คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8575/2563 แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างคู่สนทนาแล้วนำมาใช้เป็นพยานหลักฐานในศาล เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226


          การกระทำของ น. ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่เป็นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/1 อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริตชอบด้วยกฎหมายมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลและกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนี้ การรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวกลับจะเป็นผลเสียมากกว่า บันทึกเสียงการสนทนาและข้อความจากการถอดเทปจึงไม่อาจรับฟังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 และ 226/1 การโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำตามฟ้องอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็ยังต้องว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองด้วย เมื่อศาลล่างทั้งสองมิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และ 252 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
          ------------------------------------------------------

          โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 326, 332 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลและขอโทษในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ และมติชน ขนาดกรอบโฆษณากว้าง 4 นิ้ว ยาว 5 นิ้ว ติดต่อกัน 7 วัน โดยให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าใช้จ่าย

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

          โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า บันทึกเสียงการสนทนาตามวัตถุพยาน (แผ่นซีดี) และข้อความจากการถอดเทปเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยชอบหรือไม่ และสามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่า พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวงหรือโดยมิชอบประการอื่น พฤติการณ์ในคดีนี้ นางสาวนิภาภรณ์อ้างว่าเป็นผู้ตระเตรียมและทำการบันทึกเสียงการสนทนาไว้ โดยไม่ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน แม้นางสาวนิภาภรณ์ นายปริญญา และนายเฌอมาวีร์จะกล่าวอ้างว่าเป็นการบันทึกเสียงการสนทนาในการประชุมของจำเลยทั้งสองกับนางสาวนิภาภรณ์ นายปริญญา และนายเฌอมาวีร์ นางกรกานต์และนางสาวมารีเยาะ แต่จำเลยทั้งสองก็ปฏิเสธว่าไม่ได้กล่าวข้อความ ทั้งมิได้มีการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ จึงยังคงมีข้อสงสัยในความถูกต้องแท้จริงของพยานวัตถุนั้นอยู่ แต่ถึงหากจะฟังว่านางสาวนิภาภรณ์ทำการบันทึกเสียงการสนทนาไว้ตามที่อ้าง ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ยินยอมให้มีการบันทึกเสียง การกระทำของนางสาวนิภาภรณ์ที่แอบนำเอาเครื่องบันทึกเสียงมาทำการบันทึกการสนทนาระหว่างจำเลยทั้งสองกับคู่สนทนา โดยจำเลยทั้งสองไม่ทราบว่าขณะที่ตนทำการสนทนาอยู่นั้น การสนทนาได้ถูกบันทึกลงไปในเครื่องบันทึกเสียงเรียบร้อยแล้ว ย่อมเป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองอย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน มิให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงหาพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดาจึงนำไปใช้บังคับแก่กรณีที่เอกชนผู้เสียหายเป็นผู้ได้พยานหลักฐานนั้นมาจากการกระทำโดยมิชอบด้วย ส่วนจะมีเหตุยกเว้นให้สามารถรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบนั้นได้หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ความปรากฏแก่ศาลว่าพยานหลักฐานใดเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบ หรือเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เว้นแต่การรับฟังพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน

         ในการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ด้วย
          (1) คุณค่าในเชิงพิสูจน์ ความสำคัญ และความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น
          (2) พฤติการณ์และความร้ายแรงของความผิดในคดี
          (3) ลักษณะและความเสียหายที่เกิดจากการกระทำโดยมิชอบ
          (4) ผู้ที่กระทำการโดยมิชอบอันเป็นเหตุให้ได้พยานหลักฐานมานั้นได้รับการลงโทษหรือไม่ เพียงใด
          บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเป็นข้อยกเว้นให้ศาลสามารถใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาด้วยวิธีการอันเกิดจากการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน จึงต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี โดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ คดีนี้ โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท อันเป็นการพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และเป็นความผิดอันยอมความได้ พฤติการณ์ของความผิดในคดีจึงมิใช่เรื่องร้ายแรง ที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนโดยส่วนรวม ทั้งในคดีอาญาโจทก์ทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ และศาลต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง โดยจะไม่พิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคหนึ่ง ซึ่งคดีนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยลักษณะแห่งคดียังอยู่ในวิสัยที่โจทก์ทั้งสองสามารถหาพยานหลักฐานด้วยวิธีการอันสุจริต ชอบด้วยกฎหมาย มาพิสูจน์ความผิดของจำเลยทั้งสองได้ การอนุญาตให้รับฟังพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองได้มาจากการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ เท่ากับอนุญาตให้โจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาเพิ่มเติมในส่วนที่ตนนำสืบบกพร่องไว้ เพื่อจะลงโทษจำเลยทั้งสองแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งที่เป็นการละเมิดต่อสิทธิส่วนบุคคลของจำเลยทั้งสองและกระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป ประกอบกับโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้แสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ มิใช่ผู้ที่จะต้องได้รับการลงโทษในทางอาญา หากศาลปฏิเสธไม่รับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ดังนี้ เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ แห่งคดีโดยตลอดแล้ว การรับฟังพยานหลักฐานนั้นมิได้เป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรม แต่กลับจะเป็นผลเสียที่กระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาหรือสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชนมากกว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าบันทึกเสียงการสนทนา และข้อความจากการถอดเทปไม่อาจรับฟังได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 และ 226/1 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า โจทก์ทั้งสองมีนางสาวนิภาภรณ์และนายปริญญาซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองพูดใส่ความโจทก์ทั้งสองด้วยข้อความอันเป็นเท็จ อันเป็นการหมิ่นประมาท ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่าโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองด้วยถ้อยคำอย่างไรนั้น เป็นการไม่ชอบ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า บันทึกเสียงการสนทนา และข้อความจากการถอดเทป เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ไม่อาจรับฟังว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำเบิกความพยานโจทก์ทั้งสอง แล้ววินิจฉัยต่อไปว่าเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งสองด้วยถ้อยคำอย่างไร พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบจึงยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอให้รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องใส่ความโจทก์ทั้งสองต่อบุคคลที่สามอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดังนี้ เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่พอฟังว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท การที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า นางสาวนิภาภรณ์และนายปริญญาเป็นประจักษ์พยาน ซึ่งมีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอแก่การรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสองได้แล้ว เท่ากับเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฎีกาต่อมาในทำนองเดียวกันอีกว่าคำเบิกความของนางสาวนิภาภรณ์ นายเฌอมาวีร์ และนายปริญญาเพียงพอรับฟังได้แล้วว่า จำเลยทั้งสองได้พูดกล่าวหาและใส่ความโจทก์ทั้งสองจริงตามคำฟ้อง โดยไม่ต้องอาศัยบันทึกเสียงการสนทนา และข้อความจากการถอดเทป นั้น เห็นว่า เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน นอกจากนั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่อ้างถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำใส่ความอันเป็นการหมิ่นประมาทตลอดจนฎีกาของโจทก์ทั้งสองที่แสดงรายละเอียดถ้อยคำของจำเลยทั้งสองที่พูดไว้ในแต่ละช่วงเวลา และความหมายของถ้อยคำที่พูด ซึ่งโจทก์ทั้งสองถือว่ามีความหมายเป็นการหมิ่นประมาท เหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัญหาที่ต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติเสียก่อนว่าจำเลยทั้งสองได้กล่าวถ้อยคำตามคำฟ้องนั้นจริงแล้วจึงจะพิจารณาต่อไปว่ามีมูลเหตุจูงใจมาจากอะไร และถ้อยคำที่พูดนั้นมีความหมายว่าอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองที่วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองไม่พอฟังว่า จำเลยทั้งสองกล่าวถ้อยคำตามฟ้องอันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ทั้งสองจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ข้อเท็จจริงนั้นก็ยังต้องว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 9 ด้วย ซึ่งเมื่อคดีของโจทก์ทั้งสองต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์ภาค 9 มิได้รับวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ปัญหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ดังกล่าวมานั้น จึงเป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 9 ทั้งมิใช่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิยกขึ้นอ้างได้ จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น

          พิพากษายืน

          (นิรัตน์ จันทพัฒน์-สมเกียรติ ตั้งสกุล-ศุภมิตร บุญประสงค์)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 326
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 15, 226, 226/1
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 225 วรรคหนึ่ง, 252