การขอเฉลี่ยทรัพย์

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
          มาตรา 290  "เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          ไม่ว่าในกรณีใดๆ ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่ามานี้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
          เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรในอันที่จะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระค่าภาษีอากรค้างให้มีสิทธิขอเฉลี่ยในทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานดังกล่าวได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อนแล้วเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามความในวรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าพนักงานมิได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อน ให้ขอเฉลี่ยได้ภายในบังคับบทบัญญัติวรรคสอง
          ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายได้ในครั้งนั้นๆ
          ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้
          ในกรณียึดเงิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันยึด
          เมื่อได้ส่งสำเนาคำขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการจ่ายเงินหรือทรัพย์สินตามคำบังคับไว้จนกว่าศาลจะได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาด เมื่อศาลได้มีคำสั่งประการใดและส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว ก็ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติไปตามคำสั่งเช่นว่านั้น
          ในกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดผู้ขอเฉลี่ยหรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 287 หรือตามมาตรา 289 มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป
          คำสั่งอนุญาตของศาลตามวรรคแปดให้เป็นที่สุด"

          การขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีอย่างหนึ่ง จะขอเฉลี่ยทรัพย์ก็ต้องขอภายในระยะเวลา 10 ปี เช่นเดียวกันตามมาตรา 271
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6053/2550  ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ของการบังคับคดีตามกฎหมายให้ครบถ้วนภายในกำหนด 10 ปี การที่ผู้ร้องนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงขั้นตอนการบังคับคดี ไม่ทำให้ระยะเวลาบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 ขยายออกไป
          ผู้ร้องได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 แต่เป็นการยึดซ้ำจึงไม่มีผลเป็นการยึดตามกฎหมาย เมื่อผู้ร้องมิได้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจนเกินกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลจังหวัดกำแพงเพชรมีคำพิพากษา ผู้ร้องย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องไม่มีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ เพราะการขอเฉลี่ยทรัพย์เป็นการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อย่างหนึ่งเช่นกัน




          หลักสำคัญในเรื่องเฉลี่ยทรัพย์ คือ ห้ามยึดหรืออายัดซ้ำ มีรายละเอียดดังนี้
          1. กรณีมีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามากกว่าหนึ่งคดีและเป็นหนี้เงิน ซึ่งเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีใดยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แล้ว ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคดีอื่นไปยึดทรัพย์ชิ้นเดียวกันนั้นซ้ำอีก หรือถ้าเป็นเรื่องของสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งมีต่อบุคคลภายนอก ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหนึ่งบังคับคดีโดยการอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ไว้แล้ว ห้ามเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นไปอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ได้จากการขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ คือ แม้จะห้ามยึดหรืออายัดทรัพย์ แต่อนุญาตให้สิทธิเข้าไปขอเฉลี่ยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8870/2550  ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษากับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งได้นั้น หมายถึง เจ้าหนี้ผู้ที่จะมาขอเฉลี่ยต้องเป็นผู้ไม่มีอำนาจเหนือทรัพย์สินของลูกหนี้ ส่วนกรณีที่ผู้ร้องได้สิทธิโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับให้จดทะเบียนสิทธิได้อยู่แล้วจึงไม่มีกรณีที่จะต้องมาขอเฉลี่ยทรัพย์ แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดที่ดินเพื่อบังคับคดีให้กระทบกระทั่งสิทธิ
          2. ไม่ว่าในกรณีใดๆ ห้ามมิให้ศาลอนุญาตตามคำขอเช่นว่ามานี้ เว้นแต่ศาลเห็นว่าผู้ยื่นคำขอไม่สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา คือ ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องนั้นไว้แล้ว เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นห้ามยึดหรืออายัดซ้ำอีก แต่ต้องใช้วิธีขอเฉลี่ย โดยการขอเฉลี่ยนั้นจะต้องได้ความว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นไม่มีทรัพย์สินอื่นๆที่จะให้บังคับคดีได้อีก ศาลจึงจะสั่งอนุญาต
