การร้องสอด

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
          มาตรา 57  "บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด
          (1) ด้วยความสมัครใจเองเพราะเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาหรือเมื่อตนมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น
          (2) ด้วยความสมัครใจเองเพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม หรือเข้าแทนที่คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียทีเดียวโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายนั้นแต่ว่าแม้ศาลจะได้อนุญาตให้เข้าแทนที่กันได้ก็ตาม คู่ความฝ่ายนั้นจำต้องผูกพันตนโดยคำพิพากษาของศาลทุกประการเสมือนหนึ่งว่ามิได้มีการเข้าแทนที่กันเลย
          (3) ด้วยถูกหมายเรียกให้เข้ามาในคดี (ก) ตามคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำเป็นคำร้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้  เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี หรือ (ข) โดยคำสั่งของศาลเมื่อศาลนั้นเห็นสมควร หรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม แต่ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีดังกล่าวแล้วให้เรียกด้วยวิธียื่นคำร้องเพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หรือในเวลาใดๆต่อมาก่อนมีคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนนั้นได้
          การส่งหมายเรียกบุคคลภายนอกตามอนุมาตรานี้ต้องมีสำเนาคำขอ หรือคำสั่งของศาล แล้วแต่กรณี และคำฟ้องตั้งต้นคดีนั้นแนบไปด้วย
          บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้ไม่ตัดสิทธิของเจ้าหนี้ ในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้และที่จะเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์"



         
          1. หลักการทั่วไปที่จะร้องสอดเข้ามาในคดี
          (1) ต้องมีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล หากไม่มีคดีค้างพิจารณาอยู่ในศาล การร้องสอดเกิดขึ้นไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5383/2534  ตามคำร้องเป็นเรื่องผู้ร้องร่วมทั้งสองประสงค์จะเข้ามาเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ซึ่งให้บุคคลภายนอกร้องขอเข้าเป็นคู่ความได้โดยยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา เมื่อปรากฏว่าในวันที่ผู้ร้องร่วมทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความนั้น ศาลชั้นต้นได้สั่งยกคำร้องของผู้ร้องไปแล้ว จึงไม่มีคดีของผู้ร้องที่ผู้ร้องร่วมทั้งสองจะเข้ามาเป็นคู่ความได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นในขณะที่ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอ ดังนั้น ศาลจึงชอบที่จะสั่งไม่รับคำร้องขอของผู้ร้องร่วมทั้งสองได้
          (2) การร้องสอดนั้นต้องเป็นเรื่องบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี กล่าวคือ ผู้ร้องสอดจะต้องเป็นบุคคลที่ยังไม่ได้เข้าเป็นคู่ความในคดีขณะที่เข้ามาเป็นผู้ร้องสอด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2534  กรณีที่จะมีการเข้ามาเป็นคู่ความโดยการร้องสอดตามป.วิ.พ. มาตรา 57 ได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้ามาเองหรือถูกหมายเรียกเข้ามาก็ดี ผู้ที่จะเข้ามานั้นต้องเป็นบุคคลนอกคดีจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ขอให้เรียกเข้ามานั้นเป็นคู่ความอยู่ในคดีนี้แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา แต่โจทก์ก็ยังดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1 ต่อไป จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกที่จำเลยที่ 2 จะเรียกเข้ามาโดยการร้องสอดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57(3) ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7709/2544  ป.วิ.พ. มาตรา 57 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความอาจเข้ามาเป็นคู่ความได้ด้วยการร้องสอด ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่า เฉพาะแต่บุคคลภายนอกที่มิใช่คู่ความเท่านั้นที่จะเข้ามาในคดีด้วยการร้องสอด แต่ผู้ร้องสอดเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีอยู่แล้ว จึงไม่ใช่บุคคลภายนอก ไม่อาจร้องสอดเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 วรรคหนึ่ง (1) ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 631/2545   การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญาขายลดตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้บังคับเอาแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้ร้อง  สิทธิของผู้ร้องมีอยู่ในบริษัทของจำเลยที่ 1 เพียงใดก็คงมีอยู่อย่างนั้น ไม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)  อีกทั้งผู้ร้องก็ถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ซึ่งถือว่าเป็นคู่ความในคดีอันจะใช้สิทธิต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่แล้ว  จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกแต่อย่างใด
          (3) การร้องสอดนั้นเป็นการเข้ามาเป็นคู่ความในคดี เมื่อเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา 55 และ 56 กล่าวคือต้องมีส่วนได้เสียในคดี โดยอาจเป็นบุคคลผู้ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่หรือมีเหตุที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลและต้องไม่เป็นผู้บกพร่องในเรื่องความสามารถที่จะดำเนินคดี
          (4) การร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นต้องทำเป็นคำร้อง ในคำร้องต้องแสดงเหตุผลที่จะเข้ามาในคดีว่ามีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร และเข้ามาในคดีโดยอาศัยสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติในมาตรา 57 ในส่วนใด
          (5) คำร้องสอดกรณีที่บุคคลภายนอกเข้ามาในคดีถือเป็นคำฟ้องจึงต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องคดี
          (6) การร้องสอดตามมาตรา 57 ไม่ว่าอนุมาตราใด ศาลอาจใช้ดุลพินิจให้เข้ามาในคดีหรือไม่ก็ได้ ไม่ใช่บทบังคับให้เข้ามาในคดีเสมอ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4344/2541   ตามคำร้องของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดอ้างว่าจำเลยทั้งสองปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และผู้ร้องสอด เป็นการละเมิดต่อผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้เสียหายที่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนโดยตรงจากจำเลยทั้งสอง แต่โจทก์กลับนำสิทธิของผู้ร้องสอดมายื่นฟ้องต่อศาลโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องสอด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องสอด โดยข้ออ้างของผู้ร้องสอดนี้มีสภาพแห่งข้อหาเช่นเดียวกับคำฟ้องของโจทก์ ดังนี้ เป็นการที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองและโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องสอดถือได้ว่าเป็นกรณีจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 (1) แห่ง ป.วิ.พ. ผู้ร้องสอดจึงชอบที่จะร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ แต่คดีนี้ ผู้ร้องสอดเพิ่งมายื่นคำร้องสอด เมื่อเป็นเวลาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีเกือบ 2 ปี โดยโจทก์ได้นำพยานโจทก์เข้าเบิกความและตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสองจนเสร็จสิ้นแล้ว หากจะอนุญาตให้ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามา ก็จะทำให้กระบวนพิจารณาชักช้าและยุ่งยากขึ้นไปอีก ทั้งสิทธิของผู้ร้องสอดมีอยู่อย่างไร ผู้ร้องสอดก็มีสิทธิที่จะฟ้องร้องเป็นอีกคดีต่างหากได้อยู่แล้วศาลฎีกาจึงเห็นสมควรไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดี
          (7) การร้องสอดเข้ามาในดคี มีอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมายอื่นที่กำหนดให้สามารถร้องสอดเข้ามาในคดีได้เช่นกัน เช่น การร้องสอดขอรับส่วนแบ่งมรดกตามมาตรา 1749 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกรณีที่หน่วยงานรัฐหรือเจ้าหน้าที่ขอให้ศาลเรียกเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเข้มาเป็นคู่ความในคดี ตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ
          (8) ผู้ร้องสอดต้องไม่เป็นบุคคลที่ถูกต้องห้ามตามบทกฎหมายอื่น เช่น คดีอุทลุมตามกฎหมายแพ่ง เป็นต้น

          2. การร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามมาตรา 57 (1) สามารถร้องสอดเข้ามาได้ 2 ระยะ คือ
          (1) ร้องสอดในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยถ้าผู้มีส่วนได้เสียเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่โดยเอกเทศ มิได้อาศัยสิทธิของคู่ความในคดีเดิม ผู้นั้นสามารถร้องสอดเข้ามาในคดีได้ ซึ่งอาจเป็นการโต้แย้งสิทธิกับคู่ความเดิมทุกฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ได้ แต่ต้องเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของคู่ความเดิม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464/2503 (ประชุมใหญ่)   ผู้เสียหายในคดีอาญา ฐานยักยอกทรัพย์ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณา มีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ในคดีแพ่ง ซึ่งบุคคลอื่นฟ้องจำเลยโดยสมยอมกันโดยทุจริต เพื่อโอนทรัพย์สินของจำเลยไปให้พ้นการบังคับคดีอันเป็นเหตุให้ผู้เสียหายเสียเปรียบ และสิทธิที่จะร้องสอดเช่นนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นหนี้แน่นอนเพราะประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) มิได้กำหนดห้ามไว้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4477/2529  โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำเจ้าพนักงานไปรังวัดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ และในการทำแผนที่พิพาท โจทก์ได้นำชี้ที่ดินแปลงอื่นนอกเขตที่พิพาทว่าเป็นของโจทก์ด้วยนั้น ถือไม่ได้ว่าเจ้าของที่ดินแปลงอื่นนอกเขตที่พิพาทดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินที่พิพาทกันระหว่างโจทก์กับจำเลย เจ้าของที่ดินแปลงอื่นนอกเขตที่พิพาทนั้นจึงไม่มีสิทธิที่จะร้องสอดเข้ามาในคดี ไม่ว่าในฐานะเป็นจำเลยร่วมหรือคู่ความฝ่ายที่สาม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6757/2540   โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาเช่าและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ไว้ประการหนึ่งว่าโจทก์ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท แต่จำเลยก็ไม่ได้ต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยกล่าวอ้างเป็นของจำเลยหรือบุคคลอื่นใด คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างเพียงว่า ผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว และผู้ร้องสอดได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทบางส่วนดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ศาลพิพากษาว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทที่ครอบครองแต่ตามคำร้องสอดมิได้กล่าวอ้างเลยว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับจำเลยแต่อย่างใด ข้ออ้างของผู้ร้องสอดดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องสอดตั้งข้อพิพาทโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับคดีนี้ ผู้ร้องสอดมีสิทธิในที่ดินพิพาทอยู่เพียงใดคงมีอยู่อย่างนั้น หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยย่อมไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในมูลความแห่งคดีนี้ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ คำร้องของผู้ร้องสอดย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (1) จึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1940/2546  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินและบ้านพิพาทว่าจำเลยขายฝากที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแก่โจทก์และพ้นกำหนดไถ่ถอนแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นสามีของจำเลย จำเลยขายฝากที่ดินและบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสโดยมิได้รับความยินยอมจากผู้ร้องขอให้เพิกถอนสัญญาขายฝาก ดังนี้แม้ศาลจะพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารก็ไม่กระทบสิทธิของผู้ร้องในฐานะคู่สมรสที่ยังคงมีอยู่ในกรณีที่มีการขายฝากของโจทก์จำเลยตามที่ผู้ร้องอ้าง สิทธิของผู้ร้องสอดจะมีอยู่เพียงใด ก็คงมีอยู่เพียงนั้นคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1443/2548   ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดโดยอ้างว่า การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้และคู่ความขอให้ศาลไกล่เกลี่ยเพื่อประนีประนอมยอมความต่อกัน หากศาลมีคำพิพากษาตามยอมจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องสอด จึงเป็นกรณีจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ผู้ร้องสอดอยู่ในฐานะเป็นโจทก์ ส่วนโจทก์เดิมและจำเลยอยู่ในฐานะเป็นจำเลย เมื่อคำร้องสอดดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำฟ้องตามมาตรา 1 (3) จึงต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามมาตรา 172 วรรคสอง แต่คำร้องสอดของผู้ร้องสอดไม่มีคำขอบังคับโดยชัดแจ้ง จึงเป็นคำร้องสอดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          การร้องสอดเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามซึ่งถือเป็นคำฟ้องนั้น ก็ต้องดูว่าเป็นคำฟ้องที่มีทุนทรัพย์หรือไม่ ถ้ามีทุนทรัพย์ ผู้ร้องสอดก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลเหมือนกับคำฟ้อง แต่ถ้าร้องสอดเข้ามาในฐานะเป็นผู้ต่อสู้คดีซึ่งถือเป็นคำฟ้อง แต่ไม่ถือว่าเป็นคำฟ้องที่มีทุนทรัพย์ คือไม่มีข้อเรียกร้องที่เป็นทุนทรัพย์ ก็ต้องดูตามคำขอของคำร้องสอดเป็นสำคัญว่าขออะไรในลักษณะที่มีทุนทรัพย์หรือไม่
          (2) ร้องสอดเข้ามาในชั้นที่มีการบังคับ ไม่ว่าการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลในชั้นใด หากการบังคับนั้นมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของบุคคลภายนอก บุคคลภายนอกสามารถร้องสอดเข้ามาในคดีเพื่อรักษาสิทธิของตนได้ และในบางกรณีที่มีการขอคุ้มครองชั่วคราว หากคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวไปกระทบถึงสิทธิบุคคลภายนอก ก็อาจร้องสอดเข้ามาได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3776/2534 (ประชุมใหญ่)  ศาลชั้นต้นพิพากษาและออกคำบังคับให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาท และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้จำเลยทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์ จำเลยจะต้องรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปตามคำบังคับ ซึ่งจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องหากผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ดังนี้ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีนี้ และถูกโต้แย้งสิทธิจึงชอบที่จะร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57(1)ได้ โดยไม่ต้องรอให้มีการบังคับคดีเสียก่อน เนื่องจากโจทก์ย่อมขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างได้ทันทีตามมาตรา 296 ทวิ.
           คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3011/2540   การที่จำเลยทั้งสามนำที่ดินจำนวน 23 แปลง ของจำเลยที่ 2ที่ผู้ร้องซื้อจากการขายทอดตลาดรวมอยู่ด้วยมาเป็นหลักประกันการทุเลาการบังคับโดยจำเลยที่ 2 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นนั้น แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อศาลชั้นต้นดังกล่าวจะมีผลจนกว่าจำเลยที่ 2 จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์จนครบถ้วนก็ตาม แต่ที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาเป็นหลักประกันศาลชั้นต้นเพียงแต่มีคำสั่งห้ามเจ้าพนักงานที่ดินมิให้ทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ดินดังกล่าวยังมิได้ถูกยึดหรืออายัดตามบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.หรือกฎหมายอื่น จึงไม่ต้องห้ามมิให้กรมสรรพากรยึดที่ดินดังกล่าวตาม ป.วิ.พ.มาตรา 290 กรมสรรพากรย่อมมีอำนาจยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ที่นำมาเป็นหลักประกันไว้ต่อศาลออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ค่าภาษีได้ การที่ผู้ร้องซื้อที่ดินที่กรมสรรพากรขายทอดตลาดและได้ชำระราคาครบถ้วนแล้ว ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อนตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300 และเมื่อกรมสรรพากรมีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่ผู้ร้อง แต่เจ้าพนักงานที่ดินมิอาจดำเนินการให้ได้เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งห้ามมิให้ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวเช่นนี้ ย่อมเห็นได้ชัดแจ้งว่าผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ได้สั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมา ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งที่ห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากการขายทอดตลาดได้ ตาม ป.วิ.พ.มาตรา57 (1) กรณีไม่มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายในการที่จะไม่เพิกถอนคำสั่งห้ามทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2545    การที่ผู้ร้องนำคำพิพากษาไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการขอเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน ย่อมถือได้ว่าเป็นการดำเนินการในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ย่อมจะเกิดความเสียหายแก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งและถูกโต้แย้งสิทธิ ชอบที่จะร้องขอเข้ามาในชั้นบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)  กรณีนี้ผู้คัดค้านซึ่งไม่ได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งหรือคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นบุคคลภายนอก จึงสามารถพิสูจน์ในชั้นนี้ได้ว่าผู้คัดค้านมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง คำพิพากษาที่แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินไม่ผูกพันผู้คัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6792/2548   ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ที่บัญญัติว่า “คำฟ้อง” หมายความว่า กระบวนพิจารณาใดๆ ที่โจทก์ได้เสนอข้อหาต่อศาล... ไม่ว่าจะเสนอในภายหลัง... โดยสอดเข้ามาในคดี ฯลฯ นั้น เป็นการกำหนดให้คำร้องสอดที่มีลักษณะในการเสนอข้อหาต่อศาลเป็นคำฟ้องด้วยเท่านั้น มิได้กำหนดให้คำร้องสอดทุกฉบับเป็นคำฟ้อง เนื่องจากการร้องสอดเข้ามาในคดีบางกรณีเป็นการเข้ามาต่อสู้คดีในฐานะจำเลย คำร้องสอดกรณีเช่นนี้ย่อมไม่อาจมีสภาพเป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว การที่คำร้องสอดจะเป็นคำฟ้องหรือไม่จึงต้องพิจารณาจากเนื้อหาของคำร้องสอดเป็นสำคัญ ตามคำร้องสอดของผู้ร้องสอดอ้างว่า จำเลยไม่ใช่ผู้เช่าที่ดินพิพาท แต่ผู้ร้องสอดเคยเป็นผู้เช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ ต่อมาผู้ร้องสอดเปลี่ยนเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยแย่งการครอบครองก่อนปี 2539 โจทก์ไม่ได้ฟ้องเอาคืนการครอบครองภายใน 1 ปี ผู้ร้องสอดจึงเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาท หากศาลพิพากษาขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดจะต้องได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีขับไล่โดยผลของคำพิพากษา ขอให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ดังนี้ คำร้องสอดดังกล่าวเป็นการขอเข้ามาในคดีเพื่อเป็นคู่ความฝ่ายที่สามในฐานะจำเลย ข้ออ้างสิทธิตามคำร้องสอดจึงถือได้ว่าเป็นการต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลยกฟ้อง ไม่ใช่การเสนอข้อหาต่อศาลเพื่อบังคับโจทก์ จึงไม่เป็นคำฟ้องตามบทกฎหมายดังกล่าว ไม่จำต้องมีคำขอบังคับตามมาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1 (3)  ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ผู้ร้องสอดยังไม่ได้รับความเสียหายจากการถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดินพิพาทตามคำร้องสอด ทั้งผู้ร้องสอดอาจยื่นคำร้องในชั้นบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา ได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องสอดเข้ามาในโอกาสดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่มีอยู่ ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิร้องเข้ามาเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3564/2549  ศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยทั้งสองยอมผ่อนชำระเงินเป็นรายเดือนแก่โจทก์ เริ่มวันที่ 5 มิถุนายน 2536 แต่จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีเพื่อชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองนับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2536 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับตามคำพิพากษาได้ ต่อมาศาลพิพากษาให้โจทก์ล้มละลาย ผู้ร้องได้ทำสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้องของโจทก์กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องตามคำพิพากษาของจำเลยทั้งสองคดีนี้ ผู้ร้องจึงได้สิทธิมาเท่าที่โจทก์มีอยู่ เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ขอเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ในชั้นบังคับคดีในวันที่ 14 กันยายน 2547 เกินกำหนด 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ผู้ร้องย่อมไม่อาจใช้สิทธิบังคับคดีเอาแก่จำเลยทั้งสองได้ ทั้งการยื่นคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 เป็นดุลพินิจของศาลที่พิจารณาตามความจำเป็นและความสะดวกในการพิจารณาคดี คดีจึงไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์
          คำร้องขอของผู้ร้องไม่มีเหตุที่จะไม่รับคำร้องขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 แต่ตามเนื้อหาของคำร้องขอไม่มีเหตุสมควรที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องขอเมื่อเกิน 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้องขอเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (1) มิใช่เพียงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอเท่านั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5340/2550  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ในชั้นบังคับคดี ก็โดยอาศัยเหตุที่ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง เนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้ซื้อและได้รับโอนสิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่มีต่อจำเลยทั้งสามตามคำพิพากษามาจากการขายซึ่งดำเนินการโดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์ในคดีล้มละลาย กรณีมิใช่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องพิพาทกับจำเลยทั้งสามในมูลหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ค สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองซึ่งเป็นมูลหนี้ที่โจทก์กับจำเลยทั้งสามพิพาทกันและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้ว ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความในชั้นบังคับคดี เพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่โดยอาศัยเหตุดังกล่าว มิได้เรียกร้องสิ่งใดขึ้นใหม่หรือเกินไปกว่าสิทธิเรียกร้องที่โจทก์มีอยู่ตามคำพิพากษา ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์ไว้แล้วในชั้นที่โจทก์ยื่นฟ้องคดี จึงไม่มีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องเสียค่าขึ้นศาลอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงไม่ถูกต้อง และเมื่อผู้ร้องได้ชำระค่าขึ้นศาลตามคำสั่งของศาลชั้นต้นมาแล้ว จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2550  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยรับว่าเป็นผู้เช่าที่ดินของโจทก์และยอมชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลพิพากษาตามยอม ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องกับพวกในการทำสัญญาเช่าเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดากับโจทก์ เพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร แต่โจทก์และจำเลยสมรู้ร่วมคิดกันฟ้องคดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ศาลออกหมายบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้องที่มิได้เป็นบริวารของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาที่จะยื่นคำร้องสอดเข้ามาใสชั้นบังคับคดีหรือคำสั่งได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1)

          3. การร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมหรือแทนที่คู่ความเดิมตามมาตรา 57 (2)
          ถ้าบุคคลใดมีส่วนได้เสียในผลแห่งคดีร่วมกับคู่ความฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมฝ่ายนั้นหรือเข้าแทนที่ฝ่ายนั้นโดยได้รับความยินยอมของคู่ความฝ่ายที่จะเข้าร่วมหรือแทนที่นั้น
          หลักการสำคัญของการร้องสอดตามมาตรา 57 (2)
          (1) ต้องเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้นโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่อย่างไรก็ตามแม้คำร้องสอดนี้จะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจจะให้เข้ามาหรือไม่ให้เข้ามาเป็นคู่ความร่วมหรือแทนที่คู่ความนั้นก็ได้ โดยอาจพิจารณาว่าการให้เข้ามาจะเป็นประโยชน์แก่คดีหรือไม่ หรือการพิจารณาคดีจะเกิดความชักช้าจากการให้เข้ามาตามคำร้องสอดหรือไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1355/2521  ผู้ร้องได้ทราบถึงการที่โจทก์ฟ้องคดีมาตั้งแต่แรก แต่เพิ่งร้องสอดเข้ามาหลังจากโจทก์ฟ้องคดีแล้ว 5 ปีเศษ จนได้มีการสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นไปแล้ว ทั้งได้สืบพยานจำเลยไปแล้วรวม 29 นัด  จวนจะเสร็จสิ้นพยานจำเลยอยู่แล้ว จึงไม่สมควรอนุญาตให้ผู้ร้องร้องสอดเข้ามาในคดีนี้ เพราะจะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลเพิ่มความยุ่งยากขึ้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1770/2506    โจทก์เป็นกรรมการอำนาวยการบริษัท ท. และบริษัท ทปด.โจทก์ให้ ส.ลงชื่อเป็นผู้ซื้อฝากทรัพย์รายพิพาทจากจำเลย แต่ความจริงปรากฎว่าบริษัท ทปด.เป็นผู้ซื้อฝากที่แท้จริง จำเลยมิได้ไถ่ทรัพย์คืนจนพ้นกำหนด ส.ถึงแก่กรรม ทายาทของ ส. โอนทรัพย์รายพิพาทให้แก่โจทก์เมื่อตัวการที่ไม่เปิดเผยชื่อ คือ บริษัท ทปด.ยังมิได้แสดงตนเข้ารับเอาสัญญาที่โจทก์ได้ทรัพย์รายพิพาท โจทก์ก็คงมีสิทธิตามสัญญานั้นอยู่ มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและให้จำเลยส่งทรัพย์รายพิพาทให้ เมื่อโจทก์ฟ้องแล้วบริษัท ทปด.ร้องสอดขอเข้ามาในคดีเข้าแทนที่โจทก์รับเอาสัญญาจากโจทก์ โจทก์ก็ยินยอม ดังนี้ บริษัท ทปด.ก็ได้อำนาจจากโจทก์โดยตัวแทนยอมคืนทรัพย์สินให้ตัวการ จำเลยจะคัดค้านว่าโจทก์กับบริษัท ทปอ.ไม่มีอำนาจฟ้องย่อมฟังไม่ได้ และเมื่อพ้นกำหนดการไถ่แล้ว ทรัพย์รายพิพาทไม่ใช่เป็นของจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะอยู่และใช้ทรัพย์นี้ได้ต่อไป ดังนั้น โจทก์จะเป็นผู้รับซื้อฝากเองหรือผู้ใดจะอ้างว่าเป็นตัวการเข้ารับเอาสัญญาที่โจทก์รับซื้อฝากแทน ผลก็เท่ากัน ไม่ทำให้เสื่อมสิทธิของจำเลยในการขายฝากนี้แต่อย่างใด เพราะเมื่อจำเลยไม่มีสิทธิในทรัพย์รายพิพาทแล้ว ทรัพย์นั้นจะเป็นของบริษัท ทปด.ผู้ร้องสอดดังที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้างหรือว่าเป็นของบริษัท ท. โดย ส.รับซื้อแทนดังที่จำเลยอ้าง ก็เป็นเรื่องของโจทก์ที่จะยอมรับความเป็นจริง จำเลยไม่อาจอ้างเรื่องสิทธิฟ้องร้องขึ้นต่อสู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของบริษัท ท.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3995/2541   ผู้ร้องสอดที่ขอเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (2) จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ซึ่งมีหมายความว่าผลของคดีตามกฎหมายจะเป็นผลไปถึงตนโดยจะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคำพิพากษาในคดีนี้โดยตรงจึงจะร้องสอดได้ ผู้ร้องเพียงแต่ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินซึ่งอยู่กับที่ดินของจำเลยจากโจทก์ ภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ทั้งสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไข โดยจะมีผลต่อเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ และสามารถบังคับคดีได้แต่ถ้าโจทก์เป็นฝ่ายแพ้คดีหรือไม่อาจบังคับคดีได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันฟ้องคดีนี้สัญญาจะซื้อขายก็สิ้นผล ดังนี้ เมื่อผู้ร้องมิได้ถูกกระทบกระเทือนหรืออาจถูกบังคับโดยคำพิพากษาในคดีนี้ จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับโจทก์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2962/2543   ผู้ที่จะขอเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57(2) จะต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี ซึ่งหมายความว่าผลของคดีตามกฎหมายจะเป็นผลไปถึงตนโดยจะต้องเป็นผู้ที่ถูกกระทบกระเทือนหรือถูกบังคับโดยคำพิพากษาในคดีโดยตรง 
          โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัด เป็นนิติบุคคลมีสิทธิและหน้าที่แยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น มีกรรมการเป็นผู้จัดการแทน หากโจทก์ชนะคดี ต้องเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลย ผู้มีหน้าที่ต้องจัดการต่อไปตามผลของคดีก็คือจำเลยโดยกรรมการของจำเลยผู้ถือหุ้นหาได้มีหน้าที่ต้องกระทำหรืองดเว้นกระทำการใด ๆ ต่อผลของคำพิพากษาที่โจทก์ขอบังคับด้วยไม่ สิทธิของผู้ร้องในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยยังคงมีอยู่โดยสมบูรณ์เช่นเดิม ผู้ร้องจึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีตามความหมายของมาตรา 57 (2)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 810-811/2547   การร้องขอเข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (1) ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างพิจารณา เว้นแต่สิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องกับการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีนั้น ส่วนมาตรา 57 (2) ต้องยื่นคำร้องต่อศาลไม่ว่าเวลาใดๆ ก่อนมีคำพิพากษา ดังนั้น ทั้งสองกรณีดังกล่าวต้องยื่นก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาเท่านั้น จะยื่นในระหว่างอุทธรณ์ไม่ได้
          (2) สิทธิของผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (2) ไม่มีสิทธิใดๆดีกว่าคู่ความเดิม และจะใช้สิทธิไปในทางที่เป็นการขัดแย้งกับสิทธิของคู่ความเดิมไม่ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 315/2521  โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยผู้เช่ามีผู้ร้องสอดอ้างว่าเช่าห้องจากจำเลยข้อต่อสู้ว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้ให้เช่า จำเลยเช่าจากเจ้าของจำเลยขาดนัดให้การและพิจารณาดังนี้ผู้ร้องสอดใช้สิทธินอกเหนือไปจากจำเลยไม่ได้ ศาลยกคำร้องสอด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8754/2544  ตามคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วมของผู้ร้องสอดไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องสอดมีส่วนร่วมเกี่ยวข้องกับหนี้เงินกู้และการจำนองที่ดินประกันหนี้เงินกู้ตามที่โจทก์ฟ้องบังคับ คงอ้างแต่เพียงว่า ผู้ร้องสอดเป็นภริยาจดทะเบียนสมรสกับจำเลยและอยู่ร่วมกับจำเลยเท่านั้น ผู้ร้องสอดจึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดี อีกทั้งจำเลยเองก็ขาดนัดยื่นคำให้การ ผู้ร้องสอดย่อมไม่มีสิทธิในการต่อสู้คดีเช่นเดียวกับจำเลยที่ขาดนัด การร้องสอดเข้ามาเพื่อเป็นจำเลยร่วมหรือแทนที่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (2) ย่อมหาประโยชน์มิได้ ที่ศาลล่างมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นจำเลยร่วมนั้นชอบแล้ว



          4. การร้องสอดโดยถูกเรียกเข้ามาตามมาตรา 57 (3)
          การร้องสอดตามมาตรา 57 (3) เป็นเรื่องที่บุคคลภายนอกไม่ได้ขอเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดเอง แต่เป็นเรื่องที่คู่ความเดิมหรือศาลเรียกเข้ามาในคดีในฐานะเป็นผู้ร้องสอด โดยถูกบังคับ ซึ่งอาจถูกบังคับโดยคำร้องขอคู่ความเดิมหรือศาลเรียกเข้ามา
          (1) กรณีคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกเข้ามาเป็นคู่ความในฐานะเป็นผู้ร้องสอด คำร้องต้องอาศัยเหตุให้ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 57 (3) คือ
          (ก) แสดงเหตุให้เห็นในคำร้องว่า ตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้  เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี
          (ข) ในกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี ซึ่งต้องดูกฎหมายสารบัญญัติว่ากรณีใดบ้างที่จะให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดีหรือกฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี
          สำหรับการยื่นคำร้องให้เรียกบุคคลภายนอกให้เข้ามาในคดีนั้น ให้ยื่นคำร้องเพื่อให้หมายเรียกพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ หรือในเวลาใดๆต่อมาก่อนมีคำพิพากษาโดยได้รับอนุญาตจากศาล เมื่อศาลเป็นที่พอใจว่าคำร้องนั้นไม่อาจยื่นก่อนนั้นได้
          คำร้องที่ขอให้หมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) ไม่ถือว่าเป็นคำคู่ความ
          (2) กรณีที่ศาลเห็นสมควรหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นคู่ความ มีอยู่ 2 กรณี คือกรณีที่กฎหมายบังคับให้บุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือศาลเห็นจำเป็นที่จะเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
          เมื่อศาลมีคำสั่งเรียกบุคคลภายนอกให้เข้ามาในคดีแล้ว ในชั้นที่มีการส่งหมายเรียกจะต้องมีสำเนาคำขอกรณีที่คู่ความร้องขอหรือคำสั่งศาลกรณีที่ศาลหมายเรียกเข้ามาเอง และสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีนั้นแนบไปให้บุคคลที่ถูกหมายเรียกด้วย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2540  จำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57 (3) เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยให้ใช้ค่าทดแทนหากจำเลยแพ้คดี ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วม จึงเป็นกรณีที่จำเลยในฐานะผู้เอาประกันประสงค์จะเรียกให้จำเลยร่วมผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ตามสัญญา จึงต้องฟ้องหรือหมายเรียกให้จำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายในกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่เกิดวินาศภัย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 882 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นอายุความฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัยมาใช้บังคับ และกรณีมิใช่โจทก์ฟ้องบังคับจำเลยร่วมให้รับผิดในมูลละเมิดที่กระทำต่อโจทก์ จึงไม่อาจนำอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับ ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุวินาศภัยวันที่ 22 มีนาคม 2534 จำเลยได้หมายเรียกจำเลยร่วมเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนวันที่ 22 มีนาคม2536 ภายในกำหนด 2 ปี คดีของจำเลยย่อมไม่ขาดอายุความ และเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้วันที่ 26 มิถุนายน 2534 โดยมูลละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยเกิดวันที่ 22 มีนาคม 2534 ยังอยู่ในอายุความ 1 ปี ตามมาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความ
          ในกรณีที่ถูกบังคับให้เข้ามาในคดีตามมาตรา 57 (3) ในฐานะผู้ร้องสอดไม่ว่าจะโดยคำร้องของคู่ความเดิมหรือโดยคำสั่งศาลก็ตาม ผู้ถูกเรียกให้เข้ามามีสิทธิดำเนินคดีได้อย่างเต็มที่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5417/2549  การที่จะเรียกบุคคลภายนอกซึ่งมิใช่คู่ความเข้ามาในคดีนั้นจะต้องแสดงเหตุผลว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นว่านั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) แต่ตามคำร้องของจำเลยทั้งสองที่ขอให้เรียกบริษัท ผ. เข้ามาเป็นคู่ความร่วมกับจำเลยทั้งสองนั้นได้ความว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่บริษัท ผ. ต่อมาบริษัท ผ. ได้สลักหลังโอนให้โจทก์ ดังนั้นหากศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงไม่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัท ผ. ผู้สลักหลังได้ กรณีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเรียกบริษัท ผ. เข้ามาเป็นคู่ความในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

          5. สิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องสอด
          มาตรา 58  "ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (1) และ (3) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
          ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (2) แห่งมาตราก่อน ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน
          เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ถ้ามีข้อเกี่ยวข้องกับคดี เป็นปัญหาจะต้องวินิจฉัยในระหว่างผู้ร้องสอดกับคู่ความฝ่ายที่ตนเข้ามาร่วม หรือที่ตนถูกหมายเรียกให้เข้ามาร่วมผู้ร้องสอดย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
          (1) เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของคู่ความนั้น ทำให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีช้าเกินสมควรที่จะแสดงข้อเถียงอันเป็นสาระสำคัญได้ หรือ
          (2) เมื่อคู่ความนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้ยกขึ้นใช้ซึ่งข้อเถียงในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งผู้ร้องสอดมิได้รู้ว่ามีอยู่เช่นนั้น"

          สิทธิของผู้ร้องสอดสามารถแบ่งแยกได้ 2 กรณี
          กรณีแรก ผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (1) และ (3) นั้น มาตรา 58 ให้ถือเสมือนว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ผู้ร้องสอดจึงสามารถสู้คดีได้อย่างเต็มที่ กล่าวคือ ผู้ร้องสามารถนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
          และในเรื่องคำให้การกรณีถูกเรียกเขามาเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57 (3) ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จึงมีสิทธิยกข้อต่อสู้ของตนเองขึ้นต่อสู้ได้ไม่มีจำกัด สามารถให้การนอกเหนือจากที่จำเลยเดิมให้การไว้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2525   แม้โจทก์จะได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาแต่มูลละเมิดภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคแรกแล้วก็ตามแต่เมื่อได้ขอให้ศาลหมายเรียกห้างหุ้นส่วนจำกัด ท. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3) ปรากฏว่าล่วงพ้นกำหนดอายุความดังกล่าวแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมจึงเป็นอันขาดอายุความฟ้องร้องเพราะกำหนดอายุความย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแก่ลูกหนี้แต่ละคนโดยเฉพาะ  กรณีดังกล่าวจำเลยร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคแรก หาได้มีสิทธิเท่ากับจำเลยไม่ จำเลยร่วมจึงมีสิทธิยกอายุความขึ้นต่อสู้ได้และกำหนดอายุความสำหรับจำเลยร่วมต้องถือตามวันที่โจทก์ขอให้หมายเรียกเข้ามาในคดีมิใช่ถือตามคำฟ้องเริ่มต้นคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2485/2533  ผู้ร้องสอดร้องสอดเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ซึ่งตามมาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้ร้องสอดมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ดังนั้น ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิที่จะต่อสู้ในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและอำนาจฟ้องของโจทก์ได้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10514-10515/2558   จำเลยร่วมถูกหมายเรียกเข้ามาในคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 1 โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าจำเลยที่ 1 อาจฟ้องจำเลยร่วมเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนอันเป็นกรณีร้องสอดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ซึ่งตามมาตรา 58 ให้ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามมาตรา 57 (3) มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่และอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาหมดสิทธิที่จะขอศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี ทั้งจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอมาถูกต้องในระหว่างพิจารณาคดี จำเลยร่วมจึงมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่ความได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความชอบแล้ว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9740/2558   ผู้ร้องสอดเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาภายหลังฟ้อง และร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) อันเป็นไปเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตน โดยไม่ได้ขอเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) เพราะตนมีส่วนได้เสียตามกฎหมายในผลแห่งคดีนั้น คำขอบังคับของผู้ร้องสอดเป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด และห้ามโจทก์กับจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด เท่ากับเป็นการตั้งประเด็นฟ้องทั้งโจทก์และจำเลย และตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง คดีร้องสอดคดีนี้จึงเสมือนหนึ่งว่าผู้ร้องสอดได้ฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีใหม่และเป็นอีกคดีหนึ่งแยกกันได้กับคดีเดิม อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องแย้งเข้ามาในคำให้การแก้ร้องสอดได้ ผู้ร้องสอดจะยกข้อต่อสู้ที่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีเดิมมาเป็นข้อต่อสู้ของตนในคดีร้องสอดและฟ้องแย้งนี้ไม่ได้
          ขณะทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยและผู้ร้องสอดทราบแล้วว่า โจทก์ยื่นคำขออายัดที่ดินเนื่องจากจำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2555 แต่จำเลยไม่ยอมมาโอนตามสัญญา เจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำขออายัดมีกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2555 และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 จำเลยและผู้ร้องสอดรับทราบและยืนยันให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนโอนขายให้ หากเกิดความเสียหายใดๆ ขอรับผิดชอบเองทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้าเงื่อนไขที่โจทก์ขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 วรรคหนึ่ง แล้ว
          ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่ 3 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) เพื่อขอให้มีคำพิพากษาแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด กับห้ามโจทก์และจำเลยยุ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของผู้ร้องสอด และที่โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดและฟ้องแย้งในคดีร้องสอด ก็เป็นไปเพื่อเพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 อันเป็นการเพิกถอนสัญญาซื้อขายระหว่างจำเลยกับผู้ร้องสอดและการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท ที่มีผลให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของจำเลย แล้วโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ตามคำฟ้องอีกทอดหนึ่ง ระหว่างโจทก์กับผู้ร้องสอดจึงไม่ใช่พิพาทกันด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่าเป็นของโจทก์หรือของผู้ร้องสอด คดีร้องสอดและฟ้องแย้งคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลเรื่องละ 200 บาท ตามตาราง 1 ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) (2) (ก).
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 990-991/2558  ตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 808 ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจให้ตัวแทนช่วงทำการได้ เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้บริษัท ซ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนกับให้มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อกระทำการแทนได้ ดังนั้น บริษัท ซ. มีอำนาจตั้ง ข. เป็นตัวแทนช่วงให้ทำการฟ้องคดีแทนต่อไป แต่ ข. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบอำนาจด้วยตนเอง เนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจไม่มีข้อความระบุว่า โจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้ ข. มีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงคนเดียวหรือหลายคนเพื่อให้มีอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจช่วง ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ ข. ไม่มีอำนาจตั้งให้ อ. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน อ. ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
          โจทก์ร่วมเข้ามาเป็นโจทก์ในคดีนี้เพราะโจทก์ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกโจทก์ร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 และ 549 อันเป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) โจทก์ร่วมย่อมมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคหนึ่ง หาใช่เป็นการร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (2) ซึ่งต้องห้ามมิให้โจทก์ร่วมใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่โจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วมไม่ ดังนั้น แม้ฟ้องเดิมโจทก์จะไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ร่วมก็เข้ามาในคดีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8654/2557   คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีโดยอาศัยสิทธิของผู้ร้องสอดเองในฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) ซึ่งมาตรา 58 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้าเป็นคู่ความในคดีมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ดังนั้น แม้จำเลยจะขาดนัดยื่นคำให้การ ก็หาเป็นการตัดสิทธิของผู้ร้องสอดในการต่อสู้คดีของโจทก์ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4632/2554   โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินและบ้านพิพาท จำเลยทั้งสองให้การว่าโจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและบ้านพิพาท แต่รับโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทมาจากจำเลยร่วมโดยไม่สุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและบ้านพิพาทกับจำเลยร่วมอยู่ในฐานะจดทะเบียนโอนได้ก่อน  การทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมเป็นการฉ้อฉลทำให้จำเลยทั้งสองเสียเปรียบเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเป็นการต่อสู้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิในที่ดินและบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์ จึงเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองที่ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกและให้จำเลยร่วมโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยทั้งสองนั้น จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) โดยอ้างว่าได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมบ้านพิพาทกับจำเลยร่วมอยู่ก่อน แต่โจทก์กับจำเลยร่วมร่วมกันฉ้อฉลทำให้จำเลยทั้งสองเสียหาย จึงมีเหตุสมควรที่จะเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) และถือว่าจำเลยร่วมเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 58 วรรคแรก บัญญัติให้ผู้ร้องสอดที่เข้ามาตามมาตราดังกล่าวมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ จำเลยร่วมจึงเป็นคู่ความในคดีที่จำเลยทั้งสองสามารถฟ้องแย้งและถูกบังคับคดีได้ หาใช่จำเลยร่วมเป็นคู่ความฝ่ายเดียวกับจำเลยทั้งสองและไม่อาจถูกฟ้องแย้งไม่
          กรณีที่สอง ผู้ร้องสอดตามมาตรา 57 (2) นั้น มาตรา 58 ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วม และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน ดังนั้น กรณีขอเข้าเป็นจำเลยร่วมจึงมีผลว่า หากจำเลยเดิมขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ผู้ร้องสอดก็ไม่อาจยื่นคำให้การขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ การเข้ามาในคดีก็ไม่มีประโยชน์ หรือกรณีจำเลยเดิมให้การต่อสู้เพียงเรื่องอายุความ จำเลยร่วมก็จะไปให้การต่อสู้ในเรื่องฟ้องเคลือบคลุมไม่ได้เพราะเป็นการให้การต่อสู้นอกเหนือคำให้การของจำเลยเดิม แต่ถ้ากรณีจำเลยเดิมยังไม่ได้ยื่นคำให้การ จำเลยร่วมย่อมสามารถให้การอย่างไรก็ได้

          ข้อผูกพันที่ผู้ร้องสอดต้องรับผิด
          เมื่อได้เข้ามาเป็นคู่ความในคดีแล้ว ผู้ร้องสอดย่อมต้องผูกพันในผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้น และมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกา แต่สำหรับคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าไปร่วมหรือแทนที่นั้นมีข้อยกเว้นอยู่ 2 ประการที่ผู้ร้องสอดไม่ต้องผูกพันในระหว่างคู่ความร่วมด้วยกันเอง กล่าวคือ
          (1) เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของคู่ความเดิมฝ่ายที่ผู้ร้องสอดเข้าร่วมนั้น ทำให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีช้าเกินสมควรที่จะแสดงข้อเถียงอันเป็นสาระสำคัญได้ หรือ
          (2) เมื่อคู่ความเดิมฝ่ายที่ผู้ร้องสอดเข้าร่วมนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้ยกขึ้นใช้ซึ่งข้อเถียงในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งผู้ร้องสอดมิได้รู้ว่ามีอยู่เช่นนั้น