13 กรกฎาคม 2559

กระทำผิดเพราะบันดาลโทสะ เหตุลดหย่อนโทษ


          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 72  "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

          หลักเกณฑ์ในเรื่องบันดาลโทสะ
          1.ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          2.การถูกข่มเหงนั้นเป็นเหตุให้ผู้กระทำบันดาลโทสะ
          3.ผู้กระทำได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะบันดาลโทสะ
          4.เมื่อการกระทำครบหลักเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว มีผลให้ได้รับโทษน้อยลง กล่าวคือ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ 

          มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้

          ด่าถึงมารดาด้วยถ้อยคำหบาบคาย ถือเป็นการถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5232/2556  เมื่อโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยด่าว่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำรุนแรงและพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกโจทก์ร่วมข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ดังนี้โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด และไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ม. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการกับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และ มาตรา 44/1
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วม ศ. ส. ค. และ น. เป็นประจักษ์พยาน ส่วนจำเลยมีจำเลยและ ณ. เป็นพยาน  เห็นว่า แม้นประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมต่างเป็นเพื่อนของโจทก์ร่วม และให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุนาน 1 เดือนเศษก็ตาม แต่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้ง 4 ปากดังกล่าวต่างรู้จักจำเลย ทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อช่วยเหลือโจทก์ร่วมและปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความยืนยันว่า จำเลยยิงปืนในที่เกิดเหตุ 2 นัด นัดแรกยิงขึ้นฟ้า นัดที่สองยิงโจทก์ร่วม มิได้ให้การถึงข้อเท็จจริงดังที่จำเลยอ้าง สำหรับ ณ. พยานจำเลยเพิ่งมาเบิกความว่า จำเลยตบหน้าโจทก์ร่วม 1 ครั้ง หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด เป็นเสียงปืนของโจทก์ร่วม แล้วโจทก์ร่วมวิ่งไปทางทิศตะวันตก ส่วนจำเลยรีบลงหมอบและใช้ปืนยิงไปทางทิศตะวันตก โดยจำเลยมิได้อ้าง ณ. เป็นพยานในชั้นสอบสวนตั้งแต่แรก ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าไม่อยากให้การพาดพิงถึง ณ.จึงเป็นข้อพิรุธ ทั้งจำเลยเบิกความเพียงว่า ขณะเดินกลับไปขับรถจักรยานยนต์ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด โดยไม่ได้ระบุว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยิง ซึ่งแตกต่างจากคำเบิกความของ ณ. นอกจากนี้หากในขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมหรือพวกของโจทก์ร่วมมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย โจทก์ร่วมคงไม่ยินยอมให้จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ที่หน้าผากเพื่อข่มขู่และตบหน้า ทั้งยังต้องวิ่งหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ และพวกของโจทก์ร่วมซึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปคงไม่เพียงเข้าไปห้ามปรามเท่านั้น แต่อาจจะใช้อาวุธปืนข่มขู่ให้จำเลยออกไปจากที่เกิดเหตุด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับบาดแผลกระสุนปืนที่ไหล่ซ้ายด้านหลัง จึงน่าเชื่อว่าเป็นบาดแผลที่ถูกยิงขณะจำเลยวิ่งไล่ติดตามโจทก์ร่วม หาใช่จำเลยยิงปืนขณะโจทก์ร่วมกำลังหันหลังวิ่งหนีตามฎีกาของจำเลยไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมสอดคล้องต้องกัน จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมขณะจำเลยวิ่งไล่ติดตามโจทก์ร่วมไป พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จึงมิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่โจทก์ร่วมตะโกนด่ามารดาจำเลย ซึ่งเป็นผู้บังเกิดเกล้าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายแล้วยังพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ เมื่อจำเลยไปถึง โจทก์ร่วมยังด่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอีก ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ต้องกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ถ้าเวลาผ่านไปนานจนระงับโทสะได้แล้วและเหตุการณ์ขาดตอนไปแล้ว อ้างบันดาลโทสะไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4577/2558  จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1196/2564  การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 และ ท. ทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้าน เชื่อว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 เดินกลับบ้านและก่อนที่จำเลยที่ 2 จะออกจากบ้านไปร้านที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 ตามจำเลยที่ 2 ไปร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 พูดสอบถามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจำเลยที่ 1 จากโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 1 มีท่าทางเกรี้ยวกราดมากขึ้นและชี้หน้าพร้อมพูดว่า กูรู้ว่าใครร้องเรียน แล้วทำท่าทางลักษณะคล้ายล้วงอาวุธปืนออกมาจากกระเป๋าสะพายสีน้ำตาล เชื่อได้ว่าเป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้าของจำเลยที่ 1 ในทันที หาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วมที่ 1 แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2562  แม้ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทำร้ายจำเลยฝ่ายเดียว ด้วยการชกต่อยและบีบคอจำเลย อันถือว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้เกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่หลังจากเด็กชาย ช. วิ่งออกจากบ้านเข้ามาดึงแยกจำเลยออกจากผู้ตายแล้ว จำเลยก็วิ่งเข้าไปในบ้าน ส่วนผู้ตายวิ่งไปที่รถจักรยานยนต์ ถือได้ว่าภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าวที่มีต่อจำเลยได้หมดไปแล้ว จำเลยจะใช้อ้างเพื่อกระทำการป้องกันสิทธิของตนย่อมหมดไปด้วย แม้ขณะที่จำเลยวิ่งกลับเข้าไปภายในบ้านจะได้ยินผู้ตายตะโกนพูดว่า มึงตายแน่ และเมื่อกลับออกมาก็เห็นผู้ตายยืนเปิดเบาะล้วงเข้าไปหยิบของในกล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ก็ตาม แต่จำเลยกลับออกมาพร้อมถืออาวุธปืนมาด้วยแล้วใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้ตาย 1 นัด ทันที โดยไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้กระทำการใดเลย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุความสำคัญผิดในข้อเท็จจริงโดยเข้าใจว่ากล่องใต้เบาะรถจักรยานยนต์ของผู้ตายมีอาวุธปืนอยู่และผู้ตายล้วงลงไปเพื่อนำอาวุธปืนออกมายิงจำเลยได้ แต่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องจากการที่ถูกผู้ตายชกต่อยและบีบคอฝ่ายเดียว ซึ่งถือว่าเป็นการข่มเหงจำเลยด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมย่อมก่อให้เกิดโทสะแก่จำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ตาม ป.อ. มาตรา 72
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5486/2560  จำเลยเห็นผู้ตายขณะมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย จึงเข้าไปชกต่อยต่อสู้กับผู้ตาย เมื่อจำเลยเพลี่ยงพล้ำ ภริยาจำเลยและผู้ตายรีบสวมใส่กางเกง แล้วภริยาจำเลยไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์และเรียกผู้ตายขึ้นรถ ผู้ตายก็รีบวิ่งไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ภริยาจำเลยขับออกไป ดังนี้ ภยันอันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยวิ่งตามไปทันทีแล้วใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายจึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการป้องกันสิทธิของตนได้ แต่อย่างไรก็ตาม การกระทำดังกล่าวต่อเนื่องกระชั้นชิดกับเหตุการณ์ที่จำเลยเห็นผู้ตายมีเพศสัมพันธ์กับภริยาจำเลย ถือได้ว่าจำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยใช้ไม้และเสียมตีผู้ตายในขณะนั้น จึงเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ 

          การกระทำที่มีลักษณะเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง เป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ที่อ้างเหตุบัลดาลโทสะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1350/2563  ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย จ. คบหาฉันชู้สาวกับผู้ตายจนเป็นสาเหตุให้จำเลยหึงหวงและทะเลาะกัน แล้วแยกกันอยู่กับ จ. ไม่ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันอีก วันเกิดเหตุเมื่อผู้ตายเห็นรถจำเลยจอดอยู่ จึงขับรถมาจอดเทียบข้างรถจำเลย แล้วจำเลยพูดกับผู้ตายว่า มึงยังไม่เลิกยุ่งกับเมียกูอีกหรือ ลูกโตกันหมดแล้ว ก็เป็นการพูดในทำนองขอร้องให้ผู้ตายเลิกคบหากับ จ. และให้เห็นแก่บุตรของจำเลยกับ จ. ซึ่งโตแล้ว แต่ผู้ตายกลับพูดด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า จะเลิกยุ่งทำไม เมียมึงเย็ดมันดี ซึ่งเป็นการพูดต่อหน้าบุตรชายของจำเลยที่เกิดกับ จ. ด้วย คำพูดของผู้ตายเช่นนั้นเป็นการเย้ยหยันและดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีของจำเลยอย่างรุนแรง จึงเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม และการที่ผู้ตายคบหากับ จ. มาตั้งแต่ขณะ จ. อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย ถือว่าจำเลยถูกกดขี่ข่มเหงต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้จำเลยไม่อาจ อดกลั้นโทสะไว้ได้จึงใช้ปืนยิงผู้ตายไปในทันทีทันใด กรณีย่อมเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 
          ผู้ตายมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามฟ้อง โจทก์ร่วมซึ่งเป็นภริยาของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่ปัญหาว่าจำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ภริยาของผู้ตายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายโดยมีส่วนก่อให้จำเลยกระทำความผิด ก็เป็นข้อเท็จจริงที่จะนำมาใช้ประกอบดุลยพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเท่านั้น ไม่ทำให้สิทธิของผู้เสียหายที่จะขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหมดไป 

          เป็นฝ่ายก่อเหตุขึ้นก่อนจึงถูกทำร้าย อ้างบันดาลโทสะไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7564/2557   การที่จำเลยต่อว่าผู้ตายเรื่องที่ผู้ตายมีหญิงอื่นและเกิดการโต้เถียงกัน จำเลยจึงเข้าไปทุบตัวผู้ตาย ผู้ตายพูดว่า กูไม่อยู่กับมึง กูทนไม่ไหวแล้ว กูจะหย่ากับมึงอีแก่ เมื่อจำเลยได้ยินคำพูดเช่นนั้น จำเลยเกิดความโมโหมาก จึงไปเอาอาวุธปืนที่จำเลยซ่อนไว้ในลิ้นชักโต๊ะคอมพิวเตอร์ออกมายิงผู้ตาย 4 นัด จนผู้ตายถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยยังมิใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะตามกฎหมาย

          กอดจูบภรรยาผู้อื่น ถือว่าข่มเหงสามีอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3583/2555   จ. เป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะกระทำการป้องกันเกียรติยศชื่อเสียงของตนโดยมิให้ชายอื่นมามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับภรรยาของตนได้ แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยพบเห็น จ. นอนหนุนตักผู้ตายและกอดจูบกันเท่านั้นโดยยังไม่มีการร่วมประเวณีกัน และการที่ผู้ตายกระทำต่อ จ. ดังกล่าวก็เป็นไปโดย จ. สมัครใจยินยอม พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ซึ่งจำเลยจำต้องกระทำการป้องสิทธิแต่อย่างใด แต่การที่ผู้ตายกับ จ. กอดจูบกันเช่นนี้ นับเป็นการกระทำที่ข่มเหงจิตใจของจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เมื่อจำเลยเห็นเหตุการณ์เช่นนี้ย่อมเหลือวิสัยของจำเลยที่จะอดกลั้นโทสะไว้ได้ จึงเข้าไปชกต่อยผู้ตายแล้วใช้มีดปอกผลไม้ที่วางอยู่ใกล้ตัวแทงผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ไม่ใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

          รู้ว่าถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงจากคำบอกเล่าของผู้อื่น เป็นเหตุบันดาลโทสะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6788/2554  เหตุบันดาลโทสะอาจเกิดเพราะคำบอกเล่าได้ ไม่จำเป็นต้องประสบเหตุการณ์ด้วยตนเอง วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่าผู้ตายซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มีชู้โดยจำเลยที่ 2 เห็นผู้ตายกับชายชู้เข้าห้องและปิดประตูอยู่ด้วยกัน มีลักษณะว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจิตใจจำเลยที่ 1 อย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายทันทีที่ได้รับคำบอกเล่าจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72

          บันดาลโทสะแล้ว เมื่อถูกข่มเหงอีกก็บันดาลโทสะได้อีก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6370/2554  แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ณ. ตะโกนบอกให้จำเลยที่ 1 หยุด แต่ขณะนั้นจำเลยที่ 1 กำลังยิงต่อสู้กับ อ. โดยบันดาลโทสะ ประกอบกับเกิดเหตุชุลมุนเนื่องจากคนที่มาในงานศพวิ่งแตกตื่น เชื่อว่าจำเลยที่ 1 คงไม่ได้ยิน เมื่อจำเลยที่ 1 เห็น ณ. ซึ่งไม่ได้แต่งเครื่องแบบ ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 1 เช่นนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมสำคัญผิดได้ว่า ณ. เป็นพวก อ. และได้ช่วยเหลือ อ. ยิงตน การที่จำเลยที่ 1 ยิงต่อสู้กับ ณ. อันเป็นระยะเวลาต่อเนื่องใกล้ชิดติดพันกับการยิง อ. โดยบันดาลโทสะ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกเรื่องยิง ณ. โดยบันดาลโทสะขึ้นต่อสู้ ศาลฎีกาย่อมหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

          เหตุบันดาลโสะขาดตอนไปแล้ว ย้อนกลับมาฆ่าผู้ตายภายหลัง เป็นเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  81/2554  หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

          ถ้ามิได้กระทำต่อผู้ที่ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882/2561  ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกขับรถจักรยานยนต์เที่ยวเล่นตั้งแต่เวลาประมาณ 21 นาฬิกา โดย พ. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายที่ 1 ส่วน ข. นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ท. และตามทางนำสืบของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พ. และ ข. ผู้ตายทั้งสองได้ร่วมทำร้ายหรือมีพฤติการณ์ใดที่แสดงให้เห็นว่า มีเจตนาที่ร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกทำร้ายจำเลย แม้ผู้ตายทั้งสองจะอยู่ในที่เกิดเหตุแต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการยุยงส่งเสริมสนับสนุนหรือให้กำลังใจเพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกเกิดความฮึกเหิมรุมทำร้ายจำเลยกับพวก หลังเกิดเหตุผู้ตายทั้งสองไปกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกก็คงเป็นเพราะนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน พฤติการณ์ของผู้ตายทั้งสองฟังไม่ได้ว่า ผู้ตายทั้งสองข่มเหงหรือร่วมกับผู้เสียหายที่ 1 กับพวกข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยขับรถกระบะซึ่งมีขนาดใหญ่และมีแรงประทะมากกว่ารถจักรยานยนต์หลายเท่าฝ่าเข้าไปหรือพุ่งชนกลุ่มรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 กับพวกโดยแรง แม้กระทำเพียงครั้งเดียวก็เห็นได้ว่า จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่า ทั้งคนขับและคนนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกชนจะถึงแก่ความตายได้ จึงถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำต่อผู้ตายทั้งสองโดยตรง ไม่ใช่กรณีที่จำเลยเจตนาที่จะกระทำต่อกลุ่มคนที่รุมทำร้ายจำเลย แต่ผลของการกระทำเกิดแก่ผู้ตายทั้งสองโดยพลาดไป เมื่อผู้ตายทั้งสองมิได้ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้ การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่การกระทำด้วยเหตุบันดาลโทสะโดยพลาด

          จำเลยอ้างเหตุลดหย่อนโทษว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2563  แม้ตาม ป.วิ.อ. จะมิได้บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า หน้าที่นำสืบหรือภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายใดก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84/1 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ อันเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ แต่อ้างเหตุลดหย่อนโทษว่ากระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวย่อมตกแก่จำเลยที่จะต้องนำสืบให้เห็นว่า ผู้เสียหายข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างไร อันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72




11 กรกฎาคม 2559

ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290

          ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 290 วรรคหนึ่ง "ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี"

          ความผิดฐานนี้เริ่มมาจากเจตนาทำร้าย มิได้มีเจตนาฆ่า แต่ผลที่เกิดขึ้นจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต จึงเป็นความผิดตามมาตรานี้

          ใช้มีดไล่ทำร้ายผู้ตาย จนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนเสียชีวิต การกระทำนั้นจึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9413/2552   ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” นั้น มีความหมายว่า หากผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นการบัญญัติให้ได้รับโทษหนักขึ้น แตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แล้ว หาใช่เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดไม่

          ขึงเส้นลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้ามาลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น วันเกิดเหตุเด็กเข้ามาลักผลไม้แล้วโดนกระแสไฟฟ้าจากเส้นลวดเสียชีวิต จึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9794/2552  จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด 1 เส้น จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ 50 เซนติเมตร ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด 220 โวลต์ ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกายเนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ 14 ปีเศษกับ ต. อายุ 15 ปี เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้นเมื่อไม่ปราฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก ดังนี้ หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุจำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

          ใช้ให้ลูกน้องไปจับกุมผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงเรื่องรถที่หายไป ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและอาจมีการทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นได้ ถือว่าผู้ใช้ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อลูกน้องทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6151/2556  จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. จับตัวผู้ตายมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ส. จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตาย อาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

          ขับรถไล่ทำร้ายผู้ตายในระยะกระชั้นชิด ทำให้ผู้ตายต้องขับรถด้วยความเร็วเพื่อหลบหนีจนเกิดเหตุชนรถยนต์ที่จอดอยู่เสียชีวิต จึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 290
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  21379/2556  การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไล่ทำร้ายผู้ตายกับพวกในระยะกระชั้นชิดโดยถือไม้ถูพื้นชูออกนอกรถยนต์เพื่อข่มขู่ผู้ตายกับพวกไปตลอดทาง โดยมีเจตนาจะทำร้ายผู้ตายกับพวก และผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้ผู้ตายต้องขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงเพื่อหลบหนีการถูกไล่ทำร้ายจนเกิดเหตุชนกับรถยนต์กระบะที่จอดอยู่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290

          ร่วมกันทำร้ายผู้ตายแล้วแยกตัวออกมาก่อน ส่วนพวกที่เหลือในภายหลังใช้อาวุธแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า  ผู้ที่ร่วมทำร้ายในครั้งแรกคงเป็นเพียงแต่ร่วมกันทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงต้องรับผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6315/2552  ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้ไม้ตีผู้ตายหลังจากผู้ตายถูกจำเลยที่ 1 ต่อยจนเซไปแล้วและจำเลยที่ 2 แยกไปทำร้าย พ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก การที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่า จึงเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 แต่โดยลำพังพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 คงเป็นเพียงแต่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำร้ายผู้ตายเท่านั้นแต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

          จำเลยถูกผู้ตายเมาสุรามาหาเรื่องทำร้ายชกต่อย ทำให้เิกดบันดาลโทสะจึงหยิบไม้ที่วางอยู่ตีผู้ตายไป 2-3 ครั้ง โดยไม่ได้เลือกว่าตีส่วนใด จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงเหตุอันไม่เป็นธรรม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4140/2548  จำเลยเป็นพี่ชายของผู้ตาย ถูกผู้ตายซึ่งมึนเมาสุรามาหาเรื่องและทำร้ายชกต่อยจำเลย แม้จำเลยหนีลงจากบ้านไปแล้ว ผู้ตายยังติดตามจำเลยลงไปอย่างกระชั้นชิดและทำร้ายจำเลยอีก เป็นเหตุให้จำเลยเกิดบันดาลโทสะจึงได้หยิบฉวยไม้ด้ามเสียมซึ่งวางอยู่ที่พื้นดิน บริเวณหน้าบ้านนางโปยใกล้ที่เกิดเหตุตีไปที่ผู้ตาย 2 ถึง 3 ครั้ง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำอย่างกระทันหันฉุกละหุก โดยจำเลยไม่มีโอกาสเลือกอาวุธ ทั้งไม่ได้เลือกตีบริเวณส่วนใดของ ร่างกายผู้ตาย เป็นการตีโดยไม่อาจทราบว่าจะถูกอวัยวะส่วนใดของผู้ตาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำร้ายผู้ตายจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่าและเป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงเหตุอันไม่เป็นธรรม

          จำเลยเจตนาร่วมทำร้ายผู้ตาย แต่พวกของจำเลยใช้มีดแทงผู้ตายเสียชีวิต จำเลยต้องรับผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1522/2547  ผู้ตายถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลถูกแทงระหว่างต่อสู้กับจำเลยและ ศ. ในซอยเกิดเหตุ โดย ศ. เพียงคนเดียวมีอาวุธมีด จึงเชื่อว่า ศ. เป็นคนแทงผู้ตาย ส่วนจำเลยซึ่งเข้าช่วย ศ. ร่วมชกต่อยผู้ตายและวิ่งไล่ตามผู้ตายไปกับ ศ. โดยไม่ได้ร่วมทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอาวุธหรือมีสาเหตุโกรธเคืองร้ายแรงประการใดกับผู้ตายมาก่อนจนถึงกับจะต้องร่วมกับ ศ. ฆ่าผู้ตาย การที่ ศ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าจึงเป็นการกระทำของ ศ. แต่โดยลำพัง จำเลยคงเป็นเพียงแต่ร่วมกับ ศ. ทำร้ายผู้ตายเท่านั้น แต่การร่วมกันทำร้ายมีผลให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แม้โจทก์จะขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก อยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย




10 กรกฎาคม 2559

คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี มีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก

          คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี
       
          ป.วิ.อ. มาตรา 147  "เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยานหลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้"

          บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147 เป็นผลของคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี โดยมีผลให้ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก ยกเว้นว่าจะมีพยานหลักฐานใหม่ที่สำคัญซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหาได้ จึงจะสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันอีกได้

