18 มิถุนายน 2559

การเลิกสัญญาและการลดเบี้ยปรับ ถ้ามิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าฝ่ายที่มีสิทธิบอกเลิกมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย ศาลย่อมมีอำนาจลดค่าเสียหายลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

‪‎          การเลิกสัญญาและการลดเบี้ยปรับ

          มาตรา 223  "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ ข้อสำคัญก็คือว่าความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร
          วิธีเดียวกันนี้ ท่านให้ใช้แม้ทั้งที่ความผิดของฝ่ายผู้ที่เสียหายจะมีแต่เพียงละเลยไม่เตือนลูกหนี้ให้รู้สึกถึงอันตรายแห่งการเสียหายอันเป็นอย่างร้ายแรงผิดปกติ ซึ่งลูกหนี้ไม่รู้หรือไม่อาจจะรู้ได้ หรือเพียงแต่ละเลยไม่บำบัดปัดป้อง หรือบรรเทาความเสียหายนั้นด้วย อนึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 220 นั้นท่านให้นำมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม"

          มาตรา 386  "ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเลิกสัญญาโดยข้อสัญญาหรือโดบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง
          แสดงเจตนาดังกล่าวมาในวรรคก่อนนั้น ท่านว่าหาอาจจะถอนได้ไม่"
‪          การเลิกสัญญาที่มีข้อตกลงให้คิดเบี้ยปรับได้ต้องบอกเลิกภายในเวลาอันควรด้วย‬ ถ้ามิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าฝ่ายที่มีสิทธิบอกเลิกมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223

          ‪ตัวอย่างเช่น
          คำพิพากษาศาล‎ฎีกาที่‬ 15948/2557   สัญญาจ้างแปรสภาพมันสำปะหลัง ข้อ 11 เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีกำหนดเวลาการส่งมอบมันสำปะหลังเส้นตามที่โจทก์จะกำหนดให้ส่งมอบในแต่ละคราว หากจำเลยที่ 1 ไม่ส่งมอบได้ทันตามเวลาที่โจทก์กำหนดหรือส่งมอบไม่ครบจำนวน และจำเลยที่ 1 มิได้บอกเลิกสัญญา จำเลยที่ 1 ตกลงชำระค่าปรับแก่โจทก์ เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งมอบมันสำปะหลังเส้นแก่โจทก์และไม่บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญา แม้โจทก์บอกเลิกสัญญาเมื่อล่วงเลยเกินกว่า 7 ปี จะถือว่าคู่สัญญาไม่ถือเอากำหนดเวลาส่งมอบงานเป็นสาระสำคัญหาได้ไม่ เพราะตามสัญญาดังกล่าวมิได้กำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ก่อน จึงจะมีสิทธิเรียกค่าปรับได้ แต่ที่โจทก์มิได้บอกเลิกสัญญาภายในเวลาอันสมควรแต่ปล่อยปละละเลยจนค่าปรับมีจำนวนสูงเกินสมควร ถือว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วยการละเลยไม่บำบัดปัดป้องหรือบรรเทาความเสียหาย ศาลย่อมมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 223
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16994/2557   ในขณะที่ ศ. และ อ. ร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. กระทำการต่าง ๆ รวมทั้งอำนาจลงลายมือชื่อทำสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ ศ. และ อ. ยังเป็นกรรมการของโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ยกเลิกหรือเพิกถอนหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ช. ย่อมมีอำนาจกระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้แทนโจทก์ได้ตลอดไป
          ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน รถที่เช่าซื้อเป็นรถเทรลเลอร์ดั๊มเป็นตัวพ่วงไม่มีเครื่องยนต์ การใช้งานจะนำรถเทรลเลอร์ดั๊มไปพ่วงกับรถบรรทุก รถที่เช่าซื้อมิใช่รถยนต์รับจ้างทั่วไปที่อาจนำรถออกไปทำธุรกิจให้บุคคลทั่ว ๆ ไปเช่าเป็นรายเดือนได้ทุกเดือนดังที่โจทก์บรรยายฟ้องมา และเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ แต่โจทก์ไม่ดำเนินการกลับปล่อยปละละเลยไปนานร่วม 5 ปีเศษ จึงไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อคืนอันเป็นเหตุให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน แม้โจทก์จะได้รับความเสียหายตลอดเวลาจนกว่าจะได้รถที่เช่าซื้อคืน ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็สามารถผ่อนปรนความเสียหายโดยการรีบส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ได้ แต่เมื่อโจทก์ละเลยไม่รีบดำเนินการใด ๆ ตามข้อสัญญาภายในเวลาอันควรโดยไม่ปรากฏเหตุข้อจำเป็นหรือเหตุขัดข้องประการอื่นแล้ว ถือว่าโจทก์มีส่วนผิดเช่นกัน การกำหนดให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าขาดประโยชน์นานถึง 69 เดือน ย่อมทำให้โจทก์จะได้ผลประโยชน์ตอบแทนมากกว่ากรณีที่ปฏิบัติตามสัญญาเสียอีก เมื่อคำนึงถึงประโยชน์ที่โจทก์ได้จากการเช่าซื้อและราคารถที่ขายได้ เห็นสมควรกำหนดค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเวลา 24 เดือน
          ค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงินที่โจทก์ทดรองจ่ายไปตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่ตัวแทนเรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปชดใช้จากตัวการ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

