คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2563 ยักยอกทรัพย์มรดก, หน้าที่ของผู้จัดการมรดก

          เมื่อศาลตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของ ช. และ ป. ตามลำดับ แล้ว จำเลยจักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ตามที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้หลายประการ เช่น ต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของ ช. และ ป. ภายใน 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 ทั้งต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกต่อหน้าพยานที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1729 และประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ช. และ ป. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไป และจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1719 และมาตรา 1732 โดยการแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยหามีอำนาจจัดการตามอำเภอใจไม่ แต่ต้องกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ให้เป็นที่คลางแคลงใจอันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีงามในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคนในครอบครัว มิฉะนั้นจำเลยจักต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 หากกระทำการโดยทุจริต จำเลยจักต้องรับผิดในทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 354 ได้ 

          ฟ้อง ข้อ 2.1 ชื่อ ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายในขณะที่ดินยังอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอนและยังมีชื่อ ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยมิได้ทำพินัยกรรม ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่ตกทอดแก่ทายาทของ ป. จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ต้องแบ่งปันที่ดินมรดกแปลงนี้แก่ทายาทของ ป. ตามสิทธิของแต่ละคนให้เป็นไปตามกฎหมาย การที่จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกแปลงนี้มาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ก่อน แล้วโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นการส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวในวันเดียวกัน ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นการโอนที่ดินมรดกที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว ยังบ่งชี้ว่าจำเลยที่เป็นเพียงทายาทผู้มีสิทธิคนหนึ่งไม่ต้องการให้ทายาทของ ป. คนอื่นรวมทั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกร่วมกับจำเลยโดยถือเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอก

          คำมั่นของ ป. ว่า จะให้ที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 526 จึงไม่อาจรับฟังให้มีผลใช้บังคับเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ทั้งหากจำเลยต้องการได้ที่ดินมรดกแปลงนี้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว จำเลยก็สามารถประชุมตกลงกับทายาทผู้มีสิทธิทุกคนแล้วทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทายาทผู้มีสิทธิคนอื่นรับรู้และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานตามมาตรา 1750 วรรคสอง

          ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 เคยเป็นที่ดินของ ป. ที่ ป. นำไปจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของ ช. ต่อเจ้าหนี้ เมื่อต่อมาเจ้าหนี้ฟ้อง ช. และ ป. ให้ชำระหนี้และขอบังคับจำนอง แต่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้เจรจาขอลดยอดหนี้เหลือ 15,000,000 บาท และนำเงินส่วนตัวของจำเลยไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจนเสร็จสิ้นครบถ้วน จำเลยจึงย่อมได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของ ช. และ ป. โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินมรดกที่เคยเป็นทรัพย์จำนอง ขณะเดียวกันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. และเป็นตัวแทนของทายาทที่มีสิทธิทุกคนก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ป. ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของ ป. คิดเป็นเงินจำนวนมากและจำเลยมีสองสถานะคือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกของจำเลยจึงอาจมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของทายาทอื่นโดยตรง ในเรื่องนี้ ป.พ.พ. ได้บัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1722 มีใจความว่า ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบต่อสู้โดยมี ว. ส. จ. เป็นพยานเบิกความสนับสนุนทำนองว่า เมื่อจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้ว ที่ดินมรดกของ ป. อันเคยเป็นทรัพย์จำนองต้องตกเป็นของจำเลย และจำเลยมีสิทธิที่จะโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยหรือบุคคลใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่าที่ดินมรดกอันเคยเป็นทรัพย์จำนองมีราคาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเงิน 15,000,000 บาท ที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปหรือไม่ อีกทั้งการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 1740 ด้วยการเอาทรัพย์สินของเจ้ามรดกออกขายทอดตลาดแล้ว นำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดก แม้จะได้ความในตอนต่อมาว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 จำเลยเคยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ขายที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ให้แก่จำเลยในฐานะผู้ซื้อ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยส่งสำเนาคำร้องแก่ทายาทของ ป. เพื่อให้มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน กลับปรากฏว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2553 อันเป็นเวลาหลังจากจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเพียง 4 วัน จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ได้ดำเนินการโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. พี่สาวของจำเลยโดยไม่นำพาต่อข้อห้ามตามมาตรา 1722 อีกทั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2553 ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เพียงเป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกในทางแพ่งแต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาร้ายทางอาญา โดยหลักฐานบ่งชี้ว่าจำเลยต้องการปกปิดไม่ให้โจทก์ร่วมรับรู้การจัดการมรดกของจำเลย และไม่ต้องการให้โจทก์ร่วมมีส่วนได้รับทรัพย์มรดกของ ป. ตามกฎหมาย อันเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำนิติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตามฟ้องข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 

          ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 มีชื่อ ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่ง ช. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 จึงเป็นทรัพย์มรดกของ ช. ที่ตกทอดแก่ทายาทของ ช. รวม 8 คน ได้แก่ ท. คู่สมรสของ ช. บุตรของ ช. 5 คน จ. มารดาของ ช. และ ป. บิดาของ ช. โดยในเบื้องต้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ช. และเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ช. ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาระหว่างที่การจัดการมรดกของ ช. ยังไม่เสร็จสิ้น ป. ได้ถึงแก่ความตาย ที่ดินมรดกของ ช. ตามฟ้อง ข้อ 2.8 เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่ ป. จึงตกทอดมายังโจทก์ร่วม จำเลยและทายาทคนอื่น ๆ ของ ป. โดยคำนวณหักส่วนแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่ ท. คู่สมรสของ ช. ตามมาตรา 1625 มาตรา 1532 และมาตรา 1533 แล้ว ที่ดินมรดกของ ช. ส่วนที่เหลือต้องแบ่งปันแก่ทายาทของ ช. รวม 8 คน คนละ 1 ใน 8 ส่วนตามมาตรา 1630 วรรคสอง มาตรา 1633 และมาตรา 1635 (1) สำหรับที่ดินมรดกของ ช. เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่ ป. เมื่อตกทอดมายังผู้สืบสันดานของ ป. ได้แก่โจทก์ร่วม จำเลย บุตรคนอื่นและผู้รับมรดกแทนที่รวม 6 ส่วน ซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันแล้วจะปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินส่วนนี้ 1 ใน 6 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3.95 ตารางวา ซึ่งนับว่าน้อยมาก รูปคดีจึงไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. จะทำหน้าที่จัดการมรดกของ ป. เฉพาะส่วนนี้ด้วยเจตนาทุจริตประกอบกับการที่จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกของ ช. แปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. มารดาของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. มิใช่กระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. แม้การโอนที่ดินมรดกของ ช. ดังกล่าว จะเป็นการโอนรวมเอาส่วนที่จะตกได้แก่ ป. เข้าไปด้วย แต่ข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาก็มีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 352 วรรคแรก และมาตรา 354 ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฎว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

          -------------------------------------------------------


          โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352, 354 และให้จำเลยคืนที่ดินดังกล่าวหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 37,593,982 บาท แก่ผู้เสียหาย

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ระหว่างพิจารณา นางกรรภิรมย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต

           โจทก์ร่วมยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 37,593,982 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม

          จำเลยให้การในส่วนแพ่งว่าไม่ได้กระทำความผิดอาญา จึงไม่ต้องรับผิด

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 354 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 48 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

          โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด

          โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามฟ้อง ข้อ 2.7 และ ข้อ 2.8 ได้

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายประยูร กับนางสุดใจ ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันมาก่อน แล้วจดทะเบียนสมรสกันภายหลังเมื่อปี 2523 โดยมีบุตรด้วยกันรวม 6 คน ได้แก่ โจทก์ร่วม นายชาลี นายสายัณห์ นางวรรณศรี จำเลยและนายวุฒิชัย ตามลำดับ เมื่อปี 2531 นายชาลีกู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยนายชาลีนำที่ดินของตนโฉนดเลขที่ 11665 และนายประยูร นำที่ดินของตนโฉนดเลขที่ 15004 11723 14498 14499 14500 และ 14496 ไปจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ หลังจากนั้นนายชาลีไม่ชำระหนี้ ธนาคารจึงฟ้องนายชาลีและนายประยูรให้ร่วมกันชำระหนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 แต่ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 นายชาลีถึงแก่ความตาย โดยมีนางทิพย์ปราณี ภริยาของนายชาลีเป็นผู้จัดการมรดกของนายชาลี แต่เนื่องจากนางทิพย์ปราณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกของนายชาลีให้ถูกต้องตามกฎหมาย นายประยูรจึงร้องต่อศาล ขอถอนนางทิพย์ปราณีออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายชาลี แต่สามารถตกลงกันได้ และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายชาลีแทน หลังจากนั้นวันที่ 16 ตุลาคม 2550 นายประยูรถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายประยูร ภายหลังจำเลยสามารถเจรจาประนอมหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร จำนวนกว่า 51,000,000 บาท ได้เป็นผลสำเร็จ โดยได้รับการลดยอดหนี้เหลือ 15,000,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ จนครบถ้วน โดยจำเลยขายที่ดินของจำเลย ให้แก่บุคคลอื่นแล้วนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้กับไถ่ถอนจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักประกันคืนมาคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 14498 14499 14500 14496 และ 11665 ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรและนายชาลีได้ดำเนินการโอนที่ดินมรดกของนายประยูรและนายชาลีให้แก่ตนเองและบุคคลอื่น โดยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 จำเลยโอนที่ดินมรดกของนายประยูร ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จากนั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จำเลยโอนที่ดินมรดกของนายประยูรรวม 5 แปลง ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย กับโอนที่ดินมรดกของนายประยูร ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวรรณศรี พี่สาวของจำเลย และโอนที่ดินมรดกของนายชาลี ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุดใจ มารดาของจำเลย

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อศาลตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายชาลีและนายประยูรตามลำดับ แล้ว จำเลยจักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้หลายประการ เช่น ต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของนายชาลีและนายประยูรภายใน 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 ทั้งต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกต่อหน้าพยานที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1729 และประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของนายชาลีและนายประยูรแล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไป และจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1719 และมาตรา 1732 โดยการแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยหามีอำนาจจัดการตามอำเภอใจไม่ แต่ต้องกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ให้เป็นที่คลางแคลงใจอันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีงามในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคนในครอบครัว มิฉะนั้นจำเลยจักต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 หากกระทำการโดยทุจริต จำเลยจักต้องรับผิดในทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และมาตรา 354 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายชาลีและนายประยูรแล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่เคยจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองกับไม่เคยเรียกประชุมทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกเพื่อชี้แจงแสดงแนวทางการจัดการมรดกทั้งในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ และด้วยเหตุที่โจทก์และโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยยักยอกที่ดินมรดกของนายประยูรตามฟ้อง ข้อ 2.1 ถึง ข้อ 2.8 รวม 8 แปลง กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยการกระทำของจำเลยในการแบ่งปันที่ดินมรดกตามฟ้องเป็นลำดับไปดังนี้

          แปลงแรก ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.1 ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 74899 นั้น เห็นว่า ที่ดินแปลงนี้มีชื่อนายประยูรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2542 และตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2542 ซึ่งหมายถึงว่าที่ดินแปลงนี้จะมีการโอนเปลี่ยนมือได้ก็ต่อเมื่อพ้นวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ไปแล้ว อย่างไรก็ตามในขณะที่นายประยูรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอนและยังมีชื่อนายประยูรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนี้ เมื่อนายประยูรถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกของนายประยูรที่ตกทอดแก่ทายาทของนายประยูร จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรต้องแบ่งปันที่ดินมรดกแปลงนี้แก่ทายาทของนายประยูรตามสิทธิของแต่ละคนให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่เมื่อตรวจสอบสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาโฉนดที่ดินแล้ว ได้ความชัดว่า จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกแปลงนี้มาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรก่อน แล้วโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นการส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวในวันเดียวกันคือ วันที่ 5 ตุลาคม 2552 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน 10 ปี โดยการกระทำของจำเลยดังกล่าว นอกจากจะเป็นการโอนที่ดินมรดกที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว ยังบ่งชี้ว่าจำเลยที่เป็นเพียงทายาทผู้มีสิทธิคนหนึ่งไม่ต้องการให้ทายาทของนายประยูรคนอื่นรวมทั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกร่วมกับจำเลยโดยถือเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอก ส่วนที่จำเลยนำสืบทำนองว่า ขณะมีชีวิตอยู่นายประยูรมีความประสงค์จะยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลย แต่ติดข้อกำหนดห้ามโอนนายประยูรจึงยกที่ดินแปลงอื่นอีกสองแปลงให้แก่จำเลยก่อน และเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอน จำเลยจึงโอนที่ดินแปลงนี้เป็นของจำเลยให้เป็นไปตามความประสงค์ของนายประยูรนั้น เห็นว่า คำมั่นของนายประยูรว่า จะให้ที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 526 จึงไม่อาจรับฟังให้มีผลใช้บังคับเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ทั้งหากจำเลยต้องการได้ที่ดินมรดกแปลงนี้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว จำเลยก็สามารถประชุมตกลงกับทายาทผู้มีสิทธิทุกคนแล้วทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทายาทผู้มีสิทธิคนอื่นรับรู้และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานตามมาตรา 1750 วรรคสอง แต่จำเลยกลับไม่กระทำ ข้อนำสืบของจำเลยจึงง่ายแก่การกล่าวอ้างไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์และโจทก์ร่วมได้

          ต่อไปที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 รวม 6 แปลงนั้น เป็นที่ดินที่นายประยูรนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ของนายชาลีขณะที่นายประยูรยังมีชีวิตอยู่และเมื่อจำเลยสามารถเจรจาขอลดยอดหนี้กับเจ้าหนี้และชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยได้ดำเนินการโอนที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย กับโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวรรณศรี พี่สาวของจำเลยในคราวเดียวกัน กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยการกระทำของจำเลยเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 ไปพร้อมกัน โดยที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2 และ ข้อ 2.3 เป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 15004 และ 11723 ส่วนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.4 ถึง ข้อ 2.7 เป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 14498 14499 14500 และ 14496 เห็นว่า ที่ดินรวม 6 แปลงข้างต้นเคยเป็นที่ดินของนายประยูรที่นายประยูรนำไปจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของนายชาลีต่อเจ้าหนี้ เมื่อต่อมาเจ้าหนี้ฟ้องนายชาลีและนายประยูรให้ชำระหนี้และขอบังคับจำนอง แต่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชาลีได้เจรจาขอลดยอดหนี้เหลือ 15,000,000 บาท และนำเงินส่วนตัวของจำเลยไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจนเสร็จสิ้นครบถ้วน จำเลยจึงย่อมได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนายชาลีและนายประยูรโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินมรดกที่เคยเป็นทรัพย์จำนอง ขณะเดียวกันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายประยูรและเป็นตัวแทนของทายาทที่มีสิทธิทุกคนก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายประยูรให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนายประยูรคิดเป็นเงินจำนวนมากและจำเลยมีสองสถานะคือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกของจำเลยจึงอาจมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของทายาทอื่นโดยตรง ซึ่งในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1722 มีใจความว่า ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ดังนั้นการที่จำเลยนำสืบต่อสู้โดยมีนายวุฒิชัย นายสายัณห์ และนางสุดใจ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนทำนองว่า เมื่อจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้ว ที่ดินมรดกของนายประยูรอันเคยเป็นทรัพย์จำนองต้องตกเป็นของจำเลย และจำเลยมีสิทธิที่จะโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยหรือบุคคลใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่าที่ดินมรดกอันเคยเป็นทรัพย์จำนองมีราคาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเงิน 15,000,000 บาท ที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปหรือไม่ อีกทั้งการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 1740 ด้วยการเอาทรัพย์สินของเจ้ามรดกออกขายทอดตลาดแล้ว นำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดก และแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความในตอนต่อมาว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 จำเลยเคยยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรขายที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ให้แก่จำเลยในฐานะผู้ซื้อ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยส่งสำเนาคำร้องแก่ทายาทของนายประยูรเพื่อให้มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน กรณีกลับปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 อันเป็นเวลาหลังจากจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเพียง 4 วัน จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรได้ดำเนินการโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวรรณศรี พี่สาวของจำเลยโดยไม่นำพาต่อข้อห้ามตามมาตรา 1722 ข้างต้น อีกทั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2553 ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เพียงเป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาร้ายทางอาญา โดยหลักฐานบ่งชี้ว่าจำเลยต้องการปกปิดไม่ให้โจทก์ร่วมรับรู้การจัดการมรดกของจำเลย และไม่ต้องการให้โจทก์ร่วมมีส่วนได้รับทรัพย์มรดกของนายประยูรตามกฎหมาย อันเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำนิติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตามฟ้องข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 ส่วนที่จำเลยนำสืบทำนองว่า ขณะมีชีวิตอยู่ นายประยูรมีความประสงค์จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ให้แก่นางวรรณศรีเพื่อเป็นของขวัญในโอกาสที่นางวรรณศรีแต่งงาน แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนอง จำเลยจึงโอนที่ดินแปลงนี้ให้นางวรรณศรีหลังจากไถ่ถอนจำนองแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของนายประยูรนั้น เห็นว่า คำมั่นของนายประยูรว่าจะให้ที่ดินแปลงนี้แก่นางวรรณศรีไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 จึงไม่อาจรับฟังให้มีผลใช้บังคับ ประกอบกับนายประยูรไม่ได้ทำพินัยกรรมและยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ขณะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงตกทอดเป็นทรัพย์มรดกแก่ทายาท โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายประยูรไม่อาจโอนที่ดินแปลงนี้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้หนึ่งผู้ใดตามอำเภอใจได้ ทั้งหากจำเลยต้องการโอนที่ดินมรดกแปลงนี้ให้เป็นของนางวรรณศรีแต่เพียงผู้เดียว จำเลยก็สามารถประชุมตกลงกับทายาทผู้มีสิทธิทุกคนแล้วทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับรู้และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานตามมาตรา 1750 วรรคสอง แต่จำเลยกลับไม่กระทำ ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์ร่วมได้

          ประการสุดท้าย ในส่วนของที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 11665 นั้น เห็นว่า ที่ดินแปลงนี้ มีชื่อนายชาลีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่งนายชาลีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 เมื่อนายชาลีถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 จึงเป็นทรัพย์มรดกของนายชาลีที่ตกทอดแก่ทายาทของนายชาลีรวม 8 คน ได้แก่นางทิพย์ปราณี คู่สมรสของนายชาลี บุตรของนายชาลี 5 คน นางสุดใจ มารดาของนายชาลีและนายประยูร บิดาของนายชาลี โดยในเบื้องต้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายชาลีและเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายชาลีตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาระหว่างที่การจัดการมรดกของนายชาลียังไม่เสร็จสิ้น นายประยูรได้ถึงแก่ความตาย ที่ดินมรดกของนายชาลีตามฟ้อง ข้อ 2.8 เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่นายประยูรจึงตกทอดมายังโจทก์ร่วม จำเลยและทายาทคนอื่น ๆ ของนายประยูร ซึ่งเมื่อพิจารณาที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 แล้ว จะเห็นได้ว่าที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ 3 งาน 80 ตารางวา โดยเมื่อคำนวณหักส่วนแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่นางทิพย์ปราณี คู่สมรสของนายชาลีตามมาตรา 1625 มาตรา 1532 และมาตรา 1533 แล้ว คงเหลือที่ดินมรดกของนายชาลีที่ต้องแบ่งปันแก่ทายาทของนายชาลีรวม 8 คน เนื้อที่ประมาณ 190 ตารางวา ซึ่งทายาท 8 คนนี้ มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันคนละ 1 ใน 8 ส่วนหรือคนละประมาณ 23.75 ตารางวา ตามมาตรา 1630 วรรคสอง มาตรา 1633 และมาตรา 1635 (1) สำหรับที่ดินมรดกของนายชาลี เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่ประยูรเนื้อที่ประมาณ 23.75 ตารางวา นั้น เมื่อตกทอดมายังผู้สืบสันดานของนายประยูรได้แก่โจทก์ร่วม จำเลย บุตรคนอื่นและผู้รับมรดกแทนที่รวม 6 ส่วน ซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันแล้วจะปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินส่วนนี้ 1 ใน 6 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3.95 ตารางวา ซึ่งนับว่าน้อยมาก รูปคดีจีงไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรจะทำหน้าที่จัดการมรดกของนายประยูรเฉพาะส่วนนี้ด้วยเจตนาทุจริตตามที่โจทก์ร่วมกล่าวหา ประกอบกับการที่จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกของนายชาลีแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุดใจมารดาของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชาลี มิใช่กระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูร แม้การโอนที่ดินมรดกของนายชาลีดังกล่าว จะเป็นการโอนรวมเอาส่วนที่จะตกได้แก่นายประยูรเข้าไปด้วย แต่ข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาก็มีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งรวมถึงโจทก์ร่วมเสียทั้งหมดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วนว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 2.1 ถึง ข้อ 2.7 โดยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 2.8 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว เห็นว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองรายเมื่อปี 2549 และปี 2551 นั้น เจ้ามรดกทั้งสองรายถูกเจ้าหนี้ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้คิดเป็นเงินหลายสิบล้านบาท พร้อมบังคับจำนองที่ดินพิพาทในคดีนี้รวม 6 แปลง แต่จำเลยสามารถเจรจาลดยอดหนี้จากยอดหนี้กว่า 51 ล้านบาทเหลือเพียง 15 ล้านบาท และแก้ปัญหาด้วยการขายที่ดินมีโฉนดของตนเองนำเงินไปชำระหนี้ดังกล่าวจนครบถ้วน จนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดทรัพย์ มิเช่นนั้นทรัพย์มรดกอาจถูกบังคับชำระหนี้หมดไป กรณีมีผลทำให้โจทก์ร่วมและทายาททุกคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกตามส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยขวนขวายจนได้ทรัพย์มรดกคืนมา จึงมีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย

          อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 352 วรรคแรก และมาตรา 354 ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฎว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

          พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 354 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน และปรับกระทงละ 4,000 บาท รวม 7 กระทง เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 28 เดือน และปรับ 28,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6


          (สมเกียรติ เจริญสวรรค์-กิจชัย จิตธารารักษ์-สุทิน นาคพงศ์)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายอาญา ม. 352, 354

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 1532, 1533, 1625, 1629, 1630, 1633, 1635 (1), 1716, 1719, 1720, 1722, 1728 (2), 1729, 1732, 1740, 1750

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 227 วรรคสอง