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่น่าสนใจ เช่น

          คดีนี้พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยไปแล้ว แต่จำเลยไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นใหม่ มิใช่เรื่องเดียวกัน การสอบสวนคดีใหม่จึงไม่ขัดต่อมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4243/2550   จำเลยมิได้ครอบครองที่ดินมาก่อนประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ จำเลยจึงไม่ได้สิทธิครอบครองในที่ดินตาม ป.ที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 4
          พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในคดีแรกเนื่องจากมีการแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทไม่ครบตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ พนักงานอัยการยังมิได้วินิจฉัยเนื้อหาสาระสำคัญแห่งคดี อีกทั้งการที่จำเลยยังคงยึดถือครอบครองอยู่ในที่ดินพิพาทเป็นความผิดใหม่ที่ต่อเนื่องกันมา ทางอำเภอจึงได้แจ้งความร้องทุกข์และมีการสอบสวนดำเนินคดีใหม่และแจ้งให้จำเลยออกจากที่ดินพิพาทให้ครบถ้วนตามระเบียบของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ การฟ้องคดีนี้จึงไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 147

          ความเห็นของพนักงานสอบสวนว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่ผู้ต้องหา ยังไม่ใช่คำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีของอัยการ จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8481/2544  แม้พนักงานสอบสวนกองปราบปรามจะเคยมีความเห็นว่าไม่ควรดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ แต่ความเห็นของพนักงานสอบสวนกองปราบปรามดังกล่าวยังไม่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 และมาตรา 146 ดังนั้น จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 147 ที่ห้ามมิให้มีการสอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
          จำเลยที่ 4 มีอาชีพเป็นพ่อค้าขายเครื่องประดับประเภทเพชร พลอย เงิน ทอง นาก และนาฬิกา ได้รับใบอนุญาตให้ค้าของเก่าจำเลยที่ 4 ซื้อทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการมาจากจำเลยที่ 3เป็นมูลค่านับสิบล้านบาท แสดงว่าจำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางทั้ง 16 รายการเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและหาซื้อไม่ได้ในท้องตลาดทั่วไป และย่อมทราบดีว่าทรัพย์สินของกลางได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 4 ทราบว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 357 วรรคแรก

          ความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหาของอัยการพิเศษประจำเขต 8 นั้น เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งในบางข้อหา และไม่มีความเห็นในบางข้อหาเนื่องจากพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบและมิได้ดำเนินคดีมาแต่แรก จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย  ทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวยังไม่เป็นที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  5721/2548  พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองภูเก็ตได้ทำสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในความผิดตาม พ.ร.บ. กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนฯ และฐานร่วมกันยักยอกให้อัยการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา อัยการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและสั่งฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ด้วย โดยให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาดังกล่าวเพิ่มเติมให้จำเลยทราบก่อนฟ้อง แต่อัยการพิเศษประจำเขต 8 มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา ส่วนความผิดตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 ผู้เสียหายมิได้แจ้งความให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยจึงไม่ต้องดำเนินการในข้อหานี้แก่จำเลย ซึ่งอัยการจังหวัดภูเก็ตได้ดำเนินการตามความเห็นของอัยการพิเศษประจำเขต 8 โดยมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยทุกข้อหา และยุติการดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และใช้เอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 267, 268 เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตทำสำนวนพร้อมความเห็นเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตพิจารณา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยเฉพาะในความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและความผิดฐานยักยอก ดังนี้ เห็นได้ว่า ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการนั้น ในชั้นต้นพนักงานสอบสวนยังไม่ได้แจ้งข้อหาให้จำเลยทราบ และมิได้ดำเนินคดีในข้อหานี้มาแต่แรก เมื่ออัยการจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ยุติการดำเนินการแก่จำเลยในข้อหานี้ ย่อมถือได้ว่าอัยการจังหวัดภูเก็ตยังไม่มีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าว การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไม่มีความเห็นเกี่ยวกับข้อหานี้ จึงไม่ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นชอบกับคำสั่งไม่ฟ้องจำเลย อันจะทำให้คำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นที่สุด เมื่อสำนวนการสอบสวนเสนอไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาเนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดมีความเห็นแย้งให้ฟ้องจำเลยในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จในเอกสารราชการและใช้เอกสารดังกล่าวด้วยนั้น เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. พนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 12 ที่ให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีได้ทุกศาล ไม่ใช่เป็นการสั่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 วรรคสอง คำสั่งให้ฟ้องจำเลยของอัยการสูงสุดย่อมชอบด้วยกฎหมาย



08 กรกฎาคม 2559

ผู้ทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สิน จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น

        มรดก‬

          ป.พ.พ. มาตรา 1600  "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดกของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้"
          มาตรา 1646  "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้"

‪          ฝากเงินใช้ชื่อผู้ตายเพื่อผู้เยาว์แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี‬ เงินฝากจึงไม่ใช่ทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด

‪          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 18489/2556   ป.พ.พ. มาตรา 1646 บัญญัติว่า บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้ จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่ผู้ตายฝากเงินกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยเปิดบัญชีเงินฝากใช้ชื่อ ผู้ตายเพื่อผู้เยาว์ แสดงว่าผู้เยาว์เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชี เช่นนี้ กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของผู้เยาว์ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก ผู้ตายจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินฝากดังกล่าวให้แก่ผู้ใด ข้อกำหนดในพินัยกรรมส่วนนี้ไม่มีผลบังคับ
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้คู่ความแถลงไม่สืบพยาน โดยยอมรับข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การ ตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 21 ธันวาคม 2550 ดังนั้น ข้อเท็จจริงรับฟังว่า พลโท จ. หรือนาย จ. เปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารจำเลยที่ 1 สาขาประชาชื่น ระบุผู้ฝากคือ นาย จ. เพื่อผู้เยาว์ ชื่อเด็กชาย ว. ตามเอกสารท้ายคำให้การของจำเลยที่ 1 โดยสมุดบัญชีก็ใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. หลังจากนั้นมีการนำเงินเข้าฝากและเบิกถอนเงินจากบัญชีหลายครั้ง ตามสำเนาสมุดคู่ฝากเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยที่ 2 ก็ระบุว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 เคยมาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ต่อมาพลโท จ.ทำพินัยกรรมระบุว่า บัญชีธนาคารออมสิน สาขาประชาชื่น ซึ่งใส่ชื่อบุตรของพันตรี ส. ให้เด็กชาย ส. ทั้งหมด ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้อง พลโท จ.ถึงแก่ความตาย มีโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดก ตามสำเนาคำสั่งศาลแพ่งเอกสารท้ายฟ้อง
          มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า เงินฝากในบัญชีที่พิพาทเป็นทรัพย์มรดกของพลโท จ.หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 บัญญัติว่า "บุคคลใดจะแสดงเจตนาโดยพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในการต่างๆ อันจะให้เกิดผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายก็ได้" จากบทบัญญัติดังกล่าวผู้ที่จะทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินได้นั้นจะต้องเป็นทรัพย์สินของตนเองเท่านั้น จะกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ได้ การที่พลโท จ.ขอเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยใช้ชื่อบัญชีว่า นาย จ. เพื่อเด็กชาย ว. เช่นเดียวกับในสมุดคู่ฝากเงิน แสดงว่าจำเลยที่ 2 (เด็กชาย ว.)เป็นเจ้าของเงินฝากในบัญชีเงินฝาก เช่นนี้กรรมสิทธิ์ในเงินย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 2 ในทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชีเงินฝาก แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความต่อมามีการนำเงินเข้าฝากและมีการเบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากหลายครั้ง การเบิกถอนเงินก็เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างธนาคารจำเลยที่ 1 กับพลโท จ.ว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝาก ก่อนที่จำเลยที่ 2 จะมีอำนาจจัดการเองได้ตามเงื่อนไข หรือระเบียบ และวิธีการของธนาคารจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงก็ได้ความตามคำให้การจำเลยที่ 2 ว่า บิดามารดาของจำเลยที่ 2 ได้มาขอรับเงินจากพลโท จ.หลายครั้งเพื่อการศึกษาของจำเลยที่ 2 ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า การถอนเงินของพลโท จ.เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 2 และเงินในบัญชีเป็นของจำเลยที่ 2 เมื่อกรรมสิทธิ์ในเงินฝากตกเป็นของจำเลยที่ 2 ทันทีที่ธนาคารจำเลยที่ 1 รับเงินเข้าบัญชี พลโท จ.จึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกเงินในบัญชีเงินฝากที่พิพาทแก่ผู้ใด ดังนั้น ข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ยกเงินฝากในบัญชีดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสำเนาบันทึกข้อความ ลงวันที่ 9 เมษายน 2537 เอกสารเพิ่มเติมพินัยกรรมท้ายฟ้องหมายเลข 3 จึงไม่มีผลบังคับเนื่องจากไม่ใช่ทรัพย์สินของพลโท จ.อันจะกำหนดการเผื่อตายได้ โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าว


เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้ แต่เพิกถอนในภายหลัง เป็นการกระทำละเมิดต่อเจ้าของที่ดินหรือไม่ ?

          พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
          มาตรา 5  "หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้
          ถ้าการละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ได้สังกัดหน่วยงานของรัฐแห่งใดให้ถือว่ากระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดตามวรรคหนึ่ง"

          การที่เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินให้ แต่เพิกถอนในภายหลัง เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่?

          กรณีนี้เป็นเรื่องของผู้ที่ซื้อที่ดินได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการถูกเพิกถอนโฉนดที่ดิน เนื่องจากออกโฉนดที่ดินทับเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวันซึ่งเป็นที่หลวง

          ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้มีอยู่ว่า เดิมที่ดินที่พิพาทเป็นที่ดินมี ส.ค. 1 ของนาง พ. โดยนาง พ.ไปขอรังวัดออกโฉนดที่ดินและเจ้าพนักงานที่ดินและผู้ว่าราชการจังหวัดออกโฉนดที่ดินให้เมื่อปี พ.ศ. 2501 ต่อมาบิดาของผู้ฟ้องคดีได้ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว และได้จดทะเบียนยกที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีในปี พ.ศ. 2518 โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้แจ้งว่าที่ดังกล่าวอยู่ในเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน
          ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2548 กรมที่ดินได้เพิกถอนโฉนดที่ดินเนื่องจากเป็นกรณีออกโฉนดทับที่ดินที่ รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการฯ ในปี พ.ศ. 2466 ประกาศเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และมีพระบรมราชโองการฯ ในปี พ.ศ. 2467 ไม่ให้ทำอันตรายแก่สัตว์ และหนังสือจากศาลากลางจังหวัดเพชรบุรี ที่ 6,2390 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2466 แจ้งว่า “สมุหเทศาภิบาลประกาศว่าให้งดการออกหนังสือสำคัญที่ดินบริเวณเขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ถ้ามีผู้ใดมาขอรับโฉนดหรือตราจอง ให้เสนอเรื่องก่อน เมื่อได้รับคำสั่งประการใดแล้วจึงจัดการต่อไป”

          ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การเพิกถอนโฉนดที่ดินเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีต้องเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และเสียโอกาสในการนำที่ดินไปลงทุนพัฒนาเป็นที่พักอาศัย จึงอุทธรณ์คำสั่งต่ออธิบดีกรมที่ดิน แต่มีการยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดินและกระทรวงมหาดไทย) ชดใช้ค่าเสียหาย

          คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 111/2558 - ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า พระบรมราชโองการฯ และประกาศของสมุหเทศาภิบาลมีผลเป็นกฎหมายและเป็นการสงวนหวงห้ามที่ดินให้เป็นที่หลวง โดยมีอาณาเขตที่หวงห้ามไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่หลวงดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายรวมถึงขอบเขตของที่หลวงหวงห้ามตามประกาศดังกล่าวก่อนที่จะทำการออกโฉนดที่ดินให้แก่นาง พ. การที่เจ้าหน้าที่ไม่ทำการตรวจสอบให้ละเอียดรอบคอบก่อนออกโฉนดที่ดินจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อในการได้ปฏิบัติหน้าที่
          ดังนั้น การที่ต่อมาโฉนดที่ดินได้ถูกเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินเพราะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมทำให้เกิดความเสียหายแก่บิดาของผู้ฟ้องคดีและผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเป็นผู้รับโอนที่ดินเพราะเสียเงินค่าซื้อที่ดินแล้ว แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นผลโดยตรงมาจากการที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อในการออกโฉนดที่ดิน อันเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่สังกัดอยู่จะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้น ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
          สำหรับการพิจารณาค่าเสียหายนั้น ให้พิจารณาจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ประกาศกำหนดไว้ในขณะที่เกิดการกระทำละเมิด คือ ขณะที่มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทเมื่อปี พ.ศ. 2548 มาเป็นฐานในการคำนวณและกำหนดให้ และต้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงินที่เสียหายในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งคำสั่งเพิกถอนโฉนดอันถือว่าเป็นวันที่มีการกระทำละเมิดเกิดขึ้น แต่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอให้ชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องคดี ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้เกินกว่าคำขอ

         ***คดีนี้เป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบและรอบด้านก่อนที่จะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นว่าเป็นที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่สามารถจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่