11 พ.ค. 2559

ผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตามมาตรา 63

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63  "ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้"

          จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปและเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายเป็นผลให้จำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น เพราะการที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้น จึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว (มาตรา 63) จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  1867/2553   จำเลยใช้อาวุธมีดปลายแหลมจี้ขู่ผู้เสียหายและเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายและรถยนต์ของบิดาของผู้เสียหายที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปและเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายเป็นผลให้จำเลยก็ต้องรับโทษหนักขึ้น แม้จำเลยจะฎีกาว่า ผู้เสียหายได้รับบาดแผลที่ต้นแขนซ้ายจากมีดของจำเลยเนื่องจากอุบัติเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายเบิกความ ผู้เสียหายไม่ทราบว่าไปโดนคมมีดตอนไหน เข้าใจว่าคงจะโดนตอนที่กลับตัวมาไขกุญแจรถ บาดแผลจึงไม่ได้เกิดจากจำเลยมีเจตนาใช้มีดทำร้ายผู้เสียหายก็ตามก็ไม่ใช่ข้อสำคัญ เพราะการที่จำเลยจะรับโทษหนักขึ้นด้วยเหตุที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น จำเลยไม่จำต้องกระทำโดยมีเจตนา เพียงแต่พิจารณาว่าผลที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายนั้น เป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตาม ป.อ. มาตรา 63 หรือไม่ เมื่อการที่จำเลยใช้มีดปลายแหลมจี้ผู้เสียหาย การที่ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายจากมีดนั้น จึงย่อมเป็นผลธรรมดาที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยแล้ว จำเลยมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย ตามมาตรา 339 วรรคสาม
       
          อีกกรณี  จำเลยชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้าย แพทย์ตรวจบาดแผลในชั้นแรกระบุว่ามีบาดแผลที่หางคิ้ว ศีรษะด้านหน้า โคนลิ้นด้านล่างแขนซ้ายบวมช้ำแดง สมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย รักษาตัวในโรงพยาบาล 37 วัน แล้วถึงแก่ความตาย ดังนี้ ความตายเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลย ซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามมาตรา 63 จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 339 วรรคท้าย

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2723/2537   จำเลยชิงทรัพย์ผู้ตายโดยใช้กำลังประทุษร้าย แพทย์ตรวจบาดแผลในชั้นแรกระบุว่ามีบาดแผลที่หางคิ้ว ศีรษะด้านหน้า โคนลิ้นด้านล่างแขนซ้ายบวมช้ำแดง สมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย รักษาตัวในโรงพยาบาล 37 วัน แล้วถึงแก่ความตาย ระหว่างนั้นไม่ปรากฏว่าผู้ตายได้รับอุบัติเหตุเพิ่มเติม แพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพพบว่าซี่โครงหัก 6 ซี่ มีน้ำในช่องปอดระบุว่าผู้ตายถูกทำร้ายได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง และลำตัวบอบช้ำมากเชื่อได้ว่าเกิดจากการทำร้ายของจำเลย ประกอบกับชราภาพอาการบาดเจ็บทรุดหนักทำการรักษาลำบาก หากชราภาพและไม่ได้รับการกระทบกระเทือนก็จะไม่ตาย ดังนี้เห็นได้ว่าการตายเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลยซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ตายถูกจำเลยทำร้าย มีผู้นำตัวผู้ตายไปรักษาที่โรงพยาบาลกลางแพทย์ตรวจในชั้นแรกมีบาดแผลที่หางคิ้วซ้ายศีรษะด้านหน้า แขนซ้ายบวมช้ำแดง มีบาดแผลที่โคนลิ้นด้านล่างและสมองได้รับการกระทบกระเทือนเล็กน้อย ปรากฏตามใบชันสูตรบาดแผลชั่วคราว ผู้ตายรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 37 วัน จึงถึงแก่ความตายแพทย์ตรวจชันสูตรพลิกศพปรากฏบาดแผลซี่โครงหัก 6 ซี่ และมีน้ำในช่องปอดเพิ่มจากใบชันสูตรบาดแผลชั่วคราว ไม่ปรากฏว่าในระหว่างที่ผู้ตายรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาถึง 37 วันแล้วถึงแก่ความตายนั้น ผู้ตายได้รับอุบัติเหตุอะไรเพิ่มจากการที่ผู้ตายถูกจำเลยทำร้ายในวันเกิดเหตุแต่ประการใด เชื่อได้ว่าการที่แพทย์ตรวจพบว่าผู้ตายมีบาดแผลซี่โครงหักในวันทำการชันสูตรพลิกศพด้วยนั้น ย่อมเกิดจากการทำร้ายของจำเลยต่อผู้ตายในวันเกิดเหตุโดยปราศจากข้อสงสัย แพทย์ระบุว่าผู้ตายถูกทำร้ายได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองและตามลำตัวบอบช้ำมากประกอบกับชราภาพอาการบาดเจ็บทรุดหนักทำการรักษาลำบาก หากชราภาพและไม่ได้รับการกระทบกระเทือนก็จะไม่ตาย ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นผลจากการประทุษร้ายของจำเลยซึ่งเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 63 การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคท้ายตามฟ้อง ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น

          แต่ถ้าเหตุแทรกแซงมีน้ำหนักมากจนสามารถตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ผู้กระทำไม่ต้องรับผิดในผลนั้น เพราะไม่ใช่ผลโดยตรง เช่น ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจ และท่อช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ซึ่งแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าหากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย ดังนี้ ความตายมิได้เป็นผลโดยตรงจากการทำร้ายของจำเลย แต่เกิดจากญาติกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงเอง

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาฎีกาที่ 659/2532 จำเลยใช้ของแข็งตีทำร้ายผู้ตายมีบาดแผลฟกช้ำดำเขียวทั่วร่างกาย กับมีบาดแผลฉีกขาดที่ศีรษะยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีบาดแผลฉีกขาดที่หัวคิ้วซ้ายยาวประมาณ 3 เซนติเมตร ลึกประมาณ 1 เซนติเมตร มีบาดแผลถลอกที่ขากรรไกรและข้อศอกซ้าย กระดูกขากรรไกรหัก กระดูกซี่โครงร้าว 2 ซี่ ฟังได้ว่าจำเลยทำร้ายผู้ตายโดยมีเจตนาฆ่า หลังจากที่ผู้ตายถูกทำร้ายได้มีการนำตัวผู้ตายไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์ได้รักษาผู้ตายเบื้องแรกโดยให้น้ำเกลือใส่ท่อช่วยหายใจ ผ่าตัดใส่ท่อระบายลมในโพรงปอดข้างซ้ายเพราะมีลมรั่วออกมาจากทางเดินหายใจ แล้วใส่เครื่องช่วยหายใจให้ผู้ตายด้วย และแพทย์ผู้รักษามีความเห็นว่าหากให้ผู้ตายรักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไป โอกาสที่ผู้ตายจะมีชีวิตรอดมีมากกว่าผู้ตายจะถึงแก่ความตาย การที่ญาติผู้ตายกระทำให้การรักษาสิ้นสุดลงโดยการดึงเครื่องช่วยหายใจ และท่อช่วยหายใจออก แล้วพาผู้ตายกลับบ้าน และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย หาใช่เป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยไม่ เพราะเมื่อผู้ตายอยู่ในความดูแลรักษาของแพทย์แล้ว ผู้ตายย่อมเป็นผู้อยู่ในสภาพที่มีโอกาสมีชีวิตอยู่รอดสูง การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานพยายามฆ่าผู้ตายเท่านั้น