17 เมษายน 2557

การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

          เมื่อรัฐมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อกิจการใดๆ อันจำเป็นเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภคหรือการอันจำเป็นในการป้องกันประเทศ หรือการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติ หรือเพื่อการผังเมือง หรือเพื่อการพัฒนาการเกษตร หรือการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น ทางรัฐ(ราชการ)ก็จะทำการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนไว้ เพื่อทำการเวนคืน(บังคับซื้อ)ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์นั้น ไปใช้ประโยชน์ตามที่ทางรัฐต้องการ อาทิเช่น การเวนคืนที่ดินเพื่อทำถนน รถไฟฟ้า ทางด่วน หรือเวนคืนเพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น 

          ในการเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว รัฐก็จะกำหนดค่าทดแทนให้กับเจ้าของที่ดินหรือบุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน โดยการทำสัญญาซื้อขายกันไว้

          ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนได้แก่ใครบ้าง?

หน่วยงานของรัฐจะกำหนดค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ โดยจะกำหนดให้แก่บุคคลดังต่อไปนี้

1.เจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งที่ดินที่ต้องเวนคืน

2.เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้น ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา หรือได้ปลูกสร้างขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่

3.ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน แต่การเช่านั้นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ซึ่งได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา หรือได้ทำขึ้นภายหลังโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ และการเช่านั้นยังมิได้ระงับไปในวันที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ ได้เข้าครอบครองที่ดิน โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว แต่เงินค่าทดแทนในการเช่านี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก่อนสัญญาเช่าระงับ

4.เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดินในวันที่ใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา

5.เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนได้ ซึ่งมีอยู่ในที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องไม่เป็นผู้ซึ่งจำต้องรื้อถอนโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไป เมื่อได้รับแจ้งจากเจ้าของที่ดิน เงินค่าทดแทนตามข้อ 3.5 นี้ พึงกำหนดให้เฉพาะค่ารื้อถอนค่าขนย้ายและค่าปลูกสร้างใหม่ (ในสภาพเดิม)

6.บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทาง วางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนนั้นตามมาตรา 1349 หรือมาตรา 1352 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง  และพาณิชย์ ในกรณีที่บุคคลเช่นว่านั้นได้จ่ายค่าทดแทนในการใช้สิทธิดังกล่าวให้แก่เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืนแล้ว

หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ไม่พอใจค่าทดแทนที่ได้รับ จะต้องทำอย่างไร?
ทั้งนี้หากผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ไม่พอใจในค่าทดแทนที่ได้รับ ก็สามารถอุทธรณ์ขอค่าทดแทนเพิ่มเติมต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ต่อไปภายใน 60 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งให้ไปรับเงินค่าทดแทนดังกล่าว ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนจะไม่พอใจเป็นส่วนมาก เนื่องจากค่าทดแทนที่ได้รับจะต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายกันจริงในท้องตลาดค่อนข้างมาก
และกรณีที่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนยังไม่พอใจในคำวินิจฉัยของรัฐมนตรี หรือในกรณีที่รัฐมนตรีมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนดเวลา ให้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีหรือนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาดังกล่าว แล้วแต่กรณี