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1678/2540  ผู้ร้องได้นำยึดที่ดินของจำเลยซึ่งติดจำนอง ก. เป็นประกันเงินกู้ที่จำเลยได้ขอกู้เพื่อซื้อที่ดินเป็นเงิน 500,000 บาทมียอดหนี้จำนองถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2534 เป็นเงิน 410,000 บาทและต่อมามียอดหนี้ค้างเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 เพียง 247,000บาท เท่านั้น แสดงว่าราคาที่แท้จริงของที่ดินแปลงนี้น่าจะมากกว่า500,000 บาท ตามที่ได้จดทะเบียนจำนองกับ ก.ไว้ และหนี้ตามคำพิพากษาที่จำเลยต้องชำระให้ผู้ร้องนับถึงวันที่ศาลมีคำสั่งคำร้องของผู้ร้องคดีนี้คิดเป็นเงินประมาณ 257,760 บาท จึงยังถือไม่ได้ว่าทรัพย์ที่ผู้ร้องยึดไว้ไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษาแม้ทรัพย์ที่ยึดมีการร้องขัดทรัพย์ แต่ยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทรัพย์ที่ยึดไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 ทรัพย์ที่ยึดจึงยังเป็นของจำเลยที่ 1 กรณีจึงยังไม่ต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสอง ที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้
          3. เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรในอันที่จะสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระค่าภาษีอากรค้างให้มีสิทธิขอเฉลี่ยในทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานดังกล่าวได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อนแล้วเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามความในวรรคหนึ่ง แต่ถ้าเจ้าพนักงานมิได้ยึดหรืออายัดไว้ก่อน ให้ขอเฉลี่ยได้ภายในบังคับบทบัญญัติวรรคสอง หมายความว่า กรณีเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรซึ่งมีอำนาจบังคับคดีได้เองโดยไม่ต้องฟ้องศาล ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 นั้น แม้กฎหมายจะให้อำนาจไว้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามกฎหมายดังกล่าวนั้นมิใช่ยึดในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงสามารถไปยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งถูกเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรยึดหรืออายัดไว้ได้ ไม่ใช่การยึดหรืออายัดซ้ำ โดยกฎหมายก็จะให้เจ้าหนี้ภาษีอากรเข้ามาเฉลี่ยทรัพย์ที่ยึดไว้ได้เช่นเดียวกับเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามความใน มาตรา 290 วรรคหนึ่ง (ในข้อ 1)  โดยเจ้าหนี้ภาษีอากรไม่ต้องสนใจว่าลูกหนี้จะมีทรัพย์สินอื่นหรือไม่ แต่ถ้าเจ้าหนี้ภาษีอากรนั้นยังไม่ได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ ก็มีสิทธิขอเฉลี่ยได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 290 วรรคสอง (ในข้อ 2) คือ ต้องดูว่าลูกหนี้ยังมีทรัพย์สินอย่างอื่นให้บังคับคดีหรือไม่ ถ้ายังมีทรัพย์สินอื่นเหลืออยู่เพียงพอจะบังคับคดี ก็ไม่สามารถเข้ามาเฉลี่ยในทรัพย์ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษายึดไว้ได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2510  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ที่ห้ามมิให้ยึดซ้ำนั้น จะต้องเป็นการยึดทรัพย์ซ้ำกันในระหว่างเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกันในทรัพย์รายเดียวกันของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนการที่เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรยึดไว้ก่อนอันเป็นการยึดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 นั้น ไม่ใช่เป็นการยึดของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงทำการยึดได้ไม่เป็นการยึดซ้ำ และการที่เจ้าพนักงานตามประมวลรัษฎากรทำการยึดก็ไม่ทำให้ทรัพย์ที่ยึดกลายเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน เพราะกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ยึดยังเป็นของจำเลยจนกว่าจะได้ขายทอดตลาดไป ประมวลรัษฎากรมาตรา 12 เป็นแต่เพียงให้อำนาจพิเศษแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอที่จะยึดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษีอากรเพื่อขายทอดตลาดได้โดยไม่ต้องฟ้องต่อศาลเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ว่าเมื่อยึดมาแล้วมิให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของลูกหนี้ทำการยึดหรือห้ามศาลไม่ให้สั่งขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึด ฉะนั้น เมื่อทรัพย์ที่ยึดไว้ยังไม่ได้ทำการขายทอดตลาดไป เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ย่อมทำการยึดเพื่อดำเนินการตามคำสั่งศาลได้ ส่วนสิทธิของกรมสรรพากรตามประมวลรัษฎากรในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างมีอยู่อย่างไร ก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายที่มีบัญญัติไว้
          4. ระยะเวลาในการยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ กำหนดอยู่ในมาตรา 290 วรรคสี่ วรรคห้า และวรรคหก กล่าวคือ
          (1) กรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายได้ในครั้งนั้นๆ
          (2) กรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้
          (3) กรณียึดเงิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันยึด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1161/2515   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสาม บัญญัติว่า 'ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลา 14 วันนับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้น' การที่ผู้ร้องยื่นคำขอเฉลี่ยก่อนวันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไม่มีอะไรห้ามไม่ให้ยื่นเพราะกฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่าอย่าให้ช้ากว่า 14 วันนับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินเท่านั้น
          การขอเฉลี่ยทรัพย์นั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นจะเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินไม่ได้ ก็แต่ในกรณีที่ยังมีทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาอยู่ และเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยังสามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ นั้น
          คำว่า สามารถเอาชำระได้จากทรัพย์สินอื่นๆ ของลูกหนี้ได้นั้น หมายความว่าสามารถเอาชำระได้โดยสิ้นเชิง การได้รับชำระหนี้แต่เพียงบางส่วน หาเป็นการสามารถเอาชำระหนี้ตามความหมายของมาตรา 290 วรรคสอง ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1213/2510  ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด ผู้ร้องจะต้องขอเฉลี่ยภายในสิบสี่วันนับแต่วันขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ศาลชั้นต้นขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยไปในวันที่ 10 มีนาคม 2509 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งที่ให้ขายทอดตลาดทรัพย์ของศาลชั้นต้น จึงต้องถือว่าวันขายทอดตลาดทรัพย์คือวันที่ 10 มีนาคม 2509 แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2509 จึงเกินกำหนดเวลาที่ผู้ร้องจะยื่นขอเฉลี่ยได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2820/2551  ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ บัญญัติว่า “ในกรณีที่ยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น คำขอเช่นว่านี้ให้ยื่นก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด หรือจำหน่ายได้ในครั้งนั้น ๆ” คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ยึดไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ วันที่ 4 สิงหาคม 2548 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด คำสั่งศาลชั้นต้นเป็นที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ จึงต้องถือว่าวันขายทอดตลาดคือวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 หาใช่วันที่คดีเกี่ยวกับคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดถึงที่สุดดังที่ผู้ร้องเข้าใจไม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามกฎหมาย ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องเสีย การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2538  แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องขอของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้อายัดเงินซึ่งธนาคารส่งมาตามหมายอายัดชั่วคราวของศาลเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2533 แต่ก็ยังไม่มีการชำระเงินตามคำสั่งดังกล่าวระยะเวลาสิบสี่วันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า จึงยังไม่เริ่มนับ ดังนั้น เมื่อผู้ร้องนำเงินมาชำระคืนตามคำสั่งศาลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2533 พร้อมกับยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากเงินจำนวนดังกล่าวในวันเดียวกัน จึงถือได้ว่าผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ภายในกำหนดเวลาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 290 วรรคห้าแล้ว จึงเป็นการยื่นขอเฉลี่ยทรัพย์โดยชอบ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4703/2550  ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินอย่างใดของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ห้ามไม่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอื่นยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นซ้ำอีก แต่ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเช่นว่านี้มีอำนาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องต่อศาลที่ออกหมายบังคับให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ตนเข้าเฉลี่ยในทรัพย์สินหรือเงินที่ขายหรือจำหน่ายทรัพย์สินนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” จากบทบัญญัติดังกล่าวยังมีกำหนดเงื่อนเวลาไว้ด้วย ตามมาตรา 290 วรรคห้า ซึ่งบัญญัติว่า “ในกรณีที่อายัดทรัพย์สิน ให้ยื่นคำขอเสียก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้”
          คดีนี้โจทก์ชนะคดีและเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีโดยยึดหรืออายัดและขายทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาเพื่อชำระหนี้ได้ เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดไปยังศาลแพ่งนั้น เป็นเงินที่บุคคลภายนอกนำส่งไว้เนื่องจากมีคำสั่งอายัดชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาอันเป็นวิธีการชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) ประกอบมาตรา 266 มิใช่ทรัพย์ที่ถูกอายัดไว้จากการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในเงินจำนวนดังกล่าวยังเป็นของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้อยู่ในขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัด การอายัดทรัพย์ในคดีนี้จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาโดยอายัดสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีต่อมหาวิทยาลัย อ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั่นเอง ส่วนศาลแพ่งนั้นเป็นเพียงสถานที่ที่เก็บรักษาทรัพย์ที่ขออายัดไว้เท่านั้น เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้รับเงินตามที่อายัดไว้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งถือได้ว่ามีการชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้แล้ว ดังนั้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2542 จึงล่วงระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันชำระเงินหรือส่งทรัพย์สินตามที่อายัดไว้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคห้า ผู้ร้องจึงไม่สามารถร้องขอเฉลี่ยทรัพย์จากจำนวนเงินดังกล่าวได้
          แต่อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการบังคับคดี แต่เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษานำมามอบให้เอง เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นก็ไม่มีสิทธิมาขอเฉลี่ย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1324/2503 (ประชุมใหญ่)  ศาลพิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนและให้จำเลยให้เงินค่าหุ้นให้แก่โจทก์ จำเลยได้นำเงินมาวางศาลแล้วตามคำบังคับเพื่อชำระแก่โจทก์ ดังนี้ เจ้าหนี้ของจำเลยตามคำพิพากษาในคดีอื่นจะมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยหนี้ในเงินจำนวนนี้ไม่ได้ เพราะเป็นเงินที่จำเลยนำมาชำระเองเพื่อชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษาให้พ้นจากความริบผิดชอบในหนี้จำนวนนี้ระงับสิ้นไป มิได้สงวนสิทธิหรือโต้แย้งการจะจ่ายไว้ประการใด และโจทก์ก็ได้ถือสิทธิขอรับเงินจำนวนนี้จากศาล ต้องถือว่าเป็นสิทธิแก่โจทก์แล้ว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 24/2503)
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6328/2538  เงินที่ผู้ร้องร้องขอเฉลี่ยเป็นเงินที่จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาล โดยจำเลยยอมให้การรถไฟแห่งประเทศไทยมอบหรือหักเงินเดือนของจำเลยทุกเดือนชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนกว่าจะครบ  เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นเงินที่การรถไฟแห่งประเทศไทยส่งไปยังศาลเพื่อชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่เงินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์รายนี้
          ทั้งนี้ ถ้าหากลูกหนี้ตามคำพิพากษาเลือกชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคนหนึ่งอันเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นต้องเสียเปรียบ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นที่เสียเปรียบก็อาจร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการชำระหนี้ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1130-1131/2505 (ประชุมใหญ่)  ในกรณีที่จำเลยมีเจ้าหนี้คำพิพากษาสองราย  แต่ทรัพย์ของจำเลยมีเพียงอย่างเดียว  เช่น เรือน 1 หลัง  ซึ่งไม่สามารถใช้หนี้ทั้งสองรายได้นั้น การที่จำเลยเลือกใช้หนี้เพียงรายใดรายหนึ่ง อันเป็นผลทำให้เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งเสียเปรียบ เพราะไม่มีทรัพย์เหลือพอจะชำระหนี้ได้ และเจ้าหนี้ที่ได้รับชำระหนี้ไปแล้วก็เป็นผู้นำยึดทรัพย์นั้นเอง ทั้งรู้อยู่ด้วยว่าเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งมีสิทธิขอเฉลี่ยจากทรัพย์ที่ยึด แต่กลับไปถอนการยึดเสียแล้วตกลงรับชำระหนี้กันโดยลำพัง ซึ่งทำให้เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งเฉลี่ยไม่ได้เช่นนี้ เป็นการฉ้อฉล เจ้าหนี้ผู้ที่เสียเปรียบนี้มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการชำระหนี้นั้นได้
          เมื่อเพิกถอนแล้ว ทรัพย์นั้นก็กลับสู่สภาพเดิม คือ กลับเป็นของจำเลย เจ้าหนี้มีสิทธิยึดชำระหนี้ได้
          การที่เจ้าหนี้คนหนึ่งเอาสัมภาระที่ลูกหนี้ตีชำระหนี้ไปปลูกเป็นเรือนขึ้นในที่ดินของตนนั้น  สัมภาระได้กลายเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1315  เจ้าหนี้คนนั้นย่อมเป็นเจ้าของสัมภาระนี้ด้วยอำนาจของกฎหมาย  เจ้าหนี้อีกคนหนึ่งที่เสียเปรียบดังกล่าว  ย่อมขอให้เพิกถอนได้เฉพาะแต่นิติกรรมดังกล่าว แต่เจ้าหนี้ผู้ที่ได้สัมภาระไปต้องใช้ค่าสัมภาระให้แก่ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ที่เสียเปรียบชอบที่จะใช้สิทธิของลูกหนี้ เรียกเอาค่าสัมภาระนี้เพื่อชำระหนี้เป็นคดีใหม่แต่ไม่อาจยึดเรือนหลังนี้เพื่อขายทอดตลาด
          5. กรณียึดหรืออายัดชั่วคราวไว้ก่อนมีคำพิพากษา มิใช่กรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่ต้องห้ามมิให้ยึดหรืออายัดซ้ำ
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6093/2534  การยึดทรัพย์ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (1) มิใช่เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทำการบังคับคดีโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไว้แทนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา จึงไม่ต้องด้วยข้อห้ามมิให้ยึดหรืออายัดซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 บทบัญญัติใน ป.วิ.พ. ลักษระ 2 แห่งภาค 4 ว่าด้วยการบังคับคดีมาตรา 259 ให้นำมาใช้บังคับแก่วิธีการชั่วคราวนั้น หารวมถึงบทบัญญัติมาตรา 290 นี้ไม่
