ประมวลกฎหมายยาเสพติด ภาค ๑ การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด ลักษณะ ๔ การตรวจสอบทรัพย์สิน หมวด ๑ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน



ลักษณะ ๔
การตรวจสอบทรัพย์สิน

หมวด ๑
คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน


          มาตรา ๖๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน” ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานกรรมการ อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อธิบดีกรมที่ดิน อธิบดีกรมบังคับคดี อธิบดีกรมศุลกากร อธิบดีกรมสรรพากร และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ส. แต่งตั้งจำนวนสองคนจากบุคคลซึ่งมีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน
          ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. เป็นกรรมการและเลขานุการ และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งในสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้

          มาตรา ๖๔ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
          (๑) เสนอแนะต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงตามมาตรา ๗๑ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ และมาตรา ๘๒
          (๒) ตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและมีคำสั่งตามมาตรา ๖๘
          (๓) วินิจฉัยว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา ๗๓
          (๔) มีมติให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ตามมาตรา ๗๓
          (๕) วางระเบียบเกี่ยวกับการสั่งตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๘ ระเบียบเกี่ยวกับการยุติการตรวจสอบทรัพย์สินและการคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ชั่วคราวตามมาตรา ๗๑ และระเบียบเกี่ยวกับการเก็บรักษาทรัพย์สิน การนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด การนำทรัพย์สินไปใช้ประโยชน์ และการประเมินค่าเสียหายและค่าเสื่อมสภาพตามมาตรา ๗๕
          (๖) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อปฏิบัติตามที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมอบหมาย
          (๗) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน
          คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินตามมาตรา ๖๖ หรือเลขาธิการ ป.ป.ส. ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินตาม (๒) ดำเนินการยึดหรืออายัดตาม (๔) หรือมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตาม (๖) ดำเนินการวินิจฉัยทรัพย์สินตาม (๓) แล้วรายงานให้ทราบก็ได้

          มาตรา ๖๕ การประชุมของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
          ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
          การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก เว้นแต่การวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๖๔ (๒) (๓) และ (๔) ให้ถือเสียงสองในสามของกรรมการที่มาประชุม กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

          มาตรา ๖๖ ให้คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินคณะหนึ่งหรือหลายคณะประกอบด้วย อธิบดีอัยการซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมบังคับคดี ผู้แทนกรมศุลกากร ผู้แทนกรมสรรพากร ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสามคนซึ่งประธานอนุกรรมการแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการตรวจสอบทรัพย์สินจากภาครัฐหรือภาคเอกชนเป็นอนุกรรมการ
          ให้ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบทรัพย์สินคดียาเสพติดหรือผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค สำนักงาน ป.ป.ส. แล้วแต่กรณี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ และประธานอนุกรรมการจะแต่งตั้งข้าราชการคนใดคนหนึ่งในสำนักงาน ป.ป.ส. เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้
          ให้นำความในมาตรา ๖๕ มาใช้บังคับแก่การประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ด้วยโดยอนุโลม

          มาตรา ๖๗ ให้นำความในมาตรา ๗ มาตรา ๘ และมาตรา ๙ มาใช้บังคับแก่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินด้วยโดยอนุโลม