ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี

          ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 280  "เพื่อประโยชน์แห่งบทบัญญัติในภาคนี้ บุคคลต่อไปนี้ให้ถือว่ามีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษา
          (1) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และในกรณีที่มีการอายัดสิทธิเรียกร้อง ลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น
          (2) บุคคลอื่นใดซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิอันได้จดทะเบียนไว้โดยชอบหรือที่ได้ยื่นคำร้องขอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288, 289 และ 290 อันเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องเช่นว่ามานั้น เว้นแต่คำร้องขอเช่นว่านี้จะได้ถูกยกเสียในชั้นที่สุด"

          ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 280 (1) ได้แก่ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา และในกรณีที่มีการอายัดสิทธิเรียกร้อง ได้แก่ลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2559   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินของ ป. ผู้ขอประกันจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินมีสภาพและที่ตั้งไม่ตรงตามรายงานการยึดทรัพย์ แผนที่ตั้งที่ดินโดยสังเขปและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยปกติศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ในฐานะเป็นบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ว่าจะคัดค้านหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวน ส่งสำเนาให้ผู้ประกันและเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 2 ด้วย ทั้งคำร้องของผู้ร้องมิใช่เป็นคำขอที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติไว้ว่าจะทำได้แต่ฝ่ายเดียวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อมาจนกระทั่งมีคำสั่ง และศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงเป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความมิได้หยิบยกขึ้นว่ากล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้


          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9535/2558  ผู้ร้องเป็นผู้ถูกอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดิน ซึ่งผู้ร้องจะต้องส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ณ เวลา หรือภายในเวลาตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง และเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องที่มีการอายัด จึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280, 311 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้อง
          เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินของจำเลยที่ 2 มิได้อายัดที่ดินดังกล่าว จึงไม่ต้องห้ามที่จำเลยที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่บุคคลภายนอก เมื่อจำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว สิทธิในเงินค่าเช่าที่ดินย่อมโอนไปยังบุคคลภายนอกนับแต่วันที่จดทะเบียนการโอนตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิรับเงินค่าเช่าอีกต่อไป จึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนการอายัดสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินดังกล่าว
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 547/2556   อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดละเลยเสียไม่ใช้ราคา เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเอาทรัพย์สินนั้นออกขายอีกซ้ำหนึ่ง ได้เงินสุทธิไม่คุ้มราคาและค่าขายทอดตลาดชั้นเดิม อ. ผู้สู้ราคาเดิมต้องรับผิดในส่วนที่ขาดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 516 แห่ง ป.พ.พ. การกระทำของ อ. ถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่ง เนื่องจากโจทก์ผู้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เดิมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งถือว่ามีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 280 (1) แห่ง ป.วิ.พ. กล่าวคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากขายได้ราคาสูงหรือต่ำย่อมมีผลต่อการได้รับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น โจทก์เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในการบังคับเอาเงินส่วนที่ขาดไปจาก อ. ผู้สู้ราคาสูงสุดคนเดิม มิใช่เพียงแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดเท่านั้นที่จะมีอำนาจบังคับเอาจาก อ.
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2551   ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า การปิดหมายหรือปิดประกาศจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่จะปิดให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิดซึ่งเป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย และไม่จำต้องปิดโดยติดกับตัวทรัพย์ไว้เสมอไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้กับต้นไม้บนคูนาในที่ดินพิพาทและปิดที่บ้านของจำเลยโดยผูกไว้กับลูกบิดประตูหน้าบ้านของจำเลยล้วนแต่เป็นการปิดในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายทั้งสิ้น กรณีถือได้ว่าเป็นการปิดประกาศโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว
          ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้วการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นรวมอยู่ด้วย สำหรับคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถือว่ามี 2 ราย คือ จำเลยและ ส. ผู้ตายซึ่งจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดแทนในฐานะทายาทผู้ตายด้วย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมี 2 ฐานะ คือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะส่วนตัว และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะทายาทของผู้ตายด้วย กระบวนพิจารณาใดที่กระทำต่อจำเลยถือได้ว่ากระทำต่อผู้ตายด้วย ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ตายมาโดยตลอด ทั้งยังปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ก่อนจำเลยถูกฟ้องคดี และผู้ร้องก็ไปขอประนอมหนี้กับโจทก์ด้วย แต่ผู้ร้องก็มิได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือทายาทอื่น ย่อมเป็นการแจ้งแก่จำเลยและแจ้งแก่ผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองรายครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5394/2550   ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีอาจคัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดทรัพย์สินไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี เป็นเหตุให้มีการอนุมัติขายทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้แก่ผู้ซื้อในราคาสูงสุดซึ่งต่ำกว่าราคาประเมิน ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าว ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง หรือวิธีการบังคับใดๆ โดยเฉพาะ หรือขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดวิธีการใดๆ ตามที่เห็นสมควร เมื่อจำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ แม้ทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดจะเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 1 ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่สามารถแบ่งแยกการชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ได้ การขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในราคาที่สมควรหรือไม่ ย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับภาระหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดต่อโจทก์ ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 โดยตรง และมีสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่จะคัดค้านว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นมีราคาต่ำจำนวนเกินสมควร ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ฟังคำคัดค้านของจำเลยที่ 1 ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายทอดตลาด จึงมิใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดในทางทรัพย์สินที่บังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 604/2549   คำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ น. เพื่อให้แบ่งทรัพย์มรดกและขอให้ถอดถอนจำเลยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของ น. อันเป็นการพิพาทในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. ซึ่งต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกของ น. ให้แก่โจทก์ หาได้พิพาทกันในฐานะส่วนตัวไม่ ดังนั้นการที่ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของโจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้ฟ้องมารดาซึ่งเป็นบุพการีของตน กรณีจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1562
          แม้ผู้ร้องจะไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้เพราะคดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้นก่อนแล้วก็ตาม แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ก็เพื่อมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยในฐานะจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ น. และโจทก์มีสิทธิดังกล่าวก่อนที่จะถึงแก่กรรม เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมจึงตกทอดแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นผู้รับมรดกของโจทก์และเป็นผู้รับพินัยกรรมย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 จึงมีสิทธิที่จะเข้าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์และดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7338/2545   จำเลยโอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างซึ่งจำเลยจะได้รับจากการกีฬาแห่งประเทศไทย ให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จำกัด เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2540 ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2542 บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จำกัด โอนสินทรัพย์และหนี้สินรวมทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. จำกัด (มหาชน) และวันเดียวกันบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก. จำกัด (มหาชน) โอนสินทรัพย์และหนี้สินรวมทั้งสิทธิเรียกร้องดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง โดยการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวนับแต่วันที่ 24 เมษายน 2540 และผู้ร้องมีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างดังกล่าวนับแต่วันที่ 29 เมษายน 2542 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดสิทธิเรียกร้องนั้นเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2542 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ไปซึ่งสิทธิเรียกร้องนั้น และจำเลยไม่มีสิทธิเรียกร้องดังกล่าวแล้ว การอายัดดังกล่าวจึงเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 310 ทวิ ประกอบมาตรา 311 โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลชั้นต้นอายัดเงินตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้ ผู้ร้องมิใช่บุคคลภายนอกที่เป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องจึงไม่จำต้องคัดค้านคำสั่งอายัดก่อนการกีฬาแห่งประเทศไทยส่งเงินไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 312 วรรคสอง บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิได้ใช้บังคับแก่ผู้ร้อง
          การอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่ได้รับชำระหนี้ ผู้ร้องย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสีย มีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 ประกอบมาตรา 296 วรรคหนึ่ง


          ผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 280 (2) ได้แก่ บุคคลอื่นใดซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิอันได้จดทะเบียนไว้โดยชอบหรือที่ได้ยื่นคำร้องขอตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 288, 289 และ 290 อันเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือสิทธิเรียกร้องเช่นว่ามานั้น เว้นแต่คำร้องขอเช่นว่านี้จะได้ถูกยกเสียในชั้นที่สุด
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6274/2558   โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบังคับจำนองแก่ห้องชุดเลขที่ 60/630 ซึ่งเป็นทรัพย์สินจำนองตามคำพิพากษา ส่วนผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้มีบุริมสิทธิเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายทรัพย์ส่วนกลางที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของห้องชุดดังกล่าวค้างจ่ายแก่ผู้ร้อง ซึ่งตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ถือว่าเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือห้องชุดอันเป็นทรัพย์ส่วนบุคคลของจำเลย และเมื่อปรากฏว่าผู้จัดการผู้ร้องได้ส่งรายการหนี้ดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว บุริมสิทธิของผู้ร้องจึงอยู่ในลำดับก่อนจำนองตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสองของมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์กับผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีการบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) และ (2) และเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่า หนี้ของผู้ร้องที่นำมาขอรับชำระหนี้นั้นขาดอายุความแล้วเพื่อมิให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิจากทรัพย์สินจำนองก่อนโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองซึ่งมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของโจทก์ในทรัพย์สินจำนองนั้น


          กรณีที่ไม่ถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดี
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 484/2552   ผู้ร้องเป็นมารดาของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ถูกโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดตามประกาศยึดทรัพย์ แม้ผู้ร้องจะอ้างว่าเดิมที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดมาเป็นของผู้ร้องที่ได้ยกให้แก่จำเลย และผู้ร้องได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยไปแล้ว โดยจำเลยยินยอมที่จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกยึดคืนให้แก่ผู้ร้องก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะไปว่ากล่าวกันต่างหาก ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 280 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2551  การที่ผู้ร้องอ้างว่าซื้อรถยนต์คันพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 โดยตกลงจะผ่อนชำระค่าเช่าซื้อที่เหลือให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อจนครบถ้วน แต่ปรากฏว่าผู้ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้ซื้อในหนังสือสัญญาซื้อรถยนต์ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้แจ้งให้บริษัทผู้ให้เช่าซื้อทราบและดำเนินการเปลี่ยนให้ผู้ร้องเป็นผู้เช่าซื้อแทน ทั้งใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีและหนังสือยืนยันการชำระเงินค่าเช่าซื้อครบถ้วนก็ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าเช่าซื้อหาใช่ผู้ร้องชำระไม่ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเช่าซื้อนำรถยนต์คันพิพาทมาขายแก่ผู้ร้อง และผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้น รถยนต์คันพิพาทยังไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งระงับการทำนิติกรรมทางทะเบียนของรถยนต์คันพิพาท ไม่ถือว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิในทรัพย์ที่มีการบังคับคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2551  ในระหว่างการไต่สวนของศาลชั้นต้น ผู้ร้องแถลงขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนการยึดที่ดินพิพาทเพราะอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพียงเหตุเดียวและผู้ร้องยังไม่ยื่นขอกันส่วนเงินที่จะได้จากการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท เช่นนี้ เหตุเพิกถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวจึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องบรรยายคำร้องเพียงว่า ผู้ร้องเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย และหากให้ขายทอดตลาดที่ดินพิพาทไปจะมีปัญหาโต้แย้งระหว่างผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ครอบครองที่ดินส่วนหนึ่งกับผู้ซื้อ โดยไม่ปรากฏจากคำร้องว่า ผู้ร้องมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือครอบครองที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิใด จึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีที่ดินพิพาทตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการยึดที่ดินพิพาท
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5534/2550   ข้อโต้แย้งที่ว่าราคาทรัพย์สินที่ขายทอดตลาดต่ำหรือไม่ เป็นข้อโต้แย้งหรือส่วนได้เสียของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลตามที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 280 โดยตรง ไม่เกี่ยวกับผู้ร้องซึ่งเป็นเพียงผู้เข้าสู้ราคาแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างหรือฎีกาในประเด็นดังกล่าวได้
          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8104/2549   ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากบ้านเลขที่ 32 และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี และนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปปิดประกาศให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาล ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี อ้างว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 67987 ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และบ้านเลขที่ 32 และผู้ร้องทั้งสองได้ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกต่อศาลชั้นต้นเป็นอีกคดีหนึ่งเพื่อขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อผู้ร้องทั้งสองเป็นเพียงผู้ที่ได้ยื่นฟ้องโจทก์กับพวกเป็นจำเลยต่อศาล และแม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาว่าผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิครอบครองในบ้านเลขที่ 32 และให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 67987 ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ก็ตาม แต่เมื่อคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดก็ยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้เสียในวิธีบังคับคดีอันเกี่ยวด้วยทรัพย์สินอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 280 ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนหมายบังคับคดีและประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี