คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3278/2522 คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการ(อัยการสูงสุด)เป็นอันถึงที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการ(อัยการสูงสุด)รื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้


          กรณีจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต้องเป็นการปฎิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น
          การที่จะมีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจนั้น เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอัยการตาม ป.วิ.อ.มาตรา 145 เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก และมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมตำรวจภายหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
          จำเลยเป็นพนักงานอัยการตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการ แม้จะพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว แต่รู้อยู่แล้วว่าอธิบดีกรมอัยการคนก่อนได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้อง จ. กับพวก ตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจ ระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้มอบงานให้ ก. รองอธิบดีกรมอัยการซึ่งจะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแทนจำเลย จำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน ซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้อง จ. กับพวก แล้วลอบแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องนั้นไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีเจตนาป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมอัยการคนก่อน เพื่อจะช่วย จ. กับพวกมิให้ต้องโทษ จนอธิบดีกรมตำรวจได้แจ้งคำสั่งของจำเลยดังกล่าวให้ผู้ร้องทุกข์และผู้ต้องหาทราบทุกคนแล้วเช่นนี้จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 165, 200
          เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้ อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก
          ฟ. เป็นพนักงานอัยการ กรมอัยการ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม กองคดี กรมอัยการ และอธิบดีกรมอัยการสั่งให้ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้ช่วยอัยการพิเศษฝ่ายคดี (อาญา) รับผิดชอบงานอุทธรณ์ส่วน ย. เป็นพนักงานอัยการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม กองคดี กรมอัยการ และอธิบดีกรมอัยการได้สั่งให้ปฏิบัติราชการในหน้าที่หัวหน้าพนักงานอัยการกอง7 กับมีระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาชั้นอุทธรณ์และฎีกาในส่วนราชการใดของกรมอัยการให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมอัยการมีคำสั่ง การที่อธิบดีกรมอัยการสั่งในคำชี้ขาดให้ฎีกาว่าให้ พ. และ ย. ร่วมกันทำฎีกาส่งมารับรองเพื่อส่งศาลฎีกาต่อไป ถือได้ว่าอธิบดีกรมอัยการทำคำสั่งเรื่องตาม พ.ร.บ.พนักงานอัยการ พ.ศ.2498 มาตรา 15 ให้ พ.และย. มีอำนาจดำเนินคดีในชั้นฎีกา ตามนัยดังกล่าว พ.จึงมีอำนาจลงชื่อเป็นผู้ฎีกา และพ.กับย. มีอำนาจลงชื่อเป็นผู้เรียงได้ในคำฟ้องฎีกา
          ----------------------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องใจความสำคัญว่า เมื่อวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม 2518 ถึงวันที่ 10 กันยายน 2518 จำเลยพ้นจากตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการเป็นการชั่วคราวแล้ว แต่ยังดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการอยู่ ซึ่งเป็นพนักงานอัยการตามกฎหมาย มีหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย จำเลยได้กระทำผิดต่อกฎหมายกล่าวคือ จำเลยเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการได้กระทำการในตำแหน่งอันมิชอบ ได้บังอาจลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้องพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์ จ. หม่อมหลวง ฉ. และนาย ท. ผู้ต้องหา ทั้งสามสำนวน โดยจำเลยอ้างว่าสั่งในฐานะผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ ภายหลังวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว โดยไม่มีเหตุหรืออำนาจตามกฎหมาย เพื่อป้องกันขัดขวางมิให้เป็นไปตามกฎหมายหรือคำสั่งที่นาย ป.  อธิบดีกรมอัยการ ได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อจะช่วยพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์ จ. หม่อมหลวง ฉ. และนาย ท.  มิให้ต้องโทษถูกฟ้องและรับโทษในคดีอาญา โดยจำเลยไม่ได้เรียกสำนวนการสอบสวนทั้งสามจากพนักงานอัยการมาสั่งในสำนวน แล้วจำเลยลอบมีหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีทั้งสามสำนวนนั้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่กรมอัยการ กรมตำรวจ และผู้อื่น เหตุเกิดที่แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 165, 200 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาพ.ศ. 2502 มาตรา 13

          จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง

          ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทำบันทึกคำสั่งไม่ฟ้องพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์ จ. กับพวก ในขณะที่จำเลยเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ คำสั่งนั้นจะชอบด้วยกฎหมายและมีผลบังคับได้เพียงไรหรือไม่ ไม่เป็นมูลที่โจทก์กล่าวหาจำเลยในคดีนี้จึงไม่มีประเด็นวินิจฉัย พยานหลักฐานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษจำเลย พิพากษายกฟ้องโจทก์

          โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง

          ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นว่า จำเลยทำบันทึกสั่งไม่ฟ้องพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์ จ. กับพวก ในขณะที่จำเลยยังไม่พ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ หาได้ลอบทำภายหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้วไม่ และเมื่อได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นตามที่โจทก์อ้างในอุทธรณ์พิพากษายืน

          โจทก์ฎีกา โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองว่ารูปคดีมีเหตุผลอันสมควรที่ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัย

          ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้องพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์ จ. หม่อมหลวง ฉ. และนาย ท. ผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวน ลบล้างคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องของนาย ป. อธิบดีกรมอัยการซึ่งได้ลาออกจากราชการแล้วตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจ และคำสั่งนั้น ถึงที่สุดแล้ว โดยไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลโดยได้รับคำสั่งชัดแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ในอันที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นมาสั่งไม่ฟ้องอีกได้ แล้วลอบแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมตำรวจ ภายหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้วแต่ยังดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการอยู่ เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

          วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า  ที่จำเลยอ้างว่านาย ฟ. พนักงานอัยการหัวหน้ากองอุทธรณ์และนาย ย. พนักงานอัยการกองอุทธรณ์ ไม่มีอำนาจลงชื่อเป็นโจทก์และผู้เรียงนั้น เห็นว่านาย ฟ. พนักงานอัยการ กรมอัยการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม กองคดี กรมอัยการตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2518 ตามเอกสารหมายเลข 1 ท้ายคำแถลงคัดค้าน และอธิบดีกรมอัยการสั่งให้ปฏิบัติราชการในหน้าที่ผู้ช่วยอัยการพิเศษฝ่ายคดี(อาญา) รับผิดชอบงานอุทธรณ์ตามเอกสารหมายเลข 4 ท้ายคำแถลงคัดค้านส่วนนาย ย. ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษประจำกรม กองคดี กรมอัยการ ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องแต่งตั้งข้าราชการอัยการ ลงวันที่ 16 มีนาคม 2521 ตามเอกสารหมายเลข 2 ท้ายคำแถลงคัดค้าน และอธิบดีกรมอัยการได้สั่งปฏิบัติราชการในหน้าที่หัวหน้าพนักงานอัยการกอง 7 ตามเอกสารหมาย 5 ท้ายคำแถลงคัดค้าน กับยังมีระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาชั้นอุทธรณ์และฎีกาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2520 ตามเอกสารหมายเลข 3 ท้ายคำแถลงคัดค้าน ข้อ 4 กำหนดว่า พนักงานอัยการชั้นอุทธรณ์ และฎีกาผู้ใดจะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินคดีอาญาชั้นอุทธรณ์และฎีกาในส่วนราชการใดของกรมอัยการให้เป็นไปตามที่อธิบดีกรมอัยการมีคำสั่ง ทั้งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 มาตรา 15 ยังบัญญัติว่า "ในการใช้อำนาจหรือกระทำหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจทำคำสั่งเฉพาะเรื่อง หรือวางระเบียบไว้ให้พนักงานอัยการปฏิบัติการได้" ดังนั้น การที่นายประเทือง อธิบดีกรมอัยการสั่งในคำชี้ขาดให้ฎีกาว่าให้นาย ฟ. และนาย ย. ร่วมกันทำฎีกาส่งมาให้รับรอง เพื่อส่งศาลฎีกาต่อไป จึงถือได้ว่านายประเทือง  ทำคำสั่งเฉพาะเรื่องให้นาย ฟ. และนาย ย. มีอำนาจดำเนินคดีนี้ในชั้นฎีกา ข้ออ้างของจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยอ้างว่าอธิบดีกรมอัยการจะลงชื่อรับรองฎีกาได้จะต้องมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาอาจเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่างได้ด้วยนั้น เห็นว่าเหตุเหล่านี้ได้มีอยู่ในบันทึกของกองที่ปรึกษากฎหมายผ่านรองอธิบดีกรมอัยการถึงอธิบดีกรมอัยการ ตามเอกสารหมายเลข 7 ท้ายคำแถลงคัดค้านแล้วไม่จำต้องกล่าวถึงเหตุนี้ไว้ในหนังสือรับรองฎีกา ข้ออ้างของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

          เมื่ออธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องคดีตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว คำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของอธิบดีกรมอัยการเป็นอันถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 333 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 พนักงานอัยการต้องฟ้องคดีไปตามนั้น เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาชี้ขาดใหม่ได้อธิบดีกรมอัยการจึงไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดกลับคำสั่งของตนได้อีก สำหรับคดีพลตำรวจหม่อมราชวงศ์ จ. กับพวกผู้ต้องหารวม 3 สำนวนดังกล่าวนั้น นาย ป. อธิบดีกรมอัยการซึ่งได้ลาออกจากราชการไปแล้วได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวนตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจแล้ว เหตุนี้แม้จำเลยจะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการจำเลยก็ไม่มีอำนาจที่จะชี้ขาดใหม่เป็นไม่ฟ้อง

          ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยจะมีความผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องหรือไม่เพียงใด โจทก์ฟ้องอ้างว่ากระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ได้กระทำการในตำแหน่งอันมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 เห็นว่า ที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าวนั้น จะต้องเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติเฉพาะแต่ตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นโดยตรง ตามที่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่นั้น ๆ เท่านั้น ถ้าไม่เกี่ยวกับหน้าที่ของพนักงานผู้นั้นโดยตรงแล้ว ย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว การที่จะมีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของอธิบดีกรมตำรวจนั้น เป็นอำนาจของอธิบดีกรมอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 333 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ข้อ 1 เมื่อได้ความว่าจำเลยได้ลอบทำบันทึกสั่งไม่ฟ้องพลตำรวจหม่อมราชวงศ์ จ. กับพวกและมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องไปยังอธิบดีกรมตำรวจภายหลังจากวันที่จำเลยพ้นจากการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่การที่จำเลยซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมอัยการรู้อยู่แล้วว่า นาย ป. อธิบดีกรมอัยการคนก่อนได้มีคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์ จ. กับพวกผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวน ในระหว่างที่จำเลยยังไม่ได้มอบงานให้นาย ก. รองอธิบดีกรมอัยการซึ่งจะเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการแทนจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ดูแลปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำสั่งชี้ขาดให้ฟ้องคดีของนาย ป. ดังกล่าวซึ่งได้สั่งเพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่จำเลยกลับกระทำการดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาป้องกันหรือขัดขวางมิให้การเป็นไปตามคำสั่งนั้นเพื่อจะช่วยพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์ จ. กับพวกผู้ต้องหาทั้ง 3 สำนวนมิให้ต้องโทษ จำเลยจึงต้องมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 165, 200 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่เมื่อได้พิเคราะห์ถึงสภาพแห่งการกระทำความผิดและพฤติการณ์อย่างอื่นตามท้องสำนวนกับพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ประกอบกับประวัติของจำเลยที่ได้รับราชการมาเป็นเวลานานและทำคุณประโยชน์ให้แก่ทางราชการตลอดมา จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมอัยการ สมควรลงโทษจำเลยตามพฤติการณ์แห่งคดี

          พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 165, 200 ให้ลงโทษตามมาตรา 200 อันเป็นบทหนักตามมาตรา 90 ให้จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด1 ปี ตามมาตรา 56 ไม่เสียค่าปรับให้จัดการตามมาตรา 29, 30 คำขอนอกจากนี้ให้ยกเสีย

(ชลูตม์ สวัสดิทัต-ประภาศน์ อวยชัย-เพียร ศรีอรุณ)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายอาญา ม. 157, 165, 200
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 145, 158 (7), 221
พระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.2498 ม. 15