การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่

          กรณีที่เกิดความผิดพลาดขึ้นในกระบวนการดำเนินคดีอาญา โดยปรากฏภายหลังว่าบุคคลที่ต้องรับโทษคดีอาญานั้น มิได้เป็นผู้กระทำความผิด การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ย่อมเป็นช่องทางที่จะคืนความยุติธรรมให้กับบุคคลที่ต้องรับโทษทั้งที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิด จึงมีการบัญญัติกฎหมายเพื่อให้สิทธิแก่จำเลยที่ถูกดำเนินคดีอาญาและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษให้สามารถขอรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ได้ คือ พระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญดังนี้

          1. เป็นคดีที่ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญาในคดีนั้นแล้ว (โทษทางอาญา คือ ริบทรัพย์สิน ปรับ กักขัง จำคุก หรือประหารชีวิต)

          2. มีเหตุให้รื้อฟื้นคดี อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ (มาตรา 5)
              (1) พยานบุคคลซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานนั้นเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง
              (2) พยานหลักฐานอื่นนอกจากพยานบุคคลตาม (1) ซึ่งศาลได้อาศัยเป็นหลักในการพิจารณาพิพากษาคดีอันถึงที่สุดนั้น ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าเป็นพยานหลักฐานปลอมหรือเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง หรือ
              (3) มีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีซึ่งถ้าได้นำมาสืบในคดีอันถึงที่สุดนั้น จะแสดงว่าบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด


              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1360/2555   แม้คดีอันมีคำพิพากษาถึงที่สุดนั้น พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องผู้ร้องฐานบุกรุกที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ แต่คำขอท้ายฟ้องได้ขอให้ลงโทษผู้ร้องตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9, 108, 108 ทวิ, 108 ตรี โดยมาตรา 9 เป็นบทบัญญัติห้ามบุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐ และมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เป็นบทลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 9 นับแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ใช้บังคับในวันที่ 4 มีนาคม 2515 โดยมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสอง และมีบทลงโทษหนักขึ้นในกรณีที่ได้กระทำเป็นเนื้อที่เกินกว่า 50 ไร่ ตามมาตรา 108 ทวิ วรรคสาม เมื่อพิจารณาจากทางนำสืบของโจทก์ในคดีดังกล่าว ซึ่งมี ส. ผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ และ น. นายอำเภอหาดใหญ่เบิกความประกอบกับบันทึกการประชุมได้ความว่า ที่ดินเหมืองฉลุงซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นที่ดินประเภทที่รกร้างว่างเปล่าซึ่งแสดงให้เห็นว่า ข้ออ้างในคำร้องของผู้ร้องที่ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี อีกทั้งแม้จะฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (1) ก็ย่อมถือเป็นที่ดินของรัฐ ซึ่งต้องห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปยึดถือครอบครองโดยไม่มีสิทธิครอบครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ร้องเคยมีหนังสือลงวันที่ 4 มิถุนายน 2534 ถึงผู้จัดการนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ขอผ่อนผันอยู่ในที่ดินไปจนกว่าจะเก็บพืชผลที่ลงทุนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์เสียก่อน อันเป็นการสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครอง เมื่อผู้ร้องบุกรุกครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่มีสิทธิครอบครองย่อมเป็นความผิดตาม ป.ที่ดิน มาตรา 9 (1), 108 ทวิ วรรคหนึ่ง ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษผู้ร้องตามที่พิจารณาได้ความได้ เพราะการระบุในฟ้องว่าบุกรุกที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ว่าประเภทที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นเพียงรายละเอียด และเป็นเพียงบทลงโทษหนักขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ส่วนขององค์ประกอบความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาอันถึงที่สุดนั้น ได้กำหนดโทษจำคุกและปรับแก่ผู้ร้องภายในระวางโทษตามป.ที่ดิน มาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว ดังนี้ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่ามีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่จะแสดงว่าผู้ร้องซึ่งต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นไม่ได้กระทำความผิด
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6555/2548   ตามคำร้องของผู้ร้องอ้างแต่เพียงว่าคำเบิกความของพยานบุคคลซึ่งศาลอาศัยเป็นหลักในการพิพากษาลงโทษผู้ร้องเป็นคำเบิกความเท็จ ไม่ถูกต้องตรงกับความจริง โดยไม่ปรากฏว่าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดในภายหลังแสดงว่าคำเบิกความของพยานดังกล่าวเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องตรงกับความจริง ทั้งผู้ร้องเพิ่งจะยื่นฟ้อง ม. เป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาเบิกความเท็จ แจ้งความเท็จ นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จภายหลังจากที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องนี้แล้ว กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 56(1)
              ตามคำร้องของผู้ร้องปรากฏว่าพยานบุคคลที่ผู้ร้องอ้างปากหนึ่งเคยเบิกความเป็นพยานในคดีนี้แล้ว ส่วนพยานปากอื่นล้วนเป็นบุคคลที่ผู้ร้องรู้จักคุ้นเคยเพราะเป็นพนักงานที่ทำงานอยู่ในบริษัทผู้เสียหายเช่นเดียวกับผู้ร้องบ้าง เป็นญาติพี่น้องกับผู้ร้องบ้างและเป็นเพื่อนบ้านของผู้ร้องซึ่งอยู่กับผู้ร้องในขณะเกิดเหตุบ้าง และพยานเอกสารที่ผู้ร้องอ้างก็เป็นเพียงบันทึกความเห็นและข้อที่พยานดังกล่าวจะมาเบิกความ พยานหลักฐานที่ผู้ร้องอ้างตามคำร้องจึงเป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่ก่อนและผู้ร้องทราบดีอยู่แล้ว ไม่ใช่พยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดีที่ผู้ร้องจะอ้างมาเป็นเหตุให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5(3) ได้ คำร้องของผู้ร้องจึงไม่มีมูล ชอบที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องได้โดยไม่ต้องไต่สวน
              ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 1 เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่ง เพราะอำนาจในการมีคำสั่งเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 1 และการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนย่อมเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 10 แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกามีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำสั่งใหม่
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8868/2544   ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ โดยอ้างเหตุแต่เพียงว่า มีพยานหลักฐานใหม่ตามบัญชีพยานท้ายคำร้องที่จะแสดงชี้ชัดเท่านั้น ไม่ปรากฏข้ออ้างโดยละเอียดชัดแจ้งเพื่อให้เห็นว่า พยานหลักฐานใหม่มีความเป็นมาอย่างไร เหตุใดจึงไม่นำมาพิสูจน์ว่าผู้ร้องมิได้กระทำความผิดตั้งแต่แรก ที่สำคัญพยานหลักฐานใหม่นั้นมีความสำคัญแก่คดีมากพอที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาที่ได้พิพากษาลงโทษผู้ร้องไปแล้วได้หรือไม่ เมื่อคำร้องของผู้ร้องอ้างเหตุตาม พ.ร.บ. การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2525 มาตรา 5 (3) แต่มิได้อ้างเหตุโดยละเอียดชัดแจ้งตามมาตรา 8 จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมีพยานหลักฐานใหม่อันชัดแจ้งและสำคัญแก่คดี คำร้องขอของผู้ร้องจึงไม่มีมูล ศาลชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ทำความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมไม่ชอบด้วย มาตรา 10 เพราะอำนาจในการมีคำสั่งตามคำร้องในคดีเป็นของศาลอุทธรณ์ แต่เมื่อคดีได้ขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งใหม่
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15189/2558   พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติว่า “เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว (4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น...” แม้ปรากฏว่ามี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอบ้านแพง อำเภอท่าอุเทน และกิ่งอำเภอโพนสวรรค์ อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2534 ก็ตาม แต่ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติยังคงเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะได้มีการส่งมอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดต่อไป หากจะถือว่าการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินแปลงใด มีผลเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติในทันที ก็จะเป็นการส่งเสริมให้บุคคลใด ๆ บุกรุกเข้ามาทำประโยชน์หรือเข้าครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อันจะเป็นช่องว่างของกฎหมาย บทบัญญัตินี้จึงมุ่งหมายให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรกรรมในพื้นที่ป่านั้นและจัดสรรให้ผู้ได้รับอนุญาตก่อน จึงจะถือเป็นการเพิกถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินของรัฐ เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครพนมได้ออกประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเกิดเหตุหลังจากที่ผู้ร้องถูกดำเนินคดีนี้แล้ว ดังนั้น ในขณะที่ผู้ร้องกระทำความผิดคดีนี้ ผู้ร้องจึงยังไม่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเกิดเหตุ การจัดสรรที่ดินเพื่อการปฏิรูปที่ดินยังไม่เสร็จสิ้น ที่ดินเกิดเหตุจึงยังมีสภาพเป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาผู้ร้องจะได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งรวมถึงที่ดินเกิดเหตุ ก็เป็นเพียงทำให้การครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินของผู้ร้องนับแต่วันที่ได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย แต่ไม่มีผลเป็นการลบล้างการกระทำความผิดก่อนหน้าที่ผู้ร้องจะได้รับอนุญาต กรณีหาใช่เป็นเรื่องมีกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังทำให้การกระทำของผู้ร้องไม่เป็นความผิดต่อไปตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง

          3. บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้อง (มาตรา 6)
              (1) บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
              (2) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลในกรณีที่บุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดนั้นเป็นผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถ
              (3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลนั้นต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุด
              (4) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยาของบุคคลผู้ต้องรับโทษอาญาโดยคำพิพากษาถึงที่สุดซึ่งถึงแก่ความตายก่อนที่จะมีการยื่นคำร้อง หรือ
              (5) พนักงานอัยการในกรณีที่พนักงานอัยการมิได้เป็นโจทก์ในคดีเดิม
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3863/2552   ผู้ร้องเป็นสามีจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ยังมีชีวิตอยู่ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิ์ยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่แทนจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขั้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 6 (4)

          4. คำร้องให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ได้พิพากษาคดีนั้นหรือศาลอื่นที่ได้มีเขตอำนาจแทนศาลนั้น ซึ่งเมื่อได้ไต่สวนคำร้องแล้ว ให้ศาลที่ไต่สวนคำร้องส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์ ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลพอที่จะรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ให้ศาลอุทธรณ์สั่งรับคำร้องและสั่งให้ศาลชั้นต้นที่รับคำร้องดำเนินการพิจารณาคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่ต่อไป แต่ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น โดยคำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด (มาตรา 8, 9 และ 10)
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2556   ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 8 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “...ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น” และวรรคสองบัญญัติว่า “คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด” ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นอ้างล้วนแต่ประกอบด้วยพยานหลักฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนและศาลได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักในคดีถึงที่สุดนั้นแล้วทั้งสิ้นหาใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่อันขัดแย้งและสำคัญแก่คดีไม่ เหตุตามคำร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) (2) (3) เท่ากับเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา
              คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4088/2546   ตามพระราชบัญญัติการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ. 2526 มาตรา 9 และมาตรา 10 เฉพาะกรณีที่พนักงานอัยการซึ่งเป็นบุคคลตามมาตรา 6(5) เป็นผู้ร้องขอรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาพิพากษาใหม่เท่านั้น ที่ศาลชั้นต้นจะมีอำนาจพิจารณาสั่งคำร้องได้ แต่หากเป็นบุคคลตามมาตรา 6(1) ถึง (4) เป็นผู้ร้องศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจที่จะสั่งรับคำร้องให้ดำเนินคดีที่รื้อฟื้นขึ้นพิจารณาใหม่หรือยกคำร้องเลย ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ดำเนินการตามมาตรา 9 วรรคสอง ทำการไต่สวนคำร้อง หรือหากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยมาตรา 5 จะไม่ทำการไต่สวนก็ได้ แต่ศาลชั้นต้นมีสิทธิเพียงทำความเห็นเสนอสำนวนการไต่สวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเท่านั้น และเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ที่จะมีคำสั่ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ของผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยโดยมิได้ทำความเห็นส่งไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง และเมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นแล้วศาลอุทธรณ์พิพากษาเห็นด้วยในผลที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ย่อมถือว่าศาลล่างทั้งสองดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ชอบตามมาตรา 9 และมาตรา 10

          5. คำร้องให้ยื่นได้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ปรากฏข้อเท็จจริงตามมาตรา 5 หรือภายในสิบปีนับแต่วันที่คำพิพากษาในคดีเดิมถึงที่สุด แต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษศาลจะรับคำร้องที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นนั้นไว้พิจารณาก็ได้ (มาตรา 20)