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 310/2518  การที่ศาลมีคำสั่งอายัดเงินซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้รับจากบุคคลภายนอกไว้ก่อนพิพากษา ก็เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ให้ได้รับผลตามคำพิพากษา ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับคดีตามคำพิพากษา ซึ่งถ้าโจทก์ชนะคดีแล้วประสงค์จะให้ได้รับผลตามคำพิพากษา โจทก์ก็จะต้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษานั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 260 อีกชั้นหนึ่ง ได้ความว่าเมื่อศาลสั่งอายัดเงินซึ่งจำเลยมีสิทธิจะได้รับจาก อ.ตามที่โจทก์ขอ ได้ออกหมายอายัดชั่วคราวไปยัง อ.และแจ้งให้ส่งเงินตามหมายอายัดมายังศาลแล้ว ผู้ร้องชนะคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยคนเดียวกันนี้ในคดีอีกเรื่องหนึ่งและศาลได้ตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อยึดอายัดทรัพย์สินจำเลยใช้หนี้ผู้ร้องเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินของจำเลยไปยัง อ.ด้วย แต่ อ.ได้ส่งเงินมาไว้ในคดีนี้ ต่อมาศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีนี้ และออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ร้องขอ และเจ้าพนักงานบังคับคดีก็ขอให้ศาลส่งเงินไปให้ เพื่อทำการยึดไว้ชำระหนี้แก่ผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในอีกคดีหนึ่งได้ร้องขอและศาลได้ออกหมายบังคับคดีให้จัดการยึดอายัดทรัพย์ของจำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดีได้อายัดเงินที่จำเลยมีสิทธิจะได้รับต่อ อ.ตั้งแต่ก่อนที่ศาลจะพิพากษาและออกหมายบังคับคดีในคดีของโจทก์นี้ แม้ อ.ได้ส่งเงินดังกล่าวมาไว้ในคดีนี้ ก็ต้องถือว่าเป็นการอายัดเงินของจำเลยในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำ พิพากษาคดีนี้ในภายหลังจึงไม่มีสิทธิจะโต้แย้งผู้ร้องได้ และกรณีที่มีการอายัดทรัพย์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษานั้น ผู้ร้องก็ไม่ต้องห้ามที่จะขออายัดทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้ (อ้างนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 672/2514) ผู้ร้องจึงมีสิทธิในเงินของจำเลยในคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 321-323/2523  คำสั่งใดๆ ของศาลเกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณา ศาลอาจเปลี่ยนแปลงได้
          ผู้ร้องขออายัดเงินไว้ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาในคดีเรื่องหนึ่งที่ผู้ร้องเป็นโจทก์ การอายัดชั่วคราวนี้ไม่ห้ามโจทก์ในคดีอีกเรื่องหนึ่งที่จะอายัดทรัพย์ของจำเลยนั้นเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ เมื่อได้ส่งเงินตามที่อายัดมายังเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษาแล้ว การอายัดเสร็จสิ้น การอายัดชั่วคราวของผู้ร้องสิ้นผล ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในภายหลังไม่มีสิทธิโต้แย้งได้
          ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นซึ่งยังไม่ถึงที่สุดไม่มีสิทธิร้องขอให้งดการบังคับคดีนี้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2541  แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอายัดเงินของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีอื่นก็มีสิทธิที่จะขออายัดทรัพย์นั้นเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีของตน เพราะกรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามมิให้อายัดทรัพย์ซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 และเมื่อบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้ครอบครองเงินของจำเลยได้จัดส่งเงินดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้อายัดไว้ชั่วคราวมาแล้วเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นได้ขอบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีได้บังคับคดีโดยมีหนังสือขออายัดเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว การอายัดเงินดังกล่าวของจำเลยไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามคำร้องของโจทก์ย่อมสิ้นผลไปโดยปริยาย
          6. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นซึ่งจะเข้ามาขอเฉลี่ยทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาถึงที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2700/2520  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ได้บัญญัติถึงสิทธิของเจ้าหนี้ที่จะยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์ไว้แต่เพียงว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและให้ยื่นคำขอก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สิน หาได้กำหนดว่าจะต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเมื่อคดีถึงที่สุดไม่กรณีจึงไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุดเสียก่อนเจ้าหนี้ก็มีสิทธิเพื่อที่จะยังให้ได้รับรองคุ้มครองและบังคับตามสิทธิของตนโดยบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวได้
          กรณีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเจ้าหนี้ผู้ทรงทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์ที่กำลังถูกบังคับคดี เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นมีสิทธิได้รับชำระจากเงินที่เหลือภายหลังที่ได้ชำระให้แก่เจ้าหนี้ผู้ทรงทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์แล้ว ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 มาบังคับใช้โดยอนุโลม
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2629/2525  การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลย ในคดีที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำนองยึดไว้ เพื่อขายทอดตลาดนั้น มิใช่เป็นกรณีเฉลี่ยทรัพย์โดยตรงกับโจทก์ เพราะโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำนอง แต่เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระจากเงินที่เหลือภายหลังที่ได้ชำระให้แก่โจทก์แล้ว ต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 มาบังคับใช้โดยอนุโลม เมื่อผู้ร้องได้ยื่นคำร้องเข้ามาก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันขายทอดตลาด. ศาลจึงอนุญาตให้ผู้ร้องรับเงินตามสิทธิได้
          มาตรา 290 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองเจ้าหนี้ ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าจำเลยยังมีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องสามารถเอาชำระหนี้ได้ซึ่งเป็นข้อโต้แย้งระหว่างเจ้าหนี้ด้วยกัน จำเลยผู้เป็นลูกหนี้จะยกขึ้นโต้แย้งหาได้ไม่
          7. กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดผู้ขอเฉลี่ยหรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 287 หรือตามมาตรา 289 มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป หมายความว่า เฉพาะกรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสละสิทธิหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีเท่านั้น แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิบังคับคดีแล้ว ผู้ขอเฉลี่ยหรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 287 หรือตามมาตรา 289 ก็ไม่มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3469/2534   การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้นำยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 ไว้ขายทอดตลาดเพื่อเอาเงินชำระหนี้ และต่อมาโจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 2 ครบถ้วนแล้วนั้น กรณีเช่นนี้โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ต่อไปและไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 290 วรรคท้าย ผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและได้ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ต่อศาลแรงงานกลางซึ่งได้ออกหมายบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 ไว้ไม่มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้.
          กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดสละสิทธิในการบังคับคดี หรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ผู้ขอเฉลี่ยหรือผู้ยื่นคำร้องตามมาตรา 287 หรือตามมาตรา 289 มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไปนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดระยะเวลาบังคับไว้ 
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4096/2539   กรณีที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ยึดทรัพย์สินสละสิทธิในการบังคับคดีหรือเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ป.วิ.พ.มาตรา 295 ทวิ บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดีนั้นเสียส่วนมาตรา 290 วรรคแปด บัญญัติให้ผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์ตามวรรคแรกมีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป เมื่อใจความทั้งสองมาตราหาได้กำหนดไว้ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีกับผู้ขอเฉลี่ยทรัพย์จะต้องร้องขอภายในกำหนดเวลา หรือเงื่อนไขอย่างไรศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 ให้ถอนการบังคับคดี จึงย่อมมีผลโดยตรงเฉพาะโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่ขอให้ศาลบังคับคดีตาม ป.วิ.พ.มาตรา 271 โดยไม่อาจบังคับคดีต่อไปได้เท่านั้น แต่ไม่กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ที่ได้ยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เมื่อวันที่ 4 และ 5 สิงหาคม 2524 ตามลำดับโดยชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีต่อไป เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ร้องทั้งสองซึ่งจำต้องร้องขอเฉลี่ยทรัพย์เพราะไม่อาจยึดหรืออายัดทรัพย์สินซ้ำตามมาตรา 290 วรรคแรก ได้
          เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหมายนัดเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536 ถึงผู้ร้องทั้งสองแจ้งว่าถ้าหากประสงค์จะสวมสิทธิบังคับคดีแทนโจทก์ ให้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน ผู้ร้องทั้งสองได้แถลงแจ้งความประสงค์ในวันดังกล่าวแล้ว แม้จะกระทำในเวลาภายหลังที่ศาลมีคำสั่งให้ถอนการบังคับคดีก็ย่อมมีผลให้ผู้ร้องทั้งสองสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 290 วรรคแปด โดยไม่จำต้องให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตอีก