ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค ๒ วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ ๒ วิธีพิจารณาวิสามัญในศาลชั้นต้น หมวด ๔ การดำเนินคดีแบบกลุ่ม ส่วนที่ ๑ บททั่วไป




          มาตรา ๒๒๒/๑ ในหมวดนี้
          “กลุ่มบุคคล” หมายความว่า บุคคลหลายคนที่มีสิทธิอย่างเดียวกันอันเนื่องมาจากข้อเท็จจริงและหลักกฎหมายเดียวกัน และมีลักษณะเฉพาะของกลุ่มเหมือนกัน แม้ว่าจะมีลักษณะของความเสียหายที่แตกต่างกันก็ตาม
          “สมาชิกกลุ่ม” หมายความว่า บุคคลใด ๆ ที่อยู่ในกลุ่มบุคคล
          “การดำเนินคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า การดำเนินคดีที่ศาลอนุญาตให้เสนอคำฟ้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงสิทธิของโจทก์และสมาชิกกลุ่ม
          “เจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม” หมายความว่า บุคคลที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

          มาตรา ๒๒๒/๒  เพื่อความเหมาะสมสำหรับคดีบางประเภท หรือเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาหรือการบังคับคดีเป็นไปโดยสะดวก รวดเร็ว และเที่ยงธรรม ประธานศาลฎีกามีอำนาจออกข้อกำหนดใด ๆ ที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้ได้ ดังนี้
          (๑) กำหนดคุณสมบัติ ส่วนได้เสีย รวมตลอดทั้งการได้มาซึ่งสิทธิการเป็นสมาชิกกลุ่มของโจทก์ที่จะมีอำนาจฟ้องคดีแบบกลุ่มได้
          (๒) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม
          (๓) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการแจ้งเรื่องการดำเนินคดีแบบกลุ่มให้สมาชิกกลุ่มทราบ
          (๔) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการนัดพร้อม การแก้ไขคำฟ้องและคำให้การ การดำเนินกระบวนพิจารณาและการรับฟังพยานหลักฐาน ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
          (๕) กำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบังคับคดีและเงินรางวัลของทนายความฝ่ายโจทก์
          (๖) ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับเรื่องที่จำเป็นอื่น ๆ ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม
          ข้อกำหนดนั้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

          มาตรา ๒๒๒/๓  ศาลตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งเว้นแต่ศาลแขวง มีอำนาจในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

          มาตรา ๒๒๒/๔  กระบวนพิจารณาส่วนใดที่มิได้บัญญัติไว้ในหมวดนี้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติในภาค ๑ บททั่วไป และบทบัญญัติในคดีสามัญมาใช้บังคับโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในหมวดนี้
          ในกรณีที่มีการร้องขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มในคดีซึ่งมีกฎหมายกำหนดวิธีพิจารณาความไว้เป็นการเฉพาะ ให้ศาลในคดีนั้นมีอำนาจสั่งให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มและนำวิธีพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

          มาตรา ๒๒๒/๕  ให้มีเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีแบบกลุ่มตามที่ศาลมอบหมาย ดังต่อไปนี้
          (๑) ไกล่เกลี่ยคดีแบบกลุ่ม
          (๒) ตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน
          (๓) บันทึกคำพยาน
          (๔) ดำเนินการให้มีการคุ้มครองสิทธิของคู่ความและสมาชิกกลุ่มทั้งก่อนและระหว่างการพิจารณา
          (๕) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้หรือตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาในการทำหน้าที่ช่วยเหลือนั้น
          ในการปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ ให้เจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและให้มีอำนาจมีหนังสือเรียกบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาให้ข้อมูลหรือให้จัดส่งเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามอำนาจหน้าที่
          หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่มให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา
          ในกรณีที่กฎหมายวิธีพิจารณาความใดบัญญัติให้มีเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการดำเนินคดีไว้เป็นการเฉพาะ ให้เจ้าพนักงานคดีดังกล่าวนอกจากมีหน้าที่ตามกฎหมายนั้นแล้วมีหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ด้วย

          มาตรา ๒๒๒/๖  ผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
          (๑) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโททางกฎหมายหรือปริญญาเอกทางกฎหมาย
          (๒) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมาย เป็นสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภาและได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายตามที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
          (๓) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางกฎหมายและปริญญาในสาขาวิชาอื่นที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดซึ่งไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีและได้ประกอบวิชาชีพตามที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสี่ปี
          ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานคดีแบบกลุ่ม  ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด

          มาตรา ๒๒๒/๗  ในกรณีที่การฟ้องคดีแบบกลุ่มตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา แม้ว่าจะมีการฟ้องเป็นคดีอาญาแล้วก็ตาม ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่มอาจพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องรอให้ศาลคดีอาญามีคำพิพากษาก่อน และหากศาลในคดีอาญาได้มีคำพิพากษาแล้ว
          (๑) ในกรณีที่คำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นได้วินิจฉัยว่าจำเลยได้กระทำความผิด ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่มต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
          (๒) ในกรณีที่คำพิพากษาคดีส่วนอาญานั้นได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น ศาลที่พิจารณาคดีแบบกลุ่มไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา