คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2566 ผู้ขายส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ซื้อแล้ว ผู้ซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองโดยชอบ เมื่อผู้ขายไปตัดกุญแจบ้านที่ผู้ซื้อครอบครองโดยพลการ จึงเป็นความผิดฐานบุกรุก

 

          แม้คําพิพากษาคดีแพ่งของศาลชั้นต้นจะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคําวินิจฉัยดังกล่าวที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านก็ตาม แต่ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ ศาลยังต้องใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกันซึ่งตามสัญญามีข้อความว่าจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา จำเลยทำหนังสือระบุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมและโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจพลการที่จะเข้าไปตัดแม่กุญแจที่โจทก์ ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้แม่กุญแจของจำเลยคล้องแทน ทำให้โจทก์เข้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบดีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยังเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกแล้ว เมื่อผลแห่งคําพิพากษาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปตัดกุญแจประตูบ้าน เป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว คําพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
          -------------------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 358, 360, 364, 365

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362 และ 364 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำคุก 6 เดือน

          จำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

          จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน ภ.บ.ท.5 เลขสำรวจที่ 114/2553 เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 5 ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 62 ที่เกิดเหตุ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2553 โจทก์ทำสัญญาซื้อที่ดินและบ้านหลังดังกล่าวจากจำเลยในราคา 440,000 บาท ก่อนโจทก์ซื้อที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจากจำเลยนั้น จำเลยเป็นหนี้กู้ยืมเงินนางปัญญรัตน์ ต่อมานางปัญญรัตน์ฟ้องจำเลยบังคับชำระหนี้โดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดเฉพาะบ้านเลขที่ 62 ที่เกิดเหตุออกขายทอดตลาด โดยมีนายสุทธินันท์ บุตรนางปัญญรัตน์เป็นผู้ซื้อได้ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งโจทก์มิได้ร้องขัดทรัพย์ไว้ โจทก์จึงดำเนินคดีจำเลยในข้อหาฉ้อโกง แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง ปี 2557 โจทก์ซื้อบ้านที่เกิดเหตุคืนจากนายสุทธินันท์ ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายกับขอให้ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุกับห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ และดำเนินคดีอาญากับจำเลยเป็นคดีนี้
          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2562 โจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 แสดงว่าโจทก์ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีภายในสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 แล้ว แม้โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากวันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเกินกว่าสามเดือน แต่เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องภายในสิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ เพราะสิทธิฟ้องคดีของโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 95 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาบุกรุกตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า แม้คำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ม.181/2563 ของศาลชั้นต้น จะมีผลผูกพันโจทก์จำเลยซึ่งเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้จำเลยไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยดังกล่าวที่ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่ปัญหาว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ ศาลยังต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงจนแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย โดยยังมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์โต้แย้งของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดข้อหาบุกรุกหรือไม่ จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏอยู่แล้วในสำนวนและเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยคดีให้จำเลยได้เอง จึงไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิจารณาและพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 โดยศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เข้าครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ เนื่องจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายกัน ซึ่งตามสัญญาดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยยอมส่งมอบทรัพย์สินที่ขายให้แก่โจทก์ในวันทำสัญญา และในวันเดียวกันจำเลยทำหนังสือระบุให้โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นคนเขียนข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจและสัญญาซื้อขายดังกล่าวด้วยลายมือตนเอง ดังนั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุโดยชอบ หากจำเลยเห็นว่าสัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมและโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุก็เป็นกรณีที่โจทก์จำเลยโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่ง จำเลยชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมายเพื่อรักษาสิทธิของตน ไม่มีอำนาจโดยพลการที่จะเข้าไปตัดแม่กุญแจที่โจทก์ใช้ปิดประตูหน้าบ้านออกแล้วใช้แม่กุญแจของจำเลยคล้องแทนทำให้โจทก์เข้าบ้านที่เกิดเหตุไม่ได้ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจโทณรงค์ชัย พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบางมะเดื่อพยานอีกปากหนึ่งของโจทก์ว่า ก่อนหน้านี้โจทก์แจ้งความจำเลยในทำนองเดียวกันกับคดีนี้ครั้งสองครั้งและทุกครั้งที่พยานไปตรวจสถานที่เกิดเหตุไม่พบจำเลยพักอาศัยอยู่ ส่วนโจทก์เข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่บูรณะซ่อมแซมบ้านและปลูกต้นไม้ จากการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนราษฎร์พบว่าจำเลยย้ายภูมิลำเนาออกจากบ้านที่เกิดเหตุแล้ว และจำเลยสัญญาว่าจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านที่เกิดเหตุให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งถ้อยคำของพยานปากดังกล่าวที่เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเหตุคดีนี้และเป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเข้าข้างหรือเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายใด และเชื่อว่าเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ตามพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวจึงบ่งชี้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทราบดีว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ การที่จำเลยยังเข้าไปในที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุจนถูกโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ถือว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดข้อหาบุกรุกแล้ว ส่วนที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ เพราะไม่เคยขายหรือสละการครอบครองให้แก่โจทก์ และจำเลยไม่ได้ตัดกุญแจประตูบ้านของโจทก์นั้น เมื่อผลแห่งคำพิพากษา วินิจฉัยว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ จำเลยเข้าไปตัดแม่กุญแจประตูบ้าน อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์และคดีถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันคู่ความ จำเลยไม่อาจอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นได้เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (2) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยต้องกันมาว่าจำเลยกระทำความผิดข้อหาบุกรุกและพิพากษาลงโทษมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
          ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า มูลเหตุคดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์จำเลยต่างโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิตามสำเนาหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านที่เกิดเหตุ โดยจำเลยอ้างว่า สัญญาซื้อขายดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์กับจำเลย ทั้งจำเลยก่อความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินเพียง 2,150 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรับผิดในค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแล้ว ตามพฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงมากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน การรอการลงโทษจำคุกเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี จึงน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่าที่จะจำคุกจำเลยไปเสียทีเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและสำนึกในความผิดที่ได้กระทำเห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
          อนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 เป็นบทบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ซึ่งโจทก์ต้องระบุมาในฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 19 วรรคสอง แต่เมื่อคำขอให้ลงโทษจำเลยท้ายฟ้องของโจทก์ไม่ระบุมาตรา 362 จึงต้องถือว่าโจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยตามบทมาตราดังกล่าว ศาลย่อมไม่มีอำนาจลงโทษจำเลยตามมาตรา 362 เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 มานั้น เป็นการไม่ชอบ
          และคดีนี้เป็นคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 252 บัญญัติว่า ในคดีอาญาทั้งหลายห้ามมิให้ศาลยุติธรรมเรียกค่าธรรมเนียมนอกจากที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาอุทธรณ์ 360 บาท จากจำเลย จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาทั้งสองประการดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4
           พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 ให้ลงโทษปรับจำเลย 8,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้ โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรมีกำหนด 20 ชั่วโมง กับให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 คืนค่าใช้จ่ายในการส่งสำเนาอุทธรณ์ 360 บาท ให้แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

          (สมชาย เงารุ่งเรือง-สมเจริญ พุทธิประเสริฐ-โสภณ พรหมสุวรรณ)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 227 วรรคหนึ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 84 (2), 145 วรรคหนึ่ง