คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4129/2566 เบิกความเท็จต้องเป็นข้อสำคัญในคดี, บรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบความผิด

 

          ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 เป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดนำเอาความอันเป็นเท็จไปเบิกความต่อศาลในคดีใดคดีหนึ่งซึ่งความเท็จนั้นต้องเป็นข้อสำคัญแก่คดีที่เข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/ 2562 ของศาลชั้นต้น แล้วจำเลยที่ 3 นำคําเบิกความที่จำเลยที่ 1 เคยเบิกความอันเป็นเท็จอันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ไปยื่นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้น โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าเบิกความรับรองยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด จึงถือว่า ฟ้องโจทก์มิได้บรรยายให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 177 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

          -------------------------------------------------


         โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 177

          ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงชั้นไต่สวนมูลฟ้องรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2557 โจทก์กู้เงิน 12,000,000 บาท จากจำเลยที่ 3 จึงนำที่ดินรวม 5 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นประกันและรับเงินกู้นั้นไป มีโจทก์ลงชื่อเป็นผู้จำนอง และจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้รับจำนองมีข้อความต่อท้ายว่า แทนตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 26 กันยายน 2557 โดยจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานที่ดินที่ดำเนินการจดทะเบียนจำนองรายนี้ ตามหนังสือสัญญาจำนองรวมห้าโฉนด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 จำเลยที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งให้โจทก์ชำระหนี้และบังคับจำนองเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ. 552/2560 หมายเลขแดงที่ ผบ. 2349/2560 ของศาลชั้นต้น ซึ่งพิพากษาบังคับให้โจทก์ชำระหนี้และบังคับจำนอง จากนั้นวันที่ 12 ธันวาคม 2561 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3780/2561 หมายเลขแดงที่ อ.492/2561 ต่อศาลชั้นต้น กล่าวหาว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จว่า จำเลยที่ 3 เบิกความในคดีแพ่งดังกล่าวเป็นเท็จเพราะจำเลยที่ 3 มิได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนรับจำนองที่ดินแทน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 1339/2562 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนรับจำนองที่ดินแทนจริง คำเบิกความของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวไม่เป็นเท็จ หลังจากอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 แล้ว เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2562 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/2562 หมายเลขแดงที่ อ.1969/2562 ต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานแสดงพยานหลักฐานเท็จในการพิจารณาคดีแพ่งนั้นว่า การที่จำเลยที่ 3 อ้างหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมห้าโฉนดดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.2349/2560 นั้น เอกสารดังกล่าวในส่วนข้อความที่ระบุว่า จำเลยที่ 2 ลงนามแทนจำเลยที่ 3 นั้นเป็นเท็จ ซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำตามฟ้องนั้นเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการกระทำของจำเลยที่ 3 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3780/2561 หมายเลขแดงที่ อ.492/2561 ของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) นอกจากนี้โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยในคดีอาญาอีกหลายคดี จนจำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 หมายเลขแดงที่ อ.238/2565 ต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าโจทก์กระทำความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3780/2561 คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1529/2562 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/2562 ต่อศาลชั้นต้นอันเป็นเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จในการไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3780/2561 ว่า โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแก่จำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3 ไม่ได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนรับจำนองแทนโดยในการพิจารณาคดีนี้ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้าเบิกความเป็นพยานยืนยันว่าจำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนรับจำนองที่ดินจากโจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองจริง และจำเลยที่ 3 อ้างส่งคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่เบิกความไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/2562 ของศาลชั้นต้นเป็นพยานเอกสารต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนรับจำนองที่ดินจากโจทก์จริงและจำเลยที่ 2 ได้มอบหนังสือมอบอำนาจให้แก่เจ้าพนักงานที่ดินในวันจดทะเบียนแล้ว การจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1581/2563 หมายเลขแดงที่ อ.1971/2563 ต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จเพราะการที่จำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 นั้นเป็นความเท็จเนื่องจากจำเลยที่ 3 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนรับจำนองแทน ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า เมื่อโจทก์เคยฟ้องจำเลยที่ 3 ว่าเบิกความอันเป็นเท็จในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.2349/2560 ของศาลชั้นต้นในมูลเหตุดังกล่าว และศาลวินิจฉัยว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 3 ไม่เป็นเท็จและคดีถึงที่สุดแล้ว การที่จำเลยที่ 3 เบิกความในคดีนี้ไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงขาดเจตนาในการกระทำความผิด ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูล ให้ยกฟ้อง แล้วโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามเบิกความอันเป็นเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2562 ของศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้

          คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าการที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/2562 ของศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยที่ 3 นำข้อความ (ที่ถูกคำเบิกความ) ที่จำเลยที่ 1 เบิกความอันเป็นเท็จดังกล่าวไปยื่นในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้น อันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าวนั้นเป็นฟ้องที่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ต้องเป็นเรื่องที่ผู้กระทำความผิดนำเอาความอันเป็นเท็จไปเบิกความต่อศาลในคดีใดคดีหนึ่งซึ่งความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญแก่คดีที่เข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลนั้น ดังนี้ การที่จำเลยที่ 3 เพียงนำสำเนาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ในคดีอื่นมาอ้างส่งเป็นพยานเอกสารต่อศาลชั้นต้นเช่นนี้โดยจำเลยที่ 1 ไม่เคยเข้าเบิกความรับรองยืนยันข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใดจึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 ถือว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดมาโดยครบถ้วนไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น


          มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการต่อมาว่า คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีมูลความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำหรับจำเลยที่ 3 นั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าหลังจากจำเลยที่ 3 ยื่นฟ้องโจทก์เป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.2349/2560 ของศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 3 กล่าวหาว่าการที่จำเลยที่ 3 เบิกความยืนยันในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.2349/2560 ดังกล่าวว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปรับจดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์แทนเป็นการเบิกความอันเป็นเท็จ และแสดงพยานหลักฐานหนังสือสัญญาจำนองรวมห้าโฉนดเป็นเท็จ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.3780/2561 หมายเลขแดงที่ อ.492/2562 กับคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/2562 หมายเลขแดงที่ อ.1969/2562 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลทั้งสองคดีฟังข้อเท็จจริงยุติตรงกันว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปรับจดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์ตามหนังสือสัญญาจำนองรวมห้าโฉนดจริง นอกจากนี้ในคดีอาญาที่จำเลยที่ 3 ฟ้องโจทก์ฐานฟ้องเท็จและเบิกความอันเป็นเท็จตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 หมายเลขแดงที่ อ.238/2565 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยที่ 3 ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนรับจำนองที่ดินจากโจทก์จริง ดังนี้ คำพิพากษาย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนคดีนี้โจทก์เคยรื้อร้องฟ้องจำเลยที่ 3 ในมูลคดีเรื่องเดียวกัน กล่าวหาว่าจำเลยที่ 3 เบิกความอันเป็นเท็จในมูลคดีเรื่องเดียวกันนี้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้น เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1581/2563 หมายเลขแดงที่ อ.1971/2563 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้มีคำพิพากษาเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 967/2564 ว่า การที่จำเลยที่ 3 เบิกความเป็นพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.242/2563 การที่ยืนยันในข้อเท็จจริงและสาระสำคัญในทำนองเดียวกับคำเบิกความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ผบ.2349/2560 ของศาลชั้นต้นซึ่งมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 3 ที่ว่าได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ไปรับจดทะเบียนจำนองที่ดินของโจทก์แทนดังกล่าวนั้น มิใช่ความเท็จ การที่จำเลยที่ 3 เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงนั้นจึงเป็นการกระทำที่ขาดเจตนากระทำความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูล ดังนี้ แม้คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องว่าจำเลยที่ 3 เบิกความอันเป็นเท็จในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้นในชั้นพิจารณาคดีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 แม้ต่างวาระกันก็ตาม แต่จำเลยที่ 3 คงเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงและสาระสำคัญเช่นเดียวกับที่เบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง คำพิพากษาย่อมผูกพันโจทก์ไม่อาจรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นและมูลคดีเดียวกันได้อีก ดังวินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3 อีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ไม่มีมูลนั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

          ส่วนจำเลยที่ 2 นั้น โจทก์กล่าวสรุปฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เบิกความอันเป็นเท็จในชั้นพิจารณาคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 ของศาลชั้นต้นในสาระสำคัญว่าหนังสือมอบอำนาจทำขึ้นที่บ้านของจำเลยที่ 3 มีพยานลงลายมือชื่อ 2 คน และจำเลยที่ 2 มอบหนังสือมอบอำนาจนั้นให้เจ้าพนักงานที่ดินที่ได้ตรวจสอบแล้วประทับตราด้านหลังให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่ออันเป็นความเท็จ เพราะจำเลยที่ 3 มิได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 มารับจำนองแทนแต่อย่างใดนั้น เห็นว่า ในข้อนี้โจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาจำนองที่ดินรวมห้าโฉนดเป็นหลักฐานพยานโจทก์ซึ่งเอกสารดังกล่าวปรากฏข้อเท็จจริงในสาระสำคัญว่าโจทก์ตกลงจำนองที่ดินดังกล่าวเพื่อเป็นประกันเงินกู้ 12,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 3 โดยถือเอาหนังสือสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินและโจทก์รับเงินกู้ไปเป็นแคชเชียร์เช็คกับเงินสดบางส่วนไปในวันนั้น โจทก์จึงลงชื่อเป็นผู้จำนองและจำเลยที่ 2 ลงชื่อเป็นผู้รับจำนองแทนตามหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 26 กันยายน 2557 ดังนี้ หนังสือสัญญาจำนองดังกล่าวเป็นเอกสารราชการที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่โดยโจทก์ไม่เคยโต้แย้งเกี่ยวกับความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวในขณะจดทะเบียนจำนองที่ดินมาก่อน ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากสำเนาคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1554/2562 ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเป็นพิเศษเพราะเป็นการจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมเงินจำนวนสูง หากไม่มีหนังสือมอบอำนาจนั้นก็ไม่สามารถจดทะเบียนจำนองได้ ซึ่งคำเบิกความดังกล่าวสมเหตุสมผล ไม่มีข้อพิรุธสงสัย ฉะนั้นลำพังแต่คำเบิกความของโจทก์ชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยที่ 3 ไม่เคยทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนจำนองแทนโดยไม่มีหลักฐานอื่นมายืนยันสนับสนุนเช่นนั้นนับว่าขัดแย้งกับเอกสารราชการดังกล่าว จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนที่ดินของโจทก์แทนจริง ดังนี้ การที่จำเลยที่ 2 เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงและสาระสำคัญดังกล่าวในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.242/2563 นั้น จึงไม่เป็นการเบิกความอันเป็นเท็จ ฟ้องโจทก์จึงไม่มีมูลสำหรับจำเลยที่ 2 สำหรับที่โจทก์อ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงที่ไม่แน่ชัดว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวสูญหายไปเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่เป็นข้อสาระสำคัญที่สมควรวินิจฉัยให้เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่าฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ไม่มีมูลนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

          พิพากษายืน


          (สมชาย เงารุ่งเรือง-สมเจริญ พุทธิประเสริฐ-โสภณ พรหมสุวรรณ)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายอาญา ม. 177

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 158 (5)