ประมวลกฎหมายยาเสพติด ภาค ๓ บทกำหนดโทษ ลักษณะ ๑ บทบัญญัติทั่วไป

 

ลักษณะ ๑
บทบัญญัติทั่วไป


          มาตรา ๑๒๔ ผู้ใดกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จะกระทำนอกราชอาณาจักร ผู้นั้นจะต้องรับโทษในราชอาณาจักร ถ้าปรากฏว่า
          (๑) ผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันคนใดคนหนึ่งเป็นคนไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
          (๒) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าวและได้กระทำโดยประสงค์ให้ความผิดเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือรัฐบาลไทยเป็นผู้เสียหาย หรือ
          (๓) ผู้กระทำความผิดเป็นคนต่างด้าวและการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายของรัฐที่การกระทำเกิดขึ้นในเขตอำนาจของรัฐนั้น หากผู้นั้นได้ปรากฏตัวอยู่ในราชอาณาจักร และมิได้มีการส่งตัวผู้นั้นออกไปตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน
          ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๑๐ แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม

           มาตรา ๑๒๕ ในความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น
          (๑) สนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด
          (๒) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่ หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
          (๓) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม
          (๔) รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้กระทำความผิดเพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ
          (๕) ปกปิด ซ่อนเร้น หรือเอาไปเสียซึ่งยาเสพติดหรือวัตถุใด ๆ ที่ใช้ในการกระทำความผิด เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
          (๖) ชี้แนะหรือติดต่อบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิด
          ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

          มาตรา ๑๒๖ ผู้ใดพยายามกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดสำเร็จ

          มาตรา ๑๒๗ ผู้ใดสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้นั้นสมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท
          ถ้าได้มีการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สาหรับความผิดนั้น
          ในกรณีที่การกระทำตามวรรคหนึ่งมีลักษณะเป็นการกระทำขององค์กรอาชญากรรม ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง
          เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คำว่า “องค์กรอาชญากรรม” หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการใด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น

          มาตรา ๑๒๘ ผู้ใดใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังบังคับ ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใดให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น

          มาตรา ๑๒๙ ผู้ใดยอมให้ผู้อื่นใช้ชื่อ เอกสาร หลักฐานของตน ในการเปิด จด หรือลงทะเบียนทำธุรกรรมทางการเงิน ซื้อสินค้าหรือบริการอื่นใด ยอมให้ใช้บัญชีธนาคาร บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ซิมการ์ดโทรศัพท์ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้สิ่งเช่นว่านั้น ซึ่งตนได้เปิด จด หรือลงทะเบียนไว้แล้ว โดยรู้หรือควรรู้ว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๓๐ ผู้ใดรู้หรืออาจรู้ความลับในทางราชการเกี่ยวกับการดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ กระทำด้วยประการใด ๆ ให้ผู้อื่นรู้หรืออาจรู้ความลับดังกล่าว เว้นแต่เป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือตามกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๓๑ ห้ามผู้ใดเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ส่งทางไปรษณีย์ โทรศัพท์ โทรสาร คอมพิวเตอร์ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการสื่อสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศใด ซึ่งถูกใช้หรืออาจถูกใช้เพื่อประโยชน์ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ได้มาโดยคำสั่งอนุญาตของศาลอาญาตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดียาเสพติด เว้นแต่เป็นการเปิดเผยในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล
          ผู้ใดฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำโดยกรรมการ ป.ป.ส. เลขาธิการ ป.ป.ส. รองเลขาธิการ ป.ป.ส. หรือเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ผู้กระทำต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่ง

          มาตรา ๑๓๒ ผู้ใดกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดโดยแต่งเครื่องแบบหรือโดยแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นเจ้าพนักงาน ข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น พนักงานองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานอื่นของรัฐ ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้สาหรับความผิดนั้นอีกกึ่งหนึ่ง

          มาตรา ๑๓๓ ในกรณีที่ผู้กระทำผิดภาคนี้เป็นนิติบุคคล ต้องระวางโทษปรับสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น
          ถ้าการกระทำผิดของนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น

          มาตรา ๑๓๔ บรรดายาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ หรือประเภท ๕ วัตถุออกฤทธิ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะ เครื่องจักรกล หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม