02 เมษายน 2559

ถูกทำร้ายจึงกลับไปห้องพักห่างออกไป 2-3 กิโลเมตรใช้เวลา 30 นาที เพื่อเอาอาวุธกลับมาฆ่าผู้ตาย ไม่เป็นบันดาลโทสะ แต่เป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289(4)

          มาตรา 72  "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

          มาตรา 289  "ผู้ใด
          (1) ..........
          (2) ..........
          (3) ..........
          (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          (5) .........
          ................
          ต้องระวางโทษประหารชีวิต"

          การอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อที่จะได้รับโทษน้อยลง จะต้องได้ความว่าเกิดบันดาลโทสะเนื่องจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงได้ลงมือกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  แต่ถ้าเหตุการที่ถูกข่มเหงผ่านพ้นไปนานพอสมควร ซึ่งโทสะระงับลงแล้ว แต่กลับตระเตรียมอาวุธกลับมาฆ่าผู้ข่มเหง ดังนี้ ไม่ใช่เรื่องบันดาลโทสะ แต่เป็นเรื่องการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ดังที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4577/2558  -  จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 ถูกผู้ตายทำร้ายจึงวิ่งออกจากร้านกลับไปที่ห้องพักใช้เวลาเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ขณะที่จำเลยที่ 1 มีอารมณ์โกรธใช้เวลานานเพียงไม่กี่นาทีย่อมไม่มีโอกาสคิดทบทวนว่าสมควรจะฆ่าผู้ตายหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โกรธผู้ตาย จึงหยิบอาวุธมีดจากห้องพักเพื่อกลับมาทำร้ายผู้ตาย เมื่อไปถึงจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดเดินเข้าไปภายในร้าน ผู้ตายวิ่งออกจากร้านไป จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามผู้ตายแล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย และโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมาแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีโอกาสคิดใคร่ครวญตระเตรียมการวางแผนก่อเหตุฆ่าผู้ตาย พยานหลักฐานโจทก์ย่อมฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ประกอบกับเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยที่ 1 ก่อน โดยขณะที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านเกิดเหตุแล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ อันเป็นการกระทำเนื่องจากถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เห็นว่า ร้านคาราโอเกะในนาอยู่ห่างจากห้องพักของจำเลยที่ 1 ประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้รถจักรยานยนต์สองคันเป็นพาหนะออกจากร้านคาราโอเกะในนากลับไปห้องพักและจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เดินทางจากห้องพักกลับไปร้านคาราโอเกะรวมเวลาเดินทางไปกลับไม่น่าจะเกิน 10 นาที จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กลับไปถึงห้องพักก็เข้าไปหยิบมีดของกลางและจะกลับไปหาผู้ตายที่ร้านคาราโอเกะในนา จำเลยที่ 2 และที่ 4 พยายามห้ามไว้แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมฟัง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องกลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนา กับจำเลยที่ 1 อีก ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ว่า จำเลยที่ 1 จะกลับไปร้านคาราโอเกะในนาคนเดียว แต่จำเลยอื่นไม่ยอม จึงเชื่อได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 กลับไปถึงห้องพัก จำเลยอื่นได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก นางสาว จ. พนักงานเสิร์ฟประจำร้านคาราโอเกะในนาให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของพยาน ว่า จำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านเวลาประมาณ 0.30 นาฬิกา และกลับมาอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ตามคำให้การของนางสาว จ.แสดงว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะในนากับที่พักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนาประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนาแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนาเมื่อผู้ตายเห็นจำเลยที่ 1 จึงวิ่งหนี จำเลยที่ 1 ไล่ตามไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยใช้ท่อเหล็กแป๊บตีทำร้ายจำเลยที่ 1 ก่อน ประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลดโทษให้หนึ่งในสามยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด
          พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก 25 ปี และเมื่อลดโทษฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 45 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 45 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

26 มีนาคม 2559

ทายาทฟ้องผู้จัดการมรดก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

          ป.พ.พ. มาตรา 1300  "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

          ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้บุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ และแม้จะมีผู้รับโอนต่อไปโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ผู้รับโอนต่อไปก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300         

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13689/2556  -  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้

25 มีนาคม 2559

ถ้าเป็นคดีความผิดที่ยอมความได้ ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายก่อน

          ป.วิ.อ.

         มาตรา 120  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน" 

          มาตรา 121  "พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
          แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ"

‎          ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของผู้เสียหาย‬ ไม่ได้ร้องทุกข์ว่าจำเลยทั้งสองยักยอกรถยนต์ พนักงานสอบสวนจึง‎ไม่มีอำนาจสอบสวนผู้เสียหายเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหาย‬ ‪เพราะไม่ได้ร้องทุกข์ไว้‬ ดังนั้น การสอบสวนเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ เท่ากับไม่มีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว และมีผลให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ดังกล่าว

          มีตัวอย่างดังนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 14785/2557   วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

การสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนมาก่อน‬ และย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. 120

          ป.วิ.อ.‪ มาตรา 120   "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน" 
          
          ซึ่งการสอบสวนที่จะทำให้อัยการมีอำนาจฟ้องนั้น จะต้องเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายด้วย หากเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับไม่มีการสอบสวนมาก่อน ย่อมมีผลถึงอำนาจฟ้องคดีของพนักงานอัยการ


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 13990/2556   เจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดบังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือติดยาเสพติดเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตรวจวินิจฉัยว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดหรือไม่ เพื่อจะได้คัดแยกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตาม ป.วิ.อ. การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนมาก่อนและย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. 120 ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
‪          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า‬ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังจำเลยและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฝากขังแล้ว ต่อมาพนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยโดยขอให้ศาลเบิกตัวจำเลยตามหมายขังมาพิจารณาดำเนินคดี หากศาลชั้นต้นเห็นว่าหมายขังไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นชอบที่จะเพิกถอนหมายขังเสียก่อนแล้วมีคำสั่งไม่รับประทับฟ้อง เพื่อที่โจทก์จะได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยกลับไปยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อให้จำเลยมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การที่ศาลชั้นต้นไม่ดำเนินการเป็นการจำกัดสิทธิของจำเลย ทำให้จำเลยไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนหมายขังที่มิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลชั้นต้นจึงยังไม่อาจวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวระบุว่า ผู้เสพยาเสพติดมีสภาพเป็นผู้ป่วยอย่างหนึ่ง มิใช่อาชญากรปกติ พระราชบัญญัตินี้จึงกำหนดให้มีกระบวนการคัดแยกผู้เสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวงไปดำเนินการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ก่อนที่จะให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนสรุปสำนวน เสนอพนักงานอัยการฟ้องศาลเพื่อลงโทษผู้นั้นเหมือนผู้กระทำความผิดอาญาอื่น ๆ ซึ่งในระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พนักงานสอบสวนยังคงดำเนินการสอบสวนคดีต่อไป และเมื่อผู้เสพยาเสพติดได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบถ้วนตามที่กำหนดในแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดแล้ว มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้ถือว่าผู้นั้นพ้นจากความผิดที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 19 และให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้นั้นไป แต่ถ้าผลของการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป โดยมาตรา 19 กำหนดหลักเกณฑ์ผู้ซึ่งจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดว่า ต้องเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติดตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง และไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด จึงเห็นได้ว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้บังคับให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นบุคคลที่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง ไปศาลภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดเพื่อดำเนินการต่อไปตามมาตรา 22 โดยให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้ตรวจวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหานั้นเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดหรือไม่ เพื่อจะได้คัดแยกว่าผู้ต้องหานั้นเป็นผู้มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือต้องถูกดำเนินคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังเช่นผู้กระทำความผิดทางอาญาอื่น ๆ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่พนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีน น้ำหนัก 0.03 กรัม อันเป็นยาเสพติด ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณของยาเสพติด พ.ศ.2546 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ถือว่าจำเลยเป็นผู้มีคุณสมบัติตามที่ระบุไว้ในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แต่พนักงานสอบสวนไม่ได้นำตัวจำเลยไปศาลภายในกำหนดระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์ในการที่จะได้รับการพิจารณาเข้าสู่ระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แทนการถูกดำเนินคดีตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แต่อย่างใด ดังนี้ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นการสอบสวนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เท่ากับว่าไม่มีการสอบสวนคดีนี้มาก่อน และย่อมส่งผลให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ซึ่งปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ทั้งกรณีดังกล่าวมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นออกหมายขังจำเลยโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่เป็นกรณีที่พนักงานสอบสวนไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ดังวินิจฉัยข้างต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
          พิพากษายืน



14 มีนาคม 2559

อายุความมรดก จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก

          ป.พ.พ.มาตรา 1755  อายุความ(มรดก)หนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก          

          การฟ้องคดีมรดกต้องฟ้องภายในอายุความมรดก ซึ่งอายุความมรดกมีกำหนดหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1754 หากฟ้องคดีมรดกเมื่อขาดอายุความแล้ว หากอีกฝ่ายที่ถูกฟ้องต่อสู้เรื่องอายุความก็อาจจะมีผลให้แพ้คดีได้ 
          แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่จะยกอายุความมรดกขึ้นอ้างได้นั้น กฎหมายอนุญาตให้กับบุคคล 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ 1.ทายาท  2.ผู้ที่ชอบจะใช้สิทธิของทายาท และ 3.ผู้จัดการมรดก ส่วนบุคคลอื่นไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีได้ 
          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 2434/2549  โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของนาง ศ. เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
          แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนาง ศ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นาง ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการครอบครองไว้แทนนาง ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
          โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนาง ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนาง ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนาง ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          สรุป ตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไป ย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง