คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4196/2566 ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 ป.อ.หมายรวมถึงผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการทำงานอันได้รับการฝึกฝนจากการประกอบอาชีพตามปกติด้วย.

 

          ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 227 ป.อ. มิได้นิยามคำว่า ผู้มีวิชาชีพไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไปตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ซึ่งให้ความหมายของคำว่า วิชาชีพ รวมกับคำว่า วิชา หมายถึงผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ หรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรง หรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ กรณีจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการทำงานอันได้รับการฝึกฝนจากการประกอบอาชีพตามปกติด้วย เมื่อจำเลยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จำเลยจึงเป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญ ในการก่อสร้างซึ่งเกิดจากการทำงานรับเหมาก่อสร้างอันเป็นการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ และเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของบทบัญญัติดังกล่าว

          -------------------------------------------------


         โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227, 238


          จำเลยให้การปฏิเสธ


          ระหว่างพิจารณา นางสาวสิริการย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต


          โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวและภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชัยโรจน์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ 60,000 บาท ค่าปลงศพกับค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตาย 100,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะ 720,000 บาท และค่าเสียหายจากการพังถล่มของบ้าน 2,050,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,930,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2562 จนกว่าจะชำระเสร็จ


          จำเลยให้การคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วม ค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ร่วมเรียกร้องสูงเกินสมควร ขอให้ยกคำร้อง


          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ประกอบมาตรา 238 วรรคแรกและวรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นผู้มีวิชาชีพทำการก่อสร้างอาคารไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์โดยประการที่น่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่บุคคลอื่นและเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา 238 วรรคแรก ประกอบมาตรา 227 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 1,640,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันที่ 30 เมษายน 2562 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม (ที่ถูก แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามขอ) ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ


          จำเลยอุทธรณ์


         ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ


          จำเลยฎีกา


          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังยุติว่า อาคารที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมอาคาร โจทก์ร่วมต้องขออนุญาตก่อสร้างต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยยื่นแบบแปลนและรายการประกอบแบบ พร้อมสำเนาโฉนดที่ดินให้เจ้าพนักงานพิจารณา เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2547 โจทก์ร่วมยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยต่อองค์การบริหารส่วนตำบลอ่าวน้อย โดยแนบแบบแปลนและรายการประกอบแบบ พร้อมสำเนาโฉนดที่ดิน และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2547 โจทก์ร่วมใช้แบบแปลนและรายการประกอบแบบ ในการว่าจ้างให้จำเลยก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุในราคา 850,000 บาท จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างให้โจทก์ร่วมต้องก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุตามแบบแปลนที่โจทก์ร่วมได้รับใบอนุญาต จำเลยก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อประมาณปลายปี 2548 โจทก์ร่วมพร้อมครอบครัวเข้าไปอยู่อาศัยในอาคารดังกล่าว ต่อมาวันที่ 30 เมษายน 2562 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา อาคารที่เกิดเหตุได้วิบัติพังทลายลงมาทั้งหลังทับบุคคลในครอบครัวของโจทก์ร่วมเป็นเหตุให้นายชัยโรจน์ สามีโจทก์ร่วมถึงแก่ความตาย โจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กายสาหัส นางสาวธันย์นิชา นางสาวธันยากานต์ และเด็กหญิงริญญรัตน์ ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายแก่กาย อาคารที่เกิดเหตุได้รับความเสียหายทั้งหมด ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนขอให้วิศวกรโยธาจากสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ร่วมตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ผลการตรวจพบว่าอาคารที่ก่อสร้างจริงไม่ตรงตามแบบแปลนที่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหลายรายการ สาเหตุการพังทลายของอาคารเกิดจากการก่อสร้างตำแหน่งเสาตอม่อและการเสริมเหล็กไม่ตรงตามที่แบบแปลนกำหนด ทำให้การรับน้ำหนักของตัวอาคารเกิดความไม่สมดุลเป็นเหตุให้เกิดการวิบัติของโครงสร้างอาคารพังทลายลงมา พนักงานสอบสวนจึงหมายเรียกจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหาและแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยว่า เป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้าง ซ่อมแซมหรือรื้อถอนอาคาร ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการอันพึงกระทำเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ


          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ให้นิยามของคำว่า “ผู้มีวิชาชีพ” ไว้ จึงต้องถือตามความหมายที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้ความหมายของคำว่า “วิชาชีพ” หมายถึง วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์ และคำว่า “วิชา” หมายถึง ความรู้ ความรู้ที่ได้ด้วยการเล่าเรียนหรือฝึกฝน เช่น วิชาภาษาไทย วิชาช่าง วิชาการฝีมือ ดังนั้น คำว่า “ผู้มีวิชาชีพ” จึงหมายถึง ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ ความชำนาญ หรือผู้ที่มีความรู้ซึ่งอาจได้จากการเล่าเรียนโดยตรงหรือจากการทำงานอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระก็ได้ ผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 จึงไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้ที่ได้เล่าเรียนมาโดยตรงเพื่อเป็นสถาปนิกหรือวิศวกรเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการทำงานอันได้รับการฝึกฝนจากการประกอบอาชีพตามปกติด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยรู้จักกับโจทก์ร่วมมาเป็นเวลาประมาณ 20 ปี และโจทก์ร่วมทราบว่า จำเลยมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งจำเลยเป็นผู้ก่อสร้างบ้านของจำเลยซึ่งอยู่ใกล้กับที่ดินของโจทก์ร่วมที่กำลังจะสร้างบ้าน เมื่อจำเลยเสนอว่าจะเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างบ้านที่เกิดเหตุ โจทก์ร่วมจึงไว้วางใจให้จำเลยก่อสร้างบ้านให้โจทก์ร่วม ประกอบกับจำเลยประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แสดงว่า จำเลยเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการก่อสร้างซึ่งเกิดจากการทำงานรับเหมาก่อสร้างอันเป็นการฝึกฝนในการประกอบอาชีพเป็นปกติธุระ จำเลยจึงเป็นผู้มีวิชาชีพในการก่อสร้างตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 227 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า อาคารที่เกิดเหตุพังทลายลงเพราะการกระทำของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า นายสุวัฒน์มีตำแหน่งวิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกรณีอาคารที่เกิดเหตุพังทลายลง โดยร่วมตรวจสอบอาคารที่เกิดเหตุกับพนักงานสอบสวน และจัดทำผลการตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่มีข้อพิรุธให้สงสัยว่าจะช่วยเหลือหรือปรักปรำฝ่ายใด ผลการตรวจสอบและทำความเห็นของนายสุวัฒน์ได้ความว่าอาคารที่เกิดเหตุมีการก่อสร้างจริงบางส่วนไม่ตรงตามแบบแปลนที่ได้รับใบอนุญาต ดังที่ปรากฏข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบในข้อ 4.1 ถึง 4.5 ตามเอกสารดังกล่าวข้างต้น ฟังได้ว่านายสุวัฒน์เบิกความตามข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบมา การตรวจสอบของนายสุวัฒน์ถือได้ว่าเป็นการนำหลักวิชาการทางด้านวิศวกรรมก่อสร้างมาใช้ตรวจสอบอาคารที่เกิดเหตุหาสาเหตุที่พังทลายลงมิใช่นำเพียงพยานหลักฐานและพยานบุคคลที่ปรากฏในสำนวนชั้นสอบสวนมาตัดสินว่าสิ่งใดจริงหรือเท็จตามที่จำเลยฎีกา ประกอบกับจำเลยฎีการับว่ามีการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุไม่ตรงตามแบบแปลนและรายการประกอบ คำเบิกความของนายสุวัฒน์มีน้ำหนักรับฟังได้ ที่จำเลยฎีกาว่า อาคารที่เกิดเหตุพังทลายลง เพราะสภาพที่ดินมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ด้านทิศใต้มีร่องน้ำเหนือท่อน้ำลอดผ่าน ก่อนที่จะก่อสร้างโจทก์ร่วมไม่ได้ถมดิน และแจ้งให้จำเลยก่อสร้างแบบใช้คานลอย สาเหตุที่ทำให้อาคารที่เกิดเหตุถล่มพังทลายลงจึงมิใช่เพราะการก่อสร้างไม่ตรงตามแบบแปลนตามที่นายสุวัฒน์เบิกความ แต่มีสาเหตุตามเหตุผลของนายประกิตติ ที่ว่า อาคารที่เกิดเหตุสร้างอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เสมอกัน จึงมีการเลื่อนไถลของพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่งของอาคาร ทำให้โครงสร้างพังลง มีฐานรากที่แช่น้ำเป็นเวลานานเช่นบริเวณห้องน้ำอาจเกิดการพังทลายของดิน ทำให้ฐานรากเคลื่อนตัว และดึงโครงสร้างทั้งหมดพังลง การก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบที่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดพลาดในเกณฑ์ปกติซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ และไม่ถึงกับทำให้อาคารทั้งหลังพังทลายลงมา เห็นว่า เมื่อจำเลยเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุ ย่อมทราบดีว่าหากจะเริ่มก่อสร้างต้องตรวจดูสภาพพื้นที่จริงและแบบแปลนที่จะใช้ก่อสร้างว่า สภาพที่ดินมีลักษณะตรงตามแบบแปลนหรือไม่ และหากยังมีเรื่องใดที่ทำให้ที่ดินยังไม่มีความสมบูรณ์ปลอดภัยพร้อมจะก่อสร้างให้ถูกต้องตรงตามแบบแปลน จำเลยต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นเสียก่อน รวมทั้งวัสดุที่จะใช้ในการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปูน เหล็ก และวัสดุอื่น ๆ ต้องใช้ให้ได้ขนาดตามที่แบบแปลนกำหนดไว้ เพราะโจทก์ร่วมได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างตามแบบแปลนที่เจ้าพนักงานพิจารณาแล้ว ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อผู้อยู่อาศัยและผู้อื่น สำหรับปัญหาที่ว่าการก่อสร้างที่ผิดแบบแปลนจะเป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารที่เกิดเหตุถล่มพังลงหรือไม่นั้น นายสุวัฒน์ให้ความเห็นว่า กรณีไม่มีการถมดิน แล้วผู้ก่อสร้างใช้แผ่นพื้นสำเร็จรูปวางบนคาน น้ำหนักจะลงที่คานแล้วถ่ายน้ำหนักลงไปที่เสาตอม่อ แต่การเทพื้นคอนกรีตบนพื้นดินจะทำให้น้ำหนักลงไปที่พื้นดิน และยังเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า หากพื้นที่ก่อสร้างมีความสูงต่ำไม่เท่ากัน ก็นำแบบแปลนและรายการประกอบแบบมาใช้ในการก่อสร้างไม่ได้ แต่ก็มีวิธีแก้ไขคือ การถมดินให้แน่น หรือเขียนแบบใหม่โดยแก้ไขแบบให้มีคานคอดินรับน้ำหนักบริเวณพื้นดินอีกชั้น แต่จำเลยทำการก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุโดยไม่ได้ดำเนินการแก้ไขใด ๆ จำเลยนำสืบอ้างว่าโจทก์ร่วมให้ก่อสร้างได้เลย นายสุวัฒน์ตรวจสอบสาเหตุต่าง ๆ ที่อาจจะมีผลทำให้อาคารที่เกิดเหตุพังทลายลงไว้อย่างครบถ้วน รวมถึงอธิบายชี้แจงได้ว่า บริเวณก่อสร้างจริงไม่มีการถมดินไว้ ก็ทำให้ผู้ก่อสร้างใช้วิธีเทพื้นคอนกรีตตามที่กำหนดไว้ในแบบแปลนไม่ได้ และใช้วิธีวางแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปซึ่งมีน้ำหนักเกินกว่าปกติ เมื่อวางบนคานก็มีผลให้น้ำหนักแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปลงไปที่คานแล้วถ่ายน้ำหนักลงไปที่เสาตอม่อ และพบข้อเท็จจริงว่าคานคอดินใช้เหล็กเส้นในคานคอดินน้อยกว่าในแบบที่ได้รับใบอนุญาตโดยปรากฏตามเอกสารว่าคานคอดินที่เป็นส่วนฐานรากรับน้ำหนักอาคาร (GB2) ตามแบบระบุเสริมเหล็กแกนคานขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 19 มิลลิเมตร จำนวน 10 เส้น แต่ตามข้อเท็จจริงพบว่าคานดังกล่าวซึ่งรับพื้นสำเร็จรูปด้านหน้าอาคารมีเหล็กแกนคานขนาดเพียง 9.25 มิลลิเมตร ต่างกันถึง 10 มิลลิเมตร และมีเพียง 4 เส้น เทียบกับแบบต้องมี 8 ถึง 11 เส้น เหตุที่อาคารวิบัติเนื่องจากเสาตอม่อรับน้ำหนักไม่ไหว ทำให้เสาตอม่อซึ่งตั้งอยู่บริเวณขอบของฐานรากวิบัติไปทางด้านที่ไม่มีการถมดินไว้ ส่วนบริเวณห้องน้ำที่ขุดเสาตอม่อขึ้นมาตรวจสอบนั้น พบว่าเสาตอม่อทรุดไม่มากถึงขั้นวิกฤต และไม่มีน้ำขัง ขุดพื้นดินตรวจสอบฐานรากไม่พบความชื้นผิดปกติและไม่พบน้ำตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใด ส่วนนายประกิตติเป็นเพียงพยานจำเลยที่มาเบิกความโดยไม่ได้ตรวจสภาพอาคารที่เกิดเหตุ การให้ความเห็นพิจารณาจากเอกสารของจำเลยเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างเหตุผลการตรวจสอบของนายสุวัฒน์ได้ ทั้งคำเบิกความบางส่วนยังเบิกความเจือสมกับนายสุวัฒน์ว่าอาคารที่เกิดเหตุไม่ได้ก่อสร้างบนพื้นดิน และมีความยาวของเสาตอม่อมากกว่าที่ขออนุญาต การก่อสร้างอาคารในลักษณะนี้ทำให้คานและเสาต้องรับน้ำหนักมากขึ้น และไม่เฉพาะแต่วิธีการก่อสร้างเท่านั้นที่ผิดจากแบบแปลน แต่นายสุวัฒน์ยังตรวจสอบพบว่าจำเลยใช้วัสดุในการก่อสร้างไม่ตรงตามที่กำหนดในแบบแปลนหลายรายการ โดยเฉพาะวัสดุที่ใช้เพื่อความแข็งแรงในการรับน้ำหนักโครงสร้างเช่นเหล็ก โดยจำเลยเลือกใช้เหล็กให้มีขนาดเล็กลง จำนวนน้อยลง และยังเพิ่มระยะที่ใช้เหล็กให้ห่างมากขึ้น ข้อกำหนดในการออกแบบต้องมีทั้งเหล็กยืนและเหล็กปลอก เพราะส่งผลต่อความแข็งแรงของอาคารคือถ้าเหล็กปลอกมีความถี่มากเท่าใดยิ่งรับน้ำหนักได้มากขึ้นเท่านั้น พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยก่อสร้างอาคารที่เกิดเหตุไม่ตรงตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบที่โจทก์ร่วมได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้างหลายรายการ ดังที่นายสุวัฒน์ตรวจสอบและระบุรายการก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบแปลนไว้ ซึ่งเป็นสาเหตุการพังทลายของอาคารที่เกิดเหตุ มิใช่เป็นเพียงความผิดพลาดในเกณฑ์ปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ตามที่จำเลยฎีกา ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ร่วมมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายเพราะจำเลยและช่างก่อสร้างของจำเลยแนะนำให้โจทก์ร่วมถมดินก่อน แต่โจทก์ร่วมแจ้งให้ก่อสร้างต่อไป และไม่ให้แก้ไขแบบพราะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนให้รับฟังได้เช่นนั้น จึงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายตามที่จำเลยฎีกา ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลย เพราะไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงผลคดีที่วินิจฉัยมาข้างต้น และที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมนั้น เห็นว่า เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น


          อนึ่ง ทางนำสืบจำเลยบางส่วนได้ความเจือสมพยานโจทก์และโจทก์ร่วม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นควรลดโทษให้จำเลยในส่วนนี้


          พิพากษาแก้เป็นว่า ทางนำสืบจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ


          (ธัชพงศ์ วิสุทธิสังวร-อนุสรณ์ ศรีเมนต์-วิชัย ช้างหัวหน้า)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายอาญา ม. 227