ประมวลกฎหมายยาเสพติด ภาค ๑ การป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด ลักษณะ ๓ หมวด ๗ มาตรการควบคุมพิเศษ



 หมวด ๗
มาตรการควบคุมพิเศษ


          มาตรา ๕๕ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัยการลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติด และการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด จะกำหนดเขตพื้นที่หนึ่งพื้นที่ใด เพื่อกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ก็ได้
          (๑) ทดลองเพาะปลูกพืชที่เป็นหรือให้ผลผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์ หรืออาจใช้ผลิตเป็นยาเสพติดให้โทษหรือวัตถุออกฤทธิ์
          (๒) ผลิตและทดสอบเกี่ยวกับยาเสพติด
          (๓) เสพหรือครอบครองยาเสพติดตามประเภทและปริมาณที่กำหนด
          การกำหนดพื้นที่และการกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการควบคุมและตรวจสอบการกระทำดังกล่าวด้วย
          ให้การกระทำการในเขตพื้นที่ที่กำหนดในวรรคหนึ่งซึ่งอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมและตรวจสอบ ไม่เป็นความผิด

          มาตรา ๕๖ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอำนาจออกประกาศกำหนดมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการ และประกาศกำหนดให้สถานที่ซึ่งใช้ในการประกอบธุรกิจใด ๆ เป็นสถานประกอบการที่อยู่ภายใต้บังคับของมาตรการดังกล่าว ทั้งนี้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          มาตรา ๕๗ ในกรณีที่เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. พบว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๕๖ หรือพบว่ามีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานประกอบการตามมาตรา ๕๖ หากเจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการดังกล่าวไม่สามารถชี้แจงหรือพิสูจน์ให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. เชื่อได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีแล้ว ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอำนาจสั่งให้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นอีก หรือให้คณะกรรมการ ป.ป.ส. มีอำนาจสั่งปิดสถานประกอบการแห่งนั้นชั่วคราว หรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการสำหรับการประกอบธุรกิจนั้น แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. มีอำนาจดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ การสั่งปิดชั่วคราวหรือสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการต้องไม่เกินครั้งละสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการนั้นทราบคำสั่ง
          ในกรณีที่สถานประกอบการซึ่งถูกสั่งปิดชั่วคราวหรือถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการตามวรรคหนึ่งเป็นสถานประกอบการซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมการประกอบการตามกฎหมายอื่น ให้เลขาธิการ ป.ป.ส. แจ้งให้หน่วยงานซึ่งควบคุมการประกอบการนั้นทราบ และให้หน่วยงานดังกล่าวถือปฏิบัติตามนั้น
          การสั่งปิดชั่วคราวหรือการสั่งพักใช้ใบอนุญาตประกอบการ และการแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการสถานประกอบการทราบตามวรรคหนึ่ง และการแจ้งให้หน่วยงานทราบตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ส. กำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

          มาตรา ๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกำหนดยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต หรือเสพเพื่อการศึกษาวิจัย
          ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด

          มาตรา ๕๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศกำหนดให้วัตถุตำรับใดซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นวัตถุตำรับยกเว้นได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดในกฎกระทรวง
          (๑) มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท ๒ ประเภท ๓ หรือประเภท ๔ อย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่างปรุงผสมอยู่
          (๒) มีลักษณะที่ไม่อาจก่อให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง
          (๓) ไม่สามารถจะแยกสกัดเอาวัตถุออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในวัตถุตำรับนั้นกลับมาใช้ในปริมาณที่จะทำให้เกิดการใช้ที่ผิดทาง และ
          (๔) ไม่ก่อให้เกิดอันตรายทางด้านสุขภาพและสังคมได้
          วัตถุตำรับยกเว้นที่ประกาศตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศเพิกถอนได้เมื่อปรากฏว่าวัตถุตำรับนั้นไม่ตรงลักษณะที่กำหนดไว้

          มาตรา ๖๐ ในการนำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ ประเภท ๒ ประเภท ๔ และประเภท ๕ ต้องมีใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศที่ส่งออกนั้นมาพร้อมกับยาเสพติดให้โทษ แสดงใบอนุญาตดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร ยินยอมให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษ และนำยาเสพติดให้โทษที่นำผ่านมาให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านตรวจสอบยาเสพติดให้โทษที่กำหนดไว้ในประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตามมาตรา ๒๒ (๕) เพื่อทำการตรวจสอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด
          ให้พนักงานศุลกากรเก็บรักษาหรือควบคุมยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งไว้ในที่สมควร จนกว่าผู้ที่นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษจะนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร
          ในกรณีที่ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งไม่นำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันนำเข้า ให้พนักงานศุลกากรรายงานให้เลขาธิการ อย. ทราบ เลขาธิการ อย. มีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้นำผ่านซึ่งยาเสพติดให้โทษนำยาเสพติดให้โทษดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักรภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ออกคำสั่ง ถ้าผู้ได้รับคำสั่งไม่ปฏิบัติตาม ให้ยาเสพติดให้โทษดังกล่าวตกเป็นของกระทรวงสาธารณสุข และให้กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมอบหมายทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์ได้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด

          มาตรา ๖๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติการเกี่ยวกับการควบคุมยาเสพติดตามภาคนี้ มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
          (๑) เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้รับอนุญาตนำเข้าหรือส่งออก สถานที่ผลิต สถานที่จำหน่าย สถานที่เก็บยาเสพติด หรือสถานที่ที่ต้องได้รับอนุญาตตามภาคนี้ ในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตามภาคนี้
          (๒) ยึดหรืออายัดยาเสพติดที่มีไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์สินอื่นใดที่ได้ใช้หรือจะใช้ในการกระทำความผิดตามภาคนี้
          (๓) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา
          พนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ตำแหน่งใด ระดับใด หรือชั้นยศใด จะมีหน้าที่และอำนาจตามที่กำหนดไว้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะต้องได้รับอนุมัติจากบุคคลใดก่อนดำเนินการ ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด

          มาตรา ๖๒ ในการปฏิบัติการของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๑ (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจนำยาเสพติดจากสถานที่นั้นในปริมาณพอสมควรไปเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ และหากปรากฏว่ายาเสพติดใดเป็นยาเสพติดที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ให้ประกาศผลการตรวจสอบหรือวิเคราะห์คุณภาพของยาเสพติดที่นำไปตรวจสอบหรือวิเคราะห์นั้นให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่เห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากเลขาธิการ อย.
          เพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ใช้ยาเสพติด ในกรณีที่ปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อันเชื่อได้ว่ายาเสพติดใดเป็นยาเสพติดที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ยึดหรืออายัดยาเสพติดดังกล่าวไว้ หรือสั่งให้ผู้รับอนุญาตงดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายซึ่งยาเสพติด เรียกเก็บยาเสพติดดังกล่าวกลับคืนมาภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด และอาจสั่งทำลายยาเสพติดดังกล่าวเสียได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา