28 เมษายน 2559

คดีที่โจทก์ฟ้องมาหลายฐานความผิด ศาลก็ต้องอธิบายฟ้องและถามคำให้การจำเลยทุกฐานความผิด‬ มิเช่นนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาที่มีต่อมาย่อมไม่ชอบ

          ป.วิ.อ.มาตรา 172 "การพิจารณาและสืบพยานในศาล ให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
          เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลแล้ว และศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การ ก็ให้ศาลจดรายงานไว้และดำเนินการพิจารณาต่อไป 
          .........."

          คดีที่โจทก์ฟ้องมาหลายฐานความผิด ศาลก็ต้องอธิบายฟ้องและถามคำให้การจำเลยทุกฐานความผิด‬ ว่าแต่ละฐานความผิดจะให้การหรือไม่ให้การอย่างไร หากศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดแจ้ง แล้วกลับพิพากษาลงโทษจำเลยไป จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  10073/2558  ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า เมื่อโจทก์หรือทนายโจทก์และจำเลยมาอยู่ต่อหน้าศาลและศาลเชื่อว่าเป็นจำเลยจริง ให้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้อย่างไรบ้าง คำให้การของจำเลยให้จดไว้ ถ้าจำเลยไม่ยอมให้การก็ให้ศาลจดรายงานไว้ และดำเนินการพิจารณาต่อไป คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เมื่อศาลชั้นต้นอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว ต้องสอบถามจำเลยด้วยว่าจะให้การรับสารภาพในความผิดฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งรถยนต์โดยตนรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งรถยนต์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของยังมิได้เสียภาษี การที่ศาลชั้นต้นมิได้สอบถามคำให้การของจำเลยให้ชัดแจ้ง กลับพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและมีผลให้กระบวนพิจารณาต่อไปตลอดจนคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีพืชกระท่อมในครอบครองเพื่อจำหน่าย และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ชอบไปด้วย

26 เมษายน 2559

ความรับผิดของผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิด ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินขอบเขตที่ใช้ ผู้ใช้ให้กระทำความผิดต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ ตามมาตรา 87

          ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 87 วรรคหนึ่ง "ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเพราะมีผู้ใช้ให้กระทำตามมาตรา 84 เพราะมีผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิดตามมาตรา 85 หรือโดยมีผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 ถ้าความผิดที่เกิดขึ้นนั้น ผู้กระทำได้กระทำไปเกินขอบเขตที่ใช้หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรือเกินไปจากเจตนาของผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาเพียงสำหรับความผิดเท่าที่อยู่ในขอบเขตที่ใช้ หรือที่โฆษณาหรือประกาศ หรืออยู่ในขอบเขตแห่งเจตนาของผู้สนับสนุนการกระทำความผิดเท่านั้น แต่ถ้าโดยพฤติการณ์อาจเล็งเห็นได้ว่า อาจเกิดการกระทำความผิดเช่นที่เกิดขึ้นนั้นได้จากการใช้ การโฆษณา หรือประกาศ หรือการสนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำความผิด ผู้โฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิด แล้วแต่กรณี ต้องรับผิดทางอาญาตามความผิดที่เกิดขึ้นนั้น"

          เจ้าพนักงานตำรวจใช้ลูกน้องไปจับกุมผู้ตาย แต่ลูกน้องไปใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ลูกน้องของตนจะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ เจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้ไม่ต้องร่วมรับผิดในความผิดฐานฆ่าคนตาย
          แต่การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ให้ลูกน้องไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว เจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตายอาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้นั้นได้ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อลูกน้องทำตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจผู้ใช้แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานตำรวจในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6151/2556  จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. จับตัวผู้ตายมาเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า ที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่า ส. จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตาย อาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ส. ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2545 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จ่าสิบเอก ก. ผู้ตาย จ่าสิบเอก อ. และจำเลยที่ 3 กับพวก พากันไปนั่งดื่มสุราและรับประทานอาหารที่ร้านชงโค จนกระทั่งเวลาประมาณ 22 นาฬิกา ได้พากันไปรับประทานอาหารและดื่มสุราต่อที่ร้านมายาคาราโอเกะ โดยขับรถเก๋งยี่ห้อฮอนด้าแอคคอร์ดของจำเลยที่ 3 จอดไว้ที่บริเวณลานจอดรถของร้านอาหารดังกล่าว ต่อมาเวลาประมาณ 24 นาฬิกา ผู้ตายเดินลงไปที่ลานจอดรถ มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายแล้วช่วยกันจับตัวผู้ตายโยนใส่รถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิสีน้ำเงิน ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นคนขับรถคันดังกล่าวหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจมาที่เกิดเหตุได้ยึดชิ้นส่วนกระสุนปืนหลายชิ้น รองเท้าหนังของผู้ตาย 1 คู่ ซึ่งตกอยู่ที่เกิดเหตุและยึดรถยนต์เก๋งยี่ห้อฮอนด้าของจำเลยที่ 3 เป็นของกลาง หลังจากนั้นได้พาจำเลยที่ 3 ไปสอบปากคำที่สถานีตำรวจ จากการค้นตัวจำเลยที่ 3 พบโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 1892 8644 ในถุงเท้าด้านขวาและพบซิมการ์ดของโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวในถุงเท้าด้านซ้ายของจำเลยที่ 3 จึงยึดเป็นของกลาง ในวันรุ่งขึ้น เวลาประมาณ 9 นาฬิกา พบศพของผู้ตายถูกทิ้งอยู่ใต้สะพานคลองมะขามเตี้ย แพทย์ได้ทำรายงานการตรวจชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ระหว่างพิจารณา ภริยาของผู้ตาย และบุตรผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ส่วนจำเลยที่ 3 ความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืน มีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและพาอาวุธปืน ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและใช้ให้ผู้อื่นฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8
          คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามาหรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามทุกปากเบิกความสอดคล้องลำดับเหตุการณ์สมเหตุผล ไม่มีพิรุธ และเมื่อพิจารณาประกอบกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.จับตัวผู้ตายมาเพื่อรีดเค้นความจริงเกี่ยวกับรถยนต์ของจำเลยที่ 3 ที่หายไป ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า แม้รับฟังว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนายสุชาติไปจับตัวผู้ตายมาก็ตาม จำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่าผู้ตายจะต่อสู้ และจำเลยที่ 3 ไม่อาจเล็งเห็นผลได้ว่านาย ส.จะใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายนั้น เห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เพียงแต่ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.จับตัวผู้ตายมาเพื่อเค้นหาความจริงเกี่ยวกับรถของจำเลยที่ 3 ที่หายไปเท่านั้น การที่นาย ส.ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนผู้ตายถึงแก่ความตายเนื่องจากผู้ตายต่อสู้ไม่ยอมให้จับตัวนั้น เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นทันทีทันใด โดยจำเลยที่ 3 ไม่อาจคาดหมายได้ว่านาย ส.จะกระทำเช่นนั้น เป็นการกระทำเกินขอบเขตที่ใช้ พฤติการณ์แห่งคดียังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.ฆ่าผู้ตาย แต่การที่จำเลยที่ 3 ใช้ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.ไปจับตัวผู้ตายมารีดเค้นหาความจริงดังกล่าว จำเลยที่ 3 ย่อมคาดหมายได้ว่าผู้ตายอาจขัดขืนและในการรีดเค้นความจริงจากผู้ตายอาจมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น ถือว่าจำเลยที่ 3 ใช้ให้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนาย ส.ทำตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 แล้วผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ใช้ให้กระทำความผิดจึงต้องรับผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

24 เมษายน 2559

แจ้งความเท็จ คู่สมรสฝ่ายหนึ่งให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินในการจดจำนองที่ดินอันเป็นสินสมรสว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรส มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ

          ความผิดฐานแจ้งความเท็จ
          ประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา 137  "ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"

          สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่สามีไปให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 137

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8739/2552   จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
          เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
          การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว
          ศาลฎีกาวินิยฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2544 จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโด และได้จดทะเบียนจำนองอาคารชุดดังกล่าวกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินใช้ตรายางประทับข้อความว่า ข้าพเจ้านาย....... ขอรับรองว่าข้าพเจ้ายังเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรส ไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย หากถ้อยคำที่ข้าพเจ้าให้นี้เป็นเท็จให้ใช้ถ้อยคำนี้ยันข้าพเจ้าในคดีอาญาได้ และจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้ถ้อยคำ ตามบันทึกด้านหลังสัญญาจำนองเป็นประกัน คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า บันทึกด้านหลังดังกล่าวที่จำเลยลงลายมือชื่อไว้ท้ายบันทึกจะเป็นการแจ้งความเท็จหรือไม่ เห็นว่า จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จแม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยเป็นโสด เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนจำนองที่ดินให้จำเลย ย่อมให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้น โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง


08 เมษายน 2559

สัญญาจ้างทำของ สัญญาค้ำประกันการปฎิบัติตามสัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นสัญญาหลักหรือสัญญาประธาน ต้องถือว่าสัญญาค้ำประกันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง

          ป.พ.พ.
          มาตรา 587  "อันว่าจ้างทำของนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น"

          สัญญาจ้างกำหนดให้ผู้รับจ้างนำหลักประกันเป็นเงินจำนวนหนึ่งมาวางไว้แก่ผู้ว่าจ้าง เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาจ้าง การค้ำประกันจึงเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นสัญญาหลักหรือสัญญาประธาน ต้องถือว่าสัญญาค้ำประกันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3263/2554  สัญญาจ้าง ข้อ 3 กำหนดให้ผู้รับจ้างคือ ผู้ร้องและบริษัท ฟ. คู่สัญญาร่วมนำหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 16,850,000 บาท มามอบให้ผู้ว่าจ้าง คือ ผู้คัดค้าน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันเป็นเงินสดหรือหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคาร ผู้ร้องและบริษัทคู่สัญญาร่วมได้ดำเนินการตามข้อกำหนดข้อนี้ของสัญญาเรียบร้อยแล้ว สัญญาค้ำประกันจึงเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของสัญญาจ้าง ซึ่งเป็นสัญญาหลักหรือสัญญาประธาน ต้องถือว่าสัญญาค้ำประกันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้าง หาใช่เป็นสัญญาที่แยกจากสัญญาจ้าง
            สัญญาค้ำประกันระบุไว้ชัดเจนว่า ธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องชำระเงินที่ค้ำประกันไว้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านในกรณีที่ผู้ร้องหรือบริษัทคู่สัญญาร่วมก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง มีความหมายว่า สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามที่ค้ำประกันไว้แก่ผู้คัดค้านจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ร้องหรือบริษัทคู่สัญญาร่วมก่อให้เกิดความเสียหาย หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่าย หรือมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญา การที่ผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญาจ้างโดยอ้างว่าผู้ร้องและบริษัทคู่สัญญาร่วมไม่สามารถสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าได้ทันภายในกำหนดเวลาในสัญญาจ้างได้ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องและบริษัทคู่สัญญาร่วมผิดสัญญาจ้างและขอริบหลักประกัน แต่เมื่อผู้ร้องได้ขอบอกเลิกสัญญาจ้างโดยอ้างว่าผู้คัดค้านผิดสัญญาจ้างเช่นกัน จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญา อันจะต้องเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาและชี้ขาดตามสัญญาจ้าง ข้อ 20
          ผู้ค้ดค้านจะริบหลักประกันตามสัญญาจ้างได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่ว่าอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาและชี้ขาดเสียก่อนว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้ผู้คัดค้านทวงถามหรือขอรับเงินอันเป็นหลักประกัน การที่ศาลมีหนังสือห้ามมิให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินที่ค้ำประกันแก่ผู้คัดค้าน ย่อมมีความหมายอย่างเดียวกันคือ ห้ามผู้คัดค้านได้รับเงินอันเป็นหลักประกันไว้ชั่วคราวจนกว่าอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาชี้ขาดข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทแล้ว จึงมิใช่เป็นการห้ามเกินคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือสั่งเกินคำขอของผู้ร้อง
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า สัญญาค้ำประกันมิใช่บทบังคับที่คู่สัญญาจะต้องทำสัญญาค้ำประกัน หากแต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทางเลือกในรูปแบบที่จะค้ำประกันเท่านั้นและเป็นสัญญาระหว่างผู้คัดค้านกับธนาคาร ท. ที่แยกออกจากสัญญาจ้าง ซึ่งธนาคาร ท. ยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะชำระเงินตามที่ค้ำประกันแก่ผู้คัดค้าน อีกทั้งสัญญาค้ำประกันไม่มีข้อความที่กำหนดให้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการเพื่อการใช้สิทธิเรียกร้อง หรือการระงับข้อพิพาทใดๆ คำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีผลผูกพันบังคับระหว่างผู้คัดค้านและธนาคารดังกล่าวนั้น เห็นว่า สัญญาจ้าง ข้อ 3 กำหนดให้ผู้รับจ้าง คือ ผู้ร้องและบริษัท ฟ. คู่สัญญาร่วมนำหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 16,850,000 บาท มามอบให้ผู้ว่าจ้าง คือ ผู้คัดค้าน เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา หลักประกันเป็นเงินสดหรือหนังสือสัญญาค้ำประกันของธนาคารที่เชื่อถือได้ตามแบบที่ผู้คัดค้านกำหนด ซึ่งผู้ร้องและบริษัทคู่สัญญาร่วมได้ดำเนินการตามข้อกำหนดข้อนี้ของสัญญาเรียบร้อยแล้ว สัญญาค้ำประกัน จึงเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างซึ่งเป็นสัญญาหลักหรือสัญญาประธาน ต้องถือว่าสัญญาค้ำประกันเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างหาใช่เป็นสัญญาที่แยกจากสัญญาจ้าง นอกจากนั้นตามสัญญาค้ำประกันยังระบุไว้ชัดเจนว่า ธนาคารผู้ค้ำประกันจะต้องชำระเงินที่ค้ำประกันไว้ตามสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านในกรณีที่ผู้ร้องหรือบริษัทคู่สัญญาร่วมก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ หรือต้องชำระค่าปรับหรือค่าใช้จ่ายใดๆ หรือผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญาจ้าง อันมีความหมายว่าสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินตามที่ค้ำประกันไว้แก่ผู้คัดค้านจะเกิดขึ้นได้เมื่อผู้ร้องหรือบริษัทคู่สัญญาร่วมก่อให้เกิดความเสียหาย หรือต้องชำระค่าปรับ หรือค่าใช้จ่าย หรือมิได้ปฏิบัติตามภาระหน้าที่ใดๆ ที่กำหนดในสัญญา ซึ่งกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าเมื่อผู้ร้องหรือบริษัทคู่สัญญาร่วมกระทำผิดสัญญาจ้างข้อใดข้อหนึ่งนั่นเอง ฉะนั้น การที่ผู้คัดค้านบอกเลิกสัญญาจ้างโดยอ้างว่าผู้ร้องและบริษัทคู่สัญญาร่วมไม่สามารถสร้างปั้นจั่นยกตู้สินค้าได้ทันภายในกำหนดเวลาในสัญญาจ้างได้ จึงเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องและบริษัทคู่สัญญาร่วมผิดสัญญาจ้าง และขอริบหลักประกันตามสัญญาค้ำประกัน สิทธิที่จะริบหลักประกันของผู้คัดค้านจึงมาจากการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องและบริษัทคู่สัญญาร่วมผิดสัญญา แต่เมื่อผู้ร้องได้ขอบอกเลิกสัญญาจ้างโดยอ้างว่าผู้คัดค้านผิดสัญญาจ้าง เช่นกันก่อนที่ผู้คัดค้านจะบอกเลิกสัญญา จึงเป็นกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญา อันจะต้องเสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่ออนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาและชี้ขาด ตามสัญญาจ้างข้อ 20 เมื่อข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทว่าฝ่ายใดผิดสัญญายังไม่ยุติผู้คัดค้านย่อมริบหลักประกันดังกล่าวไม่ได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ห้ามมิให้ผู้คัดค้านทวงถามหรือขอรับเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันก็ดี หรือห้ามธนาคารผู้ค้ำประกันระงับการจ่ายเงินตามที่ค้ำประกันไว้แก่ผู้คัดค้านก็ดี เป็นการรอนสิทธิของผู้คัดค้านและธนาคารผู้ค้ำประกัน เพราะการชำระเงินอันเป็นหลักประกันเป็นเงินของธนาคารผู้ค้ำประกัน ผู้ร้องไม่ได้รับความเสียหาย และการห้ามธนาคารผู้ค้ำประกันระงับการจ่ายเงินให้แก่ผู้คัดค้าน เป็นการห้ามเกินคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า ผู้คัดค้านจะริบหลักประกันดังกล่าวได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่ว่าอนุญาโตตุลาการได้พิจารณาและชี้ขาดเสียก่อนว่าผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเป็นยุติในเรื่องนี้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้ผู้คัดค้านทวงถามหรือขอรับเงินอันเป็นหลักประกันได้นั้นจึงหาใช่เป็นการรอนสิทธิไม่ ส่วนที่ว่าการห้ามธนาคารผู้ค้ำประกันระงับการจ่ายเงินให้แก่ผู้คัดค้านเป็นการห้ามเกินคำสั่งของศาลชั้นต้น ก็ได้ความว่าศาลชั้นต้นเพียงแต่มีหนังสือแจ้งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ห้ามมิให้ผู้คัดค้านทวงถามหรือขอรับเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันให้ธนาคารผู้ค้ำประกันทราบเท่านั้น มิได้ห้ามธนาคารผู้ค้ำประกันระงับการจ่ายเงินให้แก่ผู้คัดค้านแต่ประการใด อย่างไรก็ตามไม่ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามผู้คัดค้านมิให้ทวงถามหรือขอรับเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกันก็ดี หรือห้ามมิให้ธนาคารผู้ค้ำประกันชำระเงินที่ค้ำประกันแก่ผู้คัดค้านก็ดี ก็ย่อมมีความหมายอย่างเดียวกันคือ ห้ามผู้คัดค้านได้รับเงินอันเป็นหลักประกันไว้ชั่วคราวจนกว่าอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาชี้ขาดข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทแล้วนั่นเอง จึงมิใช่เป็นการห้ามเกินคำสั่งของศาลชั้นต้นหรือสั่งเกินคำขอของผู้ร้อง ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือสัญญาค้ำประกันบริษัท ฟ. เพราะบริษัทดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้ผู้ร้องกระทำแทนนั้น เห็นว่า บริษัท ฟ. นอกจากจะเป็นบริษัทคู่สัญญาร่วมกับผู้ร้องตามสัญญาจ้างแล้ว ยังได้ความตามสัญญาจ้างดังกล่าวอีกว่าบริษัท ฟ. และผู้ร้องยังต้องมีความรับผิดต่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้จ้างร่วมกัน จึงเป็นเสมือนผู้ร่วมกิจการเดียวกัน การที่ผู้ร้องดำเนินการในเรื่องนี้เพียงลำพังแต่เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ร่วมกันแล้ว ย่อมมีผลถึงในส่วนของบริษัทคู่สัญญาร่วมดังกล่าวด้วย

ทางจำเป็น การทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้

          ป.พ.พ.
          มาตรา 1349  "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้
          ที่ดินแปลงใดมีทางออกได้แต่เมื่อต้องข้ามสระ บึง หรือทะเล หรือมีที่ชันอันระดับที่ดินกับทางสาธารณะสูงกว่ากันมากไซร้ ท่านว่าให้ใช้ความในวรรคต้นบังคับ
          ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้ ผู้มีสิทธิจะผ่านต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ค่าทดแทนนั้นนอกจากค่าเสียหายเพราะสร้างถนน ท่านว่าจะกำหนดเป็นเงินรายปีก็ได้"

          เรื่องทางจำเป็นนั้น การเลือกที่และวิธีทำทางผ่านจะต้องให้พอควรกับความจำเป็นและต้องคำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายน้อยที่สุดที่จะเป็นได้ หากเป็นที่ดินที่มีอาคารสิ่งปลูกสร้างอยู่แล้วกับที่ดินว่างเปล่า การผ่านที่ดินว่างเปล่าย่อมมีความเสียหายน้อยกว่า
          อนึ่ง  กฎหมายกำหนดให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ดังนี้ แม้เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่จะไม่ได้ให้การหรือฟ้องแย้งในเรื่องค่าทดแทนไว้ก็ตาม ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ได้ 

          มีคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11428 - 11429/2556  -  ที่ดินเลขที่ดิน 106 และ 107 มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารบนที่ดินจนเต็มพื้นที่ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ หากจะใช้ทางดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ขณะที่ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเป็นการสะดวกมากกว่า เพราะที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นที่ดินว่างเปล่า และมีระยะทางออกสู่ทางสาธารณะใกล้ที่สุด ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุด โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ และเนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย บัญญัติให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ในคราวเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ให้การและฟ้องแย้งในเรื่องค่าทดแทนไว้ก็ตาม มิฉะนั้นจำเลยที่ 3 ก็คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ และโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ก็จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้ว ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
          ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
          ในเรื่องนี้ มีคดีสองสำนวน ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 3
           โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามเปิดทางจำเป็นตามแผนที่สังเขปท้ายคำฟ้องมีความกว้าง 4 เมตร ยาวประมาณ 45 เมตร ตลอดแนวที่ดินทางด้านตะวันออกของที่ดินจำเลยทั้งสาม เพื่อให้โจทก์ทั้งสองถมที่ดินทำถนนเป็นทางให้รถยนต์เข้าออกถนนรัตนาธิเบศร์อันเป็นทางสาธารณะ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและต้นไม้ที่กีดขวางตลอดแนวทางจำเป็น ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนรั้วลวดหนามที่สร้างกีดขวางตลอดแนวทางจำเป็น ห้ามจำเลยทั้งสามกระทำการใด ๆ อันเป็นการกีดขวางทางจำเป็น หากจำเลยทั้งสามไม่ยอมรื้อถอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลสั่งให้โจทก์ทั้งสองมีอำนาจรื้อถอนได้เอง ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนทางจำเป็นให้แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสามเพื่อจดทะเบียนทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยทั้งสาม
          ระหว่างพิจารณา โจทก์ทั้งสองยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
          จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งว่า หากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 เปิดทางจำเป็นแก่โจทก์ทั้งสอง ขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าทดแทนตารางวาละ 500,000 บาท และชดใช้ค่าขาดประโยชน์ปีละ 500,000 บาท
          จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
          โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ว่า ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ไม่ขัดแย้งกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 2002 เนื้อที่ 2 ไร่ 96 ตารางวา จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2000 เนื้อที่ 2 งาน 18 ตารางวา จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 24803 เลขที่ดิน 163 ตำบลบางรักใหญ่ (บางไผ่) อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน ที่ดินของโจทก์ทั้งสองติดต่อกับที่ดินของจำเลยที่ 3 ทางทิศใต้ และที่ดินของจำเลยที่ 3 ติดต่อกับที่ดินของจำเลยที่ 2 ทางทิศใต้ต่อเนื่องกันไป โดยที่ดินของจำเลยที่ 2 ติดกับถนนรัตนาธิเบศร์ และข้อเท็จจริงยังฟังได้ว่า เดิมที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินเลขที่ดิน 106 และเลขที่ดิน 107 ซึ่งถูกแบ่งแยกไป
          ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะที่จะต้องเรียกร้องเอาทางเดินได้เฉพาะบนที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกเท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า ตามสำเนาแผนที่สังเขป ที่ดินเลขที่ดิน 107 ติดต่อกับที่ดินของศาลเจ้าและที่ดินเลขที่ดิน 111 โดยไม่ได้ติดต่อกับทางสาธารณะ ซึ่งเจือสมกับที่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ทั้งสองว่า ที่ดินที่หมายเลข 106 และ 107 ในแผนที่สังเขปไม่ติดกับทางสาธารณะ จะมีที่ดินของศาลเจ้ากั้นอยู่ ที่โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ที่ดินที่มีหมายเลข 111 ตามแผนที่สังเขปถูกแบ่งออกเป็นถนนซอยป่าไม้อุทิศ ยังเหลือเนื้อที่ห่างจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 แปลงหมายเลข 110 ประมาณ 3 เมตร ก็ดี หรือเบิกความต่อไปว่า ที่ดินที่มีหมายเลข 107 ตามแผนที่สังเขปนั้น เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ที่ 1 และที่ดินหมายเลข 106 ต่อมาได้มีการแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวออกไป ที่ดินที่มีหมายเลข 107 นั้น ติดกับที่ดินของศาลเจ้า ถนนซอยป่าไม้อุทิศนั้นจะติดกับที่ดินของศาลเจ้าก็ดี หรือเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 ว่า ถนนซอยป่าไม้อุทิศนั้นได้ก่อสร้างเข้าไปในที่ดินแปลงที่มีหมายเลข 111 ซอยดังกล่าวจะผ่านหน้าศาลเจ้า แต่จะผ่านที่ดินแปลงที่มีหมายเลข 107 หรือไม่อย่างไร ไม่ทราบ ก็ดีนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อความใดในคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวที่ยอมรับว่าที่ดินเลขที่ดิน 107 ติดกับถนนซอยป่าไม้อุทิศ อีกทั้งไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองหรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า ที่ดินเลขที่ดิน 111 ถูกแบ่งแยกเป็นถนนซอยป่าไม้อุทิศเมื่อใด อันจะถือว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองขณะยังเป็นที่ดินแปลงใหญ่ก่อนถูกแบ่งแยกนั้นเป็นที่ดินที่ติดกับทางสาธารณะ ที่ดินของโจทก์ทั้งสองจึงไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ที่จะต้องเรียกร้องเอาทางเดินจำเป็นได้เฉพาะของที่ดินเลขที่ดิน 106 และ 107 ที่ได้แบ่งแยกเท่านั้น เมื่อที่ดินของโจทก์ทั้งสองเป็นที่ดินที่มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ โจทก์ทั้งสองจะเรียกร้องขอผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ทั้งสองจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตามมาตรา 1349 วรรคสาม นั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ที่ดินเลขที่ดิน 106 และ 107 ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารปลูกบนที่ดินจนเต็มพื้นที่ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ หากจะใช้ทางดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ขณะที่ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเป็นการสะดวกมากกว่า เพราะที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นที่ดินว่างเปล่า และมีระยะทางออกสู่ทางสาธารณะที่ใกล้ที่สุด จึงสะดวกและเหมาะสมที่จะทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุด โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องขอทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้
          มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า มีเหตุสมควรให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 2 ปีละเท่าใด เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดทางจำเป็นกว้าง 3.5 เมตร ตลอดแนวเขตที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทางทิศตะวันออกจนถึงถนนรัตนาธิเบศร์ตามแผนที่สังเขป ซึ่งเป็นทางผ่านสู่ทางสาธารณะที่ใกล้และสะดวกแก่โจทก์ทั้งสอง ถือว่าโจทก์ทั้งสองได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากแล้ว เมื่อคำนึงถึงว่าถนนรัตนาธิเบศร์เป็นถนนขนาดใหญ่ เดินทางได้โดยสะดวก เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ย่อมทำให้ที่ดินที่ติดกับถนนสายนี้มีราคาสูง แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทน แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงินปีละ 50,000 บาท นั้นเป็นค่าทดแทนที่สูงเกินสมควร ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน และเนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคท้าย บัญญัติให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็น ต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ในคราวเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ด้วย แม้ว่าจำเลยที่ 3 จะไม่ได้ให้การและฟ้องแย้งในเรื่องค่าทดแทนไว้ก็ตาม มิฉะนั้นจำเลยที่ 3 ก็คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ ทั้งโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 3 ก็จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้วซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 30,000 บาท ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ทั้งสองใช้ทางจำเป็นไปจนกว่าจะหมดความจำเป็นในการใช้ทาง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