01 มิถุนายน 2559

ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล แต่ยังชำระราคาไม่ครบถ้วน ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1330

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
          มาตรา 1330  "สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย"

          ตราบใดที่ผู้ซื้อยังมิได้ชำระราคาทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล‬ ‪‎ก็ยังไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล‬ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 จึงยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยผู้ที่ครอบครองทรัพย์สิน(ที่ดิน)นั้น

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 2164/2558 โจทก์ประมูลซื้อที่ดินของจำเลยจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยโจทก์เสนอราคาสูงสุด และได้ชำระเงินมัดจำและราคาบางส่วนรวมแล้ว แต่โจทก์ไม่สามารถเข้าครอบครองและทำประโยชน์ได้ เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังครอบครองที่ดินอยู่ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าว และโจทก์ฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาสูงสุดจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลและได้ชำระราคาแล้วบางส่วนมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล และได้รับอนุญาตให้ขยายระยะเวลาชำระราคาไปจนกว่าคดีที่จำเลยที่ 1 ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทถึงที่สุด ก็เพียงก่อสิทธิแก่โจทก์ว่าโจทก์ยังจะมีสิทธิเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลให้สำเร็จลุล่วงต่อไปเท่านั้น ตราบใดที่โจทก์ยังมิได้ชำระราคาค่าซื้อทรัพย์สินตามเงื่อนไขการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล โจทก์ย่อมไม่ใช่ผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 เพราะโจทก์อาจผิดสัญญาการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ทำให้การขายทอดตลาดไม่สำเร็จได้ โจทก์ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสอง
          ***กรณีนี้ เมื่อผู้ซื้อยังชำระราคาไม่ครบถ้วน จึงยังไม่ถือว่าเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ตามมาตรา 1330 ทำให้ยังไม่สามารถฟ้องขับไล่ผู้ครอบครองที่ดินให้ออกจากที่ดินดังกล่าวได้

สิทธิของผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330

          ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 
          มาตรา 1330  "สิทธิของบุคคลผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล หรือคำสั่งเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ในคดีล้มละลายนั้น ท่านว่ามิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิใช่ของจำเลย หรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา หรือผู้ล้มละลาย"

          ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด อันเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงถือว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต ส่วนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาทจะมีหรือไม่ หรือผู้ซื้อจะรู้หรือไม่ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้มิใช่ผู้ซื้อโดยสุจริต กรณีหาจำต้องให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทที่ถูกนำออกขายทอดตลาดมีสภาพหรือภาระอย่างไร เมื่อเป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต สิทธิของผู้ซื้อที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และเมื่อผู้ซื้อไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นที่ดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของผู้ซื้อต่อไป ผู้ซื้อในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินของตนอีกต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉย เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของตนได้

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9785/2553  บ้านเลขที่ 6/1 ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นของเจ้าของคนเดียวกันคือจำเลยต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกขายที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 13742 จึงมีโรงเรือนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ผู้ซื้อ การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงที่อยู่ติดต่อกันโดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลงจำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งมิใช่การปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312 เมื่อต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับนำออกขายทอดตลาด กรณีย่อมต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์ ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด อันเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต ส่วนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาทจะมีหรือไม่ หรือโจทก์จะรู้หรือไม่ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้โจทก์มิใช่ผู้ซื้อโดยสุจริต กรณีหาจำต้องให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทที่ถูกนำออกขายทอดตลาดมีสภาพหรือภาระอย่างไร เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท และเมื่อโจทก์ไม่แสดงให้ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นที่ดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้
          ***กรณีนี้ จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน(เดิม)ใช้สิทธิในฐานะเจ้าของปลูกสร้างโรงเรือนลงในที่ดินของตน แล้วมีการแบ่งแยกที่ดินในภายหลัง จึงมิใช่เป็นการสร้างโรงเรือนรุกล้ำฯ ตามมาตรา 1312


22 พฤษภาคม 2559

ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มาตรา 289(4)

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 289  "ผู้ใด
          (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          ต้องระวางโทษประหารชีวิต"

          ศาลฎีกาได้เคยวางหลักไว้ว่า การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน‬ หมายความว่า ก่อนทำการฆ่าผู้กระทำผิดได้คิดไตร่ตรอง ทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด ไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วนเพราะเมาสุราหรือบันดาลโทสะ การไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุเกี่ยวกับเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำผิด ผู้ร่วมกระทำผิดที่มิได้ไตร่ตรองไว้ก่อนไม่มีความผิดด้วยเพราะกฎหมายมุ่งถึงการไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งเป็นสภาพจิตใจของแต่ละคน การจะเป็นตัวการร่วมกันฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจึงต้องมีลักษณะเป็นการวางแผนการคบคิดกันมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่น หรือด้วยการใช้จ้างวาน หรือไปดักฆ่าผู้อื่นโดยมีพฤติการณ์ร่วมกันมาแต่ต้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 433/2546)




          1. พฤติการณ์ที่เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เช่น

          ทะเลาะวิวาทกันแล้ว จำเลยกลับไปที่ห้องพักซึ่งอยู่ห่างประมาณ 3 กม.ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที และมีคนเกลี้ยกล่อมจำเลยไม่ให้กลับไปอีก แต่จำเลยยังเตรียมอาวุธมีดกลับไปไล่ฆ่าผู้ตาย เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2558  จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

          หลังจากทะเลาะวิวาทกับผู้ตายแล้ว จำเลยกับพวกเตรียมอาวุธมีดไปดักซุ่มทำร้ายผู้ตาย เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12613/2557  การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวก แอบดักซุ่มทำร้ายผู้ตายกับพวก หลังจากมีเหตุวิวาทชกต่อยกันแล้ว โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกบางคนมีมีดเป็นอาวุธ ส่วนคนร้ายที่ไม่มีมีด ก็ตัดต้นไม้ยูคาลิปตัสข้างทางเป็นท่อน ๆ ใช้เป็นอาวุธ เมื่อผู้ตายกับพวกขับรถจักรยานยนต์ผ่านมา จำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกก็วิ่งกรูกันออกมาทำร้าย โดยมิได้เลือกว่าจะทำร้ายบุคคลใดเป็นเฉพาะเจาะจง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับพวกคิดใคร่ครวญวางแผนตกลงที่จะทำร้ายผู้ตายกับพวก โดยประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตน ถือได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันนับเป็นตัวการ ดังนี้ แม้ไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นผู้ฟันทำร้ายผู้ตาย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นตัวการแล้ว นอกจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 จะมีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และมีความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังมีความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่ความผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเกี่ยวเนื่องกัน เพราะที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 กระทำผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจรเพื่อที่จะไปทำร้ายผู้ตายกับพวก จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท

          พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกที่ย้อนกลับมาที่เกิดเหตุอีกครั้งพร้อมอาวุธมีดและถามหาตัวผู้เสียหาย เนื่องจากโกรธผู้เสียหายที่ 2 ที่เข้าห้ามมิให้จำเลยกับ ค. วิวาทกันและผู้เสียหายที่ 2 ใช้มือตบอาวุธปืนที่จำเลยชักออกมา แล้วจำเลยกับพวกก็เข้าไปใช้อาวุธมีดรุมฟันผู้เสียหายที่ 2 ทันทีที่เจอตัว เป็นการพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5582/2557   เมื่อกลุ่มของ ด. กลับมาที่ร้านได้เดินในลักษณะตามหาผู้เสียหายที่ 2 และเรียกถามหาคนที่ใช้มือปัดอาวุธปืน พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกที่ถามหาผู้เสียหายที่ 2 และเมื่อพบผู้เสียหายที่ 2 มีการบอกให้เข้าไปหาผู้เสียหายที่ 2 แล้วจำเลยกับพวกก็เข้าไปใช้อาวุธมีดรุมฟันผู้เสียหายที่ 2 ทันที แสดงว่าจำเลยกับพวกเจตนากลับมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 เนื่องจากจำเลยโกรธผู้เสียหายที่ 2 ที่เข้าห้ามมิให้จำเลยกับ ค. วิวาทกันและผู้เสียหายที่ 2 ใช้มือตบอาวุธปืนที่จำเลยชักออกมา การที่จำเลยกับพวกกลับออกไปแล้วกลับมาที่ร้านที่เกิดเหตุอีกครั้งโดยจำเลยกับพวกบางคนนำอาวุธมีดมาด้วย จำเลยกับพวกย่อมต้องได้คิดไตร่ตรองเพื่อทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 แล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

          จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อมตีทำร้ายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้ได้  เป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13360/2556  การที่จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อมตีทำร้ายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้ได้ จนได้รับบาดแผลและถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อม เมื่อจำเลยกับพวกพบเห็นผู้ตายกับผู้เสียหายทั้งสองก็ลงมือทันทีทันใดโดยที่ผู้ตายกับพวกไม่ทันตั้งตัว ผู้ตายถูกมีดฟันและทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้จำเลยกับพวกย่อมเลือกทำร้ายได้ การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการตระเตรียมอาวุธมุ่งทำร้ายผู้ตายนั้น เห็นว่า จากพฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกใช้อาวุธมีด ท่อนเหล็ก และท่อนไม้ของกลางฟันและตีทำร้ายร่างกายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้จนได้รับบาดแผลตามรายงานการตรวจศพ อันเป็นกรณีที่รับฟังถึงที่สุดแล้วว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกตระเตรียมอาวุธมีด ท่อนเหล็กและท่อนไม้ไว้เพื่อหาโอกาสทำร้ายผู้ตายกับพวกด้วยสาเหตุที่มีเรื่องบาดหมางไม่พอใจกันมาก่อน เมื่อสบโอกาสจำเลยกับพวกก็ร่วมกันใช้อาวุธดังกล่าวฟันและตีทำร้ายผู้ตายย่อมแสดงว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ไม่เป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

          ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีเหตุบาดหมางกับจำเลย ในวันเกิดเหตุจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนและมีดตามผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ เมื่อพบก็เข้าทำร้ายทันที แสดงว่าจำเลยยังขุ่นเคืองผู้เสียหายที่ 2 และตั้งใจตามหาผู้เสียหายที่ 2 เพื่อทำร้าย จำเลยจึงมีโอกาสคิดทบทวนล่วงหน้าก่อนจะกระทำความผิด แล้วจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านใช้มีดและปืนเป็นอาวุธฟันและยิงผู้เสียหายที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยได้วางแผนและตระเตรียมการที่จะฆ่าผู้เสียหายที่ 2 มาก่อนแล้ว มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7350/2556  ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 2 มีเหตุบาดหมางกับจำเลยเกี่ยวกับแย่งผู้หญิงและเคยมีการเจรจาตกลงกัน ในวันเกิดเหตุจำเลยกับพวกมีอาวุธปืนและมีดตามผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปในบ้านเกิดเหตุ เมื่อพบก็เข้าทำร้ายทันที แสดงว่าจำเลยยังขุ่นเคืองผู้เสียหายที่ 2 เกี่ยวกับผู้หญิงและตั้งใจตามหาผู้เสียหายที่ 2 เพื่อทำร้าย มิใช่ว่าพบโดยบังเอิญแล้วเกิดทะเลาะวิวาทและทำร้ายทันทีในขณะนั้น จำเลยจึงมีโอกาสคิดทบทวนล่วงหน้าก่อนจะกระทำความผิด แล้วจำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านใช้มีดและปืนเป็นอาวุธฟันและยิงผู้เสียหายที่ 2 บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยได้วางแผนและตระเตรียมการที่จะฆ่าผู้เสียหายที่ 2 มาก่อนแล้ว จำเลยจึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน

          ทะเลาะกันแล้ว แยกย้ายกันไป จากนั้นอีก 2 ชั่วโมงย้อนกลับมาค้นหาอาวุธแล้วฆ่าผู้ตาย เป็นการฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  81/2554  หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง 2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน


          2. พฤติการณ์ที่ไม่ใช่การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เช่น

          เจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนก็เป็นเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำตามแต่ละคน แต่ผู้กระทำความผิดที่ไม่ได้ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อน เพียงแต่ร่วมกระทำผิดใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวกในที่เกิดเหตุจึงมีลักษณะเป็นการตัดสินใจในทันทีทันใด จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  671/2555  วันเกิดเหตุพวกของจำเลยทั้งสองมีเหตุทะเลาะวิวาทกับกลุ่มคนที่เล่นสาดน้ำสงกรานต์ที่ปากซอยที่เกิดเหตุ ต่อมาจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายไปที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกที่มีเหตุทะเลาะวิวาทดังกล่าวโดยจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าที่จำเลยที่ 2 พกอาวุธปืนไปด้วย เมื่อถึงที่เกิดเหตุจำเลยที่ 2 กับพวกอีกคนหนึ่งจึงใช้อาวุธปืนยิงไปยังกลุ่มคนที่กำลังเล่นสาดน้ำสงกรานต์หลายนัดเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตายและผู้เสียหายทั้งสามได้รับอันตรายสาหัสและอันตรายแก่กายแล้วพากันหลบหนีไป ตามพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 1 กับพวกมีเจตนาใช้อาวุธปืนในการวิวาท จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการในการใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวก อย่างไรก็ตามแม้การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน แต่การจะเป็นตัวการร่วมฐานความผิดดังกล่าวจะต้องมีลักษณะมีการวางแผนและคบคิดมาแต่ต้นที่จะไปฆ่าผู้อื่น โดยคิดไตร่ตรองทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด อันเป็นเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำตามแต่ละคนและไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วน แต่สำหรับคดีนี้จำเลยที่ 1 ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตายและผู้เสียหายมาก่อน โดยได้ความจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า ฉ. มีสาเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและได้แจ้งเหตุทางโทรศัพท์ให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ช่วยเหลือโดยไม่ปรากฏว่าได้ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ทั้งเมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ มีจำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายและพบ ฉ. จำเลยที่ 1 ก็ถามว่าจะไปไหนกัน ฉ. ตอบว่า “ไปเลียบคลอง” อันแสดงว่าในตอนแรกขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นั้นจำเลยที่ 1 ยังไม่ทราบว่าจะขับรถจักรยานยนต์ไปที่ใด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์พาจำเลยที่ 2 ไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายกับพวกในที่เกิดเหตุจึงมีลักษณะเป็นการตัดสินใจในทันทีทันใด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นเท่านั้น

          ลงมือฆ่าผู้ตายโดยใช้มีดของกลางฟันผู้ตายทันทีหลายครั้งด้วยอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบ ไม่เป็นการฆ่าไตร่ตรองไว้ก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11794/2554  แม้จำเลยจะโกรธผู้ตายที่ไล่จำเลยออกจากบ้าน แต่จำเลยออกไปจากบ้านประมาณ 2 ถึง 3 วัน จำเลยจะกลับมาอยู่กับผู้ตายทุกครั้ง ก่อนเกิดเหตุผู้ตายไล่จำเลยออกจากบ้านและจำเลยกลับมาหาผู้ตาย เชื่อว่าเรื่องที่จำเลยถูกผู้ตายไล่ออกจากบ้านไม่ใช่สาเหตุสำคัญที่จำเลยอาฆาตแค้นผู้ตายถึงขั้นตระเตรียมอาวุธไปฆ่าผู้ตาย ทั้งมีดของกลางเป็นเพียงเครื่องใช้ทางการเกษตรที่จำเลยมีไว้ใช้ในการถางหญ้าและตัดอ้อย การที่จำเลยนำมีดของกลางติดตัวมาด้วยจึงไม่อาจฟังว่าตระเตรียมมาเป็นอาวุธฆ่าผู้ตาย ส่วนที่จำเลยรอจังหวะให้ไฟฟ้าในบ้านปิดแล้วมุดลอดสังกะสีบ้านเข้าไปหาผู้ตาย ก็อาจเป็นเพราะบุตรผู้ตายใช้กุญแจคล้องประตูด้านในไว้ ทำให้จำเลยเข้าบ้านไม่ได้ประกอบกับจำเลยอาจไม่ต้องการให้คนในบ้านซึ่งนอนหลับอยู่ทราบว่าจำเลยแอบกลับมาหาผู้ตาย ผู้ตายจึงให้จำเลยลอดเข้าไปหาดังที่จำเลยแก้ฎีกาก็เป็นได้ นอกจากนี้ได้ความว่าจำเลยคุยกับผู้ตายระยะหนึ่ง เมื่อบุตรของผู้ตายตื่นขึ้นมาเปิดไฟฟ้าแล้วเห็นจำเลยอยู่กับผู้ตาย ก็มีเสียงผู้ตายร้องห้ามบุตรของผู้ตายและผู้ตายกอดด้านหน้าจำเลยไว้ เมื่อผู้ตายปล่อยมือ จำเลยและบุตรของผู้ตายจ้องหน้ากัน หลังจากนั้นบุตรของผู้ตายวิ่งออกจากบ้าน จำเลยจึงใช้มีดฟันผู้ตายแล้ววิ่งหนีไป แสดงว่าก่อนที่บุตรผู้ตายจะวิ่งออกไปตามญาติมาไล่จำเลย จำเลยยังไม่มีความคิดที่จะฆ่าผู้ตายดังที่เคยพูดอาฆาตไว้ เชื่อว่าเหตุที่บุตรของผู้ตายวิ่งออกไปตามญาติเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำเลยลงมือฆ่าผู้ตายโดยใช้มีดของกลางฟันผู้ตายทันทีหลายครั้งด้วยอารมณ์โกรธเพียงชั่ววูบ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน



11 พฤษภาคม 2559

ผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตามมาตรา 63

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63  "ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้"

          จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปและเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายเป็นผลให้จำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะการที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้น จึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว (มาตรา 63) จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1867/2553   จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปและเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายเป็นผลให้จำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้จำเลยจะฎีกาว่า ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายเบิกความ ผู้เสียหายไม่ทราบว่าไปโดนคมมีดตอนไหน เข้าใจว่าคงจะโดนตอนที่กลับตัวมาไขกุญแจรถ บาดแผลจึงไม่ได้เกิดจากจำเลยมีเจตนาใช้มีดทำร้ายผู้เสียหายก็ตามก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อการที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้น จึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย ตามมาตรา 339 วรรคสาม
       
          อีกกรณี  จำเลยชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้าย แพทย์ตรวจบาดแผลในชั้นแรกระบุว่ามีบาดแผลที่หางคิ้ว ศีรษะด้านหน้า โคนลิ้นด้านล่างแขนซ้ายบวมช้ำแดง สมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย รักษาตัวในโรงพยาบาล 37 วัน แล้วถึงแก่ความตาย ดังนี้ ความตายเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลย ซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 63 จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 339 วรรคท้าย

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2723/2537   จำเลยชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้าย แพทย์ตรวจบาดแผลในชั้นแรกระบุว่ามีบาดแผลที่หางคิ้ว ศีรษะด้านหน้า โคนลิ้นด้านล่างแขนซ้ายบวมช้ำแดง สมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย รักษาตัวในโรงพยาบาล 37 วัน แล้วถึงแก่ความตาย ระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้รับอุบัติเหตุเพิ่มเติม แพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพพบว่าซี่โครงหัก 6 ซี่ มีน้ำในช่องปอดระบุว่าผู้ตายถูกทำร้ายได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง และลำตัวบอบช้ำมากเชื่อได้ว่าเกิดจากการทำร้ายของจำเลย ประกอบกับชราภาพอาการบาดเจ็บทรุดหนักทำการรักษาลำบาก หากชราภาพและไม่ได้รับการกระทบกระเทือนก็จะไม่ตาย ดังนี้เห็นได้ว่าการตายเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลยซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ตายถูกจำเลยทำร้าย มีผู้นำตัวผู้ตายไปรักษาที่โรงพยาบาลกลางแพทย์ตรวจในชั้นแรกมีบาดแผลที่หางคิ้วซ้ายศีรษะด้านหน้า แขนซ้ายบวมช้ำแดง มีบาดแผลที่โคนลิ้นด้านล่างและสมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย ปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลชั่วคราว ผู้ตายรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 37 วัน จึงถึงแก่ความตายแพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพปรากฏบาดแผลซี่โครงหัก 6 ซี่ และมีน้ำในช่องปอดเพิ่มจากใบชันสูตรบาดแผลชั่วคราว ไม่ปรากฏว่าในระหว่างที่ผู้ตายรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาถึง 37 วันแล้วถึงแก่ความตายนั้น ผู้ตายได้รับอุบัติเหตุอะไรเพิ่มจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายในวันเกิดเหตุแต่ประการใด เชื่อได้ว่าการที่แพทย์ตรวจพบว่าผู้ตายมีบาดแผลซี่โครงหักในวันทำการชันสูตรพลิกศพด้วยนั้น ย่อมเกิดจากการทำร้ายของจำเลยต่อผู้ตายในวันเกิดเหตุโดยปราศจากข้อสงสัย แพทย์ระบุว่าผู้ตายถูกทำร้ายได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองและตามลำตัวบอบช้ำมากประกอบกับชราภาพอาการบาดเจ็บทรุดหนักทำการรักษาลำบาก หากชราภาพและไม่ได้รับการกระทบกระเทือนก็จะไม่ตาย ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลยซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 63 การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้ายตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

          แต่ถ้าเหตุแทรกแซงมีน้ำหนักมากจนสามารถตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดในผลนั้น เพราะไม่ใช่ผลโดยตรง เช่น ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจ และท่อช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ซึ่งแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าหากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย ดังนี้ ความตายมิได้เป็นผลโดยตรงจากการทำร้ายของจำเลย แต่เกิดจากญาติกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงเอง

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาฎีกาที่ 659/2532 จำเลยใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกาย กับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีบาดแผลถลอกที่ขากรรไกรและข้อศอกซ้าย กระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่ ฟังได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่า หลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดยให้น้ำเกลือใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดข้างซ้ายเพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ตายด้วย และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าหากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจ และท่อช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตายเท่านั้น