(1) คดีแพ่งระหว่างผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา 19 หรือตามกฎหมายอื่น กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ
(2) คดีแพ่งตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
(3) คดีแพ่งที่เกี่ยวพันกันกับคดีตาม (1) หรือ (2)
(4) คดีแพ่งที่มีกฎหมายบัญญัติให้ใช้วิธีพิจารณาตามพระราชบัญญัตินี้
ความหมายของคำว่าผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ ตามมาตรา 3
“ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย
“ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า ผู้ประกอบธุรกิจตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบการตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย
คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับคดีผู้บริโภค
***ในกรณีมีปัญหาว่าคดีใดเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ให้ประธานศาลอุทธรณ์เป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่กระทบถึงกระบวนพิจารณาใด ๆ ที่ได้กระทำไปก่อนที่จะมีคำวินิจฉัยนั้น (ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551) >>>>รวมคำวินิจฉัยของประธานศาลอุทธรณ์ว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มีหลักการที่แตกต่างจากหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หลายประการ ดังนี้
1. ในกรณีของนิติกรรมการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหลักฐานหรือทำสัญญาเป็นหนังสือ เช่น เรื่องของการกู้ยืมเงิน ซึ่งโดยหลักหากมิได้ทำนิติกรรมหรือหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดเป็นสำคัญ จะฟ้องร้องบังคับคดีมิได้ หรือในกรณีของการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่ทำไม่ถูกต้องตามแบบ โดยหลักสัญญานั้นต้องตกเป็นโมฆะ คือเสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้สิทธิผู้บริโภคฟ้องคดีได้โดยที่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือไม่ได้ทำสัญญาตามแบบที่กฎหมายกำหนด หรือทำสัญญาไม่ถูกต้องตามแบบ
2. ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจมีข้อตกลงหรือการกระทำต่างๆ ที่ตกลงจะให้หรือจัดหาให้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มิได้กำหนดไว้ในสัญญา พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดให้ข้อตกลงดังกล่าวนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจด้วย เพื่อป้องกันการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก และกำหนดให้ผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการมีข้อตกลงนั้นได้ด้วย
3. กำหนดอายุความฟ้องคดีให้ยาวขึ้น คือ ในกรณีความเสียหายที่เกิดจากการสะสมของสารในร่างกายของผู้บริโภคที่ต้องใช้เวลานานในการแสดงอาการ สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้ภายในอายุความ 3 ปี นับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด แต่ไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย และในระหว่างมีการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจอยู่นั้น กฎหมายให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ในระหว่างนั้น จนกว่าจะมีการบอกเลิกการเจรจา
4. กำหนดให้ก่อนผู้บริโภคยื่นฟ้องคดี ผู้บริโภคอาจยื่นคำขอฝ่ายเดียวเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้ผู้ประกอบธุรกิจกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนฟ้องคดี เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเป็นส่วนรวมได้ โดยผู้บริโภคต้องชี้แจงข้อเท็จจริงที่มีเหตุที่จะฟ้องได้ และมีเหตุเพียงพอที่จะทำให้เชื่อว่าสมควรให้มีคำสั่งอนุญาตให้คุ้มครองชั่วคราวได้ และหากศาลอนุญาตแล้ว คำสั่งศาลก็มีผลบังคับแก่ผู้ประกอบการได้ในทันที
5. กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง
การฟ้องและการพิจารณาคดีผู้บริโภค
มีหลักสำคัญดังนี้ คือ
1. ให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนผู้บริโภคได้อีกทางหนึ่ง
2. ผู้บริโภคสามารถฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเป็นคดีผู้บริโภค โดยยื่นฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ และในทางกลับกันหากผู้บริโภคถูกผู้ประกอบธุรกิจฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคสามารถยื่นคำให้การเป็นหนังสือหรือจะให้การด้วยวาจาก็ได้
3. การฟ้องคดีของผู้บริโภค ให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม (แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด หรือค่าธรรมเนียมอันเกิดจากการเรียกรองค่าเสียหายเกินสมควร)
4. เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและเที่ยงธรรม จึงให้เจ้าพนักงานคดีให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้บริโภคตามสมควรในการยื่นคำฟ้อง โดยเฉพาะการตรวจสอบสถานะความเป็นนิติบุคคลและภูมิลำเนาของผู้ประกอบธุรกิจ การตรวจหาข้อมูลและรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งจำเป็นแก่การฟ้องคดี
5. มีวิธีการดำเนินคดีที่รวดเร็ว จะเห็นได้จากที่กำหนดให้ศาลนัดพิจารณาโดยเร็วและออกหมายเรียกผู้ประกอบธุรกิจให้มาศาลเพื่อกำหนดนัดเพื่อการไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยานในวันเดียวกัน โดยให้พิจารณาติดต่อกันไม่เลื่อนคดี เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นอันมิอาจก้าวล่วงได้ แต่ให้เลื่อนได้ครั้งละไม่เกิน 15 วัน และสุดท้ายกำหนดให้การพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นที่สุดในชั้นอุทธรณ์
6. กระบวนการดำเนินคดี จะไม่เคร่งครัดมากนัก เช่น จะมุ่งเน้นให้มีการไกล่เกลี่ย และศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความทำการแก้ไขข้อผิดระเบียบหรือผิดหลงได้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขที่ศาลเห็นสมควรได้
7. ในกรณีที่ต้องมีการพิสูจน์ข้อเท้จจริงเกี่ยวกับการผลิต การออกแบบ หรือการประกอบสินค้า หรือการให้บริการ ซึ่งศาลเห็นว่าอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบธุรกิจแต่เพียงฝ่ายเดียว กำหนดให้ภาระการพิสูจน์ในประเด็นนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายผู้ประกอบธุรกิจนั้น
8. การทำคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในคดีนี้นั้น ศาลจะมีอำนาจดังนี้
- ให้ศาลมีอำนาจพิพากษาคดีเกินคำขอของโจทก์ที่เป็นผู้บริโภคได้ หากปรากฏว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการเยียวยาความเสียหาย
- สงวนสิทธิในการแก้ไขคำพิพากษาในภายหลังได้ ถ้าเป็นกรณีที่เกี่ยวกับความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย ที่ยากที่ศาลจะทราบจำนวนความเสียหายที่แท้จริงในขณะทำการพิพากษาคดีได้ ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
- มีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใดๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคได้ เช่นในกรณีของที่ผู้บริโภคฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับความชำรุดบกพร่องของสินค้าและศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องนั้นปรากฏอยู่ในขณะส่งมอบสินค้านั้น และไม่อาจแก้ไขปัญหานั้นหรืออาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคที่นำสินค้านั้นไปใช้ได้ ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการซ่อมแซมสินค้านั้นได้
9. และเมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีผู้บริโภคคดีหนึ่งแล้ว หากภายหลังมีการฟ้องผู้ประกอบธุรกิจรายเดียวกันเป็นคดีผู้บริโภคอีก โดยมีข้อเท็จจริงที่พิพาทกันเป็นอย่างเดียวกับในคดีก่อนที่ศาลได้วินิจฉัยไว้แล้วในคดีก่อนนั้น ศาลในคดีผู้บริโภคคดีหลังอาจมีคำสั่งให้ถือตามข้อเท็จจริงในคดีก่อนนั้น โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานใดๆ ก็ได้
หมายเหตุ** อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายให้ทางเลือกในการฟ้องและการดำเนินคดีไว้ แต่การฟ้องร้องและดำเนินคดีในชั้นศาล หากไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพทางด้านกฎหมาย การดำเนินคดีนั้นก็อาจเกิดความผิดพลาดหรือบกพร่อง และอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับคดีของตนเองได้ ดังนั้น ในการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้บริโภคจึงควรใช้ผู้มีวิชาชีพทนายความเป็นผู้ดำเนินคดีให้ก็จะเป็นการป้องกันความผิดพลาดหรือความบกพร่องได้ในระดับหนึ่ง