การขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย

          พระราชบัญญัติล้มละลายฯ
          มาตรา 27 "เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัตินี้ แม้จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หรือเป็นเจ้าหนี้ที่ได้ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้ว แต่คดียังอยู่ระหว่างพิจารณาก็ตาม"
          มาตรา 28 "เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ  ในคำโฆษณานั้นให้แสดงการขอให้ล้มละลาย วันที่ศาลมีคำสั่ง ชื่อ ตำบลที่อยู่ และอาชีพของลูกหนี้
          ในคำโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น ให้แจ้งกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเสนอคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ด้วย"
          มาตรา 91 "เจ้าหนี้ซึ่งจะขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์หรือไม่ก็ตาม ต้องยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ถ้าเจ้าหนี้อยู่นอกราชอาณาจักร เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาให้อีกได้ไม่เกินสองเดือน
          คำขอรับชำระหนี้นั้นต้องทำตามแบบพิมพ์ โดยมีบัญชีแสดงรายละเอียดแห่งหนี้สิน และข้อความระบุถึงหลักฐานประกอบหนี้และทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของ ลูกหนี้ที่ยึดไว้เป็นหลักประกันหรือตกอยู่ในความครอบครองของเจ้าหนี้"




          เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว เจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ในคดีล้มละลายเอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีแพ่ง หรือเจ้าหนี้ที่ฟ้องคดีแพ่งไว้แล้วแต่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา หรือเจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้ฟ้องคดีแพ่งก็ตาม หากต้องการขอรับชำระหนี้ จะต้องปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 27 ประกอบมาตรา 91 คือ ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนด 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด หรือภายในกำหนดเวลาที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขยายให้สำหรับเจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักร ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจขยายกำหนดเวลาให้ได้ไม่เกิน 2 เดือน 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2548/2536   จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว ต่อมาจำเลยถูกฟ้องล้มละลายและศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด แม้โจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ก็ตามก็ไม่เป็นเหตุให้เพิกถอนหมายบังคับคดีนั้นได้ โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งแต่มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายสำหรับหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกร้องหนี้ ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งจากจำเลยอีกต่อไปตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 27 และมาตรา 91 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิ ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการ อายัดเงินของจำเลยไปยังบุคคลภายนอก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4667/2549  เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งดังกล่าว ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ตามมาตรา 27 และมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจตรวจคำขอรับชำระหนี้ และสอบสวนพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องแล้วเสนอความเห็นต่อศาล ศาลมีอำนาจพิจารณามีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือยกคำร้องขอรับชำระหนี้ ตามมาตรา 106, 107 เจ้าหนี้จะดำเนินการแจ้งการประเมินตามวิธีการที่กำหนดไว้ใน ป.รัษฎากรฯ เพื่อเรียกให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์หาใดไม่
          อย่างไรก็ตาม การขอรับชำระหนี้ที่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ ภายในกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ตามมาตรา 91 นั้นหมายถึงหนี้เงินเท่านั้น แต่ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องที่ไม่ใช่หนี้เงิน เจ้าหนี้ไม่อาจขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 91 ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990/2509   เดิมผู้ร้องได้ฟ้องจำเลยกับพวกขอให้โอนที่ดิน 1 แปลงให้ผู้ร้อง คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินให้ผู้ร้อง และให้ผู้ร้องจ่ายเงินให้จำเลยจำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยถูกโจทก์ฟ้องและศาลพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ร้องจึงร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำพิพากษาแทนผู้ล้มละลาย ดังนี้ ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะปฏิเสธต้องปฏิเสธภายใน 3 เดือน นับตั้งแต่ทราบตามพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 122 ถ้าปฏิเสธเกินกำหนดหรือไม่ปฏิเสธเลย ก็ต้องผูกพันตามภาระนั้น และโดยที่มาตรา 22(1) ให้อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือกระทำการตามที่จำเป็นเพื่อให้กิจการที่ค้างอยู่เสร็จไป ดังนั้น ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามคำบังคับในคดีที่ผู้ร้องชนะความนั้นได้ 
          การขอรับชำระหนี้เป็นเรื่องขอรับเงิน และผู้ขอจะได้รับชำระหนี้เงินตามส่วนเฉลี่ยจำนวนหนี้ของเจ้าหนี้ ฉะนั้น จะนำมาใช้แก่กรณีในเรื่องโอนที่ดินตามคำพิพากษามิได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2533   หนี้ที่จะขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้นซึ่งถ้ามี ดอกเบี้ย รวมอยู่ด้วยก็คิดดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นคำขอที่มีที่ดินเป็นวัตถุแห่งหนี้ไม่ใช่หนี้เงิน แม้จะมีคำขอว่าหรือให้ใช้ราคาที่ดินกำกับอยู่ด้วยก็เป็นเพียงคำขอสำรองสำหรับใช้เป็นสภาพบังคับในกรณีที่ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เจ้าหนี้ได้เท่านั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ เจ้าหนี้ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3788/2549   การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าเสียหายจำนวน 17,500,000 บาท โดยระบุในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินฯ ด้านหลังคำขอรับชำระหนี้ว่าให้ผู้ชำระบัญชีหรือผู้มีอำนาจทำการแทนลูกหนี้ทำสัญญาเช่าที่ดินรวม 17 แปลง กับเจ้าหนี้ และจดทะเบียนการเช่าเป็นเวลา 15 ปี หากปฏิบัติไม่ได้ให้ชำระค่าเสียหายตามที่ขอรับชำระหนี้โดยเจ้าหนี้อ้างสิทธิตามสัญญาเช่าฉบับเดิมว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดานั้น เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ชอบที่จะดำเนินการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (1) ปฏิบัติตามสัญญาตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ก่อน หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าวภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ทราบ เจ้าหนี้จึงจะมีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 92 ประกอบมาตรา 122 วรรคสอง เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91

          เกี่ยวกับวันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์นั้น เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว  ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ ซึ่งบางครั้งวันที่มีการโฆษณาทั้งสองแห่งไม่ตรงกัน เรื่องนี้ศาลฎีกาได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า ระยะเวลา 2 เดือนให้นับจากวันที่มีการโฆษณาครั้งหลังสุด ซึ่งในทางปฏิบัติมักเกิดขึ้นบ่อยมาก สำหรับคำว่าโฆษณาคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษานั้นให้ถือเอาวันที่มีการเผยแพร่แก่ประชาชนจริงๆ ไม่ใช่ดูวันที่อยู่บนหัวกระดาษของราชกิจจานุเบกษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2535 พระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 28 กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษา  และในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่าหนึ่งฉบับ และที่มาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับในหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า "วันโฆษณา"ตามมาตรา 91 นั้น หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา แต่ราชกิจจานุเบกษาพิมพ์เสร็จและนำออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2532 วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน อันเป็นวันโฆษณา คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดตามความหมายในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 91 หาใช่วันที่ในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นการลงล่วงหน้าไม่ เพราะวันดังกล่าวยังไม่มีการพิมพ์โฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9733/2539   หนังสือที่ นร 0209/9728 วันที่ 30 พฤษภาคม 2537ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีถึงกรมบังคับคดี มีข้อความว่า "ตามหนังสือกรมบังคับคดีที่ ยธ 0409/947/829 ลงวันที่ 26 เมษายน 2537 ส่งประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด) ในคดีล้มละลายของศาลแพ่งหมายเลขแดงที่ ล.103/2537 เพื่อขอให้ดำเนินการประกาศในหนังสือราชกิจจา-นุเบกษานั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินการประกาศเรื่องดังกล่าวในหนังสือราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 111 ตอนที่ 41 ง วันที่ 24 พฤษภาคม 2537 แล้ว" จึงฟังได้ว่า ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ได้มีการโฆษณาเผยแพร่คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคดีนี้โดยราชกิจจานุเบกษาเล่มดังกล่าวแก่บุคคลทั่วไปแล้ว การนับระยะเวลา 2 เดือน ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 91 จึงต้องเริ่มนับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2537 ไม่ใช่เริ่มนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2537 อันเป็นวันที่จัดส่งราชกิจจานุเบกษาเล่มแรกให้แก่สมาชิกประเภทที่ไปรับด้วยตนเอง เมื่อผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2537 จึงล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 44/2549   ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 28 บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในราชกิจจานุเบกษาและในหนังสือพิมพ์รายวันไม่น้อยกว่า 1 ฉบับ และมาตรา 91 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดนั้น หากวันโฆษณาคำสั่งในราชกิจจานุเบกษากับหนังสือพิมพ์รายวันไม่ตรงกัน การนับวันโฆษณาตามมาตรา 91 ต้องนับวันโฆษณาในฉบับหลัง และคำว่า “วันโฆษณา” ตามมาตรา 91 หมายถึงวันที่มีการเผยแพร่หนังสือออกไปยังสาธารณชน คดีนี้คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดได้ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันก่อนแล้วจึงลงในราชกิจจานุเบกษา การนับวันโฆษณาจึงต้องนับจากวันโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เมื่อคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดได้ลงประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป ซึ่งจัดพิมพ์แล้วเสร็จและนำออกเผยแพร่ให้กับสมาชิกที่ไปรับหนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ส่วนงานราชกิจจานุเบกษาด้วยตนเองเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2545 ดังนี้ จึงฟังได้ว่าวันที่ 14 สิงหาคม 2545 เป็นวันที่มีการเผยแพร่หนังสือราชกิจจานุเบกษาที่ลงประกาศคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดไปยังสาธารณชน กำหนดเวลา 2 เดือน จึงเริ่มต้นนับแต่วันดังกล่าวโดยจะครบกำหนดยื่นคำขอรับชำระหนี้ในวันที่ 14 ตุลาคม 2545 เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2545 จึงยังอยู่ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91
          คดีนี้เมื่อเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 91 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังมิได้สอบสวนพยานหลักฐานของเจ้าหนี้ตามมาตรา 105 แต่มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้โดยอ้างว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดระยะเวลา ตามมาตรา 91 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ต่อศาลชั้นต้นเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 146 เมื่อศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของเจ้าหนี้ เจ้าหนี้จึงอ้างส่งหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีต่อศาลชั้นต้นเพื่อแสดงว่าเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแล้วนำมาวินิจฉัยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
          กรณีที่เจ้าหนี้อ้างว่าไม่รู้ว่าได้มีการโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด จึงมายื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจะรู้หรือไม่รู้ก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2392/2528  โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 91 โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ จะอ้างว่าไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดโดยสุจริตหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ให้โจทก์ทราบหาได้ไม่เพราะจะเท่ากับเป็นการขยายระยะเวลา ตามมาตรา 91 ออกไปโดยไม่มีกฎหมายสนับสนุนให้ทำได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5945/2538  พ.ร.บ. ล้มละลาย ฯ มาตรา 91 ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้อีกไม่เกิน 2 เดือน เฉพาะแต่เจ้าหนี้ที่อยู่นอกราชอาณาจักรเท่านั้น  เมื่อเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เจ้าหนี้ย่อมหมดสิทธิที่จะขอรับชำระหนี้การที่เจ้าหนี้ไม่ทราบคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  โดยสุจริตเพราะเหตุจำเลยได้เปลี่ยนชื่อใหม่  ก็ไม่ใช่เหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะขยายกำหนดเวลาขอรับชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ได้  เพราะมิเช่นนั้นจะเท่ากับเป็นการขยายเวลาตามมาตรา 91 ออกไป  ซึ่งไม่มีกฎหมายให้กระทำได้ และกรณีไม่อาจนำ ป.วิ.พ.มาตรา 10 และมาตรา 23 ประกอบด้วยมาตรา 153  แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลายพ.ศ.2483 มาใช้บังคับโดยอนุโลม




          สำหรับกรณีที่เจ้าหนี้ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เจ้าหนี้คนนั้นก็เป็นอันหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลาย แม้ภายหลังลูกหนี้จะหลุดพ้นจากการล้มละลายแล้ว เจ้าหนี้ที่ไม่ได้ขอรับชำระหนี้ไว้ก็จะมาฟ้องร้องอีกไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 91 ก็ไม่อยู่ในกรอบเวลาที่บังคับไว้ในมาตรา 91
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2538   ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย  พ.ศ.2483  มาตรา 27  และมาตรา 91  เจ้าหนี้ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตามจะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลาสองเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด  เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย-ที่ 1  เด็ดขาดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2529  ในคดีที่ ก. เป็นโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลล้มละลาย  แต่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา  จนศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายของจำเลยที่ 1  เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2532  เพราะหนี้สินของจำเลยที่ 1 ได้ชำระเต็มจำนวนแล้วตามมาตรา 135 (3) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483  ซึ่งเป็นผลให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากบรรดาหนี้สินทั้งปวง  โจทก์จะอ้างว่าไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องคดีล้มละลายไม่ได้  เพราะการฟ้องคดีล้มละลายได้กระทำโดยเปิดเผย  และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลายพ.ศ.2483  บัญญัติบังคับไว้แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉล
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6621/2538    โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดและขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยได้เงินจำนวน 2,100,000 บาทเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2534 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2533 การขายทอดตลาดดังกล่าวจึงเป็นการบังคับคดีในระหว่างที่จำเลยถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งอยู่ในอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวที่จะจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของจำเลยเพื่อจัดการแบ่งในระหว่างเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483  มาตรา 22, 124 เมื่อความปรากฏเช่นนี้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดดังกล่าวมาเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายได้ตามมาตรา 111 ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินจากการขายทอดตลาดจึงมิใช่เป็นการรับชำระหนี้ไว้ในฐานะเป็นผู้แทนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา 
          แม้โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีมูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย แต่โจทก์จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยก็โดยยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 27, 91 และมาตรา 94 เท่านั้นเมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์อีกต่อไป ดังนั้นเมื่อเจ้าหนื้ที่ขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลายได้รับชำระหนี้โดยเต็มจำนวนหมดแล้ว เงินที่เหลืออยู่ย่อมค้องคืนให้แก่จำเลยในคดีล้มละลายต่อไปตามมาตรา 132

          อย่างไรก็ตาม เรื่องเจ้าหนี้ที่ไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 หมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้นั้น มีข้อยกเว้นอยู่ 6 ประการ คือ
          (1) ถ้าไม่ใช่หนี้เงินก็ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 91 เช่น การแจ้งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาไม่อยู่ในกรอบเวลาตามมาตรา 91 จะแจ้งเมื่อไหร่ก็ได้ภายในอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5785/2533   ลูกหนี้เอาที่ดินของเจ้าหนี้ซึ่งใส่ชื่อลูกหนี้ไว้แทนไปจำนองและรับจะไถ่ถอนจำนองและโอนคืนให้เจ้าหนี้ภายใน 1 ปี แต่ก็ไม่ไถ่ถอนและโอนคืนตามที่รับรองไว้ ต่อมาลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดดังนี้มูลหนี้ที่ลูกหนี้ได้ก่อขึ้นแก่เจ้าหนี้เกิดก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ทรัพย์เด็ดขาดย่อมถือได้ว่าสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะไถ่ถอนจำนองด้วยตนเองย่อมมีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ ทรัพย์มูลแห่งหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่จะเรียกเอาจากลูกหนี้ที่ 1 จึงเกิดขึ้นแล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เพียงแต่เจ้าหนี้ยังมิได้ไถ่ถอนจำนองซึ่งถ้าเจ้าหนี้ได้ไถ่ถอนจำนองแล้วเมื่อใด ก็ย่อมเรียกให้ลูกหนี้ชดใช้เงินค่าไถ่ถอนจำนองได้เมื่อนั้นแต่โดยที่ขณะขอรับชำระหนี้เจ้าหนี้ยังไม่ได้ไถ่ถอน จำนองและไม่แน่ว่าเจ้าหนี้จะใช้สิทธิขอไถ่ถอนจำนองนั้นเมื่อใด เจ้าหนี้จึงยังไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองได้ทันที แต่ถือได้ว่าหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองรายนี้เป็นหนี้มีเงื่อนไขและเงื่อนไขยังไม่สำเร็จ เจ้าหนี้จึงย่อมขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 94 
          หนี้ที่จะขอรับชำระได้ในคดีล้มละลายจะต้องเป็นหนี้เงินเท่านั้นซึ่งถ้ามี ดอกเบี้ย รวมอยู่ด้วยก็คิดดอกเบี้ยได้ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น การที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้โดยขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นคำขอที่มีที่ดินเป็นวัตถุแห่งหนี้ ไม่ใช่หนี้เงินแม้จะมีคำขอว่า หรือให้ใช้ราคาที่ดิน กำกับอยู่ด้วยก็เป็นเพียงคำขอสำรองสำหรับใช้เป็นสภาพบังคับในกรณีที่ไม่อาจโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่เจ้าหนี้ได้เท่านั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะทำได้ เจ้าหนี้ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอให้ดำเนินการเพื่อบังคับตามสิทธิของตนเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3788/2549   การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าเสียหายจำนวน 17,500,000 บาท โดยระบุในบัญชีรายละเอียดแห่งหนี้สินฯ ด้านหลังคำขอรับชำระหนี้ว่าให้ผู้ชำระบัญชีหรือผู้มีอำนาจทำการแทนลูกหนี้ทำสัญญาเช่าที่ดินรวม 17 แปลง กับเจ้าหนี้ และจดทะเบียนการเช่าเป็นเวลา 15 ปี หากปฏิบัติไม่ได้ให้ชำระค่าเสียหายตามที่ขอรับชำระหนี้โดยเจ้าหนี้อ้างสิทธิตามสัญญาเช่าฉบับเดิมว่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดานั้น เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ชอบที่จะดำเนินการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 (1) ปฏิบัติตามสัญญาตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ก่อน หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าวภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ทราบ เจ้าหนี้จึงจะมีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 92 ประกอบมาตรา 122 วรรคสอง เจ้าหนี้ไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันทีตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91
          (2) การประนอมหนี้ ถ้ามีหนี้ตามข้อยกเว้นในมาตรา 77 (1) และ (2) ซึ่งลูกหนี้ตามมาตรา 56 หรือบุคคลล้มละลายตามมาตรา 77 ยังต้องรับผิดชำระหนี้ต่อไปจนกว่าจะชำระครบถ้วน ศาลฎีกาวางหลักว่าลูกหนี้หรือบุคคลล้มละลายยังคงต้องรับผิดโดยไม่ต้องคำนึงว่าเจ้าหนี้จะได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ตามมาตรา 91 แล้วหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4955/2536   เมื่อศาลเห็นชอบด้วยการประนอมหนี้ก่อนล้มละลาย และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ถูกจำกัดอำนาจโดยมีบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินหรือกิจการแทนตามพ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 58 โจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้ย่อมมีความสามารถประกอบกิจการหรือจัดการทรัพย์สินได้ต่อไป เมื่อการให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมินตามที่โจทก์ถูกเรียกตรวจสอบไต่สวนการเสียภาษี การอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ เป็นการจัดการทรัพย์สินอย่างหนึ่งจึงอยู่ในอำนาจของโจทก์ที่จะจัดการได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ 
          แม้โจทก์จะได้รับการประนอมหนี้ก่อนล้มละลายซึ่งศาลเห็นชอบด้วยแล้วแต่จำเลยมิได้ยินยอมด้วยในการประนอมหนี้นั้น จึงไม่อาจผูกมัดเจ้าพนักงานประเมินในการเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ เพราะโจทก์ไม่อาจหลุดพ้นจากหนี้ดังกล่าวโดยคำสั่งปลดจากล้มละลายตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 56, 77 
          พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 77 บัญญัติเพียงว่าคำสั่งปลดจากล้มละลายทำให้บุคคลล้มละลายหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงอันพึงขอรับชำระได้โดยมีข้อยกเว้นหนี้อันพึงขอรับชำระได้เพียง 2 กรณี ซึ่งข้อยกเว้นกรณีนี้กฎหมายหาได้บัญญัติว่าจะต้องเป็นหนี้ที่ได้ยื่นขอรับชำระแล้ว หรือเป็นบทบัญญัติที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 91 แม้จำเลยมิได้ยื่นขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดตาม มาตรา 91 เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์
          (3) เจ้าหนี้มีประกันจะไม่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ก็ได้ ตามมาตรา 95
          (4) การหักกลบลบหนี้ในคดีล้มละลายตามมาตรา 102 นั้น เจ้าหนี้จะใช้สิทธิขอหักกลบลบหนี้ แม้ในส่วนสิทธิของเจ้าหนี้จะไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้ไว้ก็ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2501  การหักกลบลบหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ผู้ล้มละลายนั้น ย่อมทำได้โดยเจ้าหนี้แสดงเจตนาไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หนี้ก็เป็นอันระงับไป ไม่เป็นต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้เสียก่อนจึงจะหักกลบลบหนี้ได้
          (5)  เรื่องยกเลิกการล้มละลาย ตามมาตรา 135 มีเหตุที่ศาลจะสั่งยกเลิการล้มละลายได้อยู่ 4 อนุมาตรา และมาตรา 136 บัญญัติว่า "คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามมาตรา 135 (1) หรือ (2) นั้นไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด" ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ว่าแม้เจ้าหนี้จะไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ลูกหนี้ก็ไม่หลุดพ้นจากหนี้สิน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1703-1704/2506 (ประชุมใหญ่)  คำสั่งยกเลิกการล้มละลายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 135 (1) หรือ (2) ไม่ทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นหนี้สินแต่อย่างใด ตามมาตรา 136 คำว่า "หนี้สิน" มิได้หมายความเฉพาะหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ไว้ในคดีล้มละลายแล้วเท่านั้น ดังนั้น แม้เจ้าหนี้ จะมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ในคดีล้มละลายที่ยกเลิกนั้น ตามมาตรา 27 และตามกำหนดเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องลูกหนี้เกี่ยวกับหนี้สินนั้นเป็นคดีล้มละลายคดีใหม่หรือคดีแพ่งธรรมดาอีกได้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 21/2506)
          (6) กรณียื่นขอรับชำระหนี้ไม่ทันภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 91 เพราะมีเหตุสุดวิสัยตามมาตรา 91/1 ที่เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2558 สามารถยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลว่าเจ้าหนี้ประสงค์จะยื่นคำขอรับชำระหนี้ และแสดงถึงเหตุสุดวิสัยที่ตนไม่อาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ทันภายในกำหนดเวลา ถ้าศาลเห็นว่ากรณีเป็นเหตุสุดวิสัยและมีเหตุผลอันสมควรที่จะให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้รายนั้นยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด