ประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน


          ลักษณะ ๒ ความผิดเกี่ยวกับการปกครอง

          หมวด ๑ ความผิดต่อเจ้าพนักงาน


          มาตรา ๑๓๖  ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๓๗  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดต่อสู้ หรือขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการต่อสู้หรือขัดขวางนั้น ได้กระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๓๙  ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๔๐  ถ้าความผิดตามมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๓๙ ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธ หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้ากระทำโดยอ้างอำนาจอั้งยี่หรือซ่องโจร ไม่ว่าอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้นจะมีอยู่หรือไม่ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
          ถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักกว่าโทษที่กฎหมายบัญญัติไว้ในสองวรรคก่อนกึ่งหนึ่ง

          มาตรา ๑๔๑  ผู้ใดถอน ทำให้เสียหาย ทำลายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งตราหรือเครื่องหมายอันเจ้าพนักงานได้ประทับหรือหมายไว้ที่สิ่งใด ๆ ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อเป็นหลักฐานในการยึด อายัดหรือรักษาสิ่งนั้น ๆ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๔๒  ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหาย หรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สิน หรือเอกสารใด ๆ อันเจ้าพนักงานได้ยึด รักษาไว้ หรือสั่งให้ส่งเพื่อเป็นพยานหลักฐาน หรือเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ว่าเจ้าพนักงานจะรักษาทรัพย์หรือเอกสารนั้นไว้เอง หรือสั่งให้ผู้นั้นหรือผู้อื่น ส่งหรือรักษาไว้ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๔๓  ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๔๔  ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          มาตรา ๑๔๕  ผู้ใดแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน และกระทำการเป็นเจ้าพนักงาน โดยตนเองมิได้เป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจกระทำการนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          เจ้าพนักงานผู้ใดได้รับคำสั่งมิให้ปฏิบัติการตามตำแหน่งหน้าที่ต่อไปแล้ว ยังฝ่าฝืนกระทำการใด ๆ ในตำแหน่งหน้าที่นั้น ต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้ในวรรคแรกดุจกัน

          มาตรา ๑๔๖  ผู้ใดไม่มีสิทธิที่จะสวมเครื่องแบบหรือประดับเครื่องหมายของเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล หรือไม่มีสิทธิใช้ยศ ตำแหน่ง เครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือสิ่งที่หมายถึงเครื่องราชอิสริยาภรณ์ กระทำการเช่นนั้นเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ




          คำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้อง

          มาตรา ๑๓๖ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558 การที่จำเลยที่ 1 พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า "ปลัดส้นตีน" ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136  แต่ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8016/2556) จำเลยกล่าวถ้อยคำว่า "ตำรวจแม่ง...ใช้ไม่ได้" เพราะรู้สึกว่าเจ้าพนักงานตำรวจไม่ให้ความสำคัญต่อคำชี้แจงของตน ทำให้จำเลยรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงกล่าวตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ อันเป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควรเท่านั้น แต่ไม่ถึงขั้นมุ่งหมายที่จะด่า ดูถูกเหยียบหยามหรือสบประมาทเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 136

 

          มาตรา ๑๓๗ แจ้งความเท็จ

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9556/2558   การที่จำเลยมอบอำนาจให้ทนายความไปยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และแจ้งย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัท บ. ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทโดยอ้างว่าจำเลยได้บอกกล่าวนัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๒/๒๕๕๒ โดยลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์และส่งมอบให้ผู้ถือหุ้น และที่ประชุมวิสามัญมีมติพิเศษให้แก้ไขเพิ่มเติมหนังสือบริคณห์สนธิ และย้ายที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของบริษัทจากเดิมที่ตั้งอยู่กรุงเทพมหานครไปที่จังหวัดราชบุรีโดยไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 และมาตรา 267  (แต่มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4017/2560 ขณะที่จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อประกันหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2556 คดีที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้อง ล. กับจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสองแปลงอยู่ในระหว่างฎีกายังไม่ถึงที่สุด ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามที่ปรากฏในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองในขณะนั้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง ซึ่งก็ตรงตามเอกสารที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ทั้งเจ้าพนักงานที่ดินผู้จดทะเบียนจำนองไม่ได้สอบถามจำเลยที่ 1 ว่ามีคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ และจำเลยที่ 1 มิได้หลอกลวงให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 และ 267)

 

          มาตรา ๑๓๘ ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2557  ขณะเกิดเหตุดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. แต่งกายในเครื่องแบบเจ้าพนักงานตำรวจ พกพาอาวุธปืนสั้นแบบเปิดเผย กำลังมอบหมายให้ อ. ซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานดำเนินการจับกุม ส. โดยทำการใส่กุญแจมือ ส. ได้เพียงข้างเดียว แล้ว ส. ดิ้นรนขัดขืน พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นใครเห็นก็ต้องทราบดีว่า ส. กำลังถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมอยู่ ไม่จำเป็นที่จำเลยจะต้องทราบว่า ส. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาอะไร เชื่อว่าจำเลยทราบดีว่าเจ้าพนักงานตำรวจและ อ. กำลังเข้าจับกุม ส. อยู่ จำเลยเข้ามาช่วย ส. โดยช่วยดึงแขนดาบตำรวจ บ. และดาบตำรวจ ส. จนเป็นเหตุให้ดาบตำรวจ บ. หกล้ม อาวุธปืนสั้นหล่นลงที่พื้น การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่และเป็นการกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสองแล้ว

 

          มาตรา ๑๓๙ ข่มขืนใจเจ้าพนักงาน

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2561  ความผิดตามฟ้องโจทก์ คือ ป.อ. มาตรา 139 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย..." ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างแน่ชัดว่า ผู้ที่จะกระทำความผิดตามมาตรา 139 ดังกล่าว จะต้องกระทำการต่อเจ้าพนักงาน คือข่มขืนใจต่อเจ้าพนักงาน แต่ตามคำบรรยายในฟ้องโจทก์เองและตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กลับฟังได้แน่ชัดว่า จำเลยเพียงขึ้นพูดปราศรัยบนเวทีซึ่งเป็นการพูดต่อผู้ชุมนุมในกลุ่ม นปช. ด้วยกัน จำเลยไม่ได้พูดหรือกระทำการใดต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานแต่อย่างใด แม้จะฟังว่าการพูดปราศรัยดังกล่าวมีการทำข่าวทางสถานีโทรทัศน์หรือสื่อมวลชนสาธารณะอื่นด้วยก็ตาม ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นเรื่องที่จำเลยเป็นผู้จัดให้มีการทำข่าว แต่ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของนักข่าวสื่อมวลชนมาทำข่าวกันเองเท่านั้น ขณะเกิดเหตุที่จำเลยพูดปราศรัยเป็นวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2557 แต่หลังจากนั้นอีก 3 วัน จึงมีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เพื่อปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ซึ่งขณะนั้นไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้เข้าร่วมในการเข้าปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. ดังกล่าวด้วย การชุมนุมเพื่อปิดกั้นดังกล่าวเพื่อไม่ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่เข้าทำงานในสำนักงานอาจเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 139 ได้ เพราะเป็นการกระทำเพื่อไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่การพูดของจำเลยต่อผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ไม่ได้กระทำต่อเจ้าพนักงาน แต่เป็นการกระทำต่อผู้ชุมนุม เป็นการพูดชักชวนปลุกเร้าผู้ชุมนุมให้ไปร่วมกันปิดล้อมสำนักงาน ป.ป.ช. เท่านั้น ที่สำคัญในคำพูดปราศรัยของจำเลยไม่มีข้อความตอนใดที่จำเลยข่มขืนใจเพื่อให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กระทำการอันใดที่จำเลยต้องการเลย ไม่ว่าจะเป็นการอันมิชอบด้วยหน้าที่ หรือการละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จึงไม่ถือว่าเป็นความผิดตามฟ้อง 

          แต่มี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2537  การที่จำเลยพูดขู่เข็ญจะฆ่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้หากไม่ปล่อยไม้ที่ยึด เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยหน้าที่หรือให้ละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นการลงมือกระทำความผิดครบองค์ประกอบความผิดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผล เพราะผู้เสียหายไม่เกรงกลัวไม่ยินยอมปล่อยไม้ที่ยึด ผู้เสียหายจึงไม่ได้ปฏิบัติการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ที่จำเลยข่มขืนใจ จำเลยจึง มีความผิดขั้นพยายามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139ประกอบมาตรา 80

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1266/2530  ตำรวจจะเข้าจับกุมเจ้าของรถเข็นในข้อหานำรถที่ไม่ได้เสียภาษีมาใช้ในทางและกีดขวางทางจราจร จำเลยพูดว่า 'ถ้าจับมีเรื่องแน่' พร้อมกับชี้มือในลักษณะของการข่มขู่ และพวกจำเลยประมาณ 30-40 คนได้เดินเข้าไปหาตำรวจ ทำให้ตำรวจกลัวว่าจำเลยและพวกจะทำร้ายจึงพากันถอยออกไป การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะข่มขืนใจไม่ให้เจ้าพนักงานปฏิบัติตามหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยจึงมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 139 และเมื่อการกระทำต้องด้วยมาตรา 140 ก็ไม่ต้องปรับบทด้วยมาตรา 139 อีก

 

          มาตรา ๑๔๔ ติดสินบนเจ้าพนักงาน 

          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3900/2562  เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ว. ถูกผู้เสียหายกับพวกจับกุมในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย ว. เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท แต่เงินของ ว. อยู่ที่บ้าน ว. ขอโทรศัพท์บอกให้จำเลยนำเงินมาให้ ผู้เสียหายจึงคืนโทรศัพท์ของ ว. แก่ ว. จากนั้น ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยให้จำเลยนำเงินของ ว. มาให้ เมื่อจำเลยเดินทางมาถึงสถานีตำรวจและพบ ว. แล้ว ว. กับจำเลยช่วยกันนับเงินครบ 500,000 บาท และส่งมอบเงินให้แก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจึงจับกุมและแจ้งข้อหาแก่จำเลย และ ว. ว่าร่วมกันทำให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นกรณีที่ ว. เป็นผู้เสนอให้สินบนแก่ผู้เสียหายเอง มิใช่ผู้เสียหายเป็นผู้เรียกร้อง ว. จึงมีเจตนาที่จะกระทำผิดอยู่แล้ว โดยผู้เสียหายไม่มีส่วนก่อให้ ว. กระทำความผิด การที่ผู้เสียหายยินยอมให้โทรศัพท์ถูกยึดไปแล้วคืนแก่ ว. เพื่อให้ ว. โทรศัพท์ติดต่อไปยังจำเลยก็เป็นเพียงขั้นตอนในการรวบรวมพยานหลักฐานในการดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ส่วนการที่ผู้เสียหายไม่ห้าม ว. มิให้กระทำความผิดจึงไม่มีผลทำให้การกระทำของ ว. กับจำเลยไม่เป็นความผิดไปได้ แต่เมื่อจำเลยไม่มีเจตนาจะมีส่วนร่วมกระทำความผิดกับ ว. มาตั้งแต่ต้น คงนำเงินมาให้ตามที่ ว. โทรศัพท์ไปเท่านั้น เมื่อนำเงินมาถึงก็ส่งมอบเงินแก่ ว. มิได้ส่งมอบแก่ผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 86