ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 393 " ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษ....."
ถ้าเป็นการดูหมิ่นด้วยวาจาผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย แต่การโทรศัพท์มาจากต่างอำเภอแม้จะมีข้อความดูหมิ่นผู้เสียหาย ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด
มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3711/2557 จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายด่าว่าและทวงเอกสาร ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ห่างไกลกันคนละอำเภอกับจำเลย แต่องค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า
หมายเหตุท้ายฎีกา ความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ตาม ป.อ.มาตรา 393 นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าการดูหมิ่นซึ่งหน้าจะต้องกระทำด้วยการใช้คำพูด จึงอาจเป็นการกระทำด้วยวิธีการอย่างอื่น เช่นส่งกระดาษที่มีข้อความด่าว่าให้ผู้อื่น ชี้ไปที่สุนัขในลักษณะเปรียบเปรยว่าเขาผู้นั้นเป็นสุนัข เพียงแต่การกระทำดูหมิ่นนั้นจะต้องเป็นการกระทำซึ่งหน้าผู้อื่นที่ผู้กระทำนั้นเจตนาต้องการดูหมิ่นเขา.......ถ้ามิได้กระทำซึ่งหน้าผู้เสียหาย จึงขาดองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ซึ่งเป็นไปตามหลักการตีความกฎหมายอาญาที่ว่า "กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด" #สมชัย ฑีฆาอุตมากร