ฟ้องซ้ำ

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

          มาตรา 148  "คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
         (1) เมื่อเป็นกระบวนพิจารณาชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
         (2) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งได้กำหนดวิธีการชั่วคราวให้อยู่ภายในบังคับที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกเสียได้ตามพฤติการณ์
         (3) เมื่อคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นให้ยกฟ้องเสียโดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ ในศาลเดียวกันหรือในศาลอื่น ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ"

         บทบัญญัติในเรื่องฟ้องซ้ำนั้นกฎหมายมุ่งหมายที่จะให้เรื่องที่คู่ความเคยพิพาทกันมาจนคดีถึงที่สุดแล้ว ไม่อาจเอากลับมาว่ากล่าวกันใหม่ ซึ่งกรณีที่ห้ามมิให้คู่ความรื้อฟ้องร้องกันเป็นคดีใหม่หรือถือว่าเป็นฟ้องซ้ำนั้น ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ 3 ประการ
          1. คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว
          2. คู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกัน
          3. ประเด็นที่วินิจฉัยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน


          1. คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดเมื่อใดนั้น ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 147 กล่าวคือ
          มาตรา 147  "คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งตามกฎหมายจะอุทธรณ์หรือฎีกาหรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ไม่ได้นั้น ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่ได้อ่านเป็นต้นไป
          คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ซึ่งอาจอุทธรณ์ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ได้นั้นถ้ามิได้อุทธรณ์ ฎีกาหรือร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่ระยะเวลาเช่นว่านั้นได้สิ้นสุดลง ถ้าได้มีอุทธรณ์ ฎีกา หรือมีคำขอให้พิจารณาใหม่ และศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาหรือศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีเรื่องนั้นใหม่ มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 132 คำพิพากษาหรือคำสั่งเช่นว่านั้นให้ถือว่าเป็นที่สุดตั้งแต่วันที่มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
          คู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจยื่นคำขอต่อศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนั้น ให้ออกใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นได้ถึงที่สุดแล้ว"
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2773/2529   คดีก่อน จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับพวกเป็นจำเลย ในข้อหาว่า โจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ที่โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษาของโจทก์ และโจทก์ได้สั่งให้ จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างเนื่องจากโจทก์ได้ทำการออกแบบแปลนตัวอาคารที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชนโดยความผิดพลาดของโจทก์เองและเรียกร้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 จึงมีประเด็นว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ และจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เท่าใด ศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสิทธิบอกกล่าวเลิกสัญญากับโจทก์ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในคดีนี้ในข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อสร้างฉบับเดียวกันโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับคดีก่อนว่าโจทก์ได้ออกแบบแปลนตัวอาคารผิดพลาดโดยเหตุที่ที่ดินบางส่วนทางด้านทิศใต้ของบริเวณที่ดินที่ก่อสร้างเป็นของเอกชน ต่อมาโจทก์ได้จัดซื้อที่ดินของเอกชนดังกล่าวแล้ว จึงขอให้จำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ก่อสร้างและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้ มูลคดีทั้งสองคดีนี้มีว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษาของโจทก์ โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเรื่องก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษารุกล้ำที่ดินของเอกชนเป็นข้อสำคัญของคดีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 กรณีมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตาม มาตรา 148 เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ คดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้ศาลชั้นต้นจะรอคดีนี้ไว้เพื่อฟังผลของคดีก่อนจนถึงที่สุดก็ตาม
          จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1493/2524   เดิม จ.เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้เงินกู้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จ.อุทธรณ์และถึงแก่กรรมในระหว่างอุทธรณ์โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ จ.โดยคำสั่งศาลยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่เกินกำหนดหนึ่งปีศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตและจำหน่ายคดีจากสารบบความคำพิพากษาศาลชั้นต้นย่อมถึงที่สุดนับแต่วันที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสองเมื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ฉบับเดียวกันนั้นอีก เช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นคู่ความรายเดียวกับเจ้ามรดก และคดีทั้งสองมีประเด็นอย่างเดียวกันซึ่งจะต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
          ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อนี้ชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 และฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 คือ ถ้าคำพิพากษาในคดียังไม่ถึงที่สุด จะต้องเป็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 เท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 124/2546  คดีแรกโจทก์เคยฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิรวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสแล้วทำสัญญาประนีประนอมยอมความว่าจะนำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสินสมรสไปขายให้แก่ผู้มีชื่อในราคา 2,000,000 บาท ภายใน 1 เดือนแล้วนำเงินมาแบ่งกัน โดยถือว่าเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย ศาลพิพากษาตามยอมต่อมาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ โดยอ้างว่าผู้ซื้อเปลี่ยนใจไม่ซื้อจึงมีการทำข้อตกลงเพื่อจัดการสินสมรสกันใหม่ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเพื่อจัดการสินสมรสใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยให้โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามข้อตกลงใหม่เป็นคดีที่สอง คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่าสัญญาประนีประนอมยอมความคดีแรกเป็นสัญญามีเงื่อนไขไม่สามารถสำเร็จผล อันมีผลให้สัญญาประนีประนอมยอมความตกไปไม่มีผลบังคับส่วนข้อตกลงจัดการสินสมรสกันใหม่เป็นสัญญาระหว่างสมรส เมื่อคู่สมรสบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสจึงเป็นอันสิ้นผล โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสเดียวกับที่ฟ้องคดีแรก ดังนี้ เมื่อสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมเช่นนี้ คำพิพากษาตามยอมในคดีแรกเป็นอันตกไปไม่มีผลบังคับเช่นเดียวกับสัญญาประนีประนอมยอมความ ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าคดีแรกได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกับคดีนี้ ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแรกอันจะต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

          2. เป็นคู่ความรายเดียวกัน หมายถึง คู่ความรายเดียวกันกับต้องพิพากษาหรือมีคำสั่งในภายหลัง คู่ความรายเดียวกันนี้แม้ในคดีหลังจะกลับฐานะจากโจทก์เป็นจำเลยหรือจากจำเลยเป็นโจทก์ก็ยังถือเป็นคู่ความรายเดียวกัน นอกจากนี้ผู้สืบสิทธิของคู่ความจากคู่ความเดิมก็ถือว่าอยู่ในความหมายของคู่ความเดิมเช่นกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3873/2531   คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ ส. และพวกยกกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดเนื้อที่ 79 ตารางวาให้แก่โจทก์ ศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ได้แสดงเจตนารับประโยชน์ตามสัญญาและครอบครองตลอดมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ต่อมาโจทก์มาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีกโดยอาศัยเหตุว่าโจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงเดียวกันกับคดีเดิมซึ่งมีเนื้อที่ดินทั้งหมด 114.4 ตารางวา โจทก์ฟ้องเรียกในคดีเดิม 79 ตารางวา ยังขาดอีก 35.4 ตารางวา จำเลยที่ 1 โอนที่ดินส่วนของโจทก์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินให้แก่โจทก์ ดังนี้ประเด็นสำคัญในคดีก่อนกับคดีนี้คือที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ มีจำนวนเท่าใด คดีก่อนศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความและการครอบครองปรปักษ์จนโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน คดีถึงที่สุดแล้วโจทก์จะกลับมารื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ในคดีนี้ในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันอีกไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 จะมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน แต่ก็เป็นผู้สืบสิทธิมาจากจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นคู่ความเดียวกับคดีนี้ จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
          สำหรับกรณีที่คดีหลังมีคู่ความหลายราย อาจมีบางคนที่เป็นคู่ความเดิมและบางคนเป็นคู่ความรายใหม่ ก็ถือว่าฟ้องซ้ำเฉพาะคู่ความเดิม คู่ความใหม่ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2521   จำเลยเคยฟ้อง ร. เจ้าของรวมที่พิพาทคนหนึ่งหาว่าบุกรุกที่ดินและในคดีดังกล่าว ร. ได้อ้างสิทธิความเป็นเจ้าของร่วมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ จึงถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์เพื่อต่อสู้กับจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกแทนโจทก์และโจทก์ร่วมในคดีนี้ (ในฐานะเจ้าของรวม) ด้วย การที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำคดีนี้ซึ่งมีประเด็นข้อโต้เถียงอย่างเดียวกันกับคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้อง ร. ในคดีก่อนว่าที่พิพาทเป็นของฝ่ายใดมาฟ้อง เท่ากับเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
          การที่เป็นคนเดียวกัน แต่การเข้ามาเป็นคู่ความในคดีสำหรับคดีก่อนและคดีหลังเข้ามาในฐานะต่างกัน เช่น ฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ ดังนี้ ไม่ถือว่าเป็นคู่ความรายเดียวกัน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2495   ในคดีก่อน โจทก์ฟ้องเรียกกรรมสิทธิ์ที่ดินจากจำเลย ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์มาฟ้องมารดาจำเลยเป็นคดีอย่างเดียวกันอีกได้  และในคดีหลังนี้แม้จำเลยจะเข้ามาเป็นคู่ความในฐานะเป็นผู้ปกครองเด็กผู้เยาว์ (คือเป็นจำเลยร่วม)  ถือว่ามิใช่คู่ความในคดีเดิม  คดีจึงไม่ต้องห้ามตาม  ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา  148



       
          3. ประเด็นที่วินิจฉัยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน คือ คำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดในคดีแรกได้วินิจฉัยในเนื้อหาเรื่องที่ฟ้องร้องแล้ว และประเด็นที่ศาลวินิจฉัยในภายหลังนั้น อาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับประเด็นที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีแรก
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 666/2530  คดีก่อนถึงที่สุดโดยศาลวินิจฉัยว่าโจทก์ยังไม่ได้มอบอำนาจให้บ. ฟ้องคดีแทน บ. ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเรื่องหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ให้ชำระหนี้โจทก์เหมือนคดีก่อนได้อีก ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148 เพราะในคดีก่อนศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5757/2531  คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยให้รื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินแปลงพิพาท โจทก์ทำสัญญาประนอมยอมความกับจำเลยยอมรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินแปลงพิพาท ย่อมมีผลเท่ากับโจทก์ยอมรับว่าที่พิพาททั้งแปลงเป็นของจำเลย การที่โจทก์มายื่นฟ้องว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองที่ดินแปลงพิพาทบางส่วนมาก่อนจำเลยฟ้องขับไล่ โจทก์แล้วหาได้ไม่ เพราะมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงพิพาทอีก ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2006/2526   ศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ไว้แล้วเห็นว่าเป็นฟ้องซ้ำ จึงเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับฟ้องเป็นไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ เมื่อโจทก์อุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำฟ้องของโจทก์ต้องห้ามตามกฎหมาย แต่ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดียังไม่เป็นการถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ได้
          ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีก่อน โจทก์จำเลยได้ตกลงกันถึงเขตที่ดินราชพัสดุที่โจทก์จำเลยเช่าและเรื่องหลังคาเรือนจำเลยว่าไม่รุกล้ำเข้าไปในส่วนที่โจทก์เช่า คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โจทก์จะกล่าวอ้างในคดีนี้อีกว่าจำเลยทำหลังคารุกล้ำเข้าไปในที่ดินราชพัสดุที่โจทก์เช่า ซึ่งเป็นการกระทำก่อนมีการฟ้องคดีก่อนย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตามมาตรา 148
          เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องแล้ว ไม่ว่าศาลจะสั่งคำฟ้องประการใดจำเลยย่อมเป็นคู่ความ และในกรณีที่โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง แม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ จำเลยก็มีสิทธิแก้อุทธรณ์ได้มิใช่เป็นเรื่องระหว่างศาลกับโจทก์เท่านั้น ศาลอุทธรณ์มีอำนาจสั่งให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยได้
          ในคดีที่คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยคดีโดยเหตุใดก็ดี หรือกรณีที่โจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามเนื้อหาที่ฟ้อง หรือกรณีที่พยานที่นำมาสืบรับฟังไม่ได้ หรือศาลสั่งงดสืบพยานโจทก์เพราะความผิดหรือความบกพร่องของโจทก์ เช่น ไม่มีพยานมาศาลโดยไม่มีเหตุผลอ้างได้ เป็นกรณีที่ถือว่าศาลได้วินิจฉัยเนื้อหาแห่งคดีแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1220/2495 (ป)  ในคดีก่อนศาลชี้ขาดแล้วว่า เอกสารกู้ที่ฟ้องไม่ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้อง ไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐาน จึงพิพากษายกฟ้อง โจทก์ได้เอาอากรแสตมป์ถูกต้องแล้วมาฟ้องเรียกเงินกู้นี้จากจำเลยใหม่ โดยอ้างว่าเอกสารสัญญากู้ซึ่งมีแสตมป์ครบนั้นเป็นหลักฐานในการฟ้องใหม่ เช่นนี้ เป็นการที่โจทก์เอาพยานหลักฐานซึ่งครั้งหนึ่ง ต้องห้ามไม่รับฟังแล้วนั้นกลับมาอีกครั้งหนึ่ง ขอให้รับฟังและขอให้กลับใช้พยานหลักฐานนั้นชี้ขาดว่ามีการกู้  จึงเป็นการฟ้องซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1081/2549  คดีก่อนเป็นคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายค่านายหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าโล่ที่จำเลยสัญญาว่าจะมอบให้ และค่าปรับเงินเดือนเพิ่มพร้อมทั้งออกหนังสือรับรองเกี่ยวกับการทำงานให้โจทก์ ระหว่างการพิจารณาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่านายหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม คงพิจารณาคดีต่อไปเฉพาะประเด็นเรื่องค่าโล่และค่าปรับเงินเดือนเพิ่ม จึงเป็นการยกคำฟ้องของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับค่านายหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีไปแล้ว เมื่อไม่มีการอุทธรณ์คัดค้าน ข้อพิพาทในเรื่องค่านายหน้าและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์ฟ้องในคดีแพ่งดังกล่าว จึงเป็นอันยุติเพราะฟ้องเคลือบคลุม ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่เป็นเนื้อหาแห่งคดีข้อพิพาทเรื่องค่านายหน้าจึงมิได้อยู่ในกระบวนพิจารณาในคดีแพ่งดังกล่าวต่อไปแล้วการที่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในเวลาต่อมา โดยจำเลยยอมจ่ายเงินให้โจทก์ 36,000 บาท ซึ่งน้อยกว่าค่าโล่และค่าปรับเงินเดือนเพิ่มที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยชำระเป็นเงิน 5,000 บาท และ 66,000 บาท รวมกันโดยไม่ระบุเป็นค่าอะไร และไม่มีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าการประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อระงับข้อพิพาทในเรื่องค่านายหน้าที่ศาลยกฟ้องเพราะฟ้องเคลือบคลุมไปแล้วด้วยแต่อย่างใด แม้ศาลแรงงานกลางและพิพากษาตามยอมไปแล้ว ก็ถือไม่ได้ว่าได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องค่านายหน้าระหว่างโจทก์จำเลยไปแล้ว จึงไม่ต้องห้ามไม่ให้โจทก์นำค่านายหน้ามาฟ้องเป็นคดีนี้ ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2532  คดีก่อนจำเลยทั้งสามกล่าวหาโจทก์ว่าละเลยไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดก ไม่รายงานแสดงบัญชีการจัดการและไม่แบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกผู้ตาย ให้ถอนโจทก์ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย คดีถึงที่สุดแล้วคดีนี้โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสามว่าละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก มิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ ไม่ทำรายงานแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งปันมรดกให้เสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา จำเลยทั้งสามไม่สามารถเป็นผู้จัดการมรดก คดีก่อนกับคดีนี้จึงมีประเด็นข้อพิพาทคนละอย่างคนละเหตุกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 685/2546   คดีก่อนโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากธนาคารจำเลยฐานละเมิด ซึ่งมีสาเหตุมาจากประเด็นข้อโต้เถียงว่าโจทก์ชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วหรือไม่ โดยมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจดทะเบียนถอนจำนองด้วย แต่ศาลมีคำพิพากษายกคำขอที่ให้จดทะเบียนถอนจำนองเนื่องจากโจทก์ยังมีภาระดอกเบี้ยค้างชำระ จึงฟ้องบังคับให้จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองไม่ได้ และแม้ว่าศาลในคดีก่อนจะวินิจฉัยว่าโจทก์ชำระหนี้ตามที่จำเลยทวงถาม ซึ่งย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยได้รับชำระดอกเบี้ยครบถ้วนแล้วแต่ศาลก็ได้กล่าวต่อไปว่า การที่จำเลยเพิ่งจัดทำบัญชีคู่ขนานขึ้นมาเองในภายหลังโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบว่ามีความถูกต้องเพียงใด หาอาจนำขึ้นมาเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดของจำเลยไม่ อันเป็นการแสดงว่าโจทก์ชำระหนี้ที่เหลือในส่วนดอกเบี้ยครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งเป็นเพียงการชี้ถึงความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่แจ้งหนี้ส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยอ้างว่าคิดผิดให้โจทก์ทราบ หาได้วินิจฉัยว่าโจทก์ชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้วแต่อย่างใดไม่ ส่วนคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ก็วินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่าโจทก์ยังมีดอกเบี้ยค้างชำระแก่จำเลยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นนี้เพราะฎีกาไม่แจ้งชัดดังนั้นข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลล่างว่าโจทก์ชำระหนี้แก่จำเลยยังไม่ครบถ้วน และเมื่อปรากฏว่าหลังจากมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้วโจทก์ไม่เคยชำระหนี้จำนองให้แก่จำเลยอีก ประเด็นที่ว่าโจทก์ชำระหนี้จำนองครบถ้วนแล้วหรือไม่จึงเป็นประเด็นเดียวกับในคดีก่อน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4636/2549  คดีนี้แม้โจทก์จะอ้างมูลเหตุว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันเช่นเดียวกับคดีก่อน แต่โจทก์อ้างด้วยว่าหลังจากมีคำพิพากษาในคดีก่อนจำเลยทั้งสามไม่ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ โจทก์ติดตามยึดรถคืนได้ในสภาพชำรุด ความเสียหายในคดีนี้เกิดขึ้นภายหลังจากศาลมีคำพิพากษาในคดีก่อนแล้ว คำขอให้บังคับจำเลยทั้งสามในคดีนี้จึงต่างจากคำขอบังคับในคดีก่อน และมิใช่ประเด็นที่คำพิพากษาในคดีก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน และมิใช่กรณีจะไปว่ากล่าวในชั้นบังคับคดีในคดีก่อนได้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8418/2550   ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์จำเลยตามคำฟ้องในคดีนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งแยกที่ดินเป็นสัดส่วนกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมคดีถึงที่สุดในคดีก่อนที่ให้โจทก์และจำเลยมีสิทธิในที่ดินคนละครึ่งของจำนวนเนื้อที่ดินทั้งหมดทั้งแปลง ส่วนจะเป็นทางทิศใดจะไปตกลงกันในภายหลัง ทั้งคำขอบังคับในคดีนี้ก็ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของในที่ดินส่วนที่แบ่งแยกเป็นของโจทก์แต่เพียงผู้เดียว แตกต่างกับคำขอบังคับในคดีก่อนที่ขอให้บังคับจำเลยใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของร่วมกับจำเลยในโฉนดที่ดิน คำฟ้องของโจทก์คดีนี้กับคดีก่อนมิใช่เรื่องเดียวกันและเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10288/2550   ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ได้ความว่าคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และคู่ความในคดีแพ่งดังกล่าวกับคู่ความคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกัน แต่ในเรื่องประเด็นข้อพิพาทนั้น ประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องก่อนมีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเพราะจัดหาทางภาระจำยอมไม่ได้ภายในกำหนดตามสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ก่อนหรือไม่ ต่างกับประเด็นวินิจฉัยในคดีเรื่องนี้ที่มีอยู่ว่า จำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อขายที่ดินเพราะโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายตามสัญญาให้บุคคลภายนอกไปเสียก่อนหรือไม่ ดังนั้น แม้ประเด็นทั้งสองคดีจะเป็นเรื่องจำเลยทั้งหกผิดสัญญาจะซื้อขายหรือไม่คล้ายๆ กัน แต่ในเมื่อคดีนี้จะต้องวินิจฉัยเรื่องการผิดสัญญาโดยอาศัยเหตุที่ว่าจำเลยทั้งหกโอนขายที่ดินที่ตกลงจะขายให้บุคคลภายนอกไปมิได้อาศัยเหตุเรื่องจำเลยจัดหาทางภาระจำยอมไม่ไดอย่างในคดีก่อน ซึ่งเป็นเหตุใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุเดิม จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 229/2536 ของศาลชั้นต้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2551  โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองเดียวกับคดีก่อนโดยขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการสำนักงานประปาวังสะพุง และเป็นผู้บังคับบัญชาของ ส. รับผิด เพราะไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างเพียงพอในการตรวจสอบและควบคุมดูแลความถูกต้องของเอกสารจ่ายเงิน เป็นเหตุให้ ส. ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ไปหลายครั้ง และจำเลยได้ทำหนังสือรับสารภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์แล้ว และมีคำขอบังคับให้จำเลยชดใช้เงินพร้อมดอกเบี้ยนับจากวันผิดนัด เพียงแต่ในคดีก่อนอ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำละเมิด ส่วนในคดีนี้อ้างว่าการกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงาน คดีก่อนศาลจังหวัดเลยได้พิจารณาเฉพาะประเด็นของมูลละเมิดว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเกิน 1 ปี นับแต่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงพิพากษายกฟ้อง โดยมิได้พิจารณาหรือส่งให้ศาลแรงงานที่มีอำนาจได้พิจารณาในส่วนของมูลแห่งสัญญาจ้างแรงงาน และต่อมาโจทก์ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลจังหวัดเลยต่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้มีคำพิพากษายืน และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้โดยกล่าวอ้างถึงสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งในคดีก่อนมิได้วินิจฉัยถึง จึงมิใช่กรณีคู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
          ถึงแม้ว่าคดีก่อนและคดีหลังจะมีประเด็นอย่างเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อคดีก่อนศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนั้น ฟ้องในคดีหลังจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2551  ในคดีก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วก่อนวันนัดสืบพยาน แต่จำเลยไม่ถอนฟ้องตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ ซึ่งศาลชั้นต้นในคดีก่อนวินิจฉัยในสาระสำคัญว่า ข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวหากจะพึงมีก็เป็นเรื่องที่โจทก์ต้องยกขึ้นว่ากล่าวกับจำเลยเป็นอีกส่วนหนึ่ง ไม่เป็นเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อให้งดการบังคับคดีได้ ดังนี้ คดีก่อนศาลชั้นต้นจึงยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้วจริงหรือไม่ การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยคดีนี้จึงมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วคู่ความเดียวกันมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ทั้งมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา 144 ด้วยเช่นกัน
          คำพิพากษาในคดีก่อนย่อมผูกพันโจทก์ให้ต้องชำระหนี้แก่จำเลยตามที่กำหนดไว้ในคำพิพากษา หากโจทก์ได้โอนรถยนต์ตีใช้หนี้ให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว ก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีก่อนจริงโจทก์ก็ชอบที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดเพื่อความเสียหายใดๆ อันเกิดจากการผิดข้อตกลงชำระหนี้ แต่โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนเป็นอันระงับ ให้งดการบังคับคดี และบังคับให้จำเลยแจ้งถอนการยึดทรัพย์หาได้ไม่ เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะบังคับคดีเพื่อให้ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีก่อนซึ่งผูกพันโจทก์
          ถ้าคดีก่อนกับคดีหลังเป็นคนละประเด็นกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2039/2551  ประเด็นในคดีก่อนมีว่า ผู้ร้องทำละเมิดต่อผู้คัดค้านที่ 1 โดยการทำรั้วในที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 หรือไม่ ส่วนในคดีนี้มีประเด็นว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่จึงเป็นคนละประเด็นกัน ทั้งผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านร่วมมิได้เป็นคู่ความในคดีก่อน การยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินของผู้ร้องในคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน