30 เมษายน 2560

อายุความสิทธิเรียกร้อง

          การใช้สิทธิเรียกร้องเรื่องใดๆนั้น จะมีระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถ้าหากสิทธิเรียกร้องนั้นๆ มิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นย่อมเป็นอันขาดอายุความ ซึ่งสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความ ลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558   คดีจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคดีคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับการฟ้องร้องคนละมาตรา อายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกมีอายุความห้าปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิใช่ผู้จัดการมรดกแต่เป็นทายาทและถูกโจทก์ฟ้องขอแบ่งมรดก ย่อมเป็นคดีมรดก อันมีอายุความตามมาตรา 1754 แม้ขณะที่โจทก์ฟ้องจะได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกเข้ามาด้วย ก็หาอาจทำให้สิทธิเรียกร้องแบ่งมรดกของโจทก์จากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทกลับเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกไปได้ไม่
          เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9528/2557  ในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ อันเป็นบทบังคับเจ้าหนี้ที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่เช่นนั้นลูกหนี้ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/10 และที่ ป.พ.พ. มาตรา 193/29 บัญญัติว่า เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ มิได้มีความหมายเพียงว่าเจ้าหนี้ต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียก่อน ลูกหนี้จึงมีสิทธิที่จะปฏิเสธโดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ได้เท่านั้น หากแต่การที่ลูกหนี้ฟ้องคดีเพื่อขอปฏิบัติการชำระหนี้โดยจะขอชำระหนี้ตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของเจ้าหนี้เท่าที่มีอยู่ภายใต้กำหนดระยะเวลาแห่งอายุความ ย่อมเท่ากับเป็นการปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้โดยยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้แล้ว เพราะมีผลทำให้เจ้าหนี้ไม่สามารถบังคับชำระหนี้ส่วนที่ล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับการต่อสู้คดีในกรณีที่ลูกหนี้ถูกฟ้อง ศาลจึงยกอายุความขึ้นมาวินิจฉัยได้โดยชอบ

          การเริ่มนับอายุความสิทธิเรียกร้อง

          อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ถ้าเป็นสิทธิเรียกร้องให้งดเว้นกระทำการอย่างใด ให้เริ่มนับแต่เวลาแรกที่ฝ่าฝืนกระทำการนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5836/2559   คำฟ้องของโจทก์เรียกให้จำเลยชดใช้ 2 กรณี ได้แก่ ฟ้องเรียกค่าขาดราคาเนื่องจากผู้ให้เช่าซื้อขายทอดตลาดรถยนต์ที่เช่าซื้อแล้ว แต่ยังไม่คุ้มราคา กับฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ในการที่จำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อจนถึงวันที่ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมา อันเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ เมื่อมาตรา 193/12 บัญญัติอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ซึ่งคดีนี้หมายถึงวันที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า อายุความเริ่มนับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 ส่วนจำเลยฎีกาว่า สัญญาเช่าซื้อเลิกกันตั้งแต่วันที่จำเลยผิดนัดชำระหนี้เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ทั้งยังไม่ได้ความว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นรถประเภทใด หากผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ สัญญาเช่าซื้อจะเลิกกันในกรณีใดตามข้อ 12 ของหนังสือสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานทำให้ไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอให้วินิจฉัยว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใด ฉะนั้น นอกจากเรื่องค่าเสียหายและเรื่องประเด็นแห่งคดีข้ออื่นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่แล้ว ศาลชั้นต้นต้องสืบพยานและวินิจฉัยในประเด็นเรื่องสัญญาเช่าซื้อเลิกกันเมื่อใดเพื่อพิจารณาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 10 ปีแล้วหรือไม่ด้วย ศาลฎีกาจึงให้ศาลชั้นต้นสืบพยานคู่ความและวินิจฉัยในประเด็นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13443/2558   โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดการเลือกตั้งใหม่ตามฟ้องได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ได้มีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 มาตรา 56 วรรคสอง แล้ว ดังนั้น อายุความในการฟ้องให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวจึงต้องเริ่มนับแต่วันที่โจทก์มีคำสั่งเพิกถอนผลการเลือกตั้งของจำเลยและให้ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ คือ วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกินกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9996/2558   การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกให้โจทก์ทั้งสองคืนเงินประกันอันเนื่องจากสัมปทานสิ้นสุด มิใช่เป็นการติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงสัมปทาน ซึ่งกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 แต่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ฟ้องแย้งเรียกเงินประกันดังกล่าวคืนเกินสิบปีนับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8755/2558   เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อชดใช้ราคารถที่เช่าซื้อส่วนที่ขาดหรือค่าขาดราคาได้นับแต่วันเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ มิใช่นับแต่วันที่ประมูลขายทอดตลาดรถที่เช่าซื้อ เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2550 ฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขาดราคาจึงขาดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15204/2557   ศาลพิพากษาให้โจทก์และ ด. ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมด้วยค่าฤชาธรรมเนียมแก่ผู้เสียหาย ตามคดีซึ่งคดีถึงที่สุดแล้ว เมื่อโจทก์ได้ใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปตามคำพิพากษาแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ในฐานะทายาทผู้สืบสิทธิของเจ้ามรดกผู้ทำละเมิดตามสัญญารถร่วมได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) กรณีมิใช่โจทก์ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดก เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้ว จึงนำอายุความตามมาตรา 1754 วรรคสาม มาใช้บังคับไม่ได้ สิทธิเรียกร้องนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงต้องถือว่ามีอายุความสิบปีตามมาตรา 193/30 เมื่อสิทธิไล่เบี้ยของโจทก์เพิ่งมีขึ้นนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นต้นไป การนับอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่ผู้เสียหายตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13103/2557   เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2532 โจทก์มีคำสั่งที่ 388/2532 แต่งตั้งจำเลยเป็นประธานกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมกรณีผลิตภัณฑ์นมของโจทก์สูญหาย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์ที่กำหนดให้ทำการสอบสวนให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประธานกรรมการสอบสวนรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ ถ้ายังสอบสวนไม่เสร็จต้องขออนุมัติขยายเวลาสอบสวนจากผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอีกคราวละไม่เกิน 30 วัน แต่ต้องมิให้คดีขาดอายุความ และให้คณะกรรมการสอบสวนเสนอผลการสอบสวนต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนพร้อมเสนอข้อเท็จจริงและความเห็นซึ่งต้องระบุด้วยว่าผู้ใดเป็นผู้รับผิดโดยตรงและผู้ใดร่วมรับผิด จำเลยสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเสนอผู้อำนวยการของโจทก์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาหลังจากที่ได้รับแต่งตั้งถึง 4 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่ามีการขอขยายระยะเวลาการสอบสวน และจำเลยไม่ได้ระบุว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องรับผิดโดยตรง ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ การที่ผู้อำนวยการของโจทก์ได้รับสำนวนสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากจำเลยย่อมเห็นเป็นประจักษ์ว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนิ่นนานเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในข้อบังคับซึ่งเป็นการปฏิบัติผิดหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการสอบสวน จึงต้องถือว่าการทำผิดหน้าที่ของจำเลยเกิดขึ้นอย่างช้าในวันที่ 4 พฤษภาคม 2537 อันเป็นเวลาที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 ข้ออ้างของโจทก์ที่ให้จำเลยรับผิดมีมูลฐานมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยในฐานะที่เป็นประธานกรรมการสอบสวน อันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2549 พ้นระยะเวลา 10 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ

          สิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่เวลาแรกที่อาจทวงถามได้เป็นต้นไป แต่ถ้าลูกหนี้ยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าระยะเวลาหนึ่งจะได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่เวลาที่ได้ทวงถามนั้น ให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลานั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7536/2555  สัญญาจ้างทำไม้ระบุว่า เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับมอบอำนาจจากกรมป่าไม้ได้กำหนดจำนวนเงินเบี้ยปรับการทำผิดของผู้รับจ้างและได้แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ว่าจ้างนำเงินเบี้ยปรับไปชำระ ผู้รับจ้างจะต้องนำเงินเบี้ยปรับไปชำระแทนภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง โจทก์ได้รับแจ้งให้นำเงินค่าปรับไปชำระเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2532 โจทก์จึงอาจทวงถามให้จำเลยนำเงินค่าปรับไปชำระได้ในวันนั้น และจำเลยต้องนำเงินค่าปรับไปชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2532 หากจำเลยไม่นำเงินค่าปรับไปชำระภายในกำหนด จึงจะถือว่าจำเลยเป็นผู้ผิดสัญญานับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดให้จำเลยต้องชำระซึ่งถือเป็นวันเริ่มนับอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 เมื่อนับแต่วันเริ่มนับอายุความคือวันที่ 11 สิงหาคม 2532 ถึงวันที่โจทก์ฟ้องคือวันที่ 22 กรกฎาคม 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี จึงไม่ขาดอายุความตามมาตรา 193/30
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1233/2552  สิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างทำของระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสามในคดีนี้มิได้มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้ให้เจ้าหนี้ต้องทวงถามลูกหนี้เพื่อให้ชำระหนี้เสียก่อนแต่ประการใด จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์อันจะเป็นสิทธิเรียกร้องที่เจ้าหนี้ยังไม่อาจบังคับได้จนกว่าจะได้ทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเสียก่อน และเมื่อระยะเวลาที่ได้ทวงถามนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วจึงได้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้สิ้นสุดไปแล้วนั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/13 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างจากจำเลยทั้งสามได้ตั้งแต่เมื่อจำเลยทั้งสามรับมอบการงานที่โจทก์ทำเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการตกลงว่าจ้างกันด้วยวิธีการใดก็ตาม เพราะอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 มิใช่ให้เริ่มนับตั้งแต่เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่โจทก์ให้เวลาจำเลยทั้งสามชำระหนี้หลังจากที่จำเลยทั้งสามรับทราบการกำหนดราคาหรือประเมินค่าจ้างจากโจทก์ เพราะหากกรณีเป็นดังที่โจทก์ต่อสู้แล้วก็เท่ากับโจทก์สามารถกำหนดวันเริ่มต้นที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปหรืออีกนัยหนึ่งคืออายุความแห่งสิทธิเรียกร้องได้ด้วยตนเองตามอำเภอใจนั่นเอง และตราบใดที่โจทก์ยังไม่ประสงค์ที่จะบังคับตามสิทธิเรียกร้องไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม โจทก์ก็ยังไม่ต้องส่งหนังสือทวงถามหรือไม่ต้องส่งหนังสือแจ้งการกำหนดราคาค่าจ้างไปให้ฝ่ายผู้ว่าจ้างทราบ การกระทำเช่นนี้ย่อมขัดต่อเจตนารมณ์และหลักการของกฎหมาย อีกทั้งมติคณะรัฐมนตรีตามที่โจทก์อ้างก็เป็นระเบียบวิธีปฏิบัติที่ทางราชการอนุโลมหรือผ่อนผันให้ใช้กับงานจ้างของหน่วยงานราชการ ไม่มีผลไปยกเว้นหรือยกเลิกหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ต้องใช้บังคับแก่บุคคลทุกคนโดยเสมอภาคแต่ประการใด ข้อโต้แย้งของโจทก์นี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7436/2549   โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้ชำระค่าบริการในการที่โจทก์ร่างสัญญาให้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายเรียกเอาค่าการงานที่ทำให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (16) ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี  
          โจทก์ทำงานแล้วเสร็จและส่งมอบงานให้แก่จำเลยเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2540 ย่อมถือได้ว่าเวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ก็คือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2540 เป็นต้นไป การที่โจทก์ส่งใบแจ้งหนี้ให้จำเลยเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 วันดังกล่าวมิใช่เวลาแรกที่โจทก์อาจทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ได้ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 193/13 และเมื่อจำเลยยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าจะพ้นกำหนดเวลา 30 วัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2540 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2543 เกินกว่า 2 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ



          อายุความสะดุดหยุดลง

          อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
          (1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใด ๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
          (2) เจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้
          (3) เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย
          (4) เจ้าหนี้ได้มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา
          (5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี
          เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ และเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3211/2559  พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 113 บัญญัติให้อำนาจผู้ร้องในอันที่จะกระทำแทนเจ้าหนี้ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยทำเป็นคำร้องต่อศาลในคดีล้มละลายโดยไม่ต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่เท่านั้น อายุความที่จะใช้บังคับต้องถือเอาอายุความของเจ้าหนี้ผู้เกี่ยวข้องในขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นจริงๆ เป็นเกณฑ์พิจารณา เมื่อโจทก์ซึ่งร้องขอให้ผู้ร้องเพิกถอนการฉ้อฉลที่ดินโฉนดเลขที่ 32761 ทราบเหตุแห่งการเพิกถอนเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 และโจทก์ยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนระหว่างผู้คัดค้านทั้งสองต่อศาลแพ่งธนบุรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ภายในกำหนดอายุความแล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงอยู่จนกว่าคดีจะได้วินิจฉัยถึงที่สุดหรือเสร็จสิ้นไปโดยประการอื่น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง และเมื่อเหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดเวลาใด ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง คดีนี้คู่ความนำสืบรับกันว่า ศาลแพ่งธนบุรีมีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนตามคำขอของผู้ร้อง ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงยังไม่สิ้นสุด อายุความไม่เริ่มนับใหม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ในขณะที่อายุความของโจทก์สะดุดหยุดลง คดีจึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1529/2559   เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 9,000,000 บาท และจำนวน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐถึงกำหนดชำระวันที่ 31 พฤษภาคม 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ลูกหนี้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 130,350,000 บาท ถึงกำหนดชำระวันที่ 30 พฤศจิกายน 2543 ให้แก่เจ้าหนี้ ต่อมาเจ้าหนี้นำตั๋วสัญญาใช้เงินมาขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1313/2544 ของศาลล้มละลายกลาง แม้เจ้าหนี้จะยังไม่ได้ฟ้องร้องบังคับชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน และไม่ได้ขออนุญาตศาลล้มละลายกลางในการฟ้องร้องลูกหนี้เป็นคดีแพ่งมาก่อน แต่มูลแห่งหนี้ดังกล่าวได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ แม้ว่าหนี้นั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระหรือมีเงื่อนไขก็ตาม เจ้าหนี้ก็อาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ซึ่งการขอรับชำระหนี้ดังกล่าวถือเป็นการทวงถามให้ใช้เงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินและทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดโดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2550 ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ในคดีหมายเลขแดงที่ 1313/2544 ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เมื่อนับถึงวันยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการคดีนี้ คือวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 จึงยังไม่พ้นระยะเวลาสามปีนับแต่วันตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1001 คำขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2559   หนี้ที่ผู้ร้องนำมายื่นคำร้องในคดีนี้เป็นหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่บริษัท อ. ทำกับเจ้าหนี้เดิม โดยลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ค้ำประกัน สิทธิเรียกร้องในหนี้ตามสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ดังนั้น เมื่อนับจากวันที่บริษัท อ. ทำสัญญากู้และสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้วผิดนัดชำระหนี้ถึงวันที่เจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องบริษัท อ. ผู้ค้ำประกันรายอื่นและลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 เป็นจำเลยที่ศาลอุตรดิตถ์ เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1123/2542 ยังไม่เกิน 10 ปี ไม่ขาดอายุความ ผลของการฟ้องคดีดังกล่าวทำให้อายุความในหนี้ที่ลูกหนี้ที่ 2 และที่ 4 มีต่อเจ้าหนี้เดิมในฐานะผู้ค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 สะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (2) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดไปแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง คดีของศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ดังกล่าวสิ้นสุดลงตามที่ผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 30 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2548 ซึ่งมิใช่คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้องหรือทิ้งฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคหนึ่ง ที่ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง อายุความสำหรับฟ้องคดีนี้จึงต้องนับใหม่ตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2548 ผู้ร้องนำหนี้ดังกล่าวมายื่นคำร้องคดีนี้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2552 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องจึงไม่ขาดอายุความ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10770/2558   เดิมโจทก์ฟ้องว่าการสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะเพราะจดทะเบียนสมรสซ้อน จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่นับแต่การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องโดยขอเสนอคำฟ้องฉบับใหม่อ้างว่าโจทก์สมรสกับจำเลยเพราะถูกกลฉ้อฉลจึงขอบอกล้างโมฆียะกรรมเท่ากับว่าโจทก์สละหรือยกเลิกข้อหาในฟ้องเดิมและแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อหาใหม่ตามคำฟ้องฉบับใหม่แล้ว ข้อหาตามคำฟ้องเดิมจึงเป็นอันยุติไป การยื่นคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของจำเลยจึงไม่เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10692/2558  ป.พ.พ. มาตรา 193/9 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด สิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ” มาตรา 193/14 บัญญัติว่า “อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้ (1)... กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง...” และมาตรา 193/15 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ” วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น” โจทก์เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในบังคับอายุความตามมาตรา 1754 และอยู่ในบังคับตามมาตรา 193/9 มาตรา 193/14 และมาตรา 193/15 ดังกล่าวด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่า ณ. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2537 ศาลตั้ง ส. เป็นผู้จัดการมรดกของ ณ. เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 จึงทำให้อายุความมรดกสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14 แม้ต่อมา ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกจะจดทะเบียนโอนมรดกพิพาทให้แก่ตนเองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะทายาทโดยธรรมของ ณ. เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 โดยไม่ได้โอนแก่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง แต่ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ว่าโจทก์ยังครอบครองทรัพย์มรดกโดยอาศัยในบ้าน ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมรดกพิพาทอยู่ จึงเป็นกรณีที่ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยอันแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับว่าโจทก์ยังครอบครองมรดกอยู่อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14
          แต่เมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ส. ไถ่ถอนจำนองโดย ส. มีหนังสือแจ้งธนาคารผู้รับจำนองว่า ไม่ให้ธนาคารมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินให้แก่โจทก์ และโอนที่ดินส่วนของตนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3พฤติการณ์ดังกล่าวของ ส. จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการแสดงเจตนาไม่ยึดถือมรดกแทนโจทก์ต่อไปนับแต่วันที่ธนาคารได้แจ้งแก่โจทก์อย่างช้าไม่เกินวันที่ไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของโจทก์อันเป็นเหตุทำให้อายุความสะดุดหยุดลงย่อมสิ้นสุดลงไม่ถือว่าโจทก์ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่แบ่งต่อไปนับแต่วันนั้น อายุความจึงเริ่มนับใหม่ในวันดังกล่าวตามมาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินหนึ่งปี ย่อมขาดอายุความตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5755/2558   เมื่อโจทก์ที่ 2 พบบ้านชำรุดบกพร่องในเดือนมกราคม 2552 จำเลยเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่ต่อมาโจทก์ที่ 2 ให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 แจ้งให้จำเลยหยุดทำการแก้ไขชำรุดบกพร่องโดยโจทก์ที่ 2 จะหาบุคคลภายนอกมาแก้ไขเอง จึงเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลง อายุความจึงเริ่มนับใหม่นับแต่เวลานั้นคือวันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15 วรรคสอง โจทก์ที่ 2 มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2552 ดังนั้น เมื่อโจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องวันที่ 13 มกราคม 2554 เกินกว่า 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3104/2558   แม้สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยค้างชำระจะมีกำหนดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) แต่ปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ อายุความย่อมสะดุดหยุดลง ตามมาตรา 193/14 (2) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นจึงไม่นับเข้าในอายุความตามมาตรา 193/15 วรรคสอง การที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ชั้นต้น ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันด้วย ตามมาตรา 692 ปรากฏว่าคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ชั้นต้นให้ชำระหนี้ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2547 โดยคู่ความมิได้ฎีกา คดีย่อมถึงที่สุดในวันที่ 22 กันยายน 2547 อันเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุด ณ เวลาดังกล่าว จึงให้เริ่มนับอายุความใหม่สำหรับลูกหนี้ที่ 4 ตั้งแต่เวลานั้น ตามมาตรา 193/15 วรรคสอง เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค้ำประกันจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ 4 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 5 ปี สิทธิเรียกร้องสำหรับดอกเบี้ยที่ค้างชำระตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ซึ่งลูกหนี้ที่ 4 ค้ำประกันไว้ จึงยังไม่ขาดอายุความ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยได้ หาใช่ว่ามีสิทธิได้รับชำระดอกเบี้ยย้อนหลังจากวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดขึ้นไป 5 ปี ไม่ อย่างไรก็ตามความรับผิดของลูกหนี้ที่ 4 ในเรื่องต้นเงินและดอกเบี้ยย่อมจำกัดเพียงไม่เกินความรับผิดของลูกหนี้ชั้นต้นที่มีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีแพ่งเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16836/2557   สิทธิที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามสัญญาเช่าซื้อเป็นทรัพย์มรดกที่ตกทอดแก่ทายาทได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และมีพฤติการณ์เข้ารับเอาทรัพย์สินนั้นด้วยการชำระค่าเช่าซื้อ ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้าสืบสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อแล้วโดยมิจำต้องทำสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่เข้าเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับโจทก์อีก การที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์ของผู้ตายแก่โจทก์ภายในกำหนด 1 ปี อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (3) เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตามอายุความแห่งมูลหนี้คือสิบปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เป็นต้นไป

          หนี้ใดซึ่งตามมูลแห่งหนี้นั้น เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้เป็นคราว ๆ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ในเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนอายุความครบบริบูรณ์ เพื่อเป็นหลักฐานว่าอายุความสะดุดหยุดลง (มาตรา 193/16)
          ในกรณีที่อายุความสะดุดหยุดลงเพราะเหตุตามมาตรา 193/14 (2) คือกรณีเจ้าหนี้ได้ฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ หากต่อมาคดีนั้นได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกคำฟ้อง หรือคดีเสร็จไปโดยการจำหน่ายคดีเพราะเหตุถอนฟ้อง หรือทิ้งฟ้อง ให้ถือว่าอายุความไม่เคยสะดุดหยุดลง ส่วนในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด (มาตรา 193/17)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13078/2558   เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 โจทก์ในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ฟ้องเพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินสมรสไปซื้อที่ดินและทาวน์เฮ้าส์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่โจทก์ทราบเหตุการณ์ทำนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ว่า ฟ้องโจทก์มิใช่การฟ้องเพื่อเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและทาวน์เฮ้าส์ แต่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกสินสมรสคืนจากจำเลยที่ 2 และการที่ศาลชั้นต้นให้โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนถอนเงินในบัญชีซึ่งเป็นสินสมรสและมอบให้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินแก่โจทก์ เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็น จะพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนเงินหาได้ไม่ โจทก์ต้องไปว่ากล่าวต่างหาก โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2 คืนเงินจำนวน 1,512,400 บาท จึงเป็นการใช้สิทธิฟ้องต่อเนื่องจากคำพิพากษาในคดีเดิม แม้คำพิพากษาคดีดังกล่าวจะไม่มีถ้อยคำว่า “โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องคดีใหม่” อายุความคดีนี้ก็ตกอยู่ในบังคับ ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ที่ฟ้องใหม่ได้ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด หาใช่ต้องฟ้องคดีภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคสอง คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11161/2558   ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คดีนั้นศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล หรือศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ และปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด ให้เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุด” มิได้หมายความถึงกรณีที่ศาลไม่รับหรือคืนหรือให้ยกคำฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลเท่านั้น แต่หากยังหมายถึงกรณีที่ศาลให้ยกคำฟ้องโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ด้วย ซึ่งฟ้องแย้งถือเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) การที่ศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 525/2553 มีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีผลตาม ป.วิ.พ.มาตรา 177 วรรคสาม คือ เป็นการไม่รับหรือยกฟ้องแย้งโดยจำเลย (โจทก์ในคดีนี้) มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว โดยเหตุนี้ศาลชั้นต้นหาจำต้องระบุว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องอีกไม่ เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์ก็มีสิทธิตามกฎหมายที่จะฟ้องเป็นคดีต่างหากอยู่แล้ว ดังนั้น หากปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณา หรือจะครบกำหนดภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อตั้งหลักฐานสิทธิเรียกร้องหรือเพื่อให้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นถึงที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2678/2558   เจ้าหนี้มีสิทธิฟ้องคดีเพื่อให้ลูกหนี้ชำระหนี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งศาลเป็นที่สุดตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง ต้องเป็นคดีที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้ต่อศาลที่ไม่มีเขตอำนาจพิจารณา และไม่รวมถึงการฟ้องบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้อันเป็นการฟ้องผิดตัวด้วย เพราะมีผลเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ที่ถูกฟ้องเป็นจำเลย

          ในขณะที่อายุความจะครบกำหนดนั้น ถ้ามีเหตุสุดวิสัยมาขัดขวางมิให้เจ้าหนี้กระทำการตามมาตรา 193/14 ให้อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะพ้นสามสิบวันนับแต่วันที่เหตุสุดวิสัยนั้นได้สิ้นสุดลง (มาตรา 193/19)
          



          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือบุคคลวิกลจริต

          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือไม่ก็ตาม ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว (มาตรา 193/20)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2159/2556   จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยร่วมขับรถบรรทุกหกล้อถอยหลังด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ ว. ขับ เป็นเหตุให้ ว. ทุพพลภาพพิการตลอดชีวิต ความรู้สึกตัวและความจำไม่ปกติไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ว. จึงเป็นคนไร้ความสามารถไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ ต้องอยู่ในความอนุบาลและให้ผู้อนุบาลดำเนินคดีแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 56 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์ทราบว่าจำเลยร่วมเป็นเจ้าของรถบรรทุกหกล้อคันเกิดเหตุและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ก็ตาม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินคดีแทน ว. ได้จนกว่าจะมีคำสั่งศาลตั้งให้โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. เสียก่อน กรณีเช่นนี้การนับอายุความจึงต้องนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/20 ที่บัญญัติให้อายุความสิทธิเรียกร้องของบุคคลวิกลจริตอันศาลจะสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ถ้าจะครบกำหนดลงในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้อนุบาล อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้มีผู้อนุบาล แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปีก็ให้กำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว ซึ่งคดีนี้นอกจากโจทก์จะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยร่วมในฐานะส่วนตัวแล้ว โจทก์ยังฟ้องในฐานะเป็นผู้อนุบาลของ ว. ด้วย เมื่อนับระยะเวลานับแต่โจทก์เป็นผู้อนุบาลของ ว. ตามคำสั่งศาลวันที่ 21 สิงหาคม 2544 จึงครบอายุความหนึ่งปีในวันที่ 21 สิงหาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้เรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ข. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมวันที่ 29 มีนาคม 2545 จึงยังไม่ครบหนึ่งปีนับแต่โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อนุบาล ว. คดีของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมจึงไม่ขาดอายุความ

          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์ที่จะฟ้องผู้แทนโดยชอบธรรม

          อายุความสิทธิเรียกร้องของผู้เยาว์หรือของคนไร้ความสามารถหรือของคนเสมือนไร้ความสามารถ ที่จะฟ้องร้องผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ของตนนั้น ถ้าจะครบกำหนดลงในขณะที่บุคคลดังกล่าวยังไม่ลุถึงความสามารถเต็มภูมิ หรือในระหว่างหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลดังกล่าวไม่มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่บุคคลนั้นได้ลุถึงความสามารถเต็มภูมิหรือได้มีผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี แต่ถ้าอายุความสิทธิเรียกร้องนั้นมีระยะเวลาน้อยกว่าหนึ่งปี ก็ให้นำกำหนดระยะเวลาที่สั้นกว่านั้นมาใช้แทนกำหนดระยะเวลาหนึ่งปีดังกล่าว (มาตรา 193/21)

          อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา

          อายุความสิทธิเรียกร้องระหว่างสามีภริยา ถ้าจะครบกำหนดก่อนหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง (มาตรา 193/22)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542  แม้ ร.มีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทที่เป็นสินสมรสระหว่างร.กับโจทก์ที่ ร.มีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 1476 วรรคสอง ได้ก็ตาม แต่ ร.ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านส่วนของโจทก์อีกครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยได้ การที่ ร.ทำพินัยกรรมยกบ้านสินสมรสทั้งหลังให้แก่จำเลยจึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิฟ้องติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ โดยโจทก์ไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของ ร. ก่อน

          อายุความสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับผู้ตาย

          อายุความสิทธิเรียกร้องอันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้ตาย ถ้าจะครบกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันตาย อายุความนั้นยังไม่ครบกำหนดจนกว่าจะครบหนึ่งปีนับแต่วันตาย (มาตรา 193/23)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2660/2545  เมื่อ ร. ลูกหนี้ถึงแก่ความตายในวันที่ 2 กันยายน 2532 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของ ร. จะต้องฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ร. ทั้งนี้ มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสามและวรรคท้าย กรณีมิใช่อายุความมีกำหนด 1 ปี นับแต่วันถึงแก่ความตายของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/23 ทั้งนี้เพราะการที่จะอยู่ภายใต้บังคับอายุความในมาตราดังกล่าว ต้องเป็นกรณีที่อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ก่อนที่ ร. ถึงแก่ความตายจะครบกำหนดภายใน 1 ปี นับแต่ ร. ถึงแก่ความตายเท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม และวรรคท้าย 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6036/2541   จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้ ว. แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมา ว.ถึงแก่ความตาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ว.ได้ฟ้องให้จำเลยให้รับผิดตามเช็คพิพาท เมื่อปรากฏว่า ว.ผู้ทรงเช็คถึงแก่ความตายภายหลังเช็คพิพาทถึงกำหนด และอายุความสิทธิเรียกร้องตามเช็คจะครบกำหนดภายในหนึ่งปีนับแต่วันตายอันเป็นโทษแก่ ว.ผู้ตาย จึงต้องขยายอายุความออกไปเป็นหนึ่งปีนับแต่วันที่ ว.ถึงแก่ความตาย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/23

          เมื่ออายุความครบกำหนดแล้ว ลูกหนี้จะสละประโยชน์แห่งอายุความนั้นเสียก็ได้ แต่การสละประโยชน์เช่นว่านี้ไม่มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของบุคคลภายนอกหรือผู้ค้ำประกัน (มาตรา 193/24)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1774/2558   ภายหลังจาก ห. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ส. สามีโดยชอบด้วยกฎหมายของ ห. พูดคุยกับ จ. ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ห. ว่า เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ให้จัดการทำบุญให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้น จ. ไปหา ส. ปีละ 3 ถึง 4 ครั้ง แต่ละครั้ง ส. ได้มอบข้าวสารแก่ จ. และก่อน ส. ถึงแก่ความตาย ส. บอกแก่ จ. ว่า หาก ส. ถึงแก่ความตายแล้ว ให้ จ. จัดการเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของ ห. ได้ ข้อเท็จจริงยังได้ความต่อไปว่า จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ดำเนินการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 11467 ให้จำเลยเฉพาะส่วนของ ส. ในส่วนที่ดินพิพาทยังเป็นชื่อของ ห. เช่นเดิม แสดงว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. ยอมรับสิทธิในการรับมรดกที่ดินพิพาทของทายาทของ ห. นอกจากนี้ หลังจากฟ้องคดีนี้ ทายาทบางส่วนของ ส. ทำหนังสือมอบอำนาจมีเนื้อความทำนองให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ทายาทของ ห. ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่า ส. และจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกซึ่งเป็นตัวแทนทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. สละประโยชน์แห่งอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/24 แล้ว จำเลยไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7354/2546   การให้บริการบัตรเครดิตของธนาคารโจทก์ โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการและค่าธรรมเนียมด้วย โจทก์จึงเป็นผู้รับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่จำเลย และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของจำเลยแทนจำเลยไปก่อน แล้วเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ2 ปี โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาใช้บัตรเครดิตเมื่อเดือนตุลาคม 2540 แต่โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ แม้จำเลยจะชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์เป็นเงิน 500 บาท ภายหลังจากหนี้ขาดอายุความแล้ว ก็เพียงแต่ทำให้จำเลยเรียกเงินดังกล่าวคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1) ทั้งมิใช่กรณีที่จำเลยสละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24
 
          เมื่อสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความให้สิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นขาดอายุความด้วย แม้ว่าอายุความของสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นอุปกรณ์นั้นจะยังไม่ครบกำหนดก็ตาม (มาตรา 193/26)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2558   แม้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ มีกิจการคือการส่งหรือออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ แต่การที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการโดยมีค่าตอบแทนเป็นรายได้จากการเรียกเอาสินจ้างที่เรียกว่าค่าเช่าเวลา และเป็นปกติธุระที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ให้ผู้จัดรายการมากมายหลายรายเช่าเวลา เพื่อออกอากาศรายการที่ผู้จัดรายการแต่ละรายการนำเทปบันทึกรายการที่ตนรับผิดชอบในการผลิตมาส่งให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ออกอากาศให้ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกเอาสินจ้างเป็นรายได้ ทั้งเมื่อพิจารณาระเบียบของโจทก์ว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 แล้ว ไม่มีข้อห้ามหรือข้อจำกัดว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. ไม่สามารถหารายได้จากการดำเนินการหรือประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ หรือไม่สามารถให้เอกชนผู้จัดรายการเช่าเวลาที่ออกอากาศ แต่กลับมีข้อที่แสดงให้เห็นว่า สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. สามารถหารายได้ด้วยการเรียกเอาสินจ้างค่าเช่าเวลาจากการให้เอกชนซึ่งเป็นผู้จัดรายการเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงว่าการกำหนดหรือปรับอัตราค่าเช่าเวลาจะต้องทำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ถือได้ว่าสถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการส่งหรือออกอากาศรายการวิทยุโทรทัศน์ ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) บัญญัติให้สิทธิเรียกเอาสินจ้างที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ ก. เรียกว่าค่าเช่าเวลา มีกำหนด 2 ปี โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ ทั้งเมื่อสิทธิเรียกร้องค่าเช่าเวลาและค่าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของโจทก์ซึ่งเป็นส่วนที่เป็นประธานขาดอายุความ สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยซึ่งเป็นส่วนอุปกรณ์ย่อมขาดอายุความด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/26

          ผู้รับจำนอง ผู้รับจำนำ ผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง หรือผู้ทรงบุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้อันตนได้ยึดถือไว้ ยังคงมีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนอง จำนำ หรือที่ได้ยึดถือไว้ แม้ว่าสิทธิเรียกร้องส่วนที่เป็นประธานจะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่จะใช้สิทธินั้นบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินห้าปีขึ้นไปไม่ได้ (มาตรา 193/27)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3329/2558   แม้โจทก์มิได้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แต่ก็ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป การจำนองห้องชุดพิพาทยังคงมีอยู่ ลูกหนี้ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง แม้หนี้ประธานจะขาดอายุความ แต่จะบังคับคดีเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่า 5 ปี ไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 ประกอบมาตรา 745 สำหรับดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี นั้น เห็นว่า หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้กู้ยืมซึ่งเป็นหนี้ประธานโดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 17 ต่อปี หนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงไม่เกินที่ศาลชั้นต้นกำหนด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19411/2555   การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท และขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้ต่อโจทก์โดยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งต้องเริ่มนับแต่ขณะที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ คือนับแต่โจทก์ทราบว่าเอกสารสูญหายและให้จำเลยนำเอกสารชุดใหม่มาให้อันเป็นช่วงระหว่างปี 2525 และเมื่อนับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2545 ล่วงเลย 10 ปี แล้วก็ตาม แต่จากคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์อ้างว่าจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ชำระราคาที่ดินครบถ้วนและจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญา อันเป็นเหตุให้โจทก์นำคดีมาฟ้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา เช่นนี้ หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์ ย่อมถือได้ว่าหนี้ดังกล่าวเป็นคุณประโยชน์แก่โจทก์เกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่โจทก์ครอบครองอยู่ ทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้ทรงสิทธิยึดหน่วง ซึ่งย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินพิพาทไว้จนกว่าจะมีการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามสัญญาแม้คดีจะขาดอายุความแล้วก็ตาม อันเป็นการใช้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 241

          การชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องซึ่งขาดอายุความแล้วนั้นไม่ว่ามากน้อยเพียงใดจะเรียกคืนไม่ได้ แม้ว่าผู้ชำระหนี้จะไม่รู้ว่าสิทธิเรียกร้องขาดอายุความแล้วก็ตาม  กรณีข้างต้นให้ใช้บังคับแก่การที่ลูกหนี้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือโดยการให้ประกันด้วย แต่จะอ้างความข้อนี้ขึ้นเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันเดิมไม่ได้ (มาตรา 193/28)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5484/2553  จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ ยอมผูกพันตามเงื่อนไขของผู้ถือบัตรตกลงให้โจทก์ทดรองจ่ายเงินอันเนื่องจากจำเลยใช้บัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือเบิกเงินสดล่วงหน้า โดยจำเลยยอมชำระคืนให้โจทก์ในภายหลัง อันเป็นการประกอบธุรกิจรับทำการงานต่างๆ แก่สมาชิก เมื่อโจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้แล้วโจทก์จะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลัง จึงเป็นกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี เมื่อโจทก์มีหนังสือถึงจำเลยขอยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 พร้อมทั้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิต โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้นับแต่วันดังกล่าว ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2549 แต่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2550 หลังครบกำหนดอายุความแล้วคดีจึงขาดอายุความ และการรับสภาพหนี้ด้วยการชำระหนี้บางส่วนที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องกระทำก่อนที่จะขาดอายุความ เมื่อจำเลยชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2550 ภายหลังจากขาดอายุความแล้ว จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุคาวามสะดุดหยุดลง การชำระหนี้ภายหลังขาดอายุความแล้วเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/28
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10881/2546   หนังสือที่จำเลยทำให้แก่โจทก์เพื่อรับรองว่าจำเลยยังมีหนี้ค่าจ้างก่อสร้างค้างชำระแก่โจทก์อยู่ตามเอกสารหมาย จ. 1 ทำขึ้นภายหลังจากมูลหนี้ค่าจ้างก่อสร้างขาดอายุความไปแล้ว จึงไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) แต่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพความรับผิดที่จำเลยรับผิดต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้โดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ อันก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 ซึ่งบัญญัติให้มีอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับสภาพความผิด จำเลยทำเอกสารหมาย จ. 1 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 4 พฤศจิกายน 2542 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

          เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ (มาตรา 193/29)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8738/2550   โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีนำที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสไปโอนให้บุคคลอื่นโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1480 วรรคสอง ได้กำหนดระยะเวลาให้ฟ้องคดีซึ่งเป็นกำหนดระยะเวลาให้ใช้สิทธิเรียกร้อง ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดสิทธิเรียกร้องนั้นเป็นอันขาดอายุความ จึงเป็นเรื่องอายุความฟ้องร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/9 ปัญหาเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้ยกปัญหานี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความมาตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้ ต้องห้ามตามมาตรา 193/29
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5670/2548   นอกจากโจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าเป็นการสบคบกันฉ้อฉลเพื่อไม่ให้โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายตามฟ้อง โจทก์ยังฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ ส. เจ้ามรดกได้ทำไว้กับโจทก์ด้วย จึงเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม มิให้เจ้าหนี้นั้นฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ฟ้องร้องคดีนี้หลังจากได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกเกินกว่า 1 ปี แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ 
          แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกได้โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิที่จะยกอายุความขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3914/2548   แม้คดีของโจทก์ขาดอายุความในการเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคแรก ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 2 จึงไม่อาจอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ตามมาตรา 193/29 ส่วนจำเลยที่ 4 ซึ่งโจทก์รับฟ้องขอให้ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุน ตามมาตรา 882 วรรคแรก กำหนดอายุความไว้ 2 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 4 ภายในกำหนดอายุความดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ต่อจำเลยที่ 4 จึงยังไม่ขาดอายุความ
 
          แต่กำหนดระยะเวลาที่ไม่ใช่อายุความ ไม่ต้องห้ามศาลหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11274/2553  โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิใช่บิดาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 แต่ที่จดทะเบียนว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรเพราะสำคัญผิด หากเป็นจริงตามคำฟ้อง โจทก์ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียตาม ป.พ.พ. มาตรา 1554 ที่จะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเพราะเหตุว่าโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนนั้นมิใช่บิดา แต่บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดระยะเวลาให้ฟ้องภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่รู้การจดทะเบียน และห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้น 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาดังกล่าวมิใช่สิทธิเรียกร้องอันเป็นอายุความที่ศาลจะยกมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียน จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนรับจำเลยที่ 1 เป็นบุตร และถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1561 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของโจทก์ได้ตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน



25 เมษายน 2560

ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง

          ความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องเป็นความรับผิดของผู้ขายที่มีต่อผู้ซื้อโดยผลของกฎหมาย
          มาตรา 472  "ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ท่านว่าผู้ขายต้องรับผิด
          ความที่กล่าวมาในมาตรานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่"

          การที่จะถือว่าทรัพย์สินที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472 มีอยู่ 3 กรณี คือ
          (1) เสื่อมราคา
          (2) เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ
          (3) เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา

          กรณีทรัพย์สินที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องเล็กน้อย ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องตามมาตรา 472

          หากส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายผิดไปจากที่ระบุไว้ในสัญญา เช่น ส่งมอบทรัพย์สินไม่ตรงชนิดตามที่ระบุในสัญญา กรณีนี้เป็นเรื่องไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาหรือผิดสัญญา แต่ไม่ใช่เรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9653/2539  โจทก์ส่งกระดาษให้แก่จำเลยมีน้ำหนักไม่ถูกต้องตามขนาดที่ตกลงกันไว้เป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่ขายผิดจากชนิดที่ตกลงกันตามสัญญา ถือได้ว่าโจทก์ไม่ชำระหนี้ตามความประสงค์อันแท้จริงแห่งมูลหนี้ เป็นการไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญา ไม่ใช่เรื่องเกิดความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินที่ขายเพราะการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 472 ต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยการไม่ชำระหนี้โดยทั่วไป

          ความชำรุดบกพร่องที่ผู้ขายต้องรับผิด จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนหรืออย่างช้าในขณะทำสัญญา
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 459/2514  ความชำรุดบกพร่องในทรัพย์สินซึ่งขาย อันผู้ขายจะต้องรับผิดต่อผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472  นั้น จะต้องเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือมีอยู่ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือในเวลาส่งมอบทรัพย์สินที่ขาย ส่วนความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังผู้ขายหาต้องรับผิดไม่
          เครื่องปรับอากาศที่โจทก์ติดตั้งที่ภัตตาคารของจำเลยให้ความเย็นเรียบร้อยดีนับแต่เวลาติดตั้งตลอดมาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน แสดงให้เห็นว่าเครื่องปรับอากาศดังกล่าวมิได้มีความชำรุดบกพร่องอยู่ก่อน หรือในขณะทำสัญญาซื้อขาย หรือในเวลาส่งมอบเลย ฉะนั้นที่เครื่องปรับอากาศให้ความเย็นไม่พอในเวลาต่อมา จึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่มีขึ้นภายหลังจากที่จำเลยได้รับมอบและใช้ประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 3-4 เดือน โจทก์หาต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องนี้ไม่ และด้วยเหตุนี้จำเลยจึงไม่มีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระตามมาตรา 488 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

          ผลของการส่งมอบทรัพย์สินที่ชำรุดบกพร่อง
          (1) ผู้ซื้อมีสิทธิยึดหน่วงราคาที่ยังไม่ได้ชำระไว้ได้ตามมาตรา 488
          (2) ผู้ซื้อมีสิทธิเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้ขายคืนเงินราคาทรัพย์สินที่ผู้ซื้อได้ชำระไป และหากมีความเสียหายก็อาจเรียกค่าเสียหายได้อีกด้วย

          กรณีที่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง 
   
          ก. ข้อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมาย 
          มาตรา 473  "ผู้ขายย่อมไม่ต้องรับผิดในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ
          (1) ถ้าผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่องหรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน
          (2) ถ้าความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบ และผู้ซื้อรับเอาทรัพย์สินนั้นไว้โดยมิได้อิดเอื้อน
          (3) ถ้าทรัพย์สินนั้นได้ขายทอดตลาด"

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17002/2555  การผุกร่อนของเหล็กเส้นที่ถูกสนิมกัดกินคานบ้านเป็นความชำรุดบกพร่องที่เป็นเหตุเสื่อมราคาและเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เมื่อโจทก์ซื้อบ้านเพื่อจะใช้อยู่อาศัยและคู่สัญญาซื้อขายไม่ได้ตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องตาม ป.พ.พ. มาตรา 483 ความชำรุดบกพร่องดังกล่าวจึงเป็นความชำรุดบกพร่องที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์ ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 472
          แม้ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบบ้านให้แก่โจทก์นั้น โจทก์ได้เข้าไปตรวจดูบ้านถึง 4 ครั้ง กับใช้กล้องวิดีโอถ่ายสภาพบ้านนำไปให้ญาติของโจทก์ช่วยกันพิจารณาสภาพบ้านด้วยก็ตาม แต่ในส่วนโครงเหล็กของคานชั้น 2 อยู่บริเวณเหนือฝ้า การจะตรวจดูต้องทุบแล้วรื้อฝ้าออกจึงจะพบเห็น ไม่ใช่กรณีที่ความชำรุดบกพร่องนั้นเป็นอันเห็นประจักษ์แล้วในเวลาส่งมอบและโจทก์ผู้ซื้อทรัพย์รับเอาบ้านไว้โดยมิได้อิดเอื้อน ส่วนการที่โจทก์ไม่ได้ขอเปิดฝ้าเพื่อตรวจดูคานนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของคนทั่วไปที่ไม่น่าจะคาดคิดว่าคานบ้านชั้น 2 ซึ่งไม่ได้อยู่ใกล้พื้นดินหรือความชื้นจะเกิดสนิมที่เหล็กเส้นจนผุกร่อน จนต้องขอเปิดฝ้าดูเพื่อตรวจสอบ กรณีนี้จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่ามีความชำรุดบกพร่อง หรือควรจะได้รู้เช่นนั้นหากได้ใช้ความระมัดระวังอันจะพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน อันจะทำให้จำเลยทั้งสองผู้ขายไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องในกรณีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 473 (1) และ (2)

          ข. ข้อยกเว้นความรับผิดตามสัญญา
          มาตรา 483  "คู่สัญญาซื้อขายจะตกลงกันว่าผู้ขายจะไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือเพื่อการรอนสิทธิก็ได้"

          อายุความในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง
          มาตรา 474  "ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง"



26 มีนาคม 2560

การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบ

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 36  "ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 34 ไปแล้ว หากปรากฏในภายหลังโดยคำเสนอของเจ้าของแท้จริงว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ก็ให้ศาลสั่งให้คืนทรัพย์สิน ถ้าทรัพย์สินนั้นยังคงมีอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงานแต่คำเสนอของเจ้าของแท้จริงนั้นจะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด"

          ประการที่หนึ่ง จะต้องร้องขอภายในหนึ่งปีนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด ไม่ใช่นับแต่ศาลพิพากษา

          คดีถึงที่สุดหมายถึงคดีแรกที่ขอริบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2331/2550  การขอคืนของกลางตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 36 ซึ่งเจ้าของมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ย่อมมีสิทธิขอคืนต่อศาลได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด คำว่า "วันคำพิพากษาถึงที่สุด" ย่อมหมายความถึงคำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์ คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นกับคดีนี้เป็นกรณีเดียวกัน แต่ฟ้องคดีคนละคราวกัน ทรัพย์สินที่ยึดได้ก็เป็นทรัพย์สินรายเดียวกัน ทรัพย์สินต่าง ๆ รวมทั้งรถยนต์กระบะของกลางจึงเป็นของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบไปแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 ของศาลชั้นต้นก่อนคดีนี้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ริบรถยนต์กระบะของกลางในคดีนี้และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลาง ก็ไม่อยู่ในอำนาจของศาลในคดีนี้ซึ่งเป็นคดีหลังที่จะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางซ้ำอีก รถยนต์กระบะของกลางจึงมิใช่ของกลางในคดีนี้ที่ศาลจะพึงวินิจฉัยสั่งด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาและมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางแล้วในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4338/2546 และคดีดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2546 ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้ขอคืนรถยนต์กระบะของกลางเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2547 จึงเป็นการยื่นคำร้องภายหลังวันที่คำพิพากษาในคดีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางถึงที่สุดแล้วเกิน 1 ปี คำร้องของผู้ร้องจึงต้องห้ามตาม ป.อ. มาตรา 36



          ประการที่สอง ทรัพย์สินนั้นจะต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าพนักงาน ถ้าหากศาลใช้อำนาจตามมาตรา 35 คือให้ทำลายเสียย่อมขอคืนไม่ได้

          ประการที่สาม จำเลยในคดีนั้นมาขอคืนไม่ได้ คงใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาโต้แย้งว่าไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือไม่ควรริบเท่่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3685/2541  ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้โดยตรงห้ามจำเลยขอคืนของกลางที่ศาล สั่งริบก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าเป็นเรื่องให้สิทธิแก่บุคคลภายนอก ซึ่งไม่ใช่จำเลยในคดีนั้นเท่านั้นที่จะมีสิทธิขอคืนทรัพย์สิน ของกลางที่ศาลสั่งริบโดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดมิใช่ให้สิทธิ แก่จำเลยในคดีที่จะใช้สิทธิเช่นนั้นได้ด้วย เพราะหากจำเลย เป็นเจ้าของอันแท้จริงในทรัพย์สินของกลางและมิได้ รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด จำเลยก็ย่อมมีสิทธิ นำพยานเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีนั้น เพื่อแสดงว่าจำเลย เป็นเจ้าของทรัพย์สินของกลางแท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดและมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลที่สั่งริบทรัพย์สินของกลางได้อยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อผู้ร้องเป็นจำเลยที่ 1 ในคดีที่ศาลมีคำสั่งริบอาวุธปืนของกลางและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งคืนอาวุธปืนของกลางได้

          ประการที่สี่ เจ้าของที่แท้จริงมาร้องขอได้ แม้คดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ไม่ต้องรอให้ศาลพิพากษาให้ริบก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2514  ในคดีอาญาที่โจทก์มีคำขอให้ริบของกลางนั้น เจ้าของทรัพย์สินของกลางจะมีคำเสนอหรือคำร้องต่อศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาคดีนั้นก็ได้ ซึ่งศาลชั้นต้นจำต้องรับคำเสนอหรือคำร้องนั้นไว้เพื่อพิจารณาและวินิจฉัยต่อไปตามมาตรา 33 วรรคท้าย หรือมาตรา 34
          ในกรณีที่ศาลได้สั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 แล้วเจ้าของอันแท้จริงมีสิทธิที่จะทำคำเสนอต่อศาลตามมาตรา 36 ไม่ว่าคดีจะถึงที่สุดหรือไม่ก็ตาม และถ้าปรากฏตามคำเสนอดังกล่าวว่าเจ้าของอันแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้น ศาลก็ต้องสั่งให้คืนทรัพย์สินแก่เจ้าของอันแท้จริงถ้าทรัพย์นั้นยังคงมีอยู่แต่คำเสนอนี้จะต้องกระทำต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุดเท่านั้น
          แต่ศาลชั้นต้นจะสั่งคืนของกลางได้ ต้องได้ความเสียก่อนว่าคดีหลักนั้นศาลใดศาลหนึ่งได้สั่งให้ริบของกลางแล้ว

          ประการที่ห้า การขอคืนของกลางตามมาตรา 36 ต้องเป็นกรณีที่คดีมีการฟ้องร้องกันที่ศาล ถ้าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานอื่นมีคำสั่งให้ริบโดยใช้อำนาจตามกฎหมายอื่น จะมาร้องต่อศาลขอคืนตามมาตรา 36 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3242/2531  การที่เจ้าของแท้จริงจะร้องขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 โดยอ้างว่าตนเองมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วเท่านั้นเมื่อมิได้มีการฟ้องคดีต่อศาล ผู้ร้องจึงจะมาร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งให้คืนรถยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องไม่ได้.

          ประการที่หก ในชั้นขอคืนของกลางมีปัญหาเฉพาะที่ต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วยหรือไม่เท่านั้น ดังนั้น ถ้าปัญหาว่าศาลชั้นต้นสั่งริบได้หรือไม่ ยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกปัญหาว่าตามกฎหมายริบไม่ได้ขึ้นมาในชั้นคำร้องขอคืนของกลางอีกไม่ได้ ศาลไม่รับวินิจฉัยให้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2547 (ประชุมใหญ่)  ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า ศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2547)
          แต่ถ้าเนื้อหาในคดีหลักยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกายังพิพากษาลงในเนื้อหาคดีหลักเพื่อแก้คำพิพากษาของศาลล่างที่พิพากษาริบมาไม่ถูกต้องกับกฎหมายได้

          ประการที่เจ็ด ถ้ามีกฎหมายพิเศษบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าห้ามนำมาตรา 36 มาใช้แล้ว ศาลจะนำมาตรา 36 มาใช้บังคับไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2617/2543  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30,31 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่บัญญัติเรื่องการริบทรัพย์สินของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดไว้โดยเฉพาะ การดำเนินกระบวนพิจารณาจึงต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกันเพื่อให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่ง และศาลชั้นต้นได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยที่ 1 โดยชอบ ทั้งเมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ผู้ร้องได้แถลงเพื่อให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องโดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องและได้ส่งหมายนัดให้จำเลยที่ 1 โดยชอบการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
          การดำเนินคดีขอริบทรัพย์สินในคดีนี้เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 อันเป็นกระบวนการพิเศษ พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแตกต่างไปจากการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาทั่วไป กล่าวคือตามมาตรา 30 วรรคสอง จะมีบุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของทรัพย์สินก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา 30 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลชั้นต้นสั่งริบทรัพย์สินได้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันตามมาตรา 30 วรรคสองส่วนกรณีมีบุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านตามมาตรา 30 วรรคสอง บุคคลที่ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีอาจจะเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือบุคคลอื่นที่อยู่นอกคดีดังกล่าวก็ได้ บุคคลที่ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีในกรณีนี้จึงไม่ได้เข้ามาในคดีในฐานะจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่เข้ามาในฐานะอ้างว่าตนเป็นเจ้าของทรัพย์สิน การไต่สวนคำร้องของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีอาญาที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
          การไต่สวนคำร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดที่จำเลยที่ 1 กับพวกถูกฟ้องเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งมีอัตราโทษที่ศาลต้องตั้งทนายความให้จำเลยหากกรณีมีบุคคลเข้ามาในกระบวนการที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 30 วรรคสอง และบุคคลดังกล่าวไม่มีทนายความ ก็ไม่อยู่ภายใต้บังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ที่ศาลจะต้องตั้งทนายความให้ก่อนเริ่มพิจารณา แม้จำเลยที่ 1 จะมาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องนัดแรก และในวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำสั่งก็ตาม เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีเพื่อคัดค้านก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามมาตรา 30 วรรคสอง จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในกระบวนการที่กำหนดไว้ใน มาตรา 30 วรรคสอง การที่ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องนัดแรกโดยไม่เลื่อนคดีไปนั้นชอบแล้ว

          ประการที่แปด ผู้ให้เช่าซื้อที่มาขอคืนของกลางที่มีผู้อื่นนำไปใช้ในการกระทำความผิด หากมีพฤติการณ์บ่งชี้ว่ามาร้องคืนของกลางเพียงเพราะประสงค์จะได้ค่าเช่าซื้อที่เหลือคืน โดยไม่สนใจว่าผู้เช่าซื้อจะนำรถของกลางไปทำอะไรบ้างแล้ว ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ไม่สมควรคืนให้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2543  ผู้ร้องในฐานะผู้ให้เช่าซื้อร้องขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลางที่ศาลสั่งริบเพื่อประโยชน์ของผู้เช่าซื้อ เพื่อให้ผู้เช่าซื้อได้รับรถยนต์บรรทุกของกลางคืนไปหาใช่เพื่อประโยชน์ของผู้ร้องเองไม่ จึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์บรรทุกของกลาง

          ประการที่เก้า ถ้าชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว แม้ยังไม่โอนทางทะเบียน ผู้ให้เช่าซื้อก็ไม่ใช่เจ้าของแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2781/2548  ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องครบทุกงวดแล้ว แม้จะชำระค่างวดล่าช้าไม่ตรงกำหนด แต่ผู้ร้องก็รับค่าเช่าซื้อจนครบทุกงวดตามสัญญาเช่าซื้อ โดยไม่ได้บอกเลิกสัญญา ถือว่ากำหนดเวลาชำระเงินไม่เป็นสาระสำคัญ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ที่เช่าซื้อของกลางจึงตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ทันทีตาม ป.พ.พ. มาตรา 572 และตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ก่อน แม้ตามข้อ 9 ของสัญญาเช่าซื้อจะให้ผู้ร้องคิดดอกเบี้ยของเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระและค่าใช้จ่ายในการไปเก็บเงินดังกล่าวได้ ผู้ร้องก็ต้องไปเรียกร้องเอากับห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ซึ่งก็ไม่แน่ว่าผู้ร้องจะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยดังกล่าวได้ตามสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ ทั้งข้อตกลงดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขที่จะไม่ให้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางตกเป็นสิทธิแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. แม้ผู้ร้องจะยังมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตามหนังสือแสดงการจดทะเบียน ผู้ร้องก็มิใช่เจ้าของแท้จริง จึงไม่มีสิทธิขอคืนรถยนต์ของกลาง
          แต่ถ้าเป็นการซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการให้ชำระราคาไปให้ครบก่อน กรรมสิทธิ์ยังไม่โอน ผู้ซื้อมาร้องขอคืนได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2496/2551  ขณะที่ผู้ร้องและจำเลยทำสัญญาซื้อขายรถยนต์ของกลางกันจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องและผู้ร้องยังค้างชำระราคาเป็นเงิน 50,000 บาท โดยจำเลยจะส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้ร้องในวันที่ได้รับชำระราคาส่วนที่เหลือ จึงเป็นสัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขตาม ป.พ.พ. มาตรา 459 กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ของกลางยังไม่โอนไปจนกว่าผู้ร้องจะได้ชำระราคาและโอนทะเบียนกัน ผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางที่แท้จริง ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36



25 มีนาคม 2560

ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ตามมาตรา 138

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 138  "ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษ....
          ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษ..."

          องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 138

          (1) ต่อสู้ หรือขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2514 (ประชุมใหญ่)  คืนเกิดเหตุ ตำรวจกับพวกตามหาเรือของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไปพบจำเลยทั้งสองอยู่ในเรือลำหนึ่ง ตำรวจซึ่งอยู่ในเครื่องแบบแสดงตัวและบอกให้จำเลยเข้ามาหา จำเลยทั้งสองรู้ว่าเป็นตำรวจแต่ขัดขืน และได้ยิงปืนมาที่เรือตำรวจ 1 นัดกระสุนปืนถูกผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่ขาแล้วจำเลยทั้งสองโดดน้ำหนีพร้อมกัน ดังนี้จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานกับผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 12/2514)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1664/2515  การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานโดยจำเลยที่ 1 ชกพลตำรวจ อ. ที่หน้าอกและจำเลยทั้งสองชกต่อยพลตำรวจ อ. กับพวก นั้น. เมื่อไม่ปรากฏว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง, 83 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4884/2533  จำเลยขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ล้มลงแล้วขับรถยนต์หลบหนี เจ้าพนักงานตำรวจจึงขับรถยนต์ติดตามเพื่อจับกุม แต่จำเลยขัดขวางการจับกุมโดยขับรถยนต์ปาด ไปทางซ้ายและทางขวาจนถึงบริเวณที่เจ้าพนักงานตำรวจยืนอยู่ที่จุดสกัดจับ จำเลยก็ขับรถพุ่งเข้าใส่เจ้าพนักงานตำรวจที่ยืนอยู่นั้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางและพยายามฆ่าเจ้าพนักงานเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 501/2537  เมื่อผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย จำเลยกล่าวกับผู้เสียหายว่า เป็นนายจับอย่างไรก็ได้และเรียกทำเย็ดแม่ ดังนี้ ที่จำเลยกล่าวว่าเป็นนายจับอย่างไรก็ได้ เป็นเพียงคำกล่าวในทำนองตัดพ้อต่อว่า ไม่ได้กล่าวหาว่า ผู้เสียหายกลั่นแกล้งจึงไม่เป็นการดูหมิ่นผู้เสียหาย แต่ที่จำเลยกล่าวว่า เรียกทำเย็ดแม่เป็นคำด่าอันเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายแล้ว จำเลยจึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 เมื่อผู้เสียหายจับกุมจำเลยในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ จำเลยดิ้นรนขัดขืนและชกหน้าผู้เสียหาย 1 ครั้ง จนฟันผู้เสียหายหักและมีโลหิตไหลออกจากปาก จำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสองและทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 อีกกระทงหนึ่ง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5249/2537  จำเลยกับพวกร่วมกันชิงทรัพย์รถจักรยานยนต์ ระหว่างจำเลยหลบหนีถูกผู้เสียหายกับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุม จำเลยขับรถจักรยานยนต์เข้าข้างทางและล้มลงจำเลยลงจากรถจักรยานยนต์แล้วชักอาวุธปืนสั้นเล็งมาทางผู้เสียหายกับพวกเพื่อข่มขู่มิให้ผู้เสียหายกับพวกทำการจับกุมจำเลยจำเลยจึงมีความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยมีหรือใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง, 140 วรรคแรก และวรรคสาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2536  เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าจำเลยมีพฤติการณ์น่าสงสัยโดยตอนกลางวันจะปิดบ้านและเก็บตัวอยู่ภายในบ้าน ตอนกลางคืนจึงออกจากบ้านไม่ยุ่งเกี่ยวกับเพื่อนบ้านและไม่ปรากฏว่าประกอบอาชีพอะไร สงสัยว่าภายในบ้านจะมีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ ถือได้ว่าเป็นกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีสิ่งของผิดกฎหมายซุกซ่อนอยู่ในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นเหตุให้ออกหมายค้นได้ จำเลยใช้มือผลักหน้าอกของร้อยตำรวจโทป. ขณะเข้าตรวจค้นตามหมายค้นอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ การที่จำเลยชี้นิ้วและพูดด่าร้อยตำรวจโท ป. กับพวกในขณะเข้าทำการตรวจค้นว่า "ไอ้พวกอันธพาลไอ้พวกฉิบหายไอ้มือปืน" และยังได้ร้องด่าอีกว่า "ตำรวจหัวควย" ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามจึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2218/2536  เมื่อจำเลยชะลอความเร็วของรถเพราะติดรถยนต์คันอื่นซึ่งติดสัญญาณไฟแดงเพื่อจะเลี้ยวขวา เจ้าพนักงานตำรวจได้ลงจากรถยนต์ปิกอัพวิ่งไปกระโดดเกาะบันไดขึ้นหลังคารถตรงประตูรถด้านหน้าด้านคนขับ จำเลยได้ขับรถเบี่ยงลงถนนทางด้านซ้ายเฉียดเสาไฟฟ้า เมื่อเลยสี่แยกไป เจ้าพนักงานตำรวจปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคารถ จำเลยได้ขับรถชิดซ้ายและขับรถส่ายไปมา ดังนี้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวก็เพื่อที่จะหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้จับกุมได้เท่านั้นแม้จะขับรถส่ายไปมาก็เป็นการกันมิให้รถยนต์ของเจ้าพนักงานตำรวจแซงขึ้นหน้ารถตนเองได้ซึ่งหากจำเลยมีเจตนาฆ่าคงจะกระทำในโอกาสแรกโดยการขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนเจ้าพนักงานตำรวจในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้นั้นยืนโบกมือ ขวางทางอยู่กลางถนนที่ด่านตำรวจ การที่จำเลยไม่หยุดรถเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจส่งสัญญาณให้หยุดที่ด่านตรวจโดยเร่งความเร็วหลบแผงกั้นเป็นด่านตรวจของเจ้าพนักงานตำรวจ และขับรถส่ายไปมาในขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจอยู่บนหลังคารถด้วยนั้น ตามพฤติการณ์จำเลยมีเจตนาที่จะหลบหนีให้พ้นการตรวจค้นและจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจเพียงอย่างเดียวอันเป็นความผิดฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานโดยใช้กำลังประทุษร้ายเท่านั้น ส่วนที่จำเลยขับรถเบี่ยงลงถนนด้านซ้ายเฉียดเสาไฟฟ้าข้างถนน ก็ปรากฏว่าก่อนที่จำเลยจะขับรถเบี่ยงไปเช่นนั้นมีรถยนต์หลายคันจอดขวางติดสัญญาณไฟแดงอยู่เมื่อได้สัญญาณไฟเขียว จำเลยก็รีบร้อนขับรถออกไปเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม แต่เมื่อไม่อาจขับรถออกไปทันทีได้จึงต้องเบี่ยงลงข้างทางที่มีที่ว่างพอให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยขับผ่านไปได้เผอิญตรงนั้นมีเสาไฟฟ้าอยู่ 1 ต้น จำเลยจึงต้องขับรถเบี่ยงเฉียดเสาไฟฟ้านั้นไป อีกทั้งรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยขับเป็นรถขนาดใหญ่และเป็นขณะเพิ่งออกรถ ย่อมไม่อาจใช้ความเร็วสูงได้จำเลยจึงมีเพียงเจตนาหลบหนีเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้พ้นจากการถูกจับกุม การกระทำของจำเลยยังไม่ถึงขั้นพยายามฆ่าเจ้าพนักงานโดยเล็งเห็นผลการกระทำของตน

          แต่การขอร้องตำรวจให้ปล่อยตัวไม่ใช่การขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 128/2515  ตำรวจจับเด็กเที่ยวเร่ร่อนตามหน้าที่ เด็กขอร้องให้จำเลยช่วยจำเลยถามว่าเป็นอะไรมาจับเด็กเมื่อตำรวจแสดงตัวว่าเป็นตำรวจแล้วจำเลยพูดว่า ขอได้ไหมอย่าจับเด็กนี้เลย ตำรวจจึงอธิบายให้ฟังว่าเป็นหน้าที่ จำเลยก็ยอมให้เอาตัวเด็กไป ดังนี้การกระทำของจำเลยหาเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่
          การที่จำเลยเพียงถือขวดโซดาไว้ในมือ ไม่ได้ใช้ขวดโซดาจะตีหรือหยิบมีดมาจะทำร้าย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิด (ฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน)

          การนิ่งเฉยก็ไม่ถือว่าเป็นการขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2536  พยานโจทก์ไม่มีใครรู้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ช่วยจำเลยที่ 4 แบ่งบรรจุเฮโรอีนใส่หลอดพลาสติกและพยานที่สืบสวนมาก็ไม่ได้ความว่าสืบมาอย่างไร จากใคร เมื่อรู้ก่อนนานแล้วทำไมไม่ดำเนินการจับกุม เหตุใดต้องรอมาจนถึงวันเกิดเหตุ ดังนี้ การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ถูกกล่าวหา จึงน่าเป็นเพราะอยู่ด้วยกับจำเลยที่ 4 ในบ้านเกิดเหตุ เฮโรอีนของกลางอาจบรรจุหลอดพลาสติกมาก่อนแล้วก็ได้และตามวิสัยการกระทำผิดอันร้ายแรงเช่นนี้ ชอบที่จำเลยที่ 4 กับพวกต้องปิดบังไว้ไม่น่าให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ล่วงรู้ไปได้ พยานหลักฐานโจทก์จึงมีเหตุสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 จะได้กระทำผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ส่วนความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่นั้น เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 กระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากจำเลยที่ 4 ไม่ยอมเปิดประตูและจำเลยที่ 1 พูดห้ามมิให้เปิดกับเรียกจำเลยที่ 4 เข้าไปในบ้าน หลังจากนั้นไฟฟ้าภายในบ้านก็ดับลงไม่ทราบว่าใครเป็นคนดับและจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้กระทำการอันใดบ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงาน และการที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 อยู่ภายในบ้านเกิดเหตุด้วย จะถือว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 4 ไม่ให้ความสะดวกแก่เจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ไม่ได้

          ดิ้นหนีไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 568/2536  จ่าสิบตำรวจ ส.กับพวกพบจำเลยกับพวกสะพาย อาวุธปืนยาวมาคนละกระบอก จ่าสิบตำรวจ ส. กับพวกจึงขอตรวจค้น จำเลยส่งอาวุธปืนยาวให้เจ้าพนักงานตำรวจแล้วได้กระโดดหนีเจ้าพนักงานตำรวจ และจ่าสิบตำรวจ ส.จึงได้กระโดดเข้าจับจำเลยและกอดปล้ำกันตกลงไปตามทางลาดชัน การที่จำเลยกระโดดหนีเจ้าพนักงานตำรวจนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางการจับกุมของเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่อันจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138

          ปัดป้องไม่ยอมให้เข้าใกล้ตัวไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8198/2550  การที่สิบตำรวจตรี ส. เบิกความว่า เมื่อวิ่งไล่ตามจำเลยจนทันแล้วจำเลยหันกลับมาใช้มือปัดป้องไม่ยอมให้พยานเข้ามาใกล้ตัว เมื่อพยานเข้าไปกอดและพยานให้จำเลยคว่ำหน้าลง จำเลยล้มลงพร้อมกับพยาน จากนั้นพยานสั่งให้จำเลยนอนอยู่เฉยๆ แล้วพยานใส่กุญแจข้อมือและให้จำเลยลุกขึ้น โดยไม่ปรากฏว่าพยานเบิกความว่าจำเลยใช้เท้าถีบหรือใช้มือผลักอก อันเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใดการที่จำเลยปัดป้องไม่ยอมให้สิบตำรวจตรี ส. เข้าใกล้ตัว การกระทำของจำเลยยังถือไม่ได้ว่าเป็นการต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

          ขับรถผ่านเลยไปไม่ยอมหยุดตามที่เรียก ไม่เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 223/2531  จำเลยขับรถยนต์สิบล้อไปถึงด่านตรวจ ได้รับสัญญาณให้หยุดรถจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่ริมถนนบริเวณด่านตรวจนั้นแล้วไม่ปฏิบัติตามโดยจำเลยขับรถผ่านเลยไป ดังนี้ เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำการอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่. 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2545  จำเลยขับรถยนต์กระบะมาถึงด่านตรวจ เจ้าพนักงานตำรวจได้ให้สัญญาณให้หยุดรถเพื่อตรวจ จำเลยไม่ยอมหยุดและได้ขับรถเลยไปจนต้องมีการไล่ติดตามเพื่อสกัดจับ การที่จำเลยขับรถเลยไปไม่ยอมหยุดให้ตรวจค้นก็ดี การที่จำเลยดิ้นรนเพื่อให้หลุดพ้นจากการจับกุมก็ดี เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการจะหลบหนี จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่

          แต่การกดมือตำรวจไว้ เป็นการต่อสู้ขัดขวาง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9212/2539  ก่อนเกิดเหตุสิบตำรวจเอก พ. พบเห็นจำเลยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าจะกระทำความผิดโดยมีเครื่องมืออาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำผิด และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้าแม้สิบตำรวจเอก พ. ไม่มีหมายจับ แต่ได้แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจให้จำเลยทราบแล้ว สิบตำรวจเอก พ.จึงมีอำนาจตรวจค้นและจับจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78(1)(2), 93 การที่จำเลยใช้มือกดอาวุธปืนไม่ให้สิบตำรวจเอก พ.ดึงออกมาจากเอวจำเลยเพื่อยึดเป็นของกลาง จึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง

          (2) เจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 77/2541   ต. เป็นหัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยจึงเป็นพนักงานตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัติการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530 ข้อ 2.1 ซึ่งแต่งตั้งให้หัวหน้าพนักงานเวรฝ่ายรักษาความปลอดภัยเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ต. ได้รับทราบทางวิทยุว่าจำเลยทั้งหกเข้ามารบกวนผู้โดยสารที่บริเวณห้องผู้โดยสารขาเข้า จึงสั่งให้ อ.กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอื่นช่วยกันไล่จำเลยทั้งหกออกไปจากบริเวณดังกล่าว หากจำเลยทั้งหกไม่ยอมออกไปก็ให้ทำการจับกุม ต่อมาประมาณ 10 นาที ต. ได้รับแจ้งว่าอ. กำลังถูกรุมทำร้ายจึงรีบวิ่งไปที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพวกจำเลยกระจายกันวิ่งหลบหนี แสดงว่า ต.ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่ได้เข้าจับกุมจำเลยทั้งหก เพียงแต่ต.อนุญาตให้ อ. ณ. และ ย. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานเข้าทำการจับกุมจำเลย กรณีจึงไม่อาจถือว่า ต.เป็นเจ้าพนักงานปฎิบัติหรือกระทำตามหน้าที่ เพราะ ต.ไม่ได้เข้าจับกุมจำเลย เมื่อไม่มีเจ้าพนักงานปฎิบัติการหรือกระทำตามหน้าที่เช่นนี้แล้วการที่ อ.ณ.และ ย.เข้าจับจำเลยที่ 1 จึงไม่อยู่ในฐานะที่บุคคลทั้งสามเป็นผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นปฎิบัติ การหรือกระทำตามหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138, 289(3), 296 แต่กลับกลายเป็นการเข้าจับกุมโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยทั้งหกจะต่อสู้ขัดขวางก็ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและไม่เกินสมควรแก่เหตุ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7985/2540  การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตาม ป.อ.มาตรา 138 จะต้องเป็นการกระทำต่อเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยได้รับการแต่งตั้งตามวิธีการที่กฎหมายให้อำนาจและกำหนดไว้
          ตาม พ.ร.บ.กองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2497 มาตรา 16(2) กองอาสารักษาดินแดนมีหน้าที่ทำหน้าที่ตำรวจรักษาความสงบภายในท้องที่ร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และมาตรา 29 เจ้าหน้าที่หรือสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนในระหว่างทำการตามหน้าที่ ให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายลักษณะอาญา ตามบทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้เสียหายทำงานร่วมกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจึงจะมีอำนาจตามกฎหมายและให้ถือว่าผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมีหน้าที่เพียงสกัดกั้นผู้กระทำผิดต่อกฎหมายแต่ไม่มีหน้าที่จับกุม หากจะจับกุมจะต้องมีเจ้าพนักงานตำรวจและปลัดอำเภอร่วมด้วยดังนี้ การที่ไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองร่วมกับผู้เสียหายในการจับกุมจำเลย ผู้เสียหายจึงไม่เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1037/2503  สารวัตรกำนันเป็นผู้ช่วยกำนัน เมื่อกำนันมีหน้าที่และอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิด สารวัตรกำนันก็ย่อมช่วยกำนันทำการจับกุมผู้กระทำความผิดได้ และการช่วยทำการจับกุมผู้กระทำผิดนี้ ไม่จำเป็นจะต้องให้กำนันเรียกร้องให้ช่วยหรือต้องมีตัวกำนันอยู่ด้วย เพราะกฎหมายให้มีหน้าที่ช่วยกำนันอยู่ในตัวเป็นปกติแล้ว เมื่อจำเลยต่อสู้และทำร้ายสารวัตรกำนันในการจับกุมจำเลยและควบคุมจำเลยส่งพนักงานสอบสวน ย่อมได้ชื่อว่าจำเลยต่อสู้ผู้ต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และทำร้ายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามมาตรา 289 อันเป็นความผิดตามมาตรา 296

          หากบุคคลนั้นไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่ช่วยเจ้าพนักงานอยู่ในตัว จะต้องมีเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่อยู่ในขณะนั้นด้วย จึงจะเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 984/2514 (ประชุมใหญ่)  คืนวันเกิดเหตุ สิบตำรวจเอก ส. กับสิบตำรวจโท ช. แต่งเครื่องแบบตำรวจ นั่งเรือหางยาวไปตามหาเรือมาดของเจ้าทรัพย์ที่ถูกคนร้ายชิงไป โดยมีนาย ล. นาย อ. และนาย ข. ไปด้วย ต่อมาพบเรือนั้นจมน้ำอยู่ มีจำเลยทั้งสองนั่งเรือแจวมา สิบตำรวจเอกสุเทพว่า "นี่ตำรวจ นั่นเรืออะไร เข้ามานี่ก่อน" จำเลยรู้ว่าเป็นตำรวจแต่เบนหัวเรือหนี สิบตำรวจเอก ส. ไล่ตาม จำเลยยิงปืนมา1 นัด กระสุนปืนถูกนาย ล. ที่เข่าขวาและกลางขาขวา เมื่อเรือตำรวจวิ่งไล่ตามเรือจำเลยต่อไปจนห่าง 2 วา จำเลยทั้งสองกระโดดน้ำหนี จึงวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดฐานใช้ปืนเป็นอาวุธ ต่อสู้ขัดขวางและฐานพยายามฆ่าสิบตำรวจเอก ส. กับพวก ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานกระทำตามหน้าที่และเป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการกระทำตามหน้าที่

          (3) ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ 
          โดยต้องอยู่ในหน้าที่และต้องชอบด้วยกฎหมาย ถ้าไม่มีหน้าที่ผู้ต่อสู้ขัดขวางก็ไม่ผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7152/2538  ส.ต.ต. ส.กับพวกแต่งกายในเครื่องแบบร่วมกันไปจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไฮโลว์ ก่อนไปจับกุมได้ไปขอแบ่งรายได้ที่เก็บจากการเล่นการพนันดังกล่าวจาก ก. ก.ปฏิเสธ ส.ต.ต. ส.ก็พูดจาในทำนองข่มขู่ ต่อจากนั้นได้ไปยังบริเวณที่มีการเล่นการพนันกัน เมื่อไปถึง ส.ต.ต. ส.ได้ร้องตะโกนให้พวกเล่นการพนันวิ่งหนีโดยไม่ได้เข้าจับกุมบุคคลเหล่านั้น แต่ได้ยึดเครื่องมือที่ใช้เล่นการพนันและเงินสดโดยไม่ได้ทำบันทึกการยึดของกลางไว้ การกระทำของ ส.ต.ต. ส.กับพวกหาใช่เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่หรือกระทำการตามหน้าที่ในการเข้าจับกุมผู้ลักลอบเล่นการพนันไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3178/2540  ผู้เสียหายได้พบจำเลยในขณะที่จำเลยซึ่งมีอาการเมาสุรานั่งคร่อมอยู่บนรถจักรยานยนต์โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำความผิดและผู้เสียหายมิได้เข้าทำการจับกุมจำเลยอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยแต่อย่างใด อีกทั้งการที่ ส. แจ้งต่อผู้เสียหายก็ระบุแต่เพียงว่าอาจมีเรื่องกันบริเวณปากซอยให้ไปช่วยคนหน่อย จึงฟังไม่ได้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นโดยจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุหรือกระทำความผิดแต่อย่างใด การที่ผู้เสียหายปฏิบัติภารกิจอื่นแล้วเข้าไปยังที่เกิดเหตุโดยยังมิได้มีเหตุการณ์วิวาทเกิดขึ้นแต่ผู้เสียหายกลับไปมีเรื่องกับจำเลยเป็นส่วนตัว โดยถูกจำเลยพูดว่ากล่าวและผลักอก จึงไม่ใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกำลังปฏิบัติการตามหน้าที่ในการเข้าระงับเหตุทะเลาะวิวาทหรือจับกุมผู้กระทำความผิด การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 แต่อย่างใด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2535/2550  บ. พบกองไม้กระยาเลยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายอันเป็นไม้ผิดกฎหมายวางกองอยู่ข้างบ้าน ว. และ ว. รับว่ามีไม้หวงห้ามยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจริง การกระทำของ ว. ไม่ใช่ความผิดซึ่งหน้าเพราะไม่ใช่ความผิดที่เห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใด ซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย ป.วิ.อ. หรือเข้าหลักเกณฑ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 80 วรรคสอง (1) (2) ดังนั้น บ. ไม่มีอำนาจที่จะจับ ว. โดยไม่มีหมายจับได้ การที่ ว. ตาม บ. มาที่หน่วยคุ้มครองป่าจึงไม่ใช่เป็นการถูกจับตัวมา แม้ในเวลาต่อมาจำเลยจะขับรถยนต์มาที่หน่วยคุ้มครองป่าและรับ ว. ขึ้นรถยนต์ของจำเลยขับออกจากหน่วยคุ้มครองป่าไป บ. ติดตามจำเลยไปจนทันและเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันขึ้นระหว่างจำเลยและ บ. ยังไม่เป็นการที่จำเลยต่อสู้หรือขัดขวาง บ. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน

          (4) เจตนา (องค์ประกอบภายใน)
          ต้องรู้ว่าเป็นการต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 148/2513  เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยวโดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นได้ว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทำการตามหน้าที่ ทั้งนี้ต่างฝ่ายไม่รู้จักกันมาก่อนจำเลยไม่มีทางรู้ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เช่นนี้ แม้จำเลยจะได้ทำการต่อสู้ชกต่อยขัดขวางมิให้เจ้าพนักงานตำรวจค้นเอาเงินทรัพย์สินใด ๆ ของจำเลยไปก็ตาม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ดังฟ้องโจทก์ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1954/2546  ผู้เสียหายที่ 1 สวมกางเกงขายาวสีกากี สวมเสื้อยืดคอกลมสีขาวเข้าไปขอตรวจค้นตัวจำเลยโดยแจ้งว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ แต่ไม่ได้แต่งเครื่องแบบตำรวจหรือแสดงหลักฐานให้เห็นว่าตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจผู้ทำการตามหน้าที่ กรณีอาจทำให้จำเลยเข้าใจผิดไปได้ แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยหรือใช้มีดแทงผู้เสียหายที่ 1 เพื่อขัดขวางไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตรวจค้นและจับกุม จำเลยก็หามีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่และพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ไม่แม้ในชั้นสอบสวนจำเลยจะให้การรับสารภาพฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่บันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่าโดยลำพังไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้

          มาตรา 138 วรรคสอง  "ถ้าการต่อสู้ขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษ..."

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2523  เจ้าพนักงานตำรวจไล่จับญาติของจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาในข้อหาฆ่าคนตายจำเลยที่ 1 กอดเอวเจ้าพนักงานตำรวจคนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ดึงเสื้อเจ้าพนักงานตำรวจอีกคนหนึ่งไว้ เพื่อมิให้เจ้าพนักงานจับกุมผู้ต้องหาการที่จำเลยที่ 1 กอดเอวและจำเลยที่ 2 ดึงเสื้อนั้นเป็นการใช้แรงกายกระทำต่อกายของเจ้าพนักงานตำรวจ ถือได้ว่าเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) เพื่อต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 วรรค 2
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3850/2543  การที่จำเลยใช้มือผลักและใช้ตัวดันเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตามีนบรรจุอยู่จากมือเจ้าพนักงานตำรวจไปใส่ปากเคี้ยวเพื่อทำลายหลักฐานนั้น ถือได้ว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจผู้มีหน้าที่และกำลังตรวจค้นเพื่อรวบรวมสิ่งของที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำผิดตามที่มีการกล่าวหาหรือที่เจ้าพนักงานตำรวจได้สืบทราบมาหรือไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ใช้มือผลักเจ้าพนักงานตำรวจกระเด็นไปติดประตูแล้วใช้ตัวดันเพื่อแย่งถุงพลาสติกที่มีเมทแอมเฟตามีนบรรจุมาใส่ปากเพื่อเคี้ยวทำลายหลักฐานนั้น จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการผลักและดันของจำเลยว่าเป็นการทำอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจของเจ้าพนักงานตำรวจได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามกฎหมายแล้ว แม้จำเลยจะมิได้มีเจตนาโดยประสงค์ต่อผลในการที่จะกระทำต่อร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของเจ้าพนักงานตำรวจก็ตาม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง




ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเข้ามีส่วนได้เสียในกิจการที่ตนมีหน้าที่ (ผลประโยชน์ทับซ้อน) ตามมาตรา 152

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 152  "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท"

          องค์ประกอบความผิดของมาตรา 152

          (1) เป็นเจ้าพนักงาน
          ถ้าเป็นลูกจ้างไม่ว่าประจำหรือชั่วคราวก็ไม่ใช่เจ้าพนักงาน ไม่ผิดมาตรานี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 231/2503  โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานทำการทุจริตต่อหน้าที่และจดหลักฐานเท็จแต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยได้รับแต่งตั้งจากอธิบดีกรมชลประทานให้เป็นช่างบังคับหมู่เขื่อนระบายน้ำโพธิ์เตี้ยมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้าง ซ่อมแซมบำรุงรักษา ควบคุมการเบิกจ่ายค่าแรงคนงาน ควบคุมคนงานโดยได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวันจากงบประมาณ ซึ่งมิใช่ประเภทเงินเดือน เมื่อจำเลยได้เบิกค่าแรงคนงานเกินความจริงและจดหลักฐานเท็จ ก็จะเอาผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทุจริตต่อหน้าที่และทำหลักฐานเท็จตามฟ้องไม่ได้เพราะถือว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าพนักงานและตามฟ้องของโจทก์ก็มิได้บรรยายถึงความผิดอย่างอื่นอันเป็นเรื่องที่เห็นได้ว่า โจทก์มีความประสงค์จะให้ลงโทษจำเลยซึ่งไม่ใช่ในฐานเป็นเจ้าพนักงานด้วย เมื่อเป็นดังนี้ คดีก็ไม่มีทางจะลงโทษจำเลยได้

          (2) มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด หมายถึง บรรดาผู้จัดการ ผู้อำนวยการต่างๆที่เป็นเจ้าพนักงาน

          (3) เข้ามีส่วนได้เสียเนื่องด้วยกิจการนั้น โดยอาจจะเป็นผู้รับเหมาเสียเองหรือไปยืมชื่อผู้อื่นมาเป็นผู้รับเหมางานหรือเข้าไปเป็นหุ้นส่วนกับผู้รับเหมาประมูลงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนเอง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7776/2540  จำเลยที่ 1 เป็นปลัดสุขาภิบาลได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากสุขาภิบาลให้เป็นผู้ตรวจงานจ้างในการจ้างเหมาขุดลอกและล้างทางระบายน้ำในเขตสุขาภิบาล จำเลยที่ 1 ได้เข้าดำเนินการขุดลอกและล้างทางระบายน้ำโดยใช้คนงานของสุขาภิบาลทำงานให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีหน้าที่จัดการและดูแลกิจการของสุขาภิบาล เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองและผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างคนงานเพียง 1,750 บาท แต่เบิกเงินค่าจ้างตามสัญญาไป 2,900 บาท เป็นเหตุให้สุขาภิบาลได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 1จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152, 157 อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 152 ซึ่งเป็นบทหนัก

          (4) เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
          กฎหมายให้รวมไปถึงเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นด้วย ดังนั้น กิจการที่เข้ามารับงานตามที่ล็อคสเป็คไว้ ถ้าเป็นของภริยาหรือบุตร พี่เขย น้องเมีย พ่อตา แม่ยาย ญาติ เพื่อน หรือนายทุนที่สนับสนุนพรรคการเมืองก็ผิดมาตรา 152 นี้
          คดี อม. 1/2550  (คดีที่ดินรัชดา) ระหว่างอัยการสูงสุด โจทก์ กับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร จำเลยที่ 1 และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 2 คดีนี้จำเลยที่ 1 ผิดตามกฎหมายเฉพาะคือกระทำความผิดโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 100 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำสัญญาซื้อขายที่ดินในลักษณะผลประโยชน์ส่วนบุคคลขัดแย้งกับผลประโยชน์ส่วนรวม แต่ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 152 เพราะไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น

          (5) เจตนาธรรมดา (องค์ประกอบภายใน) ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่มีความผิด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1706/2535  ผู้ที่จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 จะต้องเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใดเข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น เมื่อปรากฏว่าในการจัดซื้อดินถมพร้อมบดอัดแน่นจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. นั้น เทศบาลได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของทางราชการและราคาที่ตกลงซื้อก็ต่ำกว่าราคาที่เทศบาลตั้งงบประมาณไว้ แสดงว่าการจัดซื้อดินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีได้กระทำไปตามอำนาจหน้าที่ของตนไม่ได้มุ่งหวังประโยชน์ของเทศบาลเป็นสำคัญ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ก็ตามกรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยการทำสัญญาซื้อขายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่มีความผิด จำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ก็ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุน