การร้องขอรับชำระหนี้ก่อนในกรณีเป็นเจ้าหนี้จำนองหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ตามมาตรา 324 (มาตรา 289 เดิม)

          มาตรา 324  "บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้หรือได้รับส่วนแบ่งจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่นซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้โดยอาศัยอำนาจแห่งทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลนั้นมีอยู่เหนือทรัพย์สิน หรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
               (1) ในกรณีที่เป็นผู้รับจำนองทรัพย์สินหรือเป็นผู้ทรงบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้จดทะเบียนไว้ บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายหรือจำหน่าย ขอให้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
                     (ก) ในกรณีที่อาจบังคับเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองหลุด ขอให้เอาทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นหลุด ถ้าศาลมีคำสั่งอนุญาต การยึดทรัพย์ที่จำนองนั้นเป็นอันเพิกถอนไปในตัว
                     (ข) ในกรณีอื่น ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น
               (2) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีว่าทรัพย์สินซึ่งขายหรือจำหน่ายนั้นเป็นของเจ้าของรวมอันได้จดทะเบียนไว้ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินส่วนของเจ้าของรวมอื่น นอกจากส่วนของลูกหนี้ตามคำพิพากษาออกจากเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 340
               (3) ในกรณีที่เป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินที่ขายหรือจำหน่าย บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ขอให้นำเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่นซึ่งไม่มีบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินนั้น
               (4) ในกรณีอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) (2) และ (3) ผู้ทรงสิทธินั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีภายในสิบห้าวันนับแต่วันขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น ขอให้ตนได้รับส่วนแบ่งในเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายหรือขอให้นำเงินดังกล่าวมาชำระหนี้แก่ตนก่อนเจ้าหนี้อื่น ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่น
"

          บุคคลภายนอกผู้ทรงสิทธิในฐานะเจ้าหนี้จำนองหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิ จะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อหนี้นั้นจะต้องถึงกำหนดชำระแล้วเท่านั้น แต่ถ้าหนี้ยังไม่ถึงกำหนดจะมาขอคุ้มครองตามมาตรา 324 (289 เดิม) เพื่อขอชำระหนี้ก่อนไม่ได้ ได้แค่ขอกันส่วนเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1759/2530   โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของภริยาจำเลยที่ 2 เพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องคัดค้านว่าจำเลยที่ 2 เป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญากู้ โดยภริยาจำเลยที่ 2 จำนองที่ดินแปลงที่โจทก์นำยึดเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ ขอให้เอาเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวชำระหนี้ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่น ดังนี้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจะอาศัยอำนาจแห่งการจำนองบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของภริยาจำเลยที่ 2 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 หาได้ไม่ และการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3575/2534   โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 2 ได้นำยึดที่ดินซึ่งจำเลยที่ 2 จำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ผู้ร้องอยู่มาบังคับคดีชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอบังคับชำระหนี้จำนอง ก่อนกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้ 1 วัน ซึ่งจำเลยที่ 2ยังไม่ผิดนัดชำระหนี้ หนี้จำนองของผู้ร้องจึงยังมิใช่หนี้จำนองที่อาจบังคับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ดังนี้ผู้ร้องจะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองหาได้ไม่ แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็ไม่กระทบกระทั่งถึงสิทธิของผู้ร้อง (ผู้รับจำนอง)ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 378/2559   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 บัญญัติให้มาตราดังกล่าวอยู่ภายใต้แห่งบทบัญญัติมาตรา 288 และ 289 มีความหมายว่า หากบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ นั้น เป็นสิทธิประเภทที่อาจร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ตามมาตรา 288 หรือบังคับให้ชำระหนี้ตามมาตรา 289 ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะดำเนินการตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ แต่แม้มิได้ใช้สิทธิหรือบังคับตามสิทธิของตนตามบทบัญญัติดังกล่าว การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ก็ย่อมไม่ถูกกระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ดังกล่าวอยู่นั่นเอง ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ตามคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องอ้างมาในคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 289 วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา 287 และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้

          ผู้ทรงสิทธิในฐานะเจ้าหนี้จำนองหรือเจ้าหนี้บุริมสิทธิ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 324 (289 เดิม) ไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4740/2538   ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 289 วรรคแรก ไม่มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองว่าจะต้องฟ้องร้องบังคับจำนองก่อนหรือจะต้องเป็นเจ้าหนี้จำนองตามคำพิพากษาจึงจะขอรับชำระหนี้ได้  ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดระบุว่าโจทก์และผู้รับจำนองจะต้องเป็นบุคคลฐานะเดียวกันไม่ได้  หากผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยมีที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้จำนองเป็นประกัน  ผู้ร้องย่อมอาศัยอำนาจแห่งการจำนองขอให้ศาลขายที่ดินโดยปลอดจำนองเพื่อนำเงินที่ขายได้ชำระหนี้แก่ผู้ร้องก่อนเจ้าหนี้อื่นได้

          การใช้สิทธิขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา 324 นี้ ให้ทำเป็นคำร้องขอโดยผู้รับจำนองไม่จำต้องส่งคำบอกกล่าวเพื่อบังคับจำนองก่อนแต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1975/2551   ผู้รับจำนองมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นๆ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 โดยหาจำต้องฟ้องร้องขอบังคับจำนองก่อนหรือต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอยู่แล้วไม่เพราะกฎหมายมิได้มีข้อจำกัดสิทธิของผู้รับจำนองดังกล่าว และการยื่นคำร้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 ก็มิใช่การฟ้องบังคับจำนองโดยตรง ผู้รับจำนองจึงไม่ต้องมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 ดังนั้น ผู้ร้องในฐานะผู้รับจำนองย่อมอาศัยอำนาจแห่งการจำนองยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองในทรัพย์จำนองที่มีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษารายอื่นยึดไว้แล้วได้

          แม้ผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 324 แต่ก็ยังคงได้รับความคุ้มครองในฐานะเจ้าหนี้จำนอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2543  แม้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองไม่ได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาด ก็หาเป็นเหตุให้ผู้ร้องหมดสิทธิในฐานะผู้รับจำนองไปไม่เพราะการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์พิพาทได้ ฉะนั้น เมื่อเอาทรัพย์พิพาทขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้อง และผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อจากขายทอดตลาดได้ ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555   แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า “ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด...” ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้