14 มีนาคม 2559

อายุความมรดก จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก

          ป.พ.พ.มาตรา 1755  อายุความ(มรดก)หนึ่งปีนั้น จะยกขึ้นต่อสู้ได้ก็แต่โดยบุคคลซึ่งเป็นทายาท หรือบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของทายาท หรือโดยผู้จัดการมรดก          

          การฟ้องคดีมรดกต้องฟ้องภายในอายุความมรดก ซึ่งอายุความมรดกมีกำหนดหนึ่งปี นับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกตาย ตามมาตรา 1754 หากฟ้องคดีมรดกเมื่อขาดอายุความแล้ว หากอีกฝ่ายที่ถูกฟ้องต่อสู้เรื่องอายุความก็อาจจะมีผลให้แพ้คดีได้ 
          แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายที่จะยกอายุความมรดกขึ้นอ้างได้นั้น กฎหมายอนุญาตให้กับบุคคล 3 ประเภทเท่านั้น ได้แก่ 1.ทายาท  2.ผู้ที่ชอบจะใช้สิทธิของทายาท และ 3.ผู้จัดการมรดก ส่วนบุคคลอื่นไม่อาจยกอายุความขึ้นต่อสู้คดีได้ 
          
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่‬ 2434/2549  โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. จึงเป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทส่วนของนาง ศ. เมื่อโจทก์ไปขอให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแก่โจทก์แต่จำเลยเพิกเฉย ถือว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
          แม้จำเลยจะเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเพียงผู้เดียวก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกับนาง ศ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท นาง ศ. ยังคงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง และไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยได้เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือที่ดินพิพาทแต่อย่างใด การที่จำเลยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงเป็นการครอบครองไว้แทนนาง ศ. เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย
          โจทก์เป็นบุตรของนาง ศ. ผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของนาง ศ. ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนาง ศ. เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไปไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนาง ศ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้ และโจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกทรัพย์มรดกจากจำเลยผู้ครอบครองแทน กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาตัดฟ้องโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
          สรุป ตามข้อเท็จจริงในคำพิพากษาศาลฎีกาข้างต้น เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นทายาทชั้นบุตรในฐานะทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 (1) มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดก ส่วนจำเลยเป็นเพียงพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก เป็นทายาทโดยธรรมในลำดับถัดลงไป ย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1630 วรรคหนึ่ง

01 กุมภาพันธ์ 2559

การสำคัญผิดในคุณสมบัติอาคารพิพาทตามสัญญาจะซื้อขายว่าก่อสร้างถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้าง นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 วรรคหนึ่ง

          การทำนิติกรรมสัญญานั้น จะต้องเป็นไปโดยถูกต้องตรงตามเจตนาแท้จริงของคู่สัญญานั้นๆด้วย ถ้าไม่ตรงตามเจตนาแล้ว ก็อาจมีผลให้สัญญาตกเป็นโมฆะหรือโมฆียะได้
          ป.พ.พ. มาตรา 156  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ
          ความสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ ความสำคัญผิดในลักษณะของนิติกรรม  ความสำคัญผิดในตัวบุคคลซึ่งเป็นคู่กรณีแห่งนิติกรรมและความสำคัญผิดในทรัพย์สินซึ่งเป็นวัตถุแห่งนิติกรรม เป็นต้น
          ป.พ.พ.มาตรา 157  การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สินเป็นโมฆียะ
          ความสำคัญผิดตามวรรคหนึ่ง  ต้องเป็นความสำคัญผิดในคุณสมบัติซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวการอันเป็นโมฆียะนั้นคงจะมิได้กระทำขึ้น

          จำเลยทราบว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตตั้งแต่ปี 2549 แต่จำเลยก็ไม่เคยคิดจะไปขออนุญาตเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้อง ซึ่งหากจำเลยมีความสุจริตใจประสงค์จะขายอาคารพิพาทตามสภาพที่มีการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาต ก็ควรแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย เพราะหากโจทก์เข้าครอบครองเป็นเจ้าของอาคารแล้วโจทก์อาจถูกระงับการใช้อาคารพิพาทหรือถูกปรับในอัตราค่าปรับสูง และการไปขออนุญาตเพิ่มเติมภายหลังเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียเวลา พฤติการณ์ที่โจทก์ยอมทำสัญญาจะซื้อขายตามที่ฝ่ายจำเลยจัดทำขึ้นซึ่งไม่มีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องไปจัดการเรื่องใบอนุญาตก่อสร้างให้ถูกต้องก่อน และไม่มีการกำหนดเบี้ยปรับทั้งที่โจทก์ต้องวางเงินมัดจำจำนวนมาก เชื่อว่าโจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าอาคารพิพาทก่อสร้างไม่ถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้างก่อนทำสัญญาจะซื้อขาย การทำสัญญาจะซื้อขายของโจทก์จึงเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติอาคารพิพาทว่าก่อสร้างถูกต้องตามใบอนุญาตก่อสร้าง นิติกรรมที่โจทก์ทำไปจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วจึงมีผลเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  19696/2557)

25 กันยายน 2558

ทรัพย์ส่วนกลาง (อาคารชุด) ระเบียงหน้าห้องชุด ถ้าผู้ขาย(เจ้าของโครงการ)ไม่มีความประสงค์จะให้ใช้ระเบียงดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ก็ไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลาง


           พ.ร.บ.อาคารชุดฯ

          “ทรัพย์ส่วนกลางหมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม

          มาตรา 15  ทรัพย์สินต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลาง
          (1) ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด
          (2) ที่ดินที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (3) โครงสร้าง และสิ่งก่อสร้างเพื่อความมั่นคงและเพื่อการป้องกันความเสียหายต่อตัวอาคารชุด
          (4) อาคารหรือส่วนของอาคารและเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (5) เครื่องมือและเครื่องใช้ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (6) สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด
          (7) ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน
          (8) สำนักงานของนิติบุคคลอาคารชุด
          (9) อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อหรือได้มาตามมาตรา 48 (1)
          (10) สิ่งก่อสร้างหรือระบบที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัยหรือสภาพแวดล้อมภายในอาคารชุด เช่น ระบบป้องกันอัคคีภัย การจัดแสงสว่าง การระบายอากาศ การปรับอากาศ การระบายน้ำ การบำบัดน้ำเสีย หรือการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
          (11) ทรัพย์สินที่ใช้เงินตามมาตรา 18 ในการดูแลรักษา

          มาตรา 48  มติเกี่ยวกับเรื่องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด
          (1) การซื้ออสังหาริมทรัพย์หรือรับการให้อสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าภาระติดพันเป็นทรัพย์ส่วนกลาง
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
          ทรัพย์ส่วนกลาง (อาคารชุด)  ระเบียงหน้าห้องชุด ถ้าไม่มีความประสงค์จะใช้ระเบียงดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลางโดยตกลงให้ผู้ซื้อเป็นผู้ที่จะใช้ประโยชน์ในระเบียงดังกล่าวผู้เดียวเท่านั้น ดังนี้ระเบียงหน้าห้องชุดพิพาทที่ผู้ขาย(เจ้าของโครงการ) ทำสัญญาโอนให้แก่ผู้ซื้อจึงไม่ใช่ทรัพย์ในอาคารชุดที่มีไว้เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องชุดทั้งหมดหรือทุกคนในตัวอาคารใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน จึงไม่เป็นทรัพย์ส่วนกลาง
          โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดโดยโจทก์ตกลงจะซื้อห้องชุดจากจำเลย 1 ห้องพร้อมระเบียงหน้าห้องชุดเพื่อโจทก์ใช้พักผ่อนและจำเลยได้แสดงเจตนาชัดแจ้งในขณะทำสัญญาว่าจำเลยไม่มีความประสงค์จะใช้ระเบียงดังกล่าวเป็นทรัพย์ส่วนกลาง โจทก์เป็นผู้ที่จะใช้ประโยชน์ในระเบียงดังกล่าวเท่านั้นดังนี้ ระเบียงพิพาทที่จำเลยทำสัญญาโอนให้แก่โจทก์จึงไม่ใช่ทรัพย์ในอาคารชุดที่มีไว้เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องชุดทั้งหมดหรือทุกคนในตัวอาคารใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน ไม่เป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 15(4)(6) และ(7) ข้อตกลงจะซื้อจะขายระเบียงพิพาทจึงหาต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่
           เรื่องนี้ โจทก์ทำสัญญาจะซื้อห้องชุดกัน 1 ห้องพร้อมระเบียงหน้าห้องชุดนั้นด้วยกับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ แต่ต่อมาปรากฏว่า จำเลยแจ้งว่าไม่สามารถให้โจทก์ใช้ประโยชน์ในระเบียงเป็นการส่วนตัวได้ เพราะจดทะเบียนเป็นทรัพย์ส่วนกลางแล้ว โจทก์จึงฟ้องคดีนี้
           โดย ... โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2534 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดกับโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในระเบียงซึ่งตั้งอยู่ชั้นที่ 24 เนื้อที่ประมาณ 34ตารางเมตร เพื่อการพักผ่อนได้แต่เพียงผู้เดียว ในราคารวมทั้งสิ้น 6,435,870 บาท และตกลงขายที่จอดรถในโครงการให้โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 1 คัน ในราคา 120,000 บาท โจทก์ตกลงซื้อ และในวันทำสัญญาจำเลยจัดให้โจทก์เข้าทำสัญญากับบริษัทพีคเดคคอร์เรเตอร์ จำกัด เป็นผู้ตกแต่งห้องชุดและควบคุมงานเป็นเงิน 2,758,230 บาท โดยอ้างว่าเพื่อให้การก่อสร้างและติดตั้งวัสดุอุปกรณ์ตกแต่งห้องชุดเป็นไปตามมาตรฐาน โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยตรงตามงวดเป็นเงิน 3,091,500 บาท และได้ชำระค่าตกแต่งห้องชุดเป็นเงิน 1,273,500 บาท ระหว่างรอรับโอนพร้อมชำระเงินส่วนที่เหลือ จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ไม่อาจให้โจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในระเบียงเป็นส่วนตัวได้ เพราะได้จดทะเบียนเป็นทรัพย์ส่วนกลางแล้ว โจทก์ถือว่าจำเลยผิดสัญญา จึงบอกเลิกสัญญาแก่จำเลย จำเลยต้องรับผิดคืนเงินพร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 5,385,358.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 4,365,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
          จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่าจำเลยไม่ได้ผิดสัญญา การที่จำเลยไม่สามารถให้โจทก์ใช้ระเบียงได้แต่เพียงผู้เดียวเนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินไม่ดำเนินการให้อ้างว่าเป็นข้อตกลงที่ขัดต่อพระราชบัญญัติอาคารชุด เพราะระเบียบถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลาง จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินให้โจทก์ และเงินที่โจทก์ชำระแก่บริษัทพีคเดคเคอร์เรเตอร์ จำกัด เป็นการชำระแก่บุคคลอื่น จำเลยไม่ต้องรับผิด ข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยถือเป็นสาระสำคัญและมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นโมฆะ เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินไปขอให้ยกฟ้อง
          คดีนี้ถึงที่สุดโดยคำพิพากษาศาลฎีกา
           ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยโจทก์ตกลงซื้อห้องชุด ชั้นที่ 24 จากจำเลยจำนวน 1 ห้อง พร้อมระเบียงหน้าห้องชุดเพื่อโจทก์ใช้เป็นที่พักผ่อนได้เพียงผู้เดียว รายละเอียดปรากฎตามสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุด แผนผังและบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย จ.5 
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า บันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นโมฆะหรือไม่โดยจำเลยฎีกาว่า ตามข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทในคดีนี้ จำเลยทำสัญญาจะขายห้องชุดพร้อมระเบียบให้แก่โจทก์ด้วย ระเบียงที่ว่านี้จำเลยไม่สามารถโอนให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติอาคารชุดพ.ศ. 2522 มาตรา 15(4)(6) และ (7) ข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงตกเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า  ตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 15 บัญญัติ ว่า "ทรัพย์สินต่อไปนี้ให้ถือเป็นทรัพย์ส่วนกลาง (4) อาคารหรือส่วนของอาคารและเครื่องอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน (6) สถานที่ที่มีไว้เพื่อบริการส่วนรวมแก่อาคารชุด (7) ทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน" จะเห็นได้ว่า ทรัพย์ที่จะถือว่าเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามที่ระบุไว้ในมาตรา 15 (4) (6) และ (7) ดังกล่าว ข้างต้นจะต้องเป็นทรัพย์ในอาคารชุดที่มีไว้เพื่อให้ผู้ที่เป็นเจ้าของห้องชุดทั้งหมดหรือทุกคนในตัวอาคารใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน  แต่ระเบียงพิพาทที่จำเลยขายพร้อมห้องชุดให้แก่โจทก์ตามสัญญาในคดีนี้ ปรากฎว่าจำเลยได้แสดงเจตนาชัดแจ้งในขณะทำสัญญาว่า จำเลยไม่มีความประสงค์จะให้ระเบียงพิพาทเป็นทรัพย์ส่วนกลาง และผู้ที่จะใช้ประโยชน์ในระเบียงพิพาทคงมีเฉพาะโจทก์เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นระเบียงพิพาทที่จำเลยทำสัญญาตกลงโอนให้แก่โจทก์ตามบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย จ.5 จึงไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลาง ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดตามที่จำเลยอ้างแต่ประการใด นอกจากนี้นาย ศ. เจ้าหน้าที่ที่ดินผู้รับจดทะเบียนอาคารชุดคดีนี้พยานจำเลยก็ยังได้ตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า ในการจดทะเบียนอาคารชุดโดยให้ระเบียงทุกชั้นเป็นทรัพย์ส่วนกลางนั้นเป็นความประสงค์ของจำเลย หากจำเลยไม่ประสงค์จะให้ระเบียงทุกชั้นเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ทางสำนักงานที่ดินก็สามารถจดทะเบียนอาคารชุดให้แก่จำเลยได้ ซึ่งก็เป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าระเบียงของแต่ละชั้นไม่ใช่ทรัพย์ส่วนกลางตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ส่วนที่นาย ศ.ตอบคำถามติงทนายจำเลยว่าโดยปกติทั่วไป หากอาคารชุดแต่ละชั้นมีห้องพักหลายห้อง ระเบียงจะถือเป็นทรัพย์ส่วนกลาง ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของสำนักงานที่ดิน แต่ระเบียบดังกล่าวมิใช่กฎหมาย จึงไม่จำต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด จากเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วจะเห็นได้ว่าบันทึกข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ห้องชุดเอกสารหมาย จ.5 หาได้ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายหรือขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นโมฆะ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน 
          # คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5672/2539 

09 กันยายน 2558

นิติบุคคลอาคารชุด มีสิทธิเพียงจัดการ ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น หาได้มีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่


พ.ร.บ.อาคารชุดฯ
มาตรา 4  ในพระราชบัญญัตินี้
อาคารชุดหมายความว่า อาคารที่บุคคลสามารถแยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนๆ โดยแต่ละส่วนประกอบด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ส่วนบุคคลและกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์ส่วนกลาง
            “ทรัพย์ส่วนบุคคลหมายความว่า ห้องชุด และหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย
            “ห้องชุดหมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่แยกการถือกรรมสิทธิ์ออกได้เป็นส่วนเฉพาะของแต่ละบุคคล
ทรัพย์ส่วนกลางหมายความว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม
.................
มาตรา 33 วรรคสอง "นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการ และดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้"

ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ทรัพย์ส่วนบุคคล ว่า ห้องชุดและหมายความรวมถึงสิ่งปลูกสร้าง หรือที่ดินที่จัดไว้ให้เป็นของเจ้าของห้องชุดแต่ละราย และให้ความหมายของคำว่า ทรัพย์ส่วนกลาง ว่า ส่วนของอาคารชุดที่มิใช่ห้องชุด ที่ดินที่ตั้งอาคารชุด และที่ดินหรือทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอาคารชุดพิพาทซึ่งถือเป็นทรัพย์ส่วนบุคคล โจทก์ในฐานะเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย จำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1336 แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางของอาคารชุดพิพาทและออกระเบียบข้อบังคับในอันที่จะจัดการและดำเนินการเพื่อความปลอดภัยดูแลกิจการต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของร่วมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอาคารชุดก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุดฯ มาตรา 33 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า นิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมติของเจ้าของร่วมภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิเพียงจัดการ ดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางและมีอำนาจกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามมติของเจ้าของร่วมเท่านั้น หามีอำนาจกระทำการใดเป็นการรบกวนสิทธิหรือเสื่อมความสะดวกในการใช้ทรัพย์ส่วนบุคคลของเจ้าของร่วมไม่ แม้จะได้ความว่าโจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางต่อจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก หาใช่ออกระเบียบเพื่อบังคับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยที่ 1 กำหนดโดยหลีกเลี่ยงการที่จะฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมายไม่ การที่จำเลยที่ 1 ติดตั้งประตูนิรภัยบริเวณด้านหน้าลิฟต์และบันไดของอาคารชุด โดยกำหนดระเบียบว่าจะส่งมอบบัตรผ่านประตูให้แก่เจ้าของร่วมที่ไม่ติดค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเท่านั้น การออกระเบียบข้อบังคับเช่นนี้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในการใช้สอยทรัพย์ส่วนบุคคล จึงไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้ทั้งเป็นการรบกวนสิทธิและทำให้เสื่อมความสะดวกแห่งสิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าของร่วมในอันที่จะเข้าไปใช้ทรัพย์ส่วนบุคคล กรณีถือว่าเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในผลแห่งละเมิดที่ตนทำขึ้น (คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8512/2553)

31 สิงหาคม 2558

การขอเลิกการรับบุตรบุญธรรม ต้องทำโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/31 วรรคสาม ถ้ามิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม

          ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โจทก์เป็นผู้เลี้ยงดูผู้เยาว์มาตั้งแต่เกิดเนื่องจากมารดาผู้เยาว์ฝากโจทก์เลี้ยงดู ต่อมาบิดามารดาผู้เยาว์ทอดทิ้งผู้เยาว์ โจทก์และสามีจึงเลี้ยงดูผู้เยาว์จนถึงอายุ 4 ปี โจทก์เห็นว่าผู้เยาว์จะต้องเข้าโรงเรียน จึงปรึกษาจำเลยทั้งสองเพื่อให้ผู้เยาว์ได้เรียนหนังสือ จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องขอรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม และศาลมีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดา จำเลยทั้งสองจึงจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรม
          ต่อมา โจทก์ซึ่งเป็นผู้เคยรับเลี้ยงดูผู้เยาว์ยื่นคำฟ้องขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้เยาว์เลิกจากการเป็นบุตรบุญธรรมของจำเลยทั้งสอง และให้โจทก์เป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งขอให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งห้ามโจทก์เกี่ยวข้องกับผู้เยาว์อีกต่อไป ต่อมาโจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันมีสาระสำคัญว่า จำเลยทั้งสองอนุญาตให้โจทก์รับผู้เยาว์ไปพักอาศัยที่บ้านโจทก์ได้โดยให้อยู่ในดุลพินิจของจำเลยทั้งสอง และโจทก์ต้องไม่ทำให้กระทบกระเทือนการเรียนของผู้เยาว์ หากฝ่ายใดผิดนัดต้องชำระค่าเสียหายแก่อีกฝ่ายครั้งละ 10,000 บาท  ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  
          ต่อมา จำเลยทั้งสองยื่นคำขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของโจทก์ อ้างว่าโจทก์ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ และโจทก์ยื่นคำขอตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่ยอมให้ผู้เยาว์ไปพักกับโจทก์และยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำขอของจำเลยทั้งสองที่ขอออกหมายบังคับคดี จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้าน
          ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์แล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
          โจทก์อุทธรณ์
          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
          โจทก์ฎีกา
          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีหรือไม่ เห็นว่า การฟ้องขอเลิกการรับบุตรบุญธรรมกรณีที่ได้ผู้รับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมโดยศาลมีคำสั่งแทนคำยินยอมของบิดามารดา กระทำได้ต่อเมื่อมีคำสั่งศาลโดยคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/31 วรรคสาม โจทก์เป็นเพียงผู้ที่เคยเลี้ยงดูผู้เยาว์มาก่อนเท่านั้น จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียที่จะนำคดีมาฟ้องการเลิกรับบุตรบุญธรรม การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคดีไว้พิจารณา และมีคำพิพากษาตามยอมจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยทั้งสองขอออกหมายบังคับคดีและศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีให้ ก็ไม่มีผลให้คำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายกลับมาเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย หมายบังคับคดีที่ออกมาก็ไม่สามารถใช้บังคับคดีได้ ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เมื่อฟังว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา
          พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
          (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8608/2557)