คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4049/2566 ริบทรัพย์, ใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์เพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุม หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง รถยนต์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด

 

          จำเลยทั้งหกใช้รถยนต์ของกลาง 4 คัน พาคนต่างด้าว 47 คน ที่ลักลอบเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยไปส่งยังจุดหมายปลายทางที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุม หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจตามฟ้องของโจทก์โดยตรง รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งหกได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

          -----------------------------------------------------


          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 58, 83 ริบรถยนต์ 4 คัน ของกลาง และบวกโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย 1530/2564 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้

          จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ

          ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน บวกโทษจำคุก 4 เดือน ของจำเลยที่ 4 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย 1530/2564 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษคดีนี้ เป็นจำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 10 เดือน ริบรถยนต์ของกลาง

          จำเลยทั้งหกอุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

           จำเลยทั้งหกฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติตามที่ไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า จำเลยทั้งหกกระทำความผิดตามฟ้อง ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งหกมีเพียงประการเดียวว่า รถยนต์ของกลางทั้งสี่คันเป็นทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันพึงริบหรือไม่ เห็นว่า ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งผู้กระทำความผิดได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยทั้งหกว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งหกใช้รถยนต์ของกลางทั้งสี่คันพาคนต่างด้าว 47 คน ที่ลักลอบเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยไปส่งที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย อันเป็นกรณีที่จำเลยทั้งหกใช้รถยนต์ของกลางโดยสารพาคนต่างด้าว 47 คน ซึ่งลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วไปส่งยังจุดหมายปลายทาง จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุม หรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง ดังนั้น รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งหกได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งริบได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งหกฟังขึ้น

          พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถยนต์ของกลาง แต่ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5


          (บวรศักดิ์ ทวิพัฒน์-วีรภัทร ไพบูลย์วัฒนกิจ-กีรติ ตั้งธรรม)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง


ประมวลกฎหมายอาญา ม. 33 (1)