คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4171/2566 สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทน, จังหวัดมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือได้ว่านายจ้างหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่ลูกจ้างไม่ได้เข้าทำงานให้แก่นายจ้างมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของนายจ้าง นายจ้างย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง

 

          กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/1 แห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นเรื่องให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม มิใช่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง การที่จำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ ไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยตามกฎกระทรวงดังกล่าว

          พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าจ้างจากนายจ้างต่อเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยหยุดประกอบกิจการเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของจำเลย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หากภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาปิดโรงแรมตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์

          ศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กำหนดให้ปิดโรงแรม มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลทำให้จำเลยปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด โจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงาน โจทก์ทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปสู่การวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาดังกล่าวให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไป

          -------------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2562 และปี 2563 เป็นเงิน 1,673,429.41 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1,027,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย 1,176,373.23 บาท ดอกเบี้ยค่าจ้างค้างจ่ายถึงวันฟ้อง 50,787.39 บาท และค่าชดเชย 1,027,950 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีของค่าจ้างค้างจ่าย ดอกเบี้ยค่าจ้างค้างจ่าย และค่าชดเชย รวมเป็นต้นเงิน 2,255,110.62 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

          จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

          ศาลแรงงานภาค 8 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชย 9,900 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2563 อันเป็นวันเลิกจ้าง เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าจ้างเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นเงิน 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระค่าจ้างเดือนมิถุนายน 2563 เป็นเงิน 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2563 จนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าจ้างวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เป็นเงิน 7,333.40 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้นำเงิน 17,362.18 บาท มาหักจากค่าจ้างในเดือนกรกฎาคม 2563 เสียก่อน และให้ชำระค่าเช่าบ้าน 280,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 6 พฤศจิกายน 2563) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปีให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา หากจำเลยจะชำระเป็นเงินไทยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครตามอัตราขายเงินดอลลาร์สหรัฐในเวลาที่ใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริงให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกิน 31.15 บาท ตามวันฟ้อง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

          โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน

          จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการโรงแรมใช้ชื่อในการประกอบกิจการว่า โรงแรม ส. เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2561 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งผู้จัดการโรงแรม ได้รับค่าจ้างเดือนละ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ และค่าที่พักเดือนละ 40,000 บาท เมื่อปลายปี 2562 ถึงปัจจุบันมีสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งปิดโรงแรมทั้งจังหวัดตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 มีกำหนด 2 เดือน (คำสั่งดังกล่าวกำหนดให้ปิดโรงแรม ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น) ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 โจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญากันตามข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจ้างแรงงานโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยโจทก์จะได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,300 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2563 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ได้รายงานเหตุการณ์น้ำท่วมห้องพักให้กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยทราบ ปล่อยปละละเลยให้สินค้าเน่าเสียและเครื่องดื่มหมดอายุ เป็นการจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการโรงแรมไม่ดูแลจัดการสินค้าที่ใกล้หมดอายุ เป็นการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ทำให้จำเลยขาดความไว้วางใจที่จะให้โจทก์ปฏิบัติงานต่อไป มีเหตุเลิกจ้างโจทก์ได้และไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ แต่จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์โดยคำนวณค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนอัตราสุดท้ายเป็นเงิน 9,900 ดอลลาร์สหรัฐ จำเลยไม่ได้จ่ายค่าเช่าบ้านตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 จนถึงวันที่โจทก์ถูกเลิกจ้างในเดือนกันยายน 2563 รวมเป็นเงิน 280,000 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าเช่าบ้านดังกล่าวแก่โจทก์ ส่วนค่าจ้างนั้นจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563 เดือนละ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ และจ่ายค่าจ้างสำหรับวันที่ 1 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เป็นเงิน 7,333.40 ดอลลาร์สหรัฐ โดยนำเงินค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ 17,362.18 บาท มาหักชำระออกก่อน ส่วนเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจำเลยจ่ายแทนโจทก์แล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า จำเลยยังมิได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยเพื่อยื่นขอรับเงินชดเชยจากประกันสังคมของโจทก์ตามข้อ 7 ของกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 โจทก์ไม่อาจรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจากสำนักงานประกันสังคมได้ จำเลยจึงต้องชำระค่าจ้างเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน 2563 แก่โจทก์ เดือนละ 11,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนค่าจ้างวันที่ 1 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 จำเลยไม่ได้ไต่สวนพยานให้เห็นว่าโจทก์มาทำงานเพียง 1.5 วัน จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันดังกล่าวด้วย ส่วนค่าชดเชยนั้นโจทก์และจำเลยตกลงกันตามข้อตกลงแนบท้ายสัญญาจ้างงาน ว่าโจทก์จะได้รับค่าจ้างเดือนละ 3,300 ดอลลาร์สหรัฐ จึงต้องคำนวณค่าชดเชยจากฐานเงินเดือนอัตราสุดท้ายตามเอกสารดังกล่าว ที่ศาลแรงงานภาค 8 กำหนดค่าชดเชยให้แก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นไม่รับวินิจฉัย

          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเฉพาะประเด็นที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนพฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า กฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 เมษายน 2563 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ข้อ 2 กำหนดว่า ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนตามกฎกระทรวงนี้ และข้อ 4 กำหนดว่า ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยถึงขนาดที่นายจ้างต้องหยุดประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราว และลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานไม่สามารถทำงานได้และไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น ไม่ว่านายจ้างจะหยุดประกอบกิจการเองหรือหยุดประกอบกิจการตามคำสั่งของทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม ให้ลูกจ้างดังกล่าวซึ่งไม่ได้รับค่าจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน ในอัตราร้อยละหกสิบสองของค่าจ้างรายวัน โดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่นายจ้างหยุดประกอบกิจการ แต่ไม่เกินเก้าสิบวัน ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563 หรือตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี คดีนี้แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 (1) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และข้อ 7 (1) ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 1) ลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2563 มีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ตามคำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 อันถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามคำสั่งของทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อหรือกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม แต่กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นเรื่องให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม มิใช่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง ดังนี้ การที่จำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการตามหนังสือรับรองที่แนบท้ายกฎกระทรวงนี้ ตามความในข้อ 7 ของกฎกระทรวงดังกล่าว จึงไม่ได้ทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากจำเลยตามกฎกระทรวงดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์เนื่องจากจำเลยไม่ได้ออกหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะนายจ้างให้ชำระค่าจ้างที่ค้างสำหรับเดือนพฤษภาคม 2563 กับเดือนมิถุนายน 2563 และวันที่ 1 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 อันเป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่จ่ายค่าจ้าง จึงต้องพิจารณาว่าจำเลยผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือไม่ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5 ให้คำจำกัดความของคำว่า สัญญาจ้าง หมายความว่า สัญญาไม่ว่าเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาระบุชัดเจน หรือเป็นที่เข้าใจโดยปริยายซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่บุคคลอีกบุคคลหนึ่งเรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ดังนี้ สัญญาจ้างจึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนอย่างหนึ่ง กล่าวคือ ลูกจ้างมีหนี้ที่ต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่ต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนในการทำงานของลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้แก่นายจ้าง หรืออีกนัยหนึ่งลูกจ้างมีสิทธิได้ค่าจ้างจากนายจ้างต่อเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง จำเลยหยุดประกอบกิจการเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งให้ปิดโรงแรมทั้งจังหวัดเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ถือได้ว่าจำเลยหยุดประกอบกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัย การที่โจทก์ไม่ได้เข้าทำงานให้แก่จำเลยตามสัญญาจ้างแรงงานมิใช่เกิดจากคำสั่งหรือความผิดของจำเลย แต่เกิดจากคำสั่งของทางราชการอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย จำเลยย่อมไม่มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่หากภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลาปิดโรงแรมตามคำสั่งดังกล่าวแล้ว โจทก์กลับเข้าทำงานให้แก่จำเลย จำเลยก็มีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ แต่ศาลแรงงานภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยและรับฟังข้อเท็จจริงว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ลงวันที่ 2 เมษายน 2563 ที่กำหนดให้ปิดโรงแรม มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลให้จำเลยปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และโจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงาน โจทก์เข้าทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะไปสู่การวินิจฉัยประเด็นว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างในช่วงเวลาดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเองได้ จึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 รับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (3) (ข) และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง

          พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 8 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเฉพาะที่ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานภาค 8 ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ 1797/2563 ให้ปิดโรงแรม มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น มีผลให้จำเลยปิดโรงแรมตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และจังหวัดภูเก็ตมีคำสั่งฉบับอื่นให้ปิดโรงแรมต่อไปอีกหรือไม่ เพียงใด จำเลยเปิดกิจการตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด และโจทก์เข้าทำงานให้แก่จำเลยหรือไม่ หากเข้าทำงาน โจทก์เข้าทำงานตั้งแต่เมื่อใดถึงเมื่อใด แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีในประเด็นว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างสำหรับเดือนพฤษภาคม 2563 กับเดือนมิถุนายน 2563 และวันที่ 1 ถึงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ


          (จักษ์ชัย เยพิทักษ์-กิตติพงษ์ ศิริโรจน์-สมจิตร์ ทองศรี)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 243 (3) ข, 252

พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 57/1 วรรคสอง

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 5

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ม. 79/1