02 เมษายน 2559

การถอนฟ้องคดีแพ่งนั้นสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ เว้นแต่ในการถอนฟ้องนั้นได้แถลงต่อศาลไว้ในคดีนั้นด้วยว่าจะไม่ฟ้องจำเลยอีก ซึ่งถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176

          การถอนฟ้องคดีแพ่ง
          ‪‎การถอนคำฟ้องย่อมลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น‬ รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆอันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง และกระทำให้คู่ความกลับคืนเข้าสู่ฐานะเดิม แต่ว่าคำฟ้องที่ได้ถอนแล้ว ก็อาจยื่นใหม่ได้ภายในอายุความ (ป.วิ.พ.มาตรา 176)
          ‪‎แต่ถ้าในการถอนฟ้องนั้นได้แถลงต่อศาลไว้ในคดีนั้นด้วยว่าจะไม่ฟ้องจำเลยอีก‬  อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ได้กระทำต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เกี่ยวกับการยื่นฟ้องใหม่อันเป็นการผูกมัดโจทก์ กรณีนี้โจทก์ก็ไม่สามารถนำฟ้องคดีเรื่องนี้มาฟ้องจำเลยอีกต่อไป ดังมีคำพิพากษาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้
          ‪คำพิพากษาศาล‎ฎีกาที่‬ 292/2552 - แม้ได้ความว่าโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลชั้นต้นเกี่ยวกับที่พิพาทในคดีนี้และมีประเด็นแห่งคดีเป็นอย่างเดียวกับคดีนี้ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้แล้วก็ตาม แต่ในการถอนฟ้องนั้นได้ความว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องโดยอ้างเพียงว่าได้ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นแล้ว และแถลงว่าอยู่ระหว่างจดทะเบียนโอนสิทธิโดยโจทก์ได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้ หากโอนไปแล้วโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 อีก โดยโจทก์มิได้ร้องหรือแถลงไว้ในคดีดังกล่าวว่าจะไม่ฟ้องจำเลยที่ 1 อีก อันจะถือว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่โจทก์ได้กระทำต่อศาลหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งถือว่าโจทก์ยอมสละสิทธิของตนที่มีอยู่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 เกี่ยวกับการยื่นฟ้องใหม่อันเป็นการผูกมัดโจทก์ แม้ในคดีนี้โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยทั้งสองว่า “ในการถอนฟ้องคดีดังกล่าว โจทก์อ้างว่าได้ขายที่ดินไปแล้ว จะไม่นำคดีมาฟ้องอีก ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง” คำเบิกความของโจทก์ในคดีนี้ก็ไม่ใช่กระบวนพิจารณาในคดีดังกล่าว ส่วนที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำสั่งในการถอนฟ้องของโจทก์ว่า “ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องเพื่อทำฟ้องที่สมบูรณ์มายื่นต่อศาลใหม่อีก ทั้งโจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างเหตุว่าได้ขายที่ดินให้ผู้อื่น จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะถอนฟ้องโดยหวนกลับมาฟ้องจำเลยใหม่อีก” ก็เป็นเรื่องดุลพินิจของศาลชั้นต้นเอง เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในคดีนี้ว่า ถ. ผู้ซื้อที่ดินของโจทก์ชำระราคาแก่โจทก์ไม่ครบถ้วน จึงยังมิได้มีการจดทะเบียนซื้อขายโอนกรรมสิทธิ์แก่กันให้บริบูรณ์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง



เกิดอุบัติเหตุแล้วกลับทิ้งให้หญิงคนรักนอนสลบอยู่ในพงหญ้าข้างทางนานถึง 8 วัน โดยไม่แจ้งให้คนไปช่วยเหลือ ‪ผิดฐานพยายามฆ่า

          การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย ตามมาตรา 59 วรรคท้าย
          นั่งรถไปด้วยกัน แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้ว กลับทิ้งให้คนรักนอนสลบอยู่ในพงหญ้าข้างทางนานถึง 8 วัน โดยไม่แจ้งให้คนไปช่วยเหลือ ‪ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงคนรักนั้น อาจทำให้ถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่า‬ ดังที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
‪          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 16412/2555  -  วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นหญิงคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้เกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลงทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทาง แล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือ ทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุ เป็นเวลานานถึง 8 วัน และไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า การงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือ ผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าและฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แจ้งเหตุและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสครบองค์ประกอบความผิดหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ได้กล่าวถึงการกระทำของจำเลยอันเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 ไว้ชัดเจนแล้วว่า เมื่อรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 หมดสติ จำเลยไม่ช่วยเหลือหรือแจ้งให้ผู้อื่นไปช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นการเล็งเห็นผลได้ว่าผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ ฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพยายามฆ่าจึงครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 แล้ว เมื่อพยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นคนรักนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ระหว่างทางได้จับมือผู้เสียหายที่ 2 ไปกอดไว้และเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มลง ทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ตกจากรถจักรยานยนต์ได้รับอันตรายสาหัสนอนหมดสติในพงหญ้าข้างทางแล้วจำเลยหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือทิ้งให้ผู้เสียหายที่ 2 นอนหมดสติในที่เกิดเหตุเป็นเวลานานถึง 8 วันและไม่แจ้งให้ผู้เสียหายที่ 1 ทราบ จนมีผู้ไปพบผู้เสียหายที่ 2 จำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการงดเว้นไม่ให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 อาจถึงแก่ความตายได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ไม่ถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 59 วรรคท้าย ส่วนความผิดฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แจ้งเหตุและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยได้ทิ้งผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งหมดสติอยู่ที่เกิดเหตุโดยไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร และไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที มิได้บรรยายอ้างเหตุว่าการที่จำเลยไม่อยู่ให้ความช่วยเหลือตามสมควร พร้อมทั้งแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา 78 วรรคหนึ่งนั้น เป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส แม้โจทก์จะบรรยายในตอนท้ายของข้อ (1) ค. ว่า ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสก็เป็นการบรรยายฟ้องสืบเนื่องมาจากรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับล้มและผลจากการที่จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 เท่านั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แจ้งเหตุและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษตามมาตรา 160 วรรคสองได้ ต้องลงโทษตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า มีเหตุไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ สำหรับความผิดฐานกระทำอนาจาร ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร เห็นว่า ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินสองปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ลงโทษปรับจำเลยในแต่ละกระทงอีกสถานหนึ่ง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินสองปี หรือปรับแต่ละกระทงไม่เกินสี่หมื่นบาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ที่โจทก์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานดังกล่าวเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 4 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและความผิดฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แจ้งเหตุและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันทีซึ่งเป็นกรรมเดียวกันนั้น เห็นว่า แม้ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 19 ปี และหลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองแล้วก็ตาม แต่จำเลยและผู้เสียหายที่ 2 เป็นคนรักกัน เมื่อรถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับประสบอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัส จำเลยในฐานะคนรักของผู้เสียหายที่ 2 และไม่ได้รับบาดเจ็บมากควรช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 หรือไปตามบุคคลอื่นมาช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 2 แต่จำเลยกลับไม่กระทำและทิ้งผู้เสียหายที่ 2 ไว้ในที่เกิดเหตุ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไปสอบถามถึงผู้เสียหายที่ 2 จำเลยก็ไม่ยอมบอกให้ผู้เสียหายที่ 1 ทราบ ปล่อยให้ผู้เสียหายที่ 2 ต้องทนทุกข์ทรมานเป็นเวลานานถึง 8 วัน จนกระทั่งนายอุดม ไปพบผู้เสียหายที่ 2 หากนายอุดมไม่ไปพบผู้เสียหายที่ 2 อาจทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ความตายได้ ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยกลัวความผิดและเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายที่ 2 ถึงแก่ความตายแล้วจึงไม่กล้าบอกหรือเล่าเรื่องให้ผู้อื่นฟัง ก็เป็นการผิดวิสัยของคนที่รักกัน พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่มีเหตุที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อศาลฎีกาไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว การคุมประพฤติจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจาร ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร ย่อมไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด จึงเห็นสมควรให้ยกเลิกการคุมประพฤติจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว
          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและความผิดฐานหลบหนีไม่หยุดให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่แจ้งเหตุและแสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งแล้ว จำคุก 5 ปี ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ความผิดฐานกระทำอนาจาร ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และฐานพรากเด็กไปเพื่อการอนาจาร ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 กับให้ยกเลิกการคุมประพฤติในความผิดฐานดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

ถูกทำร้ายจึงกลับไปห้องพักห่างออกไป 2-3 กิโลเมตรใช้เวลา 30 นาที เพื่อเอาอาวุธกลับมาฆ่าผู้ตาย ไม่เป็นบันดาลโทสะ แต่เป็นการฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามมาตรา 289(4)

          มาตรา 72  "ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้"

          มาตรา 289  "ผู้ใด
          (1) ..........
          (2) ..........
          (3) ..........
          (4) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          (5) .........
          ................
          ต้องระวางโทษประหารชีวิต"

          การอ้างเหตุบันดาลโทสะเพื่อที่จะได้รับโทษน้อยลง จะต้องได้ความว่าเกิดบันดาลโทสะเนื่องจากถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงได้ลงมือกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น  แต่ถ้าเหตุการที่ถูกข่มเหงผ่านพ้นไปนานพอสมควร ซึ่งโทสะระงับลงแล้ว แต่กลับตระเตรียมอาวุธกลับมาฆ่าผู้ข่มเหง ดังนี้ ไม่ใช่เรื่องบันดาลโทสะ แต่เป็นเรื่องการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ดังที่มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4577/2558  -  จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 1 ถูกผู้ตายทำร้ายจึงวิ่งออกจากร้านกลับไปที่ห้องพักใช้เวลาเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ขณะที่จำเลยที่ 1 มีอารมณ์โกรธใช้เวลานานเพียงไม่กี่นาทีย่อมไม่มีโอกาสคิดทบทวนว่าสมควรจะฆ่าผู้ตายหรือไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 โกรธผู้ตาย จึงหยิบอาวุธมีดจากห้องพักเพื่อกลับมาทำร้ายผู้ตาย เมื่อไปถึงจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดเดินเข้าไปภายในร้าน ผู้ตายวิ่งออกจากร้านไป จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามผู้ตายแล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้ตาย และโจทก์ไม่มีหลักฐานอื่นมาแสดงว่าจำเลยที่ 1 มีโอกาสคิดใคร่ครวญตระเตรียมการวางแผนก่อเหตุฆ่าผู้ตาย พยานหลักฐานโจทก์ย่อมฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ประกอบกับเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยที่ 1 ก่อน โดยขณะที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านเกิดเหตุแล้วใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายในเวลาต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ อันเป็นการกระทำเนื่องจากถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เห็นว่า ร้านคาราโอเกะในนาอยู่ห่างจากห้องพักของจำเลยที่ 1 ประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้รถจักรยานยนต์สองคันเป็นพาหนะออกจากร้านคาราโอเกะในนากลับไปห้องพักและจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เดินทางจากห้องพักกลับไปร้านคาราโอเกะรวมเวลาเดินทางไปกลับไม่น่าจะเกิน 10 นาที จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 กลับไปถึงห้องพักก็เข้าไปหยิบมีดของกลางและจะกลับไปหาผู้ตายที่ร้านคาราโอเกะในนา จำเลยที่ 2 และที่ 4 พยายามห้ามไว้แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมฟัง จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องกลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนา กับจำเลยที่ 1 อีก ซึ่งก็สอดคล้องกับคำให้การของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา ว่า จำเลยที่ 1 จะกลับไปร้านคาราโอเกะในนาคนเดียว แต่จำเลยอื่นไม่ยอม จึงเชื่อได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 กลับไปถึงห้องพัก จำเลยอื่นได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก นางสาว จ. พนักงานเสิร์ฟประจำร้านคาราโอเกะในนาให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การของพยาน ว่า จำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านเวลาประมาณ 0.30 นาฬิกา และกลับมาอีกครั้งเมื่อเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ตามคำให้การของนางสาว จ.แสดงว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะในนากับที่พักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนาประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนาแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาไม่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะในนาเมื่อผู้ตายเห็นจำเลยที่ 1 จึงวิ่งหนี จำเลยที่ 1 ไล่ตามไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยใช้ท่อเหล็กแป๊บตีทำร้ายจำเลยที่ 1 ก่อน ประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ลดโทษให้หนึ่งในสามยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา เห็นสมควรลดโทษให้จำเลยที่ 1 สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด
          พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ลดโทษให้จำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุก 25 ปี และเมื่อลดโทษฐานพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงปรับ 45 บาท รวมเป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 25 ปี และปรับ 45 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

26 มีนาคม 2559

ทายาทฟ้องผู้จัดการมรดก ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300

          ป.พ.พ. มาตรา 1300  "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"

          ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้บุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ และแม้จะมีผู้รับโอนต่อไปโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ผู้รับโอนต่อไปก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300         

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  13689/2556  -  โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว
          จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อนแล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
          จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้

25 มีนาคม 2559

ถ้าเป็นคดีความผิดที่ยอมความได้ ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายก่อน

          ป.วิ.อ.

         มาตรา 120  "ห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อน" 

          มาตรา 121  "พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง
          แต่ถ้าเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ"

‎          ผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของผู้เสียหาย‬ ไม่ได้ร้องทุกข์ว่าจำเลยทั้งสองยักยอกรถยนต์ พนักงานสอบสวนจึง‎ไม่มีอำนาจสอบสวนผู้เสียหายเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหาย‬ ‪เพราะไม่ได้ร้องทุกข์ไว้‬ ดังนั้น การสอบสวนเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ เท่ากับไม่มีการสอบสวนในเรื่องดังกล่าว และมีผลให้อัยการไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ดังกล่าว

          มีตัวอย่างดังนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 14785/2557   วันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 โจทก์ร่วมร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าโจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองร่วมกันประกอบกิจการขายรถยนต์ใช้แล้วด้วยกัน โดยโจทก์ร่วมเป็นผู้ออกเงินทุนซื้อรถยนต์ใช้แล้วจากนั้นนำไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อขายได้โจทก์ร่วมจะได้รับเงินทุนคืนพร้อมเงินกำไรร้อยละหกสิบ ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้เฉพาะเงินกำไรร้อยละสี่สิบ โจทก์ร่วมนำรถยนต์ 6 คันตามฟ้องไปมอบให้จำเลยทั้งสองเสนอขาย เมื่อจำเลยทั้งสองขายได้แล้วจำเลยทั้งสองร่วมกันเบียดบังเอาเงินที่ขายได้ไปโดยทุจริต ซึ่งเป็นการร้องทุกข์กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกเงินที่ได้จากการขายรถยนต์ของโจทก์ร่วม แต่หลังจากนั้นในวันที่ 18 เมษายน 2549 พนักงานสอบสวน สอบสวนโจทก์ร่วมเพิ่มเติมว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วม ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมได้ร้องทุกข์ไว้ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 การสอบสวนเพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เพราะมิใช่เรื่องที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกันยักยอกรถยนต์ของโจทก์ร่วมเป็นคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120