลุ่มคนที่ทะเลาะวิวาทกัน เป็นการเข้าร่วมในการชุลมุนวิวาทด้วย เมื่อเป็นเหตุให้มีคนตาย เป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 294
          ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ใช้สิ่งของขว้างปากับกลุ่มบุคคลที่ทะเลาะวิวาทนั้นฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ด้วย และเหตุที่มีการขว้างระเบิดจนเป็นเหตุให้มีคนถึงแก่ความตายและบาดเจ็บสาหัสก็โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น"
          
          ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวาย โดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8737/2553  ความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่รับอันตรายสาหัส โดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น เป็นกรณีที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะลงโทษผู้ที่เข้าร่วมในการต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป ท่ามกลางความชุลมุนหรือสับสนวุ่นวาย โดยไม่ทราบว่าผู้ใดหรือฝ่ายใดเป็นผู้ทำร้าย คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจวิวาทต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเกิดการชุลมุนหรือไม่ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ย่อมมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ส่วนจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 2 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ที่ศาลล่างทั้งสองฟังว่าจำเลยทั้งห้ามีความผิดฐานเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา




14 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย

          ประมวลกฎหมายอาญา 
          มาตรา 295  "ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
          มาตรา 297  "ผู้ใดกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย จนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี
          อันตรายสาหัสนั้น คือ
          (1) ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท
          (2) เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์
          (3) เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด
          (4) หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว
          (5) แท้งลูก
          (6) จิตพิการอย่างติดตัว
          (7) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต
          (8) ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน"
          มาตรา 391  "ผู้ใดใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ เช่น

          ใช้มีดขนาดไม่ใหญ่ฟันกลางหลังแผลไม่ลึก บาดแผลไม่ร้ายแรง ทั้งที่มีโอกาศเลือกแทงอวัยวะสำคัญได้ เป็นเจตนาทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5744/2555  โจทก์ร่วมที่ 3 จำเลยใช้มีดแทงและฟันโจทก์ร่วมที่ 3 ตามโอกาสอำนวยไม่ได้เลือกแทงอวัยวะส่วนที่สำคัญของร่างกายทั้งมีดที่ใช้แทงและฟันไม่ใช่มีดขนาดใหญ่ แม้บาดแผลที่โจทก์ร่วมที่ 3 ถูกฟันด้านหลังยาวจากสะบัดขวาถึงเอวด้านซ้ายยาว 50 เซนติเมตร แต่ลึกเพียง 0.4 เซนติเมตร แสดงว่าไม่ใช่บาดแผลร้ายแรงที่จะทำให้โจทก์ร่วมที่ 3 ถึงแก่ความตายได้ จำเลยกับพวกมีเพียงเจตนาทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 3 เท่านั้น




          ใช้มีดแทงเพียงครั้งเดียวแล้ววิ่งหนีไป บาดแผลที่ถูกแทงไม่ลึกรักษาเพีบง 7 วันหาย เจตนาเพียงทำร้ายร่างกาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  290/2554  ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ไม่ได้ระบุขนาดของบาดแผลเพียงแต่ระบุว่า บาดแผลไม่ผ่านเข้าปอด แสดงว่า บาดแผลไม่ได้มีความลึกถึงปอดอันเป็นอวัยวะภายในที่สำคัญอันจะทำให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งบาดแผลดังกล่าวสามารถรักษาหายภายใน 7 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า หลังจากถูกแทงแล้วผู้เสียหายยังสามารถวิ่งไล่จำเลยที่ 1 ไปได้ประมาณ 300 เมตร ซึ่งสนับสนุนให้เห็นว่าบาดแผลของผู้เสียหายไม่ร้ายแรงนักทั้งก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายมาก่อนเหตุที่เกิดขึ้นก็เป็นเพราะผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วจึงมีการด่าทอและท้าทายกัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดจะมีมูลเหตุจูงใจให้จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดของกลางแทงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่า ทั้งผู้เสียหายยังเบิกความว่า จำเลยที่ 1 กับพวกวิ่งหลบหนีไปก่อนที่พวกของผู้เสียหายจะออกมาช่วย แสดงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 แทงผู้เสียหายไปเพียง 1 ครั้ง จำเลยที่ 1 ก็วิ่งหนีไปโดยมิได้แทงซ้ำอีกทั้งที่มีโอกาสจะกระทำได้ พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย

          บาดแผลจากการถูกตบหน้าหลายครั้งที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตรและแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ ๒ เซนติเมตร รักษา 7 วันหาย เป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 อันเป็นความผิดลหุโทษ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8192/2553  ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เมื่อพิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแล้ว ถือว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลย จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายและฐานชิงทรัพย์ตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือไม่ ...... สำหรับความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ได้ความจากผู้เสียหาย จำเลยทำร้ายผู้เสียหายที่บริเวณลานปั๊มน้ำมัน โดยตบหน้าหลายครั้งและในห้องน้ำอีกหลายครั้ง เมื่อได้พิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์แล้วปรากฏว่า ผู้เสียหายมีบาดแผลที่มุมปากด้านในขนาดครึ่งเซนติเมตร และแผลที่คอเป็นรอยแดงยาวประมาณ 2 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่า สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 7 วัน ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย และกำหนดโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นของจำเลยอีก

          ยิงลงพื้นในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะสำคัญ ลักษณะบาดแผลอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมา แสดงว่ามิได้มีเจตนาที่จะทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิต เป็นความผิดเพียงเจตนาทำร้าย มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1336/2553  ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย ลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมาคงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลังเมื่อนอนหมอบลงแล้ว แสดงว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพหรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าจะพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295
          จำเลยกับพวกได้กลับมาที่เกิดเหตุก็เพื่อเอารถจักรยานยนต์ของพวกจำเลยที่จอดทิ้งไว้ มิได้กลับมาหาเรื่องและชวนทะเลาะวิวาทกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวก การที่ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยกับพวกไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหลบหนีแต่มีอำนาจที่จะป้องกันตนให้พ้นจากภยันตรายที่เกิดจากการรุมทำร้ายของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้ลงมือทำร้ายชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่จำเลยได้รับจึงถึงตัวจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่น แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนซึ่งมีอานุภาพร้ายแรงยิงไปทางผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจนหมดลูกโม่จำนวน 6 นัด การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนและผู้อื่นเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิง ก. ผู้เสียหายที่ 1  ช. ผู้เสียหายที่ 2  ป. ผู้เสียหายที่ 3 ท. ผู้เสียหายที่ 4 ได้รับบาดเจ็บ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ปัญหาประการแรกจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยมีเจตนาฆ่าหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสี่เบิกความสอดคล้องทำนองเดียวกันว่าในวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกได้ชวนกันไปดื่มน้ำชาในร้านเกิดเหตุพบจำเลย ถ. ส. และ ว. นั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่ง ผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกนั่งดื่มน้ำชาได้ประมาณ 15 นาที ถ.ได้เดินเข้าไปชกหน้าผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ได้เตะตอบไป ถ.ดึงอาวุธมีดปลายแหลมแทงผู้เสียหายที่ 1 เฉียดชายโครง ผู้เสียหายที่ 1 วิ่งหนี เมื่อเห็นว่าไม่มีผู้ใดวิ่งไล่ตาม ผู้เสียหายที่ 1 เดินกลับมาร่วมกลุ่มกับพวกที่ร้านน้ำชาเกิดเหตุ ต่อมาอีกประมาณ 10 นาที ส.ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยมี ว.และจำเลยตามลำดับนั่งซ้อนท้ายกลับมาที่ร้านเกิดเหตุเพื่อมาเอารถจักรยานยนต์ของ ส.ซึ่งจอดทิ้งไว้ เมื่อมาถึงผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปถามหา ถ.ว่าไปไหน เมื่อจำเลยกับพวกตอบปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รุมต่อยจำเลยกับพวก จำเลยชักอาวุธปืนของกลางยิงมาทางผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวกรวม 5 นัด ถูกผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ได้รับบาดเจ็บและพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ได้รับบาดเจ็บด้วย เห็นว่า ที่ผู้เสียหายที่ 1 มีเรื่องกับ ถ. จำเลยกับพวกที่ไปด้วยกันไม่ได้เข้าไปร่วมทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 กับพวกด้วย ทั้งข้อเท็จจริงฟังได้จากผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 ว่า ก่อนเกิดเหตุไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อน จึงเชื่อได้ว่าจำเลยไม่ได้คิดวางแผนและมีเหตุจูงใจที่จะทำร้ายหรือมุ่งหมายเอาชีวิตผู้เสียหายที่ 1 กับพวกมาก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้าไปรุมทำร้ายจำเลยกับพวก จำเลยรับว่าได้ใช้อาวุธปืนของกลางยิงขึ้นฟ้า 1 นัด เพื่อขู่ไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้าย จากนั้นได้ยิงลงพื้นดินระหว่างจำเลยกับกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเพื่อให้ถอยไป เมื่อไม่ได้ผลจึงยิงจนกระสุนปืนหมดลูกโม่ มีกระสุนบางนัดเกิดจากการยิงแล้วสะบัดจะไปถูกผู้ใดบ้างไม่ทราบ พันตำรวจโท ร. สารวัตรป้องกันและปราบปรามสถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชล ผู้จับกุมจำเลยเบิกความว่าหลังเกิดเหตุได้รับแจ้งว่ามีเหตุยิงกันที่ร้านน้ำชาเกิดเหตุ ผู้ก่อเหตุได้ขับรถจักรยานยนต์หลบหนี จึงแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจตั้งด่านสกัดทุกเส้นทาง ต่อมาได้รับแจ้งว่าจับจำเลยกับพวกอีกสองคนได้ จึงร่วมตรวจค้นจำเลยกับพวกพบปลอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 ปลอก สอบปากคำจำเลยเบื้องต้น จำเลยให้การรับว่าใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจริง และได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า อาวุธปืนของกลางบรรจุกระสุนคราวละ 6 นัด นอกจากนี้ผู้เสียหายที่ 4 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เห็นกลุ่มผู้เสียหายที่ 1 ชกต่อยจำเลยตกจากรถจักรยานยนต์ จากนั้นได้ยินเสียงปืน 3 ถึง 4 นัดเห็นแต่แสงไฟแลบออกมา แต่ไม่เห็นตัวคนยิง ระดับแสงไฟจากปากกระบอกปืนอยู่สูงบ้างต่ำบ้าง ต่อมาได้ยินเสียงปืนอีก 2 นัด ห่างจากช่วงแรกเล็กน้อย ผู้เสียหายที่ 4 ได้เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า แสงจากปากกระบอกปืนนัดแรกที่เห็นพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ส่วนนัดอื่นๆ พุ่งมาทางผู้เสียหายที่ 4 และกลุ่มวัยรุ่นที่ทะเลาะกัน สำหรับบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับได้ความจากคำเบิกความของแพทย์ผู้ตรวจว่า ผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดขนาด 2 X 1 เซนติเมตร บริเวณขาขวา มีเขม่าดำรอบๆ ขอบแผล ซึ่งบาดแผลน่าจะเกิดจากอาวุธปืน คาดว่าจะใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรก ผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลจำนวน 6 แห่ง บาดแผลที่ขาขวาด้านซ้ายมีรอยเขม่าสีดำขนาด 2 เซนติเมตร น่าจะเป็นบาดแผลที่เกิดจากอาวุธปืน คาดว่าจะหายเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนผู้เสียหายที่ 3 มีบาดแผล 2 แห่ง บริเวณแผ่นหลังคาดว่าจะหายภายใน 10 วัน ถ้าไม่มีโรคแทรก ผู้เสียหายที่ 4 มีบาดแผล 2 แห่ง บริเวณโคนขาซ้ายด้านหลังพบเขม่าสีดำบริเวณบาดแผล น่าจะเกิดจากอาวุธปืน คาดว่าใช้เวลาในการรักษา 2 สัปดาห์ ถ้าไม่มีโรคแทรก ซึ่งคำเบิกความของพันตำรวจโท ร. ผู้เสียหายที่ 4 และแพทย์ผู้ตรวจ สอดรับกับคำเบิกความของจำเลยว่า จำเลยยิงปืนนัดแรกขึ้นฟ้าและยิงต่อมาอีกจนกระสุนหมดลูกโม่รวม 6 นัด แต่ละนัดที่ยิงจำเลยพยายามยิงลงพื้นและในระดับต่ำเพื่อไม่ให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของผู้เสียหายที่ 1 และที่ 2 กับพวก ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้รับจะอยู่ในระดับต่ำกว่าสะเอวลงมา คงมีเพียงผู้เสียหายที่ 3 ที่ได้รับบาดแผลที่แผ่นหลัง แต่จากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 3 ได้ความว่า เมื่อได้ยินเสียงปืนจึงหมอบลงกับพื้นเห็นแต่แสงไฟจากปากกระบอกปืน ไม่เห็นตัวผู้ยิง ขณะหมอบรู้สึกตัวว่าถูกกระสุนปืนที่หลังด้านขวามือแสดงว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับบาดแผลเมื่อนอนหมอบลงแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงรับกับลักษณะการยิงของจำเลยเช่นเดียวกันแม้อาวุธปืนจะเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงสามารถก่อให้เกิดภยันตรายที่อาจทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้ แต่การกระทำเนื่องจากการใช้จะต้องคำนึงถึงเจตนาของผู้ใช้ด้วย การที่จำเลยยิงปืนนัดแรกขึ้นฟ้าเพื่อขู่มิให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเข้ามาทำร้ายลักษณะจึงเป็นการเตือนก่อน ต่อมาการที่จำเลยยิงอีกหลายนัดจนหมดลูกโม่ก็เป็นการยิงลงพื้นดินและระดับต่ำเพื่อมิให้ถูกอวัยวะส่วนสำคัญของร่างกาย แสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้มุ่งหมายที่จะให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต การที่กระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 จำเลยก็รับว่าเกิดจากการไม่สามารถบังคับการยิงได้ ทำให้ปืนสะบัดไปสะบัดมา แต่ลักษณะบาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ได้รับก็เกิดจากการยิงในระดับต่ำเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยมิได้มีเจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสี่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 โดยมิได้บรรยายว่าผู้เสียหายทั้งสี่ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวัน หรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ดังนี้เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า จะพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8) มิได้ คงลงโทษได้เพียงตามมาตรา 295 ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          ฟันเพียงครั้งเดียว บาดแผลไม่ฉกรรจ์ เจตนาเพียงทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1190/2553  จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียว เมื่อผู้เสียหายวิ่งหนีไป ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยวิ่งไล่ตามไปทำร้ายผู้เสียหายอีก ซึ่งจำเลยนำสืบต่อสู้ว่าใช้มีดฟันผู้เสียหายเพียงครั้งเดียวเพื่อช่วยเหลือเพื่อนที่ชกต่อยกับผู้เสียหาย โดยไม่ได้เลือกว่าจะฟันผู้เสียหายบริเวณใด หากจำเลยมีเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายมาก่อน จำเลยสามารถวิ่งไล่ตามไปใช้มีดฟันทำร้ายผู้เสียหายได้อีกโดยไม่ปรากฏว่ามีสิ่งใดมาขัดขวางไม่ให้จำเลยทำเช่นนั้น ประกอบกับพวกของจำเลยก็มีหลายคนสามารถวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปได้นอกจากนี้ขณะที่จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหาย ผู้เสียหายเพียงแต่ยกแขนขึ้นบังเท่านั้นไม่ได้ปัดป้องแต่อย่างใด ปรากฏว่าผู้เสียหายมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณข้อศอกข้างขวายาวประมาณ 10 เซนติเมตร ซึ่งไม่ใช่บาดแผลฉกรรจ์ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้มีดฟันอย่างรุนแรง อีกทั้งจำเลยและผู้เสียหายไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อนถึงขนาดจะต้องเอาชีวิต พฤติการณ์การกระทำของจำเลยมีเจตนาเพียงแต่จะทำร้ายเท่านั้น

          เจตนาทำร้าย แต่เกิดผลทำให้ผู้เสียหายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็ยเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส มาตรา 297(8)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5087/2551  จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้มีดปลายแหลมแทงและฟันผู้เสียหายที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวาท่อนล่างยาว 5 เซนติเมตร เอ็นฉีกขาดและเส้นประสาทขาด บาดแผลถูกแทงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายกว้าง 1.5 เซนติเมตร ลึก 2 เซนติเมตร นิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับบาดเจ็บมากจนนิ้วก้อยซ้ายและนิ้วนางซ้ายขยับไม่ได้ ผู้เสียหายที่ 1 รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลา 5 วัน และรักษาตัวที่บ้านประมาณ 2 เดือน แผลจึงหายเป็นปกติ ระหว่างที่รักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติ จึงรับฟังได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาและประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน อันเป็นอันตรายสาหัส
          ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฐานพยายามฆ่าแต่ทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 ถูกทำร้ายเนื่องจากการชุลมุนต่อสู้ ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญจึงลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น ในการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอันเป็นการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสเนื่องจากการชุลมุนดังกล่าวหรือไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีลักษณะเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังมาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยกขึ้นอ้าง จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

          แม้จำเลยพูดว่าจะฆ่า แต่ตามพฤติการณ์เป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธเพื่อให้พวกจำเลยสั่งสอนผู้เสียหายเท่านั้น จากนั้นพวกจำเลยมีการลงมือทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน จำเลยจึงรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส ตามมาตรา 297(8)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  17866/2555  การที่จำเลยสั่งให้ ส. กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ด้วยคำพูดของจำเลยที่ว่า “กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย” นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธ และเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำความผิดเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหาย ถูก ส.ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย และผู้เสียหายอ้างว่ายังมีคนร้ายอีกหลายคนร่วมทำร้ายร่างกายด้วย ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ต่อมา ส.ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและดำเนินคดี
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเป็นเวลานานถึง 5 นาที ผู้เสียหายย่อมมีโอกาสจำเสียงของจำเลยได้ ซึ่งผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่าเสียงที่ตะโกนด่าไล่หลังว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย เป็นเสียงของจำเลย และ ช. พยานโจทก์ซึ่งยืนอยู่ข้าง ๆ ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันเช่นเดียวกับผู้เสียหาย ซึ่งขณะนั้นคงมีแต่จำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายเท่านั้นโดยไม่มีพนักงานคนอื่นของบริษัทเข้าโต้เถียงกับผู้เสียหายด้วย และเหตุการณ์ที่ ส. กับลูกน้องของจำเลยอีกหลายคนเข้ารุมทำร้ายผู้เสียหายก็เกิดขึ้นทันทีหลังจากจำเลยตะโกนสั่ง รูปคดีบ่งชี้ว่าจำเลยโต้เถียงกับผู้เสียหายแล้วเกิดอารมณ์โกรธจึงตะโกนว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย และการที่ ส.กับลูกน้องของจำเลยคนอื่นๆ ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็เป็นการกระทำตามที่จำเลยตะโกนสั่ง มิฉะนั้นแล้วก็ไม่น่าจะมีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเกิดขึ้นต่อเนื่องทันทีหลังจากมีเสียงตะโกนสั่งของจำเลย อีกทั้งโจทก์ยังมีรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมาแสดงเป็นพยานหลักฐานประกอบ โดยผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทันทีหลังจากเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อว่าเป็นการแจ้งความร้องทุกข์ตามความเป็นจริงโดยไม่ได้ปรุงแต่งเพื่อกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวยังระบุคำพูดของจำเลยและรายละเอียดรวมทั้งขั้นตอนการกระทำความผิดสอดคล้องตรงกับคำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. ทำให้คำเบิกความของผู้เสียหายและ ช. มีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากพนักงานสอบสวนพยานโจทก์ว่า ในชั้นสอบสวน ส. ให้การรับสารภาพว่าทำร้ายร่างกายผู้เสียหายเนื่องจากได้ยินเสียงจำเลยพูดทำนองว่าให้จัดการหน่อย พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้ว่า จำเลยสั่งให้ ส.กับพวกทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บมีแผลถลอกที่ข้อศอกซ้าย ต้นขาซ้าย แผลฟกช้ำที่หลังด้านขวาบริเวณเอว และกระดูกหักที่ข้อมือซ้าย ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าต้องใช้เวลารักษานานเกินกว่า 1 เดือน และได้ความจากผู้เสียหายว่ากระดูกข้อมือซ้ายหักต้องเข้าเฝือก ระหว่างนั้นยกของหนักไม่ได้ กว่าจะหายเป็นปกติใช้เวลารักษา 2 เดือน จึงฟังได้ว่าผู้เสียหายป่วยเจ็บจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ถือได้ว่าผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนคำพูดของจำเลยที่ว่า กูจะฆ่ามึง พวกมึงไปจัดการมันเลย นั้น แม้ตามพฤติการณ์แห่งคดีจะเป็นการพูดด้วยอารมณ์โกรธและเพียงแต่มีเจตนาใช้ให้ทำร้ายร่างกายเพื่อสั่งสอนเท่านั้น แต่เมื่อการทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามที่จำเลยใช้ให้กระทำเกิดผลให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสซึ่งผู้ถูกใช้จะต้องรับผิดทางอาญามีกำหนดโทษสูงขึ้น จำเลยเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดย่อมต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่มีกำหนดโทษสูงขึ้นนั้นด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 (8), 84 ประกอบมาตรา 87 วรรคสอง

          ถูกทำร้ายจนมีบาดแผลฉีกขาดยาว 3 เซนติเมตร ลักษณะบาดแผลใช้เวลารักษา 7 วัน นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2888/2547   การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันรัดคอและตัวผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผาก และน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง เมื่อพิเคราะห์รายงานผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายที่ 1 มีรอยถลอกที่แขนยาว 3 เซนติเมตร 2 แผล รอยบวมแดงกลางหน้าอก 2 เซนติเมตร และขอบตาบวมทั้งสองข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร 2 แผล และรอยบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าว นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83

          แค่จับมือยกขึ้นให้ตำรวจเห็น ไม่ถือว่ามีเจตนาทำร้าย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3580/2545  จำเลยเข้ามาจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นพร้อมกับพูดว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเก็บค่าเช่าเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามา จำเลยก็ปล่อยมือของโจทก์ โดยใช้เวลาจับมือของโจทก์ไว้ไม่ถึงหนึ่งนาที เจตนาอันแท้จริงของจำเลยในการจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นก็เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าบ้านไว้โดยไม่มีสิทธิจะรับเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะทำร้ายโจทก์ให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

          บาดแผลถลอกและรอยฟกช้ำ ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7665/2544  ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและฟกช้ำที่คอด้านขวาขนาด 1 x 2 เซนติเมตร และมีบาดแผลถลอกฟกช้ำที่โหนกแก้มซ้ายขนาด 1 x 1 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่าเกิดจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกโดยแรง ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสุดท้าย

          จำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน คือ การทำร้ายร่างกาย เมื่อไม่มีบาดแผลจากการชกต่อย จึงรับผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9650/2553  ในคดีเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่การหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

          การทำร้ายร่างกายต้องดูพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายประกอบกัน ใช้กำปั้นทุบทำร้าย ไม่มีบาดแผล เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3630/2550  การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

          ตบหน้าเพียงสองครั้ง ไม่เกี่ยวกับแขนหัก จึงรับผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2770/2544  จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายโดยใช้มือตบหน้าเพียง 2 ครั้งส่วนการที่กระดูกต้นแขนซ้ายของผู้เสียหายหักอาจเกิดจากผู้เสียหายวิ่งล้มลง มิได้เกิดจากจำเลยใช้ไม้ตีผู้เสียหายดังที่โจทก์อ้าง เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของจำเลยดังกล่าวมากน้อยเพียงใด จึงฟังได้เพียงว่า การกระทำของจำเลยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 391 และการที่ผู้เสียหายตะโกนด่าถึงมารดาจำเลยว่ามารดาจำเลยเป็นโสเภณีและถึงแก่กรรมด้วยโรคเอดส์ เป็นการกล่าวหาว่ามารดาจำเลยสำส่อนทางเพศ ถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม การที่จำเลยตบหน้าผู้เสียหาย 2 ครั้ง ในขณะนั้นจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ซึ่งศาลฎีกาลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้ายประกอบด้วยมาตรา 215 และมาตรา 225



13 กรกฎาคม 2559

กระทำผิดเพราะบันดาลโทสะ เหตุลดหย่อนโทษ


          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 72  "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

          หลักเกณฑ์ในเรื่องบันดาลโทสะ
          1.ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          2.การถูกข่มเหงนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
          3.ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
          4.เมื่อการกระทำครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีผลให้ได้รับโทษน้อยลง กล่าวคือ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ 

          มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้

          ด่าถึงมารดาด้วยถ้อยคำหบาบคาย ถือเป็นการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5232/2556  เมื่อโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยด่าว่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำรุนแรงและพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกโจทก์ร่วมข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ดังนี้โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด และไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ม. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการกับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และ มาตรา 44/1
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วม ศ. ส. ค. และ น. เป็นประจักษ์พยาน ส่วนจำเลยมีจำเลยและ ณ. เป็นพยาน  เห็นว่า แม้นประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมต่างเป็นเพื่อนของโจทก์ร่วม และให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุนาน 1 เดือนเศษก็ตาม แต่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้ง 4 ปากดังกล่าวต่างรู้จักจำเลย ทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อช่วยเหลือโจทก์ร่วมและปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความยืนยันว่า จำเลยยิงปืนในที่เกิดเหตุ 2 นัด นัดแรกยิงขึ้นฟ้า นัดที่สองยิงโจทก์ร่วม มิได้ให้การถึงข้อเท็จจริงดังที่จำเลยอ้าง สำหรับ ณ. พยานจำเลยเพิ่งมาเบิกความว่า จำเลยตบหน้าโจทก์ร่วม 1 ครั้ง หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด เป็นเสียงปืนของโจทก์ร่วม แล้วโจทก์ร่วมวิ่งไปทางทิศตะวันตก ส่วนจำเลยรีบลงหมอบและใช้ปืนยิงไปทางทิศตะวันตก โดยจำเลยมิได้อ้าง ณ. เป็นพยานในชั้นสอบสวนตั้งแต่แรก ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าไม่อยากให้การพาดพิงถึง ณ.จึงเป็นข้อพิรุธ ทั้งจำเลยเบิกความเพียงว่า ขณะเดินกลับไปขับรถจักรยานยนต์ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด โดยไม่ได้ระบุว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยิง ซึ่งแตกต่างจากคำเบิกความของ ณ. นอกจากนี้หากในขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมหรือพวกของโจทก์ร่วมมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย โจทก์ร่วมคงไม่ยินยอมให้จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ที่หน้าผากเพื่อข่มขู่และตบหน้า ทั้งยังต้องวิ่งหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ และพวกของโจทก์ร่วมซึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปคงไม่เพียงเข้าไปห้ามปรามเท่านั้น แต่อาจจะใช้อาวุธปืนข่มขู่ให้จำเลยออกไปจากที่เกิดเหตุด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับบาดแผลกระสุนปืนที่ไหล่ซ้ายด้านหลัง จึงน่าเชื่อว่าเป็นบาดแผลที่ถูกยิงขณะจำเลยวิ่งไล่ติดตามโจทก์ร่วม หาใช่จำเลยยิงปืนขณะโจทก์ร่วมกำลังหันหลังวิ่งหนีตามฎีกาของจำเลยไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมสอดคล้องต้องกัน จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมขณะจำเลยวิ่งไล่ติดตามโจทก์ร่วมไป พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จึงมิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่โจทก์ร่วมตะโกนด่ามารดาจำเลย ซึ่งเป็นผู้บังเกิดเกล้าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายแล้วยังพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยไปถึง โจทก์ร่วมยังด่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอีก ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ต้องกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ถ้าเวลาผ่านไปนานจนระงับโทสะได้แล้วและเหตุการณ์ขาดตอนไปแล้ว อ้างบันดาลโทสะไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4577/2558  จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564  การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2562  แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ และเมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2560  จำเลยเห็นผู้ตายขณะมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย จึงเข้าไปชกต่อยต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อจำเลยเพลี่ยงพล้ำ ภริยาจำเลยและผู้ตายรีบสวมใส่กางเกง แล้วภริยาจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์และเรียกผู้ตายขึ้นรถ ผู้ตายก็รีบวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ภริยาจำเลยขับออกไป ดังนี้ ภยันอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งตามไปทันทีแล้วใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวต่อเนื่องกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่จำเลยเห็นผู้ตายมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ 

          การกระทำที่มีลักษณะเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง เป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ที่อ้างเหตุบัลดาลโทสะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563  ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จ. คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตายจนเป็นสาเหตุให้จำเลยหึงหวงและทะเลาะกัน แล้วแยกกันอยู่กับ จ. ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันอีก วันเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเห็นรถจำเลยจอดอยู่ จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจำเลย แล้วจำเลยพูดกับผู้ตายว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทำนองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับ จ. และให้เห็นแก่บุตรของจำเลยกับ จ. ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจำเลยที่เกิดกับ จ. ด้วย คำพูดของผู้ตายเช่นนั้นเป็นการเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับ จ. มาตั้งแต่ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้จำเลยไม่อาจ อดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ปืนยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 
          ผู้ตายมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ภริยาของผู้ตายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป 

          เป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อนจึงถูกทำร้าย อ้างบันดาลโทสะไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7564/2557   การที่จำเลยต่อว่าผู้ตายเรื่องที่ผู้ตายมีหญิงอื่นและเกิดการโต้เถียงกัน จำเลยจึงเข้าไปทุบตัวผู้ตาย ผู้ตายพูดว่า กูไม่อยู่กับมึง กูทนไม่ไหวแล้ว กูจะหย่ากับมึงอีแก่ เมื่อจำเลยได้ยินคำพูดเช่นนั้น จำเลยเกิดความโมโหมาก จึงไปเอาอาวุธปืนที่จำเลยซ่อนไว้ในลิ้นชักโต๊ะคอมพิวเตอร์ออกมายิงผู้ตาย 4 นัด จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยยังมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมาย

          กอดจูบภรรยาผู้อื่น ถือว่าข่มเหงสามีอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3583/2555   จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตนโดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ตายและกอดจูบกันเท่านั้นโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และการที่ผู้ตายกระทำต่อ จ. ดังกล่าวก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกันเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ จึงเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอกผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

          รู้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงจากคำบอกเล่าของผู้อื่น เป็นเหตุบันดาลโทสะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6788/2554  เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าผู้ตายซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มีชู้โดยจำเลยที่ 2 เห็นผู้ตายกับชายชู้เข้าห้องและปิดประตูอยู่ด้วยกัน มีลักษณะว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายทันทีที่ได้รับคำบอกเล่าจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          บันดาลโทสะแล้ว เมื่อถูกข่มเหงอีกก็บันดาลโทสะได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6370/2554  แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          เหตุบันดาลโสะขาดตอนไปแล้ว ย้อนกลับมาฆ่าผู้ตายภายหลัง เป็นเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  81/2554  หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

          ถ้ามิได้กระทำต่อผู้ที่ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561  ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด

          จำเลยอ้างเหตุลดหย่อนโทษว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2563  แม้ตาม ป.วิ.อ. จะมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายใดก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ อันเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ แต่อ้างเหตุลดหย่อนโทษว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร อันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72




11 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290

          ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 290 วรรคหนึ่ง "ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

          ความผิดฐานนี้เริ่มมาจากเจตนาทำร้าย มิได้มีเจตนาฆ่า แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จึงเป็นความผิดตามมาตรานี้

          ใช้มีดไล่ทำร้ายผู้ตาย จนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนเสียชีวิต การกระทำนั้นจึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9413/2552   ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” นั้น มีความหมายว่า หากผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นการบัญญัติให้ได้รับโทษหนักขึ้น แตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แล้ว หาใช่เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดไม่

          ขึงเส้นลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้ามาลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น วันเกิดเหตุเด็กเข้ามาลักผลไม้แล้วโดนกระแสไฟฟ้าจากเส้นลวดเสียชีวิต จึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9794/2552  จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด 1 เส้น จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ 14 ปีเศษกับ ต. อายุ 15 ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้นเมื่อไม่ปราฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุจำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

          ใช้ให้ลูกน้องไปจับกุมผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงเรื่องรถที่หายไป ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและอาจมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นได้ ถือว่าผู้ใช้ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อลูกน้องทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6151/2556  จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. จับตัวผู้ตายมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ส. จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตาย อาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

          ขับรถไล่ทำร้ายผู้ตายในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ตายต้องขับรถด้วยความเร็วเพื่อหลบหนีจนเกิดเหตุชนรถยนต์ที่จอดอยู่เสียชีวิต จึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  21379/2556  การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290

          ร่วมกันทำร้ายผู้ตายแล้วแยกตัวออกมาก่อน ส่วนพวกที่เหลือในภายหลังใช้อาวุธแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า  ผู้ที่ร่วมทำร้ายในครั้งแรกคงเป็นเพียงแต่ร่วมกันทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6315/2552  ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ต่อยจนเซไปแล้วและจำเลยที่ 2 แยกไปทำร้าย พ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่โดยลำพังพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงแต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

          จำเลยถูกผู้ตายเมาสุรามาหาเรื่องทำร้ายชกต่อย ทำให้เิกดบันดาลโทสะจึงหยิบไม้ที่วางอยู่ตีผู้ตายไป 2-3 ครั้ง โดยไม่ได้เลือกว่าตีส่วนใด จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4140/2548  จำเลยเป็นพี่ชายของผู้ตาย ถูกผู้ตายซึ่งมึนเมาสุรามาหาเรื่องและทำร้ายชกต่อยจำเลย แม้จำเลยหนีลงจากบ้านไปแล้ว ผู้ตายยังติดตามจำเลยลงไปอย่างกระชั้นชิดและทำร้ายจำเลยอีก เป็นเหตุให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะจึงได้หยิบฉวยไม้ด้ามเสียมซึ่งวางอยู่ที่พื้นดิน บริเวณหน้าบ้านนางโปยใกล้ที่เกิดเหตุตีไปที่ผู้ตาย 2 ถึง 3 ครั้ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอย่างกระทันหันฉุกละหุก โดยจำเลยไม่มีโอกาสเลือกอาวุธ ทั้งไม่ได้เลือกตีบริเวณส่วนใดของ ร่างกายผู้ตาย เป็นการตีโดยไม่อาจทราบว่าจะถูกอวัยวะส่วนใดของผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงเหตุอันไม่เป็นธรรม

          จำเลยเจตนาร่วมทำร้ายผู้ตาย แต่พวกของจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายเสียชีวิต จำเลยต้องรับผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1522/2547  ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงระหว่างต่อสู้กับจำเลยและ ศ. ในซอยเกิดเหตุ โดย ศ. เพียงคนเดียวมีอาวุธมีด จึงเชื่อว่า ศ. เป็นคนแทงผู้ตาย ส่วนจำเลยซึ่งเข้าช่วย ศ. ร่วมชกต่อยผู้ตายและวิ่งไล่ตามผู้ตายไปกับ ศ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือมีสาเหตุโกรธเคืองร้ายแรงประการใดกับผู้ตายมาก่อนจนถึงกับจะต้องร่วมกับ ศ. ฆ่าผู้ตาย การที่ ศ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าจึงเป็นการกระทำของ ศ. แต่โดยลำพัง จำเลยคงเป็นเพียงแต่ร่วมกับ ศ. ทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย




10 กรกฎาคม 2559

คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี มีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก

          คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
       
          ป.วิ.อ. มาตรา 147  "เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"

          บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 เป็นผลของคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี โดยมีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ยกเว้นว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ จึงจะสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีกได้

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คดีนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เรื่องเดียวกัน การสอบสวนคดีใหม่จึงไม่ขัดต่อมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4243/2550   จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตาม ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4
          พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรกเนื่องจากมีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทไม่ครบตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ พนักงานอัยการยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี อีกทั้งการที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นความผิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันมา ทางอำเภอจึงได้แจ้งความร้องทุกข์และมีการสอบสวนดำเนินคดีใหม่และแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

          ความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา ยังไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของอัยการ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8481/2544  แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
          จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก

          ความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหาของอัยการพิเศษประจำเขต 8 นั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งในบางข้อหา และไม่มีความเห็นในบางข้อหาเนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบและมิได้ดำเนินคดีมาแต่แรก จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย  ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5721/2548  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และฐานร่วมกันยักยอกให้อัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา อัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและสั่งฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ด้วย โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมให้จำเลยทราบก่อนฟ้อง แต่อัยการพิเศษประจำเขต 8 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ผู้เสียหายมิได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยจึงไม่ต้องดำเนินการในข้อหานี้แก่จำเลย ซึ่งอัยการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามความเห็นของอัยการพิเศษประจำเขต 8 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา และยุติการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตทำสำนวนพร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและความผิดฐานยักยอก ดังนี้ เห็นได้ว่า ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการนั้น ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้มาแต่แรก เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย อันจะทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุด เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและใช้เอกสารดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีได้ทุกศาล ไม่ใช่เป็นการสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง คำสั่งให้ฟ้องจำเลยของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย