11 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290

          ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 290 วรรคหนึ่ง "ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

          ความผิดฐานนี้เริ่มมาจากเจตนาทำร้าย มิได้มีเจตนาฆ่า แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จึงเป็นความผิดตามมาตรานี้

          ใช้มีดไล่ทำร้ายผู้ตาย จนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนเสียชีวิต การกระทำนั้นจึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9413/2552   ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” นั้น มีความหมายว่า หากผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นการบัญญัติให้ได้รับโทษหนักขึ้น แตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แล้ว หาใช่เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดไม่

          ขึงเส้นลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้ามาลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น วันเกิดเหตุเด็กเข้ามาลักผลไม้แล้วโดนกระแสไฟฟ้าจากเส้นลวดเสียชีวิต จึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9794/2552  จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด 1 เส้น จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ 14 ปีเศษกับ ต. อายุ 15 ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้นเมื่อไม่ปราฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุจำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

          ใช้ให้ลูกน้องไปจับกุมผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงเรื่องรถที่หายไป ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและอาจมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นได้ ถือว่าผู้ใช้ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อลูกน้องทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6151/2556  จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. จับตัวผู้ตายมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ส. จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตาย อาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

          ขับรถไล่ทำร้ายผู้ตายในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ตายต้องขับรถด้วยความเร็วเพื่อหลบหนีจนเกิดเหตุชนรถยนต์ที่จอดอยู่เสียชีวิต จึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  21379/2556  การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290

          ร่วมกันทำร้ายผู้ตายแล้วแยกตัวออกมาก่อน ส่วนพวกที่เหลือในภายหลังใช้อาวุธแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า  ผู้ที่ร่วมทำร้ายในครั้งแรกคงเป็นเพียงแต่ร่วมกันทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6315/2552  ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ต่อยจนเซไปแล้วและจำเลยที่ 2 แยกไปทำร้าย พ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่โดยลำพังพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงแต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

          จำเลยถูกผู้ตายเมาสุรามาหาเรื่องทำร้ายชกต่อย ทำให้เิกดบันดาลโทสะจึงหยิบไม้ที่วางอยู่ตีผู้ตายไป 2-3 ครั้ง โดยไม่ได้เลือกว่าตีส่วนใด จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4140/2548  จำเลยเป็นพี่ชายของผู้ตาย ถูกผู้ตายซึ่งมึนเมาสุรามาหาเรื่องและทำร้ายชกต่อยจำเลย แม้จำเลยหนีลงจากบ้านไปแล้ว ผู้ตายยังติดตามจำเลยลงไปอย่างกระชั้นชิดและทำร้ายจำเลยอีก เป็นเหตุให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะจึงได้หยิบฉวยไม้ด้ามเสียมซึ่งวางอยู่ที่พื้นดิน บริเวณหน้าบ้านนางโปยใกล้ที่เกิดเหตุตีไปที่ผู้ตาย 2 ถึง 3 ครั้ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอย่างกระทันหันฉุกละหุก โดยจำเลยไม่มีโอกาสเลือกอาวุธ ทั้งไม่ได้เลือกตีบริเวณส่วนใดของ ร่างกายผู้ตาย เป็นการตีโดยไม่อาจทราบว่าจะถูกอวัยวะส่วนใดของผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงเหตุอันไม่เป็นธรรม

          จำเลยเจตนาร่วมทำร้ายผู้ตาย แต่พวกของจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายเสียชีวิต จำเลยต้องรับผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1522/2547  ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงระหว่างต่อสู้กับจำเลยและ ศ. ในซอยเกิดเหตุ โดย ศ. เพียงคนเดียวมีอาวุธมีด จึงเชื่อว่า ศ. เป็นคนแทงผู้ตาย ส่วนจำเลยซึ่งเข้าช่วย ศ. ร่วมชกต่อยผู้ตายและวิ่งไล่ตามผู้ตายไปกับ ศ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือมีสาเหตุโกรธเคืองร้ายแรงประการใดกับผู้ตายมาก่อนจนถึงกับจะต้องร่วมกับ ศ. ฆ่าผู้ตาย การที่ ศ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าจึงเป็นการกระทำของ ศ. แต่โดยลำพัง จำเลยคงเป็นเพียงแต่ร่วมกับ ศ. ทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย




10 กรกฎาคม 2559

คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี มีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก

          คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
       
          ป.วิ.อ. มาตรา 147  "เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"

          บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 เป็นผลของคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี โดยมีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ยกเว้นว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ จึงจะสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีกได้

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คดีนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เรื่องเดียวกัน การสอบสวนคดีใหม่จึงไม่ขัดต่อมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4243/2550   จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตาม ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4
          พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรกเนื่องจากมีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทไม่ครบตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ พนักงานอัยการยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี อีกทั้งการที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นความผิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันมา ทางอำเภอจึงได้แจ้งความร้องทุกข์และมีการสอบสวนดำเนินคดีใหม่และแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

          ความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา ยังไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของอัยการ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8481/2544  แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
          จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก

          ความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหาของอัยการพิเศษประจำเขต 8 นั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งในบางข้อหา และไม่มีความเห็นในบางข้อหาเนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบและมิได้ดำเนินคดีมาแต่แรก จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย  ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5721/2548  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และฐานร่วมกันยักยอกให้อัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา อัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและสั่งฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ด้วย โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมให้จำเลยทราบก่อนฟ้อง แต่อัยการพิเศษประจำเขต 8 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ผู้เสียหายมิได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยจึงไม่ต้องดำเนินการในข้อหานี้แก่จำเลย ซึ่งอัยการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามความเห็นของอัยการพิเศษประจำเขต 8 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา และยุติการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตทำสำนวนพร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและความผิดฐานยักยอก ดังนี้ เห็นได้ว่า ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการนั้น ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้มาแต่แรก เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย อันจะทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุด เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและใช้เอกสารดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีได้ทุกศาล ไม่ใช่เป็นการสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง คำสั่งให้ฟ้องจำเลยของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย



08 กรกฎาคม 2559

ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สิน จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น

        มรดก‬

          ป.พ.พ. มาตรา 1600  "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้"
          มาตรา 1646  "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้"

‪          ฝากเงินใช้ชื่อผู้ตายเพื่อผู้เยาว์แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี‬ เงินฝากจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด

‪          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 18489/2556   ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความแถลงไม่สืบพยาน โดยยอมรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังว่า พลโท จ. หรือนาย จ. เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาประชาชื่น ระบุผู้ฝากคือ นาย จ. เพื่อผู้เยาว์ ชื่อเด็กชาย ว. ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 โดยสมุดบัญชีก็ใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. หลังจากนั้นมีการนำเงินเข้าฝากและเบิกถอนเงินจากบัญชีหลายครั้ง ตามสำเนาสมุดคู่ฝากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 เคยมาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ต่อมาพลโท จ.ทำพินัยกรรมระบุว่า บัญชีธนาคารออมสิน สาขาประชาชื่น ซึ่งใส่ชื่อบุตรของพันตรี ส. ให้เด็กชาย ส. ทั้งหมด ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้อง พลโท จ.ถึงแก่ความตาย มีโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก ตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่งเอกสารท้ายฟ้อง
          มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า เงินฝากในบัญชีที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของพลโท จ.หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่พลโท จ.ขอเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. เช่นเดียวกับในสมุดคู่ฝากเงิน แสดงว่าจำเลยที่ 2 (เด็กชาย ว.)เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชีเงินฝาก เช่นนี้กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความต่อมามีการนำเงินเข้าฝากและมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากหลายครั้ง การเบิกถอนเงินก็เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างธนาคารจำเลยที่ 1 กับพลโท จ.ว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจจัดการเองได้ตามเงื่อนไข หรือระเบียบ และวิธีการของธนาคารจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความตามคำให้การจำเลยที่ 2 ว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 ได้มาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า การถอนเงินของพลโท จ.เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และเงินในบัญชีเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อกรรมสิทธิ์ในเงินฝากตกเป็นของจำเลยที่ 2 ทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชี พลโท จ.จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินในบัญชีเงินฝากที่พิพาทแก่ผู้ใด ดังนั้น ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกเงินฝากในบัญชีดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสำเนาบันทึกข้อความ ลงวันที่ 9 เมษายน 2537 เอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้องหมายเลข 3 จึงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์สินของพลโท จ.อันจะกำหนดการเผื่อตายได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าว


เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้ แต่เพิกถอนในภายหลัง เป็นการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดินหรือไม่ ?

          พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
          มาตรา 5  "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
          ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"

          การที่เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้ แต่เพิกถอนในภายหลัง เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่?

          กรณีนี้เป็นเรื่องของผู้ที่ซื้อที่ดินได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกเพิกถอนโฉนดที่ดิน เนื่องจากออกโฉนดที่ดินทับเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันซึ่งเป็นที่หลวง

          ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า เดิมที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินมี ส.ค. 1 ของนาง พ. โดยนาง พ.ไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินและผู้ว่าราชการจังหวัดออกโฉนดที่ดินให้เมื่อปี พ.ศ. 2501 ต่อมาบิดาของผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว และได้จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีในปี พ.ศ. 2518 โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
          ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2548 กรมที่ดินได้เพิกถอนโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นกรณีออกโฉนดทับที่ดินที่ รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการฯ ในปี พ.ศ. 2466 ประกาศเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และมีพระบรมราชโองการฯ ในปี พ.ศ. 2467 ไม่ให้ทำอันตรายแก่สัตว์ และหนังสือจากศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ที่ 6,2390 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2466 แจ้งว่า “สมุหเทศาภิบาลประกาศว่าให้งดการออกหนังสือสำคัญที่ดินบริเวณเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ถ้ามีผู้ใดมาขอรับโฉนดหรือตราจอง ให้เสนอเรื่องก่อน เมื่อได้รับคำสั่งประการใดแล้วจึงจัดการต่อไป”

          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การเพิกถอนโฉนดที่ดินเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และเสียโอกาสในการนำที่ดินไปลงทุนพัฒนาเป็นที่พักอาศัย จึงอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมที่ดิน แต่มีการยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย) ชดใช้ค่าเสียหาย

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 111/2558 - ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พระบรมราชโองการฯ และประกาศของสมุหเทศาภิบาลมีผลเป็นกฎหมายและเป็นการสงวนหวงห้ามที่ดินให้เป็นที่หลวง โดยมีอาณาเขตที่หวงห้ามไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่หลวงดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายรวมถึงขอบเขตของที่หลวงหวงห้ามตามประกาศดังกล่าวก่อนที่จะทำการออกโฉนดที่ดินให้แก่นาง พ. การที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำการตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบก่อนออกโฉนดที่ดินจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการได้ปฏิบัติหน้าที่
          ดังนั้น การที่ต่อมาโฉนดที่ดินได้ถูกเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพราะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่บิดาของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเป็นผู้รับโอนที่ดินเพราะเสียเงินค่าซื้อที่ดินแล้ว แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการออกโฉนดที่ดิน อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่สังกัดอยู่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
          สำหรับการพิจารณาค่าเสียหายนั้น ให้พิจารณาจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดไว้ในขณะที่เกิดการกระทำละเมิด คือ ขณะที่มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2548 มาเป็นฐานในการคำนวณและกำหนดให้ และต้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงินที่เสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนโฉนดอันถือว่าเป็นวันที่มีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น แต่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เกินกว่าคำขอ

         ***คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและรอบด้านก่อนที่จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นว่าเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

04 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานปลอมเอกสาร การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม‬ ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ‪เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ‬ แม้ผลจะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิด

‪‎        ความผิดฐานปลอมเอกสาร‬และใช้เอกสารปลอม


          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 264  "ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน"
          มาตรา 265  "ผู้ใดปลอมเอกสารสิทธิ หรือเอกสารราชการ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท"
          มาตรา 268  "ผู้ใดใช้หรืออ้างเอกสารอันเกิดจากการกระทำความผิดตามมาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 หรือมาตรา 267 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ
          ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นผู้ปลอมเอกสารนั้น หรือเป็นผู้แจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความนั้นเองให้ลงโทษตามมาตรานี้แต่กระทงเดียว"

          ‪การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม‬ ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก ‪‎เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ‬ มิใช่ผลที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำ เพียงแต่น่าจะเกิดแม้จะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว

          ตัวอย่างเช่น
‪          คำพิพากษาศาล‎ฎีกาที่‬ 6654/2550  การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก และมาตรา 268 วรรคแรก เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ มิใช่ผลที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำ เพียงแต่น่าจะเกิดแม้จะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว และความเสียหายที่น่าจะเกิดนั้นอาจเป็นความเสียหายที่มีรูปร่าง เช่นความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือความเสียหายต่อศีลธรรม เช่น เสียชื่อเสียง หรือความเสียหายต่อประชาชน เช่น ความไว้เนื้อเชื่อใจในการประกอบธุรกิจด้วย การที่จำเลยปลอมใบรับฝากเงิน อันเป็นเอกสารสิทธิดังกล่าวนำเงินเข้าฝากในบัญชีของบุคคลทั้งสองที่ธนาคาร ก.สาขาสี่แยกบ้านแขก เป็นผลให้เงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองบัญชีเพิ่มมากขึ้น แม้จะไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินแต่เป็นเปลี่ยนแปลงหลักฐานจำนวนเงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองในระบบบัญชีของธนาคาร ก. ให้แตกต่างไปจากความเป็นจริง อันจะเป็นผลให้เจ้าของบัญชีทั้งสองและธนาคาร ก. อาจเสียชื่อเสียงไม่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจในสังคมและในการประกอบกิจการธุรกิจอันเป็นประการที่น่าจะเกิดความเสียตามบทบัญญัติในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และมาตรา 268 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 769/2540  จำเลยเป็นผู้ทำสัญญากู้ยืมเงิน รวมทั้งลายมือชื่อ ส.ผู้ให้สัญญาด้วยตนเองเมื่อปี 2536 ภายหลังที่ ส.ถึงแก่ความตายไปแล้วในปี 2533 และลงวันที่ย้อนหลังไปว่าได้ทำสัญญาดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2531 ทำให้เห็นว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นระหว่าง ส.กับจำเลยในขณะที่ ส.ยังมีชีวิตอยู่ และใจความของสัญญาดังกล่าวที่ว่า ส.กู้ยืมเงินจำเลย 100,000 บาท ถ้า ส.ไม่คืนเงินจำนวนดังกล่าว ส.ยอมโอนที่ดินสวนยางพารา เนื้อที่ 14 ไร่ 1 งานแก่จำเลยนั้น นอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังน่าจะเกิดความเสียหายแก่ทายาทของ ส.อีกด้วย และเหตุที่จำเลยทำเอกสารดังกล่าวขึ้นเพื่อจะใช้อ้างกับ ด.ว่าที่ดินของ ส.เป็นของจำเลย และจะได้เรียกร้องค่าเสียหายต่อไป ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าการที่จำเลยกระทำดังกล่าวเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเอกสารสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นเอกสารที่แท้จริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลอมเอกสารสิทธิตาม ป.อ.มาตรา 265
          ข้อความที่ว่า "โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน" ตาม ป.อ.มาตรา 264 นั้น ไม่ใช่การกระทำโดยแท้ และไม่ใช่เจตนาพิเศษ จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้ แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็เป็นองค์ประกอบความผิดที่พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปในลักษณะเดียวกับจำเลย ส่วนคำว่าผู้หนึ่งผู้ใดในข้อความที่ว่า "ได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง" นั้น แสดงว่านอกจากเป็นการกระทำโดยเจตนาแล้วยังต้องมีเจตนาพิเศษในการกระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงด้วย โดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด ดังนั้น การที่จำเลยเจตนากระทำเอกสารปลอมขึ้นเพื่อให้ ด.หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้แสดงต่อ ด.ก็ตาม ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหายเพราะการกระทำของจำเลย คือทายาทของ ส. แต่อย่างใด แต่อาจเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้
          เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ.มาตรา 265 แล้ว กรณีไม่จำต้องปรับบทด้วย ป.อ. มาตรา 264 อีก