คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 226/2567 ส่งหมายไม่ชอบ, ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล หรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้แก่เรือนจำ หรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว


          โจทก์ฟ้องว่าจำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก 6 ปี 10 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3099/2559 ของศาลจังหวัดเลย จำเลยจึงเป็นผู้ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีดังกล่าวอยู่ในเรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางอุดรธานีจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในช่วงระยะเวลาที่จำเลยถูกจำคุกในคดีดังกล่าว ไม่ใช่ที่อยู่ตามฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไปยังที่อยู่ของจำเลยตามฟ้อง จึงไม่ใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 47 ที่บัญญัติว่า ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล หรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายได้แก่เรือนจำ หรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว ศาลชั้นต้นต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์เพื่อให้จำเลยแก้ไปที่เรือนจำกลางอุดรธานี หาใช่ส่งไปยังที่อยู่ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 200 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3
          ------------------------------------------------------

          โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย

          จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ

          ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์

          ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 90, 145 วรรคสอง (2) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 4 ปี และปรับ 300,000 บาท เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นลงโทษจำคุก 5 ปี 4 เดือน และปรับ 400,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี

          จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา

          ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ไม่เคยได้รับสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์เพราะเจ้าพนักงานส่งหมายไปที่ภูมิลำเนาของจำเลยตามฟ้องทั้ง ๆ ที่จำเลยถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำ ทำให้จำเลยเสียสิทธิในการทำคำแก้อุทธรณ์ตามกฎหมาย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 บัญญัติว่า การยื่นอุทธรณ์ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้น มาตรา 200 บัญญัติว่า ให้ศาลส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ และ มาตรา 201 บัญญัติว่า เมื่อศาลส่งสำเนาอุทธรณ์แก่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ หรือได้รับแก้อุทธรณ์แล้ว หรือพ้นกำหนดแก้อุทธรณ์แล้ว ให้ศาลรีบส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อทำการพิจารณาพิพากษาต่อไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 และในวันเดียวกันศาลชั้นต้นได้ออกหมายปล่อยจำเลยโดยระบุหมายเหตุ ว่า “ปล่อยเฉพาะคดีนี้“โจทก์ได้ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2564 คดีนี้จึงยังไม่ถึงที่สุด ภูมิลำเนาของจำเลยจึงถือตามฟ้องของโจทก์ แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2559 จำเลยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก 6 ปี 10 เดือน ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3099/2559 ของศาลจังหวัดเลย จำเลยได้รับอนุมัติพักการลงโทษโดยจะพ้นโทษในคดีดังกล่าววันที่ 24 ตุลาคม 2564 ระหว่างพักการลงโทษจำเลยกลับมากระทำความผิดอีกขอให้เพิ่มโทษ ประกอบกับหนังสือสำคัญการพักโทษ จำเลยได้พักการลงโทษเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 แต่จำเลยมากระทำความผิดคดีนี้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2563 และตามหนังสือเรือนจำกลางอุดรธานี เลขที่ 3016/2564 ออกให้เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ว่า จำเลยถูกตัดสินจำคุก 581 วัน เริ่มจำคุกตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ตามหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3099/2559 บัดนี้จำเลยได้รับพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกา (ลดโทษ ปล่อยตัว) พ.ศ. 2564 มาตรา 9, 7 ตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564 ดังนั้น จำเลยจึงเป็นผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลในคดีดังกล่าวอยู่ในเรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางอุดรธานีจึงเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในช่วงระยะเวลาที่จำเลยถูกจำคุกในคดีดังกล่าว มิใช่ที่อยู่ตามฟ้อง เมื่อศาลชั้นต้นส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไปที่บ้านเลขที่ 227 อันเป็นที่อยู่ของจำเลยตามฟ้อง จึงมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 ที่บัญญัติว่า “ภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลหรือตามคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้แก่ เรือนจำหรือทัณฑสถานที่ถูกจำคุกอยู่ จนกว่าจะได้รับการปล่อยตัว” ดังนั้น จึงมิใช่กรณีส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้เพราะหาตัวไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ ที่ศาลชั้นต้นจะส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาได้เลย โดยไม่ต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201 เมื่อการส่งสำเนาอุทธรณ์ไม่ได้นั้นเกิดจากความบกพร่องเนื่องจากการส่งหมายไม่ตรงตามภูมิลำเนาของจำเลยตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ถือไม่ได้ว่าเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือจำเลยหลบหนี การส่งสำเนาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 201 ดังกล่าว ศาลชั้นต้นต้องส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์ให้จำเลยแก้ไปที่เรือนจำกลางอุดรธานีอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยในช่วงเวลานั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 47 หาใช่ส่งไปยังที่อยู่ของจำเลยตามคำฟ้อง แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งให้ปิดหมายก็เป็นคำสั่งที่เกินเลยไม่เป็นผลให้การส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้เป็นไปโดยชอบ และถือไม่ได้ว่าการส่งสำเนาอุทธรณ์ของโจทก์โดยวิธีปิดหมาย ณ ภูมิลำเนาของจำเลยเป็นเพราะหาตัวจำเลยไม่พบ หรือหลบหนี หรือจงใจไม่รับสำเนาอุทธรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201 ที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีโดยมิได้มีการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยเพื่อแก้นั้น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 200 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 3 ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น

          พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการในเรื่องส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยแก้ แล้วส่งสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

          (พรหมมาศ ภู่แส-กมล คำเพ็ญ-นนท์ ชัยปกรณ์)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 47
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม. 200
พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 ม